เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 78: หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:1–19


บทที่ 78

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:1–19

คำนำ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1832 โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันกำลังทำการแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ (บางครั้งเรียกว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ) ขณะพวกท่านกำลังแปลและไตร่ตรองความหมายของ ยอห์น 5:29 พวกท่านเห็นนิมิตซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 ระหว่างนิมิตนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเห็นนิมิตที่ชัดเจนต่อเนื่องซึ่งยืนยันการดำรงอยู่จริงและความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ สอนเรื่องการตกของซาตานและบุตรแห่งหายนะ เปิดเผยลักษณะของอาณาจักรแห่งรัศมีภาพทั้งสามและผู้ที่จะได้รับอาณาจักรเหล่านี้เป็นมรดก ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะบอกว่า ‘นิมิต’ [ใน ภาค 76] เพียงที่เดียวก็เป็นการเปิดเผยที่ให้ความสว่าง ความจริง และหลักธรรมมากกว่าการเปิดเผยใดๆ ในหนังสืออื่นที่เราเคยอ่าน ช่วยให้เราเข้าใจดีถึงสภาพปัจจุบันของเรา เรามาจากไหน เรามาที่นี่ทำไม และเราจะไปที่ไหน ใครๆ ก็รู้ได้โดยผ่านการเปิดเผยนั้นว่าบทบาทและสภาพของเขาจะเป็นเช่นไร” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ [2004], 124)

ท่านจะสอนหลักคำสอนและพันธสัญญา 76 ในสี่บท บทนี้ครอบคลุมสาระโดยสังเขปของนิมิต พรที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนซื่อสัตย์ และการกระทำที่ทำให้โจเซฟ สมิธกับซิดนีย์ ริกดันได้รับนิมิต

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

สาระโดยสังเขปของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 76

ขอให้นักเรียนบอกชื่อสถานที่สองสามแห่งที่พวกเขาอยากไปเที่ยววันหยุดหรือวันพักร้อน (เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน) วงกลมจุดหมายแห่งหนึ่งที่เขียนไว้บนกระดาน ขอให้นักเรียนจดรายละเอียดของเส้นทางที่พวกเขาจะต้องเดินทางไปให้ถึงจุดหมายที่เลือกไว้ หลังจากนั้นหนึ่งหรือสองนาที ให้เชิญนักเรียนสองสามคนบอกสิ่งที่พวกเขาเขียน จากนั้นให้เลือกจุดหมายหนึ่งที่เขียนไว้บนกระดานซึ่งต่างจากจุดหมายแรกอย่างมาก และถามคำถามต่อไปนี้

  • หากท่านไปตามเส้นทางที่เขียนไว้สำหรับจุดหมายแรก เส้นทางนั้นจะพาท่านไปถึงจุดหมายนี้หรือไม่

  • จุดหมายที่ท่านเลือกมีผลอย่างไรต่อเส้นทางที่ท่านต้องใช้เพื่อไปให้ถึง

อธิบายว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1832 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันได้รับนิมิตที่เปิดเผยจุดหมายนิรันดร์ของมนุษยชาติ นิมิตนี้ซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 กล่าวถึงรัศมีภาพ (หรืออาณาจักร) สามระดับและระดับการพัฒนาทางวิญญาณของคนที่จะได้อาณาจักรเหล่านั้นเป็นมรดก เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุการเลือกที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรซีเลสเชียลขณะพวกเขาศึกษานิมิตนี้สี่บทติดต่อกัน นอกจากนี้ ให้พวกเขาไตร่ตรองด้วยว่าการเลือกที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบันกำลังนำพวกเขาไปสู่จุดหมายนิรันดร์อันจะทำให้เกิดความสุขสูงสุดหรือไม่

เพื่อให้สาระโดยสังเขปของเนื้อหาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 ให้แจกสำเนา แผนภาพต่อไปนี้ให้นักเรียน (ท่านอาจต้องการทำสำเนาให้เล็กพอที่นักเรียนจะสอดไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาหรืออ้างถึงได้ขณะพวกเขาศึกษาภาค 76) อธิบายว่าแผนภาพสรุปสิ่งที่โจเซฟกับซิดนีย์เห็นและเรียนรู้ในนิมิตที่พวกท่านได้รับ

อาณาจักรแห่งรัศมีภาพ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:1–10

พระเจ้าทรงสัญญาพรกับคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม มองหาคำและวลีที่กล่าวถึงพระลักษณะของพระเยซูคริสต์

  • พระลักษณะของพระเยซูคริสต์ในข้อเหล่านี้ข้อใดมีความสำคัญต่อท่าน เพราะเหตุใด

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่พระลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอดดังที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:5

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 เราต้องทำอะไรจึงจะประสบพระเมตตาและความปรานีของพระเจ้า (เราต้องเกรงกลัวพระองค์ อธิบายว่าในบริบทนี้ เกรงกลัว พระเจ้าหมายถึงเคารพนับถือและรักพระองค์)

  • เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับเกียรติของพระเจ้า ท่านคิดว่ารับใช้พระเจ้า “ในความชอบธรรมและในความแน่วแน่จนกว่าชีวิตจะหาไม่” หมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:6–9 ในใจและมองหาสัญญาที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนที่ยำเกรงและรับใช้พระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พรใดมาถึงคนที่ยำเกรงและรับใช้พระเจ้า (ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนว่า คำว่า ความลี้ลับ ใน ข้อ 7 หมายถึงความจริงทางวิญญาณที่จะรู้ได้โดยผ่านการเปิดเผยเท่านั้น)

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเรายำเกรงพระเจ้าและรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ พระองค์จะทรงให้เกียรติเราโดย …

เชื้อเชิญให้นักเรียนเติมหลักธรรมบนกระดานให้ครบถ้วน พวกเขาควรระบุดังนี้: หากเรายำเกรงพระเจ้าและรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ พระองค์จะทรงให้เกียรติเราโดยทรงเปิดเผยความจริงต่อเรา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระเจ้าจะทรงเปิดเผยความจริงต่อเราได้อย่างไร ให้ชูหลอดไฟ (หรือไฟฉาย) และถามว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับอิทธิพลของพระวิญญาณ หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาข้อคิดเพิ่มเติมว่าหลอดไฟ (หรือไฟฉาย) จะเกี่ยวข้องอย่างไรกับอิทธิพลของพระวิญญาณ

  • อิทธิพลของพระวิญญาณเปรียบเสมือนต้นกำเนิดของแสงสว่างเช่นหลอดไฟอย่างไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้: พระเจ้าทรงให้ความกระจ่างแก่เราโดยพระวิญญาณ)

  • ให้ความกระจ่าง หมายถึงอะไร (ให้ความรู้หรือความเข้าใจลึกซึ้งทางวิญญาณที่เพิ่มพูนความเข้าใจของเราหรือช่วยให้เรามองเห็นความจริง)

  • ท่านเคยประสบความกระจ่างโดยพระวิญญาณเมื่อใด (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:11–19

โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันบรรยายสถานการณ์ที่ชักนำให้พวกท่านเห็นนิมิต

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:11–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสัมฤทธิผลของคำสัญญาที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5–10

  • ประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเป็นสัมฤทธิผลในด้านใดของคำสัญญาที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5–10

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาอ่านพระคัมภีร์และไม่เข้าใจสิ่งที่อ่าน

  • ท่านเคยทำอะไรบ้างเพื่อให้เข้าใจพระคัมภีร์มากขึ้น

อธิบายว่าการกระทำของโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันก่อนได้รับนิมิตนี้สามารถสอนเราได้ว่าเราจะเข้าใจพระคัมภีร์ดีขึ้นและอัญเชิญพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ให้ทรงเปิดเผยความจริงต่อเราได้อย่างไร

มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ เชิญนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่อ่านคำนำภาค หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 ในใจ เชิญนักเรียนอีกคนในแต่ละคู่อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:15–19 ในใจ ขอให้นักเรียนมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเคยทำหรือกำลังทำอยู่ซึ่งเตรียมพวกท่านให้พร้อมรับความเข้าใจเรื่องพระคัมภีร์ผ่านการเปิดเผย (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคำนำภาคมากขึ้น ท่านอาจต้องอธิบายว่า คำว่า ต่างๆ หมายถึงหลายครั้ง ท่านอาจต้องการอธิบายเช่นกันว่าในสมัยของโจเซฟ สมิธ คนส่วนใหญ่ที่เชื่อในพระคัมภีร์ไบเบิลคิดว่าหลังจากการพิพากษาครั้งสุดท้ายทุกคนจะถูกส่งไปสวรรค์หรือไม่ก็นรก) หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านพอสมควรแล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบกับคู่ของตน จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันทำอะไรเพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมรับนิมิตนี้ (พวกท่านกำลังศึกษาและตรึกตรอง ยอห์น 5:29)

  • ตรึกตรองพระคัมภีร์หมายความว่าอย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ ไตร่ตรองหรือขบคิดสิ่งที่ท่านกำลังอ่าน ถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านอ่าน และเชื่อมโยงสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้กับสิ่งที่ท่านรู้แล้ว)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากแบบอย่างของโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดัน (นักเรียนอาจเสนอหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงเน้นหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน เท่ากับเราเตรียมตนเองให้พร้อมรับความเข้าใจจากพระเจ้าผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวิธีศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอนได้ดีขึ้น ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน (ท่านอาจต้องการจัดเตรียมสำเนาคำกล่าวนี้ให้นักเรียนดูตาม)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“เมื่อข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘ศึกษา’ ข้าพเจ้าหมายความมากกว่าการอ่าน … บางครั้งข้าพเจ้าเห็นท่านอ่านสองสามข้อ หยุดไตร่ตรอง อ่านข้อเดิมอีกครั้งอย่างถี่ถ้วน และขณะที่ท่านตรึกตรองความหมาย ท่านสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจ ถามข้อสงสัยที่มีอยู่ในใจ รอคอยความประทับใจทางวิญญาณ จดความประทับใจและข้อคิดอันลึกซึ้งที่เกิดขึ้นเพื่อท่านจะสามารถจดจำและเรียนรู้ได้มากขึ้น ในการศึกษาแบบนี้ท่านอาจจะอ่านพระคัมภีร์ได้ไม่กี่บทหรือไม่กี่ข้อในเวลาครึ่งชั่วโมง แต่ท่านจะมีที่ให้พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจท่าน และพระองค์จะตรัสกับท่าน” (“เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 13)

  • การกระทำอะไรบ้างที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันเชื่อมโยงกับการศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน

  • นอกจากข้อเสนอแนะของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันแล้ว ท่านได้ทำอะไรอีกบ้างเพื่อศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • ท่านเคยประสบอะไรอันเนื่องจากการศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน

กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้ การกระทำที่สนทนาวันนี้ในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของพวกเขา ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับการศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

สาระโดยสังเขปของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 เลือกเส้นทางที่ถูกต้องสำหรับจุดหมายที่ปรารถนา

เรื่องต่อไปนี้ที่เล่าโดยเอ็ลเดอร์สเตอร์ลิงค์ ดับเบิลยู. ซิลล์แห่งสาวกเจ็ดสิบแสดงให้เห็นความสำคัญของการเลือกเส้นทางที่จะนำเราไปสู่จุดหมายนิรันดร์ที่เราปรารถนามากที่สุด

เอ็ลเดอร์สเตอร์ลิงก์ ดับเบิลยู. ซิลล์

“เราน่าจะเรียนรู้บทเรียนสำคัญมากมายจากเรื่อง ‘บนรถโดยสารผิดคัน’ ที่ ดร. แฮร์รีย์ อีเมอร์สัน ฟอสดิคเล่าไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว เรื่องมีอยู่ว่าชายคนหนึ่ง [ในสหรัฐ] ขึ้นรถโดยสารด้วยเจตนาและปรารถนาจะไปดิทรอยต์ แต่เมื่อมาถึงจุดหมายของการเดินทางที่ยาวนาน เขากลับพบตนเองอยู่ในแคนซัสซิตี ตอนแรกเขาไม่อยากจะเชื่อ แต่เมื่อเขาถาม [ทางไป] วูดวอร์ดอเวนิวและทราบว่าที่นั่นไม่มีวูดวอร์ดอเวนิว เขาโกรธมาก—เขารู้ว่ามี ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่งกว่าเขาจะรู้ข้อเท็จจริงว่าถึงแม้เขาจะมีเจตนาดีและความปรารถนาที่จริงใจ เขาไม่ได้อยู่ในดิทรอยต์แต่อยู่ในแคนซัสซิตี ทุกอย่างดียกเว้นรายละเอียดเล็กๆ เรื่องเดียว นั่นคือเขาขึ้นรถโดยสารผิดคัน

“ไม่น่าสนใจหรอกหรือที่คนจำนวนมากมาถึงจุดหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาไม่ตั้งใจจะไป เราเลือกเป้าหมายของเกียรติยศ ความสำเร็จ และความสุข จากนั้นบางครั้งเราขึ้นรถโดยสารที่พาเราไปถึงจุดหมายซึ่งเต็มไปด้วยความไร้เกียรติ ความล้มเหลว และความไม่พอใจ จุดประสงค์เบื้องต้นของการดำรงอยู่ในชีวิตมรรตัยของเราคือเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังจากนี้ จุดหมายที่เป็นไปได้ของเราถูกแยกย่อยออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ ซึ่งเปาโลเปรียบเทียบความปรารถนากับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว …

“และด้วยเหตุนี้เราจึงกลับมาที่แนวคิดอันสำคัญยิ่งนี้อีกครั้งซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในโลก คือหนึ่ง เรารู้ว่าเราต้องการไปที่ใด และสอง เราขึ้นรถโดยสารที่จะพาเราไปถึงที่นั่น” (“On the Wrong Bus,” New Era, July 1983, 4, 6.)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:11–12 “โดยอำนาจของพระวิญญาณดวงตาของเราจึงเปิด”

โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันกล่าวว่าขณะพวกท่านกำลังแปล ยอห์น 5:29 พวกท่านอยู่ “ในพระวิญญาณ” (คพ. 76:11) และ “โดยอำนาจของพระวิญญาณ” (คพ. 76:12) ตาของพวกท่านจึงเปิด ในบริบทนี้ วลีเหล่านี้หมายถึงสภาพทางกายและทางวิญญาณชั่วคราวที่เรียกว่าการเปลี่ยนสภาพ การเปลี่ยนสภาพเกิดขึ้นเมื่อ “บุคคล … ได้รับการเปลี่ยนลักษณะภายนอกและธรรมชาติชั่วคราว—กล่าวคือ, ได้รับการยกขึ้นสู่ระดับทางวิญญาณที่สูงกว่า—ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะทนต่อการปรากฏและรัศมีภาพของสัตภาวะจากสวรรค์ได้” (คู่มือพระคัมภีร์, “เปลี่ยนสภาพ (การ)” scriptures.lds.org)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:19 การศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนเรื่องความแตกต่างระหว่างการศึกษาและการไตร่ตรองกับความสัมพันธ์ระหว่างการไตร่ตรองและการได้รับการเปิดเผยดังนี้

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“การอ่าน การศึกษา และการไตร่ตรองไม่เหมือนกัน เราอ่านเนื้อความและเราอาจได้แนวคิด เราศึกษาและเราอาจค้นพบรูปแบบและความเชื่อมโยงในพระคัมภีร์ แต่เมื่อเราไตร่ตรอง เราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยพระวิญญาณ การไตร่ตรองสำหรับข้าพเจ้าคือการคิดและการสวดอ้อนวอนที่ข้าพเจ้าทำหลังจากอ่านและศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วนแล้ว” (“รับใช้ด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 76)

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน

“โดยการไตร่ตรอง เราเปิดโอกาสให้พระวิญญาณกระตุ้นเตือนและนำทาง” (“There Are Many Gifts,” Ensign, Nov. 1987, 20)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 “นิมิต”

โจเซฟ สมิธกำกับดูแลให้เขียนฉบับร้อยกรองของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 ที่เรียกกันทั่วไปว่า “นิมิต” บทร้อยกรองพิมพ์วันที่ 1 กุมภาพันธ์ค.ศ. 1843 ในหนังสือพิมพ์ศาสนจักรชื่อ Times and Seasons ซึ่งตีพิมพ์ที่เมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1839 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 (ดู Times and Seasons, Feb. 1, 1843, 82–85) ตารางด้านล่าง แสดงให้เห็นส่วนต่างๆ ของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 ตามบาทของบทร้อยกรองและข้อคิดที่เราได้จากทั้งสอง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76

การถอดความบทร้อยกรอง

ข้อคิด

ข้อ 24

“ว่าโดยพระองค์, และโดยผ่านพระองค์, และจากพระองค์, โลกต่าง ๆ สร้างขึ้นมาและเคยสร้างขึ้นมาแล้ว, และผู้อยู่อาศัยในนั้นเป็นบุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า.”

บาท 19–20

“19. และข้าได้ยินสุรเสียงเป็นพยานจากสวรรค์ว่า

พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด และพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า—

โดยพระองค์ จากพระองค์ และผ่านพระองค์ โลกต่างๆ สร้างขึ้นมา

แม้ทั้งหมดที่เคลื่อนอย่างรวดเร็วทั่วฟ้าสวรรค์

“20. ผู้อยู่อาศัยในนั้น ตั้งแต่คนแรกถึงคนสุดท้าย

รอดได้โดยพระผู้ช่วยให้รอดองค์เดียวกันของเรา

และล้วนเป็นบุตรธิดาที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า

โดยความจริงเดียวกัน และพลังอำนาจเดียวกัน”

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงสำหรับผู้อยู่อาศัยในโลกนี้เท่านั้นแต่สำหรับผู้อยู่อาศัยในโลกทั้งหมดที่พระองค์ทรงสร้างด้วย

ข้อ 72–73

“ดูเถิด, คนเหล่านี้คือคนที่ตายโดยปราศจากกฎ;

“นอกจากนี้ คือพวกที่เป็นวิญญาณของคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ, ผู้ที่พระบุตรเสด็จไปเยือน, และทรงสั่งสอนพระกิตติคุณแก่พวกเขา, เพื่อพวกเขาจะได้รับการพิพากษาตามมนุษย์ในเนื้อหนัง”

บาท 54–55

“54. ดูเถิด คนเหล่านี้คือคนที่ตายโดยปราศจากกฎ

คนนอกศาสนาหลายยุคที่ไม่เคยมีความหวัง

คนที่อยู่ในเขตและเงาแห่งความตาย

วิญญาณในเรือนจำ แสงส่องถึงคนเหล่านี้

“55. ครั้งหนึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสั่งสอนวิญญาณในเรือนจำ

สอนพระกิตติคุณพวกเขาด้วยเดชานุภาพ

ต่อมาคนเป็นรับบัพติศมาแทนคนตายของพวกเขา

เพื่อพวกเขาจะรับการพิพากษาประหนึ่งมนุษย์ในเนื้อหนัง”

ไม่เหมือนอัลวิน สมิธผู้จะยอมรับพระกิตติคุณแน่นอนหากเขามีโอกาสได้รับก่อนเขาสิ้นชีวิต (ดู คพ. 137) มีคนมากมายจะปฏิเสธพระกิตติคุณหากพวกเขาได้รับในช่วงชีวิตมรรตัย แต่เพราะพระเมตตาใหญ่หลวงของพระผู้เป็นเจ้า คนเหล่านี้จึงมีโอกาสได้ยินและยอมรับพระกิตติคุณในเรือนจำวิญญาณและรับการพิพากษาประหนึ่งพวกเขาอยู่ในเนื้อหนัง

ข้อ 74–77

“ผู้หาได้รับประจักษ์พยานถึงพระเยซูในเนื้อหนังไม่, แต่ภายหลังรับ.

“คนเหล่านี้คือคนน่ายกย่องสรรเสริญของแผ่นดินโลก, ผู้ที่มืดบอดโดยเล่ห์กลของมนุษย์.

“คนเหล่านี้คือคนที่ได้รับรัศมีภาพแห่งพระองค์, แต่มิได้รับความสมบูรณ์แห่งพระองค์.

“คนเหล่านี้คือคนที่ได้รับพระสิริของพระบุตร, แต่มิได้รับความสมบูรณ์แห่งพระบิดา.”

บาท 56–57

“56. คนเหล่านี้คือคนน่ายกย่องสรรเสริญของแผ่นดินโลก

คนมืดบอดและถูกหลอกเพราะเล่ห์ของมนุษย์

ทีแรกพวกเขาหารับความจริงของพระผู้ช่วยให้รอดไม่

แต่รับเมื่อได้ยินอีกครั้งในเรือนจำ

“57. พวกเขาไม่ได้มงกุฎเพราะไม่องอาจในความจริง

แต่ครอบครองรัศมีภาพคล้ายรัศมีภาพของดวงจันทร์

พวกเขาคือคนที่เข้าในที่ประทับของพระคริสต์

แต่หาใช่ความสมบูรณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้าบนบัลลังก์ของพระองค์”

มีคนน่ายกย่องมากมายที่ปฏิเสธพระกิตติคุณในชีวิตนี้ แต่ต่อมากลับใจและยอมรับพระกิตติคุณเมื่อสอนพวกเขาในโลกวิญญาณ พวกเขาจะได้รับรัศมีภาพเทอร์เรสเตรียล ซึ่งเปรียบเสมือนแสงของดวงจันทร์ พวกเขาจะสามารถร่วมงานกับพระเยซูคริสต์ แต่จะไม่ได้รับความสมบูรณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา