สถาบัน
สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 16: พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศาสนกิจทีละคน


“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 16: พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศาสนกิจทีละคน” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 16” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู บทที่ 16

พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศาสนกิจทีละคน

การปรากฏพระองค์ของพระเยซูคริสต์ต่อชาวนีไฟและชาวเลมันเป็นพยานอันทรงพลังถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ขณะที่พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศาสนกิจทีละคน พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของความเมตตาและความสงสาร ในบทเรียนนี้ นักเรียนจะได้รับเชิญให้ระบุถึงวิธีการต่างๆ ที่ตนสามารถมาสู่พระเยซูคริสต์และได้รับพยานส่วนตัวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของตน นอกจากนี้นักเรียนจะได้พิจารณาสิ่งที่ตนสามารถทำได้เพื่อเลียนแบบวิธีการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏพระองค์ต่อชาวนีไฟและชาวเลมัน และทรงเชื้อเชิญพวกเขาสัมผัสแผลที่พระหัตถ์และพระบาทของพระองค์

ท่านอาจต้องการเริ่มต้นบทเรียนด้วยการแสดงภาพประกอบและขอให้นักเรียนเล่าเหตุการณ์ที่นำไปสู่การปรากฏพระองค์ของพระเยซูคริสต์ต่อชาวนีไฟและชาวเลมัน

ทีละคน โดย วอลเตอร์ เรน

เชิญนักเรียนให้ทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และสอบถามว่าเหตุใดการปรากฏพระองค์ของพระเยซูคริสต์ท่ามกลางผู้คนจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระคัมภีร์มอรมอน

ขอให้นักเรียนทบทวน 3 นีไฟ 11:13–17 แล้วมองหาบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้เกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ของพระคริสต์กับผู้คน พิจารณาว่าคำถามข้อใดต่อไปนี้ที่ท่านอาจต้องการถามเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและนำสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ไปใช้:

  • เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์จากข้อเหล่านี้?

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรหากท่านได้รับเชิญให้สัมผัสแผลที่พระหัตถ์และพระบาทของพระผู้ช่วยให้รอด?

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากพระดำรัสเชิญของพระองค์ให้ผู้คนเข้ามาทีละคนเพื่อสัมผัสบาดแผลที่พระหัตถ์และพระบาทของพระองค์? (หากจำเป็น ให้เตือนนักเรียนว่ามีผู้คน 2,500 คนในที่แห่งนั้น)

  • ประสบการณ์นี้สามารถเป็นตัวแทนสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เราแต่ละคนกระทำได้อย่างไร? (ใช้คำตอบของนักเรียนระบุความจริงทำนองนี้: พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เรามาหาพระองค์และได้รับประจักษ์พยานส่วนตัวว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา)

  • เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อมาสู่พระคริสต์และรับประจักษ์พยานส่วนบุคคลของเราเองว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา? (สำหรับข้อคิดเพิ่มเติม อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้นักเรียนทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์วอลเตอร์ เอฟ. กอนซาเลซในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนกิจกรรม “บันทึกความคิดของท่าน” ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อทบทวนสิ่งที่ตนเตรียมมา แล้วเชิญนักเรียนสองสามคนมาแบ่งปันสิ่งที่ตนเขียน เมื่อเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนให้ระบุท่อนที่ชื่นชอบจากเพลงสวดที่นักเรียนเลือกและแบ่งปันว่าเหตุใดท่อนนั้นจึงมีความหมายกับตน นอกจากนี้ท่านยังสามารถร่วมร้องเพลงสวดด้วยกันได้

พิจารณาแสดงคำถามต่อไปนี้และกระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองและบันทึกความคิดและความรู้สึกของตน:

  • ฉันทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประจักษ์พยานของฉันว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน?

พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อฝูงชนทีละคน

เตือนความจำนักเรียนว่าเมื่อใกล้สิ้นสุดวันแรกของพระองค์ท่ามกลางผู้คน พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ฝูงชนกลับไปยังบ้านของตนและเตรียมรับการเสด็จกลับมาของพระองค์ในวันรุ่งขึ้น (ดู 3 นีไฟ 17:1–3)

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

กระตุ้นให้นักเรียนศึกษาและทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ เมื่อครั้งเป็นฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวกับเซมินารีและผู้สอนในสถาบันศาสนาว่า “เยาวชนของเราต้องการเชื่อ พวกเขาอยากรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด” (“A Teacher of God’s Children,” Religious Educator, vol. 12, no. 3 [2011], 7) วิธีหนึ่งที่นักเรียนจะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดคือการมุ่งเน้นไปยังแบบอย่างอันสมบูรณ์แบบของพระองค์ ขณะที่นักเรียนศึกษาแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ เชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าตนสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเลียนแบบพระองค์ เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตั้งข้อสังเกตว่า “การเลียนแบบนี้ช่วยเพิ่มความเลื่อมใสของเราในพระเยซูโดยตรง” (“Becoming a Disciple,” Ensign, June 1996, 12)

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชิญให้นักเรียนทบทวน 3 นีไฟ 17:5–9, 20–24 และสนทนาเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คน ในระหว่างการสนทนา กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาวิธีต่างๆ ที่ตนสามารถเติมข้อความต่อไปนี้ให้สมบูรณ์: “เราปฏิบัติศาสนกิจเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อ …”

หลังจากนักเรียนมีเวลามากพอในการเรียนรู้จากกันและกันแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันวิธีที่ตนเติมข้อความข้างต้นให้สมบูรณ์ ขณะที่นักเรียนแบ่งปันข้อความของตน ให้พิจารณาถามคำถามบางข้อต่อไปนี้เพื่อช่วยให้การสนทนาของนักเรียนมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น:

  • ความรักมีบทบาทใดในการปฏิบัติศาสนกิจ? (ท่านอาจต้องการทบทวน คำกล่าวของประธานจีน บี. บิงแฮมในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าการปฏิบัติศาสนกิจนำปีติมาสู่พระผู้ช่วยให้รอด? ท่านเคยรู้สึกถึงปีติหลังจากช่วยคนตกทุกข์ได้ยากเมื่อใด?

  • เหตุใดความรู้สึกสงสารจึงเป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติศาสนกิจ? ท่านเคยรู้สึกถึงความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจของผู้อื่นเมื่อใด? ที่ผ่านมาท่านเคยสามารถถ่ายทอดความสงสารของพระคริสต์ต่อผู้อื่นผ่านความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจของตัวท่านเองอย่างไร?

  • เราสามารถช่วยให้บางคนประสบกับพลังการเยียวยาของพระเจ้าขณะที่เราปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างไร?

เพื่อช่วยให้นักเรียนนำสิ่งที่ตนเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจไปใช้ ให้พิจารณาแบ่งปันสถานการณ์ต่อไปนี้:

อเลฮันโดรเป็นหนุ่มโสดคนหนึ่ง เขาได้รับคำเชิญให้ปฏิบัติศาสนกิจแก่ปาโบลและโฮเซ เขาเคยพูดคุยกับปาโบลไม่กี่ครั้งระหว่างเข้าโบสถ์แต่เขาไม่เคยพบกับโฮเซมาก่อน หลังจากพูดคุยกับประธานโควรัมเอ็ลเดอร์แล้ว อเลฮันโดรก็ทราบว่าปาโบลกำลังประสบปัญหาสุขภาพและโฮเซแจ้งอธิการว่าเขาไม่สนใจที่จะไปโบสถ์ในขณะนี้ อเลฮันโดรต้องทำให้การเรียกของตนเกิดสัมฤทธิผลแต่เขาไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี

เชื้อเชิญให้นักเรียนดูแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและแบ่งปันคำแนะนำที่ตนอาจมอบให้อเลฮันโดร และกระตุ้นให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของตนเองเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ

เตือนนักเรียนว่าเพื่อเตรียมตัวสำหรับบทเรียนนี้ นักเรียนได้รับเชิญให้นึกถึงใครบางคนที่ตนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ (ดู หมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์ของบุคคลนี้ จากนั้นให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อไตร่ตรองและบันทึกความประทับใจเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้:

  • ท่านจะทำอย่างไรเพื่อปฏิบัติตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและปฏิบัติศาสนกิจต่อบุคคลนี้ด้วยความเมตตาและความสงสาร?

สำหรับครั้งต่อไป

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาความท้าทายที่สมาชิกศาสนจักรหรือผู้สนใจต้องเผชิญเมื่อตนไม่รู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ กระตุ้นให้นักเรียนของท่านศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนถัดไป แล้วมองหาวิธีที่เราสามารถช่วยให้คนอื่นๆ รู้สึกว่ามีที่สำหรับเราทุกคนในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์