เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 57: หลักคำสอนและพันธสัญญา 50


บทที่ 57

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50

คำนำ

เมื่อโจเซฟ สมิธมาถึงเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ ท่านสังเกตเห็นว่า “ความคิดแปลกๆ และวิญญาณเท็จบางอย่างคืบคลานเข้ามาในหมู่” วิสุทธิชนบางคน ท่านเริ่มสอนด้วย “ความระมัดระวังและ … ปัญญา” เพื่อเอาชนะสิ่งเหล่านี้ (ดู History of the Church, 1:146) เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์กลับจากงานเผยแผ่และสังเกตเห็นพฤติกรรมทำนองเดียวกันในสาขาต่างๆ ของศาสนจักรนอกเคิร์ทแลนด์ เขากับเอ็ลเดอร์คนอื่นๆ จึงไปหาโจเซฟเพื่อรับการนำทาง (ดู History of the Church, 1:170) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1831 ท่านศาสดาพยากรณ์ทูลถามพระเจ้าและได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50 ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนสอนและรับพระกิตติคุณโดยพระวิญญาณแห่งความจริง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:1–9

พระเจ้าทรงเตือนเหล่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรเรื่องวิญญาณเท็จ

ขอให้นักเรียนสมมติว่ากำลังเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกซึ่งสมาชิกผู้ใหญ่บางคนยืนบนม้านั่งและพูดเสียงดังขณะคนอื่นๆ กลิ้งไปบนพื้น

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไร ท่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพระวิญญาณภายใต้สภาวการณ์เช่นนั้น (พึงแน่ใจว่าการสนทนาเรื่องนี้จะไม่กลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเช่นนั้น)

อธิบายว่าเมื่อโจเซฟ สมิธมาถึงเคิร์ทแลนด์ครั้งแรก ท่านเห็นว่าวิสุทธิชนบางคนถูกหลอกระหว่างเวลาที่พวกเขามีผู้นำไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้ “ความคิดแปลกๆ และวิญญาณเท็จบางอย่างจึงคืบคลานเข้ามาในหมู่” พวกเขา (History of the Church, 1:146) สมาชิกใหม่ในเขตเคิร์ทแลนด์นำกิจกรรมแปลกๆ เสียงดัง และวุ่นวายมาใช้ในพิธีนมัสการของพวกเขา กิจกรรมเหล่านี้ปลุกใจผู้คน แต่ไม่จรรโลงใจ เอ็ลเดอร์บางคนของศาสนจักรไม่เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจึงขอคำแนะนำจากท่านศาสดาพยากรณ์ ท่านทูลถามพระเจ้าและได้รับการเปิดเผยที่จะช่วยให้วิสุทธิชนจรรโลงใจกันขณะพวกเขาสอนและเรียนรู้ความจริงพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาที่มาของอิทธิพลนี้ในหมู่วิสุทธิชน

  • อะไรคือที่มาของอิทธิพลนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3เหตุใดซาตานจึงต้องการหลอกวิสุทธิชน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:4–9 ในใจโดยมองหาพระดำรัสเตือนของพระเจ้าเกี่ยวกับบางคนในหมู่สมาชิกศาสนจักรในโอไฮโอ

  • พระเจ้าทรงใช้คำอะไรตรัสถึงสมาชิกบางคนของศาสนจักรในเวลานี้

  • คนหน้าซื่อใจคดเป็นอย่างไร ความหน้าซื่อใจคดให้พลังแก่ปฏิปักษ์อย่างไร

  • พระเจ้าตรัสว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนหน้าซื่อใจคด (ดู คพ. 50:6, 8)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:10–36

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีสอนและเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

การเป็นครูสอนพระกิตติคุณที่มีประสิทธิภาพต้องทำอย่างไร

การเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่มีประสิทธิภาพต้องทำอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามเหล่านี้ บันทึกประเด็นหลักๆ ของพวกเขาไว้บนกระดานใต้คำถามแต่ละข้อ แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่ม เชิญกลุ่มหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–20 ในใจโดยมองหาคำตอบของคำถามข้อแรก เชิญนักเรียนอีกกลุ่มอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–20 ในใจโดยมองหาคำตอบของคำถามข้อสอง หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

  • ข้อเหล่านี้กล่าวซ้ำองค์ประกอบใดของการสอนและการเรียนพระกิตติคุณ (ต้องมีพระวิญญาณ)

  • ใน หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 50:14กล่าวถึงบทบาทอะไรบ้างของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (นักเรียนควรกล่าวว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระผู้ปลอบโยน และ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนความจริง)

  • ท่านคิดว่าสอนพระกิตติคุณ “โดยพระวิญญาณ” หมายความว่าอย่างไร (คพ. 50:14) ท่านคิดว่าสอนโดย “ทางอื่นใด” หมายความว่าอย่างไร (คพ. 50:17)

ขอให้นักเรียนนึกถึงโอกาสที่พวกเขาต้องสอนพระกิตติคุณ พวกเขาอาจนึกถึงการสอนที่บ้าน กับเพื่อนๆ ในเซมินารี ที่โบสถ์ หรือในฐานะผู้สอนประจำบ้าน เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขารู้สึกว่าพระวิญญาณทรงนำทางพวกเขาในการสอนพระกิตติคุณหรือการแบ่งปันประจักษ์พยาน

  • ท่านคิดว่า “รับ [พระคำแห่งความจริง] โดยพระวิญญาณ” หมายความว่าอย่างไร (คพ. 50:19) ท่านคิดว่ารับพระคำโดย “ทางอื่นใด” หมายความว่าอย่างไร (คพ. 50:19)

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับพระกิตติคุณได้ดีขึ้นเมื่อสอนโดยพระวิญญาณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องต่อไปนี้ที่เล่าโดยเอ็ลเดอร์แจ็ค เอช. โกลสลินด์แห่งสาวกเจ็ดสิบ ขอให้ชั้นเรียนฟังข้อคิดเกี่ยวกับว่าเราจะรับพระคำแห่งความจริงโดยพระวิญญาณได้ดีขึ้นอย่างไร

เอ็ลเดอร์แจ็ค เอช. โอ๊คส์

“กี่คนในพวกท่านทำ ‘ท่าเบื่อ’ ระหว่างการประชุมศีลระลึก ท่านรู้จักท่านั้นคือ โน้มตัวลงมาเท่าระดับเอว มือเกยคาง วางข้อศอกบนเข่า พลางจ้องมองฟื้นอย่างเหม่อลอย ท่านเคย เลือก ทำเช่นนั้นไหมไม่ว่าการประชุมจะน่าสนใจหรือไม่ก็ตาม …

“ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่าการนมัสการ ‘เป็นความรับผิดชอบส่วนตัว และไม่ว่าจะพูดอะไรจากแท่นพูด ถ้าคนนั้นประสงค์จะนมัสการพระเจ้าในวิญญาณและในความจริง เขาจะทำเช่นนั้น … หากการประชุมเป็นความล้มเหลวสำหรับท่าน แสดงว่าท่านล้มเหลว ไม่มีใครนมัสการแทนท่านได้ ท่านต้องรอคอยพระเจ้าด้วยตนเอง’ (Ensign, Nov. 1978, p. 5)

“เยาวชนคนหนึ่งบรรยายว่าเขาประสบวิญญาณแห่งการนมัสการครั้งแรกอย่างไร เขาแข็งขันเล็กน้อยตลอดหลายปีที่เขาดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน เมื่อเขาเข้าร่วมการประชุมศีลระลึก เขามักจะนั่งหลังห้องกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง และเขาไม่เป็นต้นแบบของความคารวะเลย แต่วันหนึ่งเขามาสายเล็กน้อย และไม่มีที่นั่งข้างเพื่อนๆ เขานั่งคนเดียว และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาหลับตาระหว่างการสวดอ้อนวอน เขาร้องเพลงสวด เขาฟังคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก และเขาตั้งใจฟังผู้พูด ระหว่างฟังผู้พูดคนแรกไปได้ครึ่งหนึ่ง เขาพบว่าเขาน้ำตาคลอ ด้วยความเขินอาย เขาจึงกวาดตามองรอบๆ ดูเหมือนไม่มีใครสะเทือนอารมณ์ เขาไม่แน่ใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเขา แต่ประสบการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตเขา ระหว่างการประชุมนั้นเขาเริ่มเตรียมทางวิญญาณสำหรับงานเผยแผ่ เขา รู้สึก บางอย่างและโชคดีที่เขาทำตามและด้วยเหตุนี้จึงรักษาความรู้สึกเหล่านั้นไว้” (“Yagottawanna,” Ensign, May 1991, 46)

เชิญนักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาประทับใจส่วนใดของเรื่องนี้ หลังจากสองสามคนแบ่งปันแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียนวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะปรับปรุงความพยายามของตนเองในการเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขากำลังสอนและเรียนรู้โดยพระวิญญาณ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:21–22 และขอให้ชั้นเรียนมองหาคำแนะนำของพระเจ้าว่าจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร

  • เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราสอนและเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

  • ท่านคิดว่า “ได้รับการจรรโลงใจและชื่นชมยินดีด้วยกัน” หมายความว่าอย่างไร ท่านเคยประสบสิ่งนี้เมื่อใด

  • ท่านจะสรุปคำสอนของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–22 ว่าอย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราสอนและเรียนรู้โดยพระวิญญาณ เราเข้าใจกันและเราได้รับการจรรโลงใจและชื่นชมยินดีด้วยกัน เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:23–25 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาการตรงกันข้ามระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนสอนโดยพระวิญญาณกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนสอนและเรียนรู้โดย “ทางอื่นใด” (คพ. 50:17) ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • พระเจ้าตรัสถึงการสอนที่ไม่จรรโลงใจว่าอย่างไร

  • พระเจ้าตรัสถึงการสอนที่ “มาจากพระผู้เป็นเจ้า” ว่าอย่างไร (คพ. 50:24) พระองค์ตรัสว่าเราจะได้รับพรอย่างไรเมื่อเราได้รับการสอนเช่นนั้น

  • ในข้อเหล่านี้สอนหลักคำสอนอะไร (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: สิ่งซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นความสว่างและจรรโลงใจ แต่สิ่งที่ไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้าทำให้เกิดความสับสนและความมืด เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าสิ่งที่ท่านได้ยิน เห็น หรือประสบไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณทรงช่วยให้ท่านรับรู้เช่นนั้นอย่างไร

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าพวกเขาจะได้ยินและเห็นข่าวสารที่ตั้งใจจะทำลายศรัทธาของพวกเขา หลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้จะทำให้พวกเขามีพลังต้านทานข่าวสารเหล่านั้น ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพระวิญญาณทรงช่วยให้ท่านเล็งเห็นว่าข่าวสารนั้นไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:26–36 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงแนะนำผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเกี่ยวกับอำนาจและความรับผิดชอบที่มากับการแต่งตั้งพวกเขา พระองค์ตรัสว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต้องรับใช้ผู้อื่นและรักษาตัวให้บริสุทธิ์ ขณะทำเช่นนั้นพระเจ้าจะประทานอำนาจให้เอาชนะวิญญาณเท็จเหมือนที่พบในหมู่วิสุทธิชนบางคนเมื่อครั้งประทานการเปิดเผยนี้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:37–46

พระเจ้าทรงกระตุ้นให้วิสุทธิชนเติบโตต่อไปในพระคุณและความจริง พระองค์ทรงรับรองว่าจะทรงอยู่กับพวกเขา

ให้ดูภาพ การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 112; ดู LDS.orgด้วย) ชี้ให้ดูเด็กผู้ชายตัวเล็กสุดและถามคำถามต่อไปนี้

การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว
  • ท่านนึกภาพเด็กผู้ชายคนนี้รับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาเมื่อเขาโตขึ้นออกหรือไม่ ภาพนี้มีอะไรบ่งบอกว่าเขาจะพร้อมรับใช้

  • ขณะพิจารณางานที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เราแต่ละคน เราเหมือนเด็กผู้ชายคนนี้อย่างไร

ชี้ให้เห็นว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:37–40 เป็นคำแนะนำจากพระเจ้าถึงเอ็ลเดอร์บางคนซึ่งอยู่ที่นั่นเมื่อได้รับการเปิดเผยนี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ข้อ 40 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เอ็ลเดอร์เหล่านี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 40เหตุใดพระเจ้าทรงเรียกผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเหล่านี้ว่า “เด็กน้อย” เราเหมือนเด็กน้อยในด้านใด

  • ท่านคิดว่า “เติบโตในพระคุณ” หมายความว่าอย่างไร ท่านคิดว่าเติบโต “ในความรู้เรื่องความจริง” หมายความว่าอย่างไร

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อนี้เกี่ยวกับพรที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เราได้รับ (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เราเติบโตในพระคุณและในความรู้เรื่องความจริง)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:41–46 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำปลอบโยนและคำรับรองที่พระเจ้าประทานแก่เอ็ลเดอร์เหล่านี้และแก่เรา

  • เมื่อพระเจ้าตรัสว่า “เจ้าเป็นของเรา” พระดำรัสนี้มีความหมายอะไรต่อท่าน คำรับรองนี้จะช่วยให้เรา “ไม่กลัว” ได้อย่างไร (คพ. 50:41)

  • ในข้อเหล่านี้สัญญาใดมีความหมายต่อท่านอีกบ้าง

สรุปโดยเป็นพยานถึงหลักธรรมที่สอนในบทเรียนวันนี้ กระตุ้นให้นักเรียนสอนและเรียนรู้โดยพระวิญญาณอย่างเต็มที่มากขึ้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50 วิธีที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผย

เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์บรรยายเรื่องโจเซฟ สมิธบอกให้จดการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50 ในส่วนนี้เป็นคำบรรยายที่มีรายละเอียดมากที่สุดตอนหนึ่งที่เรามีเมื่อศาสดาพยากรณ์บอกให้จดการเปิดเผย เอ็ลเดอร์แพรทท์กล่าวว่า

พาร์ลีย์ พี. แพรทท์

“ท่านเอ่ยแต่ละประโยคช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ และหยุดเป็นช่วงๆ ระหว่างประโยคนานพอที่ผู้เขียนทั่วไปจะบันทึกอย่างรวดเร็วได้

“… ไม่เคยมีความลังเล การตรวจทาน หรือการอ่านทวนเพื่อให้เรื่องราวปะติดปะต่อ … และข้าพเจ้าเห็นการจดตามคำบอกจากการสื่อสารครั้งละหลายหน้าด้วยตาตนเอง” (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [1938], 62)

หลังจากโจเซฟ สมิธบอกให้จดการเปิดเผย ท่านทบทวนฉบับเขียนเสมอโดยแสวงหาการดลใจเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงในส่วนที่จำเป็น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50 “ความคิดแปลกๆ และวิญญาณเท็จ” เกิดขึ้นในหมู่วิสุทธิชน

จอห์น วิตเมอร์พูดถึง “ความคิดแปลกๆ และวิญญาณเท็จ” (History of the Church, 1:146) ในหมู่วิสุทธิชนที่เคิร์ทแลนด์ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1831 ดังนี้

จอห์น วิตเมอร์

“บางคนเห็นนิมิตและบอกไม่ได้ว่าพวกเขาเห็นอะไร บางคนเข้าใจเอาเองว่าตนมีดาบของเลบัน และกวัดแกว่งดาบ [เหมือนทหารบนหลังม้า] บางคนทำท่าเหมือนชาวอินเดียนกำลังถลกหนังศีรษะ บางคนไถลหรือถลาไปบนพื้นด้วยความเร็วเหมือนงูซึ่งพวกเขาบอกว่ากำลังแล่นเรือไปสั่งสอนพระกิตติคุณในบรรดาชาวเลมัน และยังมีการกระทำอันโง่เขลาไร้สาระอีกมากมายที่ไม่เหมาะไม่ควรและไม่มีประโยชน์ที่จะเอ่ยถึง” (Documents, Volume 1: July 1828–June 1831, vol. 1 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], 305)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–14, 17 การสอนโดยพระวิญญาณแห่งความจริง

เอ็ลเดอร์ัดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายสิ่งที่เราต้องทำก่อนจึงจะสามารถสอนโดยพระวิญญาณได้

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เราต้องศึกษาพระคัมภีร์ เราต้องศึกษาคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต เราต้องเรียนรู้ทั้งหมดที่ทำได้เพื่อทำให้ตัวเราสามารถนำเสนอและเข้าใจได้ … การเตรียมเป็นเงื่อนไขอันดับแรกของการสอนโดยพระวิญญาณ” (“Teaching and Learning by the Spirit,” Ensign, Mar. 1997, 10)

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ แห่งฝ่ายประธานสูงสุดให้ข้อคิดและคำแนะนำที่จะช่วยเราสอนโดยพระวิญญาณดังนี้

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“หลักคำสอนมีพลังในตัวเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันว่าเป็นความจริง …

“เพราะเราต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจึงต้องระมัดระวังอย่าสอนนอกเหนือหลักคำสอนที่แท้จริง พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพระวิญญาณแห่งความจริง การยืนยันของพระองค์มาถึงเมื่อเราหลีกเลี่ยงการคาดเดาหรือตีความเอาเอง นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ท่านรักคนที่ท่านกำลังพยายามโน้มน้าว บุคคลดังกล่าวอาจไม่สนใจหลักคำสอนที่เคยได้ยิน ท่านอาจถูกล่อลวงให้ลองสอนเรื่องใหม่ๆ หรือเรื่องน่าตื่นเต้น แต่เราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนเมื่อเราตั้งใจสอนเฉพาะหลักคำสอนที่แท้จริงเท่านั้น” (“สอนหลักคำสอนที่แท้จริง,” เลียโฮนา, เม.ย. 2009, 4)

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการสอนโดยพระวิญญาณกับการสอนโดยสติปัญญาของเราดังนี้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“หลายปีก่อนข้าพเจ้ามีงานมอบหมายในเม็กซิโกและอเมริกากลางคล้ายกับงานของประธานภาค …

“วันอาทิตย์วันหนึ่ง … ข้าพเจ้าไปเยี่ยมการประชุมฐานะปุโรหิตสาขาหนึ่งซึ่งผู้นำฐานะปุโรหิตชาวเม็กซิกันที่อ่อนน้อมถ่อมตนและไม่มีประสบการณ์พยายามถ่ายทอดความจริงของพระกิตติคุณ เห็นชัดว่าความจริงเหล่านั้นสัมผัสชีวิตเขาอย่างลึกซึ้ง ข้าพเจ้าสังเกตเห็นเขาปรารถนาจะถ่ายทอดหลักธรรมเหล่านั้นอย่างแรงกล้า เขารู้ว่าหลักธรรมมีค่ามากต่อพี่น้องชายที่เขารัก เขาอ่านจากคู่มือบทเรียน แต่ท่าทางของเขาบ่งบอกความรักอันบริสุทธิ์ต่อพระผู้ช่วยให้รอดและคนที่เขาสอน ความรักนั้น ความจริงใจ และความบริสุทธิ์ของเจตนาช่วยให้พระวิญญาณบริสุทธิ์แผ่อิทธิพลทั่วห้อง …

“ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าไปเยี่ยมชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ในวอร์ดที่ครอบครัวข้าพเจ้าเข้าร่วม อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาดีนำเสนอบทเรียน ประสบการณ์นั้นตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับประสบการณ์ที่ได้รับในการประชุมฐานะปุโรหิตสาขา ดูเหมือนครูผู้สอนจงใจเลือกข้ออ้างอิงที่คลุมเครือและยกตัวอย่างไม่เหมือนใครเพื่อสอนหัวข้อที่เขาได้รับมอบหมาย—ชีวิตของโจเซฟ สมิธ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกชัดเจนว่าเขาใช้โอกาสนี้ทำให้ชั้นเรียนประทับใจกับความรู้มากมายของเขา … ดูเหมือนเขาไม่มีเจตนาจะถ่ายทอดหลักธรรมเหมือนผู้นำฐานะปุโรหิตที่อ่อนน้อมถ่อมตนคนนั้น …

“… ความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้นำฐานะปุโรหิตชาวเม็กซิกันจำเป็นต่อการใช้เขาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความจริงทางวิญญาณ” (“Helping Others to Be Spiritually Led” [address to CES religious educators, Aug. 11, 1998], 10–11, LDS.org)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:19–20 รับโดยวิญญาณ

ประธานเจ. รูเบน คลาร์กแห่งฝ่ายประธานสูงสุดแนะนำว่าเรามีบทบาทสำคัญในการพิจารณาว่าผู้พูดสอนโดยพระวิญญาณหรือไม่

ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์

“เราสามารถบอกได้ว่า ‘พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ’ ผู้พูดเมื่อใดก็ต่อเมื่อ ‘พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ’เรา

“ฉะนั้นการพิจารณาว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจผู้พูดเมื่อใดจึงเป็นความรับผิดชอบของเราไม่ใช่ของพวกเขา” (“When Are Church Leaders’ Words Entitled to Claim of Scripture?” Church News, July 31, 1954, 9)

เอ็ลเดอร์ โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของนักเรียนในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพดังนี้

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“ยิ่งสมาชิกชั้นเรียนอ่านพระคัมภีร์ที่มอบหมายให้อ่านมากเพียงใด พวกเขาจะยิ่งนำพระคัมภีร์มาชั้นเรียน พวกเขาจะยิ่งสนทนาว่าพระกิตติคุณมีความหมายอะไรในชีวิตพวกเขา การดลใจ การเติบโต และปีติของพวกเขาจะยิ่งมากขึ้นเมื่อพวกเขาพยายามไขข้อกังวลและปัญหาท้าทายของตน” (“Teaching by the Spirit,” Ensign, Jan. 1989, 15)

เอ. โรเจอร์ เมอร์ริล ประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญเน้นความจำเป็นพื้นฐานที่เราต้องเรียนโดยพระวิญญาณดังนี้

เอ. โรเจอร์ เมอร์ริลล์

“ข้าพเจ้าเข้าใจดีขึ้นว่าการ รับ โดยพระวิญญาณสำคัญเพียงไร เรามักจะเน้นความสำคัญของการสอนโดยพระวิญญาณ นั่นเป็นเรื่องสมควรทำ แต่เราต้องจำไว้ว่าพระเจ้าทรงให้ความสำคัญเท่ากันกับการรับโดยพระวิญญาณ ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน (ดู คพ. 50:17–22)” (“รับด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 117)

เอ็ลเดอร์แจ็ค เอช. โกลสลินด์แห่งสาวกเจ็ดสิบเล่าเรื่องต่อไปนี้เพื่ออธิบายว่าเราแต่ละคนมีความสามารถในการเลือกว่าจะเรียนรู้โดยพระวิญญาณหรือไม่

เอ็ลเดอร์แจ็ค เอช. โอ๊คส์

“หลายปีก่อนข้าพเจ้าได้ยินเกี่ยวกับบราเดอร์ที่ดีคนหนึ่งพูดถึงเจตคติของเขาขณะประธานเดวิด โอ. แมคเคย์กล่าวปราศรัยปิดการประชุมใหญ่สามัญ บ่ายวันนั้นร้อนอบอ้าว และนี่เป็นการประชุมภาคที่ห้าที่เขาเข้าร่วม เขานั่งอยู่ตรงที่นั่งชั้นบน และเขาใจลอยอยู่เป็นประจำ เขาสังเกตเห็นชายคนหนึ่งนั่งหลับอยู่ช่วงกลางๆ ศีรษะเอนไปด้านหลังและปากอ้า เขาคิดว่าถ้าเขาอยู่ใต้หลังคาแทเบอร์นาเคิล เขาจะถ่มน้ำลายผ่านช่องระบายอากาศใส่ปากชายที่กำลังนั่งหลับคนนั้น ช่างเป็นความคิดที่น่าตื่นเต้นเหลือเกิน! หลังจากการประชุม เขาบังเอิญได้ยินชายสองคนคุยกันเกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาระหว่างประธานแมคเคย์พูด พวกเขาตื้นตันใจอย่างเห็นได้ชัดกับสิ่งที่พวกเขาได้ยิน เขานึกในใจว่า ชายสองคนนี้มีประสบการณ์ทางวิญญาณที่ยอดเยี่ยม ส่วนฉันทำอะไรอยู่ ฉันมัวแต่คิดเรื่องถ่มน้ำลายลงจากเพดานไง!” (“Yagottawanna,” Ensign, May 1991, 46)