เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 79: หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:20–49


บทที่ 79

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:20–49

คำนำ

ในส่วนแรกของนิมิตที่แสดงต่อโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1832 พวกท่านเห็นรัศมีภาพของพระเยซูคริสต์และกล่าวคำพยานถึงพระองค์ พวกท่านเห็นซาตานถูกโยนลงมาจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพราะกบฏในการดำรงอยู่ก่อนเกิด พวกท่านเห็นพวกบุตรแห่งหายนะเช่นกันและเรียนรู้เกี่ยวกับผลนิรันดร์ของคนที่เลือกติดตามซาตาน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:20–24

โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเห็นนิมิตเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

สำหรับเพลงสวดให้ข้อคิดทางวิญญาณ ให้ชั้นเรียนร้องเพลง “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 59) เนื้อร้องของเพลงนี้อาจจะ ช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงพลังของความจริง ที่พวกเขาจะเรียนรู้วันนี้

เริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้: ขณะนั่งในชั้นเรียนที่โรงเรียน ครูของท่านเริ่มพูดเรื่องศาสนาต่างๆ ของโลก ครูถามว่ามีคนนับถือศาสนาคริสต์ในชั้นที่ยินดีแบ่งปันความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์หรือไม่

  • หากท่านอยู่ในสถานการณ์นี้ ท่านจะพูดว่าท่านเชื่อและรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนดูแผนภาพที่พวกเขาได้รับในบทก่อน ซึ่งสรุปนิมิตที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 อธิบายว่าในบทเรียนวันนี้พวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับสามส่วนแรกของนิมิตที่แสดงต่อโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดัน ในส่วนแรกของนิมิต พวกท่านเห็นพระบิดาและพระบุตรท่ามกลางรัศมีภาพของพระองค์ เขียน หัวข้อสามข้อต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

สิ่งที่พวกท่านเห็น สิ่งที่พวกท่านได้ยิน สิ่งที่พวกท่านเรียนรู้

ขอให้นักเรียนเขียนหัวข้อเหล่านี้ลงในในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา จากนั้นให้พวกเขา อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:20–24 ในใจ เขียนคำหรือวลีจากข้อเหล่านั้นไว้ใต้หัวข้อที่เหมาะสม หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งออกมาที่กระดานและเป็นคนเขียนคำตอบ ขอให้ชั้นเรียนแบ่งปันคำหรือวลีที่พวกเขาค้นพบไว้ใต้สองหัวข้อแรกขณะนักเรียนคนนั้นเขียนใต้หัวข้อที่เหมาะสมบนกระดาน

  • ข้อเหล่านี้สอนหลักคำสอนอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ (เชิญนักเรียนที่เป็นคนจดเขียนคำตอบของชั้นเรียนไว้บนกระดานใต้หัวข้อ สิ่งที่พวกท่านเรียนรู้)

นักเรียนอาจระบุหลักคำสอนหลากหลาย รวมทั้ง: พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์สัตภาวะที่ทรงพระชนม์และมีรัศมีภาพ พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นรูปกายแยกกัน พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้สร้างโลกนี้และโลกอื่นๆ และ เราเป็นบุตรธิดาที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า

ช่วยนักเรียนเตรียมแบ่งปันความรู้สึกและประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงที่พวกเขาค้นพบใน ข้อ 20–24 โดยขอให้พวกเขาตอบ หนึ่ง คำถามต่อไปนี้ ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (เขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

ท่านสำนึกคุณเป็นพิเศษต่อความจริงใดในบรรดาความจริงเหล่านี้และเพราะเหตุใด

ท่านสามารถเป็นพยานถึงหลักคำสอนใดในบรรดาหลักคำสอนเหล่านี้ ท่านรู้ได้อย่างไรว่าหลักคำสอนนั้นเป็นความจริง

เติมประโยคนี้ให้ครบถ้วน: เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ฉันรู้ …

หลังจากนักเรียนมีเวลาเขียนพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันใน คพ. 76:22 จากนั้นให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งที่เต็มใจได้แบ่งปันความรู้สึกและประจักษ์พยานของพวกเขาเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:25–29

โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเห็นนิมิตเกี่ยวกับการตกของลูซิเฟอร์

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เตรียม แบบสอบถามถูก/ผิดต่อไปนี้ให้นักเรียนคนละชุดหรือเขียนคำถามบนกระดาน แนะนำให้นักเรียนเขียนลงในเอกสารที่แจกหรือบนแผ่นกระดาษว่าแต่ละข้อถูกหรือผิด

  • ____1. ซาตานมีอีกชื่อหนึ่งว่าลูซิเฟอร์

  • ____2. ซาตานเป็นวิญญาณที่เคยมีสิทธิอำนาจในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

  • ____3. ซาตานไม่ได้เจตนาจะไม่เชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

  • ____4. มีความชื่นชมยินดีในสวรรค์เมื่อซาตานถูกโยนลงมา

  • ____5. ซาตานทำสงครามกับวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้า

หลังจากนักเรียนทำแบบสอบถามเสร็จแล้ว ให้อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:25–29 พูดถึงนิมิตที่โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเห็นการตกของลูซิเฟอร์ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจและเปลี่ยนคำตอบของพวกเขาตามที่อ่าน หลังจากนักเรียนแก้ไขคำตอบให้ถูกต้องแล้ว ให้ทบทวนแต่ละข้อกับชั้นเรียน และเชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายคำตอบโดยใช้สิ่งที่เรียนรู้ ข้อ 1 ถูก (ดู คพ. 76:26) ข้อ 2 ถูก (ดู คพ. 76:25–27) ท่านอาจต้องการอธิบายให้นักเรียนฟังว่าชื่อ ลูซิเฟอร์ หมายถึงผู้ทำให้เกิดแสงสว่างหรือส่องแสงให้ผู้อื่น เขามีชื่อว่า “บุตรแห่งรุ่งอรุณ” ด้วย (ดู Bible Dictionary, “Lucifer”; คู่มือศึกษาพระคัมภีร์, “ลูซิเฟอร์” scriptures.lds.org)

ขณะที่นักเรียนอธิบายคำตอบของข้อ 3 ซึ่งผิด (ดู คพ. 76:25, 28) จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าซาตานกบฏ เขาหมายมั่นจะโค่นบัลลังก์พระบิดาบนสวรรค์และยึดอำนาจ อาณาจักร และรัศมีภาพของพระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 25 อะไรเป็นผลจากการกบฏของลูซิเฟอร์ต่อต้านพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ข้างๆ ข้อ 25ว่า ในการดำรงอยู่ก่อนเกิด ลูซิเฟอร์กบฏต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เขาถูกโยนลงมา)

หลังจากนักเรียนอธิบายคำตอบของข้อ 4 ซึ่งผิด (ดู คพ. 76:26) ให้อธิบายว่า หายนะ ชื่อที่ตั้งให้ลูซิเฟอร์หมายถึงความพินาศหรืออัปมงคล

ขณะนักเรียนอธิบายคำตอบของข้อ 5 ซึ่งถูก (ดู คพ. 76:29) ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีใน ข้อ 29 ที่สอนว่า ซาตานทำสงครามกับวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้า

  • สงครามกับซาตานครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อใด (ในการดำรงอยู่ก่อนชีวิตมรรตัย) คำอะไรจาก ข้อ 29 อธิบายว่าสงครามที่เริ่มต้นในสวรรค์ดำเนินต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ (คำว่า ทำ และ ล้อม ใช้ในรูปปัจจุบันกาลทั้งสองคำ ท่านอาจต้องอธิบายว่าล้อมหมายถึงโอบล้อมจนมิด)

  • ซาตานก่อสงครามกับวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันนี้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:30–49

โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเห็นนิมิตเกี่ยวกับความทุกขเวทนาของบุตรแห่งหายนะ

  • ในช่วงสงคราม ใครคือคนทรยศ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:30–32โดยมองหาคนทรยศต่อพระผู้ช่วยให้รอดที่พระเจ้าทรงแสดงให้โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเห็นในนิมิต ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:30–35 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาการเลือกที่ชักนำแต่ละบุคคลให้กลายเป็นบุตรแห่งหายนะ

  • การเลือกใดชักนำให้กลายเป็นบุตรแห่งหายนะ (การเลือกติดตามซาตาน ปฏิเสธความจริง และท้าทายอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าหลังจากรู้แล้ว [ดู คพ. 76:31] ปฏิเสธพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์หลังจากได้รับและปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอด [ดู คพ. 76:35])

บางครั้งนักเรียนกังวลว่าคนที่พวกเขารักซึ่งกลายเป็นผู้แข็งขันน้อยในพระกิตติคุณคือบุตรแห่งหายนะ อธิบายว่าบุตรแห่งหายนะต่างจากสมาชิกศาสนจักรผู้มีประจักษ์พยานระดับหนึ่งถึงความจริงแต่ไม่แข็งขันในพระกิตติคุณนับตั้งแต่นั้นมา บุตรแห่งหายนะทำบาปที่อภัยมิได้ของการปฏิเสธพระวิญญาณบริสุทธิ์

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนดังนี้

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“บาปต่อต้านพระวิญญาณบริสุทธิ์ต้องมีความรู้ถึงขั้นว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนธรรมดาจะทำบาปเช่นนั้น” (The Miracle of Forgiveness [1969], 123)

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:36–38, 44–49 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสภาพของบุตรแห่งหายะ

  • ท่านจะพูดถึงความทุกขเวทนาที่บุตรแห่งหายนะจะประสบชั่วนิรันดร์ว่าอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 37บุตรแห่งหายนะจะเป็นพวกเดียวที่ประสบความตายแบบใด

อธิบายว่าบุตรแห่งหายนะจะไม่ได้รับการไถ่จากความตายทางวิญญาณครั้งที่สองและจะไม่ได้รับมรดกในอาณาจักรแห่งรัศมีภาพหลังจากพวกเขาฟื้นคืนชีวิต แต่พวกเขาจะทนทุกข์ชั่วนิรันดร์

ชี้ให้เห็นว่าช่วงกลางของนิมิตเกี่ยวกับบุตรแห่งหายนะ โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเรียนรู้ความจริงที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยนักเรียนระบุความจริงนี้ ขอให้นักเรียนบอกข่าวดีที่สุดที่พวกเขาได้รับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ท่านอาจต้องการนำตัวอย่างข่าวดีมาจากหนังสือพิมพ์หรือแหล่งอื่น) เชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:39–43 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาข่าวดีบางอย่างที่โลกได้รับ

  • โลกได้รับข่าวดีอะไร (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า คำว่า พระกิตติคุณ จริงๆ แล้วหมายถึงข่าวดี)

เพื่อช่วยนักเรียนระบุหลักคำสอนที่สอนใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:39–43 ขอให้พวกเขาเขียนหัวข้อข่าวสั้นๆ ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเพื่อสรุป “ข่าวดี” ที่สอนในข้อเหล่านี้ หลังจากนักเรียนมีเวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญสองสามคนแบ่งปันหัวข้อข่าวของพวกเขากับชั้นเรียน หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีใน ข้อ 39–43 ที่สอนหลักคำสอนต่อไปนี้: โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้ายกเว้นบุตรแห่งหายนะจะสืบทอดสถานที่หนึ่งในอาณาจักรแห่งรัศมีภาพเป็นมรดก

  • เหตุใดการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จึงเป็น “ข่าวดี” สำหรับท่าน

ท่านอาจต้องการสรุปบทเรียนนี้โดยแบ่งปันคำตอบของท่านสำหรับคำถามข้อนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 ได้รับนิมิต

ฟิโล ดิบเบิลอยู่ที่นั่นเมื่อโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันได้รับนิมิตของพวกท่าน เขาพูดถึงประสบการณ์ของโจเซฟและซิดนีย์ดังนี้

“นิมิตที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาประทานให้ที่บ้านของ ‘คุณพ่อจอห์นสัน’ ใน [เมืองไฮรัม] รัฐโอไฮโอและระหว่างเวลาที่โจเซฟและซิดนีย์อยู่ในวิญญาณและเห็นท้องฟ้าเปิด มีอีกหลายคนในห้อง อาจจะสิบสองคน ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่อยู่ช่วงเวลานั้น … ข้าพเจ้าเห็นรัศมีภาพและรู้สึกถึงพลังอำนาจ แต่ไม่เห็นนิมิต …

“โจเซฟจะพูดเป็นช่วงๆ ว่า ‘ผมเห็นอะไรหรือ’ เหมือนคนหนึ่งจะพูดขณะมองออกนอกหน้าต่างและเห็นสิ่งที่ทุกคนในห้องมองไม่เห็น จากนั้นท่านจะเล่าสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่มองดูอยู่ แล้วซิดนีย์จะตอบว่า ‘ผมเห็นเหมือนกัน’ สักพักซิดนีย์จะพูดว่า ‘ผมเห็นอะไรหรือ’ และจะย้ำสิ่งที่เขาเห็นหรือกำลังเห็น และโจเซฟจะตอบว่า ‘ผมเห็นเหมือนกัน’

“การสนทนาแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นช่วงๆ จนจบนิมิต …

“โจเซฟนั่งนิ่งสงบตลอดเวลาท่ามกลางรัศมีภาพอันเจิดจ้า แต่ซิดนีย์นั่งหน้าซีดเผือดและตัวอ่อนปวกเปียกราวกับผ้าขี้ริ้วซึ่งโจเซฟสังเกตเห็นและกล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ‘ซิดนีย์ไม่ชินเหมือนผม’” (ใน “Recollections of the Prophet Joseph Smith,” The Juvenile Instructor, May 15, 1892, 303–4)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:22 “นี่คือประจักษ์พยาน, สุดท้ายของทั้งหมด”

ประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:22 เป็นพยานยุคปัจจุบันถึงการดำรงอยู่จริงของพระบิดาและพระบุตร โจเซฟและซิดนีย์ไม่เพียงเห็นเท่านั้นแต่ได้ยินด้วย และประจักษ์พยานของพวกท่านเป็นพยานต่อคนทั้งปวง ไฮรัม เอ็ม. สมิธ และแจนน์ เอ็ม. สโจดาห์ลอธิบายวลี “สุดท้ายของทั้งหมด” ดังนี้ “นี่เป็นประจักษ์พยานสุดท้ายยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรงพระชนม์ องค์สัตภาวะที่ฟื้นคืนพระชนม์และมีรัศมีภาพ ไม่ใช่ประจักษ์พยานครั้งสุดท้าย แต่เป็นสุดท้ายจนถึงเวลาของนิมิตนี้” (Doctrine and Covenants Commentary [1972], 448) เมื่อพูดว่า “สุดท้ายของทั้งหมด” โจเซฟและซิดนีย์ไม่ได้หมายความว่าพวกท่านจะเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับประจักษ์พยานและพยานดังกล่าว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:26 “บุตรคนหนึ่งแห่งรุ่งอรุณ”

ประธานจอร์จ คิว. แคนนอนแห่งฝ่ายประธานสูงสุดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชื่อ “บุตรแห่งรุ่งอรุณ” ของซาตานดังนี้

ประธานจอร์จ คิว. แคนนอน

“บางคนเรียกเขาว่า บุตร แห่งรุ่งอรุณ แต่ข้อนี้เรียกว่า บุตรคนหนึ่ง แห่งรุ่งอรุณ—แน่นอนว่าหมายถึงหนึ่งในหลายๆ คน เทพองค์นี้เป็นรูปกายที่มีอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย บันทึกที่มอบให้เราเกี่ยวกับเขาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาดำรงตำแหน่งสูงมาก มีคนคิดถึงเขามาก และมีอำนาจในโลกของเขา” (“Discourse by President George Q. Cannon,” Latter-day Saints’ Millennial Star, Sept. 5, 1895, 563–64)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:32–35 กลายเป็นบุตรแห่งหายนะและปฏิเสธพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมอย่างหนึ่งต่อไปนี้ที่ทำให้คนๆ นั้นเป็นบุตรแห่งหายนะ—นั่นคือการปฏิเสธพระวิญญาณบริสุทธิ์

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“คนเราต้องทำอะไรจึงทำบาปที่อภัยมิได้ เขาต้องได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ฟ้าสวรรค์เปิดต่อเขา และรู้จักพระผู้เป็นเจ้าและจากนั้นทำบาปต่อต้านพระองค์ หลังจากคนๆ หนึ่งทำบาปต่อต้านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ย่อมไม่มีการกลับใจสำหรับเขา เขาจะต้องบอกว่าดวงอาทิตย์ไม่ส่องแสงขณะที่เขามองเห็น เขาจะต้องปฏิเสธพระเยซูคริสต์ทั้งที่ฟ้าสวรรค์เปิดต่อเขา และปฏิเสธแผนแห่งความรอดทั้งที่ดวงตาของเขาเปิดรับความจริงของแผนนั้น” (ใน History of the Church, 6:314)

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์อธิบายดังนี้

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“พวกเขาถลำลึกจนสูญเสียความโน้มเอียงและความสามารถในการกลับใจ” (The Miracle of Forgiveness [1969], 125)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:35 “โดยตรึงพระองค์ไว้ที่กางเขนสำหรับตนเองและประจานพระองค์ให้ได้อาย”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“การทำบาปที่อภัยมิได้ซึ่งเกิดจากการตรึงพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเองและทำให้พระองค์อับอายต่อฝูงชน (ฮีบรู 6:4–8; คพ. 76:34–35) … เขาจึงได้กระทำฆาตกรรมโดยยินยอมให้พระเจ้าสิ้นพระชนม์ กล่าวคือ โดยที่เขามีความรู้อันสมบูรณ์ถึงความจริงแต่เขากบฎอย่างเปิดเผยและยอมให้ตัวเขาเองอยู่ในฐานะที่เขาต้องตรึงพระคริสต์โดยรู้อย่างถ่องแท้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระคริสต์จึงทรงถูกตรึงกางเขนและประจานให้อับอายต่อสาธารณชน (คพ. 132:27)” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 816–17)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:44 “พระองค์ทรงช่วยให้คนทั้งปวงรอดเว้นแต่คนเหล่านั้น”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายต่างกันสองอย่างของการช่วยให้รอด

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายแล้ว การ ‘ช่วยให้รอด’ หมายถึงการช่วยให้รอดหรือปลดปล่อยจากความตายครั้งที่สอง (หมายถึงความตายทางวิญญาณครั้งสุดท้าย) โดยรับรองว่าจะได้อาณาจักรแห่งรัศมีภาพในโลกที่จะมาถึง (ดู 1 โครินธ์ 15:40–42) เฉกเช่นการฟื้นคืนชีวิตเกิดขึ้นกับทุกคน เรายืนยันว่าทุกคนที่เคยมีชีวิตบนพื้นพิภพ—ยกเว้นไม่กี่คน—ได้รับความรอดในความหมายนี้แน่นอน …

“ศาสดาพยากรณ์บริคัม ยังก์สอนหลักคำสอนดังกล่าวเมื่อท่านประกาศว่า ‘ทุกคนที่ไม่กระทำบาปในวันแห่งพระคุณ และกลายเป็นเทพแทนที่จะเป็นมาร จะออกมาสืบทอดอาณาจักรแห่งรัศมีภาพเป็นมรดก’ (คำสอนของประธานศาสนาจักร: บริคัม ยัง [1997], 323) ความหมายนี้ของ ช่วยให้รอด ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดสูงขึ้นผ่านพระคุณของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ …

“…ในอีกความหมายหนึ่งที่คุ้นเคยและใช้เฉพาะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย คือใช้คำว่า ช่วยให้รอด และ ความรอด เพื่อหมายถึงความสูงส่งหรือชีวิตนิรันดร์ (ดู อับราฮัม 2:11) บางครั้งเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ความสมบูรณ์แห่งความรอด’ (บรูซ อาร์. แมคคองกี, The Mortal Messiah, 4 vols. [1979–81], 1:242) ความรอดนี้เรียกร้องมากกว่าการกลับใจและบัพติศมาโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเรียกร้องการทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการแต่งงานนิรันดร์ในพระวิหารของพระผู้เป็นเจ้า และความซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาเหล่านี้โดยอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” (“ท่านได้รับการช่วยให้รอดแล้วหรือ” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 67–68)