เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 68: หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:22–66


บทที่ 68

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:22–66

คำนำ

วันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1831 โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63 บทนี้ครอบคลุม หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:22–66 ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาพรกับวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ในวันเวลาสุดท้าย ทรงเตือนเรื่องอันตรายของความจองหอง ทรงชักชวนผู้รับใช้ของพระองค์ให้จดจำความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนามของพระองค์และพูดเรื่องศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดด้วยความคารวะ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:22–54

พระเจ้าทรงสัญญาพรกับคนซื่อสัตย์ในวันเวลาสุดท้าย

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เหตุใดบางคนจึงอาจรู้สึกกังวลกับการดำเนินชีวิตในวันเวลาสุดท้าย

เมื่อเริ่มบทเรียน ให้นักเรียนสนทนาคำถามนี้เป็นคู่หรือทั้งชั้น

อธิบายว่าในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63 พระเจ้าตรัสถึงความพินาศที่จะมาถึงคนชั่วร้ายในวันเวลาสุดท้าย แต่ทรงทำสัญญาอันเปี่ยมด้วยพลังกับวิสุทธิชนเช่นกัน นอกจากนี้ พระองค์รับสั่งให้วิสุทธิชนเวลานั้นซื้อที่ดินในมิสซูรีเพื่อการสถาปนาไซอัน ซึ่งพระองค์ทรงสัญญาว่าจะเป็นสถานที่พักพิง (ดู คพ. 45:66–69)

ไอคอนเอกสารแจกเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับคำพยากรณ์ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63 ให้ทำใบบันทึกเกี่ยวกับ ข้อความต่อไปนี้ มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ ขอให้พวกเขาพิจารณาว่าข้อความแต่ละข้อจริงหรือเท็จโดยค้นคว้าพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงที่พวกเขาเรียนรู้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาขณะพวกเขาทำใบบันทึกนี้ให้ครบถ้วน

  • ____1. ระหว่างสงครามในวันเวลาสุดท้าย คนชั่วร้ายจะทำลายกัน (ดู คพ. 63:32–33)

  • ____2. วิสุทธิชนที่ชอบธรรมจะหนีพ้นความพินาศทั้งหมดของวันเวลาสุดท้ายอย่างหวุดหวิด (ดู ค.พ. 63:34)

  • ____3. เมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมาอีกครั้ง พระองค์จะทรงทำลายคนชั่วร้ายที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลก (ดู ค.พ. 63:34)

  • ____4. ในที่สุดคนที่ซื่อสัตย์จะชนะปัญหาท้าทายทั้งหมดของชีวิตนี้ (ดู คพ. 63:47–48)

  • ____5. คนชอบธรรมที่สิ้นชีวิตก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองจะฟื้นคืนชีวิตเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาแผ่นดินโลก (ดู ค.พ. 63:49)

  • ____6. คนชอบธรรมที่มีชีวิตบนแผ่นดินโลก ณ การเสด็จมาครั้งที่สองจะไม่ตาย (ดู คพ. 63:50–51)

หลังจากนักเรียนทำใบบันทึกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้พวกเขารายงานคำตอบของข้อความสองข้อแรก (ข้อความแรกเป็นจริง และข้อความที่สองเป็นเท็จ) สนทนาคำตอบของพวกเขาโดยขอให้พวกเขาทบทวนข้อพระคัมภีร์ที่อยู่ต่อจากข้อความแต่ละข้อ ขณะที่นักเรียนสนทนาคำตอบของข้อ 2 ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“ความคิดนั้นผิดที่ว่าวิสุทธิชนจะหนีพ้นจากการพิพากษาทั้งหมด ส่วนคนชั่วร้ายทนทุกข์ เพราะเนื้อหนังทั้งปวงต้องทนทุกข์และ ‘คนชอบธรรมจะหนีแทบไม่พ้น’…คนชอบธรรมจำนวนมากจะตกเป็นเหยื่อโรคภัย โรคระบาด เป็นต้น เพราะความอ่อนแอของเนื้อหนัง แต่จะรอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (ใน History of the Church, 4:11; ดู Journals, Volume 1: 1832–1839, vol. 1 of the Journals series of The Joseph Smith Papers, ed. Dean C. Jessee, Ronald K. Esplin, and Richard Lyman Bushman [2008], 352–53 ด้วย)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าคนชอบธรรมจะไม่ได้รับการละเว้นจากการทดลองทั้งหมดของวันเวลาสุดท้าย

ขอให้นักเรียนตอบข้อ 3–6 ในใบบันทึก (ข้อความ 3–5 เป็นจริง และข้อความ 6 เป็นเท็จ) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:47–48 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำสัญญาจากพระเจ้า กระตุ้นให้พวกเขาคิดหาวิธีกล่าวถึงสัญญาของพระเจ้าในข้อนี้เป็นข้อความ “หาก–เมื่อนั้น”

  • ท่านจะกล่าวถึงคำสัญญาของพระเจ้าในข้อนี้เป็นข้อความ “หาก–เมื่อนั้น” ว่าอย่างไร (นักเรียนควรกล่าวว่า หากเราซื่อสัตย์และอดทน เมื่อนั้นเราจะชนะโลก เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • พระเจ้าจะทรงช่วยให้เรา “ชนะโลก” ในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วยวิธีใดบ้าง

  • พระเจ้าทรงสามารถช่วยเรา “ชนะโลก” หลังจากเราตายด้วยวิธีใดบ้าง

เพื่อเน้นพรนิรันดร์ที่เราจะได้รับซึ่งจะช่วยเราชนะโลก ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:49 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนชอบธรรม

ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรที่เราจะได้รับในชีวิตนี้และชีวิตหน้าหากเราซื่อสัตย์และอดทน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:55–56

พระเจ้าไม่พอพระทัยความจองหองของซิดนีย์ ริกดัน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงตัวอย่างต่อไปนี้ หลังจากอ่านแต่ละตัวอย่าง ให้หยุดและขอให้ชั้นเรียนอธิบายว่าคนๆ หนึ่งอาจถูกล่อลวงให้ตอบสนองด้วยความจองหองหรือความหยิ่งยโสในสถานการณ์นั้นได้อย่างไร

  1. ท่านได้รับเชิญให้แสดงประจักษ์พยานต่อหน้าเยาวชนหลายคนที่การประชุมใหญ่เยาวชน

  2. บางคนในโควรัมของท่านหรือชั้นเรียนเยาวชนหญิงบ่นเรื่องกิจกรรมที่ท่านช่วยวางแผน

  3. ท่านเป็นนักร้องที่มีพรสวรรค์ และมีคนขอให้ท่านร้องเพลงในการประชุมศีลระลึก

อธิบายว่าซิดนีย์ ริกดันได้รับงานมอบหมายสำคัญจากพระเจ้าแต่ตอบสนองด้วยความจองหอง พระเจ้าทรงบัญชาให้เขา “เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับแผ่นดินแห่งไซอัน, และคำแถลงเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า, ดังที่พระวิญญาณจะทรงทำให้สิ่งนี้เป็นที่รู้แก่เขา” (คพ. 58:50) รายละเอียดที่เขียนจะช่วยให้วิสุทธิชนที่อยู่ไกลจากอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีรู้ว่าแผ่นดินเป็นอย่างไร (สมัยนั้นไม่มีการถ่ายภาพ) อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นวิสุทธิชนให้บริจาคเงินซื้อที่ดินด้วย (ดู คพ. 58:51)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:55–56 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาหลักฐานยืนยันว่าซิดนีย์ ริกดันได้รับอิทธิพลจากความจองหองขณะเขาทำงานมอบหมายให้เขียนรายละเอียดของไซอัน

  • ท่านสังเกตเห็นหลักฐานอะไรของความจองหอง (นักเรียนควรชี้ให้เห็นว่า ซิดนีย์ “ยกตนในใจตน, และหารับคำแนะนำไม่”)

  • อะไรเป็นผลจากความจองหองของซิดนีย์ (เขาทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า และพระเจ้าไม่ทรงยอมรับงานเขียนของเขา ท่านอาจต้องการอธิบายว่าการทำให้พระวิญญาณโศกเศร้าหมายถึงการดำเนินชีวิตในลักษณะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงถอนตัวจากเรา)

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก ข้อ 55 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: พระวิญญาณโศกเศร้าหากเราจองหองในการทำงานของพระเจ้า เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชิญนักเรียนสองสามคนอ่านออกเสียงแต่ละตัวอย่างข้างต้นอีกครั้ง หลังจากอ่านแต่ละตัวอย่าง ให้หยุดและขอให้ชั้นเรียนอธิบายว่าบุคคลจะจัดการสถานการณ์นี้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนแทนความจองหองได้อย่างไร หลังจากการสนทนา ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเปิดโอกาสให้ซิดนีย์ ริกดันเขียนรายละเอียดของไซอันอีกครั้ง (ดู คพ. 63:56) ซิดนีย์กลับใจและเขียนรายละเอียดอีกครั้งของแผ่นดินแห่งไซอันที่พระเจ้าทรงยอมรับ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:57–66

พระเยซูคริสต์ทรงแนะนำผู้รับใช้ของพระองค์ให้จดจำความศักดิ์สิทธิ์ของพระนามของพระองค์และพูดเรื่องศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดด้วยความคารวะ

อ่านหรือสรุปเรื่องราวต่อไปนี้จากชีวิตของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ ขอให้นักเรียนฟังสิ่งที่พวกเขาประทับใจ

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“ที่โรงพยาบาลเซนต์มาร์คในซอลท์เลคซิตี้ [ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์] ไม่รู้สึกตัวเพราะยาสลบและรับการผ่าตัด จากนั้นจึงถูกเข็นกลับไปห้องของท่าน ยายังไม่หมดฤทธิ์ สเป็นเซอร์รู้สึกว่าเตียงเข็นของท่านหยุดอยู่ข้างลิฟต์และได้ยินเจ้าหน้าที่ดูหมิ่นพระนามของพระเจ้าเพราะเขาโมโหบางอย่าง แม้จะครึ่งหลับครึ่งตื่นแต่ท่านก็ขอร้องด้วยเสียงที่พูดออกมาอย่างยากลำบากว่า ‘ได้โปรดอย่าพูดอย่างนั้นครับ ผมรักพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้ ได้โปรด’ ทุกคนเงียบกริบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตอบอย่างนุ่มนวลว่า ‘ผมไม่ควรพูดแบบนั้น ผมขอโทษ’” (Edward L. Kimball and Andrew E. Kimball Jr., Spencer W. Kimball: Twelfth President of The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints [1977], 264)

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

  • ความคารวะที่ประธานคิมบัลล์มีต่อพระนามของพระเจ้าแตกต่างอย่างไรจากวิธีที่คนจำนวนมากในโลกทุกวันนี้ใช้พระนามของพระองค์

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:59–64 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำและวลีที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เราใช้พระนามของพระองค์อย่างไรและทรงต้องการให้เราพูดถึงเรื่องศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดอย่างไร

  • ท่านพบอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราพึงใช้พระนามของพระเจ้า (ขณะนักเรียนระบุคำและวลีจาก ข้อ 64ให้พวกเขาสรุปส่วนแรกของข้อนี้ พวกเขาควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: พระนามของพระเยซูคริสต์ศักดิ์สิทธิ์และต้องพูดถึงด้วยความระมัดระวัง เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งเป็นคนจดที่กระดาน ขอให้ชั้นเรียนบอกสถานการณ์บางอย่างที่เราอาจจะใช้พระนามของพระเยซูคริสต์ได้อย่างเหมาะสม และให้คนจดเขียนไว้บนกระดาน นักเรียนอาจกล่าวว่าเราใช้พระนามของพระผู้ช่วยให้รอดในการสวดอ้อนวอน การเป็นผู้พูด ประจักษ์พยาน บทเรียนพระกิตติคุณ และศาสนพิธีฐานะปุโรหิต เราอาจพูดถึงพระผู้ช่วยให้รอดในการสนทนาประจำวันได้เช่นกัน แต่เราควรพูดด้วยความคารวะ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราพึงใช้พระนามของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยความคารวะ

  • หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:62 เพิ่มความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับความหมายของการใช้พระนามของพระเจ้าอย่างไม่สมควรอย่างไร ข้อนี้ประยุกต์ใช้ได้อย่างไรกับศาสนพิธีฐานะปุโรหิต

  • เมื่อเราใช้พระนามของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจดจำว่าพระนามนี้ศักดิ์สิทธิ์และต้องพูดถึงด้วยความระมัดระวัง

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าความจริงที่ท่านสนทนาไปแล้วไม่เพียงประยุกต์ใช้ได้กับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น

  • คำใดหรือเรื่องใดอีกบ้างที่ “มาจากเบื้องบน” และศักดิ์สิทธิ์ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราพูดถึงคำหรือเรื่องเหล่านั้น “ด้วยความระมัดระวัง”

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ไม่มีคำใดในภาษาทั้งหมดของเราศักดิ์สิทธิ์หรือสำคัญกว่าพระนามของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์” (“Reverent and Clean,” Ensign, May 1986, 50)

  • เหตุใดพระนามของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์จึงศักดิ์สิทธิ์ต่อท่าน

แสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ อธิบายว่าเหตุใดพระนามของพระองค์จึงศักดิ์สิทธิ์ต่อท่าน เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดหาวิธีที่พวกเขาจะใช้พระนามของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ด้วยความคารวะมากขึ้น กระตุ้นให้พวกเขาทำเช่นนั้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:25–27 “เรา, พระเจ้า, ให้แก่ซีซาร์สิ่งซึ่งเป็นของซีซาร์”

ใน ลูกา 20:19–26เราอ่านเกี่ยวกับพวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์พยายามจับผิดพระเยซูโดยถามพระองค์ว่าควรส่งส่วยให้ซีซาร์จักรพรรดิโรมันหรือไม่ พวกเขารู้ว่าหากพระองค์ตรัสว่าควร ชาวยิวจะไม่ยอมรับพระองค์เพราะคนเหล่านั้นเกลียดชาวโรมันที่เคยเอาชนะพวกเขา หากพระองค์ตรัสว่าไม่ควร พวกเขาจะรายงานต่อชาวโรมันผู้จะจับกุมพระองค์โทษฐานทรยศต่อกฎหมายโรมัน พระเยซูทรงให้พวกเขาดูเหรียญที่มีรูปซีซาร์จารึกบนนั้นและตรัสว่า “ของของซีซาร์จงถวายแก่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า” (ข้อ 25)

ในสมัยของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ การที่พระเยซูทรงอ้างเรื่องนี้ช่วยสอนวิสุทธิชนว่าถึงแม้ทั้งแผ่นดินโลกเป็นของพระเจ้า แต่วิสุทธิชนยังต้องซื้อที่ดินซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาให้สร้างนครแห่งไซอันบนนั้น การซื้อครั้งนี้จำเป็นเพราะวิสุทธิชนจะได้มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินตามกฎหมายและป้องกันความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคต

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:50–51 อะไรคือ “อายุมนุษย์” และพระองค์จะทรง “เปลี่ยน [ผู้คน] ในชั่วพริบตา” หมายความว่าอย่างไร

ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ประกาศว่าในระหว่างมิลเลเนียม “ในที่นั้นจะไม่มีทารกซึ่งมีชีวิตเพียงสองสามวัน หรือคนแก่ที่มีอายุไม่ครบกำหนด เพราะคนตายเมื่ออายุร้อยปีจะถือว่าอ่อนวัย ส่วนคนอายุน้อยกว่าร้อยปีจะถือว่าถูกแช่งสาป” (อิสยาห์ 65:20)

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนด้วยว่า “มนุษย์บนแผ่นดินโลกจะยังต้องตาย แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดกับพวกเขาทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะมีพลังอำนาจเหนือความเจ็บป่วย โรคภัย และความตาย ความตายจะถูกกำจัดไปจากแผ่นดินโลกเกือบหมด เพราะมนุษย์จะมีชีวิตจนพวกเขาอายุเท่าต้นไม้หรือหนึ่งร้อยปี (ดู [คพ.] 63:50–51) หลังจากนั้นจะตายในอายุมนุษย์ แต่ความตายนี้จะเกิดขึ้นในพริบตาและความเป็นมรรตัยจะเปิดทางให้ความเป็นอมตะทันที จะไม่มีหลุมศพ และคนชอบธรรมจะถูกรับขึ้นสู่การฟื้นคืนชีวิตอันรุ่งโรจน์” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:323)