เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 113: หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:39–100


บทที่ 113

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:39–100

คำนำ

บทนี้เป็นบทสุดท้ายของสามบทซึ่งพูดถึงการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107 การเปิดเผยบันทึกไว้ในปี 1835 แต่ “บันทึกทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ข้อ 60 ถึง 100 ส่วนใหญ่รวมการเปิดเผยที่ประทานผ่านโจเซฟ สมิธเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 ไว้ด้วย” (คำนำของ ภาค 107) ข้อที่สนทนาในบทนี้มีพระดำรัสของพระเจ้าเกี่ยวกับการปฏิบัติสมัยโบราณของการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจากบิดาสู่บุตร อีกทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้นำฐานะปุโรหิตต่างๆ ด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:39–57

พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสืบทอดกันมาแต่โบราณจากบิดาสู่บุตร

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน: ปัจจุบันท่านประสบหรืออีกไม่นานจะประสบกับสภาวการณ์อะไรบ้างซึ่งท่านจะได้ประโยชน์จากการได้รับการนำทางหรือการปลอบโยนจากพระบิดาบนสวรรค์ของท่าน

เมื่อเริ่มบทเรียน ให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา เมื่อนักเรียนเริ่มการสนทนา หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:39–100 วันนี้ กระตุ้นให้พวกเขามองหาหลักธรรมในข้อเหล่านี้ที่จะช่วยให้พวกเขาได้รับการนำทางและการปลอบโยนจากพระบิดาบนสวรรค์

เตือนความจำนักเรียนว่าในบทก่อน พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และสาวกเจ็ดสิบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:39 ขอให้ชั้นเรียนมองหาหน้าที่ประการหนึ่งของอัครสาวกสิบสอง อธิบายว่า คำว่า ผู้ปฏิบัติศาสนกิจฝ่ายประสาทพร หมายถึงคนที่ดำรงตำแหน่งผู้ประสาทพรในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ,” scriptures.lds.org; Bible Dictionary, “Evangelist”)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 39ศาสนจักรกำหนดผู้ประสาทพรสู่การเรียกของพวกเขาอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้ช่วยพวกเขาเข้าใจความจริงต่อไปนี้: ผู้ประสาทพรได้รับเรียกโดยการเปิดเผยและได้รับแต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของอัครสาวกสิบสอง)

ขอให้นักเรียนอธิบายหน้าที่ของคนที่ดำรงตำแหน่งผู้ประสาทพร (ผู้ประสาทพรให้พรพิเศษของฐานะปุโรหิต เรียกว่าปิตุพร แก่สมาชิกที่มีค่าควรของศาสนจักร) นอกจากนี้ให้ถามว่าใครจะบอกชั้นเรียนได้บ้างว่าปิตุพรคืออะไร (ปิตุพรประกอบด้วยคำแนะนำของพระเจ้าสำหรับแต่ละคนและประกาศเชื้อสายของบุคคลนั้นในเชื้อสายอิสราเอล ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], “ปิตุพร,” 164–166)

ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนที่ได้รับปิตุพรแล้วแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับการรับใช้ของผู้ประสาทพรสเตค (เตือนนักเรียนว่าปิตุพรศักดิ์สิทธิ์และเป็นส่วนตัว ปกติเราจะไม่บอกใครนอกจากคนใกล้ชิดในครอบครัว) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรของการได้รับปิตุพรและการศึกษาคำแนะนำที่ให้ในนั้น

อธิบายว่าคำว่า ปิตุ หมายถึงบิดาในครอบครัวเช่นกัน ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“ระเบียบของฐานะปุโรหิตที่พระคัมภีร์พูดถึงบางครั้งเรียกว่าระเบียบปิตุเพราะสืบทอดจากบิดามาสู่บุตร” (“What I Hope You Will Teach Your Children about the Temple,” Ensign, Aug. 1985, 9)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:40 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าสมัยโบราณประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคกันอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

ชี้ให้เห็นว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:41–57เราอ่านบางสิ่งที่อาดัมทำในฐานะปิตุที่ชอบธรรม เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ข้อ 41–50 ในใจและ ระบุแบบฉบับ—สองอย่างที่อาดัมทำซ้ำขณะท่านควบคุมดูแลครอบครัวของท่าน

  • อาดัมทำอะไรซ้ำสองครั้งขณะท่านควบคุมดูแลครอบครัวท่าน (ท่านแต่งตั้งผู้สืบตระกูลที่เป็นชายมีค่าควรให้ดำรงตำแหน่งในฐานะปุโรหิตและให้พรพวกเขา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:53 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าอาดัมให้พรใครอีกนอกจากผู้สืบตระกูลที่เป็นชายมีค่าควร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ (พวกเขาพึงเข้าใจว่าอาดัมให้พรลูกหลานที่ชอบธรรมทุกคน รวมทั้งธิดาของท่านด้วย)

  • ตัวอย่างของอาดัมเป็นแบบฉบับของบิดาทั้งหลายได้อย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมีสิทธิอำนาจให้พรบุตรธิดาของตน)

  • นอกจากแต่งตั้งบุตรสู่ฐานะปุโรหิตแล้ว บิดาจะให้พรฐานะปุโรหิตแก่บุตรหรือธิดาได้เมื่อใด (คำตอบอาจได้แก่ บิดาสามารถให้พรฐานะปุโรหิตได้ในยามเจ็บป่วยและให้คำแนะนำและการปลอบโยน)

อธิบายว่านอกจากให้พรบุตรธิดาแล้ว ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอาจจะให้พรสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ และคนนอกครอบครัวที่ขอพร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“โควรัมของฐานะปุโรหิตต้องดูแลและปฏิบัติศาสนกิจให้ครอบครัวที่ไม่มีฐานะปุโรหิต เมื่อทำเช่นนี้ย่อมไม่มีคนใดในศาสนจักรขาดพร” (“พลังอำนาจของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 10)

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาได้ประโยชน์จากการรับพรฐานะปุโรหิตจากบิดาของพวกเขาหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนอื่นๆ หากพวกเขาไม่มีโอกาสได้รับพรฐานะปุโรหิต ให้พวกเขาไตร่ตรองว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์จากการแสวงหาพรเช่นนั้นได้อย่างไร เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์และความคิดของพวกเขา

ให้ดูคำถามที่เขียนไว้บนกระดานก่อนเริ่มบทเรียน แบ่งปันพยานของท่านว่านักเรียนสามารถแสวงหาการนำทางและการปลอบโยนได้จากพระบิดาบนสวรรค์ผ่านปิตุพรและผ่านพรฐานะปุโรหิตที่บิดาของพวกเขาหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนอื่นๆ มอบให้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:58–100

พระเจ้าทรงเปิดเผยหน้าที่ของประธานโควรัมฐานะปุโรหิต

เขียนหัวข้อ ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และ ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ไว้บนกระดานเพื่อทบทวนพอสังเขป เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนชื่อตำแหน่งของฐานะปุโรหิตไว้ใต้หัวข้อที่เหมาะสม ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนหนึ่งตำแหน่งจากนั้นยื่นชอล์กหรือปากกาไวท์บอร์ดให้นักเรียนอีกคนหนึ่ง ทำซ้ำจนนักเรียนเขียนครบทุกตำแหน่งของฐานะปุโรหิต กระตุ้นให้นักเรียนช่วยเพื่อนหากจำเป็น (ตำแหน่งของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคได้แก่เอ็ลเดอร์ มหาปุโรหิต ผู้ประสาทพร สาวกเจ็ดสิบ และอัครสาวก ตำแหน่งของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้แก่มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต และอธิการ)

  • โควรัมฐานะปุโรหิตคืออะไร (กลุ่มพี่น้องชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตตำแหน่งเดียวกัน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานและวงกลมตำแหน่งฐานะปุโรหิตที่จัดระเบียบเป็นโควรัม กระตุ้นให้ชั้นเรียนช่วยเท่าที่ต้องการ (ตำแหน่งต่อไปนี้มีโควรัม: อัครสาวก สาวกเจ็ดสิบ มหาปุโรหิต เอ็ลเดอร์ ปุโรหิต ผู้สอน และมัคนายก ท่านอาจต้องการอธิบายว่าแต่ละสเตคมีโควรัมมหาปุโรหิตหนึ่งโควรัม โดยมีประธานสเตคเป็นประธานโควรัม ในแต่ละวอร์ดจัดระเบียบมหาปุโรหิตเป็นกลุ่มมหาปุโรหิต)

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:60–63, 85–89, 93–94 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าโควรัมที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ โควรัมฐานะปุโรหิตเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: ประธานได้รับการกำหนดให้ควบคุมและกำกับดูแลการทำงานของโควรัมฐานะปุโรหิตแต่ละโควรัม)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 87–88โควรัมปุโรหิตต่างจากโควรัมมัคนายกและโควรัมผู้สอนอย่างไร (อธิการของวอร์ดเป็นประธานควบคุมโควรัมปุโรหิต เขาเป็นประธานควบคุมผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนทั้งหมดในวอร์ดเช่นกัน ในสาขา ประธานสาขาทำหน้าที่เป็นประธานของโควรัมปุโรหิต)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่แต่ละโควรัมฐานะปุโรหิตต้องมีประธาน ประธานของโควรัมฐานะปุโรหิตจะช่วยสมาชิกโควรัมของเขาได้อย่างไร

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:68–84 โดยอธิบายว่าข้อเหล่านี้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับตำแหน่งของอธิการและบทบาทของสภาศาสนจักร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:65–66 และให้ชั้นเรียนระบุชื่อผู้นำศาสนจักรที่ควบคุมผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทั้งหมด เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ พวกเขาพึงเข้าใจว่าข้อเหล่านี้กล่าวถึงประธานศาสนจักร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:67, 91–92 และให้ชั้นเรียนมองหาคำและวลีที่พูดถึงสิทธิอำนาจและความรับผิดชอบของประธานศาสนจักร

  • จากข้อเหล่านี้ ท่านจะสรุปสิทธิอำนาจและความรับผิดชอบของประธานศาสนจักรว่าอย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกันแต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: ประธานศาสนจักรดำรงสิทธิอำนาจให้ปฏิบัติศาสนพิธีและพรทั้งหมด และควบคุมทั้งศาสนจักร ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

ให้ดูภาพประธานศาสนจักรคนปัจจุบัน

  • ท่านได้รับพรด้านใดบ้างเพราะสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ประธานศาสนจักรดำรงอยู่

ชี้ให้เห็นว่าสมาชิกศาสนจักรบางคนอาจรู้สึกว่าการเรียกหรือความรับผิดชอบของพวกเขาในศาสนจักรไม่สำคัญ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ อธิบายว่าประธานฮิงค์ลีย์กล่าวกับสมาชิกทุกคนของศาสนจักรดังนี้

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ภาระหน้าที่ของท่านในขอบเขตความรับผิดชอบของท่านจริงจังเท่ากับภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าในขอบเขตของข้าพเจ้า ไม่มีการเรียกใดในศาสนจักรนี้เล็กน้อยหรือเกิดผลเพียงน้อยนิด เราทุกคนมีความมุ่งมั่นในหน้าที่ของเราที่จะสัมผัสชีวิตของผู้อื่น” (“This Is the Work of the Master,” Ensign, May 1995, 71)

  • ท่านคิดว่า “ไม่มีการเรียกใดในศาสนจักรนี้เล็กน้อยหรือเกิดผลเพียงน้อยนิด” หมายความว่าอย่างไร

  • คำกล่าวของประธานฮิงค์ลีย์สอนอะไรท่านเกี่ยวกับความรับผิดชอบของท่านในศาสนจักร

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:99–100 ในใจและไตร่ตรองว่าคำกล่าวของประธานฮิงค์ลีย์เกี่ยวข้องกับข้อเหล่านี้อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 99–100 เราต้องทำอะไรจึงจะคู่ควรยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เพื่อให้เราคู่ควรที่จะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า เราต้องเรียนรู้หน้าที่ของเราและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียรจนเกิดสัมฤทธิผล ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

ถึงแม้ข้อเหล่านี้เดิมทีกล่าวกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตโดยตรง แต่หลักธรรมที่สอนประยุกต์ใช้ได้กับสมาชิกศาสนจักรทุกคน

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาสนทนาคำถามต่อไปนี้ อ่านคำถามทีละข้อหรือเขียนไว้บนกระดาน

  • ท่านเคยได้รับพรจากการรับใช้ของสมาชิกศาสนจักรผู้ทำหน้าที่ของเขาอย่างขยันหมั่นเพียรอย่างไร

  • ท่านกำลังทำอะไรเพื่อเรียนรู้หน้าที่ของท่านและทำหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถ

เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นพยานถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ของเราในศาสนจักรและในครอบครัวเรา เชื้อเชิญให้พวกเขาตั้งเป้าหมายทำหน้าที่ของตนอย่างขยันหมั่นเพียรจนเกิดสัมฤทธิผล

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:40–57 อาดัมแต่งตั้งบุตรชายและหลานชายพร้อมทั้งให้พรลูกหลานของเขา

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันเขียนเกี่ยวกับความสำคัญของการขอพรฐานะปุโรหิตจากบิดาดังนี้

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“ไม่นานมานี้ชายหนุ่มคนหนึ่งมาที่ห้องทำงานข้าพเจ้าเพื่อขอพร เขามีปัญหา—ไม่ใช่ปัญหาศีลธรรม แต่ … เขาสับสน เขากังวลและวิตก เราจึงพูดคุยกันสองสามนาที ข้าพเจ้าถามเขาว่า ‘คุณเคยขอพรจากคุณพ่อของคุณหรือเปล่า’ ‘โอ้’ เขาตอบ ‘ผมรู้ว่าพ่อจะไม่ทำเรื่องแบบนั้นหรอกครับ เขาไม่แข็งขันเลย’ ข้าพเจ้าพูดว่า ‘แต่เขาเป็นคุณพ่อของคุณนะ’ ‘ใช่ครับ’ ‘เขาดำรงฐานะปุโรหิตหรือเปล่า’ ‘ครับ เขาเป็นเอ็ลเดอร์ที่ไม่แข็งขัน’ ข้าพเจ้าถามว่า ‘คุณรักเขาหรือเปล่า’ และเขาตอบว่า ‘ครับ ผมรักเขา เขาเป็นคนดี เขาดีต่อครอบครัว ดีต่อลูกๆ’ ข้าพเจ้าถามว่า ‘คุณเคยสวดอ้อนวอนกับครอบครัวหรือเปล่า’ เขาตอบว่า ‘เราเคยสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวนานแล้วครับ’ ข้าพเจ้าถามว่า ‘แล้วคุณยินดีจะกลับบ้านและหาโอกาสขอให้คุณพ่อให้พรคุณได้หรือเปล่า และถ้านั่นไม่ได้ผล ให้คุณกลับมา ผมยินดีจะช่วยคุณ’

“เขากลับบ้าน และหลังจากนั้นราวสามวันเขากลับมา ‘บราเดอร์เบ็นสันครับ นี่เป็นเรื่องน่ายินดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา’ เขาบอก ‘คุณแม่กับลูกๆ นั่งที่นั่น น้องชายน้องสาว กับคุณแม่ของผมต่างนั่งเช็ดน้ำตา’ เธอขอบคุณผมหลังจากนั้น คุณพ่อผมให้พรที่ดีมาก’ เขาพูดอีกว่า ‘ผมบอกได้เลยว่าพรนั้นมาจากใจคุณพ่อ’

“มีบิดามากมายหลายคนยินดีจะให้พรลูกๆ ของตนหากพวกเขาได้กำลังใจสักเล็กน้อย ในฐานะปิตุของครอบครัว นั่นเป็นหนึ่งในภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ และแน่นอนว่าเป็นโอกาสของพวกเขา” (God, Family, Country: Our Three Great Loyalties [1974], 184)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:99 “ทุกคนพึงเรียนรู้หน้าที่ของตน”

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ข้าพเจ้ารักและยึดมั่นคำอันสูงค่าของ หน้าที่ และนัยทั้งหมดของคำนี้ …

“การเรียกให้ทำหน้าที่มาถึงอาดัม โนอาห์ อับราฮัม โมเสส ซามูเอล และดาวิด มาถึงศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและแต่ละคนผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากท่าน การเรียกให้ทำหน้าที่มาถึงเด็กหนุ่มนีไฟเมื่อพระเจ้าทรงแนะนำท่านผ่านบิดาลีไฮให้กลับไปเยรูซาเล็มกับพี่ๆ เพื่อเอาแผ่นจารึกทองเหลืองจากเลบัน พี่ๆ ของนีไฟพร่ำบ่น โดยบอกว่าสิ่งที่ขอให้พวกเขาทำเป็นเรื่องยาก อะไรคือคำตอบของนีไฟ ท่านตอบว่า ‘ข้าพเจ้าจะไปและทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา, เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงให้บัญญัติแก่ลูกหลานมนุษย์, นอกจากพระองค์จะทรงเตรียมทางไว้ให้พวกเขา เพื่อพวกเขาจะทำสำเร็จในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงบัญชาพวกเขา’ [1 นีไฟ 3:7]

“เมื่อการเรียกเดียวกันนี้มาถึงท่านและข้าพเจ้า เราจะตอบอย่างไร เราจะพร่ำบ่นเช่นเดียวกับเลมันและเลมิวเอลและพูดว่า ‘นี่เป็นสิ่งยากที่เรียกร้องจากเรา’ หรือไม่ [1 นีไฟ 3:5] หรือเราแต่ละคนจะประกาศพร้อมนีไฟว่า ‘ฉันจะไป ฉันจะทำ’ เราจะเต็มใจรับใช้และเชื่อฟังหรือไม่

“เมื่อเราปฏิบัติหน้าที่และใช้ฐานะปุโรหิตของเรา เราจะพบปีติแท้จริง เราจะประสบความพึงพอใจเมื่อทำภารกิจสำเร็จ” (“จงเต็มใจและมีค่าควรแก่การรับใช้,” หรือ เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 66–67)