บทที่ 118
หลักคำสอนและพันธสัญญา 110
คำนำ
วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1836 จัดการประชุมศีลระลึกในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ระหว่างการประชุม โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีไปยังบริเวณพระวิหารที่มีม่านแยกจากกลุ่มคนที่มาประชุม พวกท่านกล่าวคำสวดอ้อนวอนที่นั่น ครั้นลุกขึ้นจากการสวดอ้อนวอน พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อพวกท่านและทรงยอมรับพระวิหารที่อุทิศใหม่ ต่อจากนั้นโมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ปรากฏ และฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตหลักคำสอนและพันธสัญญา 110 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตนี้
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:1–10
พระเจ้าทรงปรากฏและทรงยอมรับพระวิหารเคิร์ทแลนด์
ถามนักเรียนว่าด้านนอกพระวิหารทุกแห่งเขียนว่าอะไร (“ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า—พระนิเวศน์ของพระเจ้า”)
-
วลี “พระนิเวศน์ของพระเจ้า” มีความหมายต่อท่านอย่างไร
หลังจากนักเรียนสนทนาคำถามนี้แล้ว ให้อธิบายว่าพระเจ้าเสด็จเยือนพระนิเวศน์ของพระองค์ในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโฮหลังจากอุทิศได้ไม่นาน เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสภาวะแวดล้อมเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์นี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 110 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าใครอยู่ที่นั่นและพวกเขาทำอะไรก่อนเกิดนิมิตนี้
-
ใครอยู่ในช่วงนิมิตนี้ พวกเขาทำอะไรก่อนเกิดนิมิตนี้
เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:1–3 ก่อนนักเรียนอ่าน ขอให้ชั้นเรียนดูตามและพยายามนึกภาพตามที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:4–5 ในใจเพื่อเรียนรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสอะไรกับโจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี
-
อะไรในข้อเหล่านี้มีความหมายต่อท่าน เพราะเหตุใด
เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:6–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลที่พระเจ้าตรัสว่าวิสุทธิชนทุกคนจะชื่นชมยินดี
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7เหตุใดวิสุทธิชนจึงมีเหตุผลให้ชื่นชมยินดี (พระเจ้าทรงยอมรับพระวิหารและทรงสัญญาจะแสดงองค์ให้ประจักษ์ต่อพวกเขาในนั้น)
-
พระองค์จะทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์ต่อผู้คนในพระวิหารได้อย่างไร (คำว่า แสดงให้ประจักษ์ หมายถึงแสดงให้เห็น เตือนความจำนักเรียนว่าพวกเขาสนทนาเรื่องนี้เมื่อศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 97 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 109 ส่วนมากพระเจ้าทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์)
ให้นักเรียนระบุหลักธรรมจากสัญญาใน ข้อ 7–8 นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงเน้นดังนี้: หากเราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าและรักษาพระนิเวศน์ของพระองค์ให้บริสุทธิ์ พระองค์จะทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์ต่อเราในพระวิหาร ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ดีขึ้น ให้ถามดังนี้
-
เราจะรักษาพระนิเวศน์ของพระเจ้าให้บริสุทธิ์และไม่แปดเปื้อนได้อย่างไร
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเชื่อฟังและสะอาดก่อนพระองค์จะทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์ต่อเราในพระนิเวศน์ของพระองค์
หากนักเรียนเคยเข้าพระวิหารมาแล้ว ให้พวกเขาใคร่ครวญประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อรู้สึกใกล้ชิดพระเจ้าที่นั่น ท่านอาจจะแบ่งปันว่าท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านนมัสการในพระวิหาร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:9–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าใครชื่นชมยินดีและเพราะเหตุใด
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ ใครจะได้รับพรเพราะการฟื้นฟูพรพระวิหาร
-
โลกจะได้รับพรอย่างไรเพราะพระวิหารและงานแห่งความรอดสำหรับคนเป็นและคนตาย
-
พระวิหารเป็นพรในชีวิตท่านอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11–16
โมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ปรากฏ และฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี
เชื้อเชิญให้นักเรียนเล่าถึงเวลาที่สมาชิกครอบครัวของพวกเขาแยกจากกันชั่วคราว ขอให้พวกเขาแบ่งปันว่ารู้สึกอย่างไรระหว่างแยกจากกัน ขณะนักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11–16ให้พวกเขามองหาว่านิมิตนี้ทำให้มั่นใจอย่างไรว่าครอบครัวเราสามารถผ่านพ้นการแยกจากกันได้
ลอก แผนภูมิต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน อย่าเขียนข้อมูลในวงเล็บ
โมเสส |
เอลีอัส |
เอลียาห์ | |
---|---|---|---|
ฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิต |
(กุญแจแห่งการรวบรวมอิสราเอล) |
(การประทานพระกิตติคุณสมัยอับราฮัม) |
(กุญแจทั้งหลายของสมัยการประทานนี้) |
สิ่งที่กุญแจเหล่านี้กำกับดูแล |
(งานเผยแผ่ศาสนา) |
(การแต่งงานซีเลสเชียลและลูกหลานชั่วนิรันดร์) |
(อำนาจการผนึก รวมถึงงานพระวิหารและประวัติครอบครัว) |
อธิบายว่าหลังจากนิมิตของพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นสุด มีบุคคลอีกสามคนปรากฏทีละคนต่อโจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี ให้ดูรูป โมเสส และ เอลียาห์ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 14, 20; ดู LDS.orgด้วย) ขอให้นักเรียนอธิบายว่าโมเสสกับเอลียาห์เป็นใครและบอกสิ่งสำคัญที่พวกท่านทำ (หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ ให้พวกเขาค้นหาศาสดาเหล่านี้ในคู่มือพระคัมภีร์) อธิบายว่าเอลีอัสเป็นศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของอับราฮัม นอกจากชื่อแล้ว เอลีอัส ยังหมายถึงผู้มาก่อนหรือผู้ฟื้นฟูด้วย (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “เอลีอัส” scriptures.lds.org)
แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม มอบหมายชื่อในแผนภูมิบนกระดานให้กลุ่มละหนึ่งชื่อ อธิบายว่าผู้ส่งสารแต่ละคนมอบกุญแจฐานะปุโรหิตให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี ขอให้นักเรียนศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่เขียนไว้ใต้ชื่อที่มอบหมายให้พวกเขาและค้นดูว่าเทพผู้ส่งสารฟื้นฟูอะไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มอ่านข้อพระคัมภีร์ที่ได้รับมอบหมายให้ชั้นเรียนฟัง เชิญนักเรียนคนที่สองจากแต่ละกลุ่มเขียนว่าผู้ส่งสารฟื้นฟูอะไรในแถวชื่อ “กุญแจฐานะปุโรหิตที่ฟื้นฟู” ในแผนภูมิบนกระดาน
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่ากุญแจของการรวบรวมอิสราเอลคืออะไร ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ในสมัยของเรา พระเจ้าทรงรวบรวมบุตรธิดาของพระองค์เข้ามาในอาณาจักรของพระองค์อย่างไร
เพิ่มเติมหรือยืนยันคำตอบของนักเรียนโดยเชิญบางคนให้อ่านคำอธิบายต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“งานเผยแผ่ศาสนาสำคัญยิ่งต่อการรวบรวมอิสราเอล … ในหลายประเทศผู้สอนศาสนาของเราค้นหาคนของอิสราเอลที่กระจัดกระจาย” (“การรวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 102)
เขียน งานเผยแผ่ศาสนา ไว้บนกระดานใต้ “โมเสส” ในแถวชื่อ “สิ่งที่กุญแจเหล่านี้ไขออก”
-
ชีวิตท่านได้รับอิทธิพลอย่างไรจากการที่โมเสสฟื้นฟูกุญแจควบคุมงานเผยแผ่ศาสนา
การประทานพระกิตติคุณสมัยอับราฮัมที่เอลีอัสมอบให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีฟื้นฟูสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮัม เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสมัยการประทานแห่งพระกิตติคุณของอับราฮัมที่เอลีอัสฟื้นฟู ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“เอลีอัสนำ ‘กิตติคุณสมัยอับราฮัม’ กลับมา พันธสัญญาอับราฮัมอันสำคัญยิ่งที่คนซื่อสัตย์ได้รับสัญญาเรื่องการเพิ่มพูนนิรันดร์ สัญญาว่าโดยผ่านการแต่งงานซีเลสเชียลลูกหลานนิรันดร์ของพวกเขาจะมีจำนวนมากมายเท่าเม็ดทรายบนฝั่งทะเลหรือดวงดาวในฟ้าสวรรค์ เอลีอัสให้สัญญา—ที่อับราฮัม อิสอัค และยาโคบได้รับแต่โบราณ—ว่าคนยุคปัจจุบันและคนทุกรุ่นในพงศ์พันธุ์ของพวกท่านจะได้รับพร และเวลานี้เรากำลังมอบพรของอับราฮัม อิสอัค และยาโคยให้ทุกคนที่จะรับพรเหล่านั้น” (“The Keys of the Kingdom,” Ensign, May 1983, 22)
-
ตามที่เอ็ลเดอร์แมคคองกีกล่าว สัญญาอะไรประทานแก่อับราฮัม (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียน การแต่งงานซีเลสเชียลและลูกหลานนิรันดร์ ไว้บกระดานในคอลัมน์ใต้ “เอลีอัส”)
-
พรของการแต่งงานซีเลสเชียลและลูกหลานนิรันดร์มีความหมายต่อท่านอย่างไร เหตุใดจึงสำคัญต่อท่าน
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจกุญแจที่เอลียาห์ฟื้นฟู ให้เชิญนักเรียนสองคนอ่านข้อความต่อไปนี้
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่า “อำนาจการผนึกนี้ที่มอบให้เอลียาห์คืออำนาจซึ่งผูกมัดสามีภรรยา และผูกมัดบุตรธิดากับบิดามารดาเพื่อกาลเวลาและนิรันดร นี่เป็นอำนาจการผูกมัดที่มีอยู่ในทุกศาสนพิธีของพระกิตติคุณ … โดยอำนาจนี้นี่เองที่ศาสนพิธีทั้งหมดเกี่ยวกับความรอดได้รับการผูกมัด หรือได้รับการผนึก และพันธกิจของเอลียาห์คือมาฟื้นฟูอำนาจดังกล่าว” (Elijah the Prophet and His Mission [1957], 5)
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “ในฐานะสมาชิกศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระคริสต์ เรามีความรับผิดชอบตามพันธสัญญาในการค้นหาบรรพชนของเราและประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดของพระกิตติคุณให้ท่านเหล่านั้น … ด้วยเหตุผลเหล่านี้เราจึงทำการค้นคว้าประวัติครอบครัว สร้างพระวิหาร และประกอบศาสนพิธีแทนผู้วายชนม์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้พระองค์จึงทรงส่งเอลียาห์มาฟื้นฟูอำนาจการผนึกที่ผูกบนแผ่นดินโลกและในสวรรค์” (“ใจของลูกหลานจะหันไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 32)
-
ตามคำอธิบายเหล่านี้ เอลียาห์ฟื้นฟูอำนาจหรือสิทธิอำนาจอะไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียน อำนาจการผนึก รวมถึงงานพระวิหารและประวัติครอบครัว ไว้บนกระดานในคอลัมน์ใต้ “เอลียาห์” ท่านอาจต้องการเตือนความจำนักเรียนว่าหากปราศจากกุญแจฐานะปุโรหิตเหล่านี้ “ทั้งแผ่นดินโลกจะร้างลงสิ้น ณ การเสด็จมา [ของพระเจ้า]” [คพ. 2:3])
-
ท่านได้รับพรอย่างไรจากการฟื้นฟูอำนาจการผนึก
อธิบายว่าประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธตั้งข้อสังเกตว่าพระวิหารเคิร์ทแลนด์ “เดิมทีสร้างไว้เพื่อการฟื้นฟูกุญแจแห่งสิทธิอำนาจ ความสมบูรณ์ของศาสนพิธีพระกิตติคุณ [ได้รับ] การเปิดเผยเมื่อได้รับกุญแจเหล่านี้“ ” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 2:242) ประธานศาสนจักรและโควรัมอัครสาวกสิบสองยังคงใช้กุญแจฐานะปุโรหิตเหล่านี้ในปัจจุบัน
เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: กุญแจทั้งหลายของงานเผยแผ่ศาสนา ครอบครัวนิรันดร์ และงานพระวิหารช่วยเรา …
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11–16 ในใจโดยมองหาว่าพวกเขาจะเติมหลักธรรมนี้ให้ครบถ้วนว่าอย่างไร
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดงานเผยแผ่ศาสนา ครอบครัวนิรันดร์ และงานพระวิหารจึงจำเป็น (ขณะที่นักเรียนตอบ จงเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: กุญแจทั้งหลายของงานเผยแผ่ศาสนา ครอบครัวนิรันดร์ และงานพระวิหารช่วยเราเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ มอบหมายคำถามต่อไปนี้ให้ไตร่ตรองกลุ่มละหนึ่งข้อ (1) งานเผยแผ่ศาสนาเตรียมผู้คนให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าอย่างไร (2) สัญญาเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัวเตรียมผู้คนให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าอย่างไร (3) งานพระวิหารเตรียมผู้คนให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ถามนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มว่าเขาจะตอบคำถามอย่างไร
เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
ท่านได้รับพรอย่างไรเพราะกุญแจฐานะปุโรหิตที่ได้รับการฟื้นฟู
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ผู้อื่นได้รับพรผ่านกุญแจที่ได้รับการฟื้นฟูเหล่านี้
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนสนทนาความคิดของพวกเขากับคู่ ท่านอาจจะแบ่งปันว่าชีวิตท่านได้รับพรอย่างไรเพราะการฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตเหล่านี้
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:10 “กิตติศัพท์ของนิเวศน์แห่งนี้จะแพร่สะพัดไปยังต่างแดน”
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า
“[ในปี 1836] พระเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ‘กิตติศัพท์ของนิเวศน์แห่งนี้จะแพร่สะพัดไปยังต่างแดน’ (คพ. 110:10) ภายใต้สภาวการณ์ขณะนั้นเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย สมาชิกศาสนจักรเป็นวิสุทธิชนเพียงหยิบมือเดียวที่กระจัดกระจายอยู่ในเขตชนบทของแผ่นดินใหม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการข่มเหง การต่อสู้ดิ้นรน และการทดลองของยุคแรกนั้น แต่เวลานี้มีที่ประชุมแพร่สะพัดไปทั่วโลก และผู้สอนศาสนาหลายหมื่นคนกล่าวคำพยานที่ประตูบ้านทุกหลังที่ต้อนรับพวกเขา” (The Holy Temple [1980], 135)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11 การรวบรวมอิสราเอล
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่า “โมเสสถือกุญแจแห่งการรวบรวมอิสราเอล ท่านนำอิสราเอลออกจากอียิปต์เข้าไปในแผ่นดินคานาอัน งานที่กำหนดให้ท่านในสมัยการประทานนี้คือมาฟื้นฟูกุญแจเหล่านั้นของการรวบรวมยุคปัจจุบัน” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 2:48) ไม่นานหลังจากนิมิตในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธใช้กุญแจเหล่านี้เริ่มรวบรวมอิสราเอลจากทุกภูมิภาคของโลก ตัวอย่างเช่น ในปี 1837 ท่านส่งเอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ เอ็ลเดอร์ออร์สัน ไฮด์ และผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ ไปอังกฤษเพื่อช่วยรวมรวมจิตวิญญาณเกือบ 2,000 จิตวิญญาณมาสู่ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ผ่านการสั่งสอนของพวกเขา
หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:13 การกลับมาของเอลียาห์
“วันอันสำคัญยิ่งนี้ของนิมิตและการเปิดเผยเกิดขึ้นในวันอาทิตย์อีสเตอร์ 3 เมษายน ค.ศ. 1836 [ดูคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 110] วันใดในสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลาจะยืนยันความเป็นจริงของการฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งได้ดีกว่าวันนี้ สุดสัปดาห์นั้นเป็นปัสกาของชาวยิวด้วย เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ครอบครัวชาวยิวปล่อยเก้าอี้ว่างไว้หนึ่งตัวที่งานเลี้ยงปัสกาของพวกเขาเพราะคาดหวังว่าเอลียาห์จะกลับมา เอลียาห์กลับมาแล้ว—ไม่ได้มาที่งานเลี้ยงปัสกา แต่มาพระวิหารของพระเจ้าในเคิร์ทแลนด์” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือครู, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 168)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:13–16 กุญแจการผนึกหันใจของบรรพบุรุษและลูกหลาน
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า
“ในความเห็นของข้าพเจ้า สมาชิกศาสนจักรมีวิธีเยียวยาชีวิตครอบครัวที่กำลังเสื่อมถอยของพวกเขาได้ผลที่สุด วิธีนั้นคือชาย หญิง และเด็กต้องให้เกียรติและเคารพบทบาทอันสูงส่งของทั้งบิดาและมารดาในบ้าน เมื่อทำเช่นนี้ ความชอบธรรมในบ้านจะส่งเสริมความเคารพกันและความชื่นชมกันในหมู่สมาชิกศาสนจักร ในวิธีนี้ กุญแจการผนึกอันสำคัญยิ่งที่เอลียาห์ฟื้นฟู และมาลาคีกล่าวไว้ จะดำเนินการ ‘หันใจบรรพบุรุษมาหาลูกหลาน, และลูกหลานมาหาบรรพบุรุษ, เกลือกทั้งแผ่นดินโลกจะถูกลงทัณฑ์ด้วยคำสาปแช่ง’ (คพ. 110:15; มาลาคี 4:6) …
“บางทีเราอาจจะถือว่าอำนาจที่เอลียาห์มอบให้เป็นอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับศาสนพิธีอย่างเป็นทางการที่ประกอบในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ศาสนพิธีเหล่านี้จะมีพลังและเกิดผลดีก็ต่อเมื่อศาสนพิธีดังกล่าวเผยตัวในชีวิตประจำวันของเรา มาลาคีกล่าวว่าอำนาจของเอลียาห์จะหัน ใจ ของบรรพบุรุษและลูกหลานเข้าหากัน ใจเป็นศูนย์รวมของอารมณ์ความรู้สึกและช่องทางสำหรับการเปิดเผย (ดู แอลมา 4:5–6) ด้วยเหตุนี้อำนาจการผนึกดังกล่าวจึงเผยตัวในความสัมพันธ์ฉันครอบครัว ในคุณลักษณะและคุณธรรมที่พัฒนาในสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงดู และการรับใช้ด้วยความรัก นี่คือสายใยที่ผูกมัดครอบครัวไว้ด้วยกัน (“Father, Come Home,” Ensign, May 1993, 37)
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า
“การฟื้นฟู [กุญแจฐานะปุโรหิต] มาควบคู่กับสิ่งที่บางครั้งเรียกว่าวิญญาณของเอลียาห์—การแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยเป็นพยานถึงความสูงส่งของครอบครัว” (“ช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวครั้งใหม่,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 39)