เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 41: หลักคำสอนและพันธสัญญา 36–37


บทที่ 41

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36–37

คำนำ

วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1830 สองวันก่อนเอดเวิร์ด พาร์ทริจรับบัพติศมา พระเจ้าประทานการเปิดเผยแก่เขาผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ในการเปิดเผยนี้ ซึ่งปัจจุบันบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36 พระเจ้าทรงให้อภัยบาปของเอดเวิร์ด พาร์ทริจและทรงเรียกเขาให้สั่งสอนพระกิตติคุณ พระเจ้าทรงมีพระบัญญัติให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทุกคนสั่งสอนพระกิตติคุณเช่นกัน ไม่นานหลังจากได้รับการเปิดเผยนี้ โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 37ซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนออกจากนิวยอร์กไปรวมกันที่โอไฮโอ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:1–3

พระเจ้าทรงให้อภัยบาปของเอดเวิร์ด พาร์ทริจและทรงเรียกเขาให้สั่งสอนพระกิตติคุณ

นำกระเป๋าเดินทาง (หรือเป้สะพายหลัง) บรรจุสิ่งของที่ผู้สอนศาสนาต้องใช้เมื่อรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลามาชั้นเรียน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจใส่พระคัมภีร์ เสื้อเชิ้ตสีขาว เน็กไท รองเท้าหุ้มส้น และหนังสือ สั่งสอนกิตติคุณของเราไว้ในกระเป๋า ให้นักเรียนดูกระเป๋าเดินทางที่ปิดไว้และเชื้อเชิญให้พวกเขานึกภาพสิ่งของที่เก็บใส่กระเป๋าให้ผู้สอนศาสนาซึ่งจะไปรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา ถามว่าพวกเขาคาดว่าจะมีอะไรอยู่ในกระเป๋าเดินทาง จากนั้นให้เปิดกระเป๋าดูสิ่งของในนั้น (หรือท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนทำงานเป็นคู่เพื่อเขียนหรือวาดรูปสิ่งของที่ผู้สอนศาสนาต้องใช้ในงานเผยแผ่ของพวกเขา)

อธิบายว่ามีอีกหลายอย่างที่ผู้สอนศาสนาต้องมีแต่ใส่ไว้ในกระเป๋าเดินทาง (หรือเป้สะพายหลัง) ไม่ได้ พระเจ้าตรัสถึงสิ่งของบางอย่างเหล่านี้ในการเปิดเผยที่กล่าวแก่เอดเวิร์ด พาร์ทริจ การเปิดเผยนี้อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาสิ่งที่ผู้สอนศาสนาต้องมีก่อนจะพร้อมรับใช้งานเผยแผ่ขณะพวกเขาศึกษาการเปิดเผยนี้ (ขณะที่นักเรียนระบุความจริงระหว่างบทเรียนนี้ ท่านอาจต้องการเขียนความจริงเหล่านี้ลงในแผ่นกระดาษ จากนั้นให้ติดแผ่นกระดาษไว้ด้านนอกกระเป๋าเดินทางหรือเป้สะพายหลังเพื่อให้นักเรียนเห็น หรือท่านจะเขียนไว้บนกระดานก็ได้)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อมูลภูมิหลังต่อไปนี้สำหรับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 36 ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่ช่วยให้เอดเวิร์ด พาร์ทริจตัดสินใจรับบัพติศมา

ภายในไม่กี่สัปดาห์ที่เอ็ลเดอร์ออลิเวอร์ คาวเดอรีและเพื่อนร่วมงานของท่านมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของโอไฮโอ คนจำนวนมากรับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ถึงแม้ลีเดียภรรยาของเอดเวิร์ด พาร์ทริจจะอยู่ในกลุ่มคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสและรับบัพติศมาโดยผู้สอนศาสนา แต่เอดเวิร์จยังไม่เชื่อมั่นเท่าใดนัก เขาปรารถนาจะไปเยี่ยมศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธก่อนตัดสินใจ เขากับซิดนีย์ ริกดันมาถึงวอเตอร์ลู รัฐนิวยอร์กขณะโจเซฟ สมิธกำลังกล่าวโอวาท เมื่อท่านศาสดาพยากรณ์พูดจบ เอดเวิร์ดยืนขึ้นพูด เขารายงานว่าระหว่างทางมาวอเตอร์ลู เขาได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้บ้านไร่ของครอบครัวสมิธในแมนเชสเตอร์เกี่ยวกับอุปนิสัยของครอบครัวสมิธ เพราะพอใจกับสิ่งที่ได้ยิน เอดเวิร์ดจึงถามว่าโจเซฟจะให้บัพติศมาเขาได้ไหม (ดู Documents, Volume 1: July 1828–June 1831, vol. 1 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], 197, 199, 224.)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:1 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับเอดเวิร์ด พาร์ทริจหลังจากเขารับบัพติศมา

  • เอดเวิร์ด พาร์ทริจได้รับพรอะไรอันเนื่องจากบัพติศมาของเขา (พระเจ้าทรงให้อภัยบาปของเขา)

  • เอดเวิร์จมีความรับผิดชอบอะไรหลังจากเขารับบัพติศมา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้ได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณจะกลับใจและได้รับการอภัยบาปของพวกเขา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้หวังจะเป็นผู้สอนศาสนาต้องกลับใจจากบาปของตน ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเมื่อเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ใช้วลี “เล่นให้ปฏิปักษ์” และ “แต่งตัวรอรับพระผู้ช่วยให้รอด” ท่านกำลังเปรียบการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วกับการแข่งกีฬา) ท่านอาจเตรียมสำเนาคำกล่าวนี้ให้นักเรียนคนละแผ่น

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ในการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วครั้งนี้ ท่านไม่สามารถเล่นให้ปฏิปักษ์ทุกครั้งที่การล่อลวงเกิดขึ้นแล้วหวังจะแต่งตัวรอรับพระผู้ช่วยให้รอดที่พระวิหารและเวลาเผยแผ่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น … พระผู้เป็นเจ้าจะถูกล้อเลียนไม่ได้ …

“… พระเจ้าทรงขีดเส้นความมีค่าควรสำหรับผู้ได้รับเรียกให้ทำงานกับพระองค์ในงานนี้ “ไม่มีผู้สอนศาสนาคนใดไม่กลับใจจากการล่วงละเมิดทางเพศหรือการใช้ภาษาไม่สุภาพหรือการหมกมุ่นกับสื่อลามกแล้วคิดจะท้าทายผู้อื่นให้กลับใจจากสิ่งเดียวกัน! … พระวิญญาณจะไม่อยู่กับท่านและเมื่อท่านพูดเรื่องเหล่านี้ท่านจะพูดได้ไม่เต็มปาก ท่านไม่สามารถเดินตามเส้นทางที่ลีไฮเรียกว่า ‘ทางที่ต้องห้าม’ [1 นีไฟ 8:28] และคิดจะนำผู้อื่นไปทาง ‘คับแคบและแคบ’ [2 นีไฟ 31:18] —ท่านจะทำไม่ได้” (“เราผองต้องถูกเกณฑ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 57)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเราจะทำอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อจะสะอาดต่อการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำเชื้อเชิญให้กลับใจจากเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ไม่ว่าท่านเป็นใครและไม่ว่าท่านเคยทำสิ่งใดท่านสามารถรับการให้อภัยได้ ท่านทุกคน … สามารถละทิ้งการล่วงละเมิดที่ท่านอาจมีปัญหาอยู่ นี่คือปาฏิหาริย์ของการให้อภัย นี่คือปาฏิหาริย์แห่งการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ แต่ท่านจะทำไม่ได้หากไม่ให้คำมั่นสัญญาแข็งขันต่อพระกิตติคุณและท่านจะทำไม่ได้หากไม่กลับใจในเรื่องที่จำเป็น ข้าพเจ้าขอให้ท่าน … แข็งขันและสะอาด หากจำเป็นข้าพเจ้าขอให้ท่าน เป็นคน แข็งขันและ เป็นคน สะอาด” (“เราผองต้องถูกเกณฑ์,” 57)

อธิบายว่าถึงแม้เอดเวิร์ด พาร์ทริจรับบัพติศมาก่อนได้รับการเปิดเผยนี้ แต่เขายังไม่ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:2–3 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับเอดเวิร์จเกี่ยวกับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • จากที่พระเจ้ารับสั่งกับเอดเวิร์ด พาร์ทริจ เหตุใดผู้สอนศาสนาจึงต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสอนอะไรเอดเวิร์ด พาร์ทริจ ท่านคิดว่าการเรียนรู้ “สิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุขของอาณาจักร” หมายถึงอะไร (เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:61)

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนพวกเขาถึงสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุขของอาณาจักร (เตือนนักเรียนว่าประสบการณ์บางอย่างศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นส่วนตัวเกินกว่าจะแบ่งปัน)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:4–8

พระเจ้าทรงมีพระบัญญัติเกี่ยวกับคนที่ได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:4–5, 7 ก่อนนักเรียนอ่าน ชี้ให้เห็นว่าในข้อเหล่านี้พระเจ้ากำลังตรัสกับ “เอ็ลเดอร์แห่งศาสนจักร [ของพระองค์]” (คพ. 36:7) ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความรับผิดชอบที่พระเจ้าประทานแก่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิต

  • พระเจ้าประทานความรับผิดชอบอะไรแก่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิต (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของความจริงนี้และวิธีประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ข้าพเจ้าขอย้ำสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์สอนมานาน—ว่าชายหนุ่มที่มีความสามารถและมีค่าควรทุกคนควรรับใช้งานเผยแผ่ การรับใช้งานเผยแผ่เป็นหน้าที่ฐานะปุโรหิต—ข้อผูกมัดที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากเราผู้ได้รับมากมาย” (“เมื่อเราพบกันอีก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 5–6)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:5 ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต้องทำอะไรก่อนรับการวางมือแต่งตั้งและถูกส่งออกไปสั่งสอนพระกิตติคุณ

  • เยาวชนชายจะแสดงให้พระเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าเขาน้อมรับพระบัญญัติให้สั่งสอนพระกิตติคุณ

  • ท่านรู้จักใครที่น้อมรับพระบัญญัติให้สั่งสอนพระกิตติคุณ แบบอย่างของบุคคลนี้มีอิทธิพลต่อท่านอย่างไร

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าถึงแม้การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาเป็นหน้าที่ฐานะปุโรหิต แต่หญิงสาวอาจรับใช้ได้เช่นกัน ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“คำแนะนำสำหรับสตรีสาวของเรา แม้ท่านจะไม่มีความรับผิดชอบฐานะปุโรหิตเหมือนชายหนุ่มในการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา แต่ท่านทำคุณประโยชน์ในฐานะผู้สอนศาสนาได้เช่นกัน เรายินดีให้ท่านรับใช้” (“เมื่อเราพบกันอีก,” 6)

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:6 ในใจโดยมองหาข่าวสารเบื้องต้นที่พระเจ้าทรงบัญชาให้ผู้สอนศาสนาสอน เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลี “อาภรณ์ที่ด่างพร้อยด้วยเนื้อหนัง” ให้อธิบายว่าในอิสราเอลสมัยโบราณ เสื้อผ้าที่ติดเชื้อโรคจะถูกเผาเพื่อกันโรคแพร่ระบาด ในข้อนี้ พระเจ้าทรงเปรียบโรคกับบาปและด้วยเหตุนี้จึงบัญชาให้เราหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับบาป (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:428)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาท่าทีที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตควรน้อมรับการเรียกของพวกเขา

  • ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจะ “น้อมรับ [การเรียกของเขา] ด้วยใจมุ่งมั่น” ได้อย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ ยอมรับการเรียก รับใช้ด้วยความจริงใจและความซื่อสัตย์สุจริต)

หากท่านเคยรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของการน้อมรับการเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 37

พระเจ้าทรงบัญชาให้ศาสนจักรของพระองค์ไปรวมกันที่โอไฮโอ

อธิบายว่าขณะซิดนีย์ ริกดันและเอดเวิร์ด พาร์ทริจกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักรในโอไฮโอ การข่มเหงวิสุทธิชนในนิวยอร์กกำลังทวีความรุนแรง ผู้นำศาสนจักรบางรายถูกขู่เอาชีวิตและศัตรูของพวกเขากำลังประชุมลับเพื่อวางแผนทำลายพวกเขา (ดู คพ. 38:13, 28–29) ราวปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1830 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากซิดนีย์ ริกดันและเอดเวิร์ด พาร์ทริจมาถึงนิวยอร์ก โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาวิสุทธิชนให้หนีศัตรูและย้ายไปโอไฮโอ

เชิญนักเรียนสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 37:2–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาการเตรียมที่พระเจ้าทรงต้องการให้โจเซฟทำก่อนท่านไปโอไฮโอ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาให้โจเซฟ สมิธไปหาวิสุทธิชนในโคลสวิลล์

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พึงแน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา พระเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา พระเจ้ามักจะทรงใช้ผู้อื่นตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา)

  • ผู้อื่นเป็นคำตอบการสวดอ้อนวอนของท่านเมื่อใด

เมื่อพระวิญญาณกระตุ้นเตือน ให้แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่สนทนาในบทนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนทำตามสิ่งที่พวกเขารู้สึกขณะศึกษาการเปิดเผยเหล่านี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36 เอดเวิร์ด พาร์ทริจ

เอดเวิร์ด พาร์ทริจได้ยินพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูครั้งแรกราวเดือนตุลาคม ค.ศ. 1830 เมื่อผู้สอนศาสนาที่ส่งไปสอนชาวเลมันแวะที่เคิร์ทแลนด์ โอไฮโอระหว่างทางไปมิสซูรี (ดู คพ. 28:8; 32:2–3) แต่เขาไม่ได้รับบัพติศมาจนอีกสองเดือนต่อมา ลูซี แม็ค สมิธมารดาของท่านศาสดาพยากรณ์เขียนเกี่ยวกับการตัดสินใจรับบัพติศมาของเอดเวิร์ด พาร์ทริจดังนี้ “ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน [ค.ศ. 1830] โจเซฟนัดประชุมที่บ้านของเรา ขณะที่เขาสั่งสอน ซิดนีย์ ริกดันและเอดเวิร์ด พาร์ทริจเข้ามานั่งในที่ประชุม เมื่อโจเซฟสอนจบ เขาให้โอกาสทุกคนที่มีความเห็นได้พูด ถึงตอนนี้ คุณพาร์ทริจลุกขึ้นและกล่าวว่าเขาไปแมนเชสเตอร์เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักคำสอนที่เราสั่งสอน แต่เพราะไม่พบเรา เขาจึงสอบถามเพื่อนบ้านของเราเกี่ยวกับอุปนิสัยของเราซึ่งคนเหล่านั้นบอกว่าขาวสะอาดไม่มัวหมอง จนกระทั่งโจเซฟหลอกเรา [พวกเขา] เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน เขาบอกด้วยว่าเขาเดินดูทั่วฟาร์มของเรา และสังเกตเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความอุตสาหะที่แสดงออกมา และเมื่อเห็นสิ่งที่เราเสียสละเพื่อเห็นแก่ศรัทธาของเรา และเมื่อได้ยินว่าความซื่อตรงของเราไม่เป็นที่กังขานอกจากศาสนาของเรา เขาจึงเชื่อประจักษ์พยานของเรา และพร้อมรับบัพติศมา ‘ถ้า’ เขาพูด ‘บราเดอร์โจเซฟจะให้บัพติศมาเขา’” (History of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 191–92) โจเซฟ สมิธ ให้บัพติศมาเอดเวิร์ด พาร์ทริจเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1830

ต่อมาเอดเวิร์ด พาร์ทริจเป็นอธิการคนแรกของศาสนจักรและทนทุกข์จากการข่มเหงมากมายในมิสซูรี เขาสิ้นชีวิตขณะยังเป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรในปี ค.ศ. 1840 ในนอวู รัฐอิลลินอยส์ด้วยอายุ 47 ปี (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอดเวิร์ด พาร์ทริจได้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:1–7; 41:9–11; 42:10; 50:39; 51:1–4, 18; 52:24; 57:7; 58:14–16, 24–25, 61–62; 60:10; 64:17; 124:19; ดู ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 86; คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 98 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:4–8 ชายหนุ่มทุกคนควรรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน สอนว่า

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“คำถามที่พบบ่อยคือ ชายหนุ่มทุกคนควรเป็นผู้สอนศาสนาหรือไม่ พระเจ้าประทานคำตอบของคำถามนี้ คือใช่ชายหนุ่มทุกคน ควรรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

“ถึงแม้ชายหนุ่มทุกคนควรรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา แต่เราทราบดีว่าไม่ใช่ว่าชายหนุ่มทุกคนจะพร้อมทางร่างกาย อารมณ์ หรือจิตใจ ด้วยเหตุนี้บางคนจึงอาจไม่มีโอกาสเป็นผู้สอนศาสนา แต่ทุกคนควรเตรียมตัวไป—มีค่าควรแก่การรับใช้พระเจ้า” (“Our Commission to Take the Gospel to All the World,” Ensign, May 1984, 45)

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนดังนี้

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“คำถามที่ถามกันบ่อยคือ โปรแกรมผู้สอนศาสนาเป็นโปรแกรมบังคับหรือไม่ คำตอบคือไม่บังคับแน่นอน ทุกคนมีสิทธิ์เสรี คำถามคือ ชายหนุ่มทุกคนควรรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาหรือไม่ คำตอบของศาสนจักรคือใช่ และคำตอบของพระเจ้าคือใช่ เพื่อขยายคำตอบนี้ เรากล่าวว่า แน่นอนว่าสมาชิกชายทุกคนของศาสนจักร ควร รับใช้เป็นผู้สอนศาสนา เหมือนที่เขา ควร จ่ายส่วนสิบ เหมือนที่เขา ควร เข้าร่วมการประชุมของเขา เหมือนที่เขา ควร รักษาชีวิตให้สะอาดปราศจากความน่าชิงชังของโลกและวางแผนแต่งงานซีเลสเชียลในพระวิหารของพระเจ้า” (“Planning for a Full and Abundant Life,” Ensign, May 1974, 87)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:4–8 ซิสเตอร์ผู้สอนศาสนา

พระเจ้าทรงบัญชาสมาชิกทุกคนของศาสนจักรให้แบ่งปันพระกิตติคุณ สตรีบางคนน้อมรับพระบัญญัตินี้โดยรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาทั้งที่พวกเธอไม่อยู่ใต้ข้อผูกมัดเดียวกันกับชายหนุ่ม

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน กล่าวว่า

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“จงจำไว้ หญิงสาวทั้งหลาย ท่านมีโอกาสรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาเช่นกัน … ผู้สอนศาสนาที่ดีที่สุดบางคนของเราคือพี่น้องสตรีที่อายุยังน้อย” (“To the Young Women of the Church,” Ensign, Nov. 1986, 83)

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ สอนว่า

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“เราต้องการหญิงสาวบางคน พวกเธอทำงานได้อย่างน่าทึ่ง พวกเธอสามารถเข้าไปในบ้านที่เอ็ลเดอร์เข้าไปไม่ได้

“… ฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครสาวกสิบสองพร้อมใจกันพูดกับพี่น้องสตรีที่อายุยังน้อยของเราว่าพวกเธอไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดให้ไปทำงานเผยแผ่ ข้าพเจ้าหวังใจว่าจะพูดสิ่งที่ต้องพูดในลักษณะที่จะไม่ทำให้ใครขุ่นเคือง หญิงสาวไม่ควรรู้สึกว่าพวกเธอมีหน้าที่เท่าเทียมกับชายหนุ่ม พวกเธอบางคนปรารถนาจะไปมาก หากเป็นเช่นนั้นให้หารือกับอธิการและบิดามารดาของพวกเธอ” (“ความคิดบางประการเกี่ยวกับพระวิหาร, การรักษาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสให้คงอยู่, และการรับใช้งานเผยแผ่,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 62)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:6 อะไรคือ “คนดื้อรั้นรุ่นนี้”

คำว่า ดื้อรั้น หมายถึงปกครองยากและควบคุมได้ยาก ด้วยเหตุนี้ คนดื้อรั้นจึงเป็นคนปกครองยากและไม่ยอมฟังใคร ชีวิตพวกเขาไม่หันไปหาพระเจ้า ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธกล่าวเกี่ยวกับยุคสุดท้ายว่า “คนรุ่นนี้ดื้อรั้น เดินอยู่ในความมืดทางวิญญาณ” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:163) คำพูดนี้อยู่ใน กิจการของอัครทูต 2:40 (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 99 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:6 “ออกมาจากไฟ, โดยเกลียดชังแม้อาภรณ์ที่ด่างพร้อยด้วยเนื้อหนัง” หมายความว่าอย่างไร

เมื่ออ้างถึง ยูดา 1:23 ซึ่งมีภาษาคล้ายกับพระดำรัสของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:6 เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนว่า “เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บในอิสราเอลสมัยโบราณ เสื้อผ้าที่ติดโรคจะถูกเผาทำลาย (เลวีนิติ 13:47–59; 15:4–17) และเช่นเดียวกับบาปในศาสนจักร วิสุทธิชนพึงอยู่ห่างจากบาปให้มากที่สุด อาภรณ์ของผู้ทำบาปต้องถูกไฟเผาหมายความว่าเราพึงหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่สัมผัสกับความแปดเปื้อนของคนชั่ว และคนที่ยังอยู่ในโลกผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมอาณาจักรพึงหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นเช่นกัน” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:428) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 99 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 37:1 “ไม่ … แปลอีก”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 37:1 กล่าวถึงงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟแปลพระคัมภีร์มอรมอนเสร็จแล้ว แต่ถึงแม้งานพระคัมภีร์ไบเบิลของท่านจะสำคัญมาก แต่ “เพราะศัตรู” ท่านจึงต้องย้ายไปโอไฮโอก่อน (คพ. 37:1) ท่านยังคงทำงานแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลในโอไฮโอหลังจากนั้น (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 100 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 37:3 ร่วมชุมนุมในโอไฮโฮจนกว่าออลิเวอร์ คาวเดอรีจะกลับมา

ออลิเวอร์ คาวเดอรีเป็นผู้สอนศาสนาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 1830 (ดู คพ.30:5–6; 32:2) งานเผยแผ่ครั้งนี้ทำให้เขากับคู่ต้องเดินทาง 1,400 ไมล์ผ่านนิวยอร์ก อินเดียนา อิลลินอยส์ และโอไฮโอไปมิสซูรีที่ซึ่งพวกเขาสั่งสอนชาวอเมริกันอินเดียนผู้อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนตะวันตกของมิสซูรีและกำหนดให้เป็นที่สร้างพระวิหารและเยรูซาเล็มใหม่ (ดู “Covenant of Oliver Cowdery and Others, 17 October 1830,” in Documents, Volume 1: July 1828–June 1831, vol. 1 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], 202–5) วิสุทธิชนได้รับบัญชาให้ย้ายไปโอไฮโอและรอออลิเวอร์ คาวเดอรีกลับมา การย้ายไปโอไฮโอครั้งนี้เพื่อเตรียมรับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสถาปนาไซอัน (ดู คพ. 38:31–33) สุดท้ายแล้วออลิเวอร์ คาวเดอรีไม่กลับมา แต่ส่งพาร์ลีย์ พี. แพรทท์กลับมาแทน (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 101 ด้วย)