บทที่ 23
ความรับผิดชอบส่วนตัว
“เราคาดหวังให้สมาชิกในทุกหนแห่งเรียนรู้หลักธรรมที่ถูกต้องและปกครองตนเอง”
จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ
วันหนึ่ง บราเดอร์ ดี. อาร์เธอร์ เฮย์คอกค์กำลังเดินไปที่อาคารบริหารงานศาสนจักรเมื่อเห็นว่าประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธไม่ได้ล็อกประตูด้านข้าง ด้วยความจำเป็นต้องเข้าไปในอาคารซึ่งเขาทำงานเป็นเลขานุการให้โควรัมอัครสาวกสิบสอง บราเดอร์เฮย์คอกค์ “รีบเดินขึ้นบันไดทีละสองหรือสามขั้น เพื่อจะเข้าห้องให้ได้ก่อนประตูปิด เขาเกือบจะพลาด เมื่อเขาเข้าไปในตัวอาคารได้แล้ว เขาก็รีบเร่งอีกครั้งเพื่อจะตามประธานสมิธให้ทันและเดินไปที่ลิฟท์พร้อมกับท่าน เขากล่าวกับท่านว่า ‘ผมหวังว่าผมจะโชคดีที่จะเบียดเข้าไปในสวรรค์ผ่านประตูที่ท่านเปิด”’ ตอนแรก ประธานสมิธไม่ได้ตอบอะไรและบราเดอร์เฮย์คอกค์ก็กังวลว่าความพยายามมีอารมณ์ขันของเขา เขาคงพูดอะไรผิดไป แต่ “เมื่อทั้งสองไปถึงลิฟท์ ประธานสมิธกล่าวด้วยสีหน้าแสดงความขบขันว่า ‘บราเดอร์ ตอนนี้อย่าเพิ่งคาดหวังเรื่องนั้นเลย’”1
โดยผ่านโอวาทและการกระทำ ประธานสมิธสอนหลักธรรมที่ท่านแบ่งปันกับบราเดอร์เฮย์คอกค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านเน้นว่าถึงแม้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายควรช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับพรพระกิตติคุณด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่ความรอดเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว นอกจากนี้ท่านยังกระตุ้นให้วิสุทธิชนรู้จักพึ่งพาตนเองและทำงานฝ่ายโลกด้วยความวิริยะอุตสาหะ “นั่นคือความหมายของชีวิต” ท่านกล่าว “เพื่อพัฒนาศักยภาพของเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อควบคุมตนเอง”2
โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธเรียนรู้การทำงานตั้งแต่สมัยยังเด็ก บิดาท่านไม่ค่อยอยู่บ้าน ด้วยเหตุนี้ “ท่านจึงใช้เวลาวัยเด็กส่วนใหญ่ไปกับการทำงานของผู้ใหญ่” อันที่จริง ท่านเป็นคนงานที่ขยันหมั่นเพียรซึ่ง “เผอิญรับช่วงงานเร็วกว่าที่ควร ในความภาคภูมิใจช่วงวัยเด็ก ท่านแอบรีดนมวัวตัวหนึ่งของครอบครัวเพื่อพิสูจน์ว่าท่านสามารถทำงานนี้ได้ ดังนั้นท่านจึงได้รับมอบหมายงานดังกล่าวเป็นการถาวร”3
ความเต็มใจทำงานของท่านยังคงดำเนินต่อไปขณะรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาในประเทศอังกฤษ ลูอี ภรรยาท่านเขียนข้อความต่อไปนี้ถึงท่านขณะอยู่ที่นั่น “ดิฉันทราบว่าคุณรักหน้าที่มากกว่าแค่ชื่นชม ดิฉันมีความรักและความวางใจมากมายจนรู้สึกว่าคุณกำลังเข้าใกล้ความเป็นชายหนุ่มที่ดีพร้อมเท่าที่จะเป็นได้”4 นอกจากทำหน้าที่สอนพระกิตติคุณแก่ผู้อื่นแล้ว ท่านยังทำงานหนักเพื่อเรียนรู้พระกิตติคุณด้วยตนเอง ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านส่งไปบ้าน ท่านเล่าถึงความมุมานะในการท่องจำพระคัมภีร์ว่า “ผมพยายามทั้งวันที่จะเรียนรู้ข้อความพระคัมภีร์แต่ก็ยังจำไม่ได้ แต่ผมตั้งใจว่าจะเรียนรู้ก่อนผมจบให้ได้”5
ประธานสมิธถ่ายทอดจริยธรรมในงานของท่านให้บุตรธิดา ท่านบอกพวกเขาว่า “คนตายอยู่บนเตียง ความใฝ่ฝันก็เช่นกัน” ด้วยหลักธรรมประจำใจนี้ ท่านกับภรรยาจึงต้องแน่ใจว่าบุตรธิดาตื่นแต่เช้าตรู่และทำส่วนของตนในการจัดบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบ “ด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาจดูผิดทำนองคลองธรรมต่อคุณพ่อที่เราจะนอนคุดคู้สายกว่าหกโมงเช้า” บุตรชายคนหนึ่งกล่าว “แน่นอนว่าผมเคยลองครั้งหนึ่ง คุณพ่อก็จะคอยดูว่าผมจะไม่ทำอีก”6 ประธานสมิธช่วยทำงานบ้านเช่นกัน ตอนที่ท่านกับลูอีแต่งงานกันใหม่ๆ ท่านทำงานมากเท่าที่จะทำได้ในการก่อสร้างบ้านหลังแรก หลายปีผ่านไป ท่านซ่อมแซมบ้านเอง ช่วยงานครัว ช่วยเก็บผลไม้ตามฤดูกาลและถนอมอาหารในขวด7
บราเดอร์เฮย์คอกค์ ชายคนเดิมที่ครั้งหนึ่งเคยรีบตามประธานสมิธเข้าไปในอาคารบริหารงานศาสนจักร ต่อมา เป็นเลขานุการส่วนตัวให้ประธานศาสนจักรห้าคน รวมถึงประธานสมิธด้วย ในการร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดนี้ เขาได้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของประธานสมิธที่จะปรับปรุงตนเองทางวิญญาณ เขาเล่าว่าเขามักจะเดินเข้าไปในห้องทำงานประธานสมิธบ่อยๆ และพบศาสดาพยากรณ์กำลังศึกษาพระคัมภีร์หรืออ่านหนังสือเล่มอื่น8
คำสอนของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ
1
พระเจ้าทรงคาดหวังให้เรามีวิริยะอุตสาหะในการแสวงหาพรฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ
พระเจ้ารับสั่งกับ [อาดัม] ว่า “เจ้าจะต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้า” [ปฐมกาล 3:19; ดู โมเสส 4:25 ด้วย] และตลอดเรื่อยมาทุกยุคสมัย พระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ให้ขยันหมั่นเพียร รับใช้พระองค์ด้วยความซื่อสัตย์และทำงาน …
ในสมัยแรกเริ่มของศาสนจักรในหุบเขาเหล่านี้ [ในยูทาห์] ประธานบริคัม ยังก์และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ เน้นเรื่องความวิริยะอุตสาหะ สิ่งนี้จำเป็นเพราะบรรพบุรุษของเรามาที่นี่ด้วยมือเปล่า พวกเขาต้องทำงาน ต้องมีความวิริยะอุตสาหะ จำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาควรผลิตสิ่งที่พวกเขาต้องการ ด้วยเหตุนี้ คำแนะนำดังกล่าวจึงแพร่ออกไป พวกเขาได้รับแนวทางนั้นอย่างต่อเนื่องว่าพวกเขาควรมีความวิริยะอุตสาหะ พวกเขาเรียนรู้ว่าต้องไม่มีใจหยิ่งจองหอง พวกเขามาที่นี่ ที่ซึ่งพวกเขาสามารถนมัสการพระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาและรักษาพระบัญญัติ พวกเขาเรียนรู้ว่าต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและขยันหมั่นเพียร … โอ้ ข้าพเจ้าปรารถนาว่าเราจะจดจำสิ่งนั้นได้ แต่ข้าพเจ้าเสียใจที่เรากลับลืม …
… พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าจะไม่เกียจคร้าน; เพราะคนที่เกียจคร้านจะไม่กินอาหารทั้งไม่สวมอาภรณ์ของคนทำงาน” [คพ. 42:42] นั่นฟังดูมีเหตุผลมิใช่หรือ เพราะเหตุใดที่คนเกียจคร้านจึงควรจะได้รับส่วนความอุตสาหะของคนอุตสาหะเล่า—หากชายคนที่เกียจคร้านนี้มีสภาพร่างกายที่สามารถทำงานได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำใดก็ตามที่ตั้งใจจะทำลายความเป็นมนุษย์โดยส่งเสริมให้พวกเขาเกียจคร้าน และข้าพเจ้าไม่สนใจว่าเขาอยู่ในวัยใด ไม่สำคัญว่าอายุเท่าไร หากคนคนหนึ่งร่างกายแข็งแรงและทำงานได้ เขาควรจะดูแลตนเอง นั่นคือสิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหวัง
พระเจ้าตรัสในการเปิดเผยอื่น ดังนี้
“นอกจากนี้, ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, ว่าทุกคนผู้มีความรับผิดชอบจัดหาให้ครอบครัวของตนเอง, ก็ให้เขาจัดหา, และเขาจะไม่มีทางสูญเสียมงกุฎของเขาเลย; และให้เขาทำงานในศาสนจักร. ให้ทุกคนขยันหมั่นเพียรในสิ่งทั้งปวง. และคนเกียจคร้านไม่พึงมีที่อยู่ในศาสนจักร, เว้นแต่เขาจะกลับใจและเปลี่ยนทางเดินของตน” [คพ. 75:28–29]
ดังนั้น นั่นคือคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ศาสนจักรทุกวันนี้ ไม่เพียงประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูก หรือการเก็บเกี่ยวและการทุ่มเทด้วยความวิริยะอุตสาหะเท่านั้น แต่หมายความว่าเราควรมีความวิริยะอุตสาหะในเรื่องทางวิญญาณดุจเดียวกับทางโลกดังที่เขาทำมาหาเลี้ยงชีพเช่นกัน9
เราอยู่ที่นี่เพราะมีจุดประสงค์สำคัญยิ่ง จุดประสงค์นั้นไม่ใช่การมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปีหรือน้อยกว่านั้น และเพาะปลูกไร่นาของเรา เก็บเกี่ยวพืชผล อาศัยอยู่ในบ้าน และห้อมล้อมกายเราด้วยสิ่งจำเป็นของชีวิตมรรตัย นี่ไม่ใช่จุดประสงค์ของชีวิต สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อชีวิตเราที่นี่ นั่นคือสาเหตุที่เราต้องมีความวิริยะอุตสาหะ แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้เวลาคิดว่าการมีทุกสิ่งในชีวิตนี้คือการสะสมสิ่งต่างๆ ของโลก เพื่อมีชีวิตที่สุขสบาย แวดล้อมด้วยความหรูหรา เกียรติยศ ความพึงพอใจที่จะมอบให้ชีวิตมรรตัย และไม่เคยนึกถึงสิ่งอื่นนอกจากนี้
ทำไมหรือ สิ่งทั้งหลายทั้ปวงนี้คือพรชั่วคราว เรากินเพื่ออยู่ เราสวมเสื้อผ้าเพื่อให้อบอุ่นและปกปิดร่างกาย เรามีบ้านไว้อยู่อาศัยเพื่อความสะดวกสบาย แต่เราควรมองว่าพรทั้งหมดนี้เป็นพรจำเป็นชั่วคราวขณะที่เราเดินทางผ่านชีวิตนี้ไปเท่านั้น และทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งดีสำหรับเรา เราไม่สามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปกับเราได้ยามที่เราจากโลกนี้ไป เงิน ทอง อัญมณี ที่เรียกว่าความมั่งคั่ง ไม่มีประโยชน์อันใดแก่ใครเว้นแต่จะทำให้เขาสามารถดูแลตนเองและสนองความจำเป็นที่นี่เท่านั้น10
พระเจ้า … ทรงคาดหวังให้เรามีความรู้เรื่องทางโลก เพื่อเราจะสามารถดูแลตนเองทางโลกได้ เพื่อเราจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเรา และเพื่อเราจะสามารถนำข่าวสารพระกิตติคุณไปสู่บุตรธิดาคนอื่นๆ ของพระองค์ทั่วโลก11
วัตถุประสงค์ในการอยู่ที่นี่ของเราคือเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดาดังที่ทำไว้ในสวรรค์ เพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมในโลก เพื่อสยบความชั่วร้ายไว้ใต้เท้าของเรา เพื่อเอาชนะบาปและปฏิปักษ์ของจิตวิญญาณเรา เพื่ออยู่เหนือความไม่ดีพร้อมและความอ่อนแอของมนุษย์ที่ตกอย่างน่าสงสาร โดยการดลใจจากพระเจ้าและเดชานุภาพที่ทรงแสดงให้ประจักษ์ จึงมาเป็นวิสุทธิชนและผู้รับใช้ของพระเจ้าในโลกนี้ 12
2
สุดท้ายแล้วเรามีภาระรับผิดชอบต่อพระเจ้าในการทำหน้าที่ของเรา
เรากำลังทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศรัทธาและมโนธรรม ท่านไม่ได้ทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า ไม่ได้ทำกับประธานศาสนจักร แต่กับพระเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้จ่ายส่วนสิบเพราะคำนึงถึงมนุษย์—การกระทำของข้าพเจ้าเกี่ยวข้องกับพระเจ้า นั่นคือ เกี่ยวข้องกับการประพฤติปฏิบัติของข้าพเจ้าเองในศาสนจักร และเกี่ยวข้องกับการรักษากฎข้อบังคับของศาสนจักร หากข้าพเจ้าล้มเหลวในการรักษากฎของศาสนจักร ข้าพเจ้ามีความรับผิดชอบต่อพระเจ้าและต้องตอบคำถามพระองค์ในท้ายที่สุด เพราะการละเลยหน้าที่ของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าอาจต้องตอบคำถามศาสนจักรสำหรับสัมพันธภาพของข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าทำหน้าที่ ตามความเข้าใจที่ข้าพเจ้ามีต่อข้อเรียกร้องจากพระเจ้า ข้าพเจ้าย่อมมีมโนธรรมอันปราศจากความผิด ข้าพเจ้าควรมีความพึงพอใจในจิตวิญญาณข้าพเจ้าว่าได้ทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจและจะยอมรับผลที่ตามมา สำหรับข้าพเจ้า นี่คือเรื่องระหว่างข้าพเจ้ากับพระเจ้า และระหว่างพระองค์กับเราทุกคนเช่นกัน
พระองค์ผู้ทรงส่งพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์มาในโลก เพื่อทำให้พระพันธกิจที่ทรงทำบรรลุผลสำเร็จ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงส่งจิตวิญญาณทุกดวงมาให้ได้ยินเสียงข้าพเจ้า ซึ่งอันที่จริงก็คือชายหญิงทุกคนในโลกเพื่อบรรลุพันธกิจ และพันธกิจนั้นไม่อาจสำเร็จได้โดยการละเลย ไม่ใส่ใจ ทั้งไม่อาจสำเร็จได้โดยความเขลา
เราควรเรียนรู้พันธรับผิดชอบที่เรามีต่อพระเจ้าและต่อกัน สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่ง เราไม่สามารถรุ่งเรืองในเรื่องทางวิญญาณ เราไม่สามารถเติบโตในความรู้เรื่องพระเจ้าหรือปัญญา ถ้าเราไม่อุทิศความนึกคิดและความพยายามของเราในการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น และในการเพิ่มพูนปัญญาตลอดจนความรู้ในเรื่องต่างๆ ของพระเจ้า13
นับว่าง่ายมากที่มนุษย์จะกล่าวโทษใครก็ได้สำหรับความผิดของตนเอง และง่ายสำหรับเราเช่นกัน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ มักถือเป็นความดีความชอบเมื่อสิ่งที่บรรลุผลสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่สร้างความพอใจและให้ประโยชน์ แต่เราไม่เคยต้องการแบกความรับผิดชอบสำหรับความผิดของเราที่ไม่น่าพอใจ ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามวางความรับผิดชอบเช่นนั้นไว้ที่ไหนสักแห่งและกับคนอื่น … ขอให้เราแบกความรับผิดชอบของตนเอง และอย่าได้วางไว้ที่อื่นเลย14
3
พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีแก่เราและทรงคาดหวังให้เราทำสิ่งทั้งปวงที่เราทำได้ด้วยตนเอง
สิทธิ์เสรี [คือ] ของประทานอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าประทานแก่จิตวิญญาณทุกดวงเพื่อกระทำด้วยตนเอง เพื่อเลือกด้วยตนเอง เพื่อเป็นผู้กระทำแทนพร้อมด้วยอำนาจที่จะเชื่อ ยอมรับความจริงและรับชีวิตนิรันดร์ หรือปฏิเสธความจริงและรับความสำนึกผิดจากมโนธรรม นี่คือหนึ่งในบรรดาของประทานยิ่งใหญ่ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า เราจะเป็นอย่างไรหากปราศจากสิ่งนี้ หากเราถูกบีบบังคับดังที่คนบางคนต้องการบีบบังคับเพื่อนให้ทำตามใจพวกเขา ย่อมไม่มีความรอด ไม่มีรางวัลจากความชอบธรรม ไม่มีใครถูกลงโทษอันเนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์เพราะมนุษย์จะไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบต่อพระพักตร์พระผู้รังสรรค์15
มีคนถามโจเซฟ สมิธว่าท่านปกครองและจัดระบียบวิสุทธิชนยุคสุดท้ายอย่างดีเยี่ยมได้อย่างไร ท่านตอบว่า “ข้าพเจ้าสอนหลักธรรมที่ถูกต้องแก่พวกเขาและให้พวกเขาปกครองตนเอง”
นี่คือหลักธรรมที่เราปฏิบัติในศาสนจักร เราคาดหวังให้สมาชิกของเราทุกหนแห่งเรียนรู้หลักธรรมที่ถูกต้องและปกครองตนเอง16
ของประทานอันยิ่งใหญ่แห่งสิทธิ์เสรีนี้ เป็นสิทธิพิเศษที่ประทานแก่มนุษย์เพื่อให้เลือกด้วยตนเอง สิ่งนี้ไม่เคยถูกถอดถอนและจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้น นี่เป็นหลักธรรมนิรันดร์ที่มอบเสรีภาพทางความคิดและการกระทำให้จิตวิญญาณทุกดวง โดยประกาศิตจากพระบิดา ไม่มีใครถูกบีบบังคับให้ทำดีและไม่มีใครถูกบังคับให้ทำชั่ว แต่ละคนจะกระทำด้วยตนเอง เป็นแผนของซาตานที่จะทำลายสิทธิ์เสรีนี้และบังคับมนุษย์ให้ทำตามใจเขา คงจะมีชีวิตที่น่าพึงพอใจไม่ได้หากปราศจากของประทานที่ยิ่งใหญ่นี้ มนุษย์ต้องมีสิทธิพิเศษที่จะเลือกแม้พวกเขาอาจกบฏต่อประกาศิตจากเบื้องบนก็ตาม แน่นอนว่าความรอดและความสูงส่งต้องมาโดยเจตจำนงอิสระโดยปราศจากการบังคับ เพื่อรางวัลที่ชอบธรรมจะมอบให้คุณความดีของแต่ละคน และการลงโทษอันเหมาะสมจะตกแก่ผู้ล่วงละเมิด 17
เราเชื่อว่าโดยพระคุณนั่นเองที่เราได้รับการช่วยให้รอดหลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว และสิ่งนั้นสร้างอยู่บนรากฐานแห่งการชดใช้ของพระคริสต์ มนุษย์ทุกคนต้องทำให้ความรอดเกิดขึ้นสำหรับพวกเขาด้วยความเกรงกลัวและตัวสั่นต่อพระพักตร์พระเจ้า [ดู 2 นีไฟ 25:23; มอรมอน9:27]18
นี่เป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ แสดงให้เห็นโดยการกระทำที่ตรงไปตรงมาและโดยนัยของพระคัมภีร์ทั้งหมด ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อมนุษย์ทั้งปวงแล้ว มนุษย์เหล่านั้นไม่อาจทำได้ด้วยตนเองเพื่อจะรับความรอด แต่พระองค์ทรงคาดหวังให้มนุษย์ทำทุกสิ่งที่อยู่ในอำนาจของพวกเขาด้วยตนเอง
โดยหลักธรรมดังกล่าวตรงข้ามกับระเบียบของสวรรค์ที่สถาปนาไว้ก่อนการวางรากฐานของแผ่นดินโลก สำหรับผู้ส่งสารบริสุทธิ์ที่ผ่านการฟื้นคืนชีวิตแล้ว หรือผู้ส่งสารที่เป็นของภพบนสวรรค์ ในการมายังโลกและทำงานเพื่อมนุษย์ซึ่งพวกเขาสามารถทำได้ด้วยตนเอง …
เป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดที่จะเชื่อว่าพระเยซูทรงทำทุกสิ่งเพื่อมนุษย์ถ้าพวกเขาจะสารภาพจากปากตนเอง และไม่มีอะไรที่พวกเขาต้องทำอีกแล้ว มนุษย์มีงานต้องทำถ้าพวกเขาจะรับความรอด เรื่องนี้สอดคล้องกับกฎนิรันดร์ที่เทพชี้แนะให้โครเนลิอัสมาหาเปโตร [ดู กิจการ 10] และอนานิอัสถูกส่งไปหาเปาโล [ดู กิจการ 9:1–22] เช่นเดียวกับการเชื่อฟังกฎนี้ โมโรไนซึ่งเข้าใจเรื่องราวบนแผ่นจารึกของชาวนีไฟ ไม่ได้แปลแผ่นจารึก แต่ภายใต้การกำกับดูแลของพระเจ้า ท่านมอบอูริมและทูมมิมให้โจเซฟ สมิธ ซึ่งทำให้ท่านสามารถบรรลุเป้าหมายงานสำคัญโดยของประทานและอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า19
4
ความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่งของเราคือการแสวงหาความรอดของตนเองและทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรเพื่อความรอดของผู้อื่น
เรามีความรับผิดชอบสำคัญยิ่งสองประการ … หนึ่ง การแสวงหาความรอดของตนเอง และสอง หน้าที่ของเราต่อเพื่อนมนุษย์ บัดนี้ ข้าพเจ้ารับหน้าที่แรกของข้าพเจ้า ตราบเท่าที่เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าเป็นการส่วนตัว นั่นคือการแสวงหาความรอดของตนเอง นั่นเป็นหน้าที่ส่วนตัวอันดับแรกแรกของท่านและเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในศาสนจักรนี้เช่นกัน20
เราควรห่วงใยความรอดของตนเองเป็นอันดับแรก เราควรแสวงหาพรพระกิตติคุณด้วยตนเอง เราควรรับบัพติศมาและเข้าสู่ระเบียบของการแต่งงานซีเลสเชียล เพื่อที่เราจะเป็นทายาทในความสมบูรณ์แห่งอาณาจักรของพระบิดา จากนั้นเราควรห่วงใยครอบครัว บุตรธิดา และบรรพชนของเรา21
นี่คือ … หน้าที่ของเราที่จะช่วยโลกให้รอด ทั้งคนตายและคนเป็น เรากำลังช่วยคนเป็นให้รอด ผู้ที่จะกลับใจโดยการสั่งสอนพระกิตติคุณในบรรดาประชาชาติและการรวมลูกหลานแห่งอิสราเอลผู้มีใจสัตย์ซื่อ เรากำลังช่วยคนตายให้รอดโดยการเข้าไปในพระนิเวศน์ของพระเจ้าและประกอบศาสนพิธีเหล่านี้ ได้แก่—บัพติศมา การวางมือ การยืนยัน และศาสนพิธีอื่นๆ ดังที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากมือเรา—ในฐานะตัวแทนคนเหล่านั้น22
นี่คือหน้าที่ของข้าพเจ้า และนี่คือหน้าที่ของท่าน พี่น้องทั้งหลายของข้าพเจ้าเช่นกัน—เพราะความรับผิดชอบนั้นวางไว้ที่ท่าน—เพื่อจะทำอย่างสุดความสามารถภายในอำนาจของเรา โดยไม่บ่ายเบี่ยง แต่ด้วยความบากบั่นสุดจิตวิญญาณเราที่จะขยายการเรียกซึ่งพระเจ้าประทานแก่เรา ทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อความรอดของครอบครัวเรา เราแต่ละคน และเพื่อความรอดของเพื่อนบ้าน ความรอดของคนที่อยู่ต่างแดน23
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับความพยายามของประธานสมิธในการสอนบุตรธิดาของท่านให้ทำงาน (ดู “จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ”) เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ลูกๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น
-
คำสอนในหัวข้อที่ 1 เพิ่มความเข้าใจของท่านเรื่องการพึ่งพาตนเองอย่างไร ให้นึกถึงสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อพึ่งพาตนเองมากขึ้น
-
ทบทวนคำแนะนำในหัวข้อที่ 2 การ “มีความรับผิดชอบต่อพระเจ้า” มีความหมายต่อท่านอย่างไร
-
ประธานสมิธสอนว่า “เราคาดหวังให้สมาชิกของเราทุกหนแห่งเรียนรู้หลักธรรมที่ถูกต้องและปกครองตนเอง” (หัวข้อที่ 3) คำสอนนี้มีประโยชน์ต่อครอบครัวอย่างไร คำสอนนี้จะนำทางโควรัมฐานะปุโรหิตและสมาคมสงเคราะห์ได้อย่างไร
-
ในความพยายามของเราที่จะรับใช้ผู้อื่น เพราะเหตุใดท่านจึงคิดว่า “เราควรห่วงใยความรอดของตนเองเป็นอันดับแรก” (ดู หัวข้อที่ 4)
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
ความช่วยเหลือด้านการสอน
“ขณะที่ท่านสอนจากหนังสือเล่มนี้ ให้เชิญคนอื่นๆ แบ่งปันความคิด ถามคำถาม และสอนกัน เมื่อพวกเขามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน พวกเขาจะพร้อมมากขึ้นที่จะเรียนรู้และรับการเปิดเผยส่วนตัว” (จากหน้า ⅴ–ⅵ ในหนังสือเล่มนี้)