เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 159: ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก


บทที่ 159

ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก

คำนำ

วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1995 ในการประชุมสมาคมสงเคราะห์สามัญ ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์แนะนำ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ถ้อยแถลงนี้จากฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองประกาศมาตรฐานและหลักคำสอนของพระเจ้าต่อชาวโลกเกี่ยวกับครอบครัว ถ้อยแถลงให้คำแนะนำสำหรับเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและคำเตือนเกี่ยวกับผลของการทำให้ครอบครัวแตกแยกเช่นกัน

หมายเหตุ: พึงแน่ใจว่านักเรียนแต่ละคนมีสำเนา “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เอกสารนี้อยู่ในหน้า 165 ของ เลียโฮนา ฉบับเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 ในจุลสาร หน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า และ ความก้าวหน้าส่วนบุคคล ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา ใต้หัวข้อ “ครอบครัว” และที่ LDS.org ท่านจะพบถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวในภาคผนวกของคู่มือเล่มนี้เช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองออกถ้อยแถลงต่อโลกเกี่ยวกับครอบครัว

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียน คำและวลีต่อไปนี้ บนกระดาน

ความสำคัญของการแต่งงานและครอบครัว

การหย่าร้าง

การแต่งานกับเพศเดียวกัน

เพศ

การมีบุตร

เพศสัมพันธ์นอกชีวิตสมรส

บทบาทของมารดา

บทบาทของบิดา

การทำแท้ง

เริ่มชั้นเรียนโดยถามคำถามต่อไปนี้

  • ยกมือหากท่านใดเคยมีคำถามหรือรู้จักคนที่เคยมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งบนกระดาน

  • เราจะหาคำแนะนำของพระเจ้าเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้ได้ที่ใด

แจก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ให้นักเรียน (ท่านอาจต้องการให้นักเรียนใส่ตัวเลขกำกับย่อหน้าในถ้อยแถลงเพื่อพวกเขาจะดูตามได้ง่ายเมื่อท่านให้อ่านย่อหน้าต่างๆ) อธิบายว่าประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ประกาศถ้อยแถลงนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1995 ในการประชุมสมาคมสงเคราะห์สามัญ ก่อนประธานฮิงค์ลีย์อ่าน ท่านกล่าวถึงเหตุผลบางประการว่าเหตุใดชาวโลกต้องการความจริงที่อยู่ในนั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮิงค์ลีย์ ขอให้ชั้นเรียนฟังเหตุผลที่ชาวโลกต้องได้รับถ้อยแถลงดังกล่าว

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ด้วยการอ้างเหตุผลมากมายจนหลอกให้คนยอมรับว่าเป็นความจริง ด้วยการหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานและค่านิยม ด้วยสิ่งยั่วยวนและสิ่งล่อใจมากมายให้ยอมรับความสกปรกโสมมที่เกิดขึ้นช้าๆ ของโลก เราจึงรู้สึกว่าต้องเตือนและเตือนล่วงหน้า เพื่อทำเช่นนี้เราฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครอัครสาวกสิบสองจึงได้ออกถ้อยแถลงต่อศาสนจักรและต่อโลกเป็นการประกาศและการยืนยันมาตรฐาน หลักคำสอน และหลักปฏิบัติอันเกี่ยวข้องกับครอบครัวซึ่งศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยของศาสนจักรนี้กล่าวย้ำหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของศาสนจักร” (“ยืนหยัดต่อต้านแผนการร้ายของโลก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 112)

  • เหตุใดจึงออกถ้อยแถลงนี้ต่อศาสนจักรและต่อโลก

อธิบายว่าเมื่อเราศึกษา “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เราจะได้รับคำตอบของคำถามมากมายเกี่ยวกับครอบครัว เพื่อช่วยนักเรียนระบุหลักคำสอนที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหัวข้อต่างๆ บนกระดานชัดเจนขึ้น เชื้อเชิญให้นักเรียนห้าคนผลัดกันอ่านออกเสียงถ้อยแถลงตั้งแต่ย่อหน้า 1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาหลักคำสอนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อบนกระดาน หยุดหลังจากอ่านจบแต่ละย่อหน้าเพื่อให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ เชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักคำสอนที่พวกเขาพบในสำเนาถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวของพวกเขา

ขณะนักเรียนรายงาน ให้พวกเขาเขียน หลักคำสอนที่ระบุไว้บนกระดาน นักเรียนอาจจะระบุและเขียนหลักคำสอนต่อไปนี้

การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า [ย่อหน้า 1]

ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระบิดาบนสวรรค์ [ย่อหน้า 1]

เพศเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งของแต่ละบุคคลก่อนชีวิตมรรตัย ขณะมีชีวิตมรรตัย และเป็นเครื่องหมายบ่งบอกอัตลักษณ์และจุดประสงค์นิรันดร์ [ย่อหน้า 2]

แผนแห่งความสุขทำให้สัมพันธภาพของครอบครัวดำเนินต่อเนื่องหลังความตาย [ย่อหน้า 3]

พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าให้สามีภรรยามีลูกยังมีผลบังคับในสมัยนี้ [ย่อหน้า 4]

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่าอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของการให้กำเนิดจะต้องใช้ระหว่างชายและหญิงผู้แต่งงานกันตามกฎหมายเท่านั้น [ย่อหน้า 4]

การสร้างชีวิตมรรตัยเป็นส่วนสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ [ย่อหน้า 3 และ 5]

ขณะนักเรียนรายงานหลักคำสอนแต่ละข้อที่พวกเขาค้นพบ ให้ใช้คำถามติดตามต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักคำสอนดีขึ้น

  • หลักคำสอนนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับหัวข้อที่เขียนไว้บนกระดาน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเข้าใจหลักคำสอนนี้จึงสำคัญ

  • การเข้าใจและเชื่อหลักคำสอนนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่ท่านทำได้อย่างไร

หากนักเรียนไม่ได้กล่าวถึงหลักคำสอนข้างต้น ให้ช่วยพวกเขาหาและสนทนาหลักคำสอนเหล่านั้น

ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวช่วยเราสร้างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงครอบครัวในอนาคตว่าพวกเขาอยากมีครอบครัวแบบใด

  • กิจกรรม ลักษณะนิสัย เจตคติ และความเชื่อแบบใดที่ท่านคิดว่าจะนำความสุขมาสู่ครอบครัวในอนาคตของท่าน

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มอ่านออกเสียงถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวย่อหน้า 6–7 ด้วยกัน เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขามีความสุขในครอบครัว หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามนักเรียนทั้งชั้นว่า

  • เราจะมีความสุขในครอบครัวได้อย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากจะสำเร็จได้เมื่อมีพื้นฐานบนคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ในสำเนาถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวของพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ในย่อหน้า 6 และ 7 หลักธรรมใดช่วยให้ครอบครัวพบความสุข (ท่านอาจจะเชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนา คำถามต่อไปนี้ ด้วยกันในกลุ่มเล็กๆ ของพวกเขา จัดเตรียมสำเนาคำถามให้แต่ละกลุ่ม หรือเขียนคำถามไว้บนกระดาน

ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของครอบครัวที่ทำตามคำสอนบนกระดาน

ท่านคิดว่าเหตุใดครอบครัวที่ทำตามคำสอนจึงน่าจะมีความสุขมากขึ้น

หมายเหตุ: เพราะสัมพันธภาพครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นปัจเจก อย่าเชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนากิจกรรมต่อไปนี้เสียงดัง แต่กระตุ้นให้พวกเขาใคร่ครวญคำสอนเหล่านี้ในใจและไตร่ตรองว่าพวกเขาจะปรับปรุงได้อย่างไร

หลังจากกลุ่มมีเวลาสนทนาคำถามแล้ว ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาดำเนินชีวิตตามคำสอนใดในครอบครัวและการทำเช่นนั้นได้เพิ่มความสุขของครอบครัวพวกเขาอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าคำสอนใดในถ้อยแถลงที่พวกเขาจะดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นขณะพยายามทำให้ตนเองและครอบครัวมีความสุขมากขึ้น ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเป้าหมายว่าพวกเขาวางแผนจะดำเนินชีวิตตามคำสอนเหล่านี้ให้ดีขึ้นในครอบครัวอย่างไร

เมื่อเวลาเอื้ออำนวย ให้เลือกคำถามต่อไปนี้สองข้อหรือมากกว่านั้นมาสนทนาในชั้นเรียน

  • ตามที่กล่าวไว้ในครึ่งหลังของย่อหน้า 7 บิดามีความรับผิดชอบอะไรบ้าง ท่านเคยเห็นบิดาท่านหรือบิดาคนอื่นๆ ทำความรับผิดชอบเหล่านี้ให้เกิดสัมฤทธิผลในวิธีใด

  • ตามที่กล่าวไว้ในครึ่งหลังของย่อหน้า 7 อะไรคือความรับผิดชอบเบื้องต้นของมารดา ท่านเคยเห็นมารดาท่านหรือมารดาคนอื่นๆ ทำบทบาทนี้ให้เกิดสัมฤทธิผลในวิธีใดบ้าง

  • ความรับผิดชอบเหล่านี้ประทานให้ “โดยแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้า” หมายความว่าอย่างไร (พระบิดาบนสวรรค์ทรงกำหนดความรับผิดชอบเหล่านี้) ท่านคิดว่าเหตุใดการเข้าใจเรื่องนี้จึงสำคัญ

  • วลีใดในย่อหน้า 7 ช่วยให้เราเข้าใจวิธีที่บิดาและมารดาต้องช่วยเหลือกัน (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: บิดาและมารดามีหน้าที่ช่วยเหลือกันในฐานะหุ้นส่วนเท่าๆ กันในความรับผิดชอบครอบครัวของพวกเขา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่มารดาและบิดาต้องเข้าใจว่าพวกเขาเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาเคยเห็นมารดาและบิดาทำงานด้วยกันในฐานะหุ้นส่วนเท่าๆ กันอย่างไร

ขณะนักเรียนสนทนาเรื่องที่บิดามารดาต้องสนับสนุนกัน ท่านอาจต้องการดึงความสนใจของพวกเขามาที่ประโยคต่อไปนี้ใกล้กับช่วงท้ายย่อหน้า 7: “ความพิการ ความตาย หรือสภาพการณ์อื่นๆ อาจทำให้แต่ละบุคคลจำต้องปรับตัว” รับรองกับนักเรียนว่าพระเจ้าทรงทราบสภาพการณ์เหล่านี้ดีและพระองค์ประทานพรบิดามารดาและครอบครัวขณะพวกเขาพยายามทำภาระหน้าที่ของตนให้เกิดสัมฤทธิผล

  • ตามที่กล่าวไว้ในประโยคสุดท้ายของย่อหน้า 7 ใครช่วยเหลือมารดาและบิดาในความรับผิดชอบของพวกเขาได้อีกบ้าง (ญาติพี่น้อง ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่าลูกๆ ช่วยบิดามารดาได้เช่นกัน)

อธิบายว่าทุกครอบครัวมีความยากของตนแต่ทุกครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์และพบความสุข

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้า 8 และ 9 ของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของเราในครอบครัว

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากเราละเลยความรับผิดชอบของเราในครอบครัว (นักเรียนควรบอกว่า พระเจ้าจะทรงให้เรารับผิดชอบหากเราไม่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของเราในครอบครัว พวกเขาอาจชี้ให้เห็นเช่นกันว่าการแตกสลายของครอบครัวจะทำให้เกิดภัยพิบัติ)

  • ท่านคิดว่าลูกมีความรับผิดชอบอะไรบ้างในครอบครัว

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขากำลังทำความรับผิดชอบในครอบครัวของตนให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร หากท่านเชื้อเชิญให้พวกเขาบันทึกเป้าหมายว่าจะดำเนินชีวิตตามคำสอนจากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวให้ดีขึ้นในครอบครัว จงกระตุ้นให้พวกเขาขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าขณะพยายามบรรลุเป้าหมายนี้

สรุปโดยขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับความจริงที่สอนในบทเรียนนี้ ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเช่นกัน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

การแต่งงานระหว่างชายและหญิง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอ้างอิงสองย่อหน้าจาก ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก โดยอธิบายว่าเหตุใดการแต่งงานระหว่างชายและหญิงจึงจำเป็นในแผนของพระบิดาบนสวรรค์

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“การแต่งงานที่ชอบธรรมเป็นพระบัญญัติและขั้นตอนจำเป็นในกระบวนการสร้างสัมพันธภาพครอบครัวที่รักกันซึ่งสามารถดำเนินต่อไปหลังความตาย

“เหตุผลด้านหลักคำสอนที่ไม่อาจหักล้างได้สองข้อนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าเหตุใดการแต่งงานนิรันดร์จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อแผนของพระบิดา

“เหตุผลข้อ 1: ธรรมชาติทางวิญญาณของชายและหญิงทำให้แต่ละฝ่ายสมบูรณ์และดีพร้อม ดังนั้นจึงมีเจตจำนงให้ชายและหญิงเจริญก้าวหน้าไปสู่ความสูงส่งด้วยกัน

“เราจะเข้าใจธรรมชาตินิรันดร์และความสำคัญของการแต่งงานได้อย่างถ่องแท้เฉพาะในสถานการณ์แวดล้อมแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์เท่านั้น …

“‘เพศเป็นบุคลิกภาพสำคัญยิ่งของแต่ละบุคคลก่อนชีวิตมรรตัย ขณะมีชีวิตมรรตัย และเป็นเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์และจุดประสงค์นิรันดร์’ ส่วนใหญ่กำหนดว่าเราเป็นใคร เรามาอยู่บนโลกนี้ทำไม เราต้องทำและเป็นอะไร ตามจุดประสงค์ของพระเจ้า วิญญาณของชายและหญิงต่างกัน มีลักษณะเฉพาะ และเกื้อกูลกัน

“หลังจากโลกสร้างขึ้น อาดัมถูกนำไปไว้ในสวนเอเดน แต่ที่สำคัญคือ พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ไม่ดีเลยที่ชายคนนี้จะอยู่คนเดียว” (ปฐมกาล 2:18; โมเสส 3:18) เอวากลายเป็นคู่ชีวิตและคู่อุปถัมภ์ของอาดัม ความผสมผสานแบบลงตัวของความสามารถทางวิญญาณ ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของทั้งชายและหญิงจำเป็นต่อการกำหนดแผนแห่งความสุข ลำพังชายหญิงฝ่ายเดียวไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ของการสร้างเขาหรือเธอได้

“ตามแผนอันศักดิ์สิทธิ์ ชายและหญิงต้องเจริญก้าวหน้าไปสู่ความดีพร้อมและความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพด้วยกัน เนื่องจากนิสัยใจคอและความสามารถต่างกัน ชายและหญิงจึงต่างก็นำทัศนะและประสบการณ์เฉพาะตนมาสู่สัมพันธภาพของการแต่งงาน ชายกับหญิงให้สิ่งที่แตกต่างกันแต่เท่าเทียมกันเพื่อเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีอื่น ชายทำให้หญิงสมบูรณ์และดีพร้อม หญิงทำให้ชายสมบูรณ์และดีพร้อมขณะพวกเขาเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเป็นพรให้กัน ‘แต่อย่างไรก็ดี ในองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ชายก็ขาดผู้หญิงไม่ได้ และผู้หญิงก็ขาดผู้ชายไม่ได้’ (1 โครินธ์ 11:11; เน้นตัวเอน)

“เหตุผลข้อ 2: ตามแผนของพระเจ้า ทั้งชายและหญิงจำเป็นต้องนำลูกๆ มาสู่ความเป็นมรรตัยและจัดหาสภาวะแวดล้อมที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ

“พระบัญญัติที่ประทานไว้แต่ครั้งโบราณให้อาดัมและเอวาขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกยังมีผลในปัจจุบัน ‘พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่าอำนาจการสร้างอันศักดิ์สิทธิ์นั้นจะต้องใช้ระหว่างชายและหญิงผู้ซึ่งแต่งงานตามกฎหมายในฐานะสามีและภรรยาเท่านั้น … วิธีสร้างชีวิตมรรตัยกำหนดมาจากเบื้องบน’ ดังนั้นการแต่งงานระหว่างชายหญิงจึงเป็นช่องทางที่ได้รับอำนาจในการนำวิญญาณก่อนเกิดมาสู่ความเป็นมรรตัย การละเว้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิงก่อนแต่งงานและการซื่อสัตย์อย่างเต็มที่ในชีวิตสมรสปกป้องความบริสุทธิ์ของช่องทางศักดิ์สิทธิ์นี้

“บ้านที่บิดามารดารักกันและซื่อสัตย์ต่อกันเป็นสภาวะแวดล้อมประเสริฐสุดซึ่งสามารถเลี้ยงดูลูกๆ ในความรักและความชอบธรรมได้ สามารถสนองความต้องการทางโลกและทางวิญญาณของบุตรธิดาได้ คุณลักษณะเฉพาะตัวของทั้งชายและหญิงช่วยให้สัมพันธภาพการแต่งงานมีความสมบูรณ์พร้อมฉันใด คุณลักษณะเดียวกันนี้ก็สำคัญยิ่งต่อการเลี้ยงดู อบรม และสั่งสอนบุตรธิดาฉันนั้น” (“การแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นในแผนนิรันดร์ของพระองค์,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2006, 50–55)

จุดยืนของศาสนจักรเกี่ยวกับการแต่งงานกับเพศเดียวกัน

“ศาสนจักรแยกแยะระหว่างความเสน่หาเพศเดียวกันกับพฤติกรรม แม้การมีความรู้สึกและความชอบต่อเพศเดียวกันไม่ใช่บาปแต่กำเนิด แต่การมีส่วนในพฤติกรรมรักร่วมเพศขัดกับ ‘หลักธรรมคำสอนที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ … ว่าการแต่งงานระหว่างชายหญิงสำคัญยิ่งต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายนิรันดร์ของลูกๆ พระองค์’ [“คำแถลงของฝ่ายประธานสูงสูดเรื่องการแต่งงานกับคนเพศเดียวกัน”]

“เพราะศาสนจักรเชื่อว่าอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของการให้กำเนิด ‘ต้องใช้ระหว่างชายหญิงที่แต่งงานตามกฎหมายในฐานะสามีภรรยาเท่านั้น … เพศสัมพันธ์อื่นใดก็ตาม รวมถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน ล้วนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวที่พระองค์ทรงสร้าง’ ด้วยเหตุนี้ ศาสนจักรจึงสนับสนุนมาตรการที่นิยามการแต่งงานว่าเป็นการรวมกันของชายและหญิง อย่างไรก็ตาม ‘การปกป้องการแต่งงานระหว่างชายหญิงมิได้ถอดถอนภาระหน้าที่แบบชาวคริสต์ของสมาชิกศาสนจักรในการแสดงความรัก ความมีน้ำใจ และความกรุณาต่อคนทั้งปว“The Divine Institution of Marriage,” Aug. 13, 2008, mormonnewsroom.org]” (“Same-Sex Attraction,” LDS.org)