เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 75: หลักคำสอนและพันธสัญญา 69–71


บทที่ 75

หลักคำสอนและพันธสัญญา 69–71

คำนำ

ปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1831 ออลิเวอร์ คาวเดอรีได้รับงานมอบหมายให้นำต้นฉบับหนังสือพระบัญญัติจากโอไฮโอไปมิสซูรี ในมิสซูรี วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สจะพิมพ์หนังสือนั้นที่โรงพิมพ์ของเขา วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 พระเจ้าทรงกำหนดให้จอห์น วิตเมอร์เป็นเพื่อนเดินทางของออลิเวอร์และทรงบัญชาให้เขาทำหน้าที่เป็นผู้เขียนประวัติของศาสนจักรต่อไป (ดู คพ. 69) วันต่อมา พระเจ้าทรงกำหนดให้ชายหกคนรับใช้เป็นผู้พิทักษ์การเปิดเผย (ดู คพ. 70) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1831 พระเจ้าทรงบัญชาโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันให้รับใช้งานเผยแผ่เพื่อขจัดความรู้สึกไม่เป็นมิตรต่อศาสนจักรและเตรียมทางให้พร้อมตีพิมพ์การเปิดเผยและพระบัญญัติ (ดู คพ. 71)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 69

พระเจ้าทรงเปิดเผยความสำคัญของการบันทึกประวัติ

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ใครเคยวางใจท่านให้ดูแลของมีค่าบ้าง

เมื่อเริ่มบทเรียน ให้เวลานักเรียนตรึกตรองคำถามบนกระดาน จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านได้รับความไว้วางใจให้ทำอะไร ความไว้วางใจมีผลต่อการดูแลของมีค่าของท่านอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 69 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่ออลิเวอร์ คาวเดอรีได้รับการฝากฝัง

  • ออลิเวอร์ คาวเดอรีได้รับการฝากฝังเรื่องอะไร

  • หากท่านได้รับความไว้วางใจให้อยู่กับของมีค่าเหล่านี้ ท่านจะดูแลอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 69:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานเกี่ยวกับของมีค่าเหล่านี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสมควรให้มีมากกว่าหนึ่งคนที่จะนำของมีค่าเหล่านี้ไปด้วย

อธิบายว่านอกจากจะช่วยออลิเวอร์นำการเปิดเผยและเงินไปมิสซูรีแล้ว พระเจ้าทรงวางใจจอห์น วิตเมอร์ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 69:3–8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งอื่นที่พระเจ้าทรงวางใจให้จอห์น วิตเมอร์ทำ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจต้องการเตือนความจำนักเรียนว่าจอห์น วิตเมอร์ได้รับเรียกให้รับใช้เป็นผู้เขียนประวัติและทำบันทึกของศาสนจักรในช่วงต้นปี 1831 (ดู คพ. 47)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 69:3 พระเจ้าทรงบัญชาให้จอห์น วิตเมอร์บันทึกอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 เหตุใดจึงสำคัญที่จอห์น วิตเมอร์ต้องบันทึกประวัติของศาสนจักร

อธิบายว่านับตั้งแต่สมัยของโจเซฟ สมิธ ผู้นำศาสนจักรเพียรพยายามทำตามคำแนะนำของพระเจ้าให้บันทึก “เรื่องสำคัญทั้งปวง … เกี่ยวกับศาสนจักร” (คพ. 69:3) พวกเขาเก็บรักษา “สิ่งทั้งปวงซึ่งจะเป็นประโยชน์ของศาสนจักร” (คพ. 69:8) แม้เมื่อเรื่องราวบางอย่างจะทำให้เกิดความอับอายบ้างก็ตาม ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญามีการเปิดเผยบางครั้งซึ่งพระเจ้าทรงตีสอนผู้นำศาสนจักรยุคแรก (ดู คพ. 3:5–9; 93:41–50) ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ของศาสนจักรภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุดจะเป็นผู้ชี้นำการทำงานของแผนกประวัติศาสนจักรเพื่อให้ประวัติ “ของเรื่องสำคัญทั้งปวง” ถูกต้องเสมอ

เพื่อช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 69:3, 8 ให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงคาดหวังให้เขียนประวัติเพื่อประโยชน์ของ …

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนว่าอย่างไรโดยใช้ ข้อ 3 และ ข้อ 8 เป็นหลัก ขณะพวกเขาตอบ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน: พระเจ้าทรงคาดหวังให้เขียนประวัติเพื่อประโยชน์ของศาสนจักรและอนุชนรุ่นหลัง ท่านอาจต้องการให้นักเรียนเข้าใจว่าวลี “อนุชนรุ่นหลัง” หมายถึงพวกเขาซึ่งเป็นเยาวชนของศาสนจักร

  • ในความเห็นของท่าน ประวัติศาสนจักรและประวัติส่วนตัวจะเป็นประโยชน์ต่อศาสนจักรอย่างไร จะเป็นประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังอย่างไร

ขอให้นักเรียนนึกถึง เรื่องหนึ่งจากประวัติศาสนจักรหรือประวัติครอบครัวของพวกเขาที่เคยช่วยพวกเขา แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ และขอให้พวกเขาเล่าเรื่องนั้นสู่กันฟัง ขอให้พวกเขาเล่าด้วยว่าเรื่องเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างไร หรือท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนสองสามคนเล่าเรื่องให้ทั้งชั้นฟัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 70

พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำหนดผู้พิทักษ์ดูแลการเปิดเผยของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 70 ในใจและมองหาสิ่งที่ประวัติของโจเซฟ สมิธบอกเกี่ยวกับพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา (เดิมเรียกว่าหนังสือพระบัญญัติ)

  • ท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวถึงพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาว่าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 70:1 ขอให้ชั้นเรียนมองหาชื่อผู้นำหกคนของศาสนจักร จากนั้นให้เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 70:2–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาความรับผิดชอบที่พระเจ้าประทานแก่ผู้นำหกคนนี้

  • พระเจ้าประทานความรับผิดชอบอะไรแก่ผู้นำหกคนนี้ (พวกเขาต้องเป็นผู้พิทักษ์ดูแลการเปิดเผยและพระบัญญัติ)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 70:4 พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงเรียกร้องอะไรจากคนเหล่านี้ในวันแห่งการพิพากษา (พระองค์จะทรงเรียกร้องเรื่องราวการเป็นผู้พิทักษ์ของพวกเขา อีกนัยหนึ่งคือพระองค์จะทรงขอให้พวกเขารายงานการรับใช้ของพวกเขา)

  • เหตุการณ์นี้บอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าจะทรงเรียกร้องจากเราในวันแห่งการพิพากษา (ขณะที่นักเรียนตอบ จงช่วยพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้: พระเจ้าจะทรงถือว่าเราต้องรับผิดชอบหน้าที่ซึ่งพระองค์ทรงฝากฝังไว้กับเรา เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ความจริงนี้จะส่งผลต่อวิธีที่เราตอบรับการเรียกและงานมอบหมายของศาสนจักรอย่างไร

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 70:5–18 โดยอธิบายว่าพระเจ้ารับสั่งให้ชายหกคนนี้ทำการพิทักษ์ดูแลการเปิดเผย “กิจธุระของพวกเขาในศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า, ที่จะจัดการสิ่งเหล่านั้นและเรื่องทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกัน, แท้จริงแล้ว, ผลประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น” (คพ. 70:5) ตามกฎแห่งการอุทิศถวาย รายได้ที่เกินความจำเป็นของพวกเขาจะมอบให้คลังของพระเจ้าเพื่อดูแลคนจน (ดู คพ. 70:7)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 71

พระเจ้าทรงสอนโจเซฟ สมิธ และซิดนีย์ ริกดันให้รู้วิธีโต้ตอบผู้วิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร

ถามนักเรียนว่ามีใครเคยได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศาสนจักรบ้าง ท่านอาจจะเชิญนักเรียนสองสามคนเล่าประสบการณ์ของพวกเขา

  • วิธีโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรอย่างเหมาะสมมีอะไรบ้าง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 71 เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อมูลต่อไปนี้ (หรือท่านอ่านเอง) ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าศาสนจักรและผู้นำศาสนจักรกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรในเวลาที่ได้รับการเปิดเผยนี้

เอซรา บูธเป็นอดีตบาทหลวงเมโธดิสต์ผู้กลายเป็นสมาชิกของศาสนจักรหลังจากอ่านพระคัมภีร์มอรมอน พูดคุยกับโจเซฟ สมิธ และเห็นการรักษาด้วยตา เขาเดินทางไปเป็นผู้สอนศาสนาในมิสซูรีแต่ผิดหวังเมื่อไม่สามารถทำปาฏิหาริย์ให้คนอื่นเชื่อความจริง นอกจากนี้ บูธยังเชื่อด้วยว่าความประพฤติของโจเซฟ สมิธไม่เหมาะกับการเป็นศาสดาพยากรณ์หรือผู้นำทางวิญญาณ เขาวิพากษ์วิจารณ์โจเซฟ สมิธอย่างรุนแรง ออกจากศาสนจักร และเขียนจดหมายวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรตลอดจนผู้นำของศาสนจักร จดหมายเหล่านี้ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ชื่อ Ohio Star ชักนำบางคนให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นมิตรต่อศาสนจักรและผู้นำ ประวัติของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเรียกงานเขียนของเอซรา บูธว่า “จดหมายลูกโซ่ซึ่งใช้การใส่ร้ายป้ายสี การหักหลัง และการคาดเดาอันหาสาระมิได้โค่นล้มงานของพระเจ้าล้วนเปิดโปงความอ่อนแอ ความชั่วร้าย และความโง่ [ของบูธ] และทิ้งอนุสรณ์ความอัปยศของเขาไว้ให้โลกได้ประหลาดใจ” (History of the Church, 1:216–17) ไซมอนด์ส ไรเดอร์สมาชิกที่ไม่ซื่อสัตย์อีกคนมอบสำเนาการเปิดเผยบางส่วนให้หนังสือพิมพ์อีกฉบับ โดยพยายามห้ามผู้คนเข้าร่วมศาสนจักร

อธิบายว่าความวุ่นวายที่เอซรา บูธและไซมอนด์ส ไรเดอร์ก่อขึ้นนั้นกลายเป็นปัญหารุนแรง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา71:1–4 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันทำเพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่เป็นมิตรอันเนื่องจากบทความในหนังสือพิมพ์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1 พระเจ้าทรงแนะนำโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันให้ทำอะไรเพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่ดีของผู้คนเกี่ยวกับศาสนจักร (พวกท่านต้องใช้พระคัมภีร์และอำนาจของพระวิญญาณที่พระเจ้าจะประทานแก่พวกท่าน)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำแนะนำนี้เกี่ยวกับวิธีโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร (ถึงแม้นักเรียนจะให้คำตอบที่ถูกต้องมากมาย แต่พึงให้พวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร เราสามารถโต้ตอบโดยแบ่งปันความจริงจากพระคัมภีร์และทำตามการนำทางของพระวิญญาณ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเวลานี้เพื่อเตรียมโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรหรือผู้นำศาสนจักร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการนำทางจากพระวิญญาณขณะโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีที่พระวิญญาณทรงสามารถช่วยเราโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“เมื่อเราตอบโต้ผู้อื่น แต่ละสภาพการณ์จะต่างกันไป นับเป็นเรื่องดีที่พระเจ้าทรงรู้ใจผู้กล่าวหาเราและวิธีที่เราจะโต้ตอบคนเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดขณะที่สานุศิษย์ที่แท้จริงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณ พวกท่านได้รับการดลใจที่เหมาะกับการเผชิญหน้าแต่ละครั้ง และในการเผชิญหน้าทุกครั้ง สานุศิษย์ที่แท้จริงโต้ตอบในวิธีที่อัญเชิญพระวิญญาณของพระเจ้า” (“ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 90)

อ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 71:5–11 ขอให้นักเรียนมองหาคำแนะนำและคำปลอบโยนที่พระเจ้าประทานแก่ผู้โต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร

  • ท่านเห็นคำแนะนำอะไรใน ข้อ 7

อธิบายว่าซิดนีย์ ริกดันเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้าและชวนเอซรา บูธไปสมทบกับเขาในเมืองราเวนนาซึ่งพวกเขาจะพูดอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับจดหมายที่เอซราเคยส่งลงหนังสือพิมพ์ ซิดนีย์ท้าทายไซมอนด์ส ไรเดอร์ให้ร่วมอภิปรายต่อหน้าสาธารณชนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนด้วย ชายทั้งสองปฏิเสธคำเชิญ ซิดนีย์ยังคงเป็นพยานถึงความจริงในราเวนนาและที่อื่นๆ

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อเตรียมตนเองให้ดีขึ้นในการโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับศาสนจักรและผู้นำศาสนจักร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 69:3, 8 “ให้เขาเขียนและทำประวัติต่อไป”

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์เป็นพยานถึงความสำคัญของการเขียนประวัติส่วนตัวดังนี้

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“บันทึกส่วนตัวของท่านเป็นอัตชีวประวัติของท่าน ด้วยเหตุนี้จึงควรจดบันทึกอย่างระมัดระวัง ท่านมีลักษณะเฉพาะตน และอาจมีเรื่องราวจากประสบการณ์เลอค่าน่ายกย่องของท่านตามแบบฉบับที่พึงมีมากกว่าที่บันทึกไว้ในชีวิตผู้อื่น อาจมีความกระจ่างตรงนี้และเรื่องราวความซื่อสัตย์ตรงนั้น …

“ท่านควรเขียนเรื่องราวของท่านขณะที่ยังเกิดขึ้นใหม่ๆ และยังมีรายละเอียดตามจริง …

“ท่านจะทำอะไรให้ลูกหลานของท่านได้ดีไปกว่าบันทึกเรื่องราวชีวิตของท่าน ชัยชนะเหนือความยากลำบากของท่าน การที่ท่านล้มและลุกขึ้นมาได้อีก ความก้าวหน้าของท่านเมื่อทุกอย่างดูมืดมน และความชื่นชมยินดีของท่านเมื่อท่านบรรลุผลสำเร็จ …

“หยิบสมุดจดมาหนึ่งเล่ม … สมุดบันทึกส่วนตัวที่จะคงอยู่ตลอดไป และเหล่าเทพจะอ้างจากที่นั่นชั่วนิรันดร เริ่มต้นวันนี้และเขียนความเป็นมาเป็นไปของท่าน ความคิดลึกซึ้งที่สุดของท่าน ความสำเร็จและความล้มเหลวของท่าน การคบค้าสมาคมและการฉลองชัยของท่าน ความประทับใจและประจักษ์พยานของท่าน” (“The Angels May Quote from It,” New Era, Oct. 1975, 5)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 71 พันธกิจของโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันในโอไฮโอ

ประวัติของโจเซฟ สมิธอธิบายวิธีทำงานของโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันตามพระบัญชาของพระเจ้าให้บรรเทาความรู้สึกไม่เป็นมิตรต่อศาสนจักรซึ่งเกิดขึ้นเพราะบทความหนังสือพิมพ์ที่เอซรา บูธเขียน

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“นับจากเวลานี้จนถึงวันที่ 8 หรือ 10 มกราคม ค.ศ. 1832 ตัวข้าพเจ้าและเอ็ลเดอร์ริกดันยังคงสั่งสอนในเมืองชาเลอร์สวิลล์ เมืองราเวนนา และที่อื่นๆ โดยอรรถาธิบายความจริง พิสูจน์ว่าอุดมการณ์ของพระผู้ไถ่ของเราถูกต้อง แสดงให้เห็นว่าวันแห่งการแก้แค้นกำลังมาถึงคนรุ่นนี้เหมือนขโมยในเวลากลางคืน อคติ ความมืดบอดและความมืดมนอัดแน่นในจิตใจคนจำนวนมาก เป็นเหตุให้พวกเขาข่มเหงศาสนจักรที่แท้จริง และปฏิเสธแสงสว่างที่แท้จริง เราใช้วิธีดังกล่าวนั้นระงับความรู้สึกตื่นตระหนกซึ่งเกิดจากจดหมายอื้อฉาวที่เอซรา บูธผู้ละทิ้งความเชื่อที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ตีพิมพ์อยู่ขณะนั้นใน Ohio Star ที่เมืองราเวนนา” (ใน History of the Church, 1:241)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 71 ไซมอนด์ส ไรเดอร์

เมื่อไซมอนด์ส ไรเดอร์เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักรครั้งแรก เขายังไม่ตัดสินใจทันทีว่าเขาต้องการรับบัพติศมาหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1831 เขาอ่านหนังสือพิมพ์เรื่องการทำลายกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และจำได้ว่าเด็กหญิงชาวมอรมอนเคยทำนายเรื่องการทำลายเมืองนี้เมื่อหกสัปดาห์ก่อน ประสบการณ์นี้ชักนำให้เขาเข้าร่วมศาสนจักร

ไม่นานหลังจากไซมอนด์สรับบัพติศมาและการยืนยัน เขาได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ เขาได้รับจดหมายลงนามโดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดัน ระบุว่าพระประสงค์ของพระเจ้าที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำให้รู้คือเขาควรสั่งสอนพระกิตติคุณ แต่ทั้งในจดหมายที่เขาได้รับและในงานมอบหมายอย่างเป็นทางการให้สั่งสอนสะกดชื่อ Ryder ของเขาเป็น Rider เพราะสะกดผิด ไซมอนด์สจึงเริ่มสงสัยการเปิดเผยของโจเซฟ สมิธและการเรียกท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ไซมอนด์สออกจากศาสนจักรในท้ายที่สุด แม้ปฏิกิริยาของเขาต่อการสะกดชื่อผิดไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เขาละทิ้งความเชื่อ แต่ก็มีส่วนอยู่บ้าง หลังจากละทิ้งความเชื่อ ไซมอนด์ส ไรเดอร์กลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มคนร้ายที่เอาน้ำมันดินและขนนกทาตัวโจเซฟ สมิธนอกบ้านของจอห์นกับเอลซา จอห์นสันในคืนวันที่ 24–25 มีนาคม ค.ศ. 1832

หลักคำสอนและพันธสัญญา 71:7 ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจความจริง

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำแนะนำต่อไปนี้เกี่ยวกับวิธีโต้ตอบคนที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

ในฐานะสานุศิษย์ที่แท้จริง สิ่งแรกที่เราต้องสนใจคือความผาสุกของผู้อื่น ไม่ใช่การพิสูจน์ตนให้โลกเห็น คำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์เปิดโอกาสให้เราเอื้อมออกไปหาผู้อื่นและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขามีความสำคัญต่อพระบิดาบนสวรรค์ของเราและต่อเรา เป้าหมายของเราควรจะเป็นการช่วยให้พวกเขาเข้าใจความจริง ไม่ใช่ปกป้องตัวตนของเราหรือทำคะแนนในการโต้แย้งด้านศาสนา ประจักษ์พยานจากใจจริงของเราเป็นคำตอบอันทรงพลังที่สุดที่เราให้ผู้กล่าวหาเราได้ และเราจะแสดงประจักษ์พยานเช่นนั้นได้ด้วยความรักและความอ่อนโยนเท่านั้น” (“ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 91)

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำดังนี้

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน

“เราอาจจะไม่มีวันหนีพ้นคนที่ต่อต้านมอรมอนอย่างเปิดเผย ด้วยเหตุนี้เราจึงขอร้องสมาชิกทุกคนของเราไม่ให้ต่อต้านคนต่อต้านมอรมอน” (“Pure Religion,” Ensign, Nov. 1982, 63)