เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 93: หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:70–117


บทที่ 93

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:70–117

คำนำ

บทนี้เป็นบทที่สามในสี่บทเกี่ยวกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 88 การเปิดเผยส่วนที่บทเรียนจะเน้นประทานให้ที่การประชุมใหญ่ของมหาปุโรหิตเมื่อวันที่ 27–28 ธันวาคม ค.ศ. 1832 ในส่วนนี้พระเจ้าทรงแนะนำเหล่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรให้สอนกันและเตรียมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สอง ลำดับทั่วไปที่ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิต และเหตุการณ์บางอย่างแวดล้อมการรบครั้งสุดท้ายกับซาตาน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:70–117

พระเจ้าทรงบัญชาเหล่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรให้เตรียมปฏิบัติศาสนกิจและทรงเปิดเผยเหตุการณ์แวดล้อมการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งมาหน้าชั้นและสอนนักเรียนอีกคนทำงานง่ายๆ บางอย่าง เช่น ผูกเน็กไท (หรืองานอื่นที่นักเรียนคนที่สองไม่รู้วิธีทำ) ขอให้นักเรียนยกมือหากพวกเขาเคยช่วยสอนบทเรียนหรือทักษะให้บางคนเมื่อเร็วๆ นี้ ขอให้นักเรียนสองสามคนอธิบายสิ่งที่พวกเขาสอน จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากการเตรียมสอนและการสอนผู้อื่น

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงมักจะเรียนรู้จากการเตรียมสอนมากกว่าจากคนอื่นสอนเรา

เตือนความจำนักเรียนว่าพระเจ้าประทานการเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88 ต่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตกลุ่มหนึ่งผู้สวดอ้อนวอนขอให้รู้พระประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับการสถาปนาไซอัน ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงเรียกผู้ดำรงฐานะปุโรหิตกลุ่มนี้ว่า “คนงานพวกแรกในอาณาจักรสุดท้ายนี้” (ดู คพ. 88:70, 74) และทรงบัญชาให้พวกเขาวางระเบียบและเข้าโรงเรียนเพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมสั่งสอนพระกิตติคุณในบรรดาประชาชาติของแผ่นดินโลก (ดู คพ. 88:74, 84, 127)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:73–76 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเหล่านี้ให้ทำเพื่อเตรียมสอนผู้อื่น

  • “คนงานพวกแรก” ได้รับบัญชาให้ทำอะไรเพื่อเตรียมสอนผู้อื่นในฐานะผู้สอนศาสนา (ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนคนหนึ่งเป็นคนจดและเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อ “วางระเบียบ” “เตรียมตัว” และ “ชำระ [ตัวเรา] ให้บริสุทธิ์” เพื่อมีประสิทธิผลมากขึ้นในการแบ่งปันพระกิตติคุณ

  • การเป็นคนสะอาดจากบาปส่งผลอย่างไรต่อความสามารถของเราในการแบ่งปันพระกิตติคุณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:77–80 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเหล่านี้ทำเมื่อพวกเขาประชุมกัน ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับคนที่สอนอย่างขยันหมั่นเพียร (พระคุณของพระองค์จะอยู่กับพวกเขา พวกเขาจะได้รับการสอนอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทั้งหมดที่พวกเขาต้องเข้าใจเกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า)

  • “พระคุณ [ของพระเจ้า] จะอยู่กับเจ้า” (คพ. 88:78) หมายความว่าอย่างไร (พระเจ้าจะทรงช่วยเราเมื่อเราสอนและเรียนพระกิตติคุณอย่างขยันหมั่นเพียร)

  • จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้ใน ข้อ 77–78ท่านจะบอกหลักธรรมเกี่ยวกับการสอนว่าอย่างไร (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลายข้อ รวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราสอนกันอย่างขยันหมั่นเพียร พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราเข้าใจความจริงของพระองค์อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การสอนกันจะเตรียมเราให้พร้อมแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมเหล่านี้ไว้บนกระดานโดยใช้คำพูดของนักเรียน)

  • การสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่นช่วยให้ท่านเข้าใจดีขึ้นในด้านใดบ้าง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 79หัวข้ออะไรอีกบ้างที่เราต้องเข้าใจ การมีความรู้กว้างขวางเช่นนั้นจะช่วยเราสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่นได้อย่างไร

ไอคอนเอกสารแจกเพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำคัญของหลักธรรมที่พวกเขาระบุไว้ข้างต้นและประยุกต์ใช้ ให้มอบหมายนักเรียนกลุ่มละสี่คน เตรียมและสอน บทเรียนขนาดเล็กต่อไปนี้ให้สมาชิกในกลุ่มของตน ขอให้นักเรียนสองคนในแต่ละกลุ่มช่วยกันเตรียมสอน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:81–86 และอีกสองคนช่วยกันเตรียมสอน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:87–98 ทำสำเนา คำแนะนำต่อไปนี้ ให้แต่ละกลุ่ม ขอให้พวกเขาอ่านคำแนะนำและข้อพระคัมภีร์ จากนั้นให้ตัดสินใจว่าจะสอนบทเรียนขนาดเล็กแต่ละบทอย่างไร (กระตุ้นให้นักเรียนทั้งสองคนในแต่ละคู่มีส่วนร่วมในการสอน) อธิบายว่าแต่ละคู่จะมีเวลาเตรียมประมาณห้านาทีและสอนประมาณเจ็ดนาที หลังจากนักเรียนมีเวลาเตรียมพอสมควรแล้ว ให้คู่ที่ได้รับมอบหมาย หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:81–86 สอนนักเรียนอีกคู่ในกลุ่มของตน ขอให้นักเรียนสลับบทบาทและเชิญคู่ที่ได้รับมอบหมาย หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:87–98 สอน (หมายเหตุ: ท่านอาจจะอยากเลือกสอนบทเรียนขนาดเล็กด้วยตนเองแทนที่จะขอให้นักเรียนสอนกัน)

บทเรียนขนาดเล็ก 1: หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:81–86

เริ่มบทเรียนด้วยคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเคยรู้สึกขอบคุณเพราะมีคนเตือนท่านเกี่ยวกับเรื่องบางอย่างเมื่อใด (ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเช่นกัน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:81–83 ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการเตือน เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • เราได้รับการเตือนหมายความว่าอย่างไร (เราได้รับการสอนความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากข้อเหล่านี้ (คนที่ท่านสอนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมทำนองนี้: เพราะเราได้รับการเตือนผ่านข่าวสารของพระกิตติคุณ พระเจ้าจึงทรงคาดหวังให้เราเตือนเพื่อนบ้านของเรา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ใน ข้อ 81)

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:84–85 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงแนะนำผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่อยู่กับโจเซฟ สมิธขณะได้รับการเปิดเผยให้ทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อเตรียมตนเองและวิสุทธิชนให้หนีพ้นการพิพากษาในอนาคตซึ่งรอคอยคนชั่วร้าย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:86 ขอให้กลุ่มของท่านมองหาว่าเราควรดำเนินชีวิตอย่างไรขณะที่เราเตรียมแบ่งปันพระกิตติคุณ ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

  • “อย่าให้ตนเองพัวพันในบาป” หมายความว่าอย่างไร คำแนะนำนี้สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตท่านได้อย่างไรขณะที่ท่านเตรียมรับศาสนพิธีพระวิหาร รับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา หรือแต่งงานและมีครอบครัว

เพื่อช่วยให้นักเรียนคิดว่าการพัวพันกับบาปจะส่งผลอย่างไรต่อความสามารถของพวกเขาในการเป็นพยานถึงความจริง ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ไม่มีผู้สอนศาสนาคนใดไม่กลับใจจากการล่วงละเมิดทางเพศหรือการใช้ภาษาไม่สุภาพหรือการหมกมุ่นกับสื่อลามกแล้วคิดจะท้าทายผู้อื่นให้กลับใจจากสิ่งเดียวกัน! ท่านไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ พระวิญญาณจะไม่อยู่กับท่านและเมื่อท่านพูดเรื่องเหล่านี้ท่านจะพูดได้ไม่เต็มปาก ท่านไม่สามารถเดินตามเส้นทางที่ลีไฮเรียกว่า ‘ทางที่ต้องห้าม’ [1 นีไฟ 8:28] และคิดจะนำผู้อื่นไปทาง ‘คับแคบและแคบ’ [2 นีไฟ 31:18] —ท่านจะทำไม่ได้” (“เราผองต้องถูกเกณฑ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 57)

ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความสำคัญของการอยู่อย่างสะอาดจึงจะมีประสิทธิภาพในการแบ่งปันพระกิตติคุณ กระตุ้นคนที่ท่านกำลังสอนให้พยายามสะอาดจากการพัวพันกับบาป

บทเรียนขนาดเล็ก 2: หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:87–98

ถามคนที่ท่านกำลังสอนว่าพากเขาเคยได้ยินบางคนแบ่งปันประจักษ์พยานที่เปี่ยมด้วยพลังหรือไม่ เชื้อเชิญให้พวกเขาพูดถึงประจักษ์พยานนั้นและพวกเขารู้สึกอย่างไรขณะได้ยิน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:87–91 ขอให้นักเรียนที่ท่านกำลังสอนมองหาตัวอย่างของประจักษ์พยานที่เปี่ยมด้วยพลัง หลังจากอ่านจบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า ประจักษ์พยานแบบใดจะเกิดตามหลังประจักษ์พยานของผู้สอนศาสนา

เชื้อเชิญให้นักเรียนที่ท่านกำลังสอนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:92 ในใจและหาดูว่าเทพทั้งหลายของสวรรค์จะกล่าวอะไรในช่วงเวลานี้ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ บอกนักเรียนว่าคำว่า เจ้าบ่าว หมายถึงพระเยซูคริสต์

  • เหตุใดจึงสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:95–98 ขอให้นักเรียนที่ท่านกำลังสอนมองหาคนสองกลุ่มที่พระองค์จะทรงพาขึ้นไปเฝ้าพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์เสด็จมา จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • พระองค์จะทรงพาใครขึ้นไปเฝ้าพระเยซูคริสต์เมื่อพระองค์เสด็จมา (วิสุทธิชนของพระองค์ที่มีชีวิตอยู่และวิสุทธิชนที่สิ้นชีวิตแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนที่ท่านกำลังสอนทำเครื่องหมายคำหรือวลีในข้อเหล่านี้ที่สอนความจริงต่อไปนี้: คนชอบธรรมจะขึ้นไปเฝ้าพระคริสต์เมื่อพระองค์เสด็จมา)

ขอให้คนที่ท่านกำลังสอนทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:98 และมองหาคำหรือวลีที่พูดถึงกลุ่มวิสุทธิชนผู้จะมีส่วนในการเสด็จมาของพระเจ้า จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านพบคำหรือวลีอะไรบ้าง (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “ผลแรก” หมายถึงวิสุทธิชนที่ชอบธรรมผู้จะออกมาในการฟื้นคืนชีวิตรั้งแรก)

แบ่งปันว่าท่านนึกภาพว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรกับการเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จมาครั้งที่สองดังอธิบายไว้ในข้อเหล่านี้

หลังจากนักเรียนสอนกันแล้ว ให้ถามทั้งชั้นดังนี้

สรุป ลูกา 88:97–107 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยว่าคนตายจะฟื้นคืนชีวิตตามลำดับความชอบธรรมของพวกเขา คนที่ฟื้นคืนชีวิตลำดับแรกจะสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก (ดู คพ. 88:97–98) คนที่ฟื้นคืนชีวิตลำดับที่สองจะสืบทอดอาณาจักรเทอร์เรสเตรียลเป็นมรดก (ดู คพ. 88:99) คนที่จะสืบทอดอาณาจักรทีเลสเชียลเป็นมรดกจะฟื้นคืนชีวิตหลังจากมิลเลเนียม (ดู คพ. 88:100–101) คนที่ “ยังสกปรกอยู่”—คนที่เคยมีชีวิตบนแผ่นดินโลกและกลายเป็นบุตรแห่งหายนะ—จะฟื้นคืนชีวิตเป็นอันดับสุดท้ายและถูกขับออกไปในความมืดภายนอก (ดู คพ. 88:102) เมื่อสิ้นสุดหนึ่งพันปีของสันติสุขที่เรียกว่ามิลเลเนียม ซาตานและผู้ติดตามเขาจะมาสู้รบกับผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าที่นำโดยมีคาเอล (หรืออาดัม) ซาตานและผู้ติดตามเขาจะพ่ายแพ้และถูกขับออกไปในความมืดภายนอก

ชี้ให้ดูหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: “เมื่อเราสอนกันอย่างขยันหมั่นเพียร พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราเข้าใจความจริงของพระองค์อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

กระตุ้นให้นักเรียนหาโอกาสสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น เป็นพยานถึงพรที่พวกเขาจะได้รับสำหรับการทำเช่นนั้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:73–76 “เราจะเร่งงานของเราเมื่อถึงเวลา”

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 ไม่นานหลังจากประธานโธมัส เอส. มอนสันประกาศว่าจะลดอายุผู้สอนศาสนาสำหรับเยาวชนชายและเยาวชนหญิง เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าคำประกาศนี้เป็นตัวอย่างการเร่งงานของพระผู้เป็นเจ้า

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังเร่งงานของพระองค์ พระองค์ทรงต้องการผู้สอนศาสนาที่มีค่าควรและเต็มใจเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระจายความสว่าง ความจริง ความหวัง และความรอดแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปทั่วโลกที่มักจะมืดมนและน่ากลัว

“… คำประกาศนี้ … ไม่เกี่ยวกับท่าน แต่เกี่ยวกับข่าวสารซึ่งงดงามและบริสุทธิ์ที่กำลังขอให้ท่านแบ่งปัน” (in “Church Lowers Age Requirement for Missionary Service,” Church News, Oct. 6, 2012, ldschurchnews.com)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:81–82 เตือนเพื่อนบ้านของเรา

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายหน้าที่ของเราเหล่าสมาชิกศาสนจักรในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นดังนี้

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“หน้าที่เตือนเพื่อนบ้านของเราตกอยู่กับเราผู้ยอมรับพันธสัญญาแห่งบัพติศมา เราต้องพูดคุยกับเพื่อนและญาติๆ ที่ไม่เป็นสมาชิกเกี่ยวกับพระกิตติคุณ จุดประสงค์ของเราคือเชื้อเชิญให้พวกเขารับการสอนจากผู้สอนศาสนาเต็มเวลาผู้ได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ให้สอน …

“… เราต้อง … เชื้อเชิญด้วยประจักษ์พยาน ความรักและแบบอย่างจะเปิดทาง แต่เราจะต้องอ้าปากแสดงประจักษ์พยาน …

“บางทีพวกเราบางคนอาจพบว่าเป็นการยากจะเชื่อว่าเรารักมากพอ หรือชีวิตเราดีพอ หรือพลังในการเป็นพยานของเราเพียงพอจะเชื้อเชิญให้เพื่อนบ้านของเรายอมรับ แต่พระเจ้าทรงทราบว่าเราอาจรู้สึกแบบนั้น จงฟังพระดำรัสให้กำลังใจของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงกำกับดูแลให้ใส่ไว้ในภาคแรกของหลักคำสอนและพันธสัญญาเมื่อพระองค์ทรงมอบหน้าที่ให้เราดังนี้ ‘และเสียงเตือนจะมาถึงผู้คนทั้งปวง, โดยปากของสานุศิษย์เรา, ผู้ที่เราเลือกไว้ในวันเวลาสุดท้ายนี้’ (คพ. 1:4)

“และจากนั้น จงฟังพระดำรัสอธิบายคุณสมบัติของสานุศิษย์เหล่านั้น—ของเรา ‘สิ่งอ่อนแอของโลกจะออกมาและปราบผู้ทรงอำนาจและทรงอิทธิพลทั้งหลาย’ (คพ. 1:19)

“และต่อจากนั้น ‘เพื่อความสมบูรณ์แห่งกิตติคุณของเราจะได้รับการประกาศโดยคนอ่อนแอและคนต่ำต้อยถึงสุดแดนแผ่นดินโลก’ (คพ. 1:23)

“และต่อจากนั้นอีกครั้ง ‘และตราบเท่าที่พวกเขาถ่อมตน เราจะทำให้พวกเขาแข็งแกร่ง, และได้รับพรจากเบื้องบน’ (คพ. 1:28)

“คำรับรองดังกล่าวประทานแก่ผู้สอนศาสนารุ่นแรกในศาสนจักรและแก่ผู้สอนศาสนาในปัจจุบัน แต่ประทานแก่เราทุกคนเช่นกัน เราต้องมีศรัทธาว่าเรารักได้มากพอและพระกิตติคุณสัมผัสชีวิตเรามากพอที่คนอื่นจะได้ยินคำเชื้อเชิญให้เลือกของเราราวกับมาจากพระอาจารย์ผู้ซึ่งคำเชื้อเชิญนั้นเป็นของพระองค์” (“พระสุรเสียงเตือน,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 37–39)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:117 การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์

ระหว่างเดือนมกราคมและเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1836 มีการจัดประชุมหลายครั้งในเคิร์ทแลนด์ บางการประชุมเป็นการชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์คือการประชุมพิเศษต่างจากการประชุมอื่นของศาสนจักร ช่วงสัปดาห์ของวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1836 ศาสนจักรจัดการชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของการอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ และสามวันต่อมาจัดการชุมนุมศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1836 การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งจัดราวหนึ่งปีต่อมาคือวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1837

เอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

เอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์

“การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นโอกาสศักดิ์สิทธิ์ จริงจัง และน่ายำเกรงเมื่อวิสุทธิชนมาชุมนุมกันภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุด การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ใช้เพื่อจุดประสงค์สามประการคือ การอุทิศพระวิหาร การแนะนำสั่งสอนผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเป็นพิเศษ และการสนับสนุนประธานศาสนจักรคนใหม่” (“Solemn Assemblies,” Ensign, Nov. 1994, 14)

โรเบิร์ต เจ. นอร์แมน อดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนาทูซอนอธิบายว่า

“การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์จัดขึ้นเพื่อยกระดับความเข้มแข็งทางวิญญาณของวิสุทธิชนและเน้นย้ำความสำคัญของจุดประสงค์ในการชุมนุม ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า ‘เราต้องเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม และเรียกชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ตามที่พระเจ้าทรงบัญชาเรา เพื่อเราจะสามารถทำงานใหญ่ของพระองค์ได้สำเร็จและต้องทำให้สำเร็จในวิธีของพระผู้เป็นเจ้า บ้านของพระเจ้าต้องพร้อม และต้องเรียกชุมนุมศักดิ์สิทธิ์และวางระเบียบในนั้น ตามระเบียบแห่งบ้านของพระผู้เป็นเจ้า’ (Teachings of the Prophet Joseph Smith, sel. Joseph Fielding Smith, Salt Lake City: Deseret Book Co., 1938, p. 91.)

“ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์บันทึกคำแนะนำที่ท่านศาสดาพยากรณ์ให้กับเหล่าเอ็ลเดอร์ก่อนการชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ครั้งนั้นว่า ‘เราได้รับบัญชาให้เตรียมตัวเราสำหรับการชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ ในที่สุดก็ถึงเวลาสำหรับการชุมนุมนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นศาสดาพยากรณ์โจเซฟเตือนเหล่าเอ็ลเดอร์ให้สำรวมความคิด โดยขับความชั่วทุกอย่างออกจากความนึกคิด คำพูดและการกระทำของพวกเขา และชำระใจพวกเขาให้บริสุทธิ์ เพราะพวกเขาต้องไม่คาดหวังพรจากพระผู้เป็นเจ้าหากไม่พร้อมรับพรนั้น เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์จะไม่สถิตอยู่ในวิหารที่ไม่บริสุทธิ์’ (Orson F. Whitney, Life of Heber C. Kimball, 3d ed., Salt Lake City: Bookcraft, 1967, p. 91.)

“การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ที่รอคอยมานานนี้จัดในพระวิหารเคิร์ทแลนด์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1836 สามวันหลังจากการอุทิศพระวิหารดังกล่าว ในการชุมนุม พี่น้องชายสามร้อยคนประชุมกันและได้รับศาสนพิธีบางอย่างของพระกิตติคุณ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจัดระเบียบโควรัมต่างๆ ของศาสนจักร (ดู History of the Church, 2:430–33; คพ. 88:139–141; 109:35) หนึ่งปีต่อมา วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1837 มีการเรียกชุมนุมศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งเพื่อฉลองวันครบรอบของศาสนจักรและจัดระเบียบโควรัมฐานะปุโรหิตเพิ่ม” (Robert J. Norman, “I Have a Question,” Ensign, Dec. 1988, 53)