เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 124: หลักคำสอนและพันธสัญญา 117–118


บทที่ 124

หลักคำสอนและพันธสัญญา 117–118

คำนำ

วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1838 ในฟาร์เวสท์ มิสซูรี ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยสี่ครั้งที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 117–120 ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 117 พระเจ้าทรงบัญชานูเวล เค. วิทนีย์และวิลเลียม มาร์คส์ให้รีบสะสางธุรกิจของพวกเขาและไปสมทบกับวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ผู้กำลังรวมตัวกันในฟาร์เวสท์ พระเจ้าตรัสเช่นกันว่าออลิเวอร์ เกรนเจอร์จะเป็นตัวแทนของฝ่ายประธานสูงสุดทำหน้าที่ขายทรัพย์สมบัติของศาสนจักรและสะสางเรื่องธุรกิจของโจเซฟ สมิธ ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 118 พระเจ้าทรงเรียกอัครสาวกคนใหม่มาดำรงตำแหน่งแทนคนที่ตกไปและเรียกสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองทุกคนให้รับใช้งานเผยแผ่ในเกรตบริเตน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:1–11

พระเจ้าทรงบัญชาวิลเลียม มาร์คส์และนูเวล เค. วิทนีย์ให้สะสางธุรกิจโดยเร็วและออกจากเคิร์ทแลนด์

ขอให้นักเรียนเขียนเหตุผลว่าทำไมบางคนจึงลังเลที่จะเชื่อฟังพระบัญชาจากพระเจ้า เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:1 และระบุว่าประทานการเปิดเผยนี้ให้ใคร อธิบายว่านูเวล เค. วิทนีย์เป็นอธิการในเคิร์ทแลนด์ เขาเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเขาอุทิศถวายทรัพย์สมบัติจำนวนมากให้ศาสนจักร วิลเลียม มาร์คส์ได้รับเรียกให้รับใช้เป็นตัวแทนของอธิการวิทนีย์เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1837 เขาเป็นเจ้าของธุรกิจขายหนังสือ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาให้ชายเหล่านี้ทำ ท่านอาจต้องการอธิบายคำว่า ชักช้า หมายถึงอยู่ที่ตรงใดที่หนึ่ง

  • พระเจ้าทรงบัญชาให้นูเวล เค. วิทนีย์กับวิลเลียม มาร์คส์ทำอะไร (พระองค์ทรงบัญชาให้พวกเขาสะสางธุรกิจโดยเร็วและออกจากเคิร์ทแลนด์ พวกเขาต้องเดินทางก่อนพระเจ้าจะทรงส่งหิมะมาแถบนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาต้องออกจากที่นั่นภายในระยะเวลาสี่เดือน)

เตือนความจำนักเรียนว่าวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1838 พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนไปรวมกันในฟาร์เวสท์ มิสซูรีและที่อื่นๆ (ดู คพ. 115:17–18) วันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1838 กลุ่มหนึ่งเรียกว่าค่ายเคิร์ทแลนด์ ประกอบด้วยวิสุทธิชน 500 กว่าคนจากเขตเคิร์ทแลนด์ ออกเดินทางไปมิสซูรี (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 189–190)

ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเราอ่านพระดำรัสของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:4–5เราเห็นว่าอธิการวิทนีย์และวิลเลียม มาร์คส์กังวลเกินเหตุกับทรัพย์สมบัติของศาสนจักรในเคิร์ทแลนด์ เพราะการเรียกพวกเขาเป็นอธิการและตัวแทนของอธิการ พวกเขาจึงเป็นผู้พิทักษ์ดูแลทรัพย์สมบัติเหล่านี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ข้อ 4 ขอให้ชั้นเรียนฟังคำถามของพระเจ้าในข้อนี้

เขียนบนกระดานดังนี้: ทรัพย์สมบัติสำคัญอย่างไรต่อเราเล่า?

  • ท่านคิดว่าคำถามนี้หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของคำถามที่พระเจ้าตรัสถามใน ข้อ 4ให้เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:5–8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลว่าเหตุใดพระเจ้าจึงตรัสว่า “ทรัพย์สมบัติสำคัญอย่างไรต่อเราเล่า” (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “ที่ราบโอลาฮาไชนิฮาห์” หมายถึงบริเวณรอบอาดัม-ออนได-อาห์มันในมิสซูรี)

  • ท่านคิดว่า “โลภ … หยดเดียว, และละเลยเรื่องที่สำคัญมากกว่า” หมายถึงอะไร (คพ. 117:8) ทรัพย์สมบัติในเคิร์ทแลนด์เป็น “หยดเดียว” อย่างไรเมื่อเทียบกับพรที่พระเจ้าจะประทานแก่อธิการวิทนีย์และประธานมาร์คส์ (หลังจากนักเรียนสนทนาคำถามเหล่านี้แล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: การโลภสิ่งของทางโลกจะเป็นเหตุให้เราละเลยเรื่องที่สำคัญมากกว่า)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะเอาใจใส่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตพวกเขามากขึ้นได้อย่างไร

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:10 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเรียกวิลเลียม มาร์คส์ให้รับใช้เป็นผู้นำศาสนจักรต่อไปเมื่อเขามาถึงฟาร์เวสท์ พระเจ้าตรัสเช่นกันว่าหากประธานมาร์คส์จะ “ซื่อสัตย์ดูแลเรื่องไม่กี่เรื่อง” ในที่สุดเขาจะ “เป็นผู้ปกครองดูแลหลายเรื่อง” (ดู มัทธิว 25:23ด้วย)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:11 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงตำหนินูเวล เค. วิทนีย์ หลังจากนักเรียนอ่านข้อนี้แล้ว ให้อธิบายว่าพวกนิโคเลาส์นิยมคือศาสนานิกายหนึ่งในสมัยก่อน พวกเขาบอกว่าพวกเขาเป็นชาวคริสต์ แต่พวกเขาหันเหออกจากหลักธรรมของพระกิตติคุณไปตามแนวปฏิบัติทางโลก (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 381)

  • หากนูเวล เค. วิทนีย์ตัดสินใจจดจ่ออยู่กับทรัพย์สมบัติในเคิร์ทแลนด์แทนที่จะไปรวมกับวิสุทธิชน การกระทำของเขาอาจจะคล้ายกับการกระทำของพวกนิโคเลาส์นิยมอย่างไร

อธิบายว่าเพราะพวกเขาออกจากเคิร์ทแลนด์ล่าช้าและการข่มเหงในมิสซูรี วิลเลียม มาร์คส์กับนูเวล เค. วิทนีย์จึงไม่สามารถไปรวมกับวิสุทธิชนในฟาร์เวสท์ได้ อย่างไรก็ดี พวกเขาทำตามคำแนะนำของพระเจ้าและยังคงซื่อสัตย์ พวกเขาจึงไปรวมกับวิสุทธิชนในนอวู อิลลินอยส์ภายหลัง ที่นั่นวิลเลียม มาร์คส์รับใช้เป็นประธานสเตคและนูเวล เค. วิทนีย์รับใช้เป็นอธิการ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:12–16

พระเจ้าทรงมอบหมายงานให้ออลิเวอร์ เกรนเจอร์เป็นตัวแทนฝ่ายประธานสูงสุดในการติดต่อธุรกิจในเคิร์ทแลนด์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนการเรียกหรืองานมอบหมายต่างๆ ของศาสนจักรที่พวกเขาอาจได้รับไว้บนกระดาน

อธิบายว่าพระเจ้าทรงบัญชาให้ชายชื่อออลิเวอร์ เกรนเจอร์ออกจากฟาร์เวสท์และกลับไปเคิร์ทแลนด์ให้ “แข็งขันอย่างจริงจังเพื่อการไถ่ฝ่ายประธานสูงสุดแห่งศาสนจักรของเรา” (คพ. 117:13) งานมอบหมายนี้รวมถึงการขายทรัพย์สมบัติของศาสนจักรและสะสางเรื่องธุรกิจของโจเซฟ สมิธด้วย ออลิเวอร์ เกรนเจอร์ผู้เกือบจะตาบอดต้องเสียสละเพื่อการนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:12–15 ในใจโดยมองหาพรที่พระเจ้าตรัสว่าออลิเวอร์ เกรนเจอร์จะได้รับเมื่อเขาทำงานมอบหมายนี้ให้เกิดสัมฤทธิผล

  • ออลิเวอร์ เกรนเจอร์จะได้รับพรอะไรบ้าง

  • พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเสียสละของออลิเวอร์ เกรนเจอร์ (ท่านอาจต้องอธิบายว่าข้อความ “การเสียสละของเขาจะศักดิ์สิทธิ์ต่อเรายิ่งกว่าการเพิ่มพูนของเขา” บ่งบอกว่าพระเจ้าสนพระทัยการเสียสละของออลิเวอร์มากกว่าเงินที่ออลิเวอร์อาจจะได้รับเมื่อเขาทำงานมอบหมายให้เกิดสัมฤทธิผล เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: การเสียสละที่เราทำในการรับใช้พระเจ้าถือว่าศักดิ์สิทธิ์ต่อพระองค์)

ให้ดูการเรียกและงานมอบหมายที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน ถามนักเรียนว่าการเรียกและงานมอบหมายเหล่านั้นอาจจะเรียกร้องให้เสียสละอะไรบ้าง

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อทำงานมอบหมายหรือการเรียกให้เกิดสัมฤทธิผล

อธิบายว่าออลิเวอร์ เกรนเจอร์สิ้นชีวิตในเคิร์ทแลนด์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1841 เวลานั้นเขายังทำหน้าที่ตัวแทนของฝ่ายประธานสูงสุดในเรื่องธุรกิจของพวกท่าน ถึงแม้เขาไม่ประสบผลสำเร็จครบถ้วนในการสะสางเรื่องธุรกิจของศาสนจักร แต่เขาทำงานเพื่อปกป้องความซื่อสัตย์สุจริตและชื่อเสียงอันดีของศาสนจักร เขาซื่อตรงต่อพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ออลิเวอร์ เกรนเจอร์ทำอะไรที่ชื่อของเขาควรอยู่ในความทรงจำอันศักดิ์สิทธิ์ จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมาก สิ่งที่เขาทำไม่มากเท่าสิ่งที่เขาเป็น …

“พระเจ้ามิได้ทรงคาดหวังให้ออลิเวอร์ดีพร้อม อาจไม่ต้องประสบผลสำเร็จด้วยซ้ำ …

“เราคาดหวังไม่ได้เสมอไปว่าจะประสบผลสำเร็จ แต่เราควรพยายามสุดความสามารถ” (“คนต่ำต้อย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 106)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเสียสละของเราจึงศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้า แม้เมื่อเรารู้สึกไม่ประสบผลสำเร็จครบถ้วนในความพยายามของเรา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 118

พระเจ้าทรงแต่งตั้งอัครสาวกคนใหม่และทรงเรียกอัครสาวกทุกคนให้รับใช้งานเผยแผ่

อธิบายว่าวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1838 พระเจ้าทรงเรียกอัครสาวกคนใหม่สี่ท่านมาแทนลูค จอห์นสัน, ไลมัน อี. จอห์นสัน, วิลเลียม อี. แม็คเลลลิน และจอห์น เอฟ. บอยน์ตันผู้ละทิ้งความเชื่อ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 118:3 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้อัครสาวกทำ

  • พระเจ้าทรงบัญชาให้อัครสาวกทำอะไร

  • วลีและคำใดใน ข้อ 3 บอกวิธีที่พระเจ้าทรงต้องการให้อัครสาวกสั่งสอนพระกิตติคุณ

เขียนบนกระดานดังนี้: หากเราสั่งสอนพระกิตติคุณในวิธีของพระเจ้า …

  • จาก ข้อ 3มีสองด้านอะไรบ้างที่เราจะเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วน (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราสั่งสอนพระกิตติคุณในวิธีของพระเจ้า พระองค์จะทรงจัดหาให้ครอบครัวเรา หากเราสั่งสอนพระกิตติคุณในวิธีของพระเจ้า พระองค์จะทรงเตรียมผู้อื่นให้พร้อมรับข่าวสารของพระองค์)

ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรผ่านการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนาของพี่น้องหรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 118:4–5 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเรียกสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ “ข้ามผืนน้ำกว้างใหญ่” (มหาสมุทรแอตแลนติก) ไปสั่งสอนพระกิตติคุณ โดยเริ่มงานเผยแผ่ของพวกท่านตรงตำแหน่งก่อสร้างพระวิหารในฟาร์เวสท์ พวกท่านจะรับใช้ในเกรตบริเตน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5เหล่าอัครสาวกออกไปทำงานเผยแผ่เมื่อใด พวกท่านออกจากที่ใด

อธิบายว่าในหลายเดือนหลังจากการเปิดเผยนี้ การข่มเหงเพิ่มขึ้นในมิสซูรี ในที่สุดวิสุทธิชนถูกไล่ออกจากรัฐนั้น สภาพเหล่านี้เป็นอันตรายสำหรับอัครสาวกสิบสองที่จะทำตามพระบัญชาของพระเจ้าให้ไปพบกันในฟาร์เวสท์ ชาวมิสซูรีจำนวนมากพูดโอ้อวดไปทั่วว่าพวกเขาจะขัดขวางไม่ให้การเปิดเผยเกิดสัมฤทธิผล แต่อัครสาวกตั้งใจว่าจะเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า ตอนเช้าวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1839 เอ็ลเดอร์บริคัม ยังก์ เอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ และเอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์ พร้อมด้วยเอ็ลเดอร์ จอห์น อี. เพจและเอ็ลเดอร์จอห์น เทย์เลอร์ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกได้ไม่นาน (ดู คพ. 118:6) ไปยังสถานที่ก่อสร้างพระวิหารฟาร์เวสท์ (ใช่ว่าสมาชิกที่ซื่อสัตย์ทุกคนของโควรัมจะอยู่ที่่นั่นได้ ตัวอย่างเช่น เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ถูกจับและถูกคุมขังด้วยข้อกล่าวหาเท็จ) พวกท่านเริ่มวางรากฐานของพระวิหารอีกครั้ง (ดู คพ. 115:11) โดยวางศิลาก้อนใหญ่ไว้ใกล้มุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของที่แปลงนั้น พวกท่านแต่งตั้งอัครสาวกคนใหม่ให้ดำรงตำแหน่งว่างในโควรัมอัครสาวกสิบสองด้วย คือเอ็ลเดอร์วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ (ดู คพ. 118:6) และเอ็ลเดอร์จอร์จ เอ. สมิธ พวกท่านออกเดินทางตามคำแนะนำของพระเจ้าโดยที่ผู้วางแผนจะหยุดยั้งพวกท่านไม่ทันสังเกต วิลลาร์ด ริชาร์ดส์ที่พระเจ้าตรัสถึงใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 118:6ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกราวหนึ่งปีต่อมาเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1840 (ดูเรื่องราวครบถ้วนมากขึ้นของประสบการณ์นี้ได้จาก คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ [2004], 143–146)

สรุปโดยเป็นพยานยืนยันหลักธรรมที่สนทนาไปแล้วในบทเรียนวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:11 พวกนิโคเลาส์นิยม

คำว่า นิโคเลาส์นิยม พบใน วิวรณ์ 2:6, 15 นักวิชาการบางคนเชื่อว่านิโคเลาส์นิยมพยายามนำการนับถือรูปเคารพเข้ามาในคริสต์ศาสนายุคแรก เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนว่านิโคเลาส์นิยมคือ “สมาชิกศาสนจักรผู้พยายามรักษาสถานภาพของตนในศาสนจักรขณะยังคงดำเนินชีวิตตามแบบของโลก … ไม่ว่าการกระทำและหลักคำสอนของพวกเขาจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ชื่อนี้มีไว้ใช้ชี้ตัวคนที่ต้องการให้ชื่อของตนอยู่ในบันทึกของศาสนจักรแต่ไม่ต้องการอุทิศตนเพื่ออุดมการณ์พระกิตติคุณด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1966–73], 3:446; ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 381)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:16 ผู้รับแลกเงินตรา

ก่อนโจเซฟ สมิธออกจากเคิร์ทแลนด์ ผู้ละทิ้งความเชื่อกลุ่มหนึ่งเข้าควบคุมพระวิหาร พระเจ้าทรงเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “ผู้รับแลกเงินตรา” เหมือนคนที่ทำให้บริเวณพระวิหารในเยรูซาเล็มแปดเปื้อน (ดู มัทธิว 21:12–13) แม้หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ พระเจ้ายังทรงต้องการให้ผู้รับใช้ของพระองค์ “ในแผ่นดินแห่งเคิร์ทแลนด์” จดจำความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 118 สัมฤทธิผลของพระบัญชาให้ผู้สอนศาสนาเดินทางออกจากฟาร์เวสท์

“ในช่วงเวลาเช้าตรู่ [ของวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1839 หลังจากโควรัมอัครสาวกสิบสองพบกันตรงตำแหน่งก่อสร้างพระวิหารฟาร์เวสท์] ธีโอดอร์ เทอร์ลีย์วิสุทธิชนคนหนึ่งที่อยู่ฟาร์เวสท์กับอัครสาวกสิบสองไปบ้านของไอแซค รัสเซลล์ผู้ละทิ้งความเชื่อเพื่อกล่าวลา รัสเซลล์ประหลาดใจที่เพื่อนของเขาอยู่ในฟาร์เวสท์กับสมาชิกอัครสาวกสิบสองและพูดไม่ออกเมื่อรู้ว่าคำพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผล” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 239)