คลังค้นคว้า
การพึ่งพาพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยให้ฉันเป็นครูที่ดีขึ้นได้อย่างไร


การพึ่งพาพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยให้ฉันเป็นครูที่ดีขึ้นได้อย่างไร

ในการพยายามสอนพระกิตติคุณ บางครั้งเราอาจประสบกับความรู้สึกไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ แต่เราสามารถดึงความกล้าหาญมาจากคำสัญญาของพระเจ้าได้ว่า “พระคุณ [ของพระองค์] เพียงพอ … [เพื่อ] ทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง” (อีเธอร์ 12:27) เมื่อเรานอบน้อมถ่อมตน ยอมรับความอ่อนแอของเรา และใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงเพิ่มพลังให้เราสอนพระกิตติคุณในลักษณะที่จะทำให้พระองค์พอพระทัย

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

ท่านหาคำตอบอย่างไรเมื่อท่านมีคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณ วิธีศึกษาวิธีใดเคยช่วยท่าน

วิธีศึกษาวิธีใดที่เยาวชนคุ้นเคย มีวิธีศึกษาที่เยาวชนคนหนึ่งสามารถใช้สอนชั้นเรียนหรือไม่

เยเรมีย์ 1:5–9; โมเสส 6:31–34 (ศาสดาพยากรณ์ผู้รู้สึกไม่เหมาะสมแต่ได้รับพลังจากพระเจ้า)

1 โครินธ์ 1:27–31; คพ. 1:19–23 (พระกิตติคุณประกาศโดยคนอ่อนแอและคนธรรมดา)

เจคอบ 4:7; อีเธอร์ 12:23–29 (พระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดมีมากพอจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนอ่อนน้อมถ่อมตน)

แอลมา 17:9–11; 29:9 (เราสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าเพื่อนำผู้อื่นมาหาพระคริสต์)

เดวิด เอ. เบดนาร์, “ในพลังของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, หน้า 94–96

เดวิด เอ็ม. แมคคองกี, “การเรียนและการสอนพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 15–18

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมสอนโดยใช้เวลาตามลำพังในการสวดอ้อนวอน อดอาหาร และแสวงหาการนำทางจากพระบิดาของพระองค์ ท่านจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไรขณะที่ท่านเตรียมสอนเยาวชน

ทำการเชื่อมโยง

ในช่วงแรกของชั้นเรียนทุกครั้ง จงช่วยเยาวชนทำการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ (เช่นการศึกษาส่วนตัว เซมินารี ชั้นเรียนอื่นของศาสนจักร หรือประสบการณ์กับเพื่อนๆ) ท่านจะช่วยให้พวกเขาเห็นความเกี่ยวเนื่องของพระกิตติคุณในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร แนวคิดด้านล่างอาจจะช่วยท่านได้:

  • ขอให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการชดใช้และพวกเขามีคำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนรู้มา

เรียนรู้ด้วยกัน

กิจกรรมแต่ละอย่างด้านล่างนี้จะกระตุ้นเยาวชนให้พึ่งพาพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อช่วยให้พวกเขาเป็นครูที่ดีขึ้น เลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งจะได้ผลดีที่สุดกับชั้นเรียนของท่านตามการนำทางของพระวิญญาณ:

  • ขอให้เยาวชนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขาได้รับงานมอบหมายที่ดูเหมือนยากหรือน่าหนักใจ พวกเขาอาจจะได้รับงานมอบหมายอะไรในอนาคตที่อาจทำให้พวกเขารู้สึกหนักใจ อ่าน 11 ย่อหน้าแรกในคำปราศรัยของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เรื่อง “ในพลังของพระเจ้า” ด้วยกันในชั้นเรียนและขอให้เยาวชนยกมือเมื่อพวกเขาได้ยินหรืออ่านเจอบางอย่างที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือให้กำลังใจพวกเขาเมื่อพวกเขาได้รับงานมอบหมายเช่นนั้นและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้กับชั้นเรียน พวกเขาจะประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้กับโอกาสที่ต้องสอนพระกิตติคุณแก่ผู้อื่นได้อย่างไร ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งท่านได้รับพลังจากพระเจ้าเพื่อทำงานมอบหมายที่ดูเหมือนยากให้สำเร็จ

  • ก่อนชั้นเรียนให้เชิญเยาวชนคนหนึ่งที่เล่นดนตรีเป็นนำเครื่องดนตรีของเขามาชั้นเรียน (หรือให้ดูรูปเครื่องดนตรี) ขอให้เยาวชนสนทนาว่าเขาหรือเธอมั่นใจได้อย่างไรว่าเครื่องดนตรีใช้งานได้ดี เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนอ่าน แอลมา 17:9–11 และอธิบายว่าคนเล่นดนตรีเปรียบเหมือนพระเจ้ากำลังใช้เราเป็นเครื่องมือสอนพระกิตติคุณของพระองค์อย่างไร พวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไรเพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในพระหัตถ์ของพระเจ้า เยาวชนจะทำตามแบบอย่างของคนเหล่านั้นได้อย่างไรเมื่อพวกเขาสอน

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนอ่านคำปราศรัยของเดวิด เอ็ม. แมคคองกีเรื่อง “การเรียนและการสอนพระกิตติคุณ” กระตุ้นพวกเขาให้เขียนบนกระดานเป็นข้อๆ เกี่ยวกับสิ่งที่บราเดอร์แมคคองกีกล่าวว่าสำคัญและไม่สำคัญในการสอนพระกิตติคุณ กระตุ้นพวกเขาให้แบ่งปันว่าเรื่องต่างๆ ที่บราเดอร์แมคคองกีใช้อธิบายประเด็นที่พวกเขาเขียนบนกระดานอย่างไร เชื้อเชิญให้เยาวชนวางแผนวิธีที่พวกเขาสามารถใช้สิ่งที่เรียนรู้จากคำปราศรัยรับเอาพลังของพระเจ้าขณะพวกเขาสอนผู้อื่น

  • ขอให้เยาวชนจินตนาการว่าเพื่อนคนหนึ่งได้รับงานมอบหมายจากอธิการให้สอนชั้นเรียนหรือเป็นผู้พูด และเพื่อนรู้สึกว่าทำไม่ได้และไม่อยากยอมรับงานมอบหมาย เยาวชนจะให้กำลังใจเพื่อนอย่างไร พวกเขาจะใช้พระคัมภีร์ข้อใดช่วยเพื่อน (ดูตัวอย่างข้อพระคัมภีร์ที่เสนอไว้ในโครงร่างนี้) เชื้อเชิญให้พวกเขาแสดงบทบาทสมมติโดยใช้ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ช่วยคนที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว

ขอให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ พวกเขาเข้าใจหรือไม่ว่าพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถช่วยพวกเขาให้เป็นครูที่ดีขึ้นได้อย่างไร พวกเขามีความรู้สึกหรือความประทับใจอะไรบ้าง พวกเขามีคำถามเพิ่มเติมหรือไม่ การใช้เวลามากขึ้นกับหัวข้อนี้เป็นประโยชน์หรือไม่

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการสอน

“ต้องไม่หัวเราะเยาะหรือวิพากษ์วิจารณ์คำถามหรือความคิดเห็นใดเป็นอันขาด แต่แสดงความสุภาพและความรักเมื่อท่านทำการตอบสนองอย่างดีที่สุด เมื่อผู้คนรู้สึกว่าความคิดเห็นของเขามีค่า เขาจะแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้สึก และประจักษ์พยานอย่างเสรีมากขึ้น” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน[1999], หน้า 64)

เชื้อเชิญให้ลงมือทำ

  • ถามเยาวชนว่าพวกเขารู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ กระตุ้นพวกเขาให้ลงมือทำตามความรู้สึกเหล่านี้ หาวิธีที่ท่านจะทำตาม

  • เป็นพยานถึงพลังและความช่วยเหลือที่พระเจ้าเคยประทานแก่ท่านในงานมอบหมายการสอนของท่าน