บทที่ 47
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:1–29
คำนำ
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1830 พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนไปรวมกันที่โอไฮโอ (ดู คพ. 37:3) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1831 พระองค์ทรงสัญญาว่าพวกเขาจะได้รับกฎของพระองค์ (ดู คพ. 38:32) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 หลังจากมาถึงเคิร์ทแลนด์ได้ไม่นาน เอ็ลเดอร์ 12 คนของศาสนจักรมารวมกันและพร้อมใจกันสวดอ้อนวอนตามที่พระเจ้าทรงบัญชาพวกเขา (ดู คพ. 41:2-3) ในครั้งนี้ โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่เวลานี้ประกอบเป็น หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:1–73 ท่านได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ (ดู คพ. 42:74–93) การเปิดเผยเหล่านี้รวมกันเรียกว่า “กฎของศาสนจักร” (คพ. 42 หัวเรื่องของภาค) หลักคำสอนและพันธสัญญา 42 จะแบ่งออกเป็นสามบท บทนี้ครอบคลุม ข้อ 1–29 ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสอนพระกิตติคุณและอรรถาธิบายกฎความประพฤติทั่วไปสำหรับสมาชิกศาสนจักร
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:1–10
พระเจ้าทรงขอให้เอ็ลเดอร์สอนพระกิตติคุณและเสริมสร้างศาสนจักรของพระองค์
เขียนด้านบนสุดของกระดานว่า กฎและพระบัญญัติ
เขียนใต้คำเหล่านั้นว่า
ข้อจำกัด พร ภาระ ความน่ารำคาญ ของประทาน ขีดจำกัด รางวัล
เริ่มโดยถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเลือกใช้คำใดบนกระดานพูดถึงกฎและพระบัญญัติ เชิญนักเรียนสองสามคนบอกคำที่พวกเขาเลือกและอธิบาย หลังจากนักเรียนแบ่งปันความคิดแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
เหตุใดบางครั้งการรักษาพระบัญญัติจึงยาก
-
เหตุใดบางคนจึงรู้สึกว่ากฎและพระบัญญัติเป็นของประทานหรือพร
เตือนนักเรียนว่าหลังจากพระเจ้าทรงบัญชาวิสุทธิชนในนิวยอร์กให้ไปโอไฮโอ พระองค์ทรงสัญญาว่าทันทีที่ไปถึง พระองค์จะประทานกฎแก่พวกเขา (ดู คพ. 38:32) วิสุทธิชนส่วนใหญ่ในนิวยอร์กเชื่อฟังพระบัญชาให้ไปรวมกันที่โอไฮโอ หลังจากพวกเขาบางคนมาถึงเคิร์ทแลนด์ เอ็ลเดอร์ 12 คนประชุมกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและร้องทูลพระเจ้า เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:1–3 กระตุ้นให้นักเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลว่าทำไมเหล่าเอ็ลเดอร์จึงชุมนุมกัน
-
เหตุใดเหล่าเอ็ลเดอร์จึงชุมนุมกันเวลานี้ (พระเจ้าทรงบัญชาให้พวกเขามารวมกันเพื่อรับกฎของพระองค์)
สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:4–10 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงแนะนำเหล่าเอ็ลเดอร์ให้ออกไปเป็นคู่ผู้สอนศาสนาเพื่อเผยแผ่พระกิตติคุณและเสริมสร้างศาสนจักรในทุกภูมิภาคที่เรียกพวกเขาไปจนกว่าจะเรียกผู้คนทุกคนมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:11–17
พระเจ้าทรงอรรถาธิบายหลักธรรมของการสอนพระกิตติคุณ
ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขานั่งอยู่ในห้องนมัสการกำลังรอการประชุมศีลระลึกเริ่ม สมาชิกในฝ่ายอธิการหรือฝ่ายประธานสาขาชักช้าและยังมาไม่ถึง บางคนจากที่ประชุมลุกขึ้นอธิบายว่าเขาจะให้การเรียกบางคนและสอนหลักคำสอนใหม่บางอย่างที่เปิดเผยต่อเขา
-
ท่านจะตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์นี้ เพราะเหตุใด
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:11 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคนที่พระเจ้าตรัสว่าจะมอบอำนาจให้สอนและเสริมสร้างศาสนจักรของพระองค์
-
พระเจ้าตรัสว่าจะมอบอำนาจให้ใครสอนและเสริมสร้างศาสนจักรของพระองค์ (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: คนที่สอนและเสริมสร้างศาสนจักรต้องได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า ได้รับการวางมือแต่งตั้งหรือมอบหน้าที่โดยผู้นำที่ได้รับมอบอำนาจจากศาสนจักร)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11คนที่ได้รับเรียกให้สอนพระกิตติคุณต้องมีการเรียกที่ศาสนจักรรู้ สมาชิกศาสนจักรในปัจจุบันทราบได้อย่างไรว่าบุคคลนั้นได้รับการเรียกในวอร์ดหรือสเตคและจะได้รับการวางมือมอบหน้าที่หรือแต่งตั้งโดยผู้นำศาสนจักร (ผู้นำเสนอชื่อคนที่ได้รับเรียกให้สมาชิกของศาสนจักรออกเสียงสนับสนุน นี่เรียกว่าหลักธรรมของความเห็นชอบร่วมกัน ดู ค.พ. 26:2)
-
ขั้นตอนการสนับสนุนผู้นำและครูของศาสนจักรจะคุ้มครองศาสนจักรและสมาชิกได้อย่างไร (การสนับสนุนผู้นำศาสนจักรช่วยให้เรารู้ว่าใครได้รับเรียกให้นำและสอนในศาสนจักร อีกทั้งช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลทำหน้าที่รับผิดชอบที่ไม่ได้มอบหมายให้พวกเขาและที่พวกเขาไม่มีสิทธิอำนาจ)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:12–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาความรับผิดชอบที่มอบให้คนสอนและคนนำในศาสนจักร รวมทั้งผู้สอนศาสนาเต็มเวลา
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าประทานความรับผิดชอบอะไรให้คนที่พระองค์ทรงเรียกให้สอนหรือนำในศาสนจักร
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ครูและผู้นำต้องสอนหลักธรรมของพระกิตติคุณตามที่พบในพระคัมภีร์
-
ท่านได้รับพรอย่างไรเมื่อครูหรือผู้นำของท่านดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาสอน
ขอให้นักเรียนทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:13 ในใจโดยมองหาว่าใครควรชี้แนะเราขณะที่เราสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าคนที่สอนพระกิตติคุณควรทำอะไรเพื่อให้ได้รับอิทธิพลของพระวิญญาณ
-
เราจะได้รับอิทธิพลของพระวิญญาณอย่างไรเพื่อช่วยเราสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น (หากเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา เราจะได้รับพระวิญญาณมาช่วยเราสอนคนอื่นๆ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำใน ข้อ 14 ที่สอนหลักธรรมนี้ ชี้ให้เห็นว่านอกจากสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแล้ว เราต้องมีค่าควรรับพระวิญญาณด้วย)
เชื้อเชิญให้ันักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“พระคัมภีร์กล่าวว่า ‘จะประทานพระวิญญาณแก่เจ้าโดยคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธา; และหากเจ้าไม่ได้รับพระวิญญาณเจ้าจะไม่สอน’ (คพ. 42:14) ข้อนี้ไม่เพียงสอนว่าท่านจะไม่สอนหรือว่าท่านจะสอนไม่ได้หรือนั่นจะเป็นการสอนที่แย่มาก ไม่ใช่ แต่แรงกว่านั้น คำนี้อยู่ในรูปของคำกริยา ‘เจ้า จะไม่ สอน’ จงใช้คำว่า อย่า แทนคำว่า เจ้าจะไม่ และจะฟังเหมือนพระบัญญัติสิบประการจากเขาซีนาย นี่คือพระบัญญัติ” (“การสั่งสอน การประกาศ การรักษา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2003, 20)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14 และคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ ใครเป็นครูตัวจริงในห้องเรียนของศาสนจักร (พระวิญญาณ)
-
นักเรียนจะช่วยสอนโดยพระวิญญาณได้อย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:16–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก่อนนักเรียนเริ่มอ่าน ท่านอาจจะเตือนนักเรียนว่า คำว่า พระผู้ปลอบโยน ที่ใช้ในข้อเหล่านี้เป็นอีกพระนามหนึ่งของพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 17 พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรู้และทำอะไร (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักคำสอนต่อไปนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา: พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรู้สิ่งทั้งปวงและรับสั่งคำพยานถึงพระบิดาและพระบุตร)
-
จากหลักคำสอนนี้ เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเราเมื่อสอนพระกิตติคุณ
-
การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับท่านจะช่วยคนที่ท่านสอนได้อย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนใคร่ครวญ คำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนหรือเตรียมเป็นเอกสารแจกนักเรียน)
ท่านเคยประสบอำนาจและอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อใดขณะท่านกำลังสอน (แบ่งปัน อธิบาย หรือเป็นพยานถึง) พระกิตติคุณ
ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงแสดงประจักษ์พยานต่อท่านถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนเลือกคำถามหนึ่งข้อและแบ่งปันประสบการณ์กับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการเพิ่มประจักษ์พยานของท่านเองเกี่ยวกับบทบาทอันสำคัญยิ่งของพระวิญญาณในการสอนและการเรียนพระกิตติคุณ
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:18–29
พระเจ้าทรงเปิดเผยกฎและพระบัญญัติสำหรับสมาชิกศาสนจักร
เขียน พระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน (ไม่ต้องเขียนคำในวงเล็บ)
คพ. 42:18–19 (ฆ่า); คพ. 42:20 (ลักขโมย); คพ. 42:21 (กล่าวเท็จ); คพ. 42:22–23 (ตัณหาราคะในผู้อื่น); คพ. 42:24–26 (ล่วงประเวณี); คพ. 42:27 (พูดให้ร้ายผู้อื่น)
อธิบายว่าในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงเปิดเผยกฎและพระบัญญัติเกี่ยวข้องกับสมาชิกทุกคนของศาสนจักร แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามหรือหกคน มอบหมายพระคัมภีร์อ้างอิงบนกระดานให้นักเรียนคนละหนึ่งหรือสองข้อ และอธิบายว่าแต่ละข้อมีพระดำรัสแนะนำของพระเจ้าเกี่ยวกับพระบัญญัติที่เฉพาะเจาะจง ขอให้นักเรียนศึกษาข้อที่มอบหมายและใช้โครงร่างด้านล่าง เตรียมสอนกลุ่มของตน ว่าพวกเขาค้นพบอะไร (ท่านอาจต้องการเขียนโครงร่างไว้บนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจกนักเรียน ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนใช้จุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน หรือคู่มือพระคัมภีร์เป็นตัวช่วยเพิ่มเติม หากชั้นเรียนเล็ก ท่านอาจต้องการให้นักเรียนสอนทั้งชั้นแทนที่จะสอนกลุ่มของตน)
-
เชิญสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มอ่านออกเสียงข้อที่ได้รับมอบหมาย ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้สมาชิกในกลุ่มทำเครื่องหมายพระบัญญัติหรือกฎในข้อนั้น
-
ระบุหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่เราเรียนรู้ได้จากข้อเหล่านี้
-
อธิบายว่าเหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าพระบัญญัติข้อนี้สำคัญและการเชื่อฟังข้อนี้จะมีผลต่อความผาสุกทางวิญญาณของเราอย่างไร
-
แบ่งปันแนวคิดบางอย่างที่เราทุกคนทำได้เพื่อรักษาพระบัญญัติข้อนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้น (หรือป้องกันไม่ให้ละเมิดพระบัญญัติ) ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้คนที่เหลือในกลุ่มแบ่งปันแนวคิดของพวกเขาเช่นกัน
พึงให้เวลานักเรียนเตรียมและสอนกลุ่มของตนมากพอ ขณะที่นักเรียนสอนกัน ให้เดินไปรอบๆ คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจเมื่อจำเป็น
หลังจากนักเรียนสอนกลุ่มของตนเสร็จแล้ว ให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราแสดง … โดยรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:29 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำและวลีมาเติมหลักธรรมนี้ให้ครบถ้วน เชิญนักเรียนคนหนึ่งเติมคำในช่องว่างเพื่อให้ข้อความคล้ายกับหลักธรรมต่อไปนี้: เราแสดงความรักของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)
-
การรักษากฎและพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรารักพระองค์
-
การรักษาพระบัญญัติทำให้ท่านใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นอย่างไร
ขอให้นักเรียนใคร่ครวญเจตคติของพวกเขาต่อกฎและพระบัญญัติของพระเจ้า เชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกพระบัญญัติหนึ่งข้อที่พวกเขาจะพยายามรักษาอย่างเต็มที่มากขึ้นเพื่อแสดงความรักต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด สรุปโดยแบ่งปันว่าการรักษาพระบัญญัติกระชับความสัมพันธ์ของท่านกับพระเจ้าอย่างไร
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:4–7 โอกาสเผยแผ่ศาสนาสำหรับชายหนุ่มและหญิงสาว
ประธานโธมัส เอส. มอนสันเน้นพระบัญชาของพระเจ้าให้เอ็ลเดอร์สั่งสอนพระกิตติคุณ ท่านอธิบายบทบาทของพี่น้องสตรีในงานเผยแผ่ศาสนาเช่นกัน
“อันดับแรก ถึงเยาวชนฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชายหนุ่มที่เป็นเอ็ลเดอร์ ข้าพเจ้าขอย้ำสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์สอนมานาน—ว่าชายหนุ่มที่สามารถและมีค่าควรทุกคนควรเตรียมรับใช้งานเผยแผ่ การรับใช้งานเผยแผ่เป็นหน้าที่ฐานะปุโรหิต—ข้อผูกมัดที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากเราผู้ได้รับมากมาย เยาวชนชายทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านให้เตรียมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ดำรงตนให้สะอาด บริสุทธิ์ และมีค่าควรแก่การเป็นตัวแทนของพระเจ้า รักษาสุขภาพและความแข็งแรง ศึกษาพระคัมภีร์ มีส่วนร่วมในเซมินารีหรือสถาบัน คุ้นเคยกับคู่มือผู้สอนศาสนา สั่งสอนกิตติคุณของเรา
“คำแนะนำสำหรับสตรีสาวของเราคือ แม้ท่านไม่มีความรับผิดชอบฐานะปุโรหิตเหมือนเยาวชนชายให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา แต่ท่านทำคุณประโยชน์ในฐานะผู้สอนศาสนาได้เช่นกัน เรายินดีให้ท่านรับใช้” (“เมื่อเราพบกันอีก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 5–6)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:11 “เป็นที่รู้แก่ศาสนจักรว่าเขามีสิทธิอำนาจ”
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายเหตุผลประการหนึ่งว่าทำไมต้องสนับสนุนผู้ได้รับเรียกสู่ตำแหน่งต่างๆ ในศาสนจักร
“ระเบียบปฏิบัติเดียวกันนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเรียกผู้นำหรือครูหรือปลดจากตำแหน่งหรือทุกครั้งที่มีการจัดระเบียบใหม่ในสเตคหรือวอร์ดหรือโควรัมหรือในองค์การช่วย (ดู คพ. 124:123, 144; ดู คพ. 20:65–67; 26:2ด้วย) นี่เป็นลักษณะเฉพาะของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย
“เรารู้เสมอว่าใครได้รับเรียกให้นำหรือสอน และมีโอกาสสนับสนุนหรือคัดค้านการกระทำดังกล่าว ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามความคิดมนุษย์แต่กำหนดไว้ในการเปิดเผย … ([ดู] คพ. 42:11 ด้วยเหตุนี้ศาสนจักรจึงได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากนักต้มตุ๋นที่จ้องจะครอบงำโควรัม วอร์ด สเตคหรือศาสนจักร” (“คนอ่อนแอและคนต่ำต้อยของศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 6)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22 “แนบสนิทกับนางและหาใช่ใครอื่นไม่”
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า
“‘เจ้าจงรักภรรยาของเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า, และจงแนบสนิทกับนางและหาใช่ใครอื่นไม่’ (คพ. 42:22) ตามความรู้ของข้าพเจ้ามีอีกสิ่งเดียวในพระคัมภีร์ทั้งหมดที่เราได้รับบัญชาให้รักสุดใจของเรา นั่นคือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เอง ลองคิดดูว่านี่หมายถึงอะไร!
“ท่านสามารถแสดงความรักแบบนี้ต่อภรรยาท่านได้หลายวิธี เหนือสิ่งอื่นใด เว้นแต่พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองแล้วไม่มีสิ่งใดในชีวิตท่านสำคัญกว่าภรรยาท่าน—ไม่ใช่งาน ไม่ใช่นันทนาการ ไม่ใช่งานอดิเรก ภรรยาท่านเป็นคู่ชีวิตนิรันดร์ที่มีค่าต่อท่าน
“รักคนบางคนสุดหัวใจหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าท่านรักคนนั้นด้วยความรู้สึกทางอารมณ์ทั้งหมดและด้วยความภักดีทั้งหมดของท่าน โดยแท้แล้วเมื่อท่านรักภรรยาท่านสุดหัวใจ ท่านจะไม่ลดเกียรติเธอ วิพากษ์วิจารณ์เธอ จับผิดเธอ หรือล่วงเกินเธอด้วยวาจา ท่าทีหรือท่าทางบูดบึ้ง
“‘แนบสนิทกับเธอ’ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าท่านอยู่ใกล้เธอ ภักดีและซื่อสัตย์ต่อเธอ สื่อสารกับเธอ และแสดงความรักต่อเธอ” (“To the Fathers in Israel,” Ensign, Nov. 1987, 50)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22–24 “คนที่มองดูหญิงด้วยตัณหาราคะในนาง”
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงความรักและตัณหาราคะดังนี้
“เหตุใดตัณหาราคะจึงเป็นบาปร้ายแรง นอกเหนือจากผลกระทบต่อจิตวิญญาณเราในการทำลายพระวิญญาณจนหมดสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นบาปเพราะมันแปดเปื้อนสัมพันธภาพสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราในความเป็นมรรตัย นั่นคือ—ความรักที่ชายหญิงมีให้กันและความปรารถนาที่สามีภรรยาคู่นั้นจะนำลูกๆ มาสู่ครอบครัวที่มุ่งหมายจะให้อยู่ชั่วนิรันดร์ มีคนเคยพูดว่ารักแท้ต้องคิดถึงความยั่งยืนด้วย รักแท้ยืนยง แต่ตัณหาราคะเปลี่ยนได้เร็วเท่ากับการพลิกหน้าสื่อลามกหรือชำเลืองมองสิ่งเย้ายวนที่เดินผ่านไปมาไม่ว่าชายหรือหญิง เราฮึกเหิมในรักแท้—เหมือนที่ข้าพเจ้ามีให้ซิสเตอร์ฮอลแลนด์ เราตะโกนว่ารักลงมาจากหลังคาบ้าน แต่ตัณหาราคะจะน่าอับอาย แอบทำลับๆ และปิดบังซ่อนเร้น—ยิ่งดึก ยิ่งมืดก็ยิ่งดี มีกลอนประตูสองชั้นเผื่อไว้ ความรักทำให้เราเอื้อมไปหาพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นโดยสัญชาตญาณ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตัณหาราคะไม่เป็นไปตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้าและยกย่องการปล่อยตัวให้หลงระเริง ความรักทำให้เราเปิดใจและอ้าแขนรับผู้คน แต่ตัณหาราคะมากับความหิวกระหายเท่านั้น
“สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเหตุผลบางอย่างที่ทำลายความหมายอันแท้จริงของคำว่ารัก—ไม่ว่าในมโนภาพหรือกับบุคคลอื่น—เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทำลายสิ่งที่รองจากศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า—นั่นคือศรัทธาในผู้ที่เรารัก สิ่งนี้สั่นคลอนเสาหลักแห่งความไว้วางใจซึ่งรองรับความรักในปัจจุบัน—หรือในอนาคต และจะใช้เวลานานในการสร้างความไว้วางใจนั้นขึ้นมาใหม่เมื่อมันได้สูญสลายไปแล้ว เมื่อคิดให้ไกลกว่านั้น—ไม่ว่าจะเกิดขึ้นใกล้ตัว อย่างเช่น สมาชิกในครอบครัว หรือจะเกิดขึ้นกับบุคคลสาธารณะเช่นนักการเมือง นักธุรกิจแนวหน้า ดารานักแสดง หรือนักกีฬาโด่งดัง—และไม่นานเกินรออาคารซึ่งเคยสร้างไว้เป็นบ้านของสังคมที่มีความรับผิดชอบทางศีลธรรม เราจะแขวนป้ายว่า ‘บ้านหลังนี้ว่าง’” (“ไม่มีที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 55–56)
ดูวีดิทัศน์ Mormon Messages เรื่อง “Watch Your Step” (LDS.org) ด้วย
![](https://www.churchofjesuschrist.org/imgs/https%3A%2F%2Fassets.churchofjesuschrist.org%2F26%2Fe2%2F26e2818d53f51f167893824dc012de6ad77fe8ac%2F26e2818d53f51f167893824dc012de6ad77fe8ac.jpeg/full/!250,/0/default)