เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 49: หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:43–93


บทที่ 49

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:43–93

คำนำ

ส่วนหลังของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 42 เป็นส่วนต่อเนื่องกับสิ่งที่รู้กันว่าเป็นกฎแห่งการอุทิศถวาย ส่วนนี้รวมถึงคำสอนของพระเจ้าเกี่ยวกับความตายและการรักษาด้วย ทั้งยังประกอบด้วยคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนเกี่ยวกับวิธีจัดการกับบาปร้ายแรงและอาชญากรรม วิธีรับมืออย่างถูกต้องกับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเราทำผิดต่อเขาหรือเขาทำผิดต่อเรา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:43–55

พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับความตายและการรักษา

ให้ท่านถือขวดเล็กบรรจุน้ำมันมะกอกที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วสำหรับให้พรผู้ป่วยในมือข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ถือขวดยา

  • ของสองอย่างนี้ใช้ทำอะไร เราพึ่งของชิ้นใดยามเราเจ็บไข้ได้ป่วย

หลังจากนักเรียนแบ่งปันความคิดพอสังเขปแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:43–44 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำแนะนำของพระเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่เราควรใช้ยามเจ็บป่วย เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะอธิบายว่าสมุนไพรและอาหารอ่อนที่กล่าวไว้ใน ข้อ 43 หมายถึงการรักษาทางการแพทย์ที่ทำกันทั่วไปในช่วงประทานการเปิดเผยนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าการรักษาจะผ่านมาทางศรัทธา และ การรักษาพยาบาลได้อย่างไร

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้ผลดีที่สุด เราใช้โภชนาการ การออกกำลังกาย และวิธีปฏิบัติอื่นๆ เพื่อรักษาสุขภาพและเราขอความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญการ เช่น อายุรแพทย์และศัลยแพทย์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

“การใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่ขัดกับการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาและความเชื่อมั่นในพรฐานะปุโรหิต …

“แน่นอนว่าเราไม่ต้องรอใช้วิธีอื่นจนหมดจึงจะสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาหรือให้พรฐานะปุโรหิตเพื่อรักษา ในกรณีฉุกเฉิน การสวดอ้อนวอนและการให้พรมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วเรามักใช้ความพยายามทุกวิถีทางควบคู่กัน” (“รักษาคนป่วย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 58)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องใช้การสวดอ้อนวอนและพรฐานะปุโรหิตพร้อมกับการรักษาพยาบาลเมื่อเราเจ็บป่วย

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 44คนป่วยทุกคนที่ได้รับพรฐานะปุโรหิตจะหายหรือไม่

บอกนักเรียนว่าพระเจ้าทรงอธิบายว่าเหตุใดคนที่ได้รับพรฐานะปุโรหิตอาจจะไม่หายป่วย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:48 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาหลักธรรมที่กำหนดว่าคนนั้นจะหายเป็นปรกติเพราะพรฐานะปุโรหิตหรือไม่

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 48 อะไรคือปัจจัยหลักที่กำหนดผลของพรฐานะปุโรหิต (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจจะอธิบายว่า “ไม่ถูกกำหนดให้ตาย” หมายถึงข้อเท็จจริงที่ว่าความตายหรือการรักษาหายจะเกิดขึ้นตามจังหวะเวลา พระปรีชาญาณ และพระประสงค์ของพระเจ้า)

  • เหตุใดจึงไม่ใช่ทุกคนที่มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะหายเป็นปรกติ

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีศรัทธาในพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเราแต่ละคน

เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุหลักธรรมที่เราเรียนรู้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:48 เกี่ยวกับการหายเป็นปรกติจากความทุพพลภาพของเรา คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการรักษาให้หายตามพระประสงค์ของพระองค์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำหรือวลีใน ข้อ 48 ที่สอนหลักธรรมนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าศรัทธาของเราต้องมีศูนย์รวมอยู่ที่พระเยซูคริสต์ไม่ใช่ผลที่เราปรารถนา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนฟังเหตุผลว่าทำไมศรัทธาของเราจึงต้องมีศูนย์รวมอยู่ที่พระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ในฐานะลูกของพระผู้เป็นเจ้า การรู้เรื่องความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และความรู้สูงสุดของพระองค์ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับความผาสุกนิรันดร์ของเราทำให้เราวางใจพระองค์ หลักธรรมพระกิตติคุณข้อแรกคือศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ และศรัทธาหมายถึงวางใจ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความวางใจนั้นในคำพูดที่ลูกพี่ลูกน้องของข้าพเจ้ากล่าวในพิธีศพของหญิงสาววัยรุ่นผู้สิ้นชีวิตจากโรคร้าย เขาพูดคำเหล่านี้ซึ่งตอนแรกทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจและเป็นอุทาหรณ์สอนใจข้าพเจ้าหลังจากนั้น ‘ผมรู้ว่านี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่เธอสิ้นชีวิต เธอได้รับการรักษาอย่างดี เธอได้รับพรฐานะปุโรหิต ชื่อของเธออยู่ในรายชื่อสวดอ้อนวอนในพระวิหาร คนหลายร้อยคนสวดอ้อนวอนให้เธอมีสุขภาพดีดังเดิม และผมรู้ว่าครอบครัวนี้มีศรัทธามากพอว่าเธอจะหายเว้นแต่คราวนี้พระเจ้าทรงมีพระประสงค์จะนำเธอกลับบ้าน’ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความวางใจเดียวกันในถ้อยคำของบิดาเมื่อลูกสาวที่น่ารักอีกคนของเขาสิ้นชีวิตด้วยโรคมะเร็งขณะยังเป็นวัยรุ่น เขาประกาศว่า ‘ศรัทธาของครอบครัวเราอยู่ในพระเยซูคริสต์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา’ คำสอนเหล่านี้เป็นจริงสำหรับข้าพเจ้า เราทำทุกอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาคนที่เรารัก และจากนั้นเราวางใจพระเจ้าสำหรับผลที่ตามมา” (“รักษาคนป่วย,”61)

  • แต่ละบุคคลที่เอ็ลเดอร์โอ๊คส์พูดถึงใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • บางครั้งการเห็นคนที่เรารักสิ้นชีวิตหรืออดทนต่อความความเจ็บป่วยยาวนานต้องใช้ศรัทธามากกว่าการเห็นพวกเขามีชีวิตหรือหายป่วย ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์แม้เราอาจไม่ได้รับผลสมปรารถนา

ถามนักเรียนว่าพวกเขารู้จักใครที่ตายจากไปทั้งที่ทำตามคำแนะนำของแพทย์และแสวงหาการรักษาผ่านการสวดอ้อนวอนและพรฐานะปุโรหิต (จงละเอียดอ่อนเป็นพิเศษต่อความรู้สึกของคนที่อาจเคยประสบสถานการณ์นี้) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:45–47 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำหรือวลีที่อาจจะปลอบโยนผู้เคยประสบความตายของคนที่เขารัก

  • ข้อ 45 บอกเราว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะโศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสียคนที่เรารัก หลักคำสอนใดใน ข้อ 46 อาจจะปลอบโยนคนที่โศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสียคนที่เขารัก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: ความตายจะหวานสำหรับคนที่ตายในพระเจ้า)

  • ท่านคิดว่าตายในพระเจ้าหมายถึงอะไร

  • ท่านคิดว่าความตายจะ “หวาน” สำหรับคนที่รักพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าถึงแม้คนซื่อสัตย์ที่สิ้นชีวิตจะประสบความเจ็บปวดทางกาย แต่คำสัญญานี้หมายถึงสันติสุขและการพักผ่อนที่เขาจะประสบในโลกวิญญาณ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาดำเนินชีวิตถึงขนาดที่ความตายจะ “หวาน” สำหรับพวกเขาหรือไม่หากต้องตายวันนี้ (ท่านอาจต้องการให้นักเรียนบันทึกความคิดของพวกเขาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:56–73

พระเจ้าทรงสัญญาจะเปิดเผยพระคัมภีร์และความรู้เพิ่มเติมต่อคนที่ขอ

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:56–58 โดยอธิบายว่าข้อเหล่านี้หมายถึงงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธ พระเจ้ารับสั่งกับวิสุทธิชนว่าควรสอนงานแปลของโจเซฟ สมิธให้คนทั้งปวง สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:59–69 โดยอธิบายว่าข้อเหล่านี้มีคำแนะนำจากพระเจ้าถึงโจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ เกี่ยวกับพวกเขาควรสั่งสอนพระกิตติคุณเมื่อใดและกับใคร พระเจ้าทรงเตือนให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามกฎที่ได้รับและพระองค์ทรงอธิบายว่าพวกเขาจะได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อจะช่วยพวกเขาสถาปนาศาสนจักรและเตรียมวิสุทธิชนให้ดำเนินชีวิตในเยรูซาเล็มใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ พระเจ้าทรงสอนหลักธรรมแก่พวกเขาว่าพวกเขาจะรับการเปิดเผยต่อไปได้อย่างไร สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:70–73 โดยอธิบายว่าภายใต้กฎแห่งการอุทิศถวาย คนที่รับใช้ศาสนจักรเต็มเวลาหรือบางเวลาจะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:61, 68 ในใจโดยมองหาหลักธรรมเกี่ยวกับการได้รับการเปิดเผย คำตอบของนักเรียนอาจได้แก่

หากเราขอ พระเจ้าจะประทานความรู้ซึ่งจะนำความสงบสุข ปีติ และชีวิตนิรันดร์มาให้เรา

หากเราทูลขอปัญญา พระเจ้าจะประทานแก่เราด้วยใจกรุณา

  • อะไรคือพรของการหมั่นทูลขอการเปิดเผยจากพระเจ้า

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าผู้นำศาสนจักรนำและนำทางเราตามหลักธรรมของการเปิดเผยต่อเนื่อง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:74–87

ผู้นำฐานะปุโรหิตรับคำแนะนำเรื่องการดำเนินการกับสมาชิกที่ทำบาปร้ายแรง

อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:74–87 พระเจ้าตรัสถึงกฎบางข้อที่ใช้ดำเนินการลงโทษตามวินัยศาสนจักร พระองค์ประทานคำแนะนำแก่ผู้นำฐานะปุโรหิตเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อผู้ทำบาปร้ายแรง รวมถึงบาปทางเพศ การลักขโมย การกล่าวเท็จ หรือ “ความชั่วช้าสามานย์ใดๆ” (คพ. 42:87)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:88–93

พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนรู้วิธีแก้ไขความผิดส่วนตัว

  • ท่านเคยเห็นคนไม่พอใจคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นเมื่อใด ท่านเคยรู้สึกเจ็บหรือไม่พอใจคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นหรือไม่

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:88–89 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำจากพระเจ้าสำหรับสิ่งที่ต้องทำถ้ามีคนทำผิดต่อเรา

  • เราต้องทำอะไรกับคนที่ทำผิดต่อเรา (คืนดีกับเขาเป็นการส่วนตัว ท่านอาจต้องการอธิบายว่า คืนดี หมายถึงแก้ไขข้อโต้แย้งและปรองดองเหมือนเดิม)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดวิธีนี้จึงเป็นประโยชน์

เขียน ประโยคที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

ความผิดที่กระทำในที่ลับควร …

ความผิดที่กระทำในที่แจ้งควร …

อีกด้านหนึ่งของกระดานให้เขียน ข้อความที่เติมแต่ละประโยคก่อนหน้านี้จนจบ

… แก้ไขในที่แจ้ง

… แก้ไขในที่ลับ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:90–93 ในใจและให้พวกเขาจับคู่ข้อความที่ไม่ครบถ้วนกับข้อความที่เหมาะสมซึ่งจะเติมแต่ละประโยคจนจบ (ความผิดที่กระทำในที่ลับควรแก้ไขในที่ลับ ความผิดที่กระทำในที่แจ้งควรแก้ไขในที่แจ้ง)

  • เหตุใดความผิดในที่ลับไม่ควรแก้ไขในที่แจ้ง

  • เหตุใดบางครั้งความผิดในที่แจ้งสมควรแก้ไขในที่แจ้ง

ขอให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นทั้งการใช้ความจริงเหล่านี้อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันแนวคิด (ขณะที่นักเรียนแบ่งปัน ให้เน้นว่าการแก้ไขความผิดในวิธีของพระเจ้าเกี่ยวข้องกับการกลับใจและการให้อภัย)

  • ท่านคิดว่าการแก้ไขความผิดอย่างเหมาะสมจะเป็นพรแก่ครอบครัว วอร์ดหรือสาขา และกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นอย่างไร

ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเราต้องกล้าเข้าไปหาคนที่ทำผิดต่อเรา เชื้อเชิญให้นักเรียนสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ขณะพวกเขาพยายามแก้ไขข้อโต้แย้งกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:46–47 ความตายจะหวานสำหรับคนที่ตายในพระเจ้า

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่าความตายจะหวานสำหรับคนที่ตายในพระเจ้าดังนี้

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“กับสมาชิกบางคนของศาสนจักรคำกล่าวว่าคนที่ตายในพระเจ้าจะไม่ลิ้มรสความตายเป็นคำกล่าวที่เชื่อได้ยาก พวกเขาเคยเห็นชายหญิงที่ดีและซื่อสัตย์ทรมานอยู่หลายวันและบางครั้งหลายเดือนก่อนถูกนำไปจากพวกเขา แต่ในที่นี้พระเจ้าไม่ได้ตรัสว่าพวกเขาจะไม่ประสบความเจ็บปวดของร่างกาย แต่พวกเขาจะเป็นอิสระจากความเจ็บปวดรวดร้าวและความทรมานของจิตวิญญาณซึ่งคนชั่วจะได้รับ และถึงแม้พวกเขาทนทุกข์ทรมานในร่างกาย แต่ความตายสำหรับพวกเขาจะหวานซึ่งในนั้นพวกเขาจะตระหนักว่าพวกเขามีค่าต่อพระพักตร์พระเจ้า” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:186) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 116 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:48 “ไม่ถูกกำหนดให้ตาย”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธกล่าวว่า “คนชอบธรรมจะไม่ถูกนำไปก่อนเวลาของเขา” (ใน “Funeral Services for Elder Richard L. Evans,” Ensign, Dec. 1971, 10)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเฉกเช่นเราต้องมีศรัทธาว่าจะหายเป็นปรกติ เราต้องมีศรัทธาจะยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นกันว่าเราจะไม่หายเป็นปรกติ

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“[มี] หลักธรรมหนึ่งที่ประยุกต์ใช้กับสานุศิษย์ที่ภักดีทุกคน นั่นคือ ศรัทธาแก่กล้าในพระผู้ช่วยให้รอดคือการน้อมรับพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์ในชีวิต—แม้ผลจะไม่ออกมาอย่างที่เราหวังหรือต้องการ …

“ความชอบธรรมและศรัทธาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนภูเขาอย่างแน่นอน—หากการเคลื่อนภูเขาทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ ความชอบธรรมและศรัทธาเป็นเครื่องมือในการรักษาคนป่วย คนหูหนวก และคนง่อยอย่างแน่นอน—หากการรักษานั้นทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ ฉะนั้น แม้เราจะมีศรัทธาแรงกล้า แต่ภูเขาหลายลูกจะไม่เคลื่อน คนเจ็บป่วยและผู้ทุพพลภาพทุกคนจะไม่หายเป็นปรกติ หากตัดการตรงกันข้ามทั้งหมดออก หากนำเอาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหมดออกไป เมื่อนั้นจุดประสงค์เบื้องต้นในแผนของพระบิดาย่อมล้มเหลว

“บทเรียนมากมายที่เราต้องเรียนรู้ในความเป็นมรรตัยจะได้รับผ่านสิ่งที่เราประสบและบางครั้งทนทุกข์เท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังและวางใจให้เราประสบความยากลำบากชั่วคราวในชีวิตมรรตัยด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ทั้งนี้เพื่อเราจะเรียนรู้สิ่งที่เราต้องเรียนรู้และเป็นอย่างที่เราต้องเป็นในนิรันดร” (“That We Might ‘Not … Shrink’ [D&C 19:18]” [CES devotional for young adults, Mar. 3, 2013], LDS.org) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 116 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:70–73 ได้รับ “สิ่งทดแทนที่เที่ยงธรรมสำหรับการรับใช้ทั้งหมดของเขา”

ในข้อเหล่านี้กล่าวว่าอธิการและที่ปรึกษาของเขาได้รับ “สิ่งทดแทนที่เที่ยงธรรมสำหรับ” การรับใช้ของพวกเขา ในสมัยของเรากล่าวเจาะจงถึงเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ประธานคณะเผยแผ่ และประธานพระวิหารผู้ถูกเรียกร้องให้ทิ้งความเป็นอยู่มารับใช้เต็มเวลาในศาสจักร บุคคลเหล่านี้ได้รับค่าเลี้ยงชีพพอประมาณในการจุนเจือพวกเขาและครอบครัวระหว่างช่วงเวลาที่พวกเขารับใช้