เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 130: การสถาปนานอวู


บทที่ 130

การสถาปนานอวู

คำนำ

หลังจากวิสุทธิชนถูกขับไล่ออกจากมิสซูรี พวกเขาเปลี่ยนบริเวณหนองน้ำตามแม่น้ำมิสซิสซิปปีเป็นเมืองนอวูสถานที่แห่งความสวยงาม นอวู อิลลินอยส์กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของศาสนจักรตั้งแต่ ค.ศ. 1839 ถึง ค.ศ. 1846 สมาคมสงเคราะห์ก่อตั้งที่นั่น และงานเผยแผ่ศาสนาขยายจากสำนักงานใหญ่ที่นอวูออกไปทั่วโลก

ไอคอนเอกสารแจกหมายเหตุ: บทนี้ให้โอกาสนักเรียนสองคนสอน เลือกนักเรียนสองคนก่อนบทเรียนนี้สองสามวัน และให้สำเนาส่วนที่กำหนดไว้แก่นักเรียนเพื่อให้พวกเขามีเวลาเตรียมตัว

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

วิสุทธิชนสถาปนาเมืองนอวู

แผนที่ มิสซูรีและอิลลินอยส์

เตือนความจำนักเรียนว่าวิสุทธิชนถูกขับไล่จากมิสซูรีในช่วงฤดูหนาว ปี 1838–1839 ขณะโจเซฟ สมิธถูกจองจำในคุกลิเบอร์ตี้

  • ท่านคิดว่าวิสุทธิชนจะรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาถูกขับไล่ออกจากมิสซูรี (คำตอบอาจได้แก่ วิสุทธิชนสงสัยว่าพวกเขาควรจะไปที่ไหน)

อธิบายว่าหลังจากวิสุทธิชนถูกขับไล่ออกจากมิสซูรี พวกเขาพบที่ลี้ภัยในเมืองควินซี รัฐอิลลินอยส์ และชุมชนเล็กๆ อีกหลายแห่ง เชื้อเชิญให้นักเรียนหาเมืองควินซีในแผนที่ 6 (“การเคลื่อนย้ายไปตะวันตกของศาสนจักร”) ในหมวดแผนที่ประวัติศาสนจักรจากพระคัมภีร์ของพวกเขา วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1839 โจเซฟ สมิธกับเพื่อนนักโทษของท่านทราบว่าพวกท่านจะถูกย้ายไปอีกที่หนึ่ง ระหว่างทางไปที่ใหม่ ผู้คุมอนุญาตให้พวกท่านหนี โดยยอมรับว่าไม่ยุติธรรมที่จะจับพวกท่านไว้อีก ราวหนึ่งสัปดาห์ต่อมา โจเซฟ สมิธกลับมาหาครอบครัวของท่านในควินซี ภายใต้การกำกับดูแลของโจเซฟ สมิธ ศาสนจักรซื้อที่ดินทั้งสองฝั่งของแม่น้ำมิสซิสซิปปีทางภาคเหนือของควินซี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตไอโอวาและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิลลินอยส์ วิสุทธิชนตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของศาสนจักรบนฝั่งอิลลินอยส์ตรงที่แห่งหนึ่งเรียกว่าคอมเมิร์ซ ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อใหม่ว่านอวู

เชิญนักเรียนที่เป็นครูคนแรกออกมาสอนชั้นเรียนพอสังเขปเกี่ยวกับการสถาปนานอวู

นักเรียนที่เป็นครูคนที่ 1: วิสุทธิชนเปลี่ยนคอมเมิร์ซ อิลลินอยส์เป็นนอวู—สถานที่แห่งความสวยงาม

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: สภาวการณ์อะไรบ้างในชีวิตท่านตอนนี้ที่ยากหรือไม่น่าพอใจ ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาข้อคิดว่าพวกเขาจะรับมือกับสภาวการณ์ยากๆ หรือไม่น่าพอใจได้อย่างไรขณะพวกเขาเรียนเกี่ยวกับวิสุทธิชนผู้สถาปนานอวู

อธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรเปลี่ยนชื่อถิ่นฐานเล็กๆ เรียกว่าคอมเมิร์ซเป็นนอวู ซึ่งเป็นคำในภาษาฮีบรูหมายถึงสวยงาม

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำบรรยายต่อไปนี้เกี่ยวกับละแวกนั้นเมื่อวิสุทธิชนไปถึงครั้งแรกในปี 1839 ขอให้ชั้นเรียนฟังและไตร่ตรองว่าพวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อละแวกนั้น

เมื่อวิสุทธิชนมาถึงสถานที่ซึ่งพวกเขาจะเรียกว่านอวู ที่ดินส่วนมากเป็นหนองน้ำเต็มไปด้วยยุง ยุงเป็นพาหะของโรคมาเลเรีย ซึ่งทำให้เกิดไข้สูงและหนาวสั่น อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ วิสุทธิชนจำนวนมากติดเชื้อและล้มป่วย บางคนป่วยจนคลานไปได้รอบๆ เท่านั้นขณะพวกเขาพยายามช่วยกัน และบางคนเสียชีวิต (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 230–231)

  • ท่านจะเรียกสถานที่นี้ว่าเป็นสถานที่สวยงามไหม ท่านคิดว่าเหตุใดศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจึงเลือกเรียกบริเวณหนองน้ำว่าเป็นสถานที่สวยงาม

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านย่อหน้าต่อไปนี้ซึ่งอธิบายว่าวิสุทธิชนตอบสนองความท้าทายที่พบเจอในละแวกที่จะเป็นบ้านใหม่ของพวกเขาอย่างไร

โจเซฟ สมิธติดเชื้อมาเลเรียเช่นกัน แต่หลังจากป่วยอยู่หลายวัน ท่านลุกขึ้นวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1839 และเปี่ยมด้วยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า ท่านให้พรคนป่วยใกล้บ้านท่านหลายคน ครั้งหนึ่ง โจเซฟเข้าไปในเต็นท์ของสมาชิกศาสนจักรชื่อเฮนรีย์ จี. เชอร์วูดที่กำลังจะสิ้นใจ เมื่อท่านศาสดาพยากรณ์สั่งให้เขาลุกขึ้นและออกจากเต็นท์ บราเดอร์เชอร์วูดเชื่อและหายเป็นปกติ

โจเซฟข้ามแม่น้ำฝั่งไอโอวาและให้พรคนป่วยต่อไป ขณะโจเซฟกำลังเตรียมกลับไปฝั่งอิลลินอยส์ ชายคนหนึ่งที่ไม่เป็นสมาชิกของศาสนจักรถามท่านศาสดาพยากรณ์ว่าท่านจะมาให้พรทารกแฝดของเขาที่อยู่ห่างออกไปราวสองไมล์ได้หรือไม่ “โจเซฟบอกว่าท่านไปไม่ได้ แต่ท่านให้ ผ้าเช็ดหน้าไหมสีแดง แก่วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์และบอกเขาไปให้พรเด็กโดยสัญญาว่าเมื่อเขาใช้ผ้าผืนนั้นเช็ดหน้าเด็กทั้งสองพวกเขาจะหายเป็นปกติ” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 232) วิลฟอร์ดทำตามคำแนะนำดังกล่าว และเด็กหายเป็นปกติ วิลฟอร์ดเรียกวันนั้นว่า “วันแห่งเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” (บันทึกส่วนตัวของวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, 22 กรกฎาคม, 1839, อ้างอิงใน ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 232)

แม้จะเห็นศรัทธาและพลังอำนาจของวันนั้้น แต่ความเจ็บป่วยยังอยู่ในหมู่วิสุทธิชนอีกหลายเดือน อย่างไรก็ดี พวกเขายังคงดูแลกันและสร้างบ้านใหม่ของพวกเขา พวกเขาขุด คูระบายน้ำ จากหนองน้ำไปลงแม่น้ำ ซึ่งทำให้ที่ดินใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นและลดปัญหาเรื่องยุง ในที่สุดพวกเขาสร้าง บ้าน หลายหลังและ สิ่งปลูกสร้างอื่นรวมทั้ง พระวิหารนอวูซึ่งบางคนถือว่าเป็นอาคารสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

  • “วันแห่งเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1839 ช่วยให้ท่านมีศรัทธาในพระเจ้ามากขึ้นอย่างไร

  • วิสุทธิชนทำให้นอวูเป็นสถานที่สวยงามอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพวกเขา

หลังจากนักเรียนสนทนาแบบอย่างการทำงานหนักของวิสุทธิชนเพื่อสร้างนอวูแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราพยายามปรับปรุงสภาวะแวดล้อมรอบตัวเรา

ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อเราพยายามปรับปรุงสภาวะแวดล้อมรอบตัวเรา เราปรับปรุงตัวเราเช่นกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่แสดงตัวอย่างหลักธรรมนี้ ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์และเป็นพยานยืนยันหลักธรรมนี้ เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาโอกาสปรับปรุงสภาวะแวดล้อมรอบตัวพวกเขาวันนี้

ครูที่เป็นนักเรียนคนที่ 2: ก่อตั้งสมาคมสงเคราะห์

หมายเหตุ: ก่อนเริ่มชั้นเรียน ขอให้สมาชิกสมาคมสงเคราะห์คนหนึ่ง (เช่นสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน) บอกท่านบางด้านที่สมาคมสงเคราะห์เปิดโอกาสให้เธอมีส่วนในงานของพระเจ้าและเป็นพรแก่ชีวิตเธอ ท่านอาจจะจดสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากเธอ

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสตรีในพระคัมภีร์ที่พวกเขาชื่นชม ขอให้พวกเขาบอกคู่เกี่ยวกับสตรีคนนี้และสาเหตุที่พวกเขาชื่นชมเธอ หลังจากแต่ละคู่มีเวลาสนทนาแล้ว ให้อธิบายว่าสตรีในนอวูเป็นกำลังสำคัญมากในการทำให้งานของพระเจ้าก้าวหน้า

อธิบายว่าในปี 1842 สตรีบางคนในนอวูมาชุมนุมกันเพื่อคิดหาวิธีช่วยเรื่องการก่อสร้างพระวิหารนอวู พวกเธอก่อตั้งสมาคมและเขียนธรรมนูญและกฎข้อบังคับไว้ปกครองการทำงานของพวกเธอ พวกเธอเสนอธรรมนูญและกฎข้อบังคับต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธผู้กล่าวว่าพวกเธอ “ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ท่านเคยเห็น” แต่จากนั้นท่านกล่าวว่าพระเจ้าทรงมี “บางสิ่งให้พวกเธอดีกว่าธรรมนูญที่เขียนไว้” ท่านเชิญพวกเธอมาประชุมกับท่านในสัปดาห์ถัดมา เมื่อท่านจะ “จัดองค์การให้สตรีภายใต้ฐานะปุโรหิตตามแบบแผนของฐานะปุโรหิต” (ซาราห์ เอ็ม. คิมบัลล์, “Auto-biography,” Woman’s Exponent, Sept. 1, 1883, 51; quoted in Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society [2011], 12) องค์การนี้คือสมาคมคมสงเคราะห์

เอ็มมา สมิธได้รับเรียกเป็นประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญคนแรก เอไลซา อาร์. สโนว์เป็นเลขานุการของสมาคมสงเคราะห์ในนอวูและต่อมาเป็นประธานสมาคมสงเคราะห์คนที่สอง เธอสอนว่า “ถึงแม้ชื่อ [สมาคมสงเคราะห์] จะเป็นชื่อสมัยใหม่ แต่สถาบันดังกล่าวมีต้นกำเนิดมาแต่โบราณ [ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ] บอกเราว่านี่เป็นองค์การเดียวกันกับที่มีอยู่ในศาสนจักรสมัยโบราณ” (“Female Relief Society,” Deseret News, Apr. 22, 1868, 1; see also Daughters in My Kingdom, 7)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสมาคมสงเคราะห์จากคำกล่าวของเอไลซา อาร์. สโนว์ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: สมาคมสงเคราะห์เป็นส่วนที่ได้รับการดลใจจากการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเข้าใจความจริงนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้เกี่ยวกับจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์

“สมาคมสงเคราะห์สถาปนาขึ้นเพื่อช่วยเตรียมธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้พร้อมรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ จุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์คือเพิ่มพูนศรัทธาและความชอบธรรมส่วนบุคคล เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบ้าน และให้การบรรเทาทุกข์โดยเสาะหาและช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก” (Daughters in My Kingdom, xi)

บอกชั้นเรียนเกี่ยวกับการสนทนาที่ท่านมีกับสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมสงเคราะห์ รวมทั้งความคิดของท่านเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านเรียนรู้ สรุปโดยเป็นพยานยืนยันหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน

งานเผยแผ่ศาสนาแผ่ขยายไปทั่วโลก

ขอบคุณนักเรียนที่สอน เพื่อเตรียมชั้นเรียนให้พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับการเติบโตของศาสนจักรในช่วงนอวู ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • มีสิ่งใดบ้างที่สามารถดับไฟ

  • มีสิ่งใดบ้างที่สามารถทำให้ไฟลุกโชน

  • โจเซฟ สมิธเปรียบเทียบงานของพระผู้เป็นเจ้ากับไฟ ท่านคิดว่าการข่มเหงที่วิสุทธิชนประสบในมิสซูรีเหมือนน้ำที่เริ่มดับงานของพระผู้เป็นเจ้าหรือเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกโชน เพราะเหตุใด

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนในจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชื่อจอห์น เวนท์เวิร์ธเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1842

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“การข่มเหงมิได้หยุดยั้งความจริงให้ก้าวหน้า แต่กลับเพิ่มเชื้อไฟให้เปลวเพลิง …

“… มาตรฐานแห่งความจริงได้รับการสถาปนา มือที่ไม่สะอาดไม่สามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าของงานนี้ได้ การข่มเหงอาจทวีความรุนแรง ฝูงชนอาจชุมนุมกันต่อต้าน กองทัพอาจรวมตัวกันเพื่อคุกคาม การสบประมาทอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ความจริงของพระผู้เป็นเจ้าจะออกไปอย่างองอาจ มีเกียรติ และเป็นอิสระ จนกว่าจะเข้าไปสู่ทุกทวีป ไปเยือนทุกถิ่น ไปยังทั่วทุกประเทศ และก้องอยู่ในทุกหู จนกว่าจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าจะสำเร็จ และพระเยโฮวาห์ผู้ทรงฤทธานุภาพจะตรัสว่างานสำเร็จแล้ว” (ใน History of the Church, 4:540)

  • เราเรียนรู้อะไรจากข้อความนี้ (นักเรียนอาจระบุความจริงหลากหลาย แต่พึงเน้นดังนี้: ไม่มีสิ่งใดจะหยุดยั้งความก้าวหน้าของงานทั่วโลกของพระผู้เป็นเจ้าได้) เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าเมื่อโจเซฟ สมิธบันทึกคำพยากรณ์นี้ พระเจ้าทรงเริ่มเรียกผู้สอนศาสนาไปสั่งสอนพระกิตติคุณในประเทศต่างๆ ด้วยเหตุนี้ คนหลายพันคน—ส่วนมากจากเกรตบริเตน—จึงรับบัพติศมา สมาชิกใหม่เป็นกำลังสำคัญยิ่งของศาสนจักร และหลายคนเดินทางไปสมทบกับวิสุทธิชนในนอวู

ไอคอนเอกสารแจกเพื่ออธิบายความจริงบนกระดาน ขอให้อาสาสมัครสี่คนร่วมแสดงบทบาทสมมติเกี่ยวกับประสบการณ์ของวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ขณะสั่งสอนพระกิตติคุณในเมืองเฮริฟอร์ดไชร์ อังกฤษในปี 1840 มอบหมายบทบาทต่อไปนี้ให้อาสาสมัคร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ นักบวช ตำรวจ ผู้บรรยาย แจกสำเนา บทละครต่อไปนี้ ให้อาสาสมัครแต่ละคนใช้ในบทบาทสมมติ

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ (พูดกับตนเอง):เฮ้อ นั่นเป็นการสอนครั้งที่สองของผมวันนี้ หลังเลิกประชุมเย็นนี้ผมคิดว่าราวหนึ่งพันคนจะได้ยินข่าวสารของพระเจ้าวันนี้

นักบวช (ยืนอยู่อีกด้านหนึ่งของห้อง พูดกับตำรวจ):คุณตำรวจ คุณต้องหยุดนักเทศน์มอรมอนคนนั้นนะ ผมมีแค่สิบห้าคนเข้าร่วมการประชุมวันนี้ สิบห้าคน! ผมคิดว่าเขาน่าจะชักนำคนอื่นไปฟังเทศน์ของเขาอีก ผมยอมไม่ได้ถ้าคนของผมหดหายไปเรื่อยๆ ส่วนคนฟังมอรมอนคนนี้กลับเพิ่มขึ้น ผมอยากให้คุณจับเขาและหยุดงานของเขา

ตำรวจ:ผมจะทำเท่าที่ทำได้ครับ

ผู้บรรยาย:เมื่อเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์ลุกขึ้นพูดในการประชุมเย็นวันนั้น ตำรวจเข้ามาทางประตู

ตำรวจ (ตอนนี้พูดกับวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์):ขอโทษครับ ผมเป็นตำรวจและนักบวชของวัดในท้องที่ส่งผมมาพร้อมหมายจับคุณ

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์:ผมทำอะไรผิดหรือครับ

ตำรวจ:สอนศาสนาไงครับ

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์:ผมรับรองกับคุณได้ว่าผมมีใบอนุญาตให้สั่งสอนพระกิตติคุณเหมือนนักบวชคนนั้น ถ้าคุณจะนั่งรอ ผมจะคุยกับคุณเรื่องนี้หลังเลิกประชุม แต่ตอนนี้ผมต้องเริ่มแล้ว… (พูดล้อเลียนกับชั้นเรียน)

ผู้บรรยาย:ตำรวจนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกับที่เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์นั่งอยู่แล้วและนั่งใกล้กับเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์ขณะท่านสั่งสอนพระกิตติคุณนานเกินหนึ่งชั่วโมง วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เล่าประสบการณ์ครั้งนั้นดังนี้

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์:เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอยู่บนข้าพเจ้า พระวิญญาณสถิตอยู่ในบ้าน และผู้คนเชื่อ

ผู้บรรยาย:ตอนท้ายการประชุม เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์เชื้อเชิญให้รับบัพติศมา

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์:ผมเชื้อเชิญทุกท่านที่ปรารถนาจะปลดบาปและเข้าร่วมศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้าให้เข้าสู่น้ำแห่งบัพติศมาวันนี้

ตำรวจ (ลุกจากเก้าอี้และพูดกับวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์):คุณวูดรัฟฟ์ ผมอยากรับบัพติศมา

ผู้บรรยาย:ตำรวจรับบัพติศมาวันนั้น ตามด้วยนักเทศน์อีกสี่คนและคนอื่นอีกสองคน ตำรวจกลับไปหานักบวชและอธิบายสถานการณ์

ตำรวจ (พูดกับนักบวช):ถ้าคุณอยากจับคุณวูดรัฟฟ์ คุณต้องไปจับเอง เพราะผมได้ฟังเขาสั่งสอนพระกิตติคุณแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวที่ผมเคยฟังในชีวิต

ผู้บรรยาย:ต่อจากนั้นนักบวชส่งเสมียนสองคนไปเข้าร่วมการประชุมเพื่อสืบว่าเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์สั่งสอนอะไร พวกเขาเชื่อมั่นความจริงของข่าวสารที่เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์สอนและรับบัพติศมาเช่นกัน นักบวชไม่ส่งใครไปฟังเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์สั่งสอนอีกเลย

(ดัดแปลงจาก วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, Leaves from My Journal [1881], 80–81)

หลังจากอาสาสมัครแสดงจบแล้ว ให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • ประสบการณ์ของเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์แสดงให้เห็นหลักธรรมว่าไม่มีสิ่งใดจะหยุดยั้งความก้าวหน้าของงานพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

  • คำพยากรณ์ของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับความก้าวหน้าของงานพระผู้เป็นเจ้ากำลังเกิดสัมฤทธิผลในปัจจุบันอย่างไร ท่านรู้สึกอย่างไรกับการมีส่วนร่วมในงานนี้

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้งานของพระผู้เป็นเจ้าแผ่ขยายในหมู่คน (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามข้อนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา)

อธิบายว่าในบทต่อๆ ไป นักเรียนจะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นและหลักธรรมที่สอนขณะศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนอวูตั้งแต่ ค.ศ. 1839 ถึง ค.ศ. 1846 เป็นพยานยืนยันหลักธรรมที่สนทนาในชั้นเรียนวันนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนปฏิบัติตามสิ่งที่เรียนรู้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

การอพยพของวิสุทธิชนออกจากมิสซูรี

“หลายเดือนหลังจากยอมทิ้งฟาร์เวสท์ [มิสซูรี] ทดสอบผู้นำของศาสนจักรอย่างหนักหน่วง ฝ่ายประธานสูงสุดทุกคน—โจเซฟ สมิธ, ซิดนีย์ ริกดัน และไฮรัม สมิธ—อยู่ในคุก สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองยังมีไม่ครบ เดวิด ดับเบิลยู. แพทเทนถูกสังหารในการต่อสู้ที่แม่น้ำครูกเกด พาร์ลีย์ พี. แพรทท์อยู่ในคุก และออร์สันน้องชายของเขาอยู่กับวิสุทธิชนกลุ่มหนึ่งในเซนต์หลุยส์ โธมัส บี. มาร์ช, วิลเลียม สมิธ และออร์สัน ไฮด์ไม่พอใจศาสนจักร ด้วยเหตุนี้จึงไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ ฉะนั้นความรับผิดชอบในการดูแลความต้องการของศาสนจักรช่วงฤดูหนาว ปี 1838–1839 และตลอดการอพยพจากมิสซูรีไปอิลลินอยส์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับบริคัม ยังก์และฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ จอห์น เทย์เลอร์ได้รับเรียกเป็นอัครสาวกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1838 วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์และจอร์จ เอ. สมิธได้รับเรียกในเดือนเมษายนต่อมา ทั้งสองท่านนี้สามารถให้ความช่วยเหลือที่มีค่าในช่วงวิกฤตินี้” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 224–225)

วันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1839 บริคัม ยังก์ตั้งคณะกรรมการด้านการเคลื่อนย้ายเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการอพยพ

“ตลอดฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิคณะกรรมการชุดนี้จัดหาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และพาหนะให้คนยากจน โดยมติอย่างเป็นทางการวิสุทธิชนยุคสุดท้ายราวสี่ร้อยคนทำพันธสัญญาด้วยความเด็ดเดี่ยวว่าจะมอบทรัพย์สินทั้งหมดที่มีให้คณะกรรมการ ‘ใช้หาช่องทางเคลื่อนย้ายคนยากจนและคนขัดสนผู้ถือว่ามีค่าควรให้ออกจากสภาพนี้ จนกว่าจะไม่เหลือใครที่ต้องการย้ายออกจากรัฐ’ [ใน History of the Church, 3:251] …

“ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์การอพยพครั้งใหญ่ของวิสุทธิชนเริ่มขึ้น พวกเขาหาเกวียนและรถเทียมม้ามาได้แม้ไม่ได้คุณภาพดีที่สุด อาหารสำรองมีตลอดเส้นทางการอพยพ และความหนาวหยุดชั่วคราว ถึงกระนั้นการออกจากนอวูก็ไม่ง่ายสำหรับผู้ลี้ภัย หลายคนขายทรัพย์สมบัติมีค่าและที่ดินในราคาต่ำมากเพื่อให้มีช่องทางหนีออกจากรัฐ” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 225)

ประสบการณ์การเป็นผู้สอนศาสนาของ วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ในอังกฤษ

ขณะรับใช้งานเผยแผ่ในอังกฤษ วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณให้ออกจากที่ซึ่งท่านกำลังสั่งสอนไปอีกภูมิภาคหนึ่งของอังกฤษ เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์สิ้นสุดการเดินทางในเฮริฟอร์ดไชร์ ที่นั่นท่านพบคนมากมายผู้พร้อมรับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู “ราวหนึ่งพันแปดร้อยคนในเขตสามเทศมณฑลคือเฮริฟอร์ด วอร์เชสเตอร์ และกลอสเตอร์เปลี่ยนใจเลื่อมใสเพราะความพยายามของวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ และคนอื่นๆ … เมื่อหวนนึกถึงช่วงเวลาพิเศษนี้ของชีวิต วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เขียนว่า ‘ประวัติความเป็นมาทั้งหมดของคณะเผยแผ่เฮริฟอร์ดไชร์แสดงให้เห็นความสำคัญของการฟังสุรเสียงสงบแผ่วเบาของพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าและการเปิดเผยของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้คนกำลังสวดอ้อนวอนขอแสงสว่างและความจริง พระเจ้าทรงส่งข้าพเจ้ามาหาพวกเขา’ [ใน Matthias F. Cowley, ed., Wilford Woodruff (1979), 120]” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่ืมือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 244)

วิวัฒนาการด้านหลักคำสอนในนอวูและบริเวณใกล้เคียง

พระเจ้าทรงเปิดเผย “เรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่อีกหลายเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักแห่งความเชื่อ 1:9) ขณะวิสุทธิชนมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนอวูตั้งแต่ ค.ศ. 1839 ถึง ค.ศ. 1846 การเปิดเผยต่อเนื่องช่วงนี้เกิดขึ้นเมื่อวิสุทธิชนลงแรงสร้างพระวิหารนอวู ซึ่งในนั้นพระเจ้าทรงสัญญาจะเปิดเผยศาสนพิธีและความรู้ที่ “ถูกซ่อนเก็บไว้นับแต่ก่อนการวางรากฐานของโลก” (คพ. 124:41) ระหว่างนี้ พระเจ้าทรงเปิดเผยศาสนพิธีบัพติศมาแทนคนตาย เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร และการผนึกการแต่งงาน พระองค์ทรงเปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ด้วย (ดู คพ. 130:22) ตั้งแต่ ค.ศ. 1842 ถึง ค.ศ. 1844 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนหลักแห่งความเชื่อและจัดพิมพ์หนังสือของอับราฮัม ซึ่งอธิบายข้อความยากๆ ในพระคัมภีร์ข้ออื่นและทรงเปิดเผยความจริงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่ไม่เคยรู้มาก่อนหรือเข้าใจเพียงเล็กน้อย ท่านศาสดาพยากรณ์มอบกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรให้โควรัมอัครสาวกสิบสองเช่นกันเพื่อพวกท่านจะพร้อมนำศาสนจักรหลังจากท่านสิ้นชีวิต

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวถึงวิวัฒนาการครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างพระวิหารนอวูดังนี้

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“อาคารหลังนี้ [พระวิหารนอวู] เกี่ยวข้องกับเรื่องของนิรันดร อีกทั้งตั้งตระหง่านเป็นพยานต่อทุกคนที่มองดูพระวิหารนั้นว่าผู้สร้างมีศรัทธาแรงกล้าและมีความรู้แน่ชัดว่าความตายไม่ใช่จุดจบแต่จิตวิญญาณเป็นอมตะและเติบโตต่อไป ในเดือนมีนาคมของปีที่ท่านสิ้นชีวิต—ค.ศ. 1844—ท่านศาสดาพยากรณ์เพิ่มรายละเอียดของหลักคำสอนนี้ในคำปราศรัยครั้งประวัติศาสตร์ที่ท่านกล่าวในป่าละเมาะซึ่งอยู่เลยสถานที่ก่อสร้างพระวิหารลงมา เนื้อหาของคำปราศรัยครั้งนั้นกลายเป็นเอกสารสำคัญในหลักคำสอนของศาสนจักร รู้กันในชื่อว่าโอวาทคิงฟอลเลตต์” (“Nauvoo’s Holy Temple,” Ensign, Sept. 1994, 62)

ในโอวาทคิงฟอลเลตต์ที่กล่าว ณ พิธีศพของชายชื่อคิง ฟอลเลตต์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่าเรามีชีวิตอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ก่อนเรามาแผ่นดินโลกและพระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งกฎเพื่อให้เราก้าวหน้า ท่านกล่าวดังนี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“พระผู้เป็นเจ้าโดยที่ทรงพบว่าพระองค์ทรงอยู่ท่ามกลางวิญญาณและรัศมีภาพ เพราะทรงรู้แจ้งมากกว่า พระองค์จึงทรงเห็นควรให้ตั้งกฎเพื่อให้คนอื่นๆ มีสิทธิ์ก้าวหน้าเช่นพระองค์ ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระผู้เป็นเจ้าทำให้เราอยู่ในสภาพที่จะก้าวหน้าในความรู้ พระองค์ทรงมีอำนาจตั้งกฎเพื่อสอนผู้อ่อนแอกว่าให้มีความรู้แจ้ง เพื่อพวกเขาจะได้รับความสูงส่งกับพระองค์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 225)

โจเซฟ สมิธอธิบายศักยภาพของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“นี่แหละคือชีวิตนิรันดร์—ที่จะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณและแท้จริงเพียงพระองค์เดียว และท่านต้องเรียนรู้ว่าตัวท่านจะเป็นผู้เป็นเจ้า เป็นกษัตริย์ และปุโรหิตต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร … โดยเริ่มจากระดับเล็กๆ ไปสู่อีกระดับหนึ่ง และจากความสามารถเล็กๆ ไปสู่ความสามารถที่ยิ่งใหญ่ จากพระคุณสู่พระคุณ จากความสูงส่งสู่ความสูงส่ง จนท่านบรรลุถึงการฟื้นคืนชีวิตของคนตาย สามารถอยู่ในการเผาไหม้อันเป็นนิจ และนั่งในรัศมีภาพเฉกเช่นผู้ที่นั่งครองบัลลังก์อยู่ในพลังอำนาจอันเป็นนิจ …

“… [คนชอบธรรมที่สิ้นชีวิต] จะลุกขึ้นอีกครั้งเพื่อพำนักในการเผาไหม้อันเป็นนิจในรัศมีภาพอมตะ ไม่เสียใจ ไม่ทุกข์ทรมาน และไม่ตายอีก แต่พวกเขาจะเป็นทายาทของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นทายาทร่วมกับพระเยซูคริสต์ นี่คืออะไร คือการได้รับพลังอำนาจเดียวกัน รัศมีภาพเดียวกัน และความสูงส่งเดียวกันจนกว่าท่านจะบรรลุสถานะของพระผู้เป็นเจ้า ขึ้นครองบัลลังก์แห่งพลังอำนาจนิรันดร์ เหมือนกับคนที่ล่วงลับไปก่อนท่าน” (คำสอน: โจเซฟ สมิธ, 237–238)

ประวัติและงานของสมาคมสงเคราะห์

เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมว่าสมาคมสงเคราะห์ช่วยเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกอย่างไร ให้ดู Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society (2011)