คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 13: บัพติศมา


บทที่ 13

บัพติศมา

“แท้จริงแล้ว บัพติศมาคือ … การย้าย หรือการฟื้นจากชีวิตหนึ่งไปอีกชีวิตหนึ่ง—ชีวิตของบาปไปสู่ชีวิตของชีวิตทางวิญญาณ”

จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ค.ศ. 1951 ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เล่าประสบการณ์ของท่านประมาณ 67 ปีก่อน เมื่อท่านรับบัพติศมาตอนอายุ 8 ขวบ ท่านเล่าว่าในวันบัพติศมา ท่านรู้สึกว่า “ได้ยืนอย่างบริสุทธิ์ สะอาด ต่อพระพักตร์พระเจ้า” แต่ท่านเรียนรู้ว่าท่านต้องใช้ความพยายามอย่างมากตลอดชีวิตเพื่อรักษาตนให้คงอยู่ในสภาพเช่นนั้น ท่านเล่าว่า “ข้าพเจ้ามีพี่สาวคนหนึ่งซึ่งใจดีมาก เหมือนกับพี่สาวทุกคนของข้าพเจ้า ผู้ที่สร้างความประทับใจให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความจำเป็นในการรักษาตนเองให้พ้นมลทินจากโลก สิ่งที่เธอสอนข้าพเจ้าในวันรับบัพติศมายังเป็นที่จดจำตลอดวันเวลาของชีวิตข้าพเจ้า”1

ด้วยความแน่วแน่ต่อคำสอนของพี่สาว ประธานสมิธกระตุ้นเตือนสมาชิกของศาสนจักรให้รักษาพันธสัญญาบัพติศมาของพวกเขา—เพื่ออยู่ “ในชีวิต [ทาง] วิญญาณ” ที่พวกเขาได้รับเมื่อบัพติศมา2 ท่านประกาศดังนี้

“ไม่มีคำแนะนำใดที่สามารถมอบให้สมาชิกศาสนจักร จะสำคัญไปกว่าการให้พวกเขารักษาพระบัญญัติหลังบัพติศมา พระเจ้าทรงเสนอความรอดบนเงื่อนไขของการกลับใจและความซื่อสัตย์ต่อกฎของพระองค์”3

คำสอนของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

1

บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวเป็นการเปรียบเทียบถึงการเกิด ความตายและการฟื้นคืนชีวิต

บัพติศมา หลักธรรมข้อที่สามและศาสนพิธีแรกของพระกิตติคุณ เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อความรอดและความสูงส่งในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ข้อที่หนึ่ง บัพติศมาคือ วิธีที่คนกลับใจได้รับการปลดบาป สอง เป็นประตูเข้าสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้า รับสั่งกับนิโคเดมัส และรับสั่งกับเราเช่นนั้นใน ยอห์น 3:1–11  …

… บัพติศมาคือการลงไปในน้ำทั้งตัว … บัพติศมาไม่สามารถกระทำโดยวิธีอื่นนอกจากการลงไปในน้ำทั้งตัว ซึ่งมีเหตุผลดังนี้

(1) เป็นการเปรียบเทียบกับการสิ้นพระชนม์ การฝัง และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ และทุกคนที่ได้รับการฟื้นคืนชีวิต

(2) บัพติศมาเป็นการเกิดเช่นกัน และเปรียบได้กับเด็กที่เกิดมาในโลก

(3) แท้จริงแล้ว บัพติศมาเป็นเหมือนการฟื้นคืนชีวิต คือการย้าย หรือการฟื้นคืนชีวิตจากชีวิตหนึ่งไปอีกชีวิตหนึ่ง—ชีวิตของบาปไปสู่ชีวิตของชีวิตทางวิญญาณ

ข้าพเจ้าอยากเริ่มกล่าวถึงเหตุผลข้อที่สองว่า บัพติศมาเป็นการเกิดเช่นกันและเปรียบได้กับเด็กที่เกิดมาในโลก …ใน โมเสส 6:58–60 เราอ่านว่า

“ฉะนั้นเราจึงให้บัญญัติข้อหนึ่งแก่เจ้า, ให้สอนสิ่งเหล่านี้อย่างเปิดเผยแก่ลูกหลานของเจ้า, โดยกล่าวว่า:

“คือโดยเหตุของการล่วงละเมิดการตกจึงเกิดขึ้น, การตกนั้นนำมาซึ่งความตาย, และตราบเท่าที่เจ้าเกิดมาในโลกโดยน้ำ, และโลหิต, และวิญญาณ, ซึ่งเรารังสรรค์ไว้, และจากผงธุลีกลายเป็นจิตวิญญาณมีชีวิตฉันใด, แม้ฉันนั้นเจ้าต้องเกิดใหม่สู่อาณาจักรแห่งสวรรค์, โดยน้ำ, และโดยพระวิญญาณ, และสะอาดโดยพระโลหิต, แม้พระโลหิตของพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดของเรา; เพื่อเจ้าจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์จากบาปทั้งปวง, และยินดีกับถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์ในโลกนี้, และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง, แม้รัศมีภาพอมตะ;

“เพราะโดยน้ำเจ้ารักษาบัญญัติ; โดยพระวิญญาณเจ้าได้รับการรับรอง, และโดยพระโลหิตเจ้าได้รับการชำระให้บริสุทธิ์” …

… เด็กทุกคนที่เกิดมาในโลกมาพร้อมกับน้ำ เกิดในน้ำ ด้วยเลือดและพระวิญญาณ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องเกิดในวิธีเดียวกัน โดยบัพติศมาเกิดจากน้ำ โดยผ่านการหลั่งพระโลหิตของพระคริสต์ชำระและทำให้บริสุทธิ์ และได้รับการรับรองโดยผ่านพระวิญญาณพระผู้เป็นเจ้า บัพติศมาจะไม่สมบูรณ์หากปราศจากบัพติศมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านเห็นเส้นขนานระหว่างการเกิดมาในโลกกับการเกิดมาในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า …

มาถึงเหตุผลข้อที่สาม แท้จริงแล้ว บัพติศมาคือ สัญลักษณ์ของการฟื้นคืนชีวิต การย้าย หรือการฟื้นคืนจากชีวิตหนึ่งไปอีกชีวิตหนึ่ง—ชีวิตของบาปไปสู่ชีวิตของชีวิตทางวิญญาณ …

… ชายหญิงทั้งปวง … ต้องกลับใจ … พวกเขาอยู่ในความตายทางวิญญาณ พวกเขาจะกลับมาได้อย่างไร โดยการฝังลงไปในน้ำ พวกเขาตาย และถูกฝังในน้ำ แล้วออกมาในการฟื้นคืนชีวิตของวิญญาณที่กลับเข้าสู่ชีวิตทางวิญญาณ นั่นคือบัพติศมา4

Oil painting in browns, blues and greens of the artist being baptized in the Dhiepper River.  Two men in white at center with large trees in foreground and hazy city across the river in the background under a cloudy sky.  Signed lower right.  N. Krisochenko 1998.

ภาพเขียนนี้แสดงถึงชายคนหนึ่งกำลังรับบัพติศมาในแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้กับเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน

2

เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ถึงวัยรับผิดชอบได้ไม่จำเป็นต้องรับบัพติศมา เพราะว่าพวกเขาได้รับการไถ่แล้วโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ข้าพเจ้าทราบว่าเด็กเล็กๆ ยังไม่ถึงวัยรับผิดชอบได้ พวกเขาจึงไม่มีความผิดบาป พวกเขาได้รับการไถ่โดยผ่านพระโลหิตของพระคริสต์ และเป็นการล้อเลียนเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่จะยืนกรานว่าพวกเขาต้องรับบัพติศมา อันเป็นการปฏิเสธความยุติธรรมและพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า [ดู โมโรไน 8:20–23]5

ในหลักคำสอนและพันธสัญญาภาคที่ 29 พระเจ้าตรัสดังนี้ (ข้อ 46–47):

“แต่ดูเถิด, เรากล่าวแก่เจ้า, ว่าเด็กเล็กๆ ได้รับการไถ่นับแต่การวางรากฐานของโลกโดยผ่านพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดของเรา;

“ดังนั้น, พวกเขาทำบาปไม่ได้, เพราะมิได้ให้อำนาจซาตานล่อลวงเด็กเล็กๆ, จนกว่าเขาเริ่มรู้จักรับผิดชอบต่อเรา”

ข้อความนี้ฟังดูดีที่ “เด็กเล็กๆ ได้รับการไถ่นับแต่การวางรากฐานของโลก” พระองค์ทรงหมายถึงอะไร หมายความว่าก่อนการวางรากฐานของโลกนี้ แผนแห่งการไถ่ แผนแห่งความรอด ที่เราต้องดำเนินตามในชีวิตมรรตัยนี้ ได้รับการเตรียมไว้แล้ว และพระผู้เป็นเจ้า โดยที่ทรงทราบจุดจบนับแต่กาลเริ่มต้น ทรงจัดเตรียมการไถ่ของเด็กเล็กๆ โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ …

… เมื่อท่านมองใบหน้าของเด็กเล็กๆ เขาเงยหน้ามองและยิ้มให้ท่าน ท่านเชื่อได้หรือว่าเด็กเล็กๆ คนนั้นมีมลทินจากบาป ที่จะปิดกั้นเขาจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า และเขาสมควรตาย …

ข้าพเจ้าจำตอนที่อยู่ในสนามเผยแผ่ในประเทศอังกฤษได้ มีครอบครัวชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่งอยู่ที่นั่น … เมื่อ [สามี] ได้ยินเอ็ลเดอร์สอนตรงบริเวณถนน เขาเชื้อเชิญเอ็ลเดอร์ให้ไปที่บ้านเพราะพวกเขาเป็นคนชาติเดียวกัน เขาไม่สนใจพระกิตติคุณ แต่เขาสนใจเอ็ลเดอร์ เนื่องจากพวกเขามาจากสหรัฐเช่นกัน ข้าพเจ้าเริ่มทำงานที่นั่น ข้าพเจ้าไม่ใช่คนแรกที่เขาเคยฟังการสอน แต่ต่อมา เขาเชิญข้าพเจ้าให้ไปที่บ้าน …

เราคิดว่าเราจะไปบ้านของเขาและคุยเรื่องเบสบอล ฟุตบอล และเรื่องอื่นๆ แล้วเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ในสหรัฐกับในเกรตบริเตน—สิ่งที่เขาสนใจ นั่นคือสิ่งที่เราทำ เริ่มแรก เราไม่ได้กล่าวถึงศาสนาแม้แต่คำเดียว เรากลับไปที่นั่นหลายครั้ง และเขาคิดว่าเราเป็นเพื่อนที่ดี เพราะเราไม่ได้พยายามยัดเยียดศาสนาให้เขา แต่หลังจากนั้น พวกเขาเริ่มถามคำถาม—เรารู้ว่าพวกเขาจะถาม—เย็นวันหนึ่ง ขณะนั่งในบ้านของเขา ภรรยาของชายคนนั้นหันมาหาข้าพเจ้าแล้วพูดว่า “เอ็ลเดอร์สมิธ ดิฉันมีคำถาม” ก่อนถามคำถามเธอเริ่มร้องไห้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเธอเป็นอะไร เธอร้องไห้สะอึกสะอื้น และเมื่อเธอตั้งสติได้พอที่จะถามคำถาม เธอเล่าเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง

เมื่อพวกเขามาที่อังกฤษ พวกเขาโชคร้ายที่สูญเสียลูกเล็กๆ ไป … เขาไปหาพระ [ของโบสถ์ที่พวกเขาเข้าร่วม] และต้องการฝังร่างของลูกน้อยที่สุสานชาวคริสต์ … พระพูดกับเธอว่า “เราไม่สามารถฝังลูกของคุณไว้ที่สุสานนั้นได้ เพราะเขายังไม่ได้รับพิธีล้างบาป ลูกของคุณจะหายไป” นั่นคือวิธีปฏิเสธโดยไม่อ้อมค้อม แต่นั่นคือวิธีที่เธอเล่าเรื่อง หัวใจของสตรีผู้นั้นเจ็บปวดรวดร้าวมาเป็นเวลาสองหรือสามปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ เธอจึงถามข้าพเจ้าว่า “ลูกดิฉันหายไปจริงหรือ ดิฉันจะไม่ได้พบเขาอีกแล้วใช่ไหม” ข้าพเจ้าเปิดพระคัมภีร์มอรมอนและอ่านให้เธอฟัง คำพูดของมอรมอนที่กล่าวกับโมโรไนบุตรชายของท่าน [ดู โมโรไน 8] ข้าพเจ้ากล่าวว่า “ลูกของคุณไม่หายไป ไม่มีเด็กเล็กๆ คนใดหายไป เด็กเล็กๆ ทุกคนได้รับการช่วยให้รอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเขาตาย”

… “และข้าพเจ้ามองเห็นด้วยว่าเด็กทุกคนผู้ที่ตายก่อนถึงวัยที่รับผิดชอบได้ ล้วนรอดในอาณาจักรซีเลสเชียลแห่งสวรรค์” [คพ. 137:10] นั่นคือสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในการเปิดเผยหรือนิมิตที่ท่านได้รับในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ฟังดูดีใช่ไหม นั่นยุติธรรมแล้วใช่ไหม ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรอกหรือ … [เด็กเล็กๆ] ไม่สามารถรับผิดชอบบาปที่มีมาแต่กำเนิด ไม่สามารถรับผิดชอบบาปใดได้เลย และพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้ารับรองเขาและเขาได้รับการไถ่แล้ว

แต่สถานการณ์ของท่านกับข้าพเจ้าเล่า เราอยู่ที่นี่ มีความสามารถที่จะเข้าใจ และพระเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดที่มีความรู้, เรามิได้บัญชาให้กลับใจหรือ” [คพ. 29:49] เราได้รับบัญชาให้กลับใจ เราได้รับบัญชาให้รับบัพติศมา เราได้รับบัญชาให้ชำระบาปของเราให้หมดสิ้นในผืนน้ำแห่งบัพติศมา เพราะเราสามารถเข้าใจ และเราทุกคนล้วนทำบาป แต่ข้าพเจ้ากับท่านไม่ได้รับบัพติศมาเพราะบาปใดๆ ที่อาดัมก่อขึ้น ข้าพเจ้ารับบัพติศมาเพื่อข้าพเจ้าจะสะอาดจากสิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำด้วยตนเอง กับท่านก็เช่นกัน และเพื่อข้าพเจ้าจะมาสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

… พระเจ้าทรงเตรียมทางให้คนเหล่านั้นที่ปราศจากกฎ และเด็กเล็กๆ ไม่ขึ้นอยู่กับกฎของการกลับใจ ท่านจะสอนเด็กเล็กๆ ให้กลับใจได้อย่างไรเล่า เขาไม่มีอะไรให้กลับใจ

พระเจ้าทรงกำหนด—ตามการพิพากษาของพระองค์—อายุที่รับผิดชอบได้คือแปดขวบ หลังจากเราอายุแปดขวบ เราพึงมีความเข้าใจเพียงพอว่าเราควรรับบัพติศมา พระเจ้าทรงดูแลคนเหล่านั้นที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์6

3

ทุกคนที่รับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักรได้ทำพันธสัญญากับพระเจ้าแล้ว

ทุกคน เมื่อเข้าไปสู่ผืนน้ำแห่งบัพติศมา รับพันธสัญญาไว้กับตนเอง

“และอนึ่ง, โดยรูปแบบของบัญญัติต่อศาสนจักรเกี่ยวกับวิธีบัพติศมา—คนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า, และปรารถนาจะรับบัพติศมา, และออกมาด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด, และเป็นพยานต่อหน้าศาสนจักรว่าพวกเขากลับใจอย่างแท้จริงจากบาปทั้งหมดของพวกเขา, และเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์, โดยมุ่งมั่นรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่, และแสดงให้ประจักษ์อย่างแท้จริงด้วยงานของพวกเขาว่าพวกเขาได้รับส่วนหนึ่งของพระวิญญาณของพระคริสต์ไปสู่การปลดบาปของพวกเขา, จะได้รับโดยบัพติศมาเข้าในศาสนจักรของพระองค์” (คพ. 20:37)7

A man baptizing a young girl.  They are standing in the font.

“ทุกคนที่รับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักรได้ทำพันธสัญญากับพระเจ้าเพื่อรักษาพระบัญญัติของพระองค์”

ข้าพเจ้าจะอ่านจากคำสอนและพันธสัญญาภาคที่ 59 ดังนี้

“ดังนั้น, เราให้บัญญัติข้อหนึ่งแก่พวกเขา [สมาชิกของศาสนจักร], โดยกล่าวดังนี้ว่า: เจ้าจงรักพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า, ด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกำลังของเจ้า; และในพระนามของพระเยซูคริสต์ เจ้าจงรับใช้พระองค์

“เจ้าจงรักเพื่อนบ้านของเจ้าดังตัวเจ้า. เจ้าจะไม่ลักขโมย; ทั้งไม่ประพฤติล่วงประเวณี, หรือฆ่า, หรือทำอะไรที่เหมือนกันนี้.

“เจ้าจงขอบพระทัยพระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าในทุกสิ่ง” [คพ. 59:5–7]

ทุกคนที่รับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักรได้ทำพันธสัญญากับพระเจ้าเพื่อรักษาพระบัญญัติของพระองค์ และในพระบัญญัตินี้ กล่าวย้ำในสมัยการประทานที่เราอยู่ เราทราบว่าเราต้องรับใช้พระเจ้าด้วยสุดใจ สุดความนึกคิด และสุดพละกำลังที่เรามี และทำในพระนามของพระเยซูคริสต์เช่นกัน ทุกสิ่งที่เราทำควรทำในพระนามของพระเยซูคริสต์

ในผืนน้ำแห่งบัพติศมา เราทำพันธสัญญาว่าเราจะรักษาพระบัญญัติเหล่านี้ เราจะรับใช้พระเจ้า เราจะรักษาพระบัญญัติข้อแรกและสำคัญที่สุดของพระบัญญัติทั้งหมด และรักพระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของเรา ว่าเราจะรักษาพระบัญญัติข้อใหญ่อีกข้อหนึ่ง เราจะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ด้วยสุดพลังที่เรามี ด้วยสุดพละกำลัง ด้วยสุดใจของเรา เราจะพิสูจน์ต่อพระองค์ว่าเราจะ“ดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำที่ออกจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า” [คพ. 84:44] เราจะเชื่อฟังและอ่อนน้อมถ่อมตน พากเพียรในการรับใช้พระองค์ เต็มใจเชื่อฟัง สดับฟังคำแนะนำของคนเหล่านั้นที่ควบคุมดูแลเราและทำสิ่งทั้งปวงด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว

เราไม่ควรลืมสิ่งเหล่านี้ เพราะนี่คือพระบัญญัติที่ผูกมัดเราในฐานะสมาชิกของศาสนจักร8

4

เพื่อรับพรทั้งหมดของพระกิตติคุณ เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน กลับใจ และเชื่อฟังต่อไป หลังจากรับบัพติศมา

จุดประสงค์สำคัญประการหนึ่งของศาสนจักรที่แท้จริงคือ สอนผู้คนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องทำหลังบัพติศมาเพื่อรับพรทั้งหมดของพระกิตติคุณ9

ทุกจิตวิญญาณที่รับบัพติศมา รับบัพติศมาแล้วอย่างแท้จริง จะอ่อนน้อมถ่อมตน ใจของเขาชอกช้ำและวิญญาณของเขาสำนึกผิด เขาทำพันธสัญญาต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าว่าเขาจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์ และละทิ้งบาปทั้งหมดของเขา หลังจากนั้น เขาเข้ามาสู่ศาสนจักร นี่เป็นโอกาสที่จะทำบาปหลังจากบัพติศมาแล้วใช่ไหม เขาละเลยได้หรือไม่ เขาสามารถหมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้ารับสั่งให้เขาหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ไม่ได้ นี่คือสิ่งจำเป็นซึ่งเขาพึงมีวิญญาณที่สำนึกผิดและใจที่ชอกช้ำเช่นนั้น หลังจากเขารับบัพติศมาเฉกเช่นก่อนรับบัพติศมา10

ข้าพเจ้าได้ยินชายหนุ่มบางคน และบางคนที่ไม่หนุ่มมากนัก พูดคุยเกี่ยวกับบัพติศมา เนื่องจากบัพติศมามีไว้เพื่อการปลดบาป แล้วเหตุใดคนที่ทำบาปจึงไม่ต้องรับบัพติศมาทุกครั้งที่ทำบาป ท่านทราบเหตุผลหรือไม่ ตราบใดที่คนทำบาปและคงอยู่ในชีวิตทางวิญญาณ เขายังมีชีวิต เขาสามารถกลับใจและได้รับการให้อภัย เขาไม่จำเป็นต้องรับบัพติศมาอีกเพื่อกลับไปยังจุดที่เขาเป็นอยู่แล้ว11

ในบรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ใครกำลังแสวงหาพื้นที่ในอาณาจักรทีเลสเชียล ในบรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ใครกำลังแสวหาพื้นที่ในอาณาจักรเทอร์เรสเตรียล เราไม่ควรมีความต้องการที่จะทำอะไรกับอาณาจักรเหล่านั้นเลย นี่ไม่ใช่เจตนาของคนที่บัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักร และไม่ควรเป็นด้วย การทำเช่นนั้นจะทำให้เขาไม่พบพื้นที่ในอาณาจักรซีเลสเชียลของพระผู้เป็นเจ้า เพราะบัพติศมาคือหนทางไปสู่อาณาจักรนั้นอยู่แล้ว บัพติศมามีจุดประสงค์สองประการคือ ในเบื้องต้นมีไว้เพื่อการปลดบาป จากนั้น เพื่อการเข้าสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่อาณาจักรทีเลสเชียลหรืออาณาจักรเทอร์เรสเตรียล แต่เข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพำนัก นั่นคือจุดประสงค์ของบัพติศมา นั่นคือของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยการวางมือ เพื่อ—เตรียมเรา โดยผ่านการเชื่อฟัง ว่าเราจะดำเนินต่อไปในการรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า จนกว่าเราจะได้รับความสมบูรณ์ในอาณาจักรซีเลสเชียล12

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ขณะอ่านความทรงจำของประธานสมิธใน “จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ” ให้นึกถึงบัพติศมาของท่าน ท่านมีความเข้าใจเรื่องบัพติศมามากขึ้นอย่างไรนับแต่นั้น เราจะช่วยสมาชิกครอบครัวหรือมิตรสหายที่กำลังเตรียมตัวรับบัพติศมาได้อย่างไรบ้าง

  • ท่านได้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับบัพติศมาจากคำสอนของประธานสมิธในหัวข้อที่ 1 คำสอนของท่านเกี่ยวกับสัญลักษณ์บัพติศมาเพิ่มความเข้าใจของเราถึงพันธสัญญาบัพติศมาอย่างไร

  • เรื่องราวในหัวข้อที่ 2 สอนอะไรบ้างเกี่ยวกับความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์ ให้นึกถึงคนที่ท่านรู้จักผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้หลักคำสอนที่สอนเรื่องราวดังกล่าว

  • ไตร่ตรองถึงความพยายามของท่านในการรักษาพันธสัญญาบัพติศมา (ดู หัวข้อที่ 3) พันธสัญญานี้มีอิทธิพลต่อปฏิสัมพันธ์ของท่านกับสมาชิกครอบครัวและคนอื่นๆ อย่างไร

  • พิจารณาถ้อยคำของประธานสมิธในตอนต้นหัวข้อที่ 4 ท่านคิดว่าผู้คนต้องได้รับการสอนหลังรับบัพติศมาหรือไม่ เราจะช่วยกันรักษาพันธสัญญาบัพติศมาได้อย่างไรบ้าง

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

มัทธิว 3:13–17; 2 นีไฟ 31:5–13; โมไซยาห์ 18:8–13; 3 นีไฟ 11:31–39; คพ. 68:25–27; หลักแห่งความเชื่อ 1:4

ความช่วยเหลือด้านการสอน

“ท่านจะช่วยให้คนที่ท่านสอนรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการสนทนามากขึ้นได้ถ้าท่านตอบสนองต่อความคิดเห็นที่จริงใจทุกข้อในทางบวก ตัวอย่างเช่น ท่านอาจพูดว่า ‘ขอบคุณครับ นั่นเป็นคำตอบที่น่าคิดทีเดียว’ … หรือ ‘นั่นเป็นตัวอย่างที่ดี’ ‘ผมขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่คุณพูดวันนี้”’ (ไม่มีการเรียกใด ยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], หน้า 64)

อ้างอิง

  1. ใน Conference Report, เม.ย. 1951 หน้า 57–58

  2. “Repentance and Baptism,” Deseret News, 30 มี.ค. 1935, หัวข้อข่าวศาสนจักร, 8; ดู Doctrines of Salvation, เรียบเรียงโดย บรูซ อาร์. แมคคองกี, ฉบับที่ 3 (1954–1956), 2:326 ด้วย

  3. ใน Conference Report, ต.ค. 1970 หน้า 7

  4. “Repentance and Baptism,” 6, 8; ดู Doctrines of Salvation, 2:323–326 ด้วย

  5. “Testimony of Elder Joseph F. Smith Jr.,” Liahona: The Elder’s Journal, 30 มี.ค. 1915 หน้า 629

  6. “Redemption of Little Children,” Deseret News, 29 เม.ย. 1939, หัวข้อข่าวศาสนจักร, 7

  7. “Seek Ye Earnestly the Best Gifts,” Ensign, มิ.ย. 1972 หน้า 2

  8. ใน Conference Report, เม.ย. 1940 หน้า 95; ดู Doctrines of Salvation, 2:328 ด้วย

  9. “The Plan of Salvation,” Ensign, พ.ย. 1971 หน้า 5

  10. ใน Conference Report, ต.ค. 1950 หน้า 12; ดู Doctrines of Salvation, 2:329 ด้วย

  11. “Repentance and Baptism,” 8; ดู Doctrines of Salvation, 2:326 ด้วย

  12. ใน Conference Report, เม.ย. 1922 หน้า 60–61