บทที่ 55
หลักคำสอนและพันธสัญญา 47–48
คำนำ
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1831 เกือบหนึ่งปีหลังจากจัดตั้งศาสนจักร ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกเป็น ภาค 47 และ ภาค 48 ของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ก่อนหน้านี้ ออลิเวอร์ คาวเดอรีทำหน้าที่เป็นผู้เขียนประวัติและผู้ทำบันทึกให้ศาสนจักร ในบทบาทนี้ เขาจดบันทึกการเปิดเผยที่ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับ อย่างไรก็ดี ออลิเวอร์ คาวเดอรีต้องไปทำงานเผยแผ่ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1830 และด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถทำหน้าที่ผู้เขียนประวัติและผู้ทำบันทึกได้อีกต่อไป ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 47พระเจ้าทรงเรียกจอห์น วิตเมอร์มาแทนออลิเวอร์ในตำแหน่งนี้ ระหว่างนี้ วิสุทธิชนในโอไฮโอแสวงหาการนำทางเช่นกันว่าจะช่วยสมาชิกศาสนจักรที่กำลังอพยพจากนิวยอร์กอย่างไร ในการเปิดเผยที่เวลานี้รวมอยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 48 พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนแบ่งที่ดินให้คนขัดสนและเตรียมวางรากฐานของไซอัน
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 47
พระเจ้าทรงกำหนดให้จอห์น วิตเมอร์บันทึกประวัติของศาสนจักร
ขอให้นักเรียนนึกถึงประสบการณ์สำคัญๆ ทางวิญญาณที่พวกเขาเคยมีและรู้สึกว่าน่าจดจำ (ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจนึกถึงเหตุการณ์ เช่น การอุทิศพระวิหารหรือการประชุมของศาสนจักร หรือพวกเขาอาจนึกถึงเวลาที่พวกเขาได้รับคำตอบการสวดอ้อนวอนหรือรู้สึกถึงการประทับของพระวิญญาณบริสุทธิ์) เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา ถามคำถามต่อไปนี้กับนักเรียนแต่ละคนเหล่านี้
-
เหตุใดประสบการณ์นี้จึงมีความหมายต่อท่าน
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการจดจำประสบการณ์นี้จึงสำคัญ
-
บันทึกของประสบการณ์นี้จะเป็นพรแก่ลูกหลานของท่านได้อย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 47 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าทรงเรียกจอห์น วิตเมอร์ให้ทำอะไร จากนั้นให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 47:1–3 ในใจและบอกรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียกของจอห์น วิตเมอร์ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้ (ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนว่าในการเปิดเผยครั้งก่อน พระเจ้าตรัสว่า “จะต้องมีการเขียนบันทึกในบรรดาพวกเจ้า” [คพ. 21:1] อธิบายว่าในศาสนจักรทุกวันนี้ ฝ่ายประธานสูงสุดเรียกผู้เขียนประวัติศาสนจักรและทำบันทึก [ปกติเรียกว่าผู้เขียนประวัติศาสนจักร] และเสนอชื่อเขาเพื่อออกเสียงสนับสนุน)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการบันทึกประวัติของศาสนจักรจึงสำคัญ
-
เรื่องราวจากประวัติศาสนจักรที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านเป็นพิเศษคือเรื่องอะไรบ้าง
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์มาร์ลิน เค. เจนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบผู้รับใช้เป็นผู้เขียนประวัติศาสนจักรตั้งแต่ ค.ศ. 2005 ถึง ค.ศ. 2012
“มีเรื่องราวสำคัญอีกหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ของเราที่ควรบอกกล่าวและสอนที่โบสถ์และที่บ้าน บทเรียนเกี่ยวกับเคิร์ทแลนด์ การทดลองในมิสซูรี ชัยชนะและการขับไล่วิสุทธิชนออกจากนอวูในที่สุด ตลอดจนการเดินทางสู่ตะวันตกของผู้บุกเบิกล้วนเป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายในทุกประเทศและทุกภาษา แต่มีเรื่องราวน่าประทับใจเท่ากันเกี่ยวกับการเติบโตและความเจริญก้าวหน้าของศาสนจักร และอิทธิพลของพระกิตติคุณต่อชีวิตสมาชิกธรรมดาๆ ในทุกประเทศซึ่งพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูไปถึง เรื่องเหล่านี้ต้องมีการบันทึกและเก็บรักษาไว้ด้วย
“… เรื่องราวสำคัญๆ มากมายของศาสนจักรมีอยู่ในประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัว นี่คือส่วนหนึ่งของมรดกครอบครัวและของเราแต่ละคน” (“จะมีการเก็บรักษาบันทึกในบรรดาพวกเจ้า,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2007, 29)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวจึงสำคัญ
กล่าวถึงประสบการณ์ที่นักเรียนนึกถึงในช่วงต้นบทเรียน ขอให้พวกเขาสมมติว่าลูกหลานของพวกเขากำลังอ่านเรื่องราวส่วนตัวเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนแต่ละคนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้
-
ท่านจะเน้นประสบการณ์ส่วนใด ท่านต้องการให้ครอบครัวท่านรู้สึกและรู้สิ่งใดอันเนื่องจากการอ่านเรื่องราวของท่าน
อธิบายว่าหลักธรรมที่จอห์น วิตเมอร์ทำตามในฐานะผู้เขียนประวัติศาสนจักรและผู้ทำบันทึกสามารถประยุกต์ใช้กับประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวของเราได้เช่นกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 47:4 ในใจเพื่อเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงสัญญาอะไรหากจอห์น วิตเมอร์จะซื่อสัตย์ในการทำงานของเขา
-
พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับจอห์น วิตเมอร์ (พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระผู้ปลอบโยน—พระวิญญาณบริสุทธิ์—จะทรงช่วยเขาขณะพยายามเขียนประวัติศาสนจักร)
-
เราจะเชื่อมโยงสิ่งนี้กับความพยายามจัดเก็บประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวได้อย่างไร (ช่วยให้นักเรียนรับรู้หลักธรรมต่อไปนี้: หากเราซื่อสัตย์ในความพยายามจัดเก็บประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัว พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยเรา ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
-
พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยบุคคลหนึ่งอย่างไรขณะที่เขาจัดเก็บประวัติส่วนตัวหรือประวัติครอบครัว
ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ จงช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถทำให้เราระลึกถึงสิ่งต่างๆ (ดู ยอห์น 14:26) ทรงช่วยเราเขียนเหตุการณ์และสถานการณ์ในลักษณะที่จะเป็นพรแก่สมาชิกครอบครัวและคนอื่นๆ
กระตุ้นให้นักเรียนทูลขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะพวกเขาจัดเก็บประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัว
หลักคำสอนและพันธสัญญา 48
พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนในโอไฮโอช่วยคนที่มาจากนิวยอร์ก
ขอให้นักเรียนสมมติว่าวิสุทธิชนในพื้นที่ห่างไกลต้องอพยพออกจากบ้านของพวกเขา ผู้นำศาสนจักรขอให้ครอบครัวของนักเรียนจัดหาอาหารและที่พักให้บางครอบครัวเหล่านี้เป็นเวลาหลายเดือน
-
ท่านและครอบครัวอาจจะมีคำถามและข้อกังวลอะไรเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว
-
ท่านคิดว่าคนที่ย้ายมาอยู่บ้านท่านจะมีความรู้สึกและข้อกังวลอะไรบ้าง
เชื้อเชิญให้นักเรียนเปิดดูแผนที่ 3 (“เขตนิวยอร์ก เพนน์ซิลเวเนีย และโอไฮโอของสหรัฐอเมริกา”) ในหมวดแผนที่ประวัติศาสนจักรในพระคัมภีร์ของท่าน ขอให้พวกเขาหาเมืองเฟเยทท์ รัฐนิวยอร์ก และเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ และดูระยะทางโดยประมาณระหว่างสองเมืองนี้ (ราว 250 ไมล์ หรือ 400 กิโลเมตร) เตือนนักเรียนว่าในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1830 พระเจ้าทรงบัญชาวิสุทธิชนในรัฐนิวยอร์กให้ย้ายไปรัฐโอไฮโอ (ดู คพ. 37:3)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 48:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาว่าพระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนในโอไฮโอทำอะไรเพื่อสมาชิกศาสนจักรที่กำลังย้ายมา จากนั้นขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้
-
พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนในโอไฮโอทำอะไร (พระองค์ทรงบัญชาให้ผู้มีที่ดินแบ่งที่ดินให้วิสุทธิชนที่กำลังย้ายมา) อะไรคือหลักธรรมที่เราเรียนรู้ได้จากพระบัญชานี้ (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายแบ่งปันสิ่งที่พวกเขามีให้คนตกทุกข์ได้ยาก อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าชี้ให้เห็นว่าใช่ว่าวิสุทธิชนทุกคนในโอไฮโอมีที่ดินแบ่งให้คนอื่นและสมาชิกบางคนจากนิวยอร์กต้องซื้อที่ดินของพวกเขา)
-
มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถแบ่งปันสิ่งที่มีให้กับผู้อื่น
ขอให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขาเห็นผู้คนแบ่งปันให้คนตกทุกข์ได้ยาก ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาพูดถึงเวลาที่พวกเขาได้ประโยชน์จากความเอื้อเฟื้อและการรับใช้ของผู้อื่น
เพื่อยกตัวอย่างของการช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสันเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ท่านเคยมีกับชั้นเรียนปฐมวัยสมัยเด็ก
“เราทำโครงการเก็บเงินเหรียญไว้จัดงานเลี้ยงใหญ่ในวันคริสต์มาส ซิสเตอร์เกิร์ชจดบันทึกความก้าวหน้าของเราอย่างละเอียด ตามประสาเด็กผู้ชายที่เจริญอาหาร เราเปลี่ยนยอดเงินทั้งหมดในความคิดของเราออกมาเป็นเค้ก คุกกี้ ขนมพาย และไอศกรีม งานนี้จะต้องสนุกมากแน่นอน ไม่เคยมีครูคนใดของเราเสนอให้จัดงานรื่นเริงแบบนี้มาก่อน
“หลายเดือนของฤดูร้อนผ่านไปสู่ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ผลิเปลี่ยนเป็นฤดูหนาว เราบรรลุเป้าหมายงานเลี้ยงของเรา ชั้นเรียนใหญ่ขึ้น วิญญาณดีมีอยู่ทั่วไป
“พวกเราจะไม่ลืมเช้าที่หม่นมัววันนั้นเมื่อครูที่รักของเราประกาศให้เราทราบว่าคุณแม่ของเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งสิ้นชีวิต เรานึกถึงคุณแม่ของพวกเราและพวกท่านมีความหมายต่อพวกเรามาก เรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งกับบิลลี เดเวนพอร์ทในการสูญเสียครั้งใหญ่ของเขา
“บทเรียนวันอาทิตย์นี้มาจากหนังสือ กิจการของอัครทูต บทที่ 20 ข้อ 35กล่าวว่า ‘ระลึกถึงพระวจนะของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าตามที่พระองค์ตรัสว่า การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ’ ตอนท้ายของการนำเสนอบทเรียนที่เตรียมมาอย่างดี ลูซี เกิร์ชแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวบิลลี ช่วงนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและเงินหายาก ด้วยดวงตาที่เป็นประกายเธอถามว่า ‘พวกหนูจะทำตามคำสอนนี้ของพระเจ้าของเราอย่างไร พวกหนูคิดอย่างไรถ้าเราทั้งชั้นจะนำเงินจัดเลี้ยงของเราไปให้ครอบครัวเดเวนพอร์ทเพื่อแสดงความรักของเรา’ การตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ เรานับทุกเหรียญอย่างระมัดระวังแล้วใส่เงินทั้งหมดไว้ในซองใหญ่ เราซื้อการ์ดสวยใบหนึ่งและเขียนชื่อของเราไว้บนนั้น
“การกระทำอันเรียบง่ายของความเอื้อเฟื้อเชื่อมเราเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน” (“อิทธิพลส่วนตัวของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 26)
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้ ความเอื้อเฟื้อและการรับใช้จะเป็นพรแก่ชีวิตผู้ให้และผู้รับได้อย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาเคยช่วย (หรือเห็นคนอื่นช่วย) คนตกทุกข์ได้ยาก กระตุ้นให้นักเรียนนึกถึงวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถช่วยคนบางคนในสัปดาห์ถัดไป
สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 48:4–6 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงต้องการให้วิสุทธิชนเตรียมซื้อที่ดินเมื่อพระองค์จะทรงเปิดเผยที่ตั้งของเมืองไซอัน หรือเยรูซาเล็มใหม่ พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนออมเงินทั้งหมดที่ออมได้เพื่อเตรียมวางรากฐานของเมืองนั้น (ดู คพ. 48:4–6) บอกนักเรียนว่าพวกเขาจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความพยายามสถาปนาเมืองไซอันของวิสุทธิชนในบทต่อๆ ไป
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
หลักคำสอนและพันธสัญญา 47:1 “บันทึกประวัติสม่ำเสมอ”
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธพูดถึงผลของการไม่บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสนจักรของเราดังนี้
“ความเป็นจริงที่ข้าพเจ้ามีอยู่เวลานี้คือตัดสินใจทุกครั้งในเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับหลักคำสอนและหน้าที่ตั้งแต่เริ่มต้นงานนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ยอมแลกกับเงินก้อนใด แต่เราละเลยไม่สนใจจะจดบันทึกเรื่องเช่นนั้น โดยอาจจะคิดว่ามันจะไม่เกิดประโยชน์ต่อเราหลังจากนั้น ซึ่งถ้าเรามีบันทึกเหล่านั้นตอนนี้ เราคงตัดสินหลักคำสอนที่นำมาถกเถียงกันได้เกือบทุกประเด็น แต่นี่กลับถูกละเลย และเวลานี้เราไม่สามารถเป็นพยานต่อศาสนจักรและต่อโลกได้ถึงปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่และน่าชื่นชมยินดีซึ่งแสดงให้เราเห็นมาแล้วด้วยพลังและสิทธิอำนาจที่เราน่าจะเป็นพยานได้ถ้าเวลานี้เราพิมพ์เผยแพร่เรื่องเหล่านี้” (in History of the Church, 2:198–99) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 139)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 47 การเรียกของผู้เขียนประวัติศาสนจักรและผู้บันทึกคืออะไร
เอ็ลเดอร์มาร์ลิน เค. เจนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบที่รับใช้เป็นผู้เขียนประวัติศาสนจักรและผู้บันทึกตั้งแต่ ค.ศ. 2005 ถึง ค.ศ. 2012 อธิบายว่า
“งานของผู้บันทึกและผู้เขียนประวัติศาสนจักรส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการจดบันทึก รวมถึงการรวบรวมและเก็บรักษาแหล่งข้อมูลประวัติศาสนจักร การบันทึกศาสนพิธี และการรวบรวมรายงานการประชุม พระคัมภีร์แนะนำเช่นกันว่ามีความรับผิดชอบที่ต้องแน่ใจว่าเราใช้บันทึกเพื่อ ‘ประโยชน์ของศาสนจักรและเพื่ออนุชนรุ่นหลัง’ (คพ. 69:8)
“บทบาทของผู้เขียนประวัติและผู้บันทึกจะเสริมกันและมักแยกแยะไม่ออก ข้าพเจ้าคิดว่านี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมในสมัยเริ่มแรกของศาสนจักรบางครั้งจึงแต่งตั้งผู้บันทึกและบางครั้งจึงแต่งตั้งผู้เขียนประวัติ และเหตุใดสมัยนี้บทบาททั้งสองจึงรวมอยู่ในการเรียกเดียว” (“จะมีการเก็บรักษาบันทึกในบรรดาพวกเจ้า,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2007, 26)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 48:6 “ฝ่ายประธานและอธิการของศาสนจักร”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 48:6 มีวลี “ฝ่ายประธานและอธิการของศาสนจักร” อย่างไรก็ดี เมื่อประทานการเปิดเผยนี้ยังไม่มีการจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุด ในต้นฉบับแรกสุดของการเปิดเผยนี้มีวลี “อธิการและเอ็ลเดอร์ของศาสนจักร” (ดู Documents, Volume 1: July 1828–June 1831, vol. 1 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], 288) การใช้คำเปลี่ยนไปหลังจากจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเมื่อศาสนจักรเติบโตและเมื่อขยายองค์การฐานะปุโรหิตตามการเปิดเผย