สถาบัน
บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล


“บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล,” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล

พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้งเพื่อปกครอง โดย มารี อาร์. เซาเออร์

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟซึ่งเป็นฝ่ายประธานสูงสุดในขณะนั้นสอนว่า “ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลเสริมกันและกัน ขณะที่อย่างหนึ่งเพิ่มอย่างอื่นเพิ่มตาม … คุณสมบัติสามข้อนี้— ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล—ทำงานด้วยกันบนพื้นฐานของความจริงและความสว่างของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ย่อมนำเราไปสู่งานดีมากมาย [ดู แอลมา 7:24]” (ดู “พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 28, ; ดู โมโรไน 10:20) ขณะที่ท่านศึกษาสื่อการเรียนการสอนนี้ ให้พิจารณาว่าท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อรวมคุณลักษณะที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เข้าสู่ชีวิตของท่านอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หมวดที่ 1

ความหวังของฉันได้รับอิทธิพลจากศรัทธาของฉันในพระเยซูคริสต์อย่างไร?

หลังจากความพินาศของชาวนีไฟแล้ว โมโรไนถูกทิ้งไว้เพียงลำพังเพื่อทำพระคัมภีร์มอรมอนให้เสร็จสมบูรณ์ และเขาได้เสริมคำสอนบางอย่างจากมอรมอนบิดาของเขา ซึ่งประกอบด้วยคำเทศนาถึงคุณธรรมแห่งศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลไว้ด้วย (ดู โมโรไน 7:1)

โมโรไนเขียนด้วยไฟ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน โมโรไน 7:33, 38, 40–43 มองหาสิ่งที่มอรมอนสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับความหวัง

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับความหวังดังนี้:

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

ศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์—ศรัทธาที่แท้จริง อย่างเต็มจิตวิญญาณและไม่สั่นคลอน เป็นพลังอำนาจที่น่าเกรงขามในจักรวาล อาจเป็นที่มาของพลังที่สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้น หรืออาจเป็นที่มาของความเข้มแข็งภายใน ซึ่งเราค้นพบสันติสุข ความสบายใจ และความกล้าที่จะรับมือ

เมื่อเราใช้ศรัทธาและความวางใจ ความหวังจึงเกิดขึ้น ความหวังเติบโตจากศรัทธา อีกทั้งให้ความหมายและจุดประสงค์แก่ทุกสิ่งที่เราทำ และยังทำให้เรามีความเชื่อมั่นอย่างสันติว่า เราจำเป็นต้องดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในโลกที่สุกงอมไปด้วยความชั่วช้าสามานย์ ความเลวร้าย และความอยุติธรรม. (“The Joy of Hope Fulfilled,” Ensign, Nov. 1992, 32)

เยาวชนหญิงยิ้มแย้ม
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

พรใดที่เคยหรืออาจเกิดขึ้นในชีวิตของท่านขณะที่ท่านให้ศรัทธาและความหวังของท่านมีศูนย์กลางอยู่ในพระเยซูคริสต์?

หมวดที่ 2

ฉันจะเพิ่มสมรรถภาพในการประสบความหวังได้อย่างไร?

เมื่อโมโรไนย่อบันทึกของชาวเจเร็ด เขารวมคำสอนของศาสดาพยากรณ์อีเธอร์เกี่ยวกับศรัทธาไว้ด้วย จากนั้นเขาเล่าปาฏิหาริย์หลายเรื่องที่เกิดขึ้นผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ (ดู อีเธอร์ 12:3–22) โมโรไนอธิบายว่า “ศรัทธาคือสิ่งที่หวังไว้และมองไม่เห็น” (ข้อที่ 6)

ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน อีเธอร์ 12:4, 32 พิจารณาถึงสิ่งที่ท่านสามารถรอคอยได้เมื่อท่านใช้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า

ประธานอุคท์ดอร์ฟกล่าวถึงพลังแห่งความหวังอันไร้ขอบเขตดังต่อไปนี้:

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

ความหวังเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณ [ดู โมโรไน 8:26] เป็นความหวังว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และพลังอำนาจแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ เราจะได้ลุกขึ้นอีกครั้งสู่ชีวิตนิรันดร์ และนี่เพราะศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอด [ดู โมโรไน 7:41] ความหวังดังกล่าวเป็นทั้งหลักธรรมแห่งคำสัญญาและพระบัญญัติ [ดู โคโลสี 1:21–23] และด้วยพระบัญญัติทุกข้อ เรามีความรับผิดชอบทำให้ความหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราและเอาชนะการล่อลวงให้เลิกหวัง ความหวังในแผนแห่งความสุขอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระบิดาบนสวรรค์นำไปสู่สันติสุข [ดู โรม 15:13] ความรักมั่นคง [ดู สดุดี 33:22] ความชื่นชมยินดี [ดู โรม 12:12] และความยินดี [ดู สุภาษิต 10:28] ความหวังแห่งความรอดเป็นหมวกเหล็กที่คอยป้องกัน [ดู 1 เธสะโลนิกา 5:8] เป็นรากฐานของศรัทธา [ดู ฮีบรู 11:1; โมโรไน 7:40] และเป็นสมอของจิตวิญญาณเรา [ดู ฮีบรู 6:19; อีเธอร์ 12:4] (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” 26)

ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ความหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของท่านอย่างแข็งขันมากยิ่งขึ้น?

หมวดที่ 3

จิตกุศลสามารถส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ของฉันกับผู้อื่นและกับพระเยซูคริสต์?

หลังจากสนทนาเกี่ยวกับศรัทธาและความหวัง มอรมอนสรุปคำเทศนาของท่านด้วยการมุ่งเน้นจิตกุศล หรือ “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47)

ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน โมโรไน 7:43–48 พิจารณาทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่นิยามและอธิบายจิตกุศล

ประธานจีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญให้ข้อสังเกตดังนี้:

ประธาน จีน บี. บิงแฮม

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของจิตกุศล การเสนอตนในโลกก่อนเกิดเพื่อมาเป็นพระผู้ช่วยให้รอด การปฏิสัมพันธ์ตลอดพระชนม์ชีพมรรตัย ของประทานอันยิ่งใหญ่แห่งการชดใช้ และความพยายามต่อเนื่องในการนำเรากลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์คือการแสดงออกอย่างสูงสุดถึงจิตกุศล พระองค์ทรงทำงานโดยมุ่งเน้นสิ่งเดียว นั่นคือความรักสำหรับพระบิดาซึ่งแสดงผ่านความรักที่มีให้เรา …

ดิฉันเป็นพยานว่าเมื่อเราทำตามแบบอย่างอันดีพร้อมของพระองค์ เราจะได้รับของประทานแห่งจิตกุศล ซึ่งจะนำปีติอันยิ่งใหญ่มาสู่ชีวิตนี้และพรที่สัญญาไว้แห่งชีวิตนิรันดร์กับพระบิดาในสวรรค์ (“ฉันจะนำความสว่างแห่งพระกิตติคุณมาสู่บ้านของฉัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 6, 9)

ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ลองนึกถึงตัวอย่างสองสามเรื่องว่าพระเยซูคริสต์ทรง “เป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของจิตกุศล” อย่างไร ค้นหาเรื่องราวของตัวอย่างในพระคัมภีร์และเตรียมแบ่งปันอย่างน้อยหนึ่งตัวอย่างกับชั้นเรียนของท่าน

พระคริสต์กับเด็กๆ ในพระคัมภีร์มอรมอน โดย เดล พาร์สัน

ขณะที่ท่านคิดเกี่ยวกับแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด ให้พิจารณาว่าจิตกุศลมีลักษณะอย่างไรในชีวิตประจำวันของท่าน ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ข้าพเจ้านึกถึงจิตกุศลที่ผลักดันให้เราเห็นอกเห็นใจ และมีเมตตากรุณา ไม่เฉพาะในยามเจ็บป่วย ยากลำบาก และทุกข์ใจเท่านั้น แต่ในยามที่ผู้อื่นอ่อนแอหรือทำผิดพลาดด้วย

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีจิตกุศลเพื่อให้ความเอาใจใส่คนที่ถูกมองข้าม ให้ความหวังแก่คนท้อแท้สิ้นหวัง และช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก จิตกุศลที่แท้จริงคือความรักในการกระทำ ทุกแห่งต้องมีจิตกุศล

เราต้องมีจิตกุศลเพื่อเราจะไม่หาความพอใจในการฟังหรือกระจายข่าวความเคราะห์ร้ายที่มาถึงผู้อื่น เว้นแต่เราจะทำเพื่อประโยชน์ของผู้เคราะห์ร้าย โฮเรซ มานน์นักการศึกษาและนักการเมืองชาวอเมริกันเคยพูดว่า “สงสารคนทุกข์ใจคือมนุษย์ บรรเทาทุกข์ให้คือผู้เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า” [Horace Mann, Lectures on Education (1845), 297]

จิตกุศล คือการมีความอดทนกับคนที่ทำให้เราผิดหวัง คือการต้านแรงผลักดันที่ทำให้เราโกรธง่าย คือการยอมรับความอ่อนแอและข้อบกพร่อง คือการยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น คือการมองข้ามรูปกายเพื่อให้เห็นคุณลักษณะซึ่งจะไม่ถดถอยตามกาลเวลา คือการต้านแรงผลักดันให้แบ่งเขาแบ่งเรา . (“จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 158)

สตรีสามคนคุยกัน
ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพยายามแสวงหาของประทานแห่งจิตกุศลอย่างจริงจังมากขึ้น และพัฒนาความรักเหมือนพระคริสต์กับผู้อื่นใ? ใครบ้างที่ควรรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านท่าน? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้บุคคลนี้รู้สึกถึงความรักของพระองค์มากขึ้น?