บทที่ 53
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:60–75
คำนำ
เมื่อวิสุทธิชนมารวมกันในเคิร์ทแลนด์ ข่าวลือหนาหูและเรื่องเท็จมากมายทางหนังสือพิมพ์พากันใส่ความและใส่ร้ายป้ายสีศาสนจักร ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45 พระเจ้าทรงเริ่มเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่รวมความสงบสุขและความปลอดภัยที่ทรงกำหนดไว้ในวันเวลาสุดท้ายตามที่สัญญาไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนและกล่าวถึงครั้งแรกในการเปิดเผยปี 1830 (ดู คพ. 28) พระเจ้าทรงอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับแผ่นดินของการรวมนี้ที่รู้กันว่าคือเยรูซาเล็มใหม่หรือไซอัน พระเจ้ารับสั่งให้โจเซฟ สมิธเริ่มจดจ่อกับงานแปลพันสัญญาใหม่ในพระคัมภีร์ไบเบิลเพื่อเตรียมวิสุทธิชนให้พร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:60–61
พระเจ้ารับสั่งให้โจเซฟ สมิธเริ่มงานแปลพันธสัญญาใหม่
ถามนักเรียนว่าใครสามารถท่องหลักแห่งความเชื่อข้อแปดได้บ้าง หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเปิดหลักแห่งความเชื่อและอ่านออกเสียงข้อแปด
-
วลี “ตราบเท่าที่แปลไว้อย่างถูกต้อง” บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล
เตือนนักเรียนว่าโจเซฟชอบศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลและพบว่าถ้อยคำในพระคัมภีร์เล่มนี้ปลอบประโลมใจมาก แต่ขณะที่ท่านศึกษา ท่านสังเกตเห็นข้อผิดพลาดและรู้สึกว่าข้อมูลบางอย่างหายไปหรือไม่สมบูรณ์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าอะไรก่อให้เกิดปัญหาที่โจเซฟสังเกตเห็น
“เห็นได้ชัดว่าประเด็นสำคัญมากมายเกี่ยวกับความรอดของมนุษย์ถูกนำไปจากพระคัมภีร์ไบเบิล หรือไม่ก็สูญหายก่อนจะรวมเล่ม” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 233)
ท่านกล่าวด้วยว่า “ข้าพเจ้าเชื่อพระคัมภีร์ไบเบิลที่อ่านเมื่อมาจากปลายปากกาของผู้เขียนคนแรกสุด นักแปลที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนคัดลอกที่สะเพร่า หรือปุโรหิตที่มีแผนร้ายและทุจริตทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนหลายจุด” (คำสอน: โจเซฟ สมิธ, 207)
-
ตามที่โจเซฟ สมิธกล่าว อะไรคือเหตุผลอย่างน้อยสามข้อที่บอกว่าพระคัมภีร์ไบเบิลมีข้อผิดพลาด
เตือนนักเรียนว่าในบทเรียนเกี่ยวกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:16–59 พวกเขาศึกษาสิ่งที่พระเยซูคริสต์รับสั่งกับสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง การเปิดเผยกล่าวถึงส่วนใหญ่ที่บันทึกไว้ใน มัทธิว 24 เมื่อบอกให้เขียนการเปิดเผยนี้ในปี 1831 โจเซฟ สมิธกำลังแก้ไขพันธสัญญาเดิมด้วยการดลใจ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:60–61 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านศาสดาพยากรณ์หันมาเอาใจใส่
-
พระเจ้าตรัสว่าการแปลพันธสัญญาใหม่จะเป็นพรแก่วิสุทธิชนอย่างไร (จะเปิดเผยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเพื่อเตรียมวิสุทธิชน)
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งสรุปข้อมูลต่อไปนี้ให้ชั้นเรียนฟัง (ท่านควรให้ข้อมูลแก่นักเรียนไว้ล่วงหน้าก่อนชั้นเรียนเพื่อให้มีเวลาเตรียม) ท่านอาจต้องการเติมรายละเอียดที่นักเรียนไม่ได้พูดถึง
ราวฤดูใบไม้ร่วงปี 1830 โจเซฟ สมิธได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้แปลพระคัมภีร์ไบเบิล ท่านไม่ได้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง ทั้งไม่ได้ทำงานจากต้นฉบับเดิมของพระคัมภีร์ไบเบิล แต่โจเซฟจะอ่านและศึกษาข้อความจากพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์ จากนั้นจึงแก้ไขเพิ่มเติมตามการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้งานแปลดังกล่าวจึงเป็นการแก้ไขด้วยการดลใจมากกว่าการแปลตามแบบแผน
งานแปลของโจเซฟ สมิธคาดว่ามีผลต่อพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์อย่างน้อย 3,400 ข้อ ความแตกต่างเหล่านี้รวมถึงส่วนที่เพิ่มเข้ามา (เพื่ออรรถาธิบายความหมายหรือบริบท) ส่วนที่ลบออก ข้อที่จัดเรียงใหม่ และการจัดองค์ประกอบใหม่บางบท งานแปลของโจเซฟ สมิธอรรถาธิบายเนื้อหาเกี่ยวกับหลักคำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ พระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า ลักษณะของมนุษย์ พันธสัญญาแห่งอับราฮัม ฐานะปุโรหิต และการฟื้นฟูพระกิตติคุณ
พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์ของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่พิมพ์หลัง ค.ศ. 1979 มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 600 แห่งจากงานแปลของโจเซฟ สมิธ การเปลี่ยนแปลงสั้นที่สุดอยู่ในเชิงอรรถ และชุดข้อมูลที่ใหญ่กว่าพบในภาคผนวกพระคัมภีร์ไบเบิล
เชื้อเชิญให้นักเรียนหา โจเซฟ สมิธ—มัทธิว ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธส่วนนี้บรรจุข้อมูลมากขึ้นจาก มัทธิว 24 เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าและเป็นสัมฤทธิผลของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:60–61
ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนคนหนึ่งกล่าวอีกครั้งว่าเขาเข้าใจว่างานแปลของโจเซฟ สมิธคืออะไร หากนักเรียนมีพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์ของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ท่านอาจให้พวกเขาดูตัวอย่างเชิงอรรถงานแปลของโจเซฟ สมิธในพันธสัญญาใหม่หรือชุดข้อมูลที่ใหญ่กว่าในภาคผนวกพระคัมภีร์ไบเบิล ตัวอย่างเช่น Matthew 4:1, footnote b กล่าวว่าพระเยซูเสด็จไป “ประทับอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า” ไม่ใช่ “ให้มารล่อลวง” หลังจากให้นักเรียนดูตัวอย่างแล้ว ถามพวกเขาว่างานแปลของโจเซฟ สมิธจะช่วยพวกเขาศึกษาและเข้าใจพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:62–65
วิสุทธิชนได้รับการเตือนล่วงหน้าให้ไปรวมกันในประเทศตะวันตก
อธิบายว่าพระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนยุคแรกย้ายไปตะวันตก “ออกจากผืนแผ่นดินตะวันออก” (คพ. 45:64) เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นภาพสมาชิกศาสนจักรเคลื่อนย้ายไปตะวันตกในเวลาที่ประทานการเปิดเผยนี้ (จากนิวยอร์กไปโอไฮโอ) ท่านอาจจะขอให้พวกเขาเปิดดูแผนที่ 3 (“เขตนิวยอร์ก เพนน์ซิลเวเนีย และโอไฮโอของสหรัฐอเมริกา”) ในหมวดแผนที่ประวัติศาสตร์ศาสนจักรในพระคัมภีร์ของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:62–64 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าเหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนไปรวมกันถึง “ประเทศตะวันตก” (คพ. 45:64)
-
พระเจ้าตรัสว่าอะไรอยู่ “แม้ที่ประตูของเจ้า” ท่านคิดว่าภาพพจน์เปรียบเทียบนี้หมายถึงอะไร
อธิบายว่า ในปี 1861 เกือบ 17 ปีหลังจากมรณกรรมของโจเซฟ สมิธ เริ่มเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐ คาดว่าสงครามครั้งนี้ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายมากกว่า 1 ล้านคน มากพอๆ กับความเสียหายของทรัพย์สิน ทำให้ครอบครัวและชุมชนทั่วประเทศลำบาก วิสุทธิชนเหล่านั้นจากตะวันออกผู้ยังคงทำตามคำแนะนำของพระเจ้าให้ไปรวมกันต่างได้รับพรด้วยสันติสุขและความมั่นคงปลอดภัยในยูทาห์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:65 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้วิสุทธิชนทำขณะพวกเขาร่วมชุมนุมกันในประเทศตะวันตก
-
เหตุใดพวกเขาจึงรวมของมีค่าของพวกเขา (เพื่อซื้อที่ดินให้วิสุทธิชนได้อยู่ด้วยความสามัคคี ความสงบสุข และความปลอดภัย อธิบายว่า มรดก หมายถึงที่ดินที่วิสุทธิชนอยู่และนมัสการพระเจ้าได้)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:66–75
พระเจ้าตรัสถึงเยรูซาเล็มใหม่ หรือไซอัน
ขอให้นักเรียนพิจารณาคำถามต่อไปนี้
-
ถ้าท่านเลือกได้ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ท่านจะอยู่ที่ใด เหตุใดท่านจึงต้องการอยู่ที่นั่น
เชิญนักเรียนสองสามคนตอบ ขณะพวกเขาตอบให้ลากเส้นกลางกระดานแบ่งเป็นสองคอลัมน์ บนสุดของคอลัมน์หนึ่งให้เขียนชื่อสถานที่สองสามแห่งที่นักเรียนกล่าวถึง ในคอลัมน์เดียวกันใต้ชื่อเหล่านั้น ให้เขียนเหตุผลที่พวกเขาต้องการอยู่ในที่เหล่านั้น
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:66–67 ในใจโดยมองหาชื่อแผ่นดินมรดกของวิสุทธิชนและเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงปรารถนาจะอยู่ที่นั่น ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ
-
แผ่นดินมรดกของวิสุทธิชนจะเรียกว่าอะไร (เยรูซาเล็มใหม่ หรือไซอัน เขียนคำนี้ไว้บนสุดของคอลัมน์ที่สองบนกระดาน)
อธิบายว่าในพระคัมภีร์บางครั้งใช้คำว่า ไซอัน เพื่อหมายถึงสิ่งที่ต่างออกไปเล็กน้อย บางครั้งคำนี้หมายถึงผู้คนของไซอันและเรียกพวกเขาว่า “ผู้มีใจบริสุทธิ์” (คพ. 97:21) ในข้ออื่น ไซอัน หมายถึงทั้งศาสนจักรและสเตคทุกแห่งทั่วโลก (ดู คพ. 82:14) คำว่า ไซอัน หมายถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เฉพาะแห่งได้เช่นกัน ในการเปิดเผยนี้ ไซอัน หมายถึงเมืองทางกายภาพที่วิสุทธิชนจะสถาปนาและไปรวมกัน
-
พระเจ้าทรงบรรยายถึงเยรูซาเล็มใหม่หรือไซอันว่าอย่างไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้ในคอลัมน์ที่สองบนกระดาน พวกเขาอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: เยรูซาเล็มใหม่จะเป็นสถานที่แห่งความสงบสุขและความปลอดภัย และรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าจะอยู่ที่นั่น)
เชื้อเชิญให้นักเรียนเปรียบเทียบสถานที่ซึ่งพวกเขาเลือกเป็นบ้านในอุดมคติกับคำบรรยายเกี่ยวกับไซอัน
-
จากคำบรรยายของพระเจ้าเกี่ยวกับไซอัน เหตุใดท่านจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนี้
-
สถานที่ใดที่ท่านเคยประสบความสงบสุขและความปลอดภัย เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีสถานที่ให้ท่านอยู่อย่างปลอดภัยและสงบสุข
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:68–71 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลเพิ่มเติมที่พวกเขาชอบอยู่ในเยรูซาเล็มใหม่ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ และเพิ่มคำตอบเข้าไปในคอลัมน์ที่สองบนกระดาน
-
คนชั่วจะรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับไซอัน
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 71คนชอบธรรมของไซอันจะมาจากที่ใด (หากไม่ได้ระบุไว้ ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้ในคอลัมน์ที่สองบนกระดาน: คนชอบธรรมจากบรรดาประชาชาติทั้งปวงจะมารวมกันที่ไซอัน ท่านอาจต้องการอธิบายว่านี่เป็นจริงสำหรับไซอันที่การเปิดเผยนี้กล่าวถึงและเป็นจริงสำหรับสเตคแห่งไซอันที่ได้รับการสถาปนาทั่วโลกในปัจจุบัน)
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับเรื่องไซอัน
“ไซอัน … เป็นสถานที่ของความชอบธรรม ทุกคนที่สร้างบนนั้นจะนมัสการพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงที่ทรงพระชนม์อยู่ และทุกคนเชื่อในหลักคำสอนเดียวกัน แม้หลักคำสอนของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ของเรา” (ใน History of the Church, 2:254)
ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:72–73 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนไม่ให้ทำ จากนั้นให้สรุปสองข้อสุดท้ายของการเปิดเผยนี้โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์จะเป็นความกังวลใจสำหรับศัตรูของพวกเขา
ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนว่าพระเจ้าทรงขอให้วิสุทธิชนยุคแรกและเรา “สดับฟัง” สุรเสียงของพระองค์ในการเปิดเผยนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนย้อนกลับไปดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 45 และทบทวนสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อวิสุทธิชนเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์และเยรูซาเล็มใหม่ ท่านอาจกระตุ้นให้พวกเขาเติมข้อความต่อไปนี้ให้ครบถ้วนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา: “เพราะสิ่งที่ฉันเรียนรู้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45 ฉันจะเตรียมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดย …” สรุปโดยกระตุ้นให้นักเรียนสนทนาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในวันนี้กับสมาชิกครอบครัว