เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 76: หลักคำสอนและพันธสัญญา 72–74


บทที่ 76

หลักคำสอนและพันธสัญญา 72–74

คำนำ

การขยายตัวของศาสนจักรเข้าไปในมิสซูรีและเมื่ออธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจย้ายไปอยู่ที่นั่นทำให้ต้องเรียกอธิการคนใหม่ในโอไฮโอ วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยซึ่งรวมไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 72 การเปิดเผยเหล่านี้ประกาศการเรียกนูเวล เค. วิทนีย์เป็นอธิการคนใหม่ในโอไฮโอ เปิดเผยหน้าที่บางอย่างของอธิการวิทนีย์ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการไปรวมกันยังไซอัน การเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 73 ประทานให้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1832 ประกอบด้วยพระบัญชาของพระเจ้าให้โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเริ่มงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลอีกครั้ง การเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 74 ได้รับในปี 1830 ก่อนฟื้นฟูศาสนจักร ในนั้นมีคำอธิบายของพระเจ้าเกี่ยวกับ 1 โครินธ์ 7:14 ข้อพระคัมภีร์ที่บางคนใช้แก้ต่างเรื่องการให้บัพติศมาทารก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:1–8

พระเจ้าทรงเรียกนูเวล เค. วิทนีย์เป็นอธิการในโอไฮโอ

ถามนักเรียนว่าการเรียกใดในศาสนจักรที่พวกเขาถือว่ายากมาก

  • ท่านเคยได้รับการเรียกหรือขอให้ท่านทำเรื่องยากๆ ในศาสนจักรและรู้สึกหนักใจหรือไม่สามารถทำได้หรือไม่ ถ้าเคย เพราะเหตุใด

ขอให้นักเรียนค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:1–2 ในใจและระบุการเรียกที่ต้องทำในศาสนจักร (ท่านอาจจะต้องอธิบายว่าวลี “ในสวนองุ่นส่วนนี้ของพระเจ้า” หมายถึงโอไฮโอ)

  • การเรียกใดต้องทำในโอไฮโอ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุที่ต้องมีอธิการคนใหม่ในโอไฮโอ ขอให้พวกเขานึกถึงคนที่ได้รับเรียกเป็นอธิการคนแรกในศาสนจักร (เอดเวิร์ด พาร์ทริจ; ดู คพ. 41:9) อธิบายว่าเนื่องจากศาสนจักรขยายเข้าไปในมิสซูรี และอธิการพาร์ทริจย้ายไปอยู่อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี (ราว 1,000 ไมล์จากเคิร์ทแลนด์) พระเจ้าจึงทรงประกาศว่าต้องมีอธิการคนใหม่ในโอไฮโอ เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:3–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาวลีที่อธิบายว่าเหตุใดวิสุทธิชนในโอไฮโอจึงต้องมีอธิการ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 และ ข้อ 5เหตุใดวิสุทธิชนในโอไฮโฮจึงต้องมีอธิการ (เพื่อพวกเขาจะรายงานความเป็นผู้พิทักษ์ของพวกเขาต่ออธิการ)

  • เรื่องนี้คล้ายกับภาระรับผิดชอบของเราต่อธิการหรือประธานสาขาในปัจจุบันอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าใครได้รับเรียกเป็นอธิการคนใหม่ในโอไฮโอและใครเลือกเขาให้ทำการเรียกนี้

  • ใครได้รับเรียกเป็นอธิการคนใหม่ในโอไฮโอ

  • ใครเลือกนูเวล เค. วิทนีย์เป็นอธิการคนใหม่

  • เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนใดจาก ข้อ 8 เกี่ยวกับการเรียกให้รับใช้ในศาสนจักรของพระเจ้า (คำตอบของนักเรียนอาจสะท้อนหลักคำสอนต่อไปนี้: การเรียกให้รับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์มาจากพระผู้ช่วยให้รอด)

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากพวกเขาได้รับเรียกให้ทำการเรียกที่ยากในศาสนจักร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้ซึ่งถ่ายทอดโดยเอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์แห่งแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองหลานชายของนูเวล เค. วิทนีย์ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าบราเดอร์วิทนีย์รู้สึกอย่างไรคราวได้รับเรียกเป็นอธิการและเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับที่มาของการเรียกนั้น

เอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์

“พอคิดว่าต้องรับหน้าที่รับผิดชอบอันสำคัญนี้ (ตำแหน่งอธิการ) [นูเวล เค. วิทนีย์] แทบจะรับไม่ไหว … เขา … แคลงใจในความสามารถของตน และ [รู้สึก] ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งดังกล่าวได้ ในความไม่แน่ใจนี้เขาขอร้องท่านศาสดาพยากรณ์ว่า

“‘ผมไม่เห็นความเป็นอธิการในตัวผมเลยครับบราเดอร์โจเซฟ แต่ถ้าคุณบอกว่านั่นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ผมจะพยายาม’

“‘คุณไม่จำเป็นต้องฟังผมคนเดียว’ ท่านศาสดาพยากรณ์ตอบอย่างอ่อนโยน ‘ไปทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยตัวคุณเองสิครับ’

“นูเวล … ตัดสินใจทำตามที่ [ท่านศาสดาพยากรณ์] แนะนำ … การสวดอ้อนวอนด้วยความอ่อนน้อมจากใจจริงของเขาได้รับคำตอบ ในความเงียบสงัดตอนกลางคืนและอยู่ลำพังในห้อง เขาได้ยินเสียงจากสวรรค์บอกว่า ‘พลังของเจ้าอยู่ในเรา’ ไม่กี่คำและเรียบง่าย แต่มีความหมายมาก ความสงสัยของเขาหมดไปเหมือนน้ำค้างก่อนฟ้าสาง เขาไปหาท่านศาสดาพยากรณ์ทันที บอกท่านว่าเขาพอใจแล้ว และเต็มใจยอมรับตำแหน่งซึ่งเขาได้รับเรียก” (“The Aaronic Priesthood,” Contributor, Jan. 1885, 126)

  • อะไรช่วยให้นูเวล เค. วิทนีย์เต็มใจยอมรับการเรียกให้รับใช้เป็นอธิการ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของเขาที่จะช่วยเราได้หากเรารู้สึกหนักใจกับการเรียกหรืองานมอบหมายในศาสนจักร

  • การเข้าใจว่าการเรียกให้รับใช้ในศาสนจักรมาจากพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยให้ท่านยอมรับและเพียรพยายามทำการเรียกของท่านให้เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร

ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านว่าการเรียกให้รับใช้ในศาสนจักรของพระเจ้ามาจากพระองค์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:9–26

พระเจ้าทรงอธิบายหน้าที่ของอธิการ

เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: อธิการและประธานสาขาบริหารกิจจานุกิจฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณของศาสนจักรในวอร์ดและสาขาของตน (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ฝ่ายโลก หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น อธิการและประธานสาขาบริหารทรัพย์สินศาสนจักร เงินทุนศาสนจักร และการใช้สิ่งของในคลังอธิการ)

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:9–26 โดยอธิบายว่าข้อเหล่านี้พูดถึงหน้าที่บางอย่างของอธิการวิทนีย์ อธิบายว่าหน้าที่ของอธิการที่พระเจ้าตรัสไว้ในการเปิดเผยนี้เกี่ยวข้องโดยเบื้องต้นกับบทบาทของอธิการภายใต้กฎแห่งการอุทิศถวาย ช่วงระยะเวลานี้ ศาสนจักรยังไม่ได้แบ่งเป็นวอร์ดที่มีอธิการเป็นประธานควบคุมแต่ละวอร์ดเหมือนปัจจุบัน เวลานั้นมีอธิการเพียงสองคนคือ อธิการวิทนีย์เป็นอธิการสำหรับวิสุทธิชนในโอไฮโอ และอธิการพาร์ทริจเป็นอธิการสำหรับวิสุทธิชนในมิสซูรี

หลักคำสอนและพันธสัญญา 73

พระเจ้ารับสั่งให้โจเซฟ สมิธ และซิดนีย์ ริกดันแปลพระคัมภีร์ไบเบิลต่อ

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 73:1–2 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงแนะนำให้เอ็ลเดอร์ที่กำลังสั่งสอนยังคงทำต่อไปจนกว่าจะถึงการประชุมใหญ่คราวหน้าซึ่งจะจัดในอีกสองสัปดาห์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ และซิดนีย์ ริกดันสั่งสอนเพื่อช่วยแก้ไขการให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับศาสนจักรอันเนื่องจากการตีพิมพ์จดหมายของเอซรา บูธ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 73:3–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาให้โจเซฟ สมิธและ ซิดนีย์ ริกดันมุ่งเน้นหลังจากการประชุมใหญ่

  • พระเจ้าทรงขอให้โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันมุ่งทำงานอะไร พระเจ้ากำลังตรัสถึง “งานแปล” อะไร (การแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิล)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 74

พระเจ้าทรงอธิบายความหมายของ 1 โครินธ์ 7:14

เชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขากำลังรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาสำหรับศาสนจักร ขณะพูดคุยกับคู่สมรสที่สนใจศาสนจักร พวกเขาทราบว่าคู่นี้มีลูกชายที่สิ้นชีวิตเมื่ออายุเพียงไม่กี่เดือน ผู้นำทางศาสนาของคู่นี้บอกพวกเขาว่าลูกของเขาไม่สามารถอยู่ในสวรรค์ได้เพราะยังไม่ได้รับบัพติศมาก่อนตาย พ่อแม่รู้สึกเศร้าใจมากเพราะสูญเสียลูกและเชื่อว่าลูกน้อยของพวกเขาสูญเสียความรอด

ขอให้นักเรียนคิดว่าพวกเขาจะตอบในสถานการณ์นี้อย่างไร และบอกพวกเขาว่าพวกเขาจะมีโอกาสตอบในบทเรียนช่วงหลัง

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 74 มีคำอธิบายของพระเจ้าเกี่ยวกับ 1 โครินธ์ 7:14 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 74:1 ซึ่งเป็นคำพูดของอัครสาวกเปาโลจาก 1 โครินธ์ 7:14 บอกนักเรียนว่าเคยมีคนใช้ข้อนี้ใน 1 โครินธ์สนับสนุนการให้บัพติศมาทารก (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำ ไม่เชื่อ ใน ข้อ 1 หมายถึงชาวยิวที่ไม่ยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เปาโลไม่ได้กล่าวว่าบุคคลจะรอดได้โดยความชอบธรรมของคู่ครองแต่กล่าวว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของคู่ครองคนใดคนหนึ่งจะนำอิทธิพลการชำระให้บริสุทธิ์เข้ามาในครอบครัว)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 74:2–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยของอัครสาวกเปาโลเมื่อคู่ครองคนหนึ่งในการแต่งงานเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และอีกคนยังคงปฏิบัติกฎของโมเสส

  • ชีวิตสมรสแบบนี้กำลังประสบปัญหายุ่งยากอะไรบ้าง (คู่สมรสขัดแย้งกันในเรื่องที่ว่าจะสอนลูกให้เชื่อและเชื่อฟังพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือกฎของโมเสส [ดู ข้อ 3] ลูกที่ได้รับการเลี้ยงดูให้เชื่อฟังกฎของโมเสสโตมากับการไม่เชื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ [ดู ข้อ 4])

  • ความเชื่อทางศาสนาต่างกันในชีวิตสมรสสามารถส่งผลต่อครอบครัวของคู่นั้นอย่างไร

อธิบายว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้กฎของโมเสสสมบูรณ์และไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตอีก อย่างไรก็ดี ชาวยิวที่ทำตามกฎของโมเสสเชื่อว่าเด็กชายไม่สะอาดหากไม่เข้าสุหนัต ความเชื่อนี้ก่อปัญหาในครอบครัวที่ฝ่ายหนึ่งเชื่อในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และอีกฝ่ายเชื่อในกฎของโมเสส ความขัดแย้งทำนองนี้ในความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาอาจเกิดขึ้นในปัจจุบันในครอบครัวที่คู่ครองคนหนึ่งเป็นสมาชิกของศาสนจักรและอีกคนไม่ได้เป็น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 74:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเด็กเล็ก

  • พระเจ้าทรงสอนอะไรเกี่ยวกับเด็กเล็ก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบควรสะท้อนว่า เด็กเล็กเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักคำสอนนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

เตือนนักเรียนให้นึกถึงสถานการณ์สมมติที่นำเสนอก่อนหน้านี้ในบทเรียนเกี่ยวกับผู้สอนศาสนา เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียน โมโรไน 8:8–12 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:46–50 เป็นข้ออ้างโยงไว้ข้างๆ หลักคำสอนและพันธสัญญา 74:7 มอบหมายให้นักเรียนอ่าน โมโรไน 8:8–12 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:46–50 กับคู่ จากนั้นสนทนาคำถามต่อไปนี้ด้วยกัน

  • โดยใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับความรอดของเด็กเล็กใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 74:7 และ โมโรไน 8:8–12 ท่านจะสอนสิ่งใดแก่คู่สมรสที่รู้สึกว่าลูกผู้ล่วงลับของพวกเขาไม่สามารถอยู่ในสวรรค์

เชื้อเชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคู่อธิบายสิ่งที่พวกเขาจะสอน สรุปโดยเป็นพยานถึงพลังอำนาจแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อไถ่เด็กเล็ก

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:13 อธิการวิทนีย์รับใช้ภายใต้การนำของอธิการพาร์ทริจ

อธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจได้รับเรียกเป็นอธิการคนแรกของศาสนจักร อธิการนูเวล เค. วิทนีย์กระทำภายใต้การนำของอธิการพาร์ทริจ ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายดังนี้

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“อธิการในเคิร์ทแลนด์ [นูเวล เค. วิทนีย์] ต้อง ‘ส่งมอบ’ บันทึกสิ่งที่อยู่ในความพิทักษ์ที่ควรเก็บเป็นบันทึกถาวรให้อธิการในไซอัน [เอดเวิร์ด พาร์ทริจ] เพราะความรับผิดชอบนี้ นูเวล เค. วิทนีย์จึงได้รับเรียกให้ทำหน้าที่อธิการ เขาต้องรักษาคลังของพระเจ้าในเคิร์ทแลนด์ รับเงินทุนในสวนองุ่นส่วนนั้น และรับเรื่องราวของเอ็ลเดอร์ดังที่บัญชาไว้ก่อนแล้ว เกื้อกูลให้แก่ความขาดแคลนของพวกเขา ทุกคนผู้พึงจ่ายสำหรับสิ่งที่พวกเขาได้รับ ตราบเท่าที่พวกเขามีจะจ่าย เงินทุนที่ได้รับเหล่านี้จะอุทิศถวายเพื่อประโยชน์ของศาสนจักร ‘เพื่อคนจนและคนขัดสน’ หากมีใครไม่สามารถจ่ายได้ พึงบันทึกเรื่องราว ‘และส่งมอบให้อธิการแห่งไซอัน, ผู้พึงจ่ายหนี้สินจากสิ่งที่พระเจ้าจะใส่ไว้ในมือเขา’” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:270) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 203–204])

หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:9–26 กฎแห่งการอุทิศถวายในโอไฮโอและหน้าที่ของอธิการวิทนีย์

ในโอไฮโอไม่ได้ปฏิบัติกฎแห่งการอุทิศถวายเต็มรูปแบบทั่วทั้งชุมชน วิสุทธิชนโคลสวิลล์ในเมืองธอมพ์สัน รัฐโอไฮโอเคยพยายามแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ลีมัน คอพลีย์ถอนข้อเสนอไม่ยอมให้วิสุทธิชนโคลสวิลล์อาศัยอยู่บนที่ดินของเขา (ดู คพ. 54) แต่ยังคงมีการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมและหลักปฏิบัติของกฎแห่งการอุทิศถวาย สมาชิกบางคนมีสิ่งที่อยู่ในความพิทักษ์ และมีการจัดตั้งคลังเพื่อช่วยดูแลคนจนและคนขัดสนรวมถึงความจำเป็นฝ่ายโลกของศาสนจักร อธิการนูเวล เค. วิทนีย์ต้องควบคุมดูแลและบริหารจัดการองค์ประกอบเหล่านี้ของกฎแห่งการอุทิศถวายควบคู่กับกิจจานุกิจฝ่ายโลกอื่นๆ ของศาสนจักรในโอไฮโอ รวมถึงความรับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินของศาสนจักรในเขตนั้น

ความรับผิดชอบเบื้องต้นประการหนึ่งของอธิการวิทนีย์คือช่วยดูแลคนจนและคนขัดสน วิธีหนึ่งที่เขาทำสิ่งนี้คือแจกจ่ายอาหารที่ได้จากสมาชิกผู้จัด “การประชุมอดอาหาร” เพื่อจุดประสงค์ของการจัดหาอาหารให้คนตกทุกข์ได้ยาก ในการเรียกของอธิการวิทนีย์นั้น เขาอุทิศถวายทักษะการเป็นนักธุรกิจและเสียสละทรัพย์สินทางโลกมากมายให้ศาสนจักรและเพื่อดูแลคนอื่นๆ เขารับใช้อย่างซื่อสัตย์ในตำแหน่งอธิการจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต—ระยะเวลาราว 19 ปี—ซึ่งระหว่างนั้นเขารับใช้เป็นอธิการควบคุมของศาสนจักรด้วย โดยดำรงตำแหน่งเดิมของเอดเวิร์ด พาร์ทริจ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:20–22 ห้างหุ้นส่วนเอกสาร

หลังจากการประชุมใหญ่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1831 ในเมืองไฮรัม รัฐโอไฮโอ ชายหกคนได้รับเรียกให้อุทิศเวลาและพยายามจัดการเรื่องสำนักพิมพ์ การจัดพิมพ์ และแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ของศาสนจักร รวมทั้งพระคัมภีร์ (ดู คพ. 70:3–4) ชายกลุ่มนี้—โจเซฟ สมิธ, มาร์ติน แฮร์ริส, ออลิเวอร์ คาวเดอรี, จอห์น วิตเมอร์, ซิดนีย์ ริกดัน และวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส—เป็นที่รู้จักในชื่อ Literary Firm พระเจ้าทรงอนุญาตให้พวกท่านขอความช่วยเหลือเพื่อการยังชีพจากอธิการ (ดู คพ. 72:20) โดยมุ่งหมายจะให้กิจการพิมพ์นี้มีรายได้มากพอจะดูแลตนเองได้ สมาชิกใน Literary Firm มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ ส่วนกำไรที่เกินมานั้นจะอุทิศถวายคืนให้คลังของพระเจ้า (ดู คพ. 70:5–8) ถึงแม้ห้าง Literary Firm จะอยู่ได้ไม่กี่ปี แต่ก็ทำคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อโลกโดยตีพิมพ์หนังสือพระบัญญัติและเล่มต่อมาคือพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา และหนังสือพิมพ์ศาสนจักรด้วย เช่น Evening and the Morning Star (ดู Documents, Volume 2: July 1831–January 1833, vol. 2 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], xxv–xxvi)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 74:4–6 ประเพณีเทียมเท็จ

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำแนะนำวิธีรับมือกับประเพณีหรือขนบธรรมเนียมที่ขัดกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ดังนี้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ความซาบซึ้งในเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม หรือมรดกประจำชาติอาจเป็นสิ่งดีงามและมีประโยชน์มาก แต่ในขณะเดียวก็ยังคงทำให้รูปแบบชีวิตบางอย่างดำเนินต่อไปซึ่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้อุทิศตนควรเลิกปฏิบัติ …

“[ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์กล่าวว่า] ‘ข้าพเจ้าแนะนำให้ท่านเห็นความสำคัญสูงสุดในการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ จงชั่งใจไม่ว่าอะไรก็ตามที่คนอื่นขอให้ท่านทำ ไม่ว่าจะจากครอบครัวท่าน คนที่ท่านรัก มรดกทางวัฒนธรรมของท่าน หรือประเพณีที่ท่านสืบทอด—จงชั่งใจทุกอย่างที่ขัดกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด ถ้าท่านเห็นเรื่องใดต่างไปจากคำสอนเหล่านั้น จงตัดเรื่องนั้นออกไปและอย่าทำตาม เรื่องดังกล่าวจะไม่นำความสุขมาให้ท่าน’ (“Counsel to Students and Faculty,” Church College of New Zealand, 12 Nov. 1990)” (“เอาสิ่งกีดขวางความสุขออกไป,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 96)