คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 20: ความรักความห่วงใยบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาของเรา


บทที่ 20

ความรักความห่วงใยบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาของเรา

“ข้าพเจ้าคิดว่าหากมนุษย์ทุกคนทราบและเข้าใจว่าพวกเขาเป็นใคร และตระหนักถึงที่มาอันสูงส่งซึ่งพวกเขาจากมา … พวกเขาจะรู้สึกถึงความกรุณาฉันพี่น้องที่มีให้กัน ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตทั้งหมดของพวกเขาและนำสันติสุขมาสู่แผ่นดินโลก”

จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์และจอห์น เจ. สตูวาร์ท สังเกตว่า “โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธให้ความสนใจแม้ในเรื่องเล็กน้อยของชีวิตซึ่งทำให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของท่านได้ชัดเจนที่สุด” จากนั้นพวกท่านแบ่งปันตัวอย่างสามเรื่องของ “ความสนใจแม้ในเรื่องเล็กน้อย” ที่ท่านทำ ดังนี้

“วันหนึ่ง ณ การประชุมใหญ่ศาสนจักรในมอรมอนแทเบอร์นาเคิล เท็มเปิลสแควร์ มีเด็กชายวัย 12 ปี ตื่นเต้นที่จะได้ไปที่นั่นเป็นครั้งแรก เขามาถึงก่อนเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ที่นั่งใกล้กับด้านหน้า … ก่อนการประชุมจะเริ่ม และเมื่อที่นั่งเต็มหมดแล้ว ผู้ต้อนรับคนหนึ่งขอให้เด็กชายคนนั้นลุกจากที่นั่งเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐที่มาสายได้นั่ง เด็กชายทำตามอย่างว่าง่าย เขายืนอยู่ตรงทางเดินด้วยความผิดหวังและประหม่า น้ำตาคลอหน่วย” ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ “สังเกตเห็นหนุ่มน้อยคนนั้นและเรียกให้เขาขึ้นมา [บนยกพื้น] เมื่อเด็กชายเล่าให้ท่านฟังว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านกล่าวว่า ‘ผู้ต้อนรับคนนั้นไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น มานี่ มานั่งข้างผมสิ’ ท่านแบ่งที่นั่งให้เขา ท่ามกลางเหล่าอัครสาวกของศาสนจักร

“วันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังสัมภาษณ์ชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะออกไปเป็นผู้สอนศาสนาเป็นเวลาสองปีให้ศาสนจักร [ท่าน] สังเกตเห็นเด็กชาวไร่คนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ไปแคนาดาตะวันออก ‘พ่อหนุ่ม ที่นั่นหนาวนะ คุณมีเสื้อโค้ตดีๆ สักตัวไหม’ ‘ไม่มีครับท่าน’ ท่านพาหนุ่มน้อยคนนั้นข้ามถนนไปยังร้านขายเสื้อผ้า [แห่งหนึ่ง] และซื้อเสื้อโค้ตที่อุ่นที่สุดในร้านให้เขา

“วันที่ท่านได้รับการสนับสนุนเป็นประธานศาสนจักรในการประชุมใหญ่ เด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งเดินฝ่าฝูงชนหลังการประชุมและเอื้อมไปจับมือท่าน เป็นภาพที่ซึ้งใจอย่างยิ่ง ท่านโน้มกายลงโอบเด็กน้อยไว้ในอ้อมแขน ท่านทราบว่าชื่อของเธอคือวีนัส ฮอบส์ … ซึ่งกำลังจะสี่ขวบอีกไม่นาน ในวันเกิดของเธอ วีนัสได้รับโทรศัพท์ที่ทำให้ตื่นเต้น โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธกับภรรยาท่านโทรทางไกลมาร้องเพลง ‘สุขสันต์วันเกิด’ ให้เธอ”1

การกระทำแห่งความกรุณานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแต่เป็นแบบแผนมาตลอดชีวิต ประธานสมิธเป็น “บุรุษแห่งความโอบอ้อมอารีและการุณยธรรม ชีวิตท่านเป็นแบบอย่างของการช่วยเหลือคนขัดสน ปลอบโยนคนที่ใจชอกช้ำ ให้คำปรึกษาแก่คนที่สับสน และแบบอย่างของจิตกุศลซึ่งคือ ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ [โมโรไน 7:47]”2

คำสอนของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

1

ด้วยความรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าคือพระบิดาของคนทั้งปวง เราปรารถนาที่จะรักและเป็นพรแก่ผู้อื่น

ข้าพเจ้าคิดว่าหากมนุษย์ทั้งหลายทราบและเข้าใจว่าพวกเขาเป็นใคร ตระหนักถึงที่มาอันสูงส่งซึ่งพวกเขาจากมา และศักยภาพอันไม่มีขอบเขตที่เป็นส่วนหนึ่งในมรดกของพวกเขา พวกเขาจะรู้สึกถึงความกรุณาฉันพี่น้องที่มีให้กัน ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตทั้งหมดของพวกเขาและนำสันติสุขมาสู่แผ่นดินโลก

เราเชื่อในศักดิ์ศรีและต้นกำเนิดอันสูงส่งของมนุษย์ ศรัทธาของเราได้รับการก่อตั้งบนข้อเท็จจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าคือพระบิดาของเรา เราคือบุตรธิดาของพระองค์ และมนุษย์ทั้งปวงคือพี่น้องในครอบครัวนิรันดร์เดียวกัน

ในฐานะสมาชิกครอบครัวของพระองค์ เราเคยพำนักอยู่กับพระองค์ก่อนการวางรากฐานของโลกนี้ พระองค์ทรงแต่งตั้งและสถาปนาแผนแห่งความรอด ซึ่งเราได้รับสิทธิพิเศษให้เติบโตและก้าวหน้าหากเราพากเพียรที่จะทำ

พระผู้เป็นเจ้าที่เรานมัสการเป็นพระสัตภาวะที่มีรัศมีภาพ ทรงมีเดชานุภาพทั้งปวงและความดีพร้อม พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ในรูปลักษณ์ของพระองค์ ตามลักษณะที่เหมือนพระองค์ พร้อมด้วยลักษณะพิเศษและคุณลักษณะที่พระองค์ทรงครอบครอง

ดังนั้น ความเชื่อของเราในศักดิ์ศรีและจุดหมายของมนุษย์จึงเป็นส่วนสำคัญทั้งในด้านศาสนศาสตร์และวิถีชีวิตของเรา นี่คือคำสอนพื้นฐานของพระเจ้า “พระบัญญัติข้อใหญ่ข้อแรก” คือ “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” และพระบัญญัติข้อใหญ่ข้อที่สองคือ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (ดู มัทธิว 22:37–39)

เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรา เราจึงมีความปรารถนาโดยธรรมชาติที่จะรักและรับใช้พระองค์ และเป็นสมาชิกที่มีค่าควรในครอบครัวของพระองค์ เรารู้สึกถึงพันธะรับผิดชอบในการทำสิ่งที่พระเจ้าจะทรงให้เราทำ ในการรักษาพระบัญญัติและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับมาตรฐานพระกิตติคุณของพระองค์—ทั้งหมดนี้คือส่วนสำคัญยิ่งของการนมัสการที่แท้จริง

เนื่องจากมนุษย์ทั้งปวงคือพี่น้องของเรา เราจึงมีความปรารถนาที่จะรัก เป็นพรและผูกมิตรกับพวกเขา—และเรายอมรับว่าสิ่งนี้คือส่วนสำคัญยิ่งของการนมัสการที่แท้จริงเช่นกัน

ดังนั้น ทุกสิ่งที่เราทำในศาสนจักรจึงมุ่งเน้นไปที่กฎแห่งสวรรค์ว่าเราต้องรักและนมัสการพระผู้เป็นเจ้าและรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเรา

ไม่สงสัยเลยว่าในฐานะศาสนจักรและผู้คน เรามีความห่วงใยอันลึกซึ้งเสมอมาต่อความผาสุกของบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ เราแสวงหาความผาสุกทางโลกและทางวิญญาณของพวกเขาไปพร้อมกับของเราเอง เราสวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขาดังที่เราทำเพื่อตนเอง เราพยายามดำเนินชีวิตเพื่อพวกเขาจะเห็นงานดีของเรา และอาจนำพวกเขามาสู่การสรรเสริญพระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ [ดู มัทธิว 5:16]3

ภาพ
One oil on canvas painting of Peter healing the lame man. Done predominantly in shades of brown and gold. Shows a crippled beggar at right being lifted by Peter. Others look on. Scene is in front of a large building.

“แต่เปโตรกล่าวว่า เงินและทองเราไม่มี แต่สิ่งที่เรามีนั้นเราจะให้ท่าน คือในพระนามของพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงเดินเถิด” (กิจการ 3:6)

2

ขณะที่เรารักและค้ำจุนกันในศาสนจักร เรากลายเป็นพลังในโลกเพื่อก่อเกิดสิ่งดีงาม

“ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” (ยอห์น 14:15)

พระอาจารย์ตรัสถ้อยคำเหล่านี้แก่สานุศิษย์ของพระองค์ แต่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการสิ้นพระชนม์ ขณะทรงเรียกพวกเขามารวมกันเพื่อรับปัสกา และประทานคำแนะนำครั้งสุดท้ายก่อนจะทรงทนทุกข์เพราะบาปของโลก ในโอกาสเดียวกันนี้ ไม่นานก่อนหมายสำคัญเหล่านี้ พระองค์ทรงอ้างถึงเรื่องเดียวกัน เมื่อรับสั่งว่า

“ลูกทั้งหลายเอ๋ย เราจะอยู่กับพวกท่านอีกหน่อยเดียวเท่านั้น ท่านจะเสาะหาเราและอย่างที่เราพูดกับพวกยิวและตอนนี้เราก็พูดกับท่านด้วย คือที่ที่เรากำลังจะไปนั้น พวกท่านไปไม่ได้ เราให้บัญญัติใหม่ไว้กับพวกท่าน คือให้รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น” [ยอห์น 13:33–34] …

… เราไม่เพียงเป็นเพื่อนกันเท่านั้น เราเป็นพี่น้องกัน บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราออกมาจากโลกดังที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว เพื่อเข้าสู่พันธสัญญา เพื่อถือรักษากฎของพระองค์ และเพื่อยึดมั่นสิ่งทั้งปวงที่ประทานแก่เราโดยการดลใจ เราได้รับพระบัญชาให้รักกัน “พระบัญญัติใหม่” พระเจ้าตรัสว่า เช่นเดียวกับพระบัญญัติข้ออื่นๆ ซึ่งเก่าแก่เท่าๆ กับนิรันดร ไม่มีเวลาใดที่พระบัญญัติไม่ดำรงอยู่จริงและไม่จำเป็นต่อความรอด ทว่ายังคงใหม่เสมอ ไม่เคยเก่าเลย เพราะนี่คือความจริง4

ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ของเราที่จะรักกัน เชื่อในกันและกัน มีศรัทธาในกันและกัน เป็นหน้าที่ของเราที่จะมองข้ามความผิดและความล้มเหลวของกันและกัน ไม่ขยายสิ่งเหล่านั้นในสายตาเราเอง ไม่ทำเช่นนั้นต่อสายตาของโลก ไม่ควรมีการจับผิด ลอบกัด พูดให้ร้าย และต่อต้านกันในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราควรซื่อสัตย์ต่อกันและต่อหลักธรรมทุกประการของศาสนาเราและไม่ริษยากัน เราไม่ควรอิจฉาริษยากัน ทั้งไม่ควรโกรธเคืองกัน และไม่ควรมีความรู้สึกในใจว่าเราจะไม่ให้อภัยการล่วงละเมิดของกันและกัน ไม่ควรมีความรู้สึกในใจบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเรื่องการไม่ให้อภัยใครก็ตาม ไม่สำคัญว่าเขาจะเป็นใคร …

… เราไม่ควรฝังใจกับความรู้สึกไม่เป็นมิตรต่อกัน แต่จงมีความรู้สึกของการให้อภัยและรักกันฉันพี่น้อง ขอให้เราจดจำความล้มเหลวส่วนตัวของเราเอง ความอ่อนแอ และความมุ่งมั่นที่จะแก้ไข เรายังไปไม่ถึงความดีพร้อม แทบจะคาดหวังไม่ได้เลยว่าเราจะดีพร้อมในชีวิตนี้ ทว่าโดยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ย่อมอยู่ในวิสัยที่เราจะยืนหยัดด้วยกันได้โดยมองเห็นด้วยตาตนเองและเอาชนะบาปกับความไม่ดีพร้อมของเรา หากเราจะทำสิ่งนี้ ด้วยความเคารพในพระบัญญัติทุกข้อของพระเจ้า เราจะเป็นพลังในโลกเพื่อก่อเกิดสิ่งดีงาม เราจะล้มล้างและเอาชนะความชั่วร้ายและการตรงกันข้ามกับความจริงทั้งปวง เราจะทำให้เกิดความชอบธรรมบนพื้นพิภพ เพราะพระกิตติคุณจะแผ่ไปและผู้คนในโลกจะรู้สึกถึงอิทธิพลซึ่งจะฉายส่องจากผู้คนของไซอัน พวกเขาจะมีแนวโน้มมากขึ้นในการกลับใจจากบาปและได้รับความจริง5

3

เราแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์โดยการรับใช้พวกเขา

พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาในโลกเพื่อสอนเราให้รักกัน ดังที่บทเรียนสำคัญนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยผ่านความทุกขเวทนาและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เพื่อเราจะมีชีวิต แล้วเราจะไม่แสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์โดยการรับใช้พวกเขาหรอกหรือ …

เราต้องรับใช้ผู้อื่น เราต้องขยายมือที่ช่วยเหลือไปยังผู้เคราะห์ร้าย คนที่ไม่เคยได้ยินความจริงและอยู่ในความมืดทางวิญญาณ คนขัดสน คนที่ถูกกดขี่ ท่านกำลังล้มเหลวไหม ขอให้เรานึกถึงถ้อยคำของกวี วิลล์ แอล. ธอมพ์สัน … บทกวีเริ่มต้นดังนี้

“ฉันทำความดีบ้างหรือไม่ในโลกวันนี้?

ฉันปรานีคนขัดสนบ้างไหม?

ฉันได้ปลอบคนหมองหม่น

ช่วยคนให้เบิกบานไหม?

หากไม่ฉันล้มเหลวแน่นา” [เพลงสวด บทเพลงที่ 109]6

ภาพ
A young adult woman helping an older woman in an electric cart do grocery shopping.

เมื่อเรายื่นมือที่ช่วยเหลือไปยังผู้อื่น เราแสดงความรักที่เรามีต่อพวกเขา

พันธกิจของเราเพื่อโลกทั้งโลก—เพื่อสันติสุข ความหวัง ความสุข ความรอดทางโลกและความรอดนิรันดร์ของบรรดาบุตรธิดาของพระบิดา … ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญท่านทั้งหลายอย่างสุดพลัง ข้าพเจ้ากระตุ้นคนเหล่านี้ให้เอื้อมออกไปและเป็นพรอย่างต่อเนื่องให้ชีวิตบุตรธิดาของพระบิดาในทุกหนแห่ง7

4

เราต้องชื่นชมและรักผู้คนดังที่พวกเขาเป็น

สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก เรามีม้าตัวหนึ่งชื่อจูนี จูนีเป็นสัตว์ฉลาดที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยพบ ดูเหมือนความสามารถของจูนีเกือบจะเท่าๆ กับคน ข้าพเจ้าขังจูนีไว้ในโรงนาไม่ได้เลยเพราะเธอถอดสายรัดที่ประตูคอกออกได้ ข้าพเจ้ามักจะผูกสายรัดติดกับประตูคอกเหนือตู้ไปรษณีย์ แต่จูนีจะถอดออกง่ายๆ ด้วยจมูกกับฟัน จากนั้นเธอจะออกไปที่สนามหญ้า

มีก็อกน้ำในสนามที่ใช้สำหรับเติมน้ำในรางให้สัตว์ของเรา จูนีจะหมุนก็อกนี้ด้วยปากแล้วปล่อยให้น้ำไหล คุณพ่อจะบ่นเพราะข้าพเจ้าไม่สามารถเก็บม้านั้นไว้โรงนาได้ จูนีไม่เคยวิ่งหนี แค่เปิดน้ำแล้วเดินไปรอบๆ สนามหรือเดินไปทั่วลาน หรือเดินลัดสวนไป ตกกลางดึก ข้าพเจ้าจะได้ยินเสียงน้ำไหลแล้วข้าพเจ้าต้องลุกไปปิดและขังจูนีอีกครั้ง

คุณพ่อบอกว่าดูเหมือนม้าจะฉลาดกว่าข้าพเจ้า วันหนึ่งท่านตัดสินใจจะขังม้าไว้ข้างใน เพื่อไม่ให้ออกมาได้ ท่านคล้องสายรัดที่มักจะทำเป็นห่วงคล้องไว้เหนือกล่องไปรษณีย์ผูกไว้รอบๆ และใต้ขื่อ แล้วท่านก็พูดว่า “สาวน้อย ทีนี้ มาดูสิว่าจะออกได้ไหม!” คุณพ่อกับข้าพเจ้าออกจากโรงนาเริ่มเดินกลับบ้าน และก่อนที่เราจะถึงบ้าน จูนีก็มาอยู่ข้างๆ เราแล้ว จากนั้นก็ไปเปิดน้ำอีกครั้ง

ข้าพเจ้าบอกว่า ตอนนี้ จูนีอาจจะฉลาดพอๆ กับเราคนใดคนหนึ่ง เราห้ามจูนีออกจากคอกไม่ได้เลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจูนีไม่ดี ไม่ใช่เช่นนั้น คุณพ่อไม่ได้คิดจะขายหรือนำเธอไปแลก จูนีมีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างซึ่งทำให้ความผิดนี้ดูเล็กน้อยมาก

จูนีเป็นม้าที่ไว้ใจได้และเชื่อถือได้ในการลากรถม้าเช่นเดียวกับที่เชี่ยวชาญการออกจากคอก เรื่องนี้สำคัญเพราะคุณแม่เป็นนางผดุงครรภ์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ เมื่อมีผู้เรียกให้ปฏิบัติงานที่ใดสักแห่งในหุบเขา โดยปกติจะเป็นช่วงกลางดึก ข้าพเจ้าจะลุกขึ้น คว้าโคมไฟออกไปที่โรงนาและผูกจูนีกับรถม้า

ข้าพเจ้าอายุประมาณสิบหรือสิบเอ็ดปีในเวลานั้น ม้าจึงต้องเชื่อง ทว่าเข้มแข็งพอที่จะพาข้าพเจ้ากับคุณแม่ไปทั่วหุบเขา ในทุกสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าใจเลยคือเพราะเหตุใดทารกส่วนใหญ่ต้องเกิดกลางคืนและส่วนมากเกิดในฤดูหนาว

บ่อยครั้ง ข้าพเจ้ามักจะรอคุณแม่ในรถม้า จึงถือเป็นเรื่องดีที่มีจูนีม้าชราที่อ่อนโยนอยู่เป็นเพื่อน ประสบการณ์กับม้าตัวนี้ดีสำหรับข้าพเจ้าเพราะในชีวิตช่วงแรกๆ ข้าพเจ้าต้องเรียนรู้ที่จะรักและชื่นชมสิ่งที่เธอทำ จูนีเป็นม้าที่ยอดเยี่ยมแต่มีนิสัยแย่ๆ เพียงสองอย่าง ผู้คนก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครในพวกเราดีพร้อม ทว่าเราทุกคนกำลังพยายามเป็นคนดีพร้อม แม้ดังพระบิดาในสวรรค์ของเรา เราต้องชื่นชมและรักผู้คนในสิ่งที่พวกเขาเป็น

ท่านอาจต้องจดจำสิ่งนี้เมื่อท่านประเมินบิดามารดา หรือครู หรือผู้นำวอร์ดและสเตค หรือเพื่อนๆ—หรือพี่น้องของท่าน บทเรียนนี้ยังอยู่กับข้าพเจ้าเสมอ—ที่จะเห็นความดีในผู้คน ถึงแม้เรากำลังพยายามจะช่วยให้พวกเขาเอาชนะนิสัยไม่ดีหนึ่งหรือสองอย่างก็ตาม …

ข้าพเจ้าเรียนรู้ชีวิตในวัยเยาว์ว่าให้รักและอย่าตัดสินผู้อื่น พยายามเสมอที่จะเอาชนะความผิดของตนเอง8

5

เมื่อเรารักพระเจ้าด้วยสุดใจของเราและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เราดำเนินชีวิตสอดคล้องกับกฎอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด

“จงรักองค์พระผู้เป็นพระเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน

“นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก

“ข้อที่สองก็เหมือนกันคือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

“ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” (มัทธิว 22:37–40)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งหมดที่ได้รับการเปิดเผยเพื่อความรอดของมนุษย์นับจากกาลเริ่มตันจนถึงเวลาของเราเองนั้นอยู่ใกล้ รวมถึงส่วนที่เป็นกฎสองข้อใหญ่นี้ด้วย หากเรารักพระเจ้าด้วยสุดใจ สุดจิต และสุดความคิด และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ย่อมไม่มีอะไรเป็นที่ปรารถนามากไปกว่านี้อีกแล้ว เราจึงดำเนินชีวิตสอดคล้องกับกฎอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด หากเราเต็มใจดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระบัญญัติสองข้อใหญ่นี้—และเราต้องทำเช่นนั้นในที่สุดถ้าเรามีค่าควรที่จะอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า—จากนั้น ความชั่วร้าย ความอิจฉาริษยา ความทะเยอทะยาน ความโลภ การนองเลือด และบาปทั้งปวงอันเป็นธรรมชาติวิสัยทุกอย่างจะถูกขับไล่ไปจากแผ่นดินโลก จากนั้นวันแห่งสันติและความสุขนิรันดร์จะมาถึง วันอันรุ่งโรจน์อย่างยิ่ง! เราได้รับการประสาทพรด้วยเหตุผลเพียงพอที่จะทราบว่าสถานะเช่นนั้นเป็นที่พึงปรารถนามากที่สุดและจะสถาปนาไว้ท่ามกลางมนุษย์ถึงความเป็นพระบิดาของพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นพี่น้องที่ดีพร้อมของมนุษย์

… เรากล่าวได้ว่าเรารักพระเจ้าด้วยสุดจิตหรือไม่ เรากล่าวได้ว่าเราห่วงใยความผาสุกของเพื่อนบ้านดังที่เราห่วงใยตนเองหรือไม่9

ขอให้เรารักพระเจ้าเพราะนี่คือรากฐานของสิ่งทั้งปวง นึ่คือพระบัญญัติข้อแรก และข้อที่สองก็เช่นกัน ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เมื่อเราทำเช่นนั้น เราทำให้กฎเกิดสัมฤทธิผล เพราะไม่มีสิ่งใดจะถูกทิ้งไว้ให้คั่งค้าง10

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • พิจารณาข้อความ “ให้ความสนใจแม้ในเรื่องเล็กน้อย” ที่ประธานสมิธทำเพื่อผู้อื่น (ดู “จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ”) เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างรูปแบบของความมีเมตตาที่คล้ายคลึงกันนี้ในชีวิตเรา

  • หลักคำสอนในหัวข้อที่ 1 ช่วยให้เรามีความรักความเมตตาแก่คนรอบข้างได้อย่างไร

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำแนะนำของประธานสมิธในหัวข้อที่ 2 เหตุใดท่านจึงคิดว่าเราจะเป็น “พลังในโลกเพื่อก่อเกิดสิ่งดีงาม” เมื่อเราทำตามคำแนะนำนี้

  • พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อ “สอนเราให้รักกันและกัน” (ดู หัวข้อที่ 3) เราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ในทางใดได้บ้าง

  • ทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับม้าจูนี (ดู หัวข้อที่ 4) ท่านคิดว่าเพราะเหตุใดจึงสำคัญที่จะ “ชื่นชมและรักผู้คนดังที่พวกเขาเป็น” เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มองเห็นความดีในตัวผู้อื่น แม้ว่าเรากำลังพยายามช่วยให้พวกเขาเอาชนะนิสัยไม่ดี

  • การรักษาพระบัญญัติมีความหมายต่อท่านอย่างไร ในมัทธิว 22:37–40 (บางตัวอย่าง ดูหัวข้อที่ 5) เพราะเหตุใด เราจึง “ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับกฎอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด” เมื่อเรารักษาพระบัญญัติเหล่านี้

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

กิจการ 17:28–29; โรม 8:16–17; 1 ยอห์น 4:18–21; โมไซยาห์ 2:17; 18:8–10; โมโรไน 7:45–48

ความช่วยเหลือด้านการสอน

ท่านอาจต้องการเชิญให้ผู้ร่วมชั้นเรียนอ่านหัวข้อย่อยในบทและเลือกหัวข้อที่มีความหมายต่อพวกเขาหรือครอบครัวพวกเขา เชื้อเชิญพวกเขาให้ศึกษาคำสอนของประธานสมิธในหัวข้อนั้น รวมถึงคำถามที่สอดคล้องกันท้ายบท จากนั้น ขอให้สมาชิกในชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

อ้างอิง

  1. ใน โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith (1972), 10–11

  2. เอส. เพอร์รี ลี, “Church Expresses Devotions to President Smith,” Church News, 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1956 หน้า 2

  3. ใน Conference Report, เม.ย. 1970 หน้า 4–5

  4. ใน Conference Report, ต.ค. 1920 หน้า 53–55

  5. ใน Conference Report, เม.ย. 1915 หน้า 119–120

  6. ใน Conference Report, เม.ย. 1968 หน้า 12

  7. ใน Conference Report, เม.ย. 1970 หน้า 4

  8. “My Dear Young Fellow Workers,” New Era, ม.ค. 1971 หน้า 4–5

  9. ใน Conference Report, เม.ย. 1943 หน้า 12

  10. ใน Conference Report, ต.ค. 1920 หน้า 59

พิมพ์