“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)
“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน
บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
การเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า
ลองพิจารณาดูว่าท่านเห็นคนจำนวนมากเพียงใดในทุกๆ วันที่ไม่ยินดีกับพรแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไรหากพวกเขาต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อความสุขของพวกเขา? ขณะที่ท่านศึกษาแบบอย่างของผู้สอนศาสนาในพระคัมภีร์มอรมอน ให้สวดอ้อนวอนและนึกถึงใครบางคนที่ท่านสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนนั้นได้ จำไว้ว่าขณะที่ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น ท่านกำลังมีส่วนร่วมในการรวบรวมอิสราเอล
หมวดที่ 1
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของฉันจะเพิ่มความปรารถนาให้ฉันแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างไร?
บุตรชายทั้งสี่ของโมไซยาห์ (แอมัน แอรัน ออมเนอร์ และฮิมไน) อยู่กับแอลมาผู้บุตรเมื่อมีเทพมาปรากฏและเรียกให้เขากลับใจ ชายหนุ่มทั้งห้าต่างรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการกระทำของตน กลับใจจากบาป และเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า หลังจากการกลับใจ พวกเขา “จึงเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในการนำหลายคนมาสู่ความรู้เรื่องความจริง, แท้จริงแล้ว, มาสู่ความรู้เรื่องพระผู้ไถ่ของพวกเขา” (โมไซยาห์ 27:36)
หลังจากเป็นผู้สอนศาสนาหลายปีในบรรดาชาวเลมัน แอมันกล่าวดังนี้กับพี่น้องชายของตน: “และนี่คือพรซึ่งประสาทบนเรา, คือทำให้เราเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อนำมาซึ่งงานอันสำคัญยิ่งนี้” ของความรอด (แอลมา 26:3)
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนเกี่ยวกับวิธีที่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเรามีอิทธิพลต่อความปรารถนาที่เราจะแบ่งปันพระกิตติคุณ ดังนี้:
การแบ่งปันพระกิตติคุณไม่ใช่ภาระแต่เป็นปีติ สิ่งที่เราเรียกว่า “งานสมาชิกผู้สอนศาสนา” ไม่ใช่โปรแกรมแต่เป็นเจตคติของความรักและการยื่นมือช่วยเหลือคนรอบข้าง อีกทั้งเป็นโอกาสกล่าวคำพยานว่าเรารู้สึกอย่างไรต่อพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระผู้ช่วยให้รอด ดังที่เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดสอนว่า “หลักฐานสำคัญที่สุดที่แสดงถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราและความรู้สึกที่เรามีต่อพระกิตติคุณในชีวิตเราคือความเต็มใจที่เราจะบอกเล่าเรื่องนี้กับผู้อื่น” [เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “บัดนี้ถึงเวลาแล้ว,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 89] (“การแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 60)
หมวดที่ 2
ฉันจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?
บุตรชายของโมไซยาห์และผู้คนที่ไปกับพวกเขาเผชิญกับ “คนป่าเถื่อนและแข็งกระด้างและดุร้าย” เมื่อพวกเขาไปสอนชาวเลมัน (แอลมา 17:8, 14) ขณะที่ทำงานร่วมกับคนเหล่านั้น ผู้สอนศาสนาเหล่านี้ “รับทุกขเวทนามาก, ทั้งในร่างกายและจิตใจ, เป็นต้นว่าความหิวโหย, ความกระหายและความเหน็ดเหนื่อย, และทำงานฝ่ายวิญญาณมากด้วย” (แอลมา 17:5)
หมวดที่ 3
พระวิญญาณช่วยให้ฉันสามารถรับใช้ผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้นและแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างไร?
บุตรชายของโมไซยาห์กลายเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า ช่วยพาชาวเลมันจำนวนมากไปสู่พระผู้ช่วยให้รอด แอมันเดินทางตามลำพังมายังแผ่นดินของอิชมาเอล เขาถูกมัดและหามไปอยู่ต่อหน้ากษัตริย์ลาโมไน กษัตริย์ถามแอมันเกี่ยวกับเจตนาของเขา และแอมันกล่าวว่าเขาต้องการดำเนินชีวิตท่ามกลางชาวเลมัน บางทีอาจจะอยู่ตลอดชีวิตของเขา คำตอบนี้ทำให้กษัตริย์พอใจ แอมันจึงเป็นหนึ่งในผู้รับใช้ของกษัตริย์ (ดู แอลมา 17:19–25)
แอมันถูกส่งไปเฝ้าฝูงสัตว์ของกษัตริย์ เมื่อพวกโจรพยายามทำให้ฝูงแกะแตกตื่น แอมันสกัดกั้นความพยายามของโจรด้วยสายเหวี่ยงและดาบ พวกโจรทึ่งกับพลังของแอมันและหนีไป (ดู แอลมา 17:25, 33–38)
เมื่อกษัตริย์ลาโมไนรู้ถึงความสำเร็จของแอมันในการปกป้องฝูงสัตว์ของเขา เขาประหลาดใจและสงสัยว่าแอมันอาจเป็น “พระวิญญาณยิ่งใหญ่ผู้ส่งโทษรุนแรงเช่นนั้นมาสู่คนเหล่านี้” (แอลมา 18:2) “แอมัน, โดยที่เปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 16) สามารถเล็งเห็นความคิดของกษัตริย์ กล่าวถึงความกังวลของเขา และเริ่มสอนพระกิตติคุณให้กับเขา (ดู แอลมา 18:15–24)
กษัตริย์ลาโมไนเชื่อถ้อยคำของแอมันและเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ นอกจากนี้แอมันยังสามารถสอนราชินีของกษัตริย์ลาโมไนและผู้รับใช้ของกษัตริย์อีกด้วย พวกเขาหลายคนเชื่อคำสอนของแอมัน และเป็นพยานว่า “ใจพวกเขาเปลี่ยนแปลงแล้ว” (แอลมา 19:33) เพราะแอมันเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า “งานของพระเจ้าจึงเริ่มขึ้นในบรรดาชาวเลมัน [ส่วนนั้น]” (แอลมา 19:36)
ขณะที่ประสบการณ์ของเราอาจไม่น่าตื่นเต้นเหมือนเรื่องราวของแอมัน แต่เราสามารถสร้างความแตกต่างให้ชีวิตของผู้อื่นได้เมื่อเราเตรียมตัวเราเองให้พร้อมเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า
เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายวิธีที่เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น
ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดบนแผ่นดินโลก มีโอกาสมากมายในการแบ่งปันข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับผู้คนที่ท่านพบ ศึกษาด้วยกัน อาศัยอยู่ด้วยกัน หรือทำงานและพบปะพูดคุยกัน …
ไม่ว่าวิธีใดที่ดูเหมือนปกติธรรมดาสำหรับท่าน จงแบ่งปันกับผู้คนว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์และศาสนจักรของพระองค์จึงสำคัญต่อท่าน …
สวดอ้อนวอนไม่เพียงให้ผู้สอนศาสนาพบคนที่เลือกไว้ สวดอ้อนวอนอย่างสุดใจทุกวันให้ท่านพบผู้ที่จะ มาดู มาช่วย และ มาอยู่ (“งานเผยแผ่ศาสนา: แบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 15, 17)