เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 39: หลักคำสอนและพันธสัญญา 33–34


บทที่ 39

หลักคำสอนและพันธสัญญา 33–34

คำนำ

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1830 พระเจ้าทรงเรียกเอซรา เธเยอร์และนอร์ธรอพ สวีทให้ประกาศพระกิตติคุณ การเปิดเผยนี้ซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33 มีคำแนะนำว่าชายเหล่านี้จะสอนพระกิตติคุณอย่างไร ไม่นานหลังจากนั้น ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 34 พระเจ้าทรงชื่นชมออร์สัน แพรทท์สำหรับศรัทธาของเขาและทรงบัญชาให้เขาสั่งสอนพระกิตติคุณเช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:1–6

พระเจ้าทรงเรียกเอซรา เธเยอร์และนอร์ธรอพ สวีทให้ประกาศพระกิตติคุณ

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนบนกระดานดังนี้: แตร ปาก หู ทุ่งขาวพร้อมจะเก็บเกี่ยว (หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ดูภาพสิ่งเหล่านี้) เมื่อเริ่มชั้นเรียน ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับงานเผยแผ่ศาสนาอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทสำหรับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 33 ให้อธิบายว่าเอซรา เธเยอร์อาศัยอยู่ใกล้ครอบครัวของโจเซฟ สมิธ ซีเนียร์ เขารู้จักสมาชิกในครอบครัวสมิธผ่านงานที่เขาทำให้โจเซฟหลายครั้ง ในเดือนตุลาคม ปี 1830 เอซรา เธเยอร์กับนอร์ธรอพ สวีทชาวเมืองพอลไมราอีกคนหนึ่งรับบัพติศมาเข้ามาในศาสนจักร ไม่นานหลังจากนั้น ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่ตรัสกับชายสองคนนี้ ซึ่งเวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33

เชื้อเชิญให้นักเรียน อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:1–2 ในใจโดยมองหาคำและวลีที่เกี่ยวข้องกับภาพวาด (หรือคำ) บนกระดาน (จะพูดถึงภาพปากในภายหลังของบทนี้) หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่า “เปิดหูเจ้าและจงสดับฟังสุรเสียงของ … พระผู้เป็นเจ้า” หมายความว่าอย่างไร เราจะแสดงให้พระเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าหูของเราเปิดรับการได้ยินสุรเสียงของพระองค์

  • ท่านคิดว่าการประกาศพระกิตติคุณ “ราวกับด้วยเสียงแตร” หมายความว่าอย่างไร

อธิบายว่าพระเจ้ามักจะทรงใช้สิ่งของที่เราคุ้นเคย เช่น แตร เป็นสัญลักษณ์ของการสอนพระกิตติคุณและช่วยให้เราเข้าใจความจริงนิรันดร์ ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสัญลักษณ์เพิ่มเติมที่พระเจ้าทรงใช้ในการเปิดเผยนี้

  • ท่านคิดว่าสวนองุ่นของพระเจ้าเป็นสัญลักษณ์ของอะไร (โลก)

  • คนงานในทุ่งของพระเจ้าจะเป็นตัวแทนของใคร (สมาชิกศาสนจักรของพระเจ้า)

  • ท่านคิดว่าวลี “นี่คือโมงที่สิบเอ็ด” หมายความว่าอย่างไร (นี่เป็นสมัยการประทานสุดท้ายของพระกิตติคุณและเป็นครั้งสุดท้ายที่พระเจ้าจะทรงตั้งอาณาจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลกก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์)

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:4 ในใจโดยหาดูว่าพระเจ้าตรัสถึงสภาพของโลกในปี 1830 ว่าอย่างไร

  • วลีใดในข้อนี้สะดุดใจท่าน เพราะเหตุใด เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ตัวเรามีพลังต่อต้านอิทธิพลเสื่อมทรามของโลก

เขียนบนกระดานดังนี้: พระเจ้าทรง และทรง .

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสักครู่ว่าพระเจ้าได้ทรงทำหรือทรงกำลังทำอะไรเพื่อช่วยให้พวกเขามีพลังต่อต้านความเสื่อมทรามของโลก อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:5–6 พระเจ้าทรงประกาศบางสิ่งที่ทรงทำไปแล้วและสิ่งหนึ่งที่ทรงทำอยู่เพื่อช่วยเพิ่มพลังให้เราต่อต้านความเสื่อมทรามของโลก เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่พระเจ้าทรงทำแล้วและจะทรงทำเพื่อเพิ่มพลังให้เรา

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสิ่งใดไปแล้วและทรงกำลังทำอะไรเวลานี้ที่จะช่วยให้เรามีพลังต่อต้านความเสื่อมทรามของโลก (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งเติมช่องว่างในข้อความบนกระดาน คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์และทรงกำลังรวมผู้ที่ทรงเลือกไว้ในวันเวลาสุดท้าย)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้เพิ่มขึ้นและรู้สึกถึงความสำคัญของความจริงดังกล่าว ให้มอบหมายพวกเขาทำงานเป็นคู่และสนทนาคำตอบของพวกเขาสำหรับ คำถามต่อไปนี้ ท่านอาจจะอ่านออกเสียงคำถามเหล่านี้ เขียนไว้บนกระดาน หรือทำเป็นเอกสารแจก (ไม่ต้องเขียนคำตอบในวงเล็บ)

  1. ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6 ใครคือผู้ที่ทรงเลือกไว้ (คนที่จะเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและสดับฟังสุรเสียงของพระองค์)

  2. เมื่อพิจารณาความเสื่อมทรามของโลก เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องให้ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้มารวมกัน

  3. การเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเพิ่มพลังให้ท่านต่อต้านความเสื่อมทรามของโลกอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:7–18

พระเจ้าประทานคำแนะนำแก่เอซรา เธเยอร์และนอร์ธรอพ สวีทสำหรับการสอนพระกิตติคุณ

ให้ดูภาพปาก (หรือคำว่า ปาก) บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:7–10 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเอซรา เธเยอร์และนอร์ธรอพ สวีทว่าพวกเขาต้องทำอะไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราอ้าปากประกาศพระกิตติคุณ …

ขอให้นักเรียนใช้สิ่งที่เรียนรู้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:7–10 เติมข้อความนี้ให้ครบถ้วน ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานเพื่อเขียนหลักธรรมนี้ให้จบ อาจจะเขียนได้ดังนี้: หากเราอ้าปากประกาศพระกิตติคุณ พระเจ้าจะทรงดลใจเราให้รู้ว่าจะพูดอะไร

  • เราอาจจะลังเลไม่กล้าอ้าปากพูดเรื่องพระกิตติคุณในสถานการณ์ใดบ้าง

  • ท่านตัดสินใจอ้าปากพูดเรื่องพระกิตติคุณและรู้สึกถึงการดลใจให้รู้ว่าจะพูดอะไรเมื่อใด ท่านเคยเห็นคนอื่นแบ่งปันพระกิตติคุณและรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการดลใจในสิ่งที่พูดเมื่อใด

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:11–15 โดยอธิบายว่าในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงแนะนำเอซรา เธเยอร์และนอร์ธรอพ สวีทให้สั่งสอนหลักธรรมและศาสนพิธีเบื้องต้นของพระกิตติคุณ—ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

ให้ดูหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดานอีกครั้ง ขอให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่เราต้องทำนอกจากการอ้าปาก เพื่อพระเจ้าจะทรงสามารถดลใจเราให้รู้ว่าจะพูดอะไรขณะแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:16–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุคำแนะนำเฉพาะเจาะจงที่พระเจ้าประทานแก่เอซรา เธเยอร์และนอร์ธรอพ สวีทที่จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าต้องพูดอะไรในฐานะผู้สอนศาสนา

  • พระเจ้าประทานคำแนะนำอะไรแก่เอซราและนอร์ธรอพที่จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าจะพูดอะไรในฐานะผู้สอนศาสนา (ท่านอาจจะเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าอะไรคือความหมายของคำแนะนำจากพระเจ้าให้ “ขลิบไส้ตะเกียงและให้ลุกโชติช่วง และมีน้ำมันอยู่กับเจ้า” (คพ. 33:17) (เตรียมพร้อมทางวิญญาณตลอดเวลาเพื่อรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ ข้อนี้เชื่อมโยงกับอุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคนใน มัทธิว 25:1–13 และที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:56–57)

  • คำแนะนำของพระเจ้าในข้อเหล่านี้จะช่วยให้เราพร้อมอ้าปากแบ่งปันพระกิตติคุณทุกเวลาและในทุกสถานการณ์ได้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 34

พระเจ้าทรงชื่นชมออร์สัน แพรทท์สำหรับศรัทธาของเขาและทรงบัญชาให้เขาสั่งสอนพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญให้นักเรียนดูในบทนำของ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 34 เพื่อหาตัวอย่างของคนที่ได้รับพรเมื่ออีกคนอ้าปากแบ่งปันพระกิตติคุณ

  • ใครได้รับพรในตัวอย่างนี้ ออร์สัน แพรทท์อายุเท่าใดตอนที่เขารับบัพติศมา เขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าตรัสถึงออร์สันว่าอย่างไร ให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ จากนั้นขอให้ชั้นเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:2–3 ในใจเพื่อค้นพบสาเหตุที่พระเจ้าทรงเรียกเขาว่า “บุตรของเรา”

  • เหตุใดพระเจ้าทรงเรียกออร์สันว่าบุตรของพระองค์ (เพราะออร์สันเชื่อในพระเจ้า)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:3 พระเจ้าทรงทำอะไรสำหรับ “คนมากเท่าที่” เชื่อในพระองค์ (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าความจริงในข้อนี้ประยุกต์ใช้ได้กับสตรีเช่นกัน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:4–6 ขอให้นักเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับออร์สันว่าจะนำพรเข้ามาในชีวิตเขามากขึ้น

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึง “ยิ่งเป็นสุข” เมื่อเราสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น

เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:10–11 ขอให้นักเรียนดูตามโดยมองหาพรที่ประทานแก่ผู้แบ่งปันพระกิตติคุณกับคนอื่นๆ อย่างขยันหมั่นเพียร

  • คนที่สอนพระกิตติคุณอย่างขยันหมั่นเพียรจะได้รับพรอะไรบ้าง (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: คนที่สอนพระกิตติคุณอย่างขยันหมั่นเพียรจะทำเช่นนั้นโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์)

  • พระเจ้าทรงสัญญาพรอะไรกับคนซื่อสัตย์ (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน: หากเราซื่อสัตย์ พระเจ้าจะทรงอยู่กับเรา)

  • ความจริงใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:11 จะช่วยท่านในยามท้อแท้ได้อย่างไร

ท่านอาจต้องการสรุปโดยแบ่งปันเกี่ยวกับเวลาที่ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงอยู่กับท่านเมื่อท่านซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ท่านอาจต้องการเป็นพยานถึงความจริงที่สนทนาในบทเรียนนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 33 นอร์ธรอพ สวีท

นอร์ธรอพ สวีทรับบัพติศมาเป็นสมาชิกของศาสนจักรโดยพาร์ลีย์ พี. แพรทท์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1830 ในพอลไมรา รัฐนิวยอร์ก เขาได้รับแต่งตั้งให้รับใช้งานเผยแผ่ในเดือนตุลาคม ปี 1830 (ดู คพ. 33) เขาย้ายไปเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอราวเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1831 ที่นั่นเขาได้รับแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ แต่เขาออกจากศาสนจักรไม่นานหลังจากนั้นและพยายามตั้งอีกนิกายหนึ่ง โดยอ้างว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาปลอม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:1 งานของพระผู้เป็นเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง

พระเจ้าทรงใช้ภาพน่าประทับใจบางอย่างอธิบายพลังแห่งพระคำของพระองค์ แนวคิดที่ว่าพระคำของพระผู้เป็นเจ้าเปี่ยมด้วยพลังเป็นแนวคิดที่เข้าใจง่ายเพราะพระคำของพระองค์ทำให้ทุกอย่างตั้งแต่ฟ้าสวรรค์จนถึงใจมนุษย์หวั่นไหว คำว่า มีชีวิต ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:1 ไม่ได้หมายถึงรวดเร็ว แต่หมายถึงมีชีวิตอยู่ (ดู Bible Dictionary, “Quick”) วลี “คมกว่าดาบสองคบ, ที่จะแยกข้อต่อและไขกระดูก, จิตวิญญาณและวิญญาณออกจากกัน” บอกชัดเจนว่าพระคำของพระผู้เป็นเจ้าสามารถตัดทะลุถึงใจคนได้อย่างไร (ดู 1 นีไฟ 16:1–2ด้วย)

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเอซรา เธเยอร์แสดงตัวอย่างให้เห็นว่าพระคำของพระผู้เป็นเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง เอซรา เธเยอร์จำได้ว่า

“เมื่อไฮรัมเริ่มพูด ทุกคำสัมผัสจิตวิญญาณส่วนลึกที่สุดของผม ผมคิดว่าทุกคำมุ่งมาที่ผม พระผู้เป็นเจ้าทรงลงโทษผมและผมขยับเขยื้อนไม่ได้ ผมไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ น้ำตาผมไหลอาบแก้ม ผมจองหองและดื้อมาก มีคนมากมายที่นั่นรู้จักผม ผมไม่กล้าเงยหน้า ผมนั่งจนผมมีกำลังเหมือนเดิมจึงกล้าเงยหน้า พวกเขาร้องเพลงสวดและนั่นทำให้ผมเปี่ยมด้วยพระวิญญาณ เมื่อไฮรัมพูดจบ เขาหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาและพูดว่า ‘นี่คือพระคัมภีร์มอรมอน’ ผมพูดว่า ผมขอดูหน่อย ผมเปิดหนังสือ ผมตกตะลึงด้วยปีติอย่างยิ่งจนไม่อาจบรรยายได้ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ผมปิดหนังสือและพูดว่า ราคาเท่าไรครับ ‘สิบสี่ชิลลิง’ คือคำตอบ ผมบอกว่า ผมจะซื้อหนังสือ ผมเปิดหนังสืออีกครั้ง และรู้สึกถึงพระวิญญาณเพิ่มขึ้นสองเท่าจนผมไม่รู้ว่าผมอยู่ในโลกหรือไม่อยู่ ผมรู้สึกประหนึ่งอยู่ในสวรรค์จริงๆ

“มาร์ติน แฮร์ริสรีบมาบอกผมว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นความจริง ผมบอกเขาว่าเขาไม่จำเป็นต้องบอกผม เพราะผมรู้ว่าเป็นความจริงเหมือนที่เขารู้” (ใน Lyndon W. Cook, The Revelations of the Prophet Joseph Smith: A Historical and Biographical Commentary of the Doctrine and Covenants [1985], 47–48)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:9 หนักอึ้งไปด้วยฟ่อนข้าวบนหลังท่าน

เราสามารถ “หนักอึ้งไปด้วยฟ่อนข้าวบนหลัง [เรา]” หมายความว่าอย่างไร วลีนี้หมายถึงผลเก็บเกี่ยวหรือฟ่อนข้าวจากทุ่ง “หนักอึ้งไปด้วยฟ่อนข้าว” หมายถึงการเก็บเกี่ยวครั้งใหญ่ที่ได้ผลมากมาย นี่เป็นวลีเชิงสัญลักษณ์หมายถึงความสำเร็จครั้งใหญ่ของผู้สอนศาสนา

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายของการเปรียบเทียบนี้เพิ่มเติมว่า

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ฟ่อนข้าวในการเปรียบเทียบนี้หมายถึงสมาชิกที่เพิ่งรับบัพติศมาใหม่ของศาสนจักร ยุ้งคือพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ อธิบายว่า ‘เห็นได้ชัดว่าเมื่อเรารับบัพติศมา ดวงตาของเรามองเลยอ่างบัพติศมาไปถึงพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ ยุ้งใหญ่ที่ใช้เก็บฟ่อนข้าวควรอยู่ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์’ (ใน John L. Hart, ‘Make Calling Focus of Your Mission,’ Church News, Sept. 17, 1994, 4) คำแนะนำดังกล่าวอธิบายและเน้นความสำคัญของศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร เพื่อฟ่อนข้าวจะไม่เสียหาย” (ดู “มีชื่อและฐานะอย่างมีเกียรติ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 122)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:1 ออร์สัน แพรทท์

ออร์สัน แพรทท์บรรยายว่าเขาใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์สมัยเป็นชายหนุ่มอย่างไร

เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์

“ตั้งแต่อายุสิบขวบถึงสิบเก้าปีข้าพเจ้าเห็นโลกมามาก และเร่ร่อนไปทั่วโดยไม่มีที่พักถาวร แต่โดยผ่านพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงคุ้มครองข้าพเจ้าจากความชั่วร้ายมากมายที่คนหนุ่มสาวพบเจอ ความรู้สึกชื่นชมแต่วัยเยาว์ในเรื่องศีลธรรมและศาสนาซึ่งบิดามารดาปลูกฝังไว้ในความคิดข้าพเจ้ายังอยู่กับข้าพเจ้าเสมอมา และข้าพเจ้ามักจะรู้สึกกังวลมากที่ต้องพร้อมรับสภาพในอนาคต แต่ในความสัตย์จริงแล้วข้าพเจ้าไม่เคยคิดจะแสวงหาพระเจ้าจนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1829 เวลานั้นข้าพเจ้าเริ่มสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้ามาก โดยกลับใจจากบาปทุกอย่าง ในเงามืดอันเงียบสงบยามราตรี ขณะที่คนอื่นๆ กำลังนอนหนุนหมอน ข้าพเจ้ามักจะปลีกตัวไปในที่ลับตาบางแห่งในทุ่งอันเวิ้งว้างหรือถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลผู้คน ก้มศีรษะเบื้องพระพักตร์พระเจ้า และสวดอ้อนวอนหลายชั่วโมงด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด นี่เป็นความสบายใจและความปลื้มปีติของข้าพเจ้า ความปรารถนาสูงสุดของใจข้าพเจ้าคือขอให้พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับข้าพเจ้า” (ใน The Orson Pratt Journals, comp. Elden J. Watson [1975], 8–9)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:10 “เปล่งเสียงของเจ้า”

ในการเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:10 ออร์สัน แพรทท์เปล่งเสียงแบ่งปันพระกิตติคุณ ไม่นานหลังจากได้รับการเปิดเผยนี้ ออร์สัน แพรทท์เริ่มงานเผยแผ่ที่โคลสวิลล์ รัฐนิวยอร์ก ไม่กี่ปีให้หลังในงานเผยแผ่อีกครั้ง ออร์สันเดินทาง “ด้วยเท้าราว 4000 ไมล์ เข้าร่วมการประชุม 207 ครั้ง … ให้บัพติศมา 104 คน และจัดตั้งสาขาใหม่หลายแห่งของศาสนจักร” (Orson Pratt, “History of Orson Pratt,” Millennial Star, Feb. 4, 1865, 72) ในชั่วชีวิตของการรับใช้ “เขาข้ามมหาสมุทรสิบหกครั้งไปทำพันธกิจแห่งความรอด” (“Orson Pratt,” Contributor, Nov. 1881, 61)