คลังค้นคว้า
ฉันจะช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร


ฉันจะช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร

คนมากมายในโลกทุกวันนี้ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าหรือมีแนวความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าต่างออกไปมากจากพระลักษณะแท้จริงของพระองค์เพราะเรามีความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ เราจึงสามารถช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจพระลักษณะแท้จริงของพระบิดาบนสวรรค์และความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระองค์ได้

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

ท่านเคยมีประสบการณ์ใดบ้างขณะสอนผู้อื่นหรือรับการสอนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา ท่านคิดว่าเหตุใดประสบการณ์นั้นจะช่วยให้เข้าใจความเชื่อของคนที่ท่านกำลังสอน

เยาวชนมีโอกาสใดอธิบายความเชื่อของตนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาให้คนอื่นๆ ฟัง ท่านจะช่วยพวกเขาให้เตรียมพร้อมรับโอกาสเหล่านี้ได้อย่างไร

ศึกษาข้อพระคัมภีร์เหล่านี้และแหล่งข้อมูลอื่นร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านรู้สึกว่าอะไรจะช่วยเยาวชนที่ท่านสอนมากที่สุด

แอลมา 18:24–40; 22:4–23 (แอมันและแอรันสอนกษัตริย์ชาวเลมันเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า)

แอลมา 30:12–15, 37–53 (คอริฮอร์โต้เถียงกับแอลมาเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า)

“พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ที่รักของเรา,” สั่งสอนกิตติคุณของเรา (2004), หน้า 31–32

พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา,” แน่วแน่ต่อศรัทธา (2004), หน้า 187–190

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักและเข้าพระทัยคนที่พระองค์ทรงสอน พระองค์ทรงหาวิธีพิเศษช่วยคนเหล่านั้นให้เรียนรู้และเติบโต ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับเยาวชนที่ท่านสอน ท่านจะเข้าใจพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร นี่จะส่งผลต่อวิธีที่ท่านสอนพวกเขาอย่างไร

ทำการเชื่อมโยง

ในช่วงไม่กี่นาทีแรกของชั้นเรียนทุกชั้น จงช่วยเยาวชนทำการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ (เช่นการศึกษาส่วนตัว เซมินารี ชั้นเรียนอื่นของศาสนจักร หรือประสบการณ์กับเพื่อนๆ) ท่านจะช่วยให้พวกเขาเห็นความเกี่ยวเนื่องของพระกิตติคุณในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร แนวคิดด้านล่างนี้อาจเป็นประโยชน์:

  • ขอให้เยาวชนแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ พวกเขามีคำถามอะไรบ้าง พวกเขาจะช่วยกันหาคำตอบให้คำถามของพวกเขาได้อย่างไร

  • เชื้อเชิญเยาวชนให้ใช้เวลาประมาณหนึ่งนาทีจดสิ่งที่เราเชื่อเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ (หากจำเป็นให้พวกเขาอ้างถึง “พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ที่รักของเรา” สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า31–32; หรือ “พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา”แน่วแน่ต่อศรัทธา, หน้า 187–190) เชิญพวกเขาสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียน ขอให้เยาวชนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาสนทนาความเชื่อของตนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้ากับคนที่มีความเชื่อต่างออกไป (หรือท่านอาจจะเล่าประสบการณ์ของท่านเอง) ท่านเรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์นั้น

เรียนรู้ด้วยกัน

กิจกรรมแต่ละอย่างด้านล่างนี้จะช่วยให้เยาวชนเรียนรู้ว่าจะอธิบายความเชื่อของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ผู้อื่นอย่างไร เลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งจะได้ผลดีที่สุดกับชั้นเรียนของท่าน ตามการดลใจของพระวิญญาณ:

  • วิเคราะห์แอลมา 30:12–15, 37–53 ในชั้นหรือในกลุ่มเล็ก ขอให้เยาวชนบางคนระบุเหตุผลที่คอริฮอร์ไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า และขอให้เยาวชนที่เหลือมองหาเหตุผลที่แอลมาเชื่อ เยาวชนรู้จักคนที่มีทัศนะคล้ายคอริฮอร์หรือไม่ เชื้อเชิญเยาวชนให้พิจารณาว่าพวกเขาจะช่วยเพื่อนที่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร ใช้เวลาพอสมควรช่วยเยาวชนวางแผนสิ่งที่พวกเขาจะทำในสถานการณ์นี้ พวกเขาจะแบ่งปันประสบการณ์ใดได้บ้าง พวกเขาจะแสดงประจักษ์พยานตามสมควรได้อย่างไร

  • เชื้อเชิญนักเรียนครึ่งห้องให้อ่านแอลมา 18:24–40 และอีกครึ่งห้องอ่าน แอลมา 22:4–23 พวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการสอนจากตัวอย่างของแอมันกับแอรัน แอมันกับแอรันทำอะไรเพื่อช่วยให้ลาโมไนกับบิดาของเขาเข้าใจพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า เหตุใดแอมันกับแอรันจึงเริ่มโดยถามลาโมไนและบิดาของเขาเกี่ยวกับความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ขอให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และสนทนาว่าจะประยุกต์ใช้ได้อย่างไรเมื่อมีโอกาสอธิบายความเชื่อของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้ากับคนอื่นๆ

  • โดยได้รับอนุญาตจากอธิการ ให้เชิญผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นมาชั้นเรียนและแบ่งปันว่าพวกเขาเชื่ออะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าก่อนเข้าร่วมศาสนจักรและการเรียนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อความเชื่อของพวกเขาอย่างไร เชื้อเชิญเยาวชนให้หาข้อพระคัมภีร์ที่สนับสนุนความเข้าใจใหม่ที่ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสได้รับเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์

ขอให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ พวกเขามีความรู้สึกหรือความประทับใจอะไรบ้าง พวกเขาเข้าใจหรือไม่ถึงวิธีช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ พวกเขามีคำถามเพิ่มเติมหรือไม่ การใช้เวลามากขึ้นกับหัวข้อนี้คุ้มค่าหรือไม่

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการสอน

“ตอบสนองต่อคำตอบที่ไม่ถูกต้องด้วยความเคารพและความสุภาพ จงแน่ใจว่าบุคคลนั้นยังคงรู้สึกสบายใจที่จะมีส่วนร่วม ท่านอาจเลือกที่จะถือว่าเป็นความผิดพลาดของท่านเองโดยพูดในลักษณะนี้ ‘ขอโทษครับ ผมคิดว่าคำถามคงไม่ค่อยชัดเจนนัก ผมขอถามอีกครั้งนะครับ” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], หน้า 69)

เชื้อเชิญให้ลงมือทำ

ถามเยาวชนว่าพวกเขารู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ กระตุ้นพวกเขาให้ลงมือทำตามความรู้สึกเหล่านี้ แสวงหาพระวิญญาณขณะที่ท่านพิจารณาวิธีติดตามผลร่วมกับการสวดอ้อนวอน