เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 10: โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:55–65


บทที่ 10

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:55–65

คำนำ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายถึงเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ที่ท่านประสบระหว่างช่วงอายุ 17 ถึง 22 ปี เหตุการณ์เหล่านี้ได้แก่การทำงานเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัวของท่าน อัลวินพี่ชายของท่านสิ้นชีวิต และการแต่งงานกับเอ็มมา เฮล โจเซฟเขียนเช่นกันว่าหลังจากรับคำแนะนำสั่งสอนจากเทพโมโรไนหลายปีแล้ว ท่านได้รับหน้าที่ดูแลแผ่นจารึกและเริ่มแปลพระคัมภีร์มอรมอน มาร์ติน แฮร์ริสนำสำเนาอักขระบางส่วนจากแผ่นจารึกและการแปลของพวกท่านไปให้นักวิชาการในนิวยอร์กดู นักวิชาการเหล่านี้รับรองความน่าเชื่อถือของอักขระและความถูกต้องของการแปล แต่นักวิชาการคนหนึ่งไม่ยอมรับเรื่องราวที่โจเซฟ สมิธได้รับแผ่นจารึก ทำให้คำพยากรณ์จากหนังสือของอิสยาห์เกิดสัมฤทธิผล (ดู อิสยาห์ 29:11–12 และ 2 นีไฟ 27:15–20)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:55–58

โจเซฟ สมิธทำงานให้โจไซยาห์ สโตลและแต่งงานกับเอ็มมา เฮล

หมายเหตุ: ในโจเซฟ สมิธ—ประวัติ ท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวถึงโจไซยาห์ สโตล ในบันทึกประวัติศาสตร์บางบันทึก สโตล ปรากฏเป็น สโตเวลล์ หรือสะกดต่างออกไป

เชิญนักเรียนสองสามคนบอกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตพวกเขาช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขอให้พวกเขาอธิบายว่าเหตุการณ์นี้มีอิทธิพลต่ออุปนิสัยและอนาคตของพวกเขาอย่างไร จากนั้นขอให้นักเรียนบอกเหตุการณ์สำคัญบางอย่างที่พวกเขาคาดว่าจะเกิดขึ้นในชีวิตช่วงห้าปีถัดไป อธิบายว่าในบทเรียนวันนี้พวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในช่วงห้าปีของชีวิตศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ชี้ให้เห็นว่าในเรื่องราวที่บันทึกไว้ใน โจเซฟ สมิธ–ประวัติ 1:55–65 โจเซฟ สมิธอายุระหว่าง 17 ถึง 22 ปี–ใกล้เคียงกับอายุของนักเรียนเซมินารีหลายคน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:55–58 ในใจโดยมองหาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของโจเซฟ สมิธ

  • เกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้างระหว่างช่วงเวลานี้ในชีวิตของโจเซฟ สมิธ (คำคอบของนักเรียนอาจได้แก่ อัลวินพี่ชายของโจเซฟสิ้นชีวิต โจเซฟไปทำงานให้โจไซยาห์ สโตล โจเซฟแต่งงานกับเอ็มมา เฮล)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:59–62

โจเซฟได้รับแผ่นจารึกและเริ่มแปล

นำสิ่งของชิ้นหนึ่งมาจากบ้าน (หรือใช้สิ่งของในห้องเรียนของท่าน) ที่ท่านรู้สึกว่ามีค่ามากและท่านดูแลอย่างดี อธิบายความสำคัญของสิ่งของชิ้นนั้นและเหตุผลที่ท่านดูแลอย่างดี

  • ท่านเคยเห็นคนที่ไม่แยแสหรือไม่ดูแลของมีค่าหรือไม่ เหตุใดบางคนจึงทำเช่นนั้น

อธิบายว่าโจเซฟ สมิธได้รับมอบสิ่งของบางสิ่งที่สำคัญมาก กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรบ้างจากตัวอย่างของโจเซฟเมื่อพวกเขาศึกษา โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:59–62

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:59 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและบอกถึงสิ่งสำคัญที่เทพโมโรไนมอบให้โจเซฟ สมิธ

  • โมโรไนมอบอะไรให้โจเซฟ สมิธ (แผ่นจารึกทองคำ อูริมและทูมมิม และแผ่นทับทรวง อธิบายว่าอูริมและทูมมิมเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ช่วยผู้หยั่งรู้ในงานแปลและในการได้รับการเปิดเผย)

  • โมโรไนมอบหน้าที่รับผิดชอบอะไรให้โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับแผ่นจารึก (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ใช้ความพยายามทั้งหมดของข้าพเจ้าที่จะปกปักรักษาไว้”)

เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเรารับผิดชอบและปกปักรักษาสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เรา พระองค์จะ ไว้บนกระดาน

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับโจเซฟถ้าท่านจะรับผิดชอบในการดูแลแผ่นจารึก

เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกด้านต่างๆ เพื่อเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน ต่อไปนี้เป็นด้านหนึ่งที่พวกเขาจะตอบ: เมื่อเรารับผิดชอบและปกปักรักษาสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เรา พระเจ้าจะประทานความคุ้มครองและความช่วยเหลือ

เพื่อช่วยนักเรียนเปรียบประสบการณ์ของโจเซฟกับสภาวการณ์ของพวกเขาเอง ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • มีตัวอย่างของความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องใดบ้างที่พระเจ้าทรงมอบให้เรา (คำตอบอาจได้แก่ การปฏิบัติต่อร่างกายด้วยความเคารพ พันธสัญญาบัพติศมาและพันธสัญญาพระวิหาร สิทธิอำนาจและหน้าที่ฐานะปุโรหิต การเรียกของศาสนจักร ความรับผิดชอบของเราในการบำรุงเลี้ยงความคิดและวิญญาณ ความรับผิดชอบและความสัมพันธ์ในครอบครัวของเรา และประจักษ์พยานของเรา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:60 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุประโยคที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงทำให้สัญญาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลเมื่อโจเซฟซื่อสัตย์ต่อความไว้วางใจที่ทรงมอบให้ (“แต่โดยปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้า, สิ่งของเหล่านี้จึงยังคงอยู่ในมือข้าพเจ้าโดยปลอดภัย, จนข้าพเจ้าได้ใช้มันทำสิ่งที่ทรงเรียกร้องจากมือข้าพเจ้าได้สำเร็จ”)

เพื่อยกตัวอย่างว่าพระเจ้าประทานความคุ้มครองและความช่วยเหลืออย่างไรขณะที่โจเซฟ สมิธเพียรพยายามปกปักรักษาแผ่นจารึก ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องต่อไปนี้ ก่อนนักเรียนอ่าน ให้อธิบายว่านี่เป็นข้อความที่คัดลอกมาจากเรื่องราวที่ลูซี แม็ค สมิธ มารดาของโจเซฟ สมิธเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากโจเซฟ สมิธได้รับแผ่นจารึกจากโมโรไนที่เนินเขาคาโมราห์ อธิบายด้วยว่าเมื่อโจเซฟ สมิธได้รับแผ่นจารึกจากโมโรไน ตอนแรกท่านนำไปซ่อนไว้ในท่อนไม้เบิร์ชผุๆ ห่างจากบ้านท่านประมาณ 3 ไมล์ มารดาของโจเซฟ สมิธบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อโจเซฟนำเอาแผ่นจารึกออกจากที่ซ่อนและนำกลับบ้านในเวลาต่อมา ดังนี้

ลูซี แมค สมิธ

“เมื่อมาถึง โจเซฟนำแผ่นจารึกออกจากที่ซ่อน ห่อไว้ในเสื้อคลุมผ้าลินินของท่าน หอบไว้ใต้แขนและเริ่มเดินกลับบ้าน

“หลังจากเดินมาได้ไม่ไกล ท่านคิดว่าออกจากถนนและเดินเข้าป่าน่าจะปลอดภัยกว่า หลังออกจากถนนเดินไปได้พอสมควร ท่านมาถึงไม้ใหญ่ที่โค่นด้วยแรงลม ขณะกำลังกระโดดข้ามท่อนซุง ชายคนหนึ่งโผล่มาจากด้านหลังและใช้ปืนตีท่านอย่างแรง โจเซฟหันไปชกเขาจนล้ม แล้วก็วิ่งเต็มฝีเท้า ไปได้ราวครึ่งไมล์ท่านก็ถูกตีอีกครั้งแบบเดียวกับครั้งก่อน ท่านชกชายคนนี้ล้มแบบที่ชกคนก่อนและวิ่งต่ออีกครั้ง ก่อนจะถึงบ้านท่านถูกทำร้ายร่างกายครั้งที่สาม ในการปะทะครั้งสุดท้าย นิ้วหัวแม่มือของท่านเคลื่อน แต่ท่านไม่ทันสังเกตจนเกือบจะถึงบ้านเมื่อท่านทิ้งตัวลงที่มุมรั้วเพื่อพักหายใจ ทันทีที่สามารถเดินต่อได้ ท่านก็ลุกขึ้นเดินจนถึงบ้าน ท่านยังคงพูดไม่ออกเพราะประสบการณ์ที่น่าหวาดกลัวและความเหนื่อยล้าจากการวิ่ง” (ใน ลูซี แมค สมิธ, History of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 108)

  • ท่าน (หรือคนที่ท่านรู้จัก) เคยได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือจากพระเจ้าขณะท่านเพียรพยายามซื่อสัตย์ต่อความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าเมื่อใด

เพื่อช่วยให้นักเรียนใคร่ครวญความปรารถนาจะรักษาความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงมอบให้พวกเขา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“จงสุขุมรอบคอบกับสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่ท่าน นั่นคือความไว้วางใจ …

“แทนที่จะปล่อยปละละเลย ขอให้ชีวิตท่านเป็นชีวิตที่เชื่อฟังมากขึ้นและถูกต้องมากขึ้น ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะคิด รู้สึก แต่งกาย และกระทำในลักษณะที่แสดงถึงความคารวะและความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถานศักดิ์สิทธิ์ และโอกาสศักดิทธ” ิ์์สิ(“A Sense of the Sacred” [Church Educational System fireside for young adults, Nov. 7, 2004], 9, 10; speeches.byu.edu)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:61–62 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาตัวอย่างที่พระเจ้าประทานพรแก่โจเซฟกับเอ็มมา สมิธสำหรับความซื่อสัตย์ของพวกท่านในการรับผิดชอบต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

  • พระเจ้าประทานพรโจเซฟและภรรยา ณ เวลานี้อย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพระเจ้าทรงช่วยให้โจเซฟบรรลุผลตามพระประสงค์ของพระองค์ผ่านความช่วยเหลือของมาร์ติน แฮร์ริส)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ ข้อ 63–65

มาร์ติน แฮร์ริสนำอักขระจากแผ่นจารึกไปให้นักวิชาการในนิวยอร์กดู

ถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำให้ ให้นักเรียนดู ภาพประกอบซึ่งแสดงตัวอย่างอักขระที่เขียนไว้บนแผ่นจารึกทองคำ คริสต์ศักราช 1828 โจเซฟ สมิธคัดลอกอักขระบางส่วนลงบนกระดาษแผ่นหนึ่ง มาร์ติน แฮร์ริสถามว่าเขาจะนำสำเนาอักขระบางส่วนจากแผ่นจารึกไปให้นักวิชาการในนิวยอร์กผู้มีความรู้เรื่องภาษาและอารยธรรมโบราณดูได้หรือไม่ (ขณะให้ดูภาพ ท่านอาจต้องการกล่าวว่ามีการทำสำเนาอักขระหลายชุด ไม่มีใครทราบว่านี่ใช่สำเนาจริงที่มาร์ติน แฮร์ริสนำไปให้นักวิชาการดูหรือไม่)

อักขระจากแผ่นจารึก

เขียน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:63–65 และ อิสยาห์ 29:10–12 ไว้บนกระดาน อธิบายว่าข้ออ้างอิงจากโจเซฟ สมิธ—ประวัติพูดถึงมาร์ติน แฮร์ริสพบกับนักวิชาการ ข้ออ้างอิงจากอิสยาห์ประกอบด้วยคำพยากรณ์เกี่ยวกับยุคสุดท้าย เชื้อเชิญให้นักเรียนทำงานเป็นคู่และผลัดกันอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ให้กันฟัง แนะนำให้พวกเขาอ่านข้อโจเซฟ สมิธ—ประวัติก่อน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาอ่านหัวบทของ อิสยาห์ 29 ก่อนที่พวกเขาจะอ่านข้ออิสยาห์ ขณะพวกเขาอ่านข้อต่างๆ ใน อิสยาห์ 29ให้พวกเขามองหาความคล้ายคลึงกับเรื่องราวของมาร์ติน แฮร์ริส หลังจากนักเรียนอ่านจบและสนทนาข้อความทั้งสองตอนแล้ว ให้ถามดังนี้

  • ข้อเหล่านี้สอนความจริงอะไรเกี่ยวกับความรู้ล่วงหน้าของพระเจ้าและคำพยากรณ์ของผู้รับใช้ของพระองค์ (ท่านอาจต้องการกล่าวว่าเมื่อมาร์ตินนำอักขระจากแผ่นจารึกไปให้นักวิชาการในนิวยอร์กดู เขาช่วยทำให้คำพยากรณ์ใน อิสยาห์ 29:11–12เกิดสัมฤทธิผล)

ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกันแต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: คำพยากรณ์ของผู้รับใช้ของพระเจ้าจะเกิดขึ้นจริง ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้บนกระดาน และอาจเสนอแนะให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้างๆ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:65 ด้วย ถามพวกเขาว่าพวกเขานึก ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ที่สอนความจริงเดียวกันนี้ออกหรือไม่ (ดูตัวอย่างใน คพ. 1:37–38 และ อาโมส 3:7 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียนข้ออ้างอิงเหล่านี้ไว้ข้างๆ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:65

  • สัมฤทธิผลของคำสัญญาจากพระเจ้าหรือคำกล่าวของศาสดาพยากรณ์เสริมสร้างศรัทธาของท่านอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสองสามประโยคลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาโดยสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในบทเรียนวันนี้และเหตุใดจึงสำคัญต่อพวกเขา เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสอธิบายและเป็นพยานถึงความจริงที่พวกเขาเรียนรู้ ให้เชิญสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนกับชั้นเรียน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:56 คำแนะนำสุดท้ายของอัลวิน สมิธต่อโจเซฟ สมิธ

ลูซี แม็ค สมิธรายงานว่าก่อนอัลวิน สมิธจะสิ้นใจ เขาพูดกับโจเซฟน้องชายดังนี้

“พี่อยากให้เจ้าเป็นคนดีและทำทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจของเจ้าเพื่อให้ได้บันทึกมา จงซื่อสัตย์ในการรับคำแนะนำและในการรักษาพระบัญญัติทุกข้อที่พระองค์ประทานแก่เจ้า อัลวินพี่ชายเจ้าต้องจากเจ้าไป แต่จงจำแบบอย่างที่เขาวางไว้ให้เจ้า และวางแบบอย่างเดียวกันให้เด็กๆ ที่อายุน้อยกว่าเจ้า จงอ่อนโยนต่อพ่อและแม่เสมอ” (ลูซี แม็ค สม, ิธHistory of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 87)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:56 “ด้วยเหตุนี้จึงมีเรื่องราวแพร่ออกไปมากเกี่ยวกับการเป็นนักขุดเงินของข้าพเจ้า”

ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการฟื้นฟู นักวิจารณ์โจมตีชื่อเสียงของโจเซฟ สมิธเพราะท่านได้รับว่าจ้างแต่เยาว์วัยให้ขุดหาเงิน นักวิจารณ์ถือว่าความพยายามของท่านจัดอยู่ในจำพวก “ขุดเงิน” หรือ “หาสมบัติ” เพื่อพยายามทำให้ท่านเสื่อมเสียชื่อเสียง โจเซฟ สมิธเติบใหญ่ในสมัยและวัฒนธรรมที่การหาสมบัติหรือขุดทองและเงินที่ฝังไว้เป็นเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไป ในประวัติของท่าน โจเซฟ สมิธอธิบายว่าท่านและครอบครัวได้รับว่าจ้างให้ขุดหาแร่เงิน (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:56)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:59–62 แปลโดยของประทานและอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า

บางคนถามว่า เรามีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีแปลพระคัมภีร์มอรมอนหรือไม่ เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำตอบดังนี้

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“คนจำนวนมากที่อ่านพระคัมภีร์มอรมอนมีความปรารถนาอันเข้าใจได้ที่จะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการออกมาของพระคัมภีร์ดังกล่าว รวมทั้งขั้นตอนจริงๆ ของการแปล ไฮรัม สมิธที่ซื่อสัตย์และภักดีก็อยากรู้เช่นกัน ขณะซักถามศาสดาพยากรณ์โจเซฟบอกไฮรัมว่า‘ไม่ต้องบอกรายละเอียดทั้งหมดต่อชาวโลกเกี่ยวกับการมาปรากฏของพระคัมภีร์มอรมอน’และ “ไม่สมควรที่เขาจะเล่าเรื่องเหล่านี้’ (History of theChurch, 1:220) ดังนั้นสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการมาปรากฏของพระคัมภีร์มอรมอนจึงมากพอแล้วแต่ไม่ครอบคลุมทุกด้าน …

“ไม่ว่ารายละเอียดของขั้นตอนเป็นอย่างไร แต่นั่นเรียกร้องความพยายามอย่างจริงจังเป็นส่วนตัวของโจเซฟควบคู่กับความช่วยเหลือของเครื่องมือการเปิดเผย ขั้นตอนอาจเปลี่ยนไปเมื่อความสามารถของโจเซฟเพิ่มขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับอูริมและทูมมิมแต่งานแปลในระยะหลังของท่านศาสดาพยากรณ์อาจจะอาศัยเครื่องมือเหล่านี้น้อยลง เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า โจเซฟ สมิธบอกเขาว่าท่านใช้อูริมและทูมมิมเมื่อไม่มีประสบการณ์ในการแปลแต่ต่อมาท่านไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งกรณีนี้คือเมื่อโจเซฟแปลพระคัมภีร์ไบเบิลหลายข้อ (ดู Latter-day Saints’ Millennial Star, 11 Aug. 1874, 498–99) …

“เหตุใดเราจึงไม่มีการเปิดเผยมากขึ้นเกี่ยวกับขั้นตอนการแปลพระคัมภีร์มอรมอน บางทีเหตุที่ไม่เปิดเผยขั้นตอนเต็มรูปแบบเพราะเรายังไม่พร้อมจะเข้าใจ แม้จะเปิดเผยให้รู้ก็ตาม บางทีพระเจ้าอาจจะทรงต้องการให้ความเชื่อของเราในพระคัมภีร์มอรมอนมีพื้นฐานอยู่บนศรัทธา แม้พระคัมภีร์เล่มนี้จะมีหลักฐานอยู่ในตัวก็ตาม อย่างไรก็ตาม พระคริสต์ทรงบัญชามอรมอนผู้กำลังทบทวนคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในหมู่ชาวนีไฟว่าอย่าบันทึกทั้งหมดไว้บนแผ่นจารึกเพราะ ‘เราจะทดลองศรัทธาผู้คนของเรา’ (3 นีไฟ 26:11) บางทีรายละเอียดของการแปลอาจถูกปิดไว้เพราะตั้งใจจะให้เราตั้งใจศึกษาเนื้อหาของหนังสือแทนที่จะกังวลมากเกินเหตุกับขั้นตอนที่เราได้รับหนังสือนี้” (“By the Gift and Power of God,” Ensign, Jan. 1997, 39, 41)

ถึงแม้เราไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดของการแปลพระคัมภีร์มอรมอน แต่เรารู้ว่าแปล “โดยของประทานและอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 135:3) และส่วนที่แปลเป็นความจริง (ดู คพ. 17:6)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:59–62 “โดยใช้อูริมและทูมมิมข้าพเจ้าแปล”

อูริมและทูมมิมเป็น “เครื่องมือที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้ช่วยมนุษย์ให้ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้าและแปลภาษาต่างๆ” (Bible Dictionary, “Urim and Thummim). โจเซฟ สมิธใช้อูริมและทูมมิมช่วยแปลพระคัมภีร์มอรมอน นอกจากอูริมและทูมมิมแล้ว ท่านศาสดาพยากรณ์ยังใช้ศิลาผู้หยั่งรู้ในขั้นตอนการแปลด้วย

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงขั้นตอนการแปล การใช้อูริมและทูมมิมและศิลาผู้หยั่งรู้ของโจเซฟดังนี้

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟรู้ขั้นตอนทั้งหมดคนเดียวเท่านั้น และท่านเจตนาจะไม่พูดถึงรายละเอียด เราสังเกตคำพูดของเดวิด วิตเมอร์, โจเซฟ ไนท์, และมาร์ติน แฮร์ริสแต่ไม่ถือว่าสำคัญมาก พวกท่านเป็นนักสังเกตการณ์ ไม่ใช่นักแปล เดวิด วิตเมอร์บอกว่าเมื่อท่านศาสดาพยากรณ์ใช้เครื่องมือที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ช่วยท่าน ‘รูปอักษรจะปรากฏ และการแปลในภาษาอังกฤษจะปรากฏด้วย … เป็นตัวอักษรสว่างจ้า’ จากนั้นโจเซฟจะอ่านคำเหล่านั้นให้ออลิเวอร์ฟัง (อ้างใน James H. Hart, “About the Book of Mormon,” Deseret Evening News, 25 Mar. 1884, 2) มาร์ติน แฮร์ริสเล่าเรื่องศิลาผู้หยั่งรู้ว่า ‘ประโยคจะปรากฏ ท่านศาสดาพยากรณ์จะอ่าน และมาร์ตินจะเขียน’ (อ้างใน Edward Stevenson, “One of the Three Witnesses: Incidents in the Life of Martin Harris,” Latter-day Saints’ Millennial Star, 6 Feb. 1882, 86–87) โจเซฟ ไนท์ตั้งข้อสังเกตคล้ายกัน (ดู Dean Jessee, “Joseph Knight’s Recollection of Early Mormon History,” BYU Studies 17 [Autumn 1976]: 35)

“มีรายงานว่าออลิเวอร์ คาวเดอรีให้การยืนยันในศาลว่าอูริมและทูมมิมทำให้โจเซฟสามารถ ‘อ่านตัวอักษรอียิปต์ปฏิรูปซึ่งจารึกบนแผ่นจารึกออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้’ (“Mormonites,” Evangelical Magazine and Gospel Advocate, 9 Apr. 1831) ถ้ารายงานเหล่านี้ถูกต้องแสดงว่าขั้นตอนบ่งชี้ว่าพระผู้เป็นเจ้าประทาน ‘การมองเห็นและพลังให้แปล’ (คพ. 3:12)

“ถ้าเครื่องมือเหล่านี้จากพระเจ้าทำให้ท่านศาสดาพยากรณ์มองเห็นคำโบราณถอดความเป็นภาษาอังกฤษ แล้วบอกให้เขียนตาม ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์อักขระบนแผ่นจารึกอยู่ตลอดเวลา—ขั้นตอนการแปลปกติคือย้อนกลับไปมาระหว่างการไตร่ตรองเนื้อความสมัยโบราณกับการถอดความเป็นภาษาสมัยใหม่

“เห็นชัดว่าขั้นตอนการเปิดเผยไม่ได้เรียกร้องให้ท่านศาสดาพยากรณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณ …

“ไม่ว่ารายละเอียดของขั้นตอนเป็นอย่างไร แต่นั่นเรียกร้องความพยายามอย่างจริงจังเป็นส่วนตัวของโจเซฟควบคู่กับความช่วยเหลือของเครื่องมือการเปิดเผย ขั้นตอนอาจเปลี่ยนไปเมื่อความสามารถของโจเซฟเพิ่มขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับอูริมและทูมมิมแต่งานแปลในระยะหลังของท่านศาสดาพยากรณ์อาจจะอาศัยเครื่องมือเหล่านี้น้อยลง เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า โจเซฟ สมิธบอกเขาว่าท่านใช้อูริมและทูมมิมเมื่อท่านด้อยประสบการณ์ในการแปลแต่ต่อมาท่านไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งกรณีนี้คือเมื่อโจเซฟแปลพระคัมภีร์ไบเบิลหลายข้อ (ดู Latter-day Saints’ Millennial Star, 11 Aug. 1874, 498–99)” (By the Gift and Power of God,” Ensign, Jan. 1997, 39)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1: 63–65 ใครคือนักวิชาการที่มาร์ติน แฮร์ริสไปพบปะสนทนาด้วย

มาร์ติน แฮร์ริสไปหานักวิชาการอย่างน้อยสามคนผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นนักภาษาศาสตร์มากความสามารถ ในออลบานี รัฐนิวยอร์ก เขาพูดคุยกับลูเธอร์ เบรดิช นักการทูต รัฐบุรุษ นักเดินทางท่องโลก และนักศึกษาภาษา ในนิวยอร์กซิตีเขาไปพบปะสนทนากับ ดร. ซามูเอล มิทเชลล์ รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแพทย์รัทเจอร์ส เขาไปหาชายคนหนึ่งที่รู้หลายภาษารวมทั้งภาษาฮีบรูและบาบิโลเนียเช่นกัน ชายคนนี้คือศาสตราจารย์ชาร์ลส์ แอนธันจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กซิตีผู้เป็นหนึ่งในนักวิชาการชั้นแนวหน้าสมัยนั้น ช่วงที่มาร์ติน แฮร์ริสไปพบปะสนทนากับชาร์ลส์ แอนธัน ท่านเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาษากรีกและลาติน เขารู้ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน กรีก และลาติน หนังสือในห้องสมุดของเขาเป็นหลักฐานยืนยันว่าเขารอบรู้เรื่องการค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับภาษาอียิปต์ รวมทั้งงานช่วงแรกของช็องปอลียงด้วย