สถาบัน
บทที่ 26 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: หลังการทดลองศรัทธาของท่าน


“บทที่ 26 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: หลังการทดลองศรัทธาของท่าน” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“บทที่ 26 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 26 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

หลังการทดลองศรัทธาของท่าน

พระคัมภีร์มอรมอนบันทึกตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับผู้คนที่กระทำด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ระหว่างช่วงเวลาแห่งการทดลองและได้รับพยานซึ่งยืนยันศรัทธาของคนเหล่านั้น บทเรียนนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนอธิบายว่าเหตุใดการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์จึงเกิดขึ้นก่อนจะรับพยานทางวิญญาณ และระบุว่านักเรียนสามารถกระทำด้วยศรัทธาในพระองค์ได้มากขึ้นอย่างไรเมื่อนักเรียนพบกับการทดลอง นอกจากนี้นักเรียนยังจะพิจารณาด้วยว่าการกระทำที่ได้รับการดลใจจากศรัทธาใดที่ตนสามารถทำได้เพื่อได้รับหรือทำให้พยานของตนในพระคัมภีร์มอรมอนมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

แบ่งปันเรื่องราวและเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเพิ่มความสนใจในการเรียนรู้ของนักเรียน ท่านอาจแบ่งปันเรื่องราวหรือเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงจากชีวิตของศาสดาพยากรณ์ ประวัติศาสนจักร คำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญ นิตยสารศาสนจักร หรือชีวิตของท่านเอง หรือเชิญนักเรียนมาแบ่งปันประสบการณ์ของตน เรื่องราวเหล่านี้สามารถแสดงให้เห็นถึงหลักธรรมพระกิตติคุณและช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมเหล่านั้น

โมโรไนสอนความสำคัญของการกระทำด้วยศรัทธา

ให้ดูเรื่องราวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน (ท่านอาจต้องกล่าวว่านักเรียนอ่านประสบการณ์นี้แล้วใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน):

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

ครั้งหนึ่งก่อนข้าพเจ้าได้รับเรียกเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าประสบปัญหาเศรษฐกิจส่วนตัวนานหลายปี บางครั้งปัญหานี้คุกคามความผาสุกของข้าพเจ้าและครอบครัว และข้าพเจ้าคิดว่าเราอาจประสบหายนะทางการเงิน ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอการแทรกแซงอันน่าอัศจรรย์เพื่อปลดปล่อยเรา แม้ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนหลายครั้งด้วยความจริงใจอย่างยิ่งและความปรารถนาอย่างจริงจัง แต่ในที่สุดคำตอบคือ “ไม่ ” (“Look to God Each Day,” New Era, Apr. 2015, 3–4)

  • ประสบการณ์เช่นนี้จะท้าทายศรัทธาในพระเยซูคริสต์ของบางคนในทางใด?

  • ตัวอย่างอื่นใดในชีวิตจริงที่แสดงให้เห็นว่าศรัทธาของผู้คนสามารถได้รับการทดลองหรือทดสอบได้?

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนคำสอนของโมโรไนเรื่องศรัทธาใน อีเธอร์ 12:3–7, 12, 18 แล้วถามคำถามต่อไปนี้:

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากอีเธอร์และโมโรไนเกี่ยวกับการใช้ศรัทธา? (ท่ามกลางความจริงอื่นๆ นักเรียนอาจระบุความจริงบางอย่างทำนองนี้: เราไม่ได้รับพยานทางวิญญาณจนหลังการทดลองศรัทธาของเรา)

  • เพราะเหตุใดท่านจึงคิดว่าเราถูกคาดหวังให้กระทำด้วยศรัทธาก่อนที่เราจะรับพยานทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้า?

  • เราจะได้รับพรในทางใดขณะที่เรายังคงซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์ระหว่างการทดลองของเรา? (ท่านอาจต้องการทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงตัวอย่างบุคคลในพระคัมภีร์มอรมอนที่กระทำด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์เมื่อเผชิญกับการทดลองหรือการต่อต้าน หากจำเป็น ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อศึกษาเรื่องราวของบุคคลที่ตนนึกถึง (นักเรียนที่ทำ กิจกรรมการศึกษาในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน เสร็จแล้วสามารถทบทวนสิ่งที่ตนศึกษาไปแล้วได้)

หลังจากให้เวลาเพียงพอแล้ว ให้แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อสนทนาเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้ (เตือนความจำว่านักเรียนได้ตอบ คำถามที่คล้ายกันในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ไปแล้ว):

  1. บุคคลหรือผู้คนดังกล่าวใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร? พระเจ้าประทานพรใดและพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดหลังจากพวกเขาใช้ศรัทธาในพระองค์? (อาจเป็นประโยชน์ที่จะชี้ให้เห็นว่าพรบางอย่างอาจมาไม่ถึงจนกว่าจะถึงชีวิตหน้า)

  2. ท่านสามารถเรียนรู้หลักธรรมหรือหลักปฏิบัติใดจากเรื่องราวนี้? ท่านจะนำไปใช้กับชีวิตของท่านได้อย่างไร?

นอกจากนี้ท่านอาจเชิญนักเรียนไตร่ตรองหลักธรรมที่ตนสนทนา บันทึกความคิดส่วนตัวและความประทับใจเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านั้น

โมโรไนเชิญผู้อ่านแสวงหาพยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

ให้ดูสถานการณ์ต่อไปนี้:

ลองจินตนาการว่าท่านเพิ่งมอบพระคัมภีร์มอรมอนให้เพื่อนสนิทไปหนึ่งเล่มและให้ประจักษ์พยานว่าเป็นความจริง เพื่อนของท่านตอบกลับว่า “ขอบคุณที่แบ่งปันสิ่งนี้กับฉัน ฉันเคยได้ยินความคิดเห็นมากมายเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน เคยมีใครบางคนเตือนฉันด้วยว่าไม่ควรอ่าน เพราะมันเต็มไปด้วยคำโกหก”

  • ท่านอาจตอบกลับความคิดเห็นของเพื่อนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนว่าอย่างไร?

  • ท่านจะนำคำสอนใน อีเธอร์ 12:6 มาใช้ในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร?

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 10:3-5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามไปด้วย และมองหาวิธีที่เราจะได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

  • เราควรทำอย่างไรหากเราต้องการได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน? (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่อไปนี้หรือหลักธรรมที่คล้ายคลึงกัน: เพื่อได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน เราควรจดจำและไตร่ตรองพระเมตตาของพระเจ้าเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ และทูลถามพระผู้เป็นเจ้าว่าพระคัมภีร์มอรมอนจริงหรือไม่ด้วยใจจริง ด้วยเจตนาแท้จริง โดยมีศรัทธาในพระคริสต์)

  • การยอมรับคำเชิญของโมโรไนเป็นตัวอย่างของสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำด้วยศรัทธาอย่างไร? (อาจจะเป็นประโยชน์ที่จะทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์จีน อาร์. คุกในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

เตือนนักเรียนว่าใน หมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน นักเรียนได้รับเชิญให้ใคร่ครวญและบันทึกประสบการณ์ของตนเกี่ยวกับการได้รับพยานทางวิญญาณว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง เชิญนักเรียนสองสามคนมาเล่าสิ่งที่พวกเขาประสบและเรียนรู้ในการแสวงหาและรับพยานทางวิญญาณเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้เกี่ยวกับคำสัญญาของโมโรไนจากประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์:

ข้าพเจ้าหวังว่าทุกท่านพิสูจน์คำสัญญานั้นมาแล้วด้วยตัวท่านเองหรือท่านจะทำในไม่ช้า คำตอบอาจไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ทางวิญญาณอันทรงพลังในครั้งเดียว คำตอบเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าอย่างเงียบๆ ในตอนแรก แต่เกิดขึ้นหนักแน่นกว่าเดิมทุกครั้งที่ข้าพเจ้าอ่านและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

ข้าพเจ้ามิได้พึ่งพาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เพื่อรักษาประจักษ์พยานที่มีชีวิตของข้าพเจ้าเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนให้มั่นคง ข้าพเจ้าได้รับคำสัญญาของโมโรไนบ่อยๆ ข้าพเจ้ามิได้ถือว่าพรแห่งประจักษ์พยานนั้นเป็นสิทธิ์ที่ข้าพเจ้าจะได้รับตลอดไป (“ประ จักษ์พยานที่มีชีวิต,” เลียโฮนา, พฤษภาคม 2011, 162)

  • ท่านกำลังทำอะไรหรือท่านจะทำอะไรเพื่อทำให้ประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเข้มแข็งยิ่งขึ้น?

สำหรับครั้งต่อไป

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าชีวิตของตนจะเป็นอย่างไรหากไม่มีศรัทธา ความหวัง หรือจิตกุศลเลย ขณะที่นักเรียน เตรียมตัวสำหรับชั้นเรียนถัดไป ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าตนสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อนำคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เหล่านี้มาใช้ในชีวิตของตนอย่างเต็มที่มากขึ้น

พิมพ์