คลังค้นคว้า
พระคัมภีร์สอนอะไรฉันได้บ้างเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์


พระคัมภีร์สอนอะไรฉันได้บ้างเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์คือเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ โดยช่วยให้เรามาหาพระองค์และรับส่วนการชดใช้ของพระองค์ ขณะที่เราค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างขยันหมั่นเพียร เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดผ่านคำสอน เรื่องเล่า และสัญลักษณ์

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

พระคัมภีร์ข้อใดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์มีความหมายต่อท่าน ท่านพบสัญลักษณ์ใดของพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์ข้อใดได้ช่วยให้ท่านเข้าใจการชดใช้ดีขึ้น

เยาวชนที่ท่านสอนพบพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์อย่างไรท่านจะช่วยให้พวกเขาพบสัญลักษณ์ใดของพระเยซูคริสต์

ศึกษาข้อพระคัมภีร์เหล่านี้และแหล่งข้อมูลอื่นของศาสนจักรร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านรู้สึกว่าต้องแบ่งปันอะไรกับเยาวชน

ปฐมกาล 22:1–14 (การที่อับราฮัมถวายอิสอัคบุตรชายเป็นเครื่องบูชาเป็นอุปมาถึงการเสียสละของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า; ดู เจคอบ 4:5)

2 นีไฟ 11:4; โมเสส 6:63 (สิ่งทั้งปวงที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราสอนเกี่ยวกับพระบุตรของพระองค์)

โมไซยาห์ 13:33–35 (ศาสดาพยากรณ์ทุกท่านเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์)

บอยด์ เค. แพคเกอร์, “เหตุผลเพื่อความหวังของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 6-8

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้พระคัมภีร์สอนและเป็นพยานเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระองค์พระองค์ทรงสอนผู้คนให้ตรึกตรองพระคัมภีร์ด้วยตนเอง ท่านจะใช้พระคัมภีร์ช่วยให้เยาวชนเข้าใจพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์ดีขึ้นได้อย่างไร

วีดิทัศน์: “ใช้พระคัมภีร์”

4:10

ดูเพิ่มเติม

ทำการเชื่อมโยง

ในช่วงแรกของชั้นเรียนทุกครั้ง จงช่วยเยาวชนทำการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ (เช่นการศึกษาส่วนตัว เซมินารี ชั้นเรียนอื่นของศาสนจักร หรือประสบการณ์กับเพื่อนๆ) ท่านจะช่วยให้พวกเขาเห็นความเกี่ยวเนื่องของพระกิตติคุณในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร แนวคิดด้านล่างอาจจะช่วยท่านได้:

  • ติดตามสิ่งที่เยาวชนเรียนรู้ในระหว่างโรงเรียนวันอาทิตย์สัปดาห์ที่แล้ว พวกเขาประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้อย่างไรในระหว่างสัปดาห์

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนแบ่งปันพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่อ่านเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์หรือการชดใช้ของพระองค์

เรียนรู้ด้วยกัน

กิจกรรมแต่ละอย่างด้านล่างจะช่วยให้เยาวชนเรียนรู้วิธีพบพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์ เลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งจะได้ผลกับชั้นเรียนของท่านตามการทรงนำของพระวิญญาณ:

  • ให้ชั้นเรียนอ่านห้าย่อหน้าแรกจากคำพูดของประธาน บอยด์ เค. แพคเกอร์เรื่อง ”เหตุผลเพื่อความหวังของเรา“ เชื้อเชิญสมาชิกชั้นเรียนให้ดูใน คู่มือพระคัมภีร์ ตรงหัวข้อตัวหนาที่เริ่มจาก ”พระเยซูคริสต์“ เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่านพระคัมภีร์สองสามข้อที่ระบุไว้ใต้หัวข้อที่พวกเขาสนใจและแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดและเกี่ยวกับการชดใช้ของพระองค์ ในกิจกรรมนี้ท่านอาจจะศึกษาข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ประธานแพคเกอร์อ้างในคำพูดของท่านด้วย

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนแต่ละคนนำพระคัมภีร์ข้อโปรดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์มาชั้นเรียน ให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนอ้างอิงไว้บนกระดาน และให้ชั้นเรียนอ่าน ขอให้เยาวชนแบ่งปันว่าเหตุใดข้อเหล่านี้จึงมีความหมายต่อพวกเขา ช่วยพวกเขาสร้างห่วงโซ่พระคัมภีร์โดยใช้อ้างอิงเหล่านี้

  • ศึกษาเรื่องหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่งในพระคัมภีร์ที่เป็นอุปมาถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์  หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ให้ดูรูปของเรื่องนั้น (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ) เชื้อเชิญเยาวชนให้ค้นดูว่าเรื่องนั้นหรือเหตุการณ์นั้นเป็นสัญลักษณ์แสดงพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร เปิดโอกาสให้เยาวชนหาพระคัมภีร์เรื่องอื่นที่สอนเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • เชื้อเชิญเยาวชนให้ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ และหารูปเรื่องราวพระคัมภีร์ที่จะใช้สอนเรื่องการชดใช้ได้  ตัวอย่างเช่น  เรื่องเรือของโนอาห์ อาจเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าการชดใช้ให้ความปลอดภัยจากอุทกภัยแห่งบาปอย่างไร กระตุ้นพวกเขาให้อ่านพระคัมภีร์เกี่ยวกับรูปที่พวกเขาหา (อ้างอิงอยู่ต้นเล่ม) และแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการชดใช้

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนอ่าน โมเสส 6:63 และเขียนรายการสิ่งต่างๆ “ในฟ้าสวรรค์” “บนแผ่นดินโลก” และ “ในแผ่นดินโลก” ที่เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ ช่วยพวกเขาใช้คู่มือพระคัมภีร์หาข้อพระคัมภีร์ที่เปรียบพระเยซูคริสต์กับบางสิ่งเหล่านี้ (ตัวอย่างเช่น เปรียบพระองค์กับศิลาใน ฮีลามัน 5:12)

ขอให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้วันนี้ พวกเขาเข้าใจวิธีเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์จากพระคัมภีร์หรือไม่ พวกเขามีความรู้สึกหรือความประทับใจอะไรบ้าง พวกเขามีคำถามเพิ่มเติมหรือไม่ การใช้เวลามากขึ้นกับหัวข้อนี้จะคุ้มค่าหรือไม่

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการสอน

”อย่ากลัวความเงียบ บ่อยครั้งผู้คนต้องการเวลาคิดและตอบคำถามหรือแสดงความรู้สึก ท่านจะหยุดสักครู่หลังจากถามคำถาม หลังจากแบ่งปันประสบการณ์ทางวิญญาณ หรือเมื่อคนหนึ่งกำลังมีอุปสรรคในการแสดงความคิดเห็นของเขาหรือเธอ” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 67)

เชื้อเชิญให้ลงมือทำ

  • แบ่งปันบางสิ่งที่ท่านเรียนรู้เมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนแบ่งปันความประทับใจที่เคยมีในชั้นเรียน พวกเขาจะทำอะไรในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวเพื่อจดจ่อมากขึ้นกับการเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ กระตุ้นพวกเขาให้แบ่งปันสิ่งที่พบในชั้นเรียนครั้งต่อๆ ไป