คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 5: ศรัทธาและการกลับใจ


บทที่ 5

ศรัทธาและการกลับใจ

“สิ่งที่เราต้องการจากคนในศาสนจักรและนอกศาสนจักร คือการกลับใจ เราต้องการศรัทธามากขึ้นและปณิธานมากขึ้นในการรับใช้พระเจ้า”

จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่า “การอภัยบาปมาจากศรัทธาและการกลับใจที่แท้จริง”1 ท่านกล่าวว่า “เป็นสิ่งจำเป็นที่เราไม่เพียงเชื่อเท่านั้น แต่เราต้องกลับใจด้วย” ท่านสอนอีกด้วยว่าเมื่อเราประกอบคุณงามความดีด้วยศรัทธาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะ “ได้รับรางวัลของคนซื่อสัตย์ และมีที่อยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียลของพระผู้เป็นเจ้า”2 ด้วยความปรารถนาที่จะให้คนทั้งปวงได้รับรางวัลนี้ ท่านเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และสั่งสอนการกลับใจตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของท่าน

ในช่วงแรกที่ท่านรับใช้เป็นอัครสาวก ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วว่านี่เป็นพันธกิจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าประทับใจมากโดยพระวิญญาณของพระเจ้าที่ข้าพเจ้าเดินทางไปสเตคหลายแห่งของไซอัน เพื่อกล่าวแก่ผู้คนว่าเวลานี้ เป็นวันแห่งการกลับใจและเพื่อเรียกวิสุทธิชนยุคสุดท้ายให้จดจำพันธสัญญาของพวกเขา สัญญาที่พวกเขาทำไว้กับพระเจ้า ที่จะรักษาพระบัญญัติของพระองค์ ทำตามคำสอนและคำแนะนำของเหล่าเอ็ลเดอร์แห่งอิสราเอล—ศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า—ดังที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ เราควรกระทำด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและละเอียดรอบคอบต่อพระพักตร์พระเจ้าในทุกๆ สิ่ง เพื่อเราจะได้รับพรและการนำทางจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ข้าพเจ้าคิดว่านี่เป็นวันแห่งการเตือน เป็นเวลาแห่งการเตือนนับจากวันที่ศาสดาพยากรณ์ได้รับการแสดงให้ประจักษ์จากสวรรค์เป็นครั้งแรกว่าพระกิตติคุณต้องได้รับการฟื้นฟู” 3

ในการประชุมศีลระลึกของวันอาทิตย์วันหนึ่ง ประธานสมิธบอกกับที่ประชุมว่าเหตุใดท่านจึงเปล่งเสียงเตือน โจเซฟ บุตรชายของท่านซึ่งเข้าร่วมการประชุมเช่นกัน เขียนในเวลาต่อมาว่า “ผมจำคำพูดบางอย่างที่ [คุณพ่อของผม] กล่าวในโอกาสนั้นได้อย่างชัดเจน ‘ใครคือเพื่อนของท่าน หรือใครรักท่านมากที่สุด’ ท่านถามคนในที่ประชุม ‘คนที่บอกท่านว่าทุกอย่างดีในไซอัน ว่าความเจริญรุ่งเรืองจะมาถึงในไม่ช้า หรือคนที่ตักเตือนท่านถึงหายนะและความยากลำบากที่สัญญาไว้ เว้นแต่หลักธรรมพระกิตติคุณจะดำรงอยู่ ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทราบว่าข้าพเจ้ารักสมาชิกศาสนจักร และข้าพเจ้าไม่อยากให้ใครก็ตามมาชี้นิ้วกล่าวโทษข้าพเจ้าเมื่อเราผ่านม่านแห่งความเป็นมรรตัยไปแล้วและกล่าวว่า “หากท่านเตือนดิฉัน ดิฉันคงไม่อยู่ในสภาพจนตรอกเช่นนี้” ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเปล่งเสียงเตือนด้วยความหวังว่าพี่น้องทั้งหลายจะเตรียมพร้อมสำหรับอาณาจักรแห่งรัศมีภาพ”’ 4

President Joseph Fielding Smith sitting in his office, wearing a white shirt, a dark suit, a dotted tie, and glasses.

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ บอกเหตุผลสำหรับการเรียกวิสุทธิชนยุคสุดท้ายให้กลับใจว่า “ข้าพเจ้ารักสมาชิกของศาสนจักร”

คนที่ทำงานใกล้ชิดกับประธานสมิธ เห็นว่าเบื้องหลังคำเตือนที่เข้มงวดของท่านคือบุรุษที่มีความเอื้ออาทรต่อผู้คนที่กำลังทนทุกข์กับบาป เอ็ลเดอร์ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์ รับใช้เป็นเลขานุการฝ่ายประธานสูงสุด ท่านมักจะอยู่ด้วยเมื่อประธานสมิธพิจารณาเรื่องการลงโทษทางวินัยของศาสนจักร เอ็ลเดอร์กิ๊บบอนส์เล่าว่า “ท่านพิจารณาเรื่องราวด้วยความรักความกรุณาเสมอ และด้วยความเมตตามากมายตามสภาพการณ์ที่ชอบด้วยเหตุผล ไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับท่านที่จะพูดเมื่อเรียนรู้สภาวการณ์ของคดีที่มีโทษหนัก ‘เหตุใดผู้คนจึงไม่ควบคุมความประพฤติของตนเอง’ นี่ไม่ใช่การพูดเชิงกล่าวหาหรือเป็นการกล่าวโทษแต่อย่างใด แต่ท่านกล่าวด้วยความเสียใจและเป็นทุกข์”5 ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ ผู้เคยรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองกับประธานสมิธ กล่าวดังนี้ “เรากล่าวหลายครั้งว่า เนื่องจากอัครสาวกสิบสองจะเป็นผู้พิพากษาแห่งอิสราเอล เราจะมีความสุขที่ได้รับการพิพากษาจากท่าน เพราะการพิพากษาของท่านมีความเมตตากรุณา เที่ยงธรรม และบริสุทธิ์”6 เมื่อประธานสมิธแต่งตั้งอธิการ ท่านมักจะให้คำแนะนำว่า “จงจำไว้ว่าทุกคนมีความอ่อนแอ และมีอย่างน้อยที่สุดสองด้านในทุกๆ เรื่อง หากท่านผิดพลาดในการพิพากษา จงแน่ใจว่าท่านผิดพลาดในด้านของความรักความเมตตา”7

คำสอนของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

1

หลักธรรมข้อแรกของพระกิตติคุณคือศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์

ศรัทธาของเรามีพระเจ้าพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลาง และโดยผ่านพระองค์ในพระบิดา เราเชื่อในพระคริสต์ เรายอมรับพระองค์เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า และรับพระนามของพระองค์ไว้กับเราในผืนน้ำแห่งบัพติศมา8

จงให้เรื่องนี้อยู่สูงสุดเสมอในความนึกคิดของท่าน ขณะนี้และทุกเวลา ว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ผู้เสด็จมายังโลกเพื่อพลีพระชนม์ชีพให้เรามีชีวิต นั่นคือความจริงและเป็นรากฐาน ศรัทธาของเราสร้างขึ้นบนรากฐานนั้น ซึ่งไม่อาจถูกทำลายได้ เราต้องยึดมั่นต่อคำสอนนี้ แม้จะมีคำสอนของโลก และความคิดเห็นของมนุษย์ก็ตาม เพราะสิ่งนี้สูงส่งยิ่ง สิ่งนี้สำคัญยิ่งต่อแผนของเรา พระเจ้าทรงไถ่เราด้วยพระโลหิตของพระองค์ พระองค์ทรงเตรียมและประทานความรอดแก่เรา—และมีเงื่อนไขที่เราต้องไม่ลืม—ว่าเราจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์ และระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา หากเราทำตามนั้น เราจึงจะได้รับการช่วยให้รอด ขณะที่แนวคิดและความโง่เขลาของมนุษย์จะพินาศไปจากโลก 9

เรามาสู่พระผู้เป็นเจ้าโดยศรัทธา หากเราไม่เชื่อในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ หากเราไม่มีศรัทธาในพระองค์ หรือในการชดใช้ของพระองค์ เราจะมีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ เป็นเพราะเรามีศรัทธานั้น พระองค์จึงทรงนำเรามาสู่ความประสานกลมกลืนกับความจริงของพระองค์และมีความปรารถนาในใจเราที่จะรับใช้พระองค์ …

… หลักธรรมข้อแรกของพระกิตติคุณคือศรัทธาในพระเจ้า พระเยซูคริสต์ และแน่นอนว่า เราจะมีศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ไม่ได้หากเราไม่มีศรัทธาในพระบิดาของพระองค์ จากนั้น หากเรามีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตร และได้รับการทรงนำ ตามที่เราควรได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะมีศรัทธาในผู้รับใช้ของพระเจ้าโดยผ่านผู้ที่พระองค์รับสั่งด้วย10

2

ศรัมธาหมายถึงการกระทำ

ศรัทธาเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การกระทำทุกอย่าง” [Lectures on Faith, lecture 1] หากท่านหยุดเพื่อพิจารณาสักครู่ ข้าพเจ้าคิดว่าท่านจะเห็นด้วยว่าสิ่งต่างๆ ในทางโลกเป็นความจริงเทียบเท่ากับทางวิญญาณอย่างแน่นอน นี่เป็นเรื่องจริงสำหรับเราในการกระทำของเราเองและการกระทำที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้า …

“ความเชื่อ [ศรัทธา] ที่ปราศจากการประพฤติก็ตายแล้ว” [ยากอบ 2:26]—อีกนัยหนึ่ง ความเชื่อนั้นไม่มีอยู่จริง ข้าพเจ้าคิดว่าความหมายที่ชัดเจนของยากอบคือ “จงแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นศรัทธาของท่านโดยไม่มีการประพฤติซิ แล้วข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านเห็นศรัทธาของข้าพเจ้าโดยการประพฤติ” [ดู ยากอบ 2:18] ศรัทธาหมายถึงการกระทำ … ด้วยเหตุนี้ ศรัทธาจึงแข็งแกร่งกว่าความเชื่อ …

ศรัทธาเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่ดีทุกอย่างเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือคำสอนจากพระคัมภีร์ที่พบในฮีบรู บทที่ 11—ซึ่งสาธยายเรื่องศรัทธาได้อย่างกระจ่างแจ้ง—[และ] พระเจ้าประทานการเปิดเผยแก่เราในหลักคำสอนและพันธสัญญา รวมทั้งในพระคัมภีร์เล่มอื่นๆ การอยู่เฉยๆ หรือความไม่แยแส หรือเชื่อแบบเฉยเฉื่อย ไม่ทำให้เกิดศรัทธา ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวในการมีศรัทธาจะไม่ทำให้เกิดศรัทธา ซึ่งไม่ต่างอะไรกับความปรารถนาทักษะด้านดนตรีหรือการวาดรูป ความเชี่ยวชาญจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ลงมือทำด้วยเชาว์ปัญญา เราเผชิญกับอุปสรรค เราได้รับประจักษ์พยานถึงพระกิตติคุณ เราเชื่อในโจเซฟ สมิธ เราเชื่อในพระเยซูคริสต์ เราเชื่อในหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณ แต่เรากำลังทำงานหนักเพียงใดกับสิ่งเหล่านี้

… หากเราต้องการมีศรัทธาที่มีชีวิตและมั่นคงตลอดกาล เราต้องแข็งขันในการปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างในฐานะสมาชิกของศาสนจักรนี้ …

โอ้ หากเราใช้ศรัทธาที่แสดงให้ประจักษ์โดยนีไฟ ขอให้อ่านในบทที่ 17 ของ 1 นีไฟ พี่ชายของท่านกำลังต่อต้านและหัวเราะเยาะท่านเพราะท่านกำลังจะต่อเรือ มีความว่า

“น้องเราเป็นคนโง่, เพราะเขาคิดว่าเขาสามารถต่อเรือได้; แท้จริงแล้ว, และเขาคิดด้วยว่าเขาสามารถข้ามผืนน้ำกว้างใหญ่นี้ไปได้” [1 นีไฟ 17:17]

นีไฟตอบพี่ชายว่า

“หากพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้ข้าพเจ้าทำสิ่งทั้งปวง ข้าพเจ้าสามารถทำสิ่งทั้งปวงนั้นได้. หากพระองค์จะทรงบัญชาข้าพเจ้าให้ข้าพเจ้ากล่าวแก่น้ำนี้, เจ้าจงเป็นแผ่นดิน, มันจะเป็นแผ่นดิน; และหากข้าพเจ้าจะกล่าวเช่นนี้, มันจะเป็นไปเช่นนั้น.” [1 นีไฟ 17:50]

นั่นคือศรัทธาของท่าน11

เราไม่ได้เดินด้วยความรอบรู้ เหมือนที่เราทำก่อนมายังโลกนี้ แต่พระเจ้าทรงคาดหวังว่าเราจะเดินด้วยศรัทธา [ดู 2 โครินธ์ 5:7] และโดยการเดินด้วยศรัทธา เราจะได้รับรางวัลของคนชอบธรรม หากเรายึดมั่นต่อพระบัญญัติเหล่านั้นซึ่งประทานไว้เพื่อความรอดของเรา12

หากมนุษย์จะยึดมั่นหลักคำสอนและเดินในศรัทธา ยอมรับความจริงและรักษาพระบัญญัติตามที่ประทานไว้ เขาย่อมอยู่ในวิสัยที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์ ไม่สำคัญว่าเขาจะสารภาพด้วยคำพูดของเขามากเพียงใดว่าพระเยซูคือพระคริสต์ หรือเชื่อว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มาในโลกเพื่อไถ่มนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ยากอบจึงถูกต้องเมื่อท่านกล่าวว่าคนชั่วร้าย “เชื่อและกลัวจนตัวสั่น” แต่พวกเขาก็ยังไม่ยอมกลับใจ [ดู ยากอบ 2:19]13

3

การกลับใจเป็นหลักธรรมข้อที่สองของพระกิตติคุณและจำเป็นอย่างยิ่งต่อความรอดและความสูงส่งของเรา

การกลับใจเป็นหลักธรรมเบื้องต้นข้อที่สองของพระกิตติคุณและเป็นผลที่เกิดจากศรัทธา 14

สิ่งที่เราต้องการจากคนในศาสนจักรและนอกศาสนจักร คือการกลับใจ เราต้องการศรัทธามากขึ้นและปณิธานมากขึ้นในการรับใช้พระเจ้า15

จริงหรือไม่ที่พวกเราบางคนมีแนวคิดที่ว่าไม่สำคัญว่าเราทำบาปตราบใดที่บาปนั้นไม่ร้ายแรง หรือไม่เป็นอันตราย แล้วเราจะยังคงได้รับการช่วยให้รอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า นีไฟมองเห็นยุคสมัยของเรา ท่านกล่าวว่าจะมีคนพูดเช่นนั้น [ดู 2 นีไฟ 28:7–9] แต่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านว่า เราไม่สามารถหันไปจากทางแห่งความจริงและความชอบธรรมแล้วยังรักษาการนำทางจากพระวิญญาณของพระเจ้าไว้ได้ 16

ไซอันไม่มีที่สำหรับคนบาปโดยเจตนา แต่มีที่สำหรับคนบาปที่กลับใจ สำหรับคนที่ปฏิเสธความชั่วช้าสามานย์ แต่แสวงหาชีวิตนิรันดร์และแสงสว่างของพระกิตติคุณ เราไม่ควรมองดูบาปด้วยระดับความยินยอมแม้เล็กน้อยที่สุด ไม่ต่างจากที่พระเจ้าทรงทำเช่นนั้น แต่จงดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงและดีพร้อมต่อพระพักตร์พระเจ้า17

มนุษย์สามารถรับการช่วยให้รอดและรับความสูงส่งในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าในความชอบธรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องกลับใจจากบาปและเดินอยู่ในความสว่างเพราะพระคริสต์ทรงสถิตในความสว่าง [ดู 1 ยอห์น 1:7] เพื่อให้พระโลหิตของพระองค์ชำระเราจากบาปทั้งปวง เพื่อให้เรามีสัมพันธภาพกับพระเจ้าและรับรัศมีภาพพร้อมด้วยความสูงส่งจากพระองค์18

เราต้องการการกลับใจ และต้องมีผู้บอกให้เรากลับใจ19

4

ในหลักธรรมแห่งการกลับใจ พระเมตตาของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้รับการแสดงให้ประจักษ์

การกลับใจเป็นหลักธรรมที่ล้ำเลิศและให้การปลอบโยนมากที่สุดที่สอนไว้ในพระกิตติคุณ ในหลักธรรมนี้ พระเมตตาของพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ พระเยซูคริสต์ แสดงให้ประจักษ์ได้อย่างชัดเจนมากกว่าหลักธรรมข้ออื่นๆ ช่างน่าหวาดหวั่นยิ่งนักหากไม่มีการอภัยบาปและไม่มีหนทางในการปลดบาปสำหรับคนที่กลับใจด้วยความนอบน้อม เราทำได้เพียงจินตนาการในส่วนของความพรั่นพรึงที่จะเกิดขึ้นกับเรา หากเราต้องอดทนกับบทลงโทษจากการล่วงละเมิดตลอดกาลและตลอดไปโดยปราศจากความหวังของการปลดเปลื้อง เราจะรับการปลดเปลื้องได้อย่างไร จะได้รับจากใคร

พระเจ้าตรัสว่า

“พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์

“เพราะว่าพระเจ้าทรงให้พระบุตรเข้ามาในโลก ไม่ใช่เพื่อพิพากษาโลก แต่เพื่อช่วยกู้โลกให้รอดโดยพระบุตรนั้น” [ยอห์น 3:16–17; ดู ข้อ 18–21ด้วย]

หากพระบิดามิได้ทรงส่งพระเยซูคริสต์มาในโลก ก็คงไม่มีการปลดบาปและการบรรเทาทุกข์จากบาปโดยผ่านการกลับใจ20

A young man kneeling in prayer at his bedside.

“การกลับใจเป็นหลักธรรมอันล้ำเลิศและให้การปลอบโยนมากที่สุดที่สอนไว้ในพระกิตติคุณ”

หากเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ และรู้สึกได้แม้ในระดับที่เล็กน้อย ถึงความรักความเต็มพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระคุณของพระเยซูคริสต์ ในการทนทุกข์เพื่อบาปของเรา เราจะยินดีกลับใจจากการล่วงละเมิดทั้งหมดของเราและรับใช้พระองค์21

5

การกลับใจรวมถึงความโทมนัสจากใจจริงสำหรับบาปและการละทิ้งบาปโดยสิ้นเชิง

พระคัมภีร์กล่าวว่า

“เจ้าจงถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าในความชอบธรรม, แม้เครื่องถวายบูชาอันเป็นใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” [คพ. 59:8]

นั่นหมายถึงการกลับใจ

… การกลับใจ ตามนิยามที่ให้ไว้ในพจนานุกรม คือความโทมนัสด้วยใจจริงสำหรับบาป ด้วยการกล่าวโทษตนเอง และการละทิ้งบาปโดยสิ้นเชิง … ไม่มีการกลับใจที่แท้จริงเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความโทมนัสและความปรารถนาจะเป็นอิสระจากบาป

ความสำนึกผิดคือการแสดงออกถึงวิญญาณที่นอบน้อมหรือชอกช้ำเพราะบาป และรับรู้ถึงความเลวร้ายของบาปด้วยใจจริง ตลอดจนตระหนักถึงพระเมตตาและพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีต่อคนบาปที่กลับใจ … ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงตรัส ดังที่ข้าพเจ้าได้อ้างถึง เราต้องถวายเครื่องบูชา “ในความชอบธรรม, แม้ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” …

การกลับใจเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า … ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครบางคนที่จะกลับใจ แต่ของประทานแห่งการกลับใจและศรัทธาจะทรงมอบให้ทุกคนที่แสวงหา22

ข้าพเจ้าเรียนรู้จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าว่า เมื่อท่านต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ท่านสามารถทำได้ มโนธรรมของเราและพระคัมภีร์บอกเราว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไร—และนิสัยอะไรบ้างที่เราควรเปลี่ยนเพื่อความผาสุกและความก้าวหน้านิรันดร์ของเรา23

6

เวลาแห่งการกลับใจคือเดี๋ยวนี้

พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงช่วยชายหญิงทุกคนให้รอดในอาณาจักรซีเลสเชียล หากท่านต้องการไปที่นั่น และท่านมีข้อบกพร่อง หากท่านทำบาป หากท่านละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า และท่านทราบแล้ว นี่คือเวลาที่ดีในการกลับใจและแก้ไขเดี๋ยวนี้ อย่าคิดเพียงว่านี่เป็นเรื่องเล็กน้อยที่พระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน ทรงตีสองสามที ลงโทษนิดหน่อย แล้วเราจะได้รับการให้อภัย เพราะท่านอาจพบว่าตนเองถูกขับออกไป หากท่านยืนกรานและต่อต้านวิถีดังกล่าว24

การผัดวันประกันพรุ่ง ดังที่ประยุกต์ใช้ในหลักธรรมพระกิตติคุณ คือโจรขโมยชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเป็นชีวิตในที่ประทับของพระบิดาและพระบุตร มีหลายคนในบรรดาพวกเรา แม้สมาชิกของศาสนจักร ที่รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบปฏิบัติตามหลักธรรมพระกิตติคุณและรักษาพระบัญญัติ …

ขออย่าลืมถ้อยคำของ [อมิวเล็ค] ที่ว่า “เพราะดูเถิด, ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า; แท้จริงแล้ว, ดูเถิดวันแห่งชีวิตนี้เป็นวันสำหรับมนุษย์ที่จะทำงานของพวกเขา

“และบัดนี้, ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านไว้ก่อนแล้ว, ดังที่ท่านมีพยานมากมาย, ฉะนั้น, ข้าพเจ้าวิงวอนท่านว่าท่านอย่าผัดวันแห่งการกลับใจของท่านไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่; เพราะหลังจากวันนี้ของชีวิต, ซึ่งเราได้รับมาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนิรันดร, ดูเถิด, หากเราไม่ปรับปรุงเวลาของเราขณะที่อยู่ในชีวิตนี้, เมื่อนั้นคืนแห่งความมืดย่อมมาถึงซึ่งในเวลานั้นจะประกอบการงานหาได้ไม่

“ท่านจะพูดไม่ได้, เมื่อท่านถูกนำไปสู่วิกฤตอันน่าพรั่นพรึงนั้น, ว่าข้าพเจ้าจะกลับใจ, ว่าข้าพเจ้าจะกลับมาหาพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า. ไม่เลย, ท่านจะพูดเช่นนี้ไม่ได้; เพราะวิญญาณเดียวกันนั้นซึ่งครอบครองร่างกายของท่านในเวลาที่ท่านออกไปจากชีวิตนี้, วิญญาณเดียวกันนั้นจะมีพลังครอบครองร่างของท่านในโลกนิรันดร์นั้น. [แอลมา 34:32–34]25

7

เราเป็นหนี้โลกนี้เพื่อเปล่งเสียงเตือน

พระเจ้าตั้งพระทัยว่ามนุษย์จะมีความสุข—นั่นคือพระประสงค์ของพระองค์—แต่มนุษย์กลับปฏิเสธความสุขและสร้างความทุกข์ให้ตนเอง เพราะพวกเขาคิดว่าวิถีของพวกเขาดีกว่าวิถีของพระผู้เป็นเจ้า เพราะความเห็นแก่ตัว ความละโมบ และความชั่วร้ายที่อยู่ในใจพวกเขา และนั่นคืออุปสรรคของเราในทุกวันนี้26

จากการสังเกตการณ์ขณะเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง และจากสิ่งที่เราอ่านในสื่อสาธารณะ ทำให้เราจำเป็นต้องสรุปว่าการกลับใจจากบาปเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดทั่วโลกทุกวันนี้27

อย่าคิดว่าเราอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่มีวันเลวร้ายไปกว่านี้ หากไม่มีการกลับใจ ทุกสิ่งจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงป่าวร้องการกลับใจต่อผู้คน ต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้าย … และต่อประชาชาติทุกหนแห่งบนแผ่นดินโลก28

เราเป็นหนี้โลกในการเปล่งเสียงเตือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสมาชิกของศาสนจักร [ดู คพ. 88:81]29

เป็นหน้าที่ของเราที่จะดูแลกัน ปกป้องกัน เตือนกันถึงอันตรายต่างๆ สอนหลักธรรมพระกิตติคุณของอาณาจักรให้แก่กัน ยืนหยัดด้วยกันพร้อมทั้งร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านบาปของโลก30

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะมีอะไรสำคัญหรือจำเป็นมากไปกว่าการป่าวร้องการกลับใจในเวลานี้ แม้ในบรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้าย และข้าพเจ้าเรียกพวกเขาเช่นเดียวกับคนเหล่านั้นที่ไม่ใช่สมาชิกของศาสนจักร ให้เอาใจใส่พระวจนะของพระผู้ไถ่ของเรา บัดนี้ พระองค์รับสั่งแน่นอนแล้วว่าไม่มีสิ่งไม่สะอาดจะเข้าไปในที่ประทับของพระองค์ได้ นอกจากบรรดาผู้ที่พิสูจน์ตนในความซื่อสัตย์และล้างอาภรณ์ของพวกเขาในพระโลหิตของพระองค์โดยผ่านศรัทธาและการกลับใจของพวกเขา—มิฉะนั้น จะไม่มีใครหาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าพบเลย31

“ดูเถิด, ประชาชาติ, ตระกูล, ภาษา, และคนทั้งปวงจะดำรงอยู่อย่างปลอดภัยในพระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล หากเป็นไปว่าพวกเขาจะกลับใจ” [1 นีไฟ 22:28] ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าพวกเขาจะกลับใจ ข้าพเจ้าต้องการให้พวกเขาพำนักอยู่อย่างปลอดภัย ข้าพเจ้าต้องการให้พวกเขาเชื่อในพระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล ผู้เสด็จมาในโลกและทรงชดใช้บาปของเราและบาปของมนุษยชาติทั้งปวง ผู้ประทานการไถ่เราจากความตาย ผู้ทรงสัญญากับเราถึงความรอดและการปลดบาปตามเงื่อนไขของการกลับใจ

โอ ข้าพเจ้าปรารถนาให้มนุษยชาติทั้งปวงเชื่อในพระองค์ นมัสการพระองค์และพระบิดาของพระองค์ รับใช้พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเราในพระนามของพระบุตร เมื่อนั้นสันติสุขจะมา ความชอบธรรมจะมีชัย แล้วพระเจ้าจะทรงสถาปนาอาณาจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลก32

ข้าพเจ้าวิงวอนโลกให้กลับใจและเชื่อความจริง เพื่อให้แสงสว่างของพระคริสต์ฉายส่องในชีวิตพวกเขา เพื่อรักษาคุณความดีและหลักธรรมความจริงทุกประการที่พวกเขามีอยู่ แล้วเพิ่มแสงสว่างและความรู้มากขึ้น ซึ่งมาจากการเปิดเผยในทุกวันนี้ ข้าพเจ้าวิงวอนพวกเขาให้เข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและเก็บเกี่ยวพรแห่งพระกิตติคุณ

ข้าพเจ้าวิงวอนสมาชิกของศาสนจักรให้ทำงานแห่งความชอบธรรม รักษาพระบัญญัติ แสวงหาพระวิญญาณ รักพระเจ้า ให้สิ่งที่เกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขา และด้วยเหตุนี้ จงทำให้ความรอดเกิดขึ้นสำหรับท่านทั้งหลายด้วยความเกรงกลัวและตัวสั่นต่อพระพักตร์พระเจ้า [ดู ฟิลิปปี 2:12].33

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ใน “จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ” ให้ทบทวนความคิดเห็นของประธานสมิธเกี่ยวกับเหตุผลที่ท่านต้องการ “เปล่งเสียงเตือน” การป่าวร้องให้กลับใจเป็นการแสดงออกถึงความรักอย่างไร

  • การให้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางศรัทธาของท่าน หมายความว่าอย่างไร (ดู หัวข้อที่ 1)

  • เพราะเหตุใดศรัทธาที่แท้จริงจึงนำไปสู่การกระทำเสมอ (ตัวอย่างบางเรื่อง ดูหัวข้อที่ 2) มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถแสดงศรัทธาโดยการกระทำของเรา

  • การกลับใจเป็น “ผลที่มาจากศรัทธา” อย่างไร (ดู หัวข้อที่ 3)

  • ลองตรึกตรองในใจถึงเวลาที่ท่านกลับใจ แล้วรู้สึกถึงความรักความเมตตาของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ (ดู หัวข้อที่ 4) ท่านแบ่งปันอะไรได้บ้างเกี่ยวกับความสำนึกในพระกรุณาธิคุณสำหรับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

  • เพราะเหตุใดการกลับใจจึงไม่เกิดขึ้นถ้า “ปราศจากความโทมนัสและความปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากบาป” (ดู หัวข้อที่ 5) สองย่อหน้าสุดท้ายในหัวข้อที่ 5 ให้ความหวังแก่บางคนที่รู้สึกโทมนัสเพราะบาปอย่างไร

  • การผัดวันประกันพรุ่งเป็น “โจรขโมยชีวิตนิรันดร์” ในทางใดบ้าง (ดู หัวข้อที่ 6) มีอันตรายอะไรบ้างที่มาจากการผัดวันแห่งการกลับใจของเรา

  • ขณะทบทวนหัวข้อที่ 7 ให้พิจารณาว่าการ “เปล่งเสียงเตือน” หมายความว่าอย่างไร เราจะมีความกรุณาและความรักได้อย่างไรบ้างในความพยายามของเราที่จะเตือนผู้อื่น

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

ฮีบรู 11:1–6; โมไซยาห์ 4:1–3; แอลมา 34:17; อีเธอร์ 12:4; โมโรไน 7:33–34; คพ. 18:10–16; หลักแห่งความเชื่อ 1:4

ความช่วยเหลือด้านการสอน

“นักเรียนจะต้องได้รับการกระตุ้นให้มีส่วนร่วม เมื่อครูทำให้ตนเองกลายเป็นดาวเด่นในห้องเรียน พูดคนเดียว และทำกิจกรรมเองทั้งหมด แน่ใจได้ว่าครูคนนั้นกำลังขัดขวางการเรียนรู้ของสมาชิกชั้นเรียน” (ดู อาซาเฮล ดี. วูดรัฟฟ์ Teaching the Gospel [1962], 37; ใน เวอร์จิเนีย เอช. เพียร์ซ, “ชั้นเรียนธรรมดาๆ—สถานที่ซึ่งทรงอานุภาพสำหรับความก้าวหน้าอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง” เลียโฮนา, ม.ค. 1997 หน้า13)

อ้างอิง

  1. Answers to Gospel Questions, รวบรวมโดย โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์, ฉบับที่ 5 (1957–1966), 1:84

  2. “Faith and Works: The Clearing of a Seeming Conflict,” Improvement Era, ต.ค. 1924, 1151; ดู Doctrines of Salvation, รวบรวมโดย บรูซ อาร์. แมคคองกี, ฉบับที่ 3 (1954–1956), 2:311 ด้วย

  3. ใน Conference Report, ต.ค. 1919 หน้า 88; เน้นตัวเอนในต้นฉบับ

  4. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์, ใน Take Heed to Yourselves! (1966), ⅴ–ⅵ

  5. ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์, Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God (1992), ⅷ

  6. สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, อ้างอิงโดย บรูซ อาร์. แมคคองกี ใน “Joseph Fielding Smith: Apostle, Prophet, Father in Israel,” Ensign, ส.ค. 1972 หน้า 28

  7. ใน โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith (1972), 10

  8. ใน Conference Report, เม.ย. 1970 หน้า 113

  9. ใน Conference Report, ต.ค. 1921 หน้า 186; ดู Doctrines of Salvation, 2:302 ด้วย

  10. “Redemption of Little Children,” Deseret News, 29 เม.ย. 1939, หัวข้อข่าวศาสนจักร, 3; ดู Doctrines of Salvation, 2:302–303 ด้วย

  11. “Faith,” Deseret News, 16 มี.ค. 1935, หัวข้อข่าวศาสนจักร, 3, 7

  12. ใน Conference Report, เม.ย. 1923 หน้า 139

  13. “Faith and Works: The Clearing of a Seeming Conflict,” 1151; ดู Doctrines of Salvation, 2:311 ด้วย

  14. The Restoration of All Things (1945), 196

  15. “The Pearl of Great Price,” Utah Genealogical and Historical Magazine, ก.ค. 1930, 104; ดู Doctrines of Salvation, 2:48 ด้วย

  16. ใน Conference Report, ต.ค. 1950 หน้า 13

  17. ใน Conference Report, เม.ย. 1915 หน้า 120

  18. ใน Conference Report, ต.ค. 1969 หน้า 109

  19. “A Warning Cry for Repentance,” Deseret News, 4 พ.ค. 1935, หัวข้อข่าวศาสนจักร, 6; ดู Doctrines of Salvation, 3:44 ด้วย

  20. The Restoration of All Things, 196–197

  21. The Restoration of All Things, 199

  22. “Repentance and Baptism,” Deseret News, 30 มี.ค. 1935, หัวข้อข่าวศาสนจักร, 6

  23. “My Dear Young Fellow Workers,” New Era, ม.ค. 1971 หน้า 5

  24. “Relief Society Conference Minutes,” Relief Society Magazine, ส.ค. 1919, 473, ดู Doctrines of Salvation, 2:17 ด้วย

  25. ใน Conference Report, เม.ย. 1969 หน้า 121, 123

  26. “A Warning Cry for Repentance,” 6; ดู Doctrines of Salvation, 3:35 ด้วย

  27. ใน Conference Report, ต.ค. 1966 หน้า 58

  28. ใน Conference Report, ต.ค. 1932 หน้า 91–92; ดู Doctrines of Salvation, 3:31–32 ด้วย

  29. ใน Conference Report, เม.ย. 1937 หน้า 59; ดู Doctrines of Salvation, 3:49 ด้วย

  30. ใน Conference Report, เม.ย. 1915 หน้า 120

  31. ใน Conference Report, ต.ค. 1960 หน้า 51

  32. ใน Conference Report, ต.ค. 1919 หน้า 92

  33. ใน Conference Report, ต.ค. 1970 หน้า 7–8