คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 4: เสริมสร้างความเข้มแข็งและปกปักรักษาครอบครัว


บทที่ 4

เสริมสร้างความเข้มแข็งและปกปักรักษาครอบครัว

“นี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกปักรักษาหน่วยครอบครัว”

จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ กล่าว “ครอบครัวคือองค์กรสำคัญที่สุดในกาลเวลาหรือในนิรันดร”1 ไม่มีที่ใดอีกแล้วที่ท่านสอนหลักธรรมนี้ได้อย่างชัดเจนมากไปกว่าที่บ้านของท่านเอง โดยเป็นแบบอย่างของสามี บิดา และคุณปู่คุณตาที่เปี่ยมด้วยความรัก แม้ตารางงานจะอัดแน่นด้วยภารกิจในฐานะอัครสาวก แต่ท่านก็แบ่งเวลาให้ครอบครัวของท่านเสมอ “ท่านชดเชยวันที่ท่านไม่อยู่โดยเพิ่มความรักให้พวกเขาเป็นสองเท่าเมื่ออยู่ที่บ้าน” 2

มีคนเคยถามเอเธล ภรรยาคนที่สองของประธานสมิธว่า “คุณช่วยเล่าบางสิ่งเกี่ยวกับคนใกล้ตัวให้เราฟังได้ไหม” เพราะสมาชิกศาสนจักรมองสามีเธอว่าเป็นคนเข้มงวดเกินไป เธอจึงตอบว่า

“คุณขอให้ดิฉันเล่าเรื่องคนใกล้ตัว ดิฉันมักจะนึกเสมอว่าเมื่อเขาไม่อยู่ ผู้คนจะพูดว่า ‘เขาเป็นคนดีมาก จริงใจ เคร่งครัด เป็นต้น’ พวกเขาจะพูดเหมือนคนทั่วๆ ไปพูด แต่คนที่พวกเขานึกถึงนั้นแตกต่างจากคนใกล้ตัวดิฉันมาก คนใกล้ตัวของดิฉันเป็นสามีและบิดาที่เปี่ยมด้วยความรักและความกรุณา ผู้ที่มุ่งมาดปรารถนาจะทำให้ครอบครัวมีแต่ความสุขโดยไม่นึกถึงความต้องการของตนเองเมื่อพยายามทำสิ่งนี้ เขาคือคนกล่อมลูกที่กำลังงอแงให้หลับได้ ผู้ที่คอยเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกๆ ฟัง ผู้ที่ไม่เคยเหนื่อยล้าทั้งที่หมกมุ่นกับงานจนดึกดื่นหรือต้องตื่นแต่เช้าเพื่อช่วยเหลือลูกคนโตแก้ไขปัญหายุ่งยากที่โรงเรียน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย คนใกล้ตัวของดิฉันคอยดูแลอย่างอ่อนโยนและเฝ้าไข้ เขาเป็นบิดาให้แก่คนที่ร้องไห้ รู้สึกว่าเขาเป็นเหมือนยาครอบจักรวาลให้ความเจ็บป่วยของคนเหล่านั้น มือที่สมานแผล อ้อมแขนที่มอบกำลังใจให้แก่ผู้ทุกข์ยาก น้ำเสียงที่ตักเตือนด้วยความนุ่มนวลเมื่อพวกเขาผิดพลาด จนพวกเขาอยากทำในสิ่งที่จะทำให้เขามีความสุข …

“คนใกล้ตัวของดิฉันไม่เห็นแก่ตัว ไม่บ่นว่า มีความเกรงใจ ใส่ใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ทำทุกสิ่งด้วยพละกำลังของเขาเพื่อสร้างความสุขที่สุดให้แก่คนที่เขารัก นั่นคือคนใกล้ตัวของดิฉัน”3

บุตรธิดาของประธานสมิธเล่าตัวอย่างของความพยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกปักรักษาครอบครัวท่าน “สร้างความสุขที่สุดให้ชีวิต” ของพวกเขา ในชีวประวัติของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ที่เขียนถึงโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์กับจอห์น เจ. สตูวาร์ท รวมความทรงจำต่อไปนี้ไว้เช่นกัน “วัยเด็กของท่านเป็นเวลาแห่งความสุขเมื่อพวกท่านเห็นคุณพ่อผูกผ้ากันเปื้อนและเริ่มอบพาย ท่านชอบไส้พาย ท่านทำไส้พายเอง แต่ท่านทำพายรสอื่นๆ ด้วย เช่น แอปเปิ้ล เชอร์รี พีช และฟักทอง การทำพายกลายเป็นกิจกรรมประจำครอบครัว เด็กๆ จะช่วยรวบรวมเครื่องมือที่จำเป็นและส่วนผสมต่างๆ ตามที่บอก กลิ่นหอมอบอวลชวนรับประทานของพายที่อบในเตาอบขนาดใหญ่สร้างช่วงเวลาแห่งความสุขที่จะได้ลิ้มลอง ท่านคอยเฝ้าดูขณะอยู่ในเตา ไม่นำออกมาเร็วหรือช้าเกินไป ขณะเดียวกัน เอเธลกวนไอศกรีมทำเองและลูกๆ ผลัดกันหมุนเครื่องทำไอศกรีม”4

ดักลาส เอ. สมิธ กล่าวว่าเขากับบิดามี “สัมพันธภาพที่ดี” เขาเล่าตัวอย่างกิจกรรมที่ทำด้วยกันว่า “เราเคยชกมวยกันนานนานครั้ง หรืออย่างน้อยก็แกล้งทำเป็นว่าเราชกกันจริงๆ ผมเคารพท่านมากเกินกว่าจะต่อยท่านและท่านก็รักผมมากเกินกว่าจะทำเช่นนั้นด้วย … เหมือนกับฝึกต่อยมวยโดยไม่มีคู่ต่อสู้มากกว่า เราเคยเล่นหมากรุกและผมมีความสุขมากที่ชนะท่านได้ เมื่อมองย้อนกลับไปตอนนี้ ผมรู้สึกว่าคุณพ่อตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว”5

อามีเลีย สมิธ แมคคองกี จำได้ว่า “เกือบเป็นเรื่องสนุกที่ป่วยเพราะท่านเอาใจใส่เราเป็นพิเศษ … ท่านทำให้เราเพลิดเพลินโดยการเปิดเพลงไพเราะจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงเอดิสันรุ่นเก่า ท่านจะเต้นไปตามเพลงหรือเดินไปรอบห้อง และแม้แต่พยายามร้องเพลง … ท่านนำส้มหวานผลใหญ่น่ารับประทานมาให้เราและนั่งบนเตียงเพื่อปอกเปลือกแล้วแกะส่งให้เราทีละกลีบ ท่านเล่าเรื่องราวสมัยเด็กให้เราฟัง หรือเล่าว่าคุณปู่ดูแลท่านอย่างไรเมื่อท่านป่วย หากโอกาสเหมาะสมท่านจะให้พรเรา” 6 อามีเลียเล่าถึงวิธีที่บิดาของเธออบรมบุตรธิดาด้วยว่า “เมื่อเราแต่ละคนต้องแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง ท่านเพียงวางมือท่านบนไหล่เราพลางจ้องมองตาเราด้วยสายตาเจ็บปวดและกล่าวว่า ‘พ่ออยากให้ลูกๆ ของพ่อเป็นคนดี’ ไม่มีการเฆี่ยนตีหรือการลงโทษใดๆ จะมีประสิทธิภาพมากไปกว่านี้อีกแล้ว”7

ความรักและความเอาใจใส่ที่ประธานสมิธมีต่อบุตรธิดาของท่านขยายไปยังหลานๆ ของท่านด้วย ฮอยท์ ดับเบิลยู. บรูว์สเตอร์ จูเนียร์ เล่าถึงเวลาที่เขาได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการอุทิศพระวิหารลอนดอน ประเทศอังกฤษในปี 1958 ขณะเป็นผู้สอนศาสนาในเนเธอร์แลนด์ ขณะที่เขาและผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ เดินเข้าไปในห้องประชุม คุณตาเห็นเขา ฮอยท์กล่าวต่อมาว่า “โดยไม่ลังเล ท่านรีบลุกขึ้นจากเก้าอี้และอ้าแขน เป็นสัญญาณให้ผมเข้าไปหา ในความเร่งรีบนั้น ผมไม่เห็นโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ประธานสภาอัครสาวกสิบสอง … แต่เป็นคุณตาที่เห็นหลานชายคนหนึ่งซึ่งท่านมอบความรักให้มากมาย ผมไม่ลังเลใจที่จะแตกแถวและวิ่งไปยังยกพื้น ท่านโอบกอดและจูบผมต่อหน้าผู้คนทั้งห้องที่เข้าร่วมประชุมในพิธี สำรับผมแล้วนั่นเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์และน่าจดจำที่สุดในชีวิตผม”8

คำสอนของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

1

ครอบครัวคือองค์กรสำคัญที่สุดในกาลเวลาหรือในนิรันดร

ข้าพเจ้าขอเตือนท่านว่าหน่วยครอบครัวสำคัญมากเพียงใดในแผนโดยรวมทั้งหมดของพระบิดาในสวรรค์ อันที่จริง องค์กรศาสนจักรมีไว้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวและสมาชิกศาสนจักรในการเอื้อมไปสู่ความสูงส่ง

หน่วยครอบครัวและข้อผูกมัดครอบครัวต่อพระกิตติคุณสำคัญมากจนปฏิปักษ์หันมาเอาใจใส่อย่างมากกับการทำลายครอบครัวในสังคมเรา มีการโจมตีทุกด้านในเรื่องความสุจริตขั้นพื้นฐานของครอบครัวในฐานะที่เป็นรากฐานของความดีงามและเกียรติภูมิในชีวิต … กฎหมายที่อนุมัติการทำแท้งมีมากขึ้นทั่วโลกชักนำผู้คนให้ละเลยความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ครอบครัวแตกแยกโดยการใช้ยาผิดกฎหมายและการใช้ยาตามกฎหมายในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น เยาวชนดูหมิ่นสิทธิอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมักจะเริ่มต้นจากการไม่ให้ความเคารพและการไม่เชื่อฟังในบ้าน …

เพราะอำนาจของความชั่วร้ายโจมตีแต่ละคนโดยการทำลายรากฐานของครอบครัว จึงเป็นวิกฤตแก่บิดามารดาวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่จะธำรงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว อาจมีคนไม่มากนักที่เข้มแข็งด้วยตนเอง ผู้ที่เอาตัวรอดได้โดยไม่ต้องมีการค้ำจุนจากครอบครัว แต่เราส่วนใหญ่ล้วนต้องการความรัก คำสอน และการยอมรับจากคนที่ดูแลเอาใจใส่อย่างลึกซึ้ง9

มีความจริงเก่าแก่บางอย่างซึ่งจะเป็นความจริงเสมอตราบเท่าที่โลกดำรงอยู่ และไม่มีความก้าวหน้าใดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หนึ่งในนั้นคือ ครอบครัว (องค์กรที่ประกอบด้วยบิดา มารดา และบุตรธิดา) ซึ่งเป็นรากฐานของทุกสิ่งในศาสนจักร นอกจากนี้ บาปทั้งหลายที่ต่อต้านชีวิตครอบครัวบริสุทธิ์และเข้มแข็งจะเกิดผลลัพธ์ร้ายแรงอย่างแน่นอนแก่ประชาชาติใดก็ตามที่ยอมปล่อยให้บาปเหล่านี้เกิดขึ้น …

คำถามที่สำคัญมากกว่าคำถามเรื่องอาชีพหรือความมั่งคั่งของผู้คนคือคำถามที่ว่าจะปฏิบัติกับชีวิตครอบครัวของพวกเขาอย่างไร สิ่งอื่นทั้งหมดเป็นเรื่องรองลงมา ตราบเท่าที่มีบ้านอย่างแท้จริง และตราบเท่าที่คนเหล่านั้นสร้างบ้านขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ให้กันและกัน10

Family reading a book.

“พระกิตติคุณคือการให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง สิ่งนี้ครอบครัวต้องดำเนินตาม”

ไม่มีสิ่งใดทดแทนบ้านที่ชอบธรรมได้ ซึ่งโลกอาจไม่ได้คำนึงถึงนัก แต่ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ต้องและควรจะคำนึงถึงสิ่งนี้ ครอบครัวคือหน่วยในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า11

ครอบครัวคือองค์กรสำคัญที่สุดในกาลเวลาหรือในนิรันดร … นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกปักรักษาหน่วยครอบครัว เราวิงวอนบิดาทั้งหลายให้ทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว เราขอให้มารดาทั้งหลายสนับสนุนค้ำจุนสามีของพวกเธอและจงเป็นความสว่างให้แก่บุตรธิดา12

พระกิตติคุณคือการให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ซึ่งครอบครัวต้องดำเนินตามนั้น ที่นี่คือที่ซึ่งเราได้รับการอบรมสั่งสอนมากที่สุดและสำคัญที่สุด ขณะที่เราพยายามสร้างหน่วยครอบครัวนิรันดร์ให้ตนเองตามแบบอย่างครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดาของเรา13

2

พระเจ้าทรงสถาปนาครอบครัวเพื่อให้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์

เราเรียนรู้ว่า การแต่งงานเป็นหลักธรรมนิรันดร์ ได้รับแต่งตั้งก่อนการวางรากฐานของโลกและได้รับการสถาปนาบนแผ่นดินโลกก่อนความตายมาสู่โลก บิดามารดาแรกของเราได้รับพระบัญชาให้มีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดินโลก สิ่งที่ตามมาคือองค์กรครอบครัวจะเป็นนิรันดร์ ในแผนซึ่งเตรียมไว้สำหรับแผ่นดินโลก กฎการปกครองโลกซีเลสเชียลกลายเป็นรากฐาน งานอันยิ่งใหญ่และทรงรัศมีภาพของพระเจ้าคือ “การทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” [โมเสส 1:39] สิ่งนี้สำเร็จลงได้โดยผ่านการแต่งงานและครอบครัวเท่านั้น อันที่จริง นี่คือระเบียบนิรันดร์ในบรรดาผู้ได้รับความสูงส่งและในโลกที่นับไม่ถ้วน14

แผนซึ่งให้ไว้ในพระกิตติคุณเพื่อปกครองมนุษย์บนแผ่นดินโลกเป็นรูปแบบของกฎการปกครองในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะจินตนาการถึงที่มาของความโทมนัสใหญ่หลวงกว่าการถูกทิ้งไว้ในโลกนิรันดร์โดยปราศจากสัมพันธภาพแบบบิดามารดาหรือบุตรธิดา ลองนึกถึงประชาชาติที่ไม่คำนึงถึงหน่วยครอบครัวในฐานะรากฐานสำคัญ ที่ซึ่งพลเมืองทั้งปวงเป็นคนแปลกหน้ากันพอสมควร และหาความรักที่แท้จริงไม่พบ ที่ซึ่งครอบครัวไม่ได้รับการผูกมัดเข้าด้วยกัน เป็นความคิดที่น่าหวาดกลัว สภาพการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่ผลที่ตามมาเพียงประการเดียว นั่นคือ—ความระส่ำระสายและการสูญสิ้น ไม่มีเหตุผลหรอกหรือที่จะเชื่อว่านี่เป็นความจริงเดียวกันในการเกี่ยวข้องกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า หากในอาณาจักร ไม่มีครอบครัวรวมอยู่ด้วยกันและชายหญิงทั้งปวงเป็น “เทพ” โดยปราศจากญาติพี่น้องโดยกำเนิด ดังที่คนมากมายเชื่อ อาณาจักรนั้นจะสามารถเป็นสถานที่แห่งความสุข—เป็นสวรรค์ได้หรือไม่15

ในพระวิหารของพระเจ้า คู่สามีภรรยาไปรับการผนึกหรือแต่งงานเพื่อกาลเวลาและชั่วนิจนิรันดร์ บุตรธิดาที่เกิดในคู่สมรสดังกล่าวจะไม่ได้เป็นบุตรธิดาในชีวิตแห่งมรรตัยนี้เท่านั้น แต่ในนิรันดรด้วย พวกเขากลายเป็นสมาชิกครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้าในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก ดังที่เปาโลกล่าวไว้ [ดู เอเฟซัส 3:14–15] และระเบียบครอบครัวนั้นจะไม่มีวันแตกสลาย …

… บุตรธิดาเหล่านั้นที่เกิดกับพวกเขามีสิทธิ์ในความเป็นคู่ครองของบิดามารดา และบิดามารดาอยู่ภายใต้พันธะรับผิดชอบต่อพระพักตร์พระบิดานิรันดร์ของพวกเขาที่จะแน่วแน่ต่อกันและเลี้ยงดูลูกๆ ในความสว่างและความจริง เพื่อพวกเขาจะเป็นหนึ่งเดียวกันในนิรันดรที่จะมาถึง—ครอบครัวในครอบครัวใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า 16

เราพึงจดจำไว้ ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ว่าภายนอกของอาณาจักรซีเลสเชียล ไม่มีองค์กรครอบครัว [หลังความตาย] องค์กรนี้สงวนไว้สำหรับคนเหล่านั้นที่ปรารถนาจะยึดถือพันธสัญญาและพันธะรับผิดชอบทุกประการซึ่งเราได้รับเรียกให้รับไว้ขณะอยู่ที่นี่ ในชีวิตมรรตัยนี้17

อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวเดียว เราเรียกตนเองว่าบราเดอร์กับซิสเตอร์ โดยแท้แล้วเรากลายเป็นทายาทร่วมกันกับพระเยซูคริสต์โดยผ่านพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ [ดู โรม 8:16–17] บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า และมีสิทธิ์ต่อความบริบูรณ์ของพรแห่งอาณาจักรหากเราจะกลับใจและรักษา พระบัญญัติ18

ความหวังในชีวิตนิรันดร์ รวมถึงการรวมกันของสมาชิกครอบครัวเมื่อการฟื้นคืนชีวิตมาถึง นำความรักความชื่นชมยินดีอย่างมากมาสู่จิตใจสมาชิกครอบครัวแต่ละคน ด้วยความหวังนี้ สามีปรารถนาที่จะรักภรรยาด้วยความรักที่มั่นคงกว่าและบริสุทธิ์กว่า ภรรยาจะรักสามีด้วยความรักแบบเดียวกัน ความรู้สึกอ่อนโยนและความห่วงใยที่บิดามารดามีต่อลูกๆ เพิ่มขึ้น เพราะลูกๆ กลับมาใกล้ชิดกันด้วยสายสัมพันธ์แห่งความรักและความสุขที่ไม่มีวันสูญสลาย19

3

เราเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกปักรักษาครอบครัวของเรา เมื่อเราใช้เวลาอยู่ด้วยกัน รักกัน และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณด้วยกัน

จุดประสงค์หลักของครอบครัววิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือมั่นใจว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวทำงานเพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเติบโตไปสู่ความดีพร้อมได้ สำหรับบิดามารดา สิ่งนี้เรียกร้องการอุทิศเวลาและพลังงานมากกว่าการจัดหาให้ตามความต้องการทางกายของลูกๆ สำหรับลูกๆ สิ่งนี้หมายถึงการควบคุมธรรมชาติวิสัยที่จะนำไปสู่ความเห็นแก่ตัว

ท่านใช้เวลาสร้างความสำเร็จให้บ้านและครอบครัวมากพอๆ กับที่ท่านติดตามความสำเร็จในงานอาชีพและสังคมหรือไม่ ท่านอุทิศพลังงานสร้างสรรค์ที่ดีเยี่ยมของท่านให้แก่หน่วยสำคัญที่สุดในสังคม—ครอบครัว หรือไม่ หรือสัมพันธภาพของท่านกับครอบครัวเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่คุ้มค่าอย่างนั้นหรือ บิดามารดากับลูกต้องเต็มใจให้ความรับผิดชอบของครอบครัวมาก่อนเพื่อทำให้ครอบครัวบรรลุความสูงส่ง20

Family walking around the Atlanta Georgia Temple

“องค์การศาสนจักรมีไว้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวและสมาชิกในการเอื้อมไปสู่ความสูงส่ง”

บ้าน … คือห้องปฏิบัติการที่หล่อหลอมอุปนิสัยของมนุษย์และบุคลิกลักษณะซึ่งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา บ้านไม่สามารถเป็นดังที่ควรจะเป็นได้เว้นแต่ความสัมพันธ์เหล่านี้จะมาจากอุปนิสัยที่เหมาะสม นี่เป็นความจริง ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้จะขึ้นอยู่หรือไม่ขึ้นอยู่กับทั้งบิดามารดาและบุตรธิดา แต่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับบิดามารดา พวกเขาต้องทำให้ดีที่สุด21

“ ไปเล่นที่อื่น อย่ามายุ่งกับแม่ แม่ไม่มีเวลาให้หรอก” มารดาที่อยู่ในความเร่งรีบ ไร้ความอดทนพูดกับลูกสาวคนเล็กวัยสามขวบซึ่งพยายามช่วยทำงานบ้าน … ความปรารถนาจะช่วยเหลือเกิดมาพร้อมกับเด็กปกติทุกคนและบิดามารดาไม่มีสิทธิ์บ่นว่า ไม่มีสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายเช่นนั้นในงานบ้านเมื่อทุกคนช่วยกันทำงาน และถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจในการทำหน้าที่เหล่านี้ สัมพันธภาพอันน่าชื่นใจจะเกิดขึ้นซึ่งสามารถเป็นประสบการณ์ได้

หากข้าพเจ้าต้องแนะนำสิ่งหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า เราในฐานะบิดามารดากำลังขาดมากที่สุด นั่นคือความเข้าใจอันเกิดจากความเมตตาสงสารลูกของเรา ดำเนินชีวิตกับลูกๆ เดินตามรอยพวกเขา … รู้ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับความสนใจของลูก เป็นเพื่อนกับพวกเขา22

เราพยายามทำให้บิดามารดารู้สึกถึงความจำเป็นในการเอาใจใส่ลูกๆ มากขึ้น มีวิญญาณแห่งพระกิตติคุณในบ้านของพวกเขามากขึ้นอีกนิด มีความเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นอีกนิดและมีศรัทธามากขึ้นอีกหน่อย มีความรับผิดชอบทางศาสนาและทางศีลธรรมในส่วนของบิดามากขึ้นอีกเล็กน้อย มารดาก็เช่นเดียวกัน และสอนพระกิตติคุณในบ้านให้มากขึ้นด้วย23

ถึงบิดามารดาในศาสนจักร เรากล่าวว่า จงรักกันและกันด้วยสุดใจของท่าน รักษากฎทางศีลธรรมและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ จงเลี้ยงดูลูกๆ ของท่านในความสว่างและความจริง สอนพวกเขาถึงความจริงของพระกิตติคุณที่ช่วยให้รอด และทำบ้านให้เป็นสวรรค์บนแผ่นดินโลก ที่ซึ่งพระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงพำนักและที่ซึ่งความชอบธรรมได้รับการสืบทอดต่อไปในจิตใจของสมาชิกแต่ละคน24

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าพระบิดาบนสวรรค์จะประทานความเข้มแข็งแก่เราทุกคนเพื่อให้เราไปถึงศักยภาพที่แท้จริงของเรา ข้าพเจ้าวิงวอนขอพระวิญญาณของพระองค์ทรงสถิตในบ้านของศาสนจักร เพื่อให้มีความรักใคร่กลมเกลียวกันที่นั่น ขอพระบิดาทรงปกปักรักษาและเชิดชูครอบครัวของเรา25

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ขณะอ่านเรื่องราวใน “จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ” พิจารณาว่าแบบอย่างของประธานสมิธสามารถเป็นเครื่องนำทางในชีวิตท่านอย่างไร นึกถึงวิธีที่ท่านสามารถปรับปรุงตนเองเป็นการส่วนตัวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สัมพันธภาพในครอบครัว

  • พิจารณาความสำคัญของครอบครัวตามที่สรุปไว้ในหัวข้อที่ 1 ท่านกำลังทำอะไรบ้างเพื่อปกป้องครอบครัวจากอิทธิพลทางลบของโลก

  • ประธานสมิธกล่าวถึง “ความหวังในชีวิตนิรันดร์ รวมถึงการกลับมารวมกันของสมาชิกครอบครัวเมื่อการฟื้นคืนชีวิตมาถึง” (หัวข้อที่ 2) ความหวังนี้มีอิทธิพลต่อปฏิสัมพันธ์ของท่านกับสมาชิกครอบครัวอย่างไร

  • ในหัวข้อที่ 3 ประธานสมิธถามคำถามชวนให้คิดสามข้อ ตอบคำถามเหล่านี้ในใจ ขณะอ่านหัวข้อนี้ พิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่ท่านสามารถทำได้ในชีวิตท่านซึ่งสามารถปรับปรุงความรู้สึกในบ้านท่านได้

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

สุภาษิต 22:6; 1 นีไฟ 8:37; คพ. 88:119; 93:40–50; ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ด้วย

ความช่วยเหลือด้านการสอน

“ขอให้ผู้มีส่วนร่วมเลือกหนึ่งหัวข้อ [ของบท] และอ่านในใจ เชื้อเชิญให้พวกเขานั่งเป็นกลุ่มสองหรือสามคน เพื่อเลือกหัวข้อเดียวกันและสนทนาสิ่งที่เรียนรู้ร่วมกัน” (จากหน้า ⅶ ของหนังสือเล่มนี้)

อ้างอิง

  1. “Counsel to the Saints and to the World,” Ensign, ก,ค. 1972 หน้า 27

  2. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith (1972), 14

  3. เอเธล สมิธ, ใน ไบรอันท์ เอส. ฮิงค์ลีย์, “Joseph Fielding Smith,” Improvement Era, มิ.ย. 1932, 459

  4. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์ และจอห์น เจ. สตูวาร์ท, The Life of Joseph Fielding Smith, 228

  5. ดักลาส เอ. สมิธ, ใน ดี. อาร์เธอร์ เฮย์คุก, Exemplary Manhood Award, Brigham Young University Speeches of the Year (Apr. 18, 1972), 5

  6. อามิเลีย สมิธ แมคคองกี, “โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ,” Church News, 30 ต.ค. 1993 หน้า 10

  7. อามิเลีย สมิธ แมคคองกี, “Joseph Fielding Smith,” 10

  8. ใน ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์, Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God (1992), 254

  9. In “Message from the First Presidency,” Ensign, ม.ค. 1971, ปกในและหน้า 1

  10. “Our Children—‘The Loveliest Flowers from God’s Own Garden,’” Relief Society Magazine, ม.ค. 1969, 4

  11. ใน Conference Report, ต.ค. 1948 หน้า 152

  12. “Counsel to the Saints and to the World,” 27

  13. “Mothers in Israel,” Relief Society Magazine, ธ.ค. 1970, 886

  14. The Way to Perfection (1931), 251

  15. “A Peculiar People,” Deseret News, หัวข้อข่าวศาสนจักร, 2 เม.ย. 1932, 6; ดู Doctrines of Salvation, เรียบเรียงโดย บรูซ อาร์. แมคคองกี, ฉบับที่ 3 (1954–1956), 2:65–66 ด้วย

  16. ใน Conference Report, เม.ย. 1961 หน้า 49

  17. ใน Conference Report, ต.ค. 1948 หน้า 153

  18. ใน Conference Report, เม.ย. 1959 หน้า 24

  19. The Way to Perfection, 258

  20. ใน “Message from the First Presidency,” Ensign, ม.ค. 1971 หน้า 1

  21. “Our Children—‘The Loveliest Flowers from God’s Own Garden,’” 6

  22. “Our Children—‘The Loveliest Flowers from God’s Own Garden,’” 6–7

  23. Take Heed to Yourselves! (1966), 354

  24. “Counsel to the Saints and to the World,” 27

  25. ใน “Message from the First Presidency,” Ensign, ม.ค. 1971 หน้า 1