คำสอนของประธานศาสนจักร
ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ


ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ “ใช้คำพิเศษสามคำที่ข้าพเจ้าไม่มีวันลืมได้เลย” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าว คำเหล่านั้นคือ “แน่วแน่และซื่อสัตย์” ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ในคำปราศัยต่อสาธารณชน ในการสนทนาส่วนตัว ในการสวดอ้อนวอนพระเจ้า ท่านขอให้เราแน่วแน่และซื่อสัตย์”1ประธานโธมัส เอส. มอนสันแบ่งปันความทรงจำที่คล้ายกันนี้ว่า “แม้อายุจะมากขึ้น แต่ [ท่าน] สวดอ้อนวอนเสมอ ‘ให้เราแน่วแน่และซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่’”2

“แน่วแน่และซื่อสัตย์” สำหรับประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เป็นมากกว่าถ้อยคำที่กล่าวซ้ำบ่อยๆ เป็นการแสดงถึงความรู้สึกจากใจของความหวังที่ท่านมีต่อผู้คนทั้งปวง อีกทั้งยังเป็นการพรรณนาถึงชีวิตท่านตั้งแต่วัยเด็กจนถึงการรับใช้เป็นประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

“บุตรแห่งคำสัญญา”

โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ “เกิดในฐานะบุตรแห่งคำสัญญา” เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว เอ็ลเดอร์แมคคองกี บุตรเขยของประธานสมิธอธิบายว่าจูลินา แลมบ์สัน สมิธ “มีบุตรีสามคนแต่ไม่มีบุตรชายเลย เธอไปอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้าเช่นเดียวกับฮันนาห์ในสมัยโบราณเพื่อ ‘บน’ [1 ซามูเอล 1:11] เธอสัญญาว่าหากพระเจ้าจะประทานลูกชายแก่เธอ ‘เธอจะทำทุกสิ่งในพลังของเธอเพื่อช่วยให้เขาเป็นเกียรติแด่พระเจ้าและต่อบิดาของเขา’ พระเจ้าทรงสดับคำอธิษฐานของเธอ และเธอรักษาสัญญานั้น”3 วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1876 จูลินาและโจเซฟ เอฟ. สมิธสามี ต้อนรับบุตรชายผู้เป็นทารกแรกเกิดสู่ครอบครัว พวกเขาตั้งชื่อว่าโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ ตามชื่อบิดาท่าน

ช่วงแรกเกิด โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอยู่กับครอบครัวที่เปี่ยมด้วยศรัทธา การรับใช้ และความเป็นผู้นำ คุณปู่ของท่าน ไฮรัม สมิธเป็นพี่ชายของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและเป็นพยานที่องอาจถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณ พระเจ้าทรงกำหนดให้ไฮรัม “เป็นศาสดาพยากรณ์, และผู้หยั่งรู้, และผู้เปิดเผยแก่ศาสนจักร [ของพระองค์]” ตรัสว่าชื่อของไฮรัมจะ “มีอยู่ในความทรงจำอย่างมีเกียรติจากรุ่นสู่รุ่น, ตลอดกาลและตลอดไป” (ค.พ. 124:94, 96) พร้อมด้วยโจเซฟ น้องชายท่าน ไฮรัมผนึกประจักษ์พยานของท่านด้วยเลือดเป็นมรณสักขีโดยกลุ่มคนร้ายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 (ดูค.พ. 135)

Joseph Fielding Smith’s parents, Joseph F. Smith and Julina Lambson Smith, standing together.

บิดามารดาของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ และจูลินา แลมบ์สัน สมิธ

โจเซฟ เอฟ. สมิธ บิดาของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธแบกรับภาระหนักตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านเป็นลูกคนแรกของไฮรัมและแมรี ฟิลดิงก์ สมิธ ท่านอายุห้าขวบตอนที่บิดาเป็นมรณสักขีและเมื่ออายุเก้าขวบท่านช่วยเหลือมารดาม่ายของท่านขับเกวียนจากนอวู อิลลินอยส์ ไปยังหุบเขาซอลท์เลค ต่อมาท่านรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาและสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านเป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดเมื่อครั้งโจเซฟบุตรชายของท่านเกิด ท่านรับใช้เป็นประธานศาสนจักรตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1901 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

จูลินา แลมบ์สัน สมิธ มารดาของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธเป็นสมาชิกครอบครัวผู้บุกเบิกยุคแรกในหุบเขาซอลท์เลค ตั้งแต่เก้าขวบ เธอเติบโตในบ้านจอร์จ เอ. สมิธคุณลุงของเธอ ผู้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองในเวลานั้นกับบัธเชบา ดับเบิลยู. สมิธ คุณป้าของเธอ (ต่อมาเอ็ลเดอร์สมิธรับใช้เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดภายใต้การนำของประธานบริคัม ยังก์ และซิสเตอร์สมิธรับใช้เป็นประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญในเวลาต่อมา) เมื่อเติบใหญ่ จูลินาเป็นภรรยาและมารดาผู้อุทิศตนและเป็นสมาชิกสมาคมสงเคราะห์ที่ทำงานอย่างทุ่มเท เธอเป็นที่รู้จักในเรื่องความเมตตากรุณาและทักษะด้านผดุงครรภ์ เธอนำ “เด็กๆ เกือบ 1,000 คนเข้ามาในโลก” และดูแลมารดาของพวกเขา4 ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1910 ถึงเมษายน ค.ศ. 1921 เธอรับใช้เป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ

ทำงานและเล่นขณะเป็นเยาวชนชาย

โจเซฟเรียนรู้การทำงานเมื่ออายุยังน้อย ครอบครัวท่านเป็นเจ้าของฟาร์มในเทเลอร์สวิลล์ ยูทาห์ห่างจากบ้าน 10 ไมล์ (16 กิโลเมตร) ท่านและน้องชายช่วยกันทดน้ำ เกี่ยวหญ้าและดูแลปศุสัตว์ ที่บ้าน ครอบครัวดูแลสวนผักขนาดใหญ่ ไม้ผลหลายต้น ต้นองุ่นแถวยาวเหยียดสามแถว ฝูงไก่ วัวสามตัว และม้าอีกสองสามตัว ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ ปฏิบัติพหุสมรส ครอบครัวจึงมีหลายปากท้องต้องเลี้ยงดูและอีกหลายมือช่วยทำงาน เพราะโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เป็นหนึ่งในบรรดาลูกคนโตของครอบครัวใหญ่ ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างซึ่งโดยปกติมักจะให้ผู้ใหญ่ทำ นอกจากความรับผิดชอบเหล่านี้แล้ว ท่านยังตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเสมอ

โจเซฟทำงานครั้งแรกนอกบ้านและทำงานในฟาร์มครอบครัวกับมารดา ท่านขี่ม้าและขับรถม้าเพื่อช่วยมารดาทำหน้าที่นางผดุงครรภ์ ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ท่านได้งานที่สถาบันสหกรณ์การค้าแห่งไซอัน [Zion”s Cooperative Mercantile Institution (ZCMI)] ซึ่งท่านต้องลงแรงทำงานวันละหลายชั่วโมง ท่านเล่าในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าทำงานประหนึ่งม้างานทั้งวันและเหนื่อยล้าเมื่อตกค่ำ แบกกระสอบแป้งและน้ำตาล แฮมและเบคอนไว้บนหลัง ข้าพเจ้ามีน้ำหนักตัว 150 ปอนด์ (68 กิโลกรัม) แต่ข้าพเจ้าไม่ลังเลที่จะแบกกระสอบหนัก 200 ปอนด์ (91 กิโลกรัม) ไว้บนบ่าข้าพเจ้า”5

โจเซฟหาเวลาเล่นสนุกเพื่อสร้างดุลยภาพให้กับภาระหนักของท่าน ท่านกับพี่น้องชอบเล่นเกมกลางคืนบริเวณรอบๆ บ้าน ซ่อนตัวในไร่องุ่น—“โดยเฉพาะเวลาองุ่นแก่จัด”6 ท่านชอบเล่นเบสบอลด้วยเช่นกัน แต่ละวอร์ดมีทีมเบสบอลและท่านสนุกกับการแข่งขันกระชับมิตรเหล่านี้

การศึกษาพระกิตติคุณและการเติบโตทางวิญญาณ

แม้ว่าเบสบอลจะสำคัญต่อเด็กหนุ่มโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ แต่บางครั้งท่านออกจากการแข่งขันก่อนเวลาเพราะถูกดึงความสนใจไปยังสิ่งที่สำคัญกว่า ในเวลาดังกล่าว อาจพบท่านอยู่ตามลำพัง “ในโรงนาหรือใต้ร่มไม้เพื่ออ่านหนังสือ” พระคัมภีร์มอรมอน7 “นับแต่ข้าพเจ้าจำความได้” ท่านกล่าวต่อว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าอ่านหนังสือได้เป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าก็ได้รับความเพลิดเพลินและความพึงพอใจจากการศึกษาพระคัมภีร์ การอ่านเรื่องราวของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ และงานที่สำเร็จลุล่วงเพื่อความรอดของมนุษย์มากกว่าอะไรทั้งสิ้นในโลกนี้” 8 ท่านเริ่มวางแบบแผนการศึกษาพระกิตติคุณส่วนตัวเมื่อท่านได้รับพระคัมภีร์มอรมอนเล่มแรกเมื่ออายุแปดขวบ ท่านอ่านงานมาตรฐานและสิ่งพิมพ์ของศาสนจักรด้วยความกระหายใคร่รู้ ท่านนำพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ฉบับพกพาไปด้วยเพื่ออ่านในช่วงพักกลางวันและขณะเดินทางไปกลับจากงานที่ ZCMI ท่านเพิ่มความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของท่านในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูอย่างสม่ำเสมอและไม่ย่อท้อ

Joseph Fielding Smith as a young boy reading scriptures in hayloft

บางครั้งเด็กหนุ่มโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธออกจากการแข่งขันเบสบอลก่อนเวลาเพื่อจะได้อ่านพระคัมภีร์มอรมอนในโรงนาของครอบครัว

แต่การเติบโตทางวิญญาณของโจเซฟไม่ได้หยุดอยู่แค่การศึกษาส่วนตัว ท่านเข้าร่วมการประชุมและชั้นเรียนของศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์ ท่านได้รับพรและศาสนพิธีฐานะปุโรหิต ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษกับพระวิหาร พระวิหารซอลท์เลคดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 23 ปีตอนท่านเกิด “ตลอดช่วงวัยเยาว์ โจเซฟเฝ้ามองดูการก่อสร้างแต่ละวันของอาคารอันสง่างามแห่งนี้ด้วยความสนใจใคร่รู้ ท่านเห็นหินแกรนิตขนาดใหญ่ก้อนสุดท้ายในตู้รถไฟซึ่งขนมาจากเหมือง … [ท่าน] เห็นยอดแหลมสวยงามเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด … [ท่านกล่าวว่า] ‘ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะมีชีวิตยืนยาวพอได้เห็นพระวิหารสร้างเสร็จหรือไม่’”9

วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1893 โจเซฟเข้าร่วมการอุทิศภาคแรกของพระวิหารซอลท์เลค ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ ประธานศาสนจักรคนที่สี่ควบคุมภาคนี้และเป็นผู้สวดอ้อนวอนอุทิศ ที่นั่งบนยกพื้นทางซ้ายของประธานวูดรัฟฟ์คือประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ ที่ปรึกษาที่สองของท่าน

เมื่อโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอายุ 19 ปี ท่านได้รับปิตุพร ประกาศโดยจอห์น สมิธ ลุงของท่านซึ่งรับใช้เป็นผู้ประสาทพรของศาสนจักร พรดังกล่าวได้เพิ่มความเข้มแข็งทางวิญญาณของโจเซฟ ปิตุพรบอกโจเซฟดังนี้

“นี่เป็นเกียรติของท่านที่จะมีชีวิตอยู่ยาวนานและเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้ท่านเป็นชายที่ยิ่งใหญ่ในอิสราเอล …

นี่เป็นหน้าที่ของท่านที่จะนั่งประชุมในสภากับพี่น้องและกำกับดูแลบรรดาผู้คน อีกทั้งเป็นหน้าที่ของท่านที่จะเดินทางในบ้านเกิดและต่างแดน ทางบกและทางน้ำ บากบั่นในการปฏิบัติศาสนกิจ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า จงเชิดศีรษะและเปล่งเสียงของท่านโดยไม่หวาดหวั่นหรือโอนเอน เพราะพระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงนำทางท่าน และพรของพระเจ้าจะเทมาบนท่าน พระวิญญาณของพระองค์จะทรงนำความคิด ประทานปัญญาและถ้อยคำแก่ท่าน เพื่อทำลายปัญญาของคนชั่วร้ายและคำปรึกษาที่ไร้ค่าของคนไม่เที่ยงธรรม”10

ต่อมา หลังจากวันเกิดปีที่ 20 ของท่าน ท่านได้รับโอกาสใหม่สำหรับการรับใช้และการเติบโตทางวิญญาณ ท่านได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งเอ็ลเดอร์ในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และรับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร จนบั้นปลายของชีวิตขณะรับใช้เป็นประธานศาสนจักร ท่านประกาศว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกขอบพระทัยมากเพียงไรที่ได้ดำรงฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้าแสวงหาตลอดวันเวลาเพื่อขยายการเรียกในฐานะปุโรหิตนั้นและหวังว่าจะอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในชีวิตนี้และมีความสุขกับสัมพันธภาพของวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ในชีวิตที่จะมาถึง”11

ผูกสมัครรักใคร่และการแต่งงาน

ขณะที่โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธหนุ่มช่วยเหลือค้ำจุนครอบครัว ศึกษาพระกิตติคุณและเตรียมรับพรฐานะปุโรหิต ความพยายามของท่านเป็นที่สังเกตของสตรีสาวท่านหนึ่งนามว่า ลูอี เชิร์ทลิฟฟ์ บิดามารดาของเธออาศัยอยู่ในออกเด็น ยูทาห์ เธอมาอาศัยอยู่กับครอบครัวสมิธเพื่อจะศึกษาที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ ซึ่งเวลานั้นตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านของครอบครัวสมิธ

แรกทีเดียว สัมพันธภาพของโจเซฟกับลูอีไม่มีอะไรมากกว่าความเป็นเพื่อน แต่ค่อยๆ ลึกซึ้งขึ้นเป็นการผูกสมัครรักใคร่ เนื่องจากทั้งสองมีเงินเพียงน้อยนิด พวกท่านจึงทำได้เพียงอ่านหนังสือด้วยกันในห้องนั่งเล่นเป็นส่วนใหญ่ คุยกัน เดินเล่นด้วยกัน และเข้าร่วมกิจกรรมศาสนจักร โจเซฟชอบฟังลูอีเล่นเปียโน บางครั้งพวกท่านไปชมการแสดงที่โรงละครในท้องที่ ช่วงปลายปีการศึกษาปีที่สองของลูอี การผูกสมัครรักใคร่ของพวกท่านเบ่งบานกลายเป็นความรักที่มั่นคงจนโจเซฟขี่จักรยานไปกลับเป็นระยะทาง 100 ไมล์ (160 กิโลเมตร) บนเส้นทางลูกรังขรุขระ เพื่อจะได้พบเธอในออกเด็นสักหนึ่งหรือสองครั้งช่วงปิดภาคเรียน12

ในที่สุด ลูอีกับโจเซฟสนทนากันเรื่องการแต่งงาน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามค้างอยู่ในใจว่า โจเซฟจะได้รับเรียกให้รับใช้งานเผยแผ่หรือไม่ ช่วงเวลานั้น หนุ่มสาวที่ปรารถนาจะรับใช้งานเผยแผ่ไม่ได้เข้าพบอธิการเพื่อรับรองการเรียกดังกล่าว กระบวนการเรียกเข้าสู่งานเผยแผ่ดำเนินการผ่านสำนักงานของประธานศาสนจักรทั้งหมด ชายหนุ่มไม่สามารถทราบได้ว่าเขาจะพบหมายเรียกในกล่องไปรษณีย์เมื่อไร

ลูอีเรียนจบมหาวิทยาลัยในฤดูใบไม้ผลิปี 1897 และย้ายกลับไปอยู่กับบิดามารดาของเธอที่ออกเด็น หนึ่งปีต่อมา เห็นได้ชัดว่าไม่มีหมายเรียกงานเผยแผ่มาเลย ทั้งสองจึงตัดสินใจหันกลับมาวางแผนการแต่งงานอีกครั้ง ขณะที่โจเซฟกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าชวนเธอให้เปลี่ยนที่พำนัก วันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1898 เราไปพระวิหารซอลท์เลคและแต่งงานกันเพื่อกาลเวลาและนิรันดรโดยประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ บิดาข้าพเจ้า”13 เมื่อโจเซฟและลูอีเริ่มต้นชีวิตด้วยกัน พวกเขาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ ในบ้านของตระกูลสมิธ

เอาใจใส่ต่อการเรียกเป็นผู้สอนศาสนา

ในยุคแรกๆ ของศาสนจักร ชายที่แต่งงานแล้วมักจะได้รับเรียกให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา โจเซฟกับลูอีไม่ได้ประหลาดใจแต่อย่างใดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1899 หมายเรียกลงนามโดยประธานลอเรนโซ สโนว์ มาถึงกล่องจดหมาย แต่โจเซฟค่อนข้างประหลาดใจกับสนามเผยแผ่ที่ได้รับมอบหมายให้ไปมากกว่า ก่อนรับการเรียก ท่านสนทนากับประธานแฟรงค์ลิน ดี. ริชาร์ดส์ ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการรับหมายเรียก โจเซฟหวนคิดต่อมาว่า “[ท่าน] ถามข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าอยากไปที่ใด ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านว่าข้าพเจ้าไม่มีการเลือกใดเป็นพิเศษ จะไปในที่ซึ่งส่งข้าพเจ้าไปเท่านั้น แต่ท่านกล่าวว่า ‘น่าจะมีที่ไหนสักแห่งที่คุณอยากไป’ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘ผมอยากไปเยอรมนี’ แล้วพวกเขาก็ส่งข้าพเจ้าไปอังกฤษ!” 14

Elder Joseph Fielding Smith as a full-time missionary, wearing a white shirt, a bow tie, and a suit.

เอ็ลเดอร์โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา

ลูอีตัดสินใจย้ายไปอยู่กับบิดามารดาของเธอขณะที่โจเซฟไปรับใช้ การทำเช่นนี้ ทำให้เธอรู้สึกว่าจะช่วยเธอทนต่อความโดดเดี่ยวที่แยกจากสามีได้ และเธอจะทำงานในร้านของบิดา เพื่อหาเงินทุนมาช่วยเหลืองานเผยแผ่ของโจเซฟ15

วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 หนึ่งวันก่อนเข้าสู่สนามเผยแผ่ เอ็ลเดอร์สมิธและผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ ได้รับคำแนะนำจากประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ เอ็ลเดอร์จอร์จ ทีส์เดล และฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง นี่เป็นการอบรมของพวกท่านก่อนไปเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา ที่การประชุม ผู้สอนศาสนาแต่ละคนได้รับใบสำคัญการเป็นผู้สอนศาสนาอย่างเป็นทางการ ใบสำคัญของเอ็ลเดอร์สมิธอ่านว่า

“ขอรับรองว่าเอ็ลเดอร์โจเซฟ เอฟ. สมิธ จูเนียร์ อยู่ในศรัทธาอันเปี่ยมล้นและอยู่ในมาตรฐานที่ดีในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักรดังที่กล่าวนามมานั้นขอแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้รับใช้ในคณะเผยแผ่เกรตบริเตนเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณและปฏิบัติศาสนพิธีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของท่าน

“และเราเชื้อเชิญมนุษย์ทั้งปวงให้เอาใจใส่คำสอนและคำแนะนำของท่านในฐานะคนของพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกส่งไปเปิดประตูแห่งชีวิตและความรอดแก่พวกเขา—เพื่อช่วยเหลือท่านในการเดินทางและไม่ว่าอะไรก็ตามที่ท่านต้องการ

“เราสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ ให้ประทานพรแก่เอ็ลเดอร์สมิธและทุกคนที่รับท่านและให้การปลอบโยนแก่ท่าน ด้วยพรนานัปการแห่งสวรรค์และแผ่นดินโลก เพื่อกาลเวลาและชั่วนิจนิรันดร์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

“ลงนามที่ซอลท์เลค ซิตี้ ยูทาห์ วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 ในฐานะตัวแทนศาสนจักร ลอเรนโซ สโนว์, จอร์จ คิว. แคนนอน, จอส. เอฟ. สมิธ ฝ่ายประธานสูงสุด”16

วันต่อมา ครอบครัวมารวมกันที่บ้านเพื่อกล่าวอำลาโจเซฟและพี่ชายอีกคนที่ได้รับเรียกไปรับใช้ในอังกฤษเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกครอบครัวหายไปหนึ่งคน เอมิลี น้องสาวของโจเซฟแอบซ่อนอยู่ เพราะละอายใจที่ทำบางสิ่งบางอย่างเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ครั้งที่โจเซฟกับลูอีผูกสมัครรักใคร่กัน บางครั้งโจเซฟจะพาเอมิลีและเด็กคนอื่นๆ เข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อจะได้อยู่กับหวานใจของท่านตามลำพัง เธอหงุดหงิดกับความไม่เป็นธรรมนี้ เอมิลีมักจะสวดอ้อนวอนให้พระเจ้าทรงส่งพี่ชายไปรับใช้งานเผยแผ่ บัดนี้ พี่กำลังจะจากไปจริงๆ เธอจึงรู้สึกผิดที่มีส่วนทำให้พี่ต้องจากไป17

โจเซฟกับลูอีทราบว่าการเรียกให้รับใช้ในประเทศอังกฤษมาจากพระเจ้า โจเซฟกระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่ของท่าน และลูอีก็พอใจที่สามีจะรับใช้งานเผยแผ่ แต่ทั้งคู่ฟันฝ่ากับแนวคิดที่ต้องแยกจากกัน เมื่อถึงเวลาที่เอ็ลเดอร์สมิธต้องไปขึ้นรถไฟ “ลูอีพยายามเข้มแข็ง ไม่ให้โจเซฟเห็นว่าเธอร้องไห้ แต่ยากที่จะปกปิดนัยน์ตาอันแดงก่ำไว้ได้ โจเซฟเริ่มคิดถึงบ้านขึ้นมาทันทีเมื่อนึกถึงการจากลาจนท่านไม่อยากพูดคุยกับใครเลย … มีก้อนจุกขึ้นมาถึงคอของโจเซฟขณะหยุดตรงประตูด้านหน้าของบ้านหลังเก่าที่ถนนเฟิร์ส นอร์ท และจูบลาคนที่ท่านรักทีละคน ได้แก่ มารดา บิดา พี่ๆ น้องๆ ลุงป้าน้าอา และสุดท้ายคือ ลูอี ‘ลาก่อนลูอี ที่รักของผม ขอพระผู้เป็นเจ้าประทานพรและปกป้องคุ้มครองคุณให้ปลอดภัยแทนผมด้วย’”18

เพาะเมล็ดแห่งพระกิตติคุณในประเทศอังกฤษ

นับจากเวลาที่รถไฟ—ซึ่งไม่สะดวกสบายและอบอวลไปด้วยควันยาสูบ—เคลื่อนขบวนออกจากบ้านเกิด เอ็ลเดอร์สมิธอุทิศตนเพื่องานเผยแผ่ของท่าน รายงานบันทึกส่วนตัวรวมทั้งจดหมายที่ท่านส่งและได้รับเผยให้เห็นถึงความยากลำบากที่ท่านเผชิญขณะเป็นผู้สอนศาสนาตลอดจนศรัทธาและการอุทิศตนที่ท่านใช้เผชิญกับสิ่งเหล่านั้น

เมื่อวันแรกของงานเผยแผ่ในประเทศอังกฤษสิ้นสุดลง ท่านเขียนในบันทึกส่วนตัวว่า “นี่เป็นวันสำคัญยิ่งในชีวิตอันแสนสั้นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจากบ้านมาไม่ถึงเดือนเพื่อจุดประสงค์ในการสั่งสอนพระกิตติคุณของพระเจ้า … วันนี้ ข้าพเจ้าออกไปสำรวจและแจกเอกสาร 25 ชุด (แผ่นพับ) งานนี้นับเป็นงานแรกเลยก็ว่าได้ที่ข้าพเจ้าเคยพยายามทำและไม่ง่ายเลยสำหรับข้าพเจ้า … ข้าพเจ้าแบ่งปันประจักษ์พยานต่อโลกเป็นครั้งแรกในวันนี้ แต่จะทำให้ดียิ่งขึ้นได้ ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ข้าพเจ้าจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงเรียกให้ข้าพเจ้าทำ”19

เมื่อบิดาท่านส่งเงินจำนวนไม่กี่ดอลลาร์มาให้สำหรับความจำเป็นต่างๆ ท่านตอบว่า “ผมจะใช้เงินที่คุณพ่อส่งมาให้อย่างคุ้มค่า ผมไม่ใช้จ่ายอะไรเว้นแต่จะมีเหตุผลที่ต้องใช้จริงๆ” ท่านบอกบิดาถึงปณิธานของท่านในการเรียนรู้และการสอนพระกิตติคุณเช่นกันว่า “ผมอยู่ที่นี่เพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณและผมหวังว่าจะสามารถทำได้ดี … นี่เป็นความปรารถนาของผมที่จะปรับปรุงความคิดและพรสวรรค์ขณะอยู่ที่นี่ เพื่อให้เป็นประโยชน์เสมอสำหรับบางสิ่งบางอย่างในชีวิต … ผมอยากทำทุกสิ่งให้ถูกต้องและไม่มีสิ่งใดทำให้ผมพึงพอใจได้มากไปกว่าการเรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับพระกิตติคุณ ความปรารถนาของผมคือเรียนรู้พระกิตติคุณให้กระจ่างแจ้งและได้รับปัญญา”20

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ เขียนคำชมเชยต่อไปนี้ในจดหมายถึงเอ็ลเดอร์โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธว่า “พ่อชอบเจตคติของลูก พ่อมีศรัทธาในความสุจริตของลูก พ่อพอใจและชื่นชมลูก พ่ออยากให้ลูกบ่มเพาะปัญญา มีวิจารณญาณอันถี่ถ้วนและความอดทน มีพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และความรักของพระผู้เป็นเจ้า”21 ลูอิส เชิร์ทลิฟฟ์ บิดาของลูอี แสดงความเชื่อมั่นในเอ็ลเดอร์สมิธเช่นกัน “พ่อรู้สึกอยู่เสมอว่าลูกจะทำให้พันธกิจอันทรงรัศมีภาพสมบูรณ์และรับประสบการณ์ที่จะทำให้ลูกคู่ควรกับตำแหน่งสูงที่กำหนดไว้ให้ลูกในอนาคต”22

ในจดหมายถึงลูอี โจเซฟแสดงความรักที่มีต่อเธอเสมอ ท่านมักจะสอดดอกไม้ทับแห้งไว้ใน “จดหมายอันอบอุ่นและเสน่หา” ของท่าน23 ท่านเขียนเกี่ยวกับการท้าทายที่ท่านเผชิญด้วยว่า “มีหลายคนที่เราสอนในประชาชาตินี้ทราบว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง แต่พวกเขาไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมที่จะออกมาจากโลกนี้และน้อมรับพระกิตติคุณ”24

ลูอีส่งจดหมายอย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอเขียนว่า “ขอให้คุณจำไว้ว่า ดิฉันอยู่ที่นี่เพื่อรักและสวดอ้อนวอนให้คุณและดิฉันไม่เคยลืมคุณเลยแม้แต่เสี้ยววินาที … ขอทรงโปรดประทานพรแด่คุณ สามีผู้ล้ำค่าของดิฉัน นี่เป็นคำสวดอ้อนวอนของดิฉันตลอดไป”25 ลูอีเขียนถึงการอุทิศตนที่เธอมีต่อสามีและการอุทิศตนที่เธอมีต่อพระเจ้าและงานของพระองค์อย่างชัดเจน เธอย้ำเตือนโจเซฟเสมอว่าไม่ควรให้ความคิดถึงบ้านบั่นทอนปณิธานในการรับใช้

เอ็ลเดอร์สมิธต้องการกำลังใจเช่นนั้นเพราะท่านแทบไม่พบใครเลยที่จะน้อมรับข่าวสารพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู หลายปีต่อมา ท่าน “บอกโจเซฟลูกชายของท่านว่าสภาพนั้นแย่มากและผู้คนไม่สนใจเลยจนท่านคิดว่าคงไม่สามารถทำงานต่อไปได้ คืนหนึ่ง ท่านนอนนึกถึงความต้องการที่จะทำงานหาค่าเดินทางกลับบ้าน”26 แต่ท่านได้รับกำลังใจจากคนที่ท่านรักและความเข้มแข็งจากคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา บวกกับความปรารถนาในการรับใช้ ท่านจึงเอาชนะความคิดดังกล่าวได้ ท่านทราบว่าพระเจ้าทรงเรียกท่าน และท่านต้องทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรเพื่อประโยชน์ของผู้คนที่ท่านรับใช้และเพื่อผลดีของครอบครัวท่านเอง ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายินดีอยู่ที่นี่ตลอดไปดีกว่ากลับบ้านโดยปราศจากบันทึกและการปลดอย่างสมเกียรติ … ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้ข้าพเจ้ามีวิญญาณแห่งพระกิตติคุณและความรักต่อเพื่อนผู้รับใช้ ขอให้ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ได้จนกว่าจะได้รับการปลดอย่างสมเกียรติ หากปราศจากการสวดอ้อนวอนของทางบ้านเพื่อข้าพเจ้าและการสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าคงไม่อาจประสบความสำเร็จได้” 27

เอ็ลเดอร์โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธได้รับการปลดอย่างสมเกียรติจากงานเผยแผ่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1901 ในเวลาสองปีแห่งการรับใช้ด้วยความขยันหมั่นเพียร “ท่านไม่มีคนเปลี่ยนใจเลื่อมใส ไม่มีโอกาสประกอบพิธีบัพติศมา แม้จะเคยยืนยันผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหนึ่งคนก็ตาม”28 อย่างไรก็ดี ท่านและคู่ของท่านได้เพาะเมล็ดแห่งพระกิตติคุณไว้แล้ว โดยช่วยให้ผู้คนมากมายค้นพบสันติสุขและความเข้าใจที่ยิ่งใหญ่กว่า โดยส่วนตัวท่านเติบโตเป็นนักศึกษา เป็นครูสอนพระกิตติคุณ และเป็นผู้นำฐานะปุโรหิต

บ้านหลังใหม่และความรับผิดชอบใหม่

โจเซฟมาถึงซอลท์เลค ซิตี้ วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1901 หลังจากใช้เวลากับครอบครัวของลูอีสองสามวันในออกเด็น โจเซฟกับลูอีกลับบ้านพร้อมคนในครอบครัวสมิธและเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน ชีวิตแต่งงานของท่านทั้งสองเปี่ยมด้วยศรัทธา ความขยันหมั่นเพียร และการรับใช้ ขณะที่พวกท่านทำงานเพื่อสร้างบ้าน สร้างครอบครัวและรับใช้ในศาสนจักร

Louie Shurtliff Smith, President Joseph Fielding Smith’s first wife, in a white dress with her hair pulled back.

ลูอี เชิร์ทลิฟฟ์ สมิธ

หลังจากโจเซฟกลับบ้านไม่นาน ท่านเริ่มหางานเพื่อค้ำจุนครอบครัว ด้วยความช่วยเหลือของสมาชิกครอบครัว ท่านจึงได้งานชั่วคราวที่สำนักงานเจ้าหน้าที่เทศมณฑลซอลท์เลค ประมาณห้าสัปดาห์ต่อมา ท่านรับตำแหน่งในสำนักงานนักประวัติศาสตร์ศาสนจักร ขณะที่ท่านได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับประวัติศาสนจักร ท่านระมัดระวังผู้คนที่พยายามทำลายชื่อเสียงของศาสนจักรและผู้นำมากขึ้นด้วย ท่านทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเพื่อจัดหาข้อมูลปกป้องศาสนจักร นี่เป็นจุดเริ่มต้นของงานรับใช้ที่จะเป็รพรแก่ศาสนจักรในอีกหลายปีต่อมา

ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1902 ลูอีตั้งครรภ์ เธอกับโจเซฟรู้สึกขอบพระทัยสำหรับอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ ของพวกท่าน แต่พวกท่านเฝ้ารอโอกาสที่จะสร้างบ้านเป็นของตนเอง งานอาชีพของโจเซฟช่วยให้พวกท่านเริ่มวางแผน พวกท่านจ้างบริษัทก่อสร้างและเตรียมการต่างๆ เพื่อให้โจเซฟทำงานส่วนใหญ่ด้วยตนเองได้ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ลูกคนแรกเป็นลูกสาวชื่อโจเซฟิน เกิดในเดือนกันยายน ค.ศ. 1902 และพวกท่านย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ประมาณ 10 เดือนต่อมา ในปี 1906 หลังจากลูอีทนทุกข์กับความยากลำบากจากการตั้งครรภ์ พวกท่านต้อนรับลูกสาวอีกหนึ่งคนเข้าสู่บ้านของพวกท่านและตั้งชื่อว่า จูลินา

โจเซฟเต็มใจมีส่วนร่วมในงานแห่งความรอดของพระเจ้าเสมอ และท่านได้รับโอกาสมากมายที่จะทำตามนั้น ในปี 1902 ท่านได้รับเรียกให้รับใช้เป็นประธานโควรัมที่ยี่สิบสี่แห่งสาวกเจ็ดสิบ รวมถึงหน้าที่การเป็นผู้ให้คำแนะนำโควรัม (ในเวลานั้น ศาสนจักรมีโควรัมสาวกเจ็ดสิบมากกว่า 100 โควรัม สมาชิกของโควรัมเหล่านั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่) นอกจากนี้ โจเซฟยังได้รับเรียกให้รับใช้เป็นกรรมการสามัญของสมาคมพัฒนาสหกิจกรรมของเยาวชนชายและเป็นสมาชิกสภาสูงของสเตคซอลท์เลค ไฮรัม พี่ชายท่านซึ่งเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองแต่งตั้งท่านเป็นมหาปุโรหิต ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 1906 ท่านได้รับการสนับสนุนเป็นผู้ช่วยนักประวัติศาสตร์ศาสนจักร และเดือนมกราคมต่อมา ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจโดยมีวัตถุประสงค์ “เพื่อเตรียมข้อมูลปกป้องศาสนจักรจากการโจมตีของศัตรู” 29

ขณะที่บิดาของโจเซฟรับใช้เป็นประธานศาสนจักร โจเซฟมักจะช่วยท่านทำงานด้านจดหมายและหน้าที่บริหารอื่นๆ บางครั้งท่านทำงานศาสนจักรเคียงบ่าเคียงไหล่กับบิดาท่าน ครั้งหนึ่ง โจเซฟถึงกับต้องเดินทางไปทำหน้าที่แทนประธานสมิธ ท่านบันทึกว่า “ข้าพเจ้าไปบริคัม ซิตี้ [ยูทาห์] เพราะการร้องขอจากบิดาเพื่ออุทิศอาคารประชุมของวอร์ดที่สองในบริคัม ซิตี้ พวกเขาปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะให้บิดาข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนอุทิศ แต่เพราะท่านกำลังป่วยด้วยไข้หวัด ท่านจึงส่งข้าพเจ้าไปแทน” เมื่อประธานสเตคและอธิการพบกับโจเซฟที่สถานีรถไฟ พวกเขาไม่ดีใจที่เห็นท่าน 30 ประธานสเตคกล่าวตามที่เล่าลือกันว่า “ผมอยากร้องไห้โฮ พวกเราคาดว่าประธานศาสนจักรจะมาแต่กลับเป็นเด็กหนุ่มมาแทน” ตามที่มีคนบันทึกเรื่องนี้ไว้ โจเซฟพูดทีเล่นทีจริงว่า “ผมก็อยากร้องไห้โฮเหมือนกัน”31

แม้หน้าที่ในศาสนจักรของโจเซฟส่วนใหญ่ทำให้ท่านต้องห่างไกลบ้าน แต่ท่านกับลูอียังมีเวลารับใช้และมีความสุขที่ได้อยู่ด้วยกัน ในรายงานบันทึกส่วนตัวของวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907 ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้ามีเวลาอยู่กับลูอีมากขึ้นในพระวิหารซอลท์เลค ซึ่งเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสุขที่สุดในชีวิตเราและมีประโยชน์ที่สุดต่อเรา”32

การทดลองและพร

โจเซฟพักงานรับผิดชอบของศาสนจักรในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1908 ท่ารู้สึกว่าต้องอยู่บ้านกับลูอีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอทนทรมานกับความเจ็บป่วยแสนสาหัสเป็นเวลาติดต่อกันเนื่องจากการตั้งครรภ์ครั้งที่สาม แม้จะสวดอ้อนวอน ให้พรฐานะปุโรหิต ได้รับการดูแลด้วยความห่วงใยจากสามี และได้รับความเอาใจใส่อย่างรอบคอบจากแพทย์ แต่อาการของเธอยังคงทรุดหนัก เธอถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม

ในความโศกเศร้า โจเซฟเขียนว่า “ช่วงเดือนนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความทรมานใจสำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าผ่านพ้นการทดสอบและประสบการณ์อันเจ็บปวดแสนสาหัส โดยผ่านสิ่งนี้ ข้าพเจ้าวางใจในพระเจ้าเพื่อความเข้มแข็งและการปลอบโยน หลังจากทนทุกข์กับความเจ็บปวดรวดร้าวเป็นเวลาสามหรือสี่สัปดาห์ และหลังจากความเจ็บป่วยที่ยาวนานเกือบสองเดือน ภรรยาที่รักของข้าพเจ้าได้รับการปลดปล่อยจากความทุกข์ทรมาน … เธอจากข้าพเจ้าและลูกๆ ที่ล้ำค่าไปยังโลกที่ดีกว่า ซึ่งเรารอคอยอย่างอดกลั้นและด้วยความโทมนัสเพื่อจะได้พบกันอีกในรัศมีภาพสูงสุด” โจเซฟกล่าวว่าภรรยาของท่าน “ถึงแก่กรรมขณะยังมีความมั่นคงในศรัทธาและความแน่วแน่ต่อหลักธรรมพระกิตติคุณทุกข้อ”33

ไม่นาน โจเซฟรู้สึกหนักใจกับหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกน้อยสองคนในบ้านที่กำพร้าแม่ บิดามารดาของท่านเชื้อเชิญให้ครอบครัวที่ยังมีลูกเล็กๆ นี้มาอยู่ด้วยกัน แม้ด้วยความช่วยเหลือดังกล่าว แต่พ่อม่ายก็ตระหนักว่าลูกเล็กๆ ของท่านต้องได้รับการดูแลจากมารดาที่เปี่ยมด้วยความรัก

Portrait of Ethel Smith, Joseph Fielding Smith's second wife.

เอเธล เรย์โนลด์ส สมิธ

เมื่อโจเซฟตัดสินใจเรื่องสำคัญทั้งหมด ท่านนำเรื่องนี้ทูลถามในการสวดอ้อนวอนที่จริงใจ เอเธล จอร์จินา เรย์โนลด์ส พนักงานประจำสำนักงานนักประวัติศาสตร์ศาสนจักรคือคำตอบในการสวดอ้อนวอนของท่าน โจเซฟชวนเธอมาเดินเล่นในสวนสาธารณะกับลูกสาวของท่านในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1908 การออกไปข้างนอกประสบความสำเร็จ ทั้งสี่คนเพลิดเพลินที่ได้อยู่ด้วยกัน สิบวันต่อมา โจเซฟกับเอเธลมีความสุขที่ได้ออกเดทกันโดยไม่มีลูกๆ อยู่ด้วย จากนั้นไม่นานพวกท่านจึงหมั้นหมายและแต่งงานกัน

เอเธลกับโจเซฟได้รับการผนึกในพระวิหารซอลท์เลคเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 หลายปีต่อมา โจเซฟเขียนในจดหมายถึงเอเธลว่า “คุณไม่รู้หรอกว่าผมขอบพระทัยพระเจ้าบ่อยเพียงไรที่ผมไม่ได้ทำผิดพลาดตอนเลือกคู่ครอง พระองค์ทรงส่งคุณมาให้ผม”34 นอกจากเป็นคู่ครองที่เปี่ยมด้วยความรักต่อโจเซฟแล้ว เอเธลยังเป็นมารดาคนที่สองให้โจเซฟินและจูลินาอย่างรวดเร็ว

การรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ก่อนการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ค.ศ. 1910 ประธานจอห์น อาร์. วินเดอร์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดถึงแก่กรรม เอ็ลเดอร์จอห์น เฮนรีย์ สมิธ ซึ่งรับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสองได้รับเรียกให้รับใช้ในฝ่ายประธานสูงสุด ทำให้มีตำแหน่งว่างในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองประชุมหารือกันในพระวิหารซอลท์เลคว่าใครมีคุณสมบัติในการรับตำแหน่งที่ว่างลงนั้น หลังจากการปรึกษาหารือกันประมาณหนึ่งชั่วโมง พวกท่านไม่สามารถ “ตัดสินใจได้เป็นเอกฉันท์ในเรื่องนี้ ในที่สุดประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ เข้าไปในห้องตามลำพังและคุกเข่าสวดอ้อนวอนทูลขอการนำทาง เมื่อท่านกลับออกมา ท่านถามพี่น้องชายทั้ง 13 คนอย่างลังเลว่าพวกท่านเต็มใจให้โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ บุตรชายของท่านดำรงตำแหน่งนี้หรือไม่ ท่านเสนอด้วยความลังเลใจ ท่านกล่าว เพราะไฮรัม บุตรชายท่านเป็นสมาชิกของสภาอยู่แล้วและเดวิดลูกชายก็เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายอธิการควบคุม ท่านกังวลว่าสมาชิกศาสนจักรจะไม่พอใจถ้าหากลูกชายอีกคนหนึ่งของท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ กระนั้นก็ตาม ท่านได้รับการดลใจให้ใส่ชื่อของโจเซฟในการพิจารณา ชายคนอื่นๆ ยอมรับข้อเสนอทันทีและสนับสนุนประธานสมิธในเรื่องนี้

“เห็นได้ชัดว่าประธานสมิธเปิดเผยถึงการเลือกโจเซฟให้มารดา [ของโจเซฟ] ก่อนการประกาศที่การประชุมใหญ่ เอดิธ เอส. แพทริค พี่สาวของโจเซฟ กล่าวว่า ‘ดิฉันจำได้ว่าคุณแม่บอกเราว่าในปี 1910 คุณพ่อกลับมาจากการประชุมสภาพระวิหารและท่านดูกังวลมาก เมื่อถามว่าอะไรทำให้ท่านเดือดร้อนใจ ท่านกล่าวว่าโจเซฟได้รับเลือกเป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสอง ท่านกล่าวว่าพี่น้องชายเลือกโจเซฟอย่างเป็นเอกฉันท์แล้ว และขณะนี้ท่าน ในฐานะประธาน อาจโดนวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงที่ให้ลูกชายเป็นอัครสาวกสิบสอง คุณแม่บอกคุณพ่อว่าไม่ต้องกังวลแม้แต่นิดเดียวกับสิ่งที่ผู้คนอาจพูดถึง คุณแม่ทราบว่าพระเจ้าทรงเลือกโจเซฟและโจเซฟจะเป็นที่เชื่อถือต่อการเรียกของเขาได้’

“… เป็นธรรมเนียมในเวลานั้นว่าห้าม ประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกก่อนล่วงหน้าแต่ให้ฟังการแต่งตั้งเมื่ออ่านชื่อเขาในการประชุมใหญ่เพื่อขอการออกเสียงสนับสนุน ดังนั้น เมื่อโจเซฟ ฟิลดิงก์ ไปการประชุมใหญ่วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1910 ท่านไม่ทราบเรื่องการได้รับเลือก” เมื่อท่านเข้าไปในแทเบอร์นาเคิล ผู้ต้อนรับคนหนึ่งกล่าวกับท่านว่า “โจเซฟ ใครจะเป็นอัครสาวกคนใหม่หรือ” โจเซฟตอบว่า “ผมไม่ทราบครับ แต่ไม่ใช่คุณและไม่ใช่ผม!”

ก่อนอ่านชื่อสมาชิกคนใหม่ล่าสุดของโควรัมอัครสาวกสิบสอง โจเซฟได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณว่าอาจเป็นชื่อของท่าน แต่ท่านกล่าวในเวลาต่อมาว่าเมื่อประกาศชื่อท่าน “ข้าพเจ้าตกใจและประหลาดใจจนแทบพูดไม่ออก”

ต่อมาในวันนั้น ท่านกลับบ้านเพื่อบอกเล่าข่าวนี้กับเอเธล ซึ่งเธอไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้ ท่านเริ่มเล่าโดยพูดว่า “ผมคิดว่าเราจะต้องขายวัว ผมคงไม่มีเวลาดูแลมันอีกต่อไปแล้ว!”35

ช่วงเวลา 60 ปี ในการเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายของโลก ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านได้รับเรียกเข้าสู่การเป็นอัครสาวก หลายคนยังคงใช้ม้าและรถลากในการขนส่ง ช่วงบั้นปลายของการรับใช้ในโควรัม ท่านมักจะเดินทางไปทำงานมอบหมายโดยเครื่องบินไอพ่น

Group portrait of the Quorum of the Twelve Apostles in 1921. Included are: (left to right) seated: Rudger Clawson, Reed Smoot, George Albert Smith, George F. Richards, Orson F. Whitney, David O. McKay, standing: Joseph Fielding Smith, James E. Talmage, Stephen L. Richards, Richard R. Lyman, Melvin J. Ballard and John A. Widtsoe.

โควรัมอัครสาวกสิบสองในปี 1921 เอ็ลเดอร์โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธยืนอยู่ทางซ้ายมือสุด

เอ็ลเดอร์สมิธดำรงตำแหน่งมากมายที่อาศัยความไว้วางใจและความรับผิดชอบขณะรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ช่วงแปดปีแรกของการปฏิบัติศาสนกิจในฐานะอัครสาวก ท่านรับใช้เป็นเลขานุการอย่างไม่เป็นทางการให้แก่บิดาของท่าน ท่านรับใช้งานดังกล่าวจนบิดาท่านถึงแก่กรรมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1918 ในบทบาทนี้ โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ทำหน้าที่เป็นผู้จดเมื่อบิดาของท่านให้จดตามคำบอกเกี่ยวกับนิมิตของการไถ่คนตาย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในหลักคำสอนและพันธสัญญา 138

เอ็ลเดอร์สมิธรับใช้เป็นผู้ช่วยนักประวัติศาสตร์ศาสนจักร ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ศาสนจักรเกือบ 50 ปี เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานพระวิหารซอลท์เลค เป็นประธานพระวิหารซอลท์เลค เป็นประธาน Utah Genealogical and Historical Society (สมาคมประวัติศาสตร์และลำดับการสืบเชื้อสายยูทาห์) เป็นบรรณาธิการคนแรกและเป็นผู้จัดการธุรกรรมให้ Utah Genealogical and Historical Magazine (นิตยสารประวัติศาสตร์และลำดับการสืบเชื้อสายยูทาห์)เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหารของคณะกรรมการการศึกษาของศาสนจักร นอกจากนี้ ท่านยังรับใช้เป็นประธานกรรมการสิ่งพิมพ์ของศาสนจักร ซึ่งเป็นงานมอบหมายที่ทำให้ท่านต้องอ่านต้นฉบับหลายพันหน้าก่อนจัดพิมพ์เป็นคู่มือบทเรียนและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ของศาสนจักร

ท่านได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1950 และรับใช้ในตำแหน่งดังกล่าวจนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1951 เมื่อท่านได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านรับใช้ในตำแหน่งนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 1951 ถึงเดือนมกราคม ปี 1970 เมื่อท่านเป็นประธานศาสนจักร ท่านรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดด้วยตั้งแต่ปี 1965 ถึง ปี 1970 ขณะอยู่ในความรับผิดชอบเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง

การปฏิบัติศาสนกิจด้วยการตักเตือนอันเฉียบขาดและการให้อภัยอันอ่อนโยน

ในการปราศรัยครั้งแรกของท่านที่การประชุมใหญ่สามัญ เอ็ลเดอร์โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ กล่าวตรงไปตรงมากับใครก็ตามที่จะ “เปล่งเสียงต่อต้านการทำงานของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ผู้ที่ควบคุมศาสนจักร” ท่านออกข้อประกาศนี้อย่างเฉียบขาดว่า “ข้าพเจ้าอยากเปล่งเสียงเตือนผู้คนทั้งปวงที่ถือสมาชิกภาพในศาสนจักร และกล่าวแก่พวกเขาว่าพวกเขาต้องกลับใจและหันกลับมาหาพระเจ้า ทั้งนี้เพื่อมิให้การพิพากษาของพระองค์มาสู่พวกเขา เพื่อมิให้พวกเขาสูญเสียศรัทธาและหันไปจากความจริง”36

ตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของท่าน ท่านยังคงเปล่งเสียงเตือน ครั้งหนึ่งท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าพิจารณาว่านี่คือพันธกิจของข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าประทับใจมาก โดยพระวิญญาณของพระเจ้าเมื่อข้าพเจ้าเดินทางในสเตคทั้งหลายของไซอัน เพื่อกล่าวแก่ผู้คนว่าเวลานี้ เป็นวันแห่งการกลับใจ … ข้าพเจ้ารู้สึกว่านี่เป็นพันธกิจของข้าพเจ้าที่จะป่าวร้องการกลับใจและเรียกผู้คนให้รับใช้พระเจ้า”37

การเอาจริงเอาจัง ความเคร่งครัดต่อคำสอนได้รับการบรรเทาลงโดยความสุภาพอ่อนโยน ครั้งหนึ่ง เอ็ลเดอร์บอยด์ เค. แพคเกอร์ เคยเป็นพยานถึงการประชุมนี้เมื่อโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เป็นประธานคณะกรรมการผู้สอนศาสนาของศาสนจักร “มีการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุของเอ็ลเดอร์ผู้สอนศาสนาสองคนโดยรถยนต์ของศาสนจักร พ่อค้าผักวัยชราคนหนึ่งขับรถบรรทุกของเขาฝ่าไฟแดง รถของผู้สอนศาสนาถูกชนด้านข้างและพังยับเยิน คนขับรถบรรทุกถูกตำรวจควบคุมตัว เขาไม่มีประกัน โชคดีที่ไม่มีผู้สอนศาสนาคนใดบาดเจ็บร้ายแรง

“ประธานสมิธนั่งฟังเงียบๆ ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้น หลังการอภิปราย พวกท่านแนะนำผู้อำนวยการแผนกผู้สอนศาสนาให้จัดหาทนายและดำเนินการในชั้นศาล

“จากนั้นมีคนถามประธานสมิธว่าท่านเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ท่านกล่าวเบาๆ ว่า “ใช่ครับ เราทำได้ และหากเราจะดำเนินการด้วยความเด็ดขาดทุกอย่าง เราอาจประสบความสำเร็จในการยึดรถบรรทุกจากชายผู้ยากจนได้ แล้วเขาจะใช้อะไรหาเลี้ยงชีพ’

‘“เรามองหน้ากันและรู้สึกละอายเล็กน้อย’ เอ็ลเดอร์แพคเกอร์กล่าวว่า ‘ถ้าอย่างนั้น เราจะให้ศาสนจักรซื้อรถผู้สอนศาสนาอีกคัน เพื่อใช้ทำงานและไม่ต้องดำเนินการอะไรกับเรื่องนั้นอีก’”38

“สามีและบิดาที่เปี่ยมด้วยรักและเมตตา”

เมื่อเอ็ลเดอร์สมิธได้รับเรียกเป็นอัครสาวก ท่านมีบุตรสามคน ได้แก่ โจเซฟินกับจูลินาและลูกคนแรกที่เกิดจากเอเธลชื่อเอมิลี เจ็ดเดือนต่อมา ครอบครัวต้อนรับลูกสาวอีกหนึ่งคน เอเธลกับโจเซฟตั้งชื่อเธอว่านาโอมี เพราะโรคแทรกซ้อนเมื่อแรกเกิด นาโอมีต้องเผชิญความทุกข์ในชีวิตของเธอ และครอบครัวเกรงว่าเธออาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่เมื่อบิดาของเธอกล่าวต่อมาว่า เธอ “ได้รับการช่วยชีวิตโดยผ่านอำนาจ [ของ] การสวดอ้อนวอนและการให้พรฐานะปุโรหิตหลังจากที่พบว่าเธอไม่หายใจแล้ว”39 ต่อมา เอเธลให้กำเนิดบุตรอีกเจ็ดคน ได้แก่ ลอยส์ อมีเลีย โจเซฟ ลูอิส เรย์โนลด์ส ดักลาส และมิลทัน

งานมอบหมายในฐานะอัครสาวกของประธานสมิธมักจะทำให้ท่านอยู่ห่างไกลบ้านเป็นระยะเวลานาน แต่เมื่อท่านอยู่บ้าน ท่านจะให้ความสำคัญแก่การดูแลเอาใจใส่ครอบครัว เอเธลภรรยาท่านกล่าวถึงท่านว่า “ท่านเป็นสามีและบิดาที่เปี่ยมด้วยรักและเมตตา ผู้มีความมุ่งมั่นสูงสุดในชีวิตที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุขโดยลืมความต้องการของตนเอง” 40

บุตรธิดาในครอบครัวสมิธรู้สึกขำขันกับความคิดของคนบางคนที่มีต่อบิดาของพวกเขา—ซึ่งเป็นคนเข้มงวด กวดขัน “ครั้งหนึ่ง … หลังจากให้โอวาทที่เด็ดขาดถึงความสำคัญของการปกครองบุตรธิดาอย่างเหมาะสม สตรีผู้ไม่สบอารมณ์คนหนึ่งเดินเข้ามาหาลูกสาวสองคนของท่านและแสดงความสงสารพวกเธอ [พลางกล่าวว่า] ‘ฉันมั่นใจว่าพ่อเธอต้องเฆี่ยนตีเธอแน่นอน!”’ ในการตอบโต้คำกล่าวหานี้ เด็กสาวหัวเราะคิกคัก พวกเธอทราบว่าบิดาเป็นคนดีกว่าที่สตรีคนนั้นคิด—ท่านไม่มีวันทำร้ายพวกเธอ เมื่อท่านกลับจากการเดินทางอันยาวนาน “นี่เป็นเวลาที่มีความสุข นับจากเวลาที่พวกเขาเห็นท่านที่สถานีรถไฟจนกระทั่งบอกลาอย่างเศร้าใจอีกครั้งหลายวันต่อจากนั้น” พวกเขาเล่นเกม ทำพายและไอศกรีม ไปปิกนิก ขึ้นรถไฟไปเที่ยวหุบเขาหรือทะเลสาบใกล้ๆ พวกเขาชอบฟังเรื่องราวเกี่ยวกับงานมอบหมายในศาสนจักรทั่วโลก41นอกจากนี้ พวกเขายังชอบทำงานด้วยกัน โดยวุ่นอยู่กับงานเล็กๆ น้อยๆ รอบบ้าน42

ลูกชายของประธานสมิธเล่นกีฬาและท่านจะไปดูการแข่งขันของพวกเขาเมื่อใดก็ตามที่ท่านไปได้43 ท่านเพลิดเพลินในการเล่นกีฬากับพวกเขา โดยเฉพาะแฮนด์บอล ท่านสนุกกับพวกเขาแต่ท่านมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะ เรย์โนลด์สกับลูอิส ลูกชายของท่านยังจำเวลาที่เขาทั้งสองร่วมทีมกันแข่งกับบิดา โจเซฟให้พวกเขาเลือกว่าท่านจะใช้มือไหนในการแข่งขัน แม้อีกมือหนึ่งจะซ่อนไว้ด้านหลัง แต่ท่านก็ยัง “เอาชนะพวกเขาได้สบายมาก” 44

ความเสียใจและความหวัง

งานมอบหมายที่ไกลบ้านของประธานสมิธเป็นเรื่องยากสำหรับเอเธลกับลูกๆ และหลายสัปดาห์ของการแยกจากกันเป็นช่วงที่เจ็บปวดสำหรับท่านเช่นกัน วันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1924 ท่านกำลังเดินทางโดยรถไฟเพื่อไปควบคุมการประชุมใหญ่สเตค เวลานั้น เอเธลตั้งครรภ์ได้เจ็ดเดือน เธอพยายามสุดความสามารถในการดูแลลูกๆ ที่บ้าน ในจดหมายถึงเธอ ท่านกล่าวว่า “ผมคิดถึงคุณและอยากอยู่กับคุณตลอดเวลาในอีกสองสามสัปดาห์หน้านี้ เพื่อช่วยดูแลคุณ”45 ขณะที่ท่านคิดถึงบ้าน ท่านลงท้ายจดหมายด้วยบทกวีที่ท่านแต่งขึ้น บางคำในบทกวียังคงปรากฏในหนังสือเพลงสวดศาสนจักรใต้หัวข้อ “ดูเหมือนการเดินทางยาวไกลใช่หรือไม่”

ดูเหมือนการเดินทางแสนยาวไกล

หนทางขรุขระและสูงชันใช่หรือไม่

มีขวากหนามตามทางใช่ไหม

หินคมๆ บาดบาทาท่าน

ขณะกระเสือกกระสนลุกยืน

เพื่อไปให้ถึงเบื้องบนโดยผ่านความร้อนของวันใช่หรือไม่

ใจท่านอ่อนล้าและโศกา

จิตวิญญาณโรยราอยู่ภายใน

ขณะดิ้นรนกับภาระเรื่องความห่วงใยใช่ไหม

ดูเหมือนสัมภาระแสนหนัก

ถูกบังคับให้ยกตอนนี้เลยใช่หรือไม่

ไม่มีใครมาแบ่งเบาภาระใช่หรือไม่

ขอใจอย่าเพิ่งอ่อนล้าเลย

บัดนี้ การเดินทางเพิ่งเริ่มขึ้น

มีใครคนหนึ่งกวักพระหัตถ์เรียกท่าน

ดังนั้น จงเงยหน้ามองด้วยปีติ

และจับพระหัตถ์นั้นไว้

พระจะทรงนำท่านไปยังเบื้องบนแห่งใหม่—

แผ่นดินอันวิสุทธิศักดิ์สิทธิ์

ที่ที่ความทุกข์ทั้งหมดจบสิ้น

และชีวิตเป็นอิสระจากบาปทั้งปวง

ที่ที่น้ำตาจะไม่หลั่งริน

เพราะไม่มีความโทมนัสเหลืออยู่

จับพระหัตถ์พระองค์ไว้และเข้าไปข้างในพร้อมพระองค์46

เริ่มต้นในปี 1933 ความสุขในครอบครัวสมิธถูกรบกวนโดย “ภาระของความห่วงใย” อย่างหนักในบางครั้ง เมื่อเอ็ลเดอร์สมิธพรรณนาไว้ในบทกวีของท่านในช่วงเก้าปีแรก เอเธลเริ่มทุกข์ทรมานกับ “การป่วยหหนักซึ่งเธอไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร บางครั้งเธอประสบกับภาวะซึมเศร้ารุนแรงและบางครั้งความคิดที่แล่นไวเกินจะควบคุมได้บังคับให้ร่างกายอันเหนื่อยอ่อนของเธอทำงานมากขึ้นๆ ความรักอันละเอียดอ่อนและการค้ำจุนจากครอบครัวเธอ การสวดอ้อนวอน และพรต่างๆ แม้การพักรักษาที่โรงพยาบาลดูเหมือนไม่ช่วยอะไรเลย”47 หลังจากสี่ปีแห่งความทรมาน เธอถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1937 การเขียนถึงการจากไปของเธอ สามีผู้โศกเศร้าบันทึกว่า “คงไม่มีวันหาสตรีหรือภรรยาและมารดาผู้แน่วแน่ได้ดีกว่าเธออีกแล้ว”48 ในห้วงลึกแห่งความโทมนัสของท่าน ท่านรู้สึกถึงความรู้อันเป็นการปลอบโยนท่านว่า ท่านกับเอเธล เรย์โนลด์ส สมิธผูกพันกันไว้เพื่อนิรันดรโดยพันธสัญญาการผนึกอันศักดิ์สิทธิ์

มิตรภาพใหม่สู่การแต่งงาน

เมื่อเอเธลถึงแก่กรรม ลูกๆ ทั้งห้าคนยังคงอาศัยอยู่ในบ้านของครอบครัวสมิธ ลูกสองคนจะย้ายออกในไม่ช้า—อมีเลียหมั้นหมายเพื่อจะแต่งงาน และลูอิสกำลังเตรียมตัวรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา เหลือเรย์โนลด์ส วัย 16 ปี ดักลาส วัย 13 ปี และมิลทัน วัย 10 ขวบ ด้วยความเป็นห่วงลูกชายที่กำพร้ามารดา โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จึงไตร่ตรองถึงแนวคิดของการแต่งงานใหม่อีกครั้ง

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ไม่นาน เอ็ลเดอร์สมิธจึงให้ความสำคัญแก่เจสซี เอลลา เอแวน นักร้องเดี่ยวที่มีชื่อเสียงในคณะนักร้องประสานเสียงมอรมอนแทเบอร์นาเคิล เจสซีร้องเพลงเดี่ยวที่พิธีศพของเอเธล และเอ็ลเดอร์สมิธส่งข้อความแสดงความประทับใจให้เธอ ข้อความนั้นนำไปสู่การสนทนาทางโทรศัพท์ เอ็ลเดอร์สมิธกับเจสซีไม่เคยรู้จักกันมาก่อนการพูดคุยครั้งนี้ แต่พวกท่านกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันอย่างรวดเร็ว

เอ็ลเดอร์สมิธใช้เวลาหลายวันครุ่นคิดและสวดอ้อนวอนถึงความเป็นไปได้ของการขอเจสซีแต่งงาน ในที่สุด ท่านเขียนจดหมายหาเธอซึ่งบอกเป็นนัยว่าท่านอยากมีมิตรภาพส่วนตัวกับเธอมากขึ้น สี่วันต่อมา ท่านรวบรวมความกล้าเพื่อส่งจดหมายถึงมือเธอ ท่านนำจดหมายฉบับนั้นไปยังสำนักงานเทศมณฑลที่เธอทำงานเป็นผู้จดบันทึกประจำเทศมณฑล ต่อมา ท่านบันทึกไว้ในบันทึกส่วนตัวดังนี้ “ข้าพเจ้าไปที่สำนักงานของผู้จดบันทึก … เพราะมีสัมภาษณ์เรื่องสำคัญมากกับเธอและฝากจดหมายที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ให้เธอ” 49 สัปดาห์ต่อมาท่านเดินทางโดยรถไฟไปการประชุมใหญ่สเตค เอ็ลเดอร์สมิธกลับบ้านและไปเยี่ยมเจสซีอีกครั้ง

ด้วยความเป็นคนเที่ยงตรง เอ็ลเดอร์สมิธเขียนบันทึกส่วนตัว “พบคุณเจสซี เอแวนและมี [การ] สัมภาษณ์ครั้งสำคัญกับเธอ” ด้วยความรู้สึกชื่นชม พวกเขาวางแผนให้ท่านพบกับมารดาของเจสซีและให้เจสซีได้พบกับลูกๆ ของท่าน ไม่ถึงเดือนต่อมา วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1937 เธอยอมรับแหวนหมั้น ทั้งสองท่านได้รับการผนึกในพระวิหารซอลท์เลคเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1938 โดยประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ ประธานศาสนจักรคนที่เจ็ด50

เอ็ลเดอร์ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์ ซึ่งรับใช้เป็นเลขานุการให้ฝ่ายประธานสูงสุดเมื่อประธานสมิธเป็นประธานศาสนจักร พรรณนาถึงสัมพันธภาพระหว่างโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธกับเจสซี อีแวนส์ สมิธว่า “แม้อายุจะต่างกันถึงยี่สิบหกปี มีอุปนิสัย ภูมิหลัง และการเลี้ยงดูอบรมที่แตกต่างกัน แต่โจเซฟฟิลดิงก์ สมิธกับเจสซี อีแวนส์ สมิธสามารถเข้ากันได้อย่างยอดเยี่ยม เธอเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ มีอารมณ์ขัน ซึ่งเข้ากับคนอื่นได้ดี แต่ในทางกลับกัน โจเซฟเป็นคนเงียบๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ดูภูมิฐาน และสันโดษ ซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยถนัดในการเข้าสังคมและไม่เคยพยายามเรียกร้องความสนใจ สิ่งที่เชื่อมอ่าวอันกว้างใหญ่ระหว่างบุคลิกภาพส่วนตัวที่แตกต่างกันนี้คือรักแท้และความเคารพที่พวกท่านมีให้กัน”51 ความรักและความเคารพนี้แผ่ขยายไปยังจีเน็ต บุชานัน อีแวนส์ มารดาของเจสซี ผู้ที่เจสซีอยู่ด้วยจนกระทั่งแต่งงาน ซิสเตอร์อีแวนส์มาอยู่กับลูกสาวเธอในบ้านของครอบครัวสมิธและช่วยดูแลลูกๆ

President Joseph Fielding Smith Jr. and Sister Jessie Ella Evans Smith sitting together at a piano.

โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธกับเจสซี อีแวนส์ สมิธ ที่เปียโน

การปฏิบัติศาสนกิจต่อโลกในความสับสนวุ่นวาย

ซิสเตอร์สมิธคนใหม่ ลูกหลานของเอ็ลเดอร์สมิธเรียกเธอว่าคุณป้าเจสซี เธอร่วมเดินทางกับสามีไปการประชุมใหญ่สเตค ผู้นำท้องที่มักเชิญให้เธอร้องเพลงในการประชุม และบางครั้ง เธอชวนสามีให้ร้องเพลงคู่กับเธอ ในปี 1939 ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ มอบหมายให้เอ็ลเดอร์กับซิสเตอร์สมิธเดินทางไปเยี่ยมคณะเผยแผ่ทั้งหมดในทวีปยุโรป

ถึงแม้สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่ปะทุตอนที่เอ็ลเดอร์กับซิสเตอร์สมิธมาถึงยุโรป แต่ความตึงเครียดระหว่างประชาชาติต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้น วันที่ 24 สิงหาคม ขณะที่เอ็ลเดอร์กับซิสเตอร์สมิธอยู่ในเยอรมนี ฝ่ายประธานสูงสุดแนะนำให้เอ็ลเดอร์สมิธดูว่าผู้สอนศาสนาทุกคนในเยอรมนีย้ายไปยังประเทศที่เป็นกลางแล้ว ท่านประสานงานนี้จากโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ช่วงย้ายผู้สอนศาสนา วอลเลซ โทรอนโต ประธานคณะเผยแผ่ในเชคโกสโลวาเกีย คิดว่าจำเป็นต้องส่งมาร์ธา ภรรยาและลูกๆ ของพวกท่านไปโคเปนเฮเกนเพื่อความปลอดภัย ท่านยังคงอยู่ที่นั่นเพื่อดูให้แน่ใจว่าการอพยพผู้สอนศาสนาสี่คนที่ถูกกักตัวไว้ปลอดภัย หลายวันผ่านไปไม่มีข่าวคราวจากพวกเขาเลย มาร์ธาเล่าในเวลาต่อมาว่า

“ในที่สุดวันนั้นก็มาถึงเมื่อรถไฟ เรือข้ามฟากและเรือต่างๆ เที่ยวสุดท้ายมาจากเยอรมนี เราสวดอ้อนวอนว่าวอลลีย์ [ประธานโทรอนโต] และผู้สอนศาสนาที่อยู่ในความดูแลของท่านทั้งสี่คนจะอยู่บนเรือเที่ยวสุดท้ายนั้นขณะมุ่งหน้ามาที่ท่าเรือ เนื่องจากเห็นดิฉันกังวลมากและว้าวุ่นใจมากขึ้นทุกนาที ประธานสมิธมาหาดิฉัน โอบไหล่ดิฉันพลางกล่าวว่า ‘ซิสเตอร์โทรอนโต สงครามจะยังไม่เริ่มขึ้นจนกว่าบราเดอร์โทรอนโตและผู้สอนศาสนาของเขาจะมาถึงแผ่นดินเดนมาร์กแห่งนี้’ เมื่อเวลาผ่านไปจนเกือบใกล้ค่ำ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น … วอลลีย์โทรมา! ทั้งห้าคนออกมาจากเชคโกสโลวาเกียพร้อมด้วยคณะทูตชาวอังกฤษบนรถไฟขบวนพิเศษที่ส่งไปรับพวกเขา ลงเรือข้ามฟากเที่ยวสุดท้ายจากเยอรมนี ตอนนี้พวกเขาขึ้นฝั่ง [ของเดนมาร์ก] แล้ว กำลังรอรถโดยสารไปโคเปนเฮเกน ความโล่งใจและความสุขอบอวลในบ้านคณะเผยแผ่และท่ามกลางผู้สอนศาสนา 350 คนดั่งเมฆที่มืดครึ้มอันตรธานไปแล้วเผยให้เห็นแสงตะวัน” 52

เอ็ลเดอร์สมิธสำนึกคุณต่อผู้คนของเดนมาร์กที่อนุญาตให้ผู้สอนศาสนาลี้ภัยมากมายเข้ามาในประเทศของพวกเขา เมื่อสงครามปะทุ ท่านพยากรณ์ว่าเพราะความเอื้ออารีของพวกเขา ชาวเดนมาร์กจะไม่ทนทุกข์เพราะขาดแคลนอาหารในช่วงสงคราม หลายปีต่อมา “ชาวเดนมาร์กรอดชีวิตจากสงคราม บางทีอาจดีกว่าผู้คนในประชาชาติยุโรป วิสุทธิชนชาวเดนมาร์กส่งถุงยังชีพไปให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่กำลังตกทุกข์ได้ยากในฮอลแลนด์และนอร์เวย์ สมาชิกภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใบส่วนสิบในคณะเผยแผ่เดนมาร์กเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า … วิสุทธิชนชาวเดนมาร์กพิจารณาสภาพการณ์ของพวกเขาว่าเป็นสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์ที่ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธเคยพยากรณ์ไว้”53

เมื่อสงครามเริ่มขึ้น เอ็ลเดอร์สมิธจัดระเบียบการอพยพผู้สอนศาสนาชาวอเมริกัน 697 คน ที่รับใช้ในยุโรป เนื่องจากผู้สอนศาสนาบางคนรับใช้เป็นผู้นำท้องถิ่นและผู้นำสาขา เอ็ลเดอร์สมิธจึงถ่ายโอนหน้าที่รับผิดชอบของผู้นำเหล่านั้นให้แก่สมาชิกในท้องที่ หลังจากทำหน้าที่เหล่านี้เสร็จแล้ว เอ็ลเดอร์สมิธแล่นเรือกลับสหรัฐกับเจสซี พวกท่านขึ้นรถไฟจากนิวยอร์กและมาถึงบ้านโดยใช้เวลาเจ็ดเดือนหลังจากออกเดินทาง

แม้เอ็ลเดอร์สมิธมีความสุขที่ผู้สอนศาสนาชาวอเมริกันได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่ท่านแสดงความห่วงใยผู้บริสุทธิ์ที่ติดอยู่ในโศกนาฏกรรมของสงครามในบ้านเกิดพวกเขา ท่านเขียนว่า “ใจข้าพเจ้าหดหู่ทุกครั้งที่เราจัดการประชุมและจับมือกับผู้คนหลังการประชุมเสร็จสิ้น พวกเขาต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และ [มิตรภาพ] ของพวกเขามีความหมายต่อข้าพเจ้ามากเกินกว่าพวกเขาจะเข้าใจ บางคนหลั่งน้ำตาและพูดว่าพวกเขากำลังเฝ้ารอหายนะ และเราคงไม่มีโอกาสได้พบกันอีกแล้วในชีวิตนี้ ข้าพเจ้าสงสารพวกเขาและสวดอ้อนวอนทุกวันว่าพระเจ้าจะทรงคุ้มครองพวกเขาให้ผ่านช่วงเวลาอันน่าสะพรึงกลัวนี้ไปได้”54

ลูอิส บุตรชายของเอ็ลเดอร์สมิธที่อยู่ในอังกฤษเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้น เขาอยู่ในกลุ่มสุดท้ายของผู้สอนศาสนาที่จะกลับบ้าน55 ประมาณสองปีครึ่งต่อมา ลูอิสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอีกครั้งเพื่อไปประจำการกองทัพ “สภาพการณ์เช่นนี้นำความเศร้าใจมาให้เราทุกคน” เอ็ลเดอร์สมิธเขียน “ช่างน่าละอายที่ผู้บริสุทธิ์และคนชอบธรรมถูกบีบบังคับให้เข้าสู่ความขัดแย้งระดับโลกเพราะความชั่วร้ายของมนุษย์”56

วันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1945 เอ็ลเดอร์สมิธรับโทรเลขที่แจ้งว่าลูกชายท่านเสียชีวิตระหว่างรับใช้ประเทศชาติของเขา ท่านเขียนว่า “คำนี้ทำให้เราตกใจสุดขีดเพราะเราหวังไว้มากว่าเขาจะกลับสหรัฐในไม่ช้า เรารู้สึกว่าเขาจะได้รับความคุ้มครองเพราะก่อนหน้านี้เขาหลบหนีจากอันตรายได้หลายครั้ง เป็นการยากสำหรับเราที่จะตระหนักว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง … แม้ยากจะยอมรับได้ แต่เราก็ยังมีความสงบและความสุขจากความรู้ที่ว่าเขาบริสุทธิ์และเป็นอิสระจากความชั่วร้ายที่แพร่ระบาดอยู่ในโลกและที่พบในสนามรบ เขาแน่วแน่ต่อศรัทธาและมีค่าควรแก่การฟื้นคืนชีวิตในรัศมีภาพเมื่อเราจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันใหม่อีกครั้ง”57

ครูและผู้นำที่ได้รับความไว้วางใจ

ในฐานะสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธยืนต่อหน้าวิสุทธิชนบ่อยครั้งเพื่อเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ สอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู และเรียกผู้คนให้กลับใจ ท่านให้โอวาทมากกว่า 125 ครั้งในการประชุมใหญ่สามัญ มีส่วนร่วมในการประชุมใหญ่สเตคหลายพันครั้ง และพูดในงานต่างๆ เช่น การประชุมใหญ่ลำดับการสืบเชื้อสาย และการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุ ท่านสอนผ่านถ้อยคำที่ท่านเขียนขึ้นเช่นกัน ท่านเขียนบทความในนิตยสาร Improvement Era ของศาสนจักร ตอบคำถามจากผู้อ่านอยู่เป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ ท่านยังเขียนบทความให้นิตยสารศาสนจักรและหัวข้อข่าวศาสนจักรของ Deseret News อีกด้วย ช่วงการรับใช้เป็นอัครสาวกนับจาก ค.ศ.1910 ถึง ค.ศ.1972 งานเขียนของท่านได้รับการจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 25 เล่ม รวมทั้ง Essentials in Church History, Doctrines of Salvation, Church History and Modern Revelation, และ Answers to Gospel Questions

โดยผ่านการฟังโอวาทและอ่านงานเขียนของประธานสมิธ สมาชิกศาสนจักรวางใจท่านในความเป็นผู้เชี่ยวชาญพระกิตติคุณ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาเรียนรู้ที่จะวางใจและทำตามพระเจ้า ดังที่ประธานเอ็น. เอลดอน แทนเนอร์กล่าวว่า โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ “มีอิทธิพลต่อผู้คนหลายแสนคนเพราะท่านดำเนินชีวิตและสอนด้วยการพูดและการเขียนทุกหลักธรรมของพระกิตติคุณ ไม่มีใครเลยที่จะนึกสงสัยว่าท่านทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าคือพระผู้เป็นเจ้าที่ยังทรงพระชนม์และเราเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าในเนื้อหนัง พระองค์ประทานพระชนม์ชีพแก่เราเพื่อเราจะมีความสุขกับชีวิตมรรตัย โดยการยอมรับและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณเราจะมีความสุขกับชีวิตนิรันดร์”58

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี ให้ข้อสังเกตดังนี้

“ชีวิตและงานของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธมีลักษณะเด่นสามประการ คือ

“1. ความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้าและความภักดีอย่างแน่วแน่มั่นคง ซึ่งท่านเพียรพยายามแสดงความรักนั้นโดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์และทำทุกสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัย

“2. ความภักดีต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและความจริงอันเป็นนิจที่ได้รับการฟื้นฟูผ่านท่าน ผู้ประสาทพรไฮรัม สมิธ คุณปู่ของท่าน … [ผู้] เป็นมรณสักขี และบิดาท่าน ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ ซึ่งชื่อของท่านได้รับการจารึกตลอดกาลในอาณาจักรซีเลสเชียลในฐานะผู้อดทนอย่างองอาจในอุดมการณ์ที่เลือดของท่านหลั่งเพื่อให้เรามีชีวิต

“3. ความปราดเปรื่องในพระกิตติคุณและความเข้าใจลึกซึ้งทางวิญญาณ ความขยันหมั่นเพียรอันไม่เรรวนของท่านเองในฐานะผู้สั่งสอนความชอบธรรม อุดมการณ์ของท่านในการเลี้ยงอาหารคนหิวโหย ให้เสื้อผ้าคนเปลือยเปล่า เยี่ยมเยียนหญิงม่ายและเด็กกำพร้า และการแสดงให้ประจักษ์ถึงหลักศาสนาอันบริสุทธิ์โดยการสั่งสอนตลอดจนการเป็นแบบอย่าง”59

พี่น้องชายในโควรัมอัครสาวกสิบสองของประธานสมิธมองว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาล้ำเลิศและเป็นผู้นำที่มีใจกรุณา ในการฉลองวันเกิดปีที่ 80 ของท่าน สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองท่านอื่นๆ พิมพ์คำสดุดีแด่ท่าน ส่วนหนึ่งของคำสดุดีนั้น พวกท่านกล่าวว่า

“เราทั้งหลายผู้ทำงานในสภาอัครสาวกสิบสองภายใต้การเป็นผู้นำของท่านได้มีโอกาสเห็นความสูงส่งอันแท้จริงในอุปนิสัยของท่าน ทุกเมื่อเชื่อวันเราประจักษ์ชัดในหลักฐานที่เห็นอยู่เสมอมาว่าท่านมีความเข้าใจและอาทรห่วงใยเพื่อนร่วมงานของท่านในการทำงานมอบหมายและประสานความร่วมมือในผลงานจนลุล่วงเพื่อให้งานของพระเจ้ารุดหน้า เราเพียงปรารถนาให้คนทั้งศาสนจักรรู้สึกถึงความละเอียดอ่อนของจิตวิญญาณและความห่วงใยอันใหญ่หลวงที่ท่านมีต่อความผาสุกของผู้ด้อยโอกาสและคนตกทุกข์ได้ยาก ท่านรักวิสุทธิชนทุกคนและไม่เคยหยุดยั้งการสวดอ้อนวอนเพื่อคนบาป

“ด้วยการเล็งเห็นอย่างน่าทึ่ง ดูเหมือนท่านมีมาตรการสองอย่างที่จะมาถึงข้อยุติในการตัดสินใจ ความต้องการของฝ่ายประธานสูงสุดคืออะไร สิ่งใดดีที่สุดสำหรับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า”60

ประธานศาสนจักร

ในเช้าวันสะบาโตที่ 18 มกราคม ค.ศ.1970 ชีวิตมรรตัยของประธานเดวิด โอ. แมคเคย์สิ้นสุดลง บัดนี้ ความรับผิดชอบของผู้นำศาสนจักรจึงตกอยู่กับโควรัมอัครสาวกสิบสอง โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เป็นประธานศาสนจักรด้วยวัย 93 ปี

วันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1970 โควรัมอัครสาวกสิบสองเข้าพบและสนับสนุนประธานสมิธอย่างเป็นทางการในการเรียกให้ท่านเป็นประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ประธานสมิธเลือกฮาโรลด์ บี. ลี เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งและเอ็น. เอลดอน แทนเนอร์เป็นที่ปรึกษาที่สอง จากนั้น ทั้งสามท่านได้รับการวางมือมอบหน้าที่เพื่อความรับผิดชอบใหม่ของพวกท่าน

Joseph Fielding Smith standing between his two counselors in the First Presidency, Harold B. Lee and N. Eldon Tanner.

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธกับที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด: ประธานฮาโรลด์ บี. ลี (กลาง) และประธานเอ็น. เอลดอน แทนเนอร์ (ขวา)

เอ็ลเดอร์เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน ซึ่งเคยอยู่ที่การประชุมนั้น เล่าว่า “เรามีวิญญาณที่ยอดเยี่ยมของความเป็นเอกภาพในการประชุมและประจักษ์ชัดถึงความรักขณะที่พี่น้องชายโอบกอดกันเมื่อผู้นำคนใหม่ได้รับเลือกและวางมือมอบหน้าที่”61

เอ็ลเดอร์บอยด์ เค. แพคเกอร์ แบ่งปันพยานส่วนตัวถึงการเรียกของประธานสมิธว่า

“ข้าพเจ้าออกจากห้องทำงานตอนบ่ายวันศุกร์ กำลังนึกถึงงานมอบหมายการประชุมใหญ่สุดสัปดาห์ ข้าพเจ้ารอลิฟท์ลงมาจากชั้นห้า

“เมื่อประตูลิฟท์เปิดอย่างเงียบๆ ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธยืนอยู่ในนั้น ยังความประหลาดใจที่ได้พบท่าน เพราะห้องทำงานของท่านอยู่ชั้นต่ำกว่า

“เมื่อข้าพเจ้าเห็นท่านยืนอยู่ตรงทางเข้า มีพยานอันแรงกล้ามาสู่ข้าพเจ้า—ว่าศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้ายืนอยู่ตรงนั้น สุรเสียงอ่อนหวานของพระวิญญาณที่เป็นดังความสว่าง ว่ามีบางอย่างกระทำด้วยปรีชาญาณอันบริสุทธิ์ ยืนยันแก่ข้าพเจ้าว่านี่คือศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า” 62

ภายใต้การนำของประธานสมิธ ศาสนจักรเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น มีการสร้างสเตค 81 แห่ง รวมถึงสเตคแห่งแรกในเอเชียและแอฟริกา มีสมาชิกภาพศาสนจักรเกิน 3 ล้านคน อุทิศพระวิหารสองแห่ง—ในออกเด็น ยูทาห์ และโพรโว ยูทาห์

แม้ขณะที่ศาสนจักรเติบโตไปทั่วโลก ประธานสมิธยังเน้นถึงความสำคัญของแต่ละบ้านและครอบครัว ท่านเตือนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายว่า “องค์การศาสนจักรมีไว้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวและสมาชิกในการเอื้อมไปหาความสูงส่ง”63 ท่านสอนว่า “ครอบครัวคือองค์การสำคัญที่สุดในกาลเวลาหรือในนิรันดร … นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกปักรักษาหน่วยครอบครัว”64 ในความพยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบุคคล ศาสนจักรจึงเน้นมากขึ้นเรื่องการจัดสังสรรค์ในครอบครัว โปรแกรมที่ได้รับการสนับสนุนตั้งแต่ปี 1909 สมัยที่บิดาประธานสมิธเป็นประธานศาสนจักร ภายใต้การนำของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้วันจันทร์เป็นวันสังสรรค์ในครอบครัว ในคืนดังกล่าว ไม่มีการจัดประชุมของศาสนจักร และสิ่งอำนวยความสะดวกของศาสนจักรในท้องที่ปิดทำการ

แม้วัยจะล่วงเลย แต่ประธานสมิธทำการเรียกของท่านด้วยความนอบน้อมถ่อมตนดังเด็กเล็กๆ และพลังของคนหนุ่ม ในเวลาสองปีห้าเดือนที่ท่านรับใช้เป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยของศาสนจักร วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั่วโลกได้รับการดลใจจากข่าวสารของท่าน

ท่านประกาศว่า “เราเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดาบนสวรรค์ของเรา”65 และ “เราต้องเชื่อในพระคริสต์และวางรูปแบบชีวิตเราตามแบบแผนของพระองค์”66 ท่านเป็นพยานว่าโจเซฟ สมิธ “เห็นและยืนอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดาและพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์”67 และเป็น “ผู้เปิดเผยความรู้เรื่องพระคริสต์และความรอดต่อโลกในยุคสมัยนี้และคนในรุ่นนี้”68

ท่านกระตุ้นวิสุทธิชนให้ “ละทิ้งวิถีของโลก”69 แต่ให้รักคนทั้งปวงในโลก—“มองความดีในตัวผู้คนแม้ว่าเรากำลังพยายามช่วยให้พวกเขาเอาชนะนิสัยบางอย่างที่ไม่ดี”70 ท่านเตือนว่าทางเดียวที่จะแสดงให้เห็นถึง “วิญญาณแห่งความรักและภราดรภาพ” คือการแบ่งปันพระกิตติคุณ—เพื่อ “เชื้อเชิญมนุษย์ทั้งปวงในทุกหนแห่งให้เอาใจใส่คำสอนเรื่องชีวิตนิรันดร์ที่ได้รับการเปิดเผยในยุคนี้”71

ท่านสร้างสัมพันธภาพกับเยาวชนของศาสนจักร โดยประชุมกับกลุ่มเยาวชนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจำนวนมากและกระตุ้นพวกเขาให้ “ยืนหยัดอย่างมั่นคงในศรัทธาแม้จะมีการตรงข้ามในทุกสิ่ง”72

ท่านกล่าวกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตบ่อยๆ เพื่อเตือนพวกเขาว่าพวกเขาได้รับ “เรียกให้เป็นตัวแทนของพระเจ้าและดำรงสิทธิอำนาจของพระองค์” และตักเตือนพวกเขาให้ “จดจำว่า [พวกเขา] เป็นใครและให้ประพฤติตนตามนั้น”73

ท่านกระตุ้นให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนรับพรพระวิหาร แน่วแน่ต่อพันธสัญญาพระวิหาร และกลับไปพระวิหารเพื่อรับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์แทนบรรพชนของพวกเขา ก่อนการอุทิศพระวิหารออกเด็น ยูทาห์ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเตือนท่านว่าเมื่อเราอุทิศพระนิเวศน์ของพระเจ้าแล้ว สิ่งที่เราทำจริงๆ คือการอุทิศตนเองให้แก่การรับใช้พระเจ้า พร้อมด้วยพันธสัญญาว่าเราจะใช้พระนิเวศน์นี้ในวิธีที่พระองค์ตั้งพระทัยไว้”74

“จงรักษาพระบัญญัติ” ท่านกระตุ้นเตือน “จงเดินอยู่ในความสว่าง อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จงแน่วแน่ต่อพันธสัญญาทุกข้อและพันธะรับผิดชอบ แล้วพระเจ้าจะประทานพรท่านมากเกินกว่าที่ท่านวาดฝันไว้”75

โดยการอ้างอิงคำพูดประธานบริคัม ยังก์ ประธานฮาโรลด์ บี. ลี พรรณานาถึงอิทธิพลและความเป็นผู้นำของประธานสมิธว่า “ประธานบริคัม ยังก์กล่าวดังนี้ ‘หากเราดำเนินชีวิตตามศาสนาที่บริสุทธิ์ของเราและให้พระวิญญาณปกครอง เราจะไม่เป็นคนเฉื่อยชาหรือโง่เขลา แต่เมื่อร่างกายเข้าใกล้จุดจบ พระวิญญาณจะทรงจับจิตวิญญาณอันยั่งยืนไว้อย่างมั่นคงกว่าเดิมหลังม่าน ทรงดึงจากห้วงลึกของแหล่งน้ำนิรันดร์แห่งชีวิตที่ส่องประกายอัญมณีของพระปรีชาญาณ โอบล้อมร่างที่บอบบางและอ่อนล้าด้วยรัศมีแห่งปัญญาที่ไม่มีวันดับสูญ’

“เราเป็นพยานอีกครั้งว่า ขณะที่เราสนทนาเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด—การตัดสินใจควรกระทำโดยประธานศาสนจักรเท่านั้น แล้วเราจะเห็นปัญญาอันเฉิดฉายมาสู่ความสว่างเมื่อท่าน [ประธานสมิธ] กล่าวอย่างไม่มีข้อสงสัยเกินกว่าความเข้าใจของท่านเองว่าท่านได้รับการเปิดเผยจากส่วนลึกของจิตวิญญาณท่าน”76

“ได้รับเรียกจากพระเจ้า … สู่งานอื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า”

วันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ.1971 เจสซี อีแวนส์ ถึงแก่กรรมทิ้งให้ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เป็นม่ายอีกเป็นครั้งที่สาม ด้วยเหตุนี้ ประธานสมิธจึงย้ายไปอยู่กับอามิเลีย แมคคองกี บุตรสาว กับบรูซ สามีของเธอ บุตรธิดาคนอื่นๆ ของท่านผลัดกันมาเยี่ยมและพาท่านไปนั่งรถเล่น ท่านยังคงไปทำงานทุกวันทำการ เข้าร่วมการประชุมและเดินทางไปทำกิจธุระของศาสนจักร

วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1972 ประธานสมิธออกจากที่ทำงานชั้นที่สองของอาคารสำนักบริหารงานศาสนจักรในช่วงเย็น พร้อมด้วยดี. อาร์เธอร์ เฮย์คอค เลขานุการ ท่านไปที่สำนักงานของนักประวัติศาสตร์ศาสนจักร ซึ่งท่านเคยทำงานที่นั่นก่อนเป็นประธานศาสนจักร ท่านประสงค์จะทักทายทุกคนที่รับใช้ที่นั่น หลังจากจับมือพวกเขาแล้ว ท่านลงไปที่ชั้นล่างของอาคารเพื่อจับมือกับฝ่ายประชาสัมพันธ์และคนอื่นๆ ที่ทำงานในพื้นที่นั้นเพื่อแสดงความขอบคุณ นี่คือวันสุดท้ายของท่านที่สำนักงาน

วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1972 เพียง 17 วันก่อนวันเกิดปีที่ 96 ของท่าน ท่านเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกที่วอร์ดบ้านของท่าน ต่อมาในตอนบ่าย ท่านไปเยี่ยมโจเซฟิน บุตรคนแรกของท่าน กับเรย์โนลด์ส บุตรชายท่าน ค่ำวันนั้น ขณะนั่งเก้าอี้ตัวโปรดในบ้านแมคคองกี ท่านจากไปอย่างสงบ ดังที่บุตรเขยของท่านกล่าวในเวลาต่อมาว่า ประธานสมิธได้รับ “เรียกจากพระเจ้าผู้ที่ท่านรักมากและรับใช้ในงานอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าเป็นอย่างดีในสวนองุ่นนิรันดร์ของพระองค์”77

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี ซึ่งรับใช้เป็นอัครสาวกอาวุโสบนแผ่นดินโลก ไปเยี่ยมบ้านแมคคองกีเมื่อทราบข่าวมรณกรรมของประธานสมิธ ท่าน “เดินไปที่เตียงอย่างเงียบๆ แล้วคุกเข่าลง ท่านกุมมือข้างหนึ่งของประธานสมิธ และอยู่ในท่านั้นเป็นเวลานาน ไม่พูด ไม่ได้สวดอ้อนวอนหรือพินิจไตร่ตรองแต่อย่างใด จากนั้น ท่านลุกขึ้นเพื่อแสดงความเสียใจกับครอบครัว ชื่นชมบิดาของพวกเขา และกล่าวเตือนพวกเขาว่าพวกเขาควรให้เกียรติประธานสมิธโดยการดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร”78

คำสดุดีแด่ “บุรุษผู้อุทิศตนของพระผู้เป็นเจ้า”

ณ พิธีศพของประธานสมิธ ประธานเอ็น. เอลดอน แทนเนอร์กล่าวถึงท่านว่าเป็น “บุรุษผู้อุทิศตนของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่รับใช้ทั้งพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนผู้รับใช้อย่างสมเกียรติ ท่านนำด้วยแบบอย่างของท่านไม่ว่าจะเป็นครอบครัวและทุกคนที่ท่านได้รับเรียกให้ดูแล เป็นบุคคลท่านหนึ่งที่สามารถกล่าวได้อย่างสุจริตใจว่าท่านเป็นบุรุษที่ไม่มีมารยาและไม่มีความหยิ่งจองหอง สิ่งที่ไม่มีวันกล่าวถึงท่านได้เลย” ประธานแทนเนอร์ให้ข้อสังเกต “คือท่าน ‘รักการชมของมนุษย์มากกว่าการชมของพระเจ้า’ [ ยอห์น 12:43]”79

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีกล่าวว่า “บราเดอร์แทนเนอร์กับข้าพเจ้ารักบุรุษท่านนี้มาเป็นเวลาสองปีครึ่ง ไม่ใช่การเสแสร้ง ท่านมอบความรักให้เพราะท่านรักเรา และเรายืนเคียงข้างท่าน ขณะที่ท่านยืนเคียงข้างเราและไว้วางใจเรา”80

หนังสือพิมพ์ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ประธานสมิธและเคยมีข้อกังขาต่อการเรียกท่านเป็นอัครสาวกสิบสองตั้งแต่แรกตลอดช่วง 60 ปี บัดนี้ ได้จัดพิมพ์คำสดุดีต่อไปนี้ “โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ บุรุษผู้เคร่งครัดในการอุทิศตนให้แก่ความเลื่อมใสศรัทธา ทว่าละเอียดอ่อนต่อความต้องการที่จำเป็นยิ่งของผู้คนในทุกหนแห่ง ให้คำปรึกษาอันชาญฉลาดแก่เพื่อนร่วมงาน ดูแลครอบครัวด้วยความรักและเชิดชูความเป็นผู้นำต่อหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ของศาสนจักร ขอแสดงความอาลัย แต่เกียรติคุณของท่านจะเป็นที่ระลึกถึงด้วยความเคารพยกย่องเหนือสิ่งใด”81

บางทีคำสดุดีที่มีความหมายมากที่สุดคือคำกล่าวของสมาชิกในครอบครัว บรูซ อาร์. แมคคองกี บุตรเขยของประธานสมิธ พรรณนาว่าท่าน “เป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า อัครสาวกของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์ของพระผู้สูงสุด และเหนือสิ่งอื่นใด ท่านเป็นบิดาแห่งอิสราเอล!” เอ็ลเดอร์แมคคองกีพยากรณ์ดังนี้ “ในอีกหลายปีที่จะมาถึง เสียงของท่านจะกล่าวจากภัสมธุลีเมื่ออนุชนที่ยังไม่เกิดมาได้เรียนรู้หลักคำสอนของพระกิตติคุณจากงานเขียนของท่าน”82

ขณะศึกษาหนังสือเล่มนี้ คำสอนของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธจะช่วยให้คำประกาศนั้นมีสัมฤทธิผล เสียงของท่านจะ “กล่าวจากภัสมธุลี” แก่ท่าน เมื่อท่าน “ได้เรียนรู้หลักคำสอนของพระกิตติคุณ”

อ้างอิง

  1. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ “Believe His Prophets” Ensign, พฤษภาคม ค.ศ. 1992 หน้า 52

  2. โธมัส เอส. มอนสัน ใน “News of the Church,” Ensign, พฤษภาคม ค.ศ.1996 หน้า 110

  3. บรูซ อาร์. แมคคองกี “Joseph Fielding Smith: Apostle, Prophet, Father in Israel,” Ensign, ส.ค. 1972 หน้า 29

  4. จูลินา แลมบ์สัน สมิธ, ในโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith (1972), 52

  5. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 65

  6. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 51

  7. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 57

  8. ใน Conference Report, เม.ย. 1930 หน้า 91

  9. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 62

  10. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 71–72

  11. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน Conference Report ต.ค. 1970 หน้า 92

  12. ดู โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 73–74; ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์, Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God (1992), 52–53

  13. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 75

  14. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 79

  15. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 80

  16. ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 81

  17. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 82

  18. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 83

  19. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 90

  20. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 117; ดูหน้า 116 ด้วย

  21. โจเซฟ เอฟ. สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 116

  22. ลูอิส เชิร์ทลิฟฟ์ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 112–113

  23. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 113

  24. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 96

  25. ลูอี สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 113–114

  26. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 92

  27. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 115

  28. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 91

  29. ใน ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์, Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 124

  30. ดู โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 152–153

  31. ดู Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 113

  32. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 160

  33. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 162

  34. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 169

  35. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 174–176

  36. ใน Conference Report, ต.ค. 1910 หน้า 39

  37. ใน Conference Report, ต.ค. 1919 หน้า 88–89

  38. ลูไซล์ ซี. เทต, Boyd K. Packer: A Watchman on the Tower (1995), 176

  39. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 162

  40. เอเธล สมิธ ใน ไบรอัน เอส. ฮิงค์ลีย์, “Joseph Fielding Smith,” Improvement Era, มิถุนายน ค.ศ. 1932, 459

  41. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 14

  42. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 234

  43. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 15

  44. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 237

  45. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 188–189

  46. เพลงสวด (ภาษาอังกฤษ) บทเพลงที่ 127

  47. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 242–243

  48. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 249

  49. โจเซฟ ฟิลดิงก์ ใน Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 275

  50. ดู The Life of Joseph Fielding Smith, 251–258

  51. ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์, Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 278–279

  52. มาร์ธา โทรอนโต แอนเดอร์สัน, A Cherry Tree Behind the Iron Curtain (1977), 32

  53. เชอรี แอล. ดิว Ezra Taft Benson: A Biography (1987), 204

  54. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 282–283

  55. ดู Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 315

  56. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 332

  57. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน The Life of Joseph Fielding Smith, 287–288

  58. เอ็น. เอลดอน แทนเนอร์, “A Man without Guile,” Ensign, ส.ค. 1972 หน้า 33

  59. บรูซ อาร์. แมคคองกี, “Joseph Fielding Smith: Apostle, Prophet, Father in Israel,” Ensign, ส.ค. 1972 หน้า 28

  60. โควรัมอัครสาวกสิบสอง, “President Joseph Fielding Smith,” Improvement Era, กรกฎาคม 1956 หน้า 495

  61. เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน ใน เชอรี แอล. ดิว, Ezra Taft Benson, 411

  62. บอยด์ เค. แพคเกอร์, “The Spirit Beareth Record,” Ensign, มกราคม ค.ศ. 1972 หน้า 87

  63. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน “Message from the First Presidency,” Ensign, ส.ค. 1971, ปกในและหน้า 1

  64. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “Counsel to the Saints and to the World,” Ensign, กรกฎาคม ค.ศ. 1972 หน้า 27

  65. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Sealing Power and Salvation, Brigham Young University Speeches of the Year (Jan. 12, 1971), 2

  66. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “The Plan of Salvation,” Ensign, พ.ย. 1971 หน้า 5

  67. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “To Know for Ourselves,” Improvement Era, มี.ค. 1970 หน้า 3

  68. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “The First Prophet of the Last Dispensation,” Ensign, ส.ค. 1971 หน้า 7

  69. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “Our Responsibilities as Priesthood Holders,” Ensign, มิถุนายน ค.ศ. 1971 หน้า 49

  70. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “My Dear Young Fellow Workers,” New Era, มิ.ย. 1971 หน้า 4

  71. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” Ensign, ธ.ค. 1971 หน้า 27

  72. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “President Joseph Fielding Smith Speaks on the New MIA Theme,” New Era, ก.ย. 1971 หน้า 40

  73. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, ใน Conference Report ต.ค. 1970 หน้า 92

  74. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ใน “Ogden Temple Dedicatory Prayer,” Ensign, มี.ค. 1972 หน้า 6

  75. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “Counsel to the Saints and to the World,” 27

  76. ฮาโรลด์ บี. ลี, “The President—Prophet, Seer, and Revelator,” Ensign, ส.ค. 1972 หน้า 35

  77. บรูซ อาร์. แมคคองกี, “Joseph Fielding Smith: Apostle, Prophet, Father in Israel,” 24

  78. ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์, Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God, 495

  79. เอ็น. เอลดอน แทนเนอร์, “A Man without Guile,” Ensign, ส.ค.. 1972 หน้า 32

  80. ฮาโรลด์ บี. ลี, “The President—Prophet, Seer, and Revelator,” 39

  81. Salt Lake Tribune, 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 หน้า 12

  82. บรูซ อาร์. แมคคองกี, “Joseph Fielding Smith: Apostle, Prophet, Father in Israel,” 24, 27