เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 27: หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:38–67


บทที่ 27

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:38–67

คำนำ

ในการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20พระเจ้าทรงบัญชาให้จัดตั้งศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1830 พระองค์ประทานคำแนะนำเกี่ยวกับการปกครองศาสนจักรเช่นกัน รวมถึงคำอธิบายเรื่องตำแหน่งต่างๆ ของฐานะปุโรหิตและหน้าที่ของคนที่จะดำรงตำแหน่งเหล่านั้น เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้ บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์จึงได้รับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและทำพันธสัญญา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:38–59

สาธยายหน้าที่ต่างๆ ของตำแหน่งฐานะปุโรหิต

เขียนบนกระดานก่อนชั้นเรียนดังนี้: สั่งสอน สอน อรรถาธิบาย แนะนำ เตือน เชื้อเชิญให้คนทั้งปวงมาหาพระคริสต์

เมื่อเริ่มชั้นเรียน ให้ดูคำบนกระดานและถามคำถามต่อไปนี้

  • ใครมีความรับผิดชอบเหล่านี้ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า อรรถาธิบาย หมายถึงสอนบางสิ่งที่เป็นรายละเอียดมากขึ้น และ แนะนำ หมายถึงกระตุ้นอย่างจริงจังให้ทำบางสิ่งบางอย่าง)

นักเรียนอาจชี้ให้เห็นว่าศาสดาพยากรณ์ อัครสาวก ผู้นำศาสนจักรท่านอื่น และผู้สอนศาสนาเต็มเวลามีความรับผิดชอบเหล่านี้ พวกเขาอาจชี้ให้เห็นเช่นกันว่านี่เป็นหน้าที่ซึ่งผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทุกคน รวมทั้งผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนสามารถทำให้สมบูรณ์ได้ หากพวกเขาไม่ได้พูดถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ให้พูดความจริงนี้ด้วยตัวท่านเอง เน้นว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในชั้นเรียนของท่านได้รับมอบโอกาสสำคัญให้รับใช้

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม อธิบายว่าเกี่ยวกับการจัดตั้งศาสนจักร พระเจ้าทรงเปิดเผยหน้าที่มากมายของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต่อโจเซฟ สมิธ ขอให้กลุ่มหนึ่งศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:-38–45 โดยมองหาหน้าที่ของเอ็ลเดอร์ เชิญกลุ่มสองศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:46–52 โดยมองหาหน้าที่ของปุโรหิต เชิญกลุ่มสามศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:53–59 โดยมองหาหน้าที่ของผู้สอนและมัคนายก ขณะที่พวกเขาศึกษา ให้เขียนตามแนวขวางด้านบนสุดของกระดาน ดังนี้

เอ็ลเดอร์

ปุโรหิต

ผู้สอนและมัคนายก

คพ. 20:38–45

คพ. 20:46–52

คพ. 20:53–59

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ตัวแทนหนึ่งหรือสองคนจากแต่ละกลุ่มมาที่กระดานและเขียนหน้าที่ของตำแหน่งที่พวกเขาศึกษา

  • ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างหน้าที่ของเอ็ลเดอร์ อธิการ ปุโรหิต ผู้สอน และมัคนายก ท่านเห็นความคล้ายคลึงอะไรบ้าง

  • ตำแหน่งใดมีสิทธิอำนาจในการมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (เอ็ลเดอร์; ดู ข้อ 41) ตำแหน่งใดมีสิทธิอำนาจในการปฏิบัติศีลระลึก (เอ็ลเดอร์และปุโรหิต; ดู ข้อ 40 และ 46) ตำแหน่งใดมีสิทธิอำนาจในการแต่งตั้งปุโรหิต, ผู้สอน, และมัคนายก (เอ็ลเดอร์และปุโรหิต; ดู ข้อ 39 และ 48) ตำแหน่งใดมีสิทธิอำนาจในการอรรถาธิบาย แนะนำ และสอน (เอ็ลเดอร์ ปุโรหิต ผู้สอน และมัคนายก; ดู ข้อ 42, 46 และ 59)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับตำแหน่งฐานะปุโรหิตโดยเปรียบเทียบหน้าที่ของพวกเขา

นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงเน้นดังนี้

เมื่อบุตรของพระบิดาบนสวรรค์ได้รับตำแหน่งฐานะปุโรหิตสูงขึ้น พวกเขารับหน้าที่รับผิดชอบและโอกาสให้รับใช้ผู้อื่นมากขึ้น

เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตเพิ่มขึ้น เขายังคงมีตำแหน่งที่ต่ำกว่าและความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องอยู่

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทุกคนมีความรับผิดชอบในการประกอบศาสนพิธีและดูแลสมาชิกของศาสนจักรและปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขา

หลังจากท่านช่วยนักเรียนระบุความจริงสุดท้ายในรายการก่อนหน้านี้แล้ว ให้เขียนความจริงนั้นบนกระดานใต้รายการความรับผิดของของฐานะปุโรหิต ท่านอาจต้องชี้ให้เห็นว่า ปฏิบัติศาสนกิจ หมายถึงให้การรับใช้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความรับผิดชอบของผู้ดำรงฐานะปุโรหิต ให้ดึงความสนใจของพวกเขามาที่รายการบนกระดานและถามคำถามต่อไปนี้

  • มีวิธีใดบ้างที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนสามารถ “ดูแลศาสนจักรเสมอ” และ “อยู่กับพวกเขาและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น” (ตัวอย่างอาจได้แก่ สอนประจำบ้าน ดูแลคนยากไร้และคนขัดสน ดูแลอาคารประชุมและสนาม ทำงานมอบหมายอื่นๆ จากอธิการและผู้นำโควรัมให้เกิดสัมฤทธิผล)

  • มีวิธีใดบ้างที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนสามารถ “เชื้อเชิญให้คนทั้งปวงมาหาพระคริสต์”

ขณะที่สมาชิกชั้นเรียนสนทนาคำถามนี้ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนอ่านคำแนะนำต่อไปนี้

“ถ้าท่านเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิต จำไว้ว่าฐานะปุโรหิตควรเป็นส่วนหนึ่งของท่านตลอดเวลาและในทุกสภาวการณ์ ฐานะปุโรหิตไม่เหมือนเสื้อคลุมที่ท่านสวมและถอดได้ตามใจชอบ การวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตเป็นการเรียกให้รับใช้ชั่วชีวิต โดยมีคำสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงทำให้ท่านมีคุณสมบัติพร้อมทำงานของพระองค์ตามความซื่อสัตย์ของท่าน

“ท่านต้องมีค่าควรจึงจะได้รับและใช้พลังฐานะปุโรหิต คำที่ท่านพูดและความประพฤติในแต่ละวันของท่านมีผลต่อความสามารถของท่านในการรับใช้ ความประพฤติของท่านในที่สาธารณะต้องไม่มีใครตำหนิได้ ความประพฤติในที่ลับยิ่งสำคัญกว่า” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 147)

เขียนคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง (คำกล่าวนี้อยู่ใน “ให้เกียรติฐานะปุโรหิตและใช้ให้ดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 57) ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนคำกล่าวนี้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20 หรือในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

“จุดประสงค์ของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตคือให้ รับใช้ พยุง และสร้างแรงบันดาลใจ” (เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์)

ขอให้นักเรียนพูดถึงเวลาที่พวกเขาเคยเห็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตให้ รับใช้ พยุง และสร้างแรงบันดาลใจ ท่านอาจจะเพิ่มข้อสังเกตของท่าน

ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้คือชี้ให้เห็นว่าแม้การเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20 จะเกี่ยวกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิต แต่สมาชิกทุกคนของศาสนจักรมีความรับผิดชอบและสิทธิพิเศษในการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นเช่นกัน เยาวชนหญิงมีโอกาสมากมายให้รับใช้ บางคนอาจเลือกรับใช้งานเผยแผ่ และพวกเธอจะมีโอกาสเป็นสมาชิกของสมาคมสงเคราะห์ “ทำงานเคียงข้างบุรุษผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาและความชอบธรรมส่วนตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบ้าน เสาะหาและช่วยคนขัดสน” (Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society [2011], 7)

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:38–59 กระตุ้นให้เยาวชนชายเขียนเป้าหมายที่จะช่วยให้พวกเขาดูแลและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์ พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:60–67

ให้แนวทางเกี่ยวกับการแต่งตั้งฐานะปุโรหิต

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:60 และขอให้ชั้นเรียนมองหาบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อมีการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขาเคยเห็นการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตหรือได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งหนึ่งในฐานะปุโรหิต เชิญสองสามคนที่ยกมือ แบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา และความรู้สึกที่มีระหว่างการแต่งตั้ง ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งตั้งอย่างไร

เขียนข้อความต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต้องมีอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับพวกเขาขณะพวกเขาปฏิบัติหน้าที่

เพื่อช่วยให้เยาวชนชายพิจารณาความมีค่าควรของตนเมื่อกำลังปฏิบัติศาสนพิธีฐานะปุโรหิต ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“สิทธิอำนาจของท่านผ่านมาทางการแต่งตั้ง พลังอำนาจของท่านผ่านมาทางการเชื่อฟังและความมีค่าควร …

“พลังอำนาจในฐานะปุโรหิตมาจากการทำหน้าที่ของท่านในเรื่องธรรมดาทั่วไป เช่น เข้าร่วมการประชุม ยอมรับงานมอบหมาย อ่านพระคัมภีร์ รักษาพระคำแห่งปัญญา” (“The Aaronic Priesthood,” Ensign, Nov. 1981, 32–33)

เชื้อเชิญให้เยาวชนชายพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้พวกเขาทำอะไรเพื่อเชื้อเชิญอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้อยู่กับพวกเขาขณะปฏิบัติหน้าที่ฐานะปุโรหิตในปัจจุบันและอนาคต เน้นว่าเยาวชนหญิงมีความรับผิดชอบสำคัญในศาสนจักรเช่นกัน เชื้อเชิญให้พวกเธอพิจารณาว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้พวกเธอทำอะไรเพื่อเชื้อเชิญอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะพวกเธอทำความรับผิดชอบเหล่านั้นให้เกิดสัมฤทธิผล

ท่านอาจจะอธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:61–63 กล่าวถึงจุดประสงค์บางประการของการจัดการประชุมใหญ่ศาสนจักร เช่น การดำเนินกิจธุระศาสนจักรอย่างเปิดเผย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:65 อธิบายว่าในข้อนี้ คำว่า การออกเสียง หมายถึงเสียงสนับสนุนที่บางคนได้รับก่อนรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิต ขอให้เยาวชนชายในชั้นเรียนนึกถึงครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในวอร์ดหรือสาขาเพื่อรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านเห็นสมาชิกในวอร์ด (หรือสาขา) สนับสนุนการแต่งตั้งท่าน การนึกถึงเสียงสนับสนุนของพวกเขาจะช่วยท่านในการรับใช้ฐานะปุโรหิตของท่านได้อย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ พวกเขาจะรู้สึกรับผิดชอบต่อวอร์ดมากขึ้นสำหรับการรับใช้ของพวกเขาและพวกเขาจะรู้สึกถึงการสนับสนุนของสมาชิกวอร์ด)

ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้สึกขอบคุณสำหรับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความจริงที่สนทนาในบทนี้ด้วย

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:42 การดูแลศาสนจักร

เมื่อพูดถึงจุดประสงค์หลักของฐานะปุโรหิต ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวดังนี้

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“การดูแลผู้อื่นคือแก่นแท้ของความรับผิดชอบฐานะปุโรหิต คืออำนาจที่จะให้พร รักษา และปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอดของพระกิตติคุณ” (“พลังของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 49)

เอ็ลเดอร์ดับเบิลยู. แกรนท์ แบงเกอร์เตอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบพูดถึงคนที่ดำรงฐานะปุโรหิตในฐานะ “ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ” ที่ดูแลสมาชิกของศาสนจักรดังนี้

เอ็ลเดอร์ดับเบิลยู. มาร์ก แบสเซตต์

“เป็นเวลาหลายปีที่ข้าพเจ้ามีโอกาสเรียนรู้เป็นส่วนตัวจากประธานมาเรียน จี. รอมนีย์ผู้สอนเราเกี่ยวกับ ‘ธรรมนูญของศาสนจักร’—หมายถึงการเปิดเผยที่ประทานให้เมื่อครั้งจัดตั้งศาสนจักรซึ่งพระเจ้าทรงสรุปวิธีที่ควรใช้ปกครองศาสนจักรไว้ในนั้น ในภาค 20 ของหลักคำสอนและพันธสัญญากล่าวว่าเอ็ลเดอร์ต้อง ‘ดูแลศาสนจักร’ ด้วยความช่วยเหลือของฐานะปุโรหิตที่ต่ำกว่า (ข้อ 42, 53) ส่วนหนึ่งของ ‘การดูแล’ ดังกล่าวคือการเยี่ยมบ้านของสมาชิกและสอนให้พวกเขาทำหน้าที่ของตน ในการเปิดเผยอีกข้อหนึ่งกล่าวถึงโควรัมเอ็ลเดอร์โดยเฉพาะว่าเป็นกลุ่ม ‘ผู้ปฏิบัติศาสนกิจประจำ’ (คพ. 124:137) พระเจ้าทรงเรียกคนที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนว่าเป็น ‘ผู้ปฏิบัติศาสนกิจประจำ’ ด้วย (คพ. 84:111)” (“The Power of the Priesthood,” Ensign, Nov. 1975, 69)

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเล่าเรื่องต่อไปนี้เกี่ยวกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตวัยหนุ่มที่หนุนใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“เมื่อไม่กี่ปีมานี้โควรัมปุโรหิตแห่งหนึ่งตัดสินใจรวบรวมอาหารสำหรับคนขัดสนเพื่อจัดเป็นโครงการบำเพ็ญประโยชน์ จิมเป็นปุโรหิตคนหนึ่ง เขาตื่นเต้นที่ได้มีส่วนร่วมและเราคาดว่าเขาจะเป็นผู้รวบรวมอาหารได้มากกว่าคนอื่น เมื่อถึงเวลาบรรดาปุโรหิตมาพบกันที่โบสถ์ จากนั้นทุกคนออกไปพร้อมกันและกลับมาตามเวลาที่กำหนดไว้ตอนเย็น ทุกคนแปลกใจที่รถลากของจิมว่างเปล่า ดูเขาค่อนข้างขรึม และเด็กบางคนก็ล้อเลียนเขา …

“… ผู้ให้คำปรึกษาถามจิมว่าเขาอารมณ์เสียหรือเปล่า จิมตอบว่า ‘ไม่ครับ ไม่เลย แต่ตอนที่ผมออกไปรวบรวมอาหาร ผมได้เยอะครับ เต็มรถเลย ขณะผมกำลังกลับมาที่โบสถ์ ผมแวะที่บ้านของหญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เธอหย่ากับสามีและอาศัยอยู่ในเขตของวอร์ดเรา ผมเคาะประตูและอธิบายสิ่งที่เรากำลังทำ เธอเชิญผมเข้าบ้าน เธอเริ่มหาของบางอย่างให้ผม เธอเปิดตู้เย็นและผมเห็นว่าในนั้นแทบไม่มีอะไร ตู้กับข้าวไม่มีอะไรเลย ในที่สุดเธอก็พบลูกพีชกระป๋องเล็ก’

“‘ผมไม่อยากจะเชื่อ เด็กเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่บริเวณนั้น ทุกคนต้องการอาหาร แต่เธอยังยื่นลูกพีชกระป๋องนั้นให้ผม ผมรับมาใส่ในรถเข็นและเดินต่อไปตามถนน พอเดินมาได้ครึ่งช่วงตึกผมรู้สึกอบอุ่นไปทั่วร่าง และผมรู้ว่าต้องกลับไปที่บ้านหลังนั้น ผมให้อาหารทั้งหมดแก่เธอ’

“ผู้ให้คำปรึกษากล่าวว่า ‘จิม อย่าลืมความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืนนี้เป็นอันขาดนะ เพราะทั้งหมดนั้นคือเจตนาของการรับใช้’ จิมได้ลิ้มรสสารอาหารของการรับใช้โดยไม่เห็นแก่ตัวแล้ว” (“สารอาหารทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 69)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:46 “หน้าที่ของปุโรหิตคือสั่งสอน, สอน, อรรถาธิบาย, แนะนำ, ให้บัพติศมา, และปฏิบัติศีลระลึก”

ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์

ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเดินทางหลายพันไมล์ไปสั่งสอนพระกิตติคุณเมื่อครั้งเป็นปุโรหิต และตามที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวกับที่ประชุมก่อนแหน้านี้ พระเจ้าทรงสนับสนุนข้าพเจ้าและทรงแสดงเดชานุภาพของพระองค์ให้ประจักษ์ในการปกป้องชีวิตข้าพเจ้าขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนั้นมากเท่ากับที่ทรงปกป้องข้าพเจ้าขณะข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งอัครสาวก พระเจ้าทรงสนับสนุนใครก็ตามที่ดำรงส่วนหนึ่งของฐานะปุโรหิตถ้าเขาขยายการเรียกของตนและทำหน้าที่ของตน ไม่ว่าเขาจะเป็นปุโรหิต เอ็ลเดอร์ สาวกเจ็ดสิบ หรืออัครสาวก” (Deseret Weekly, Nov. 7, 1896, 641) (ดู บอยด์ เค. แพคเกอร์, “The Aaronic Priesthood,” Ensign, Nov. 1981, 33 ด้วย.)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:60–67 การแต่งตั้งฐานะปุโรหิตอย่างถูกต้อง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นว่าการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตอย่างถูกต้องมีความสำคัญมากต่อพระเจ้า

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ท่านจะได้รับฐานะปุโรหิตเฉพาะจากผู้มีสิทธิอำนาจ และ ‘เป็นที่รู้แก่ศาสนจักรว่าเขามีสิทธิอำนาจ’ เท่านั้น (คพ. 42:11)

“เราจะมอบฐานะปุโรหิตเหมือนมอบวุฒิบัตรไม่ได้ จะยื่นให้ท่านเหมือนยื่นเกียรติบัตรไม่ได้ จะส่งให้ท่านเหมือนส่งข่าวสารหรือส่งในจดหมายไม่ได้ แต่จะมาโดยการแต่งตั้งอย่างถูกต้องเท่านั้น ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจจะต้องอยู่ที่นั่น เขาต้องวางมือบนศีรษะและแต่งตั้งท่าน

“นั่นคือเหตุผลประการหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาก—เพื่อถ่ายทอดกุญแจทั้งหลายของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ประธานสเตคทุกคนทุกแห่งในโลกได้รับสิทธิอำนาจของเขาภายใต้มือเจ้าหน้าที่ควบคุมคนหนึ่งของศาสนจักร ไม่เคยมีข้อยกเว้น

“จงจำสิ่งเหล่านี้ ฐานะปุโรหิตมีค่ามากๆ ต่อพระเจ้า พระองค์ทรงรอบคอบมากในเรื่องที่ว่าจะประสาทอย่างไรและโดยใคร อีกทั้งไม่เคยทำในที่ลับ” (“The Aaronic Priesthood,” Ensign, Nov. 1981, 32)