“บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: พระบัญญัติให้ขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลก,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)
“บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 15 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
พระบัญญัติให้ขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลก
ท่านมีความหวังหรือความกังวลอะไรเกี่ยวกับการมีบุตร? ขณะท่านศึกษาเนื้อหาต่อไปนี้ ให้สวดอ้อนวอนเพื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นถึงจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เกิดสัมฤทธิผลในแผนของพระบิดาบนสวรรค์เมื่อสามีภรรยาเลือกที่จะมีบุตร พิจารณาว่าสามีภรรยาจะกระทำด้วยศรัทธาเพื่อเคารพพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าให้ขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกได้อย่างไร
หมวดที่ 1
เด็กมีส่วนอะไรในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์?
ลองนึกถึงความคิดเห็นแตกต่างกันที่ท่านได้ยินผู้คนพูดถึงการมีบุตร เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันมุมมองของมารดาคนหนึ่งดังนี้
เสียงมากมายในโลกทุกวันนี้ลดความสำคัญของการมีบุตรหรือบอกให้ประวิงเวลาหรือจำกัดจำนวนบุตรในครอบครัว บุตรสาวของข้าพเจ้าเพิ่งให้อ่านบล็อกในอินเทอร์เน็ตที่เขียนโดยมารดาชาวคริสต์ (ศาสนาอื่น) ที่มีลูกห้าคน เธอเขียนว่า “[โดยที่เติบใหญ่] ในวัฒนธรรมนี้ จึงยากที่จะเข้าใจมุมมองของพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการเป็นมารดา … ลูกถูกจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าวิทยาลัย ต่ำกว่าการเดินทางไปทั่วโลก ต่ำกว่าการสามารถออกไปเที่ยวยามราตรี ต่ำกว่าการออกกำลังกายที่โรงยิม ต่ำกว่างานใดๆ ที่คุณมีหรือหวังว่าจะมี” เธอเขียนเพิ่มเติมว่า “การเป็นมารดาไม่ใช่งานอดิเรก แต่เป็นการเรียก คุณอย่าสะสมลูกเพราะคุณเห็นว่าพวกเขาน่ารักกว่าแสตมป์ ลูกไม่ใช่สิ่งที่คุณจะต้องเจียดเวลา แต่พระผู้เป็นเจ้าประทานเวลาให้คุณก็เพื่อสิ่งนี้” [Rachel Jankovic, “Motherhood Is a Calling (and Where Your Children Rank),” July 14, 2011, desiringgod.org]. (“บุตรธิดา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 34–35)
หลังจากพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างอาดัมกับเอวาและรวมพวกเขาไว้ในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน พระองค์ทรงมอบพระบัญญัติให้แก่พวกเขา
ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายย้ำว่า “พระบัญญัติข้อแรกที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่อาดัมและเอวาเกี่ยวข้องกับศักยภาพของคนทั้งสองที่จะเป็นบิดามารดาในฐานะสามีภรรยา เราประกาศว่าพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้บุตรธิดาของพระองค์ขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกยังมีผลบังคับ” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org)
นึกถึงเหตุผลที่ต้องยืนยันพระบัญญัติข้อนี้อีกครั้งในสมัยของเรา ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “การต่อต้านที่ตึงเครียดที่สุดของซาตานมุ่งไปที่ส่วนสำคัญที่สุดของแผนพระผู้เป็นเจ้า” การต่อต้านนี้รวมถึงการหมายมั่นที่จะ “กีดกันการมีบุตร—โดยเฉพาะพ่อแม่ที่จะเลี้ยงดูบุตรในความจริง” (“ความจริงและแผน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 27)
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ประทานพรเราด้วยทัศนะของพระผู้เป็นเจ้าถึงความสำคัญของบุตร (ดู ตัวอย่างเช่น สดุดี 127:3 และ มัทธิว 19:13–15) เอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นสอนว่า
นับเป็นสิทธิพิเศษสูงสุดของสามีภรรยาที่สามารถให้กำเนิดบุตรเพื่อจัดเตรียมร่างกายมรรตัยให้ลูกทางวิญญาณเหล่านี้ของพระผู้เป็นเจ้า …
เมื่อสามีภรรยาให้กำเนิดเด็กคนหนึ่ง พวกเขากำลังทำให้แผนส่วนหนึ่งของพระบิดาบนสวรรค์ในการนำเด็กมายังแผ่นดินโลกเกิดสัมฤทธิผล พระเจ้าตรัสว่า “นี่คืองานของเราและรัศมีภาพของเรา—คือการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” [โมเสส 1:39] ก่อนความเป็นอมตะ จะต้องมีความเป็นมรรตัย (“บุตรธิดา,” 34)
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าการมีบุตรเป็นส่วนหนึ่งของจุดประสงค์ในความเป็นมรรตัย:
จุดประสงค์ของความเป็นมรรตัยคือเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นโดยรับร่างกาย ใช้สิทธิ์เสรี และยอมรับบทบาทที่เคยเป็นของบิดามารดาแห่งสวรรค์เท่านั้น—นั่นคือบทบาทของสามี ภรรยา และบิดามารดา …
… จุดประสงค์จำเป็นประการหนึ่งของชีวิตมรรตัยคือเพื่อให้เรามีประสบการณ์สร้างครอบครัวด้วยตนเอง เพียงแต่ในเวลานี้ในฐานะบิดามารดาไม่ใช่แค่บุตรธิดา …
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เรา … เชื่อฟังพระบัญชาแรกของพระองค์ให้ “ขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็ม”—ไม่เพียงทำให้แผนของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลเท่านั้นแต่พบปีติที่แผนของพระองค์ออกแบบไว้ให้บุตรและธิดาของพระองค์ด้วย (“The Opportunities and Responsibilities of CES Teachers in the 21st Century” [ยามค่ำกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่, 26 ก.พ. 2016], broadcasts.ChurchofJesusChrist.org)
หมวดที่ 2
ฉันกับคู่สมรสจะตัดสินใจได้อย่างไรว่าเมื่อใดควรมีบุตรและจะมีกี่คน?
คู่สามีภรรยาเผชิญคำถามสำคัญว่าเมื่อใดควรมีบุตรและจะมีกี่คน
เอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นกล่าวถึงความสำคัญของการปรึกษาพระเจ้าในการตัดสินใจเหล่านี้:
ต้องมีบุตรเมื่อใดและต้องมีบุตรกี่คนเป็นการตัดสินใจส่วนตัวที่ต้องทำระหว่างสามีภรรยากับพระเจ้า นี่เป็นการตัดสินใจที่ศักดิ์สิทธิ์—การตัดสินใจที่ควรทำด้วยการสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจและทำตามด้วยศรัทธาอย่างมาก …
พี่น้องทั้งหลาย เราไม่ควรตัดสินกันในความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นส่วนตัวนี้ (“บุตรธิดา,” 34, 37)
บางคนที่มีความปรารถนาอย่างชอบธรรมที่จะมีบุตรอาจไม่มีโอกาสในชีวิตนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นสอนว่า
การให้กำเนิดบุตรเป็นเรื่องที่สามารถ … ทำร้ายจิตใจสามีภรรยาที่ชอบธรรมผู้แต่งงานและพบว่าไม่สามารถมีบุตรที่พวกเขารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ หรือทำร้ายจิตใจสามีภรรยาที่วางแผนจะมีครอบครัวใหญ่แต่ได้รับพรให้มีครอบครัวเล็ก
เราไม่สามารถอธิบายได้เสมอไปถึงความยุ่งยากของความเป็นมรรตัย บางครั้งชีวิตดูเหมือนไม่ยุติธรรม—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความปรารถนาสูงสุดของเราคือทำทุกอย่างที่พระเจ้าทรงบัญชา ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า ข้าพเจ้ารับรองกับท่านว่าสัญญานี้แน่นอน “สมาชิกที่ซื่อสัตย์ซึ่งสภาวการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้ได้รับพรของการแต่งงานนิรันดร์หรือการเป็นบิดามารดาในชีวิตนี้จะได้รับพรที่สัญญาไว้ทั้งหมดในนิรันดร [เมื่อ] สมาชิกรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า” [คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 38.1.4, ChurchofJesusChrist.org]. (“บุตรธิดา,” 37)
หมวดที่ 3
การเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตในแผนของพระผู้เป็นเจ้ามีอิทธิพลต่อการเลือกของเราอย่างไร?
โดยผ่านศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตพระเจ้าทรงเน้นย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์และสิ่งที่เด็กทุกคน รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้เกิด มีสิทธิ์:
เรายืนยันถึงการชำระชีวิตให้บริสุทธิ์และความสำคัญของสิ่งนี้ในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า …
… เด็กมีสิทธิ์ถือกำเนิดภายในพันธะของการสมรสและได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่รักษาคำปฏิญาณของการแต่งงานด้วยความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”)
ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า
ไม่มีใครสามารถกอดทารกที่ไร้เดียงสา มองที่ดวงตาอันสวยงาม สัมผัสนิ้วน้อยๆ และจูบที่แก้มของทารกโดยปราศจากความคารวะอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตและพระผู้สร้างของเรา ชีวิตมาจากชีวิต ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า (“Abortion: An Assault on the Defenseless,” Ensign, Oct. 2008, 37)
คำประกาศในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวกล่าวต่อต้านแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้เช่น การทำแท้งและการมีบุตรนอกสมรส ในหลายภูมิภาคของโลก การทำแท้งเป็นที่ยอมรับและแต่ละปีมีการทำแท้งหลายล้านราย
ผู้นำศาสนจักรให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำแท้งดังต่อไปนี้
พระเจ้าทรงบัญชาว่า “เจ้าจะไม่ … ฆ่า, หรือทำอะไรที่เหมือนกันนี้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:6) ศาสนจักรคัดค้านการเลือกทำแท้งเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัวหรือทางสังคม สมาชิกต้องไม่ยอมทำ ดำเนินการ เตรียมการ ออกค่าใช้จ่าย เห็นชอบ หรือสนับสนุนการทำแท้ง ข้อยกเว้นมีเฉพาะในกรณีที่:
การตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการถูกข่มขืนหรือการร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกัน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าชีวิตหรือสุขภาพของมารดาอยู่ในอันตรายร้ายแรง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าทารกในครรภ์มีความพิการขั้นรุนแรงซึ่งจะทำให้ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หลังคลอด
แม้จะเข้าข่ายยกเว้นข้างต้นแต่ก็ใช่ว่าจะทำแท้งได้โดยพลการ การทำแท้งเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดและควรทำหลังจากบุคคลที่รับผิดชอบได้ปรึกษากับอธิการของตนและได้รับการยืนยันผ่านการสวดอ้อนวอนแล้วเท่านั้น (คู่มือทั่วไป, 38.6.1)
บิดามารดาที่ไม่ได้แต่งงานบางคนเลือกทำแท้งเพราะรู้สึกว่าไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรเพื่อให้ “ความมั่นคง การบำรุงเลี้ยง และความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง” ที่บุตรต้องการ ในสภาวการณ์นี้ การยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมอาจเป็น “การตัดสินใจที่ไร้ความเห็นแก่ตัวและเต็มไปด้วยความรักที่เป็นพรต่อเด็ก ต่อบิดามารดาผู้ให้กำเนิด และบิดามารดาบุญธรรมในชีวิตนี้และตลอดนิรันดร” (First Presidency statement, 4 ต.ค., 2006, ตามที่อ้างอิงไว้ใน Ensign, Oct. 2008, 37)