บทที่ 146
การสืบทอดตำแหน่งในฝ่ายประธาน
คำนำ
หลังจากมรณสักขีของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและไฮรัมพี่ชายท่านเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 บางคนสับสนว่าใครจะนำศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย แต่ก่อนที่ท่านศาสดาพยากรณ์จะสิ้นชีวิต ท่านได้เตรียมโอนตำแหน่งผู้นำนี้โดยประสาทกุญแจและพลังอำนาจทั้งหมดของฐานะปุโรหิตให้โควรัมอัครสาวกสิบสอง เมื่อบริคัม ยังก์ผู้เป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดกับวิสุทธิชนวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1844 สมาชิกศาสนจักรจำนวนมากได้รับพยานทางวิญญาณว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกและเตรียมท่านให้นำศาสนจักร
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลังจากมรณสักขีของโจเซฟกับไฮรัม สมิธ บางคนอ้างสิทธิ์นำศาสนจักร
ก่อนชั้นเรียน ให้เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน
เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะตอบคำถามบนกระดานอย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาฟังคำตอบของคำถามเหล่านี้วันนี้ขณะพวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้นำของศาสนจักรที่เกิดขึ้นหลังจากมรณกรรมของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและไฮรัมพี่ชายของท่าน
อธิบายว่าหลังจากโจเซฟกับไฮรัม สมิธสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขี วิสุทธิชนประสบความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง บางคนสับสนว่าใครจะนำศาสนจักร เมื่อไม่มีประธานศาสนจักร บางคนเข้าใจว่าการเป็นผู้นำตกอยู่กับโควรัมอัครสาวกสิบสองตามสิทธิ์ แต่บางคนกล่าวอ้างผิดๆ ว่าตนมีสิทธิ์นำศาสนจักร หนึ่งในนั้นคือซิดนีย์ ริกดันและเจมส์ สแตรงก์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสามย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเหตุใดซิดนีย์ ริกดันซึ่งเคยเป็นผู้นำที่โดดเด่นของศาสนจักรนานหลายปีจึงคิดว่าเขาควรนำศาสนจักร
“ซิดนีย์ ริกดัน ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุด มาจากเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย [ถึงเมืองนอวู] วันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1844 ในปีก่อนเวลานี้ เขาเริ่มใช้ชีวิตตรงข้ามกับคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและเหินห่างจากศาสนจักร เขาไม่ยอมพบกับสมาชิกสามท่านของโควรัมอัครสาวกสิบสองที่อยู่ในนอวูแล้ว แต่เขาพูดกับวิสุทธิชนกลุ่มใหญ่ที่ชุมนุมกันเพื่อนมัสการวันอาทิตย์แทน” (ดู มรดกของเรา: ประวัติย่อของศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย [1996], 76)
ซิดนีย์ ริกดันขอให้จัดการประชุมพิเศษวันอังคารที่ 6 สิงหาคมเพื่อให้สมาชิกศาสนจักรได้เลือกผู้ปกครองศาสนจักร ดูประหนึ่งซิดนีย์ ริกดันพยายามจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อให้สมาชิกศาสนจักรยอมรับตำแหน่งของเขาในฐานะผู้ปกครองศาสนจักรก่อนอัครสาวกทั้งสิบสองท่านจะกลับจากงานเผยแผ่ทางภาคตะวันออกของสหรัฐ ผู้นำศาสนจักรบางท่านรู้สึกว่าบราเดอร์ริกดันอาจกำลังออกอุบาย “ใช้สถานการณ์ของวิสุทธิชนให้เป็นประโยชน์” (History of the Church, 7:225) โชคดีที่เอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริชาร์ดส์และเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรท์พยายามเลื่อนการประชุมเป็นวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1844 ซึ่งอัครสาวกส่วนใหญ่กลับมาถึงนอวูพอดี
ซิดนีย์ ริกดันอ้างว่าเพราะเขาได้รับการเรียกและการวางมือแต่งตั้งเป็นกระบอกเสียงของโจเซฟ สมิธมาก่อนแล้ว (ดู คพ. 100:9) เขาจึงต้องรับผิดชอบ “ดูแลให้มีการปกครองศาสนจักรอย่างถูกวิธี” (ใน History of the Church, 7:229) เขาอ้างด้วยว่าเขาควรเป็น “ผู้ปกครองผู้คน” และในการทำความรับผิดชอบนี้ให้เกิดสัมฤทธิผล เขากำลังทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำ (ดู History of the Church, 7:230)
-
หากท่านอยู่ในนอวูเวลานั้น ท่านจะคิดอย่างไรกับข้ออ้างของซิดนีย์ ริกดัน ท่านอาจมีข้อกังวลอะไรบ้างเกี่ยวกับบราเดอร์ริกดัน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเหตุใดเจมส์ สแตรงก์จึงพูดว่าเขาควรนำศาสนจักร
เจมส์ แสตรงก์ผู้รับบัพติศมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1844 กำลังสำรวจสถานที่ซึ่งเป็นไปได้ให้วิสุทธิชนในวิสคอนซินเมื่อฤดูใบไม้ผลิ ปี 1844 หลังจากมรณสักขี เจมส์ สแตรงก์อ้างว่าได้รับจดหมายจากโจเซฟ สมิธแจ้งว่าโจเซฟแต่งตั้งเขาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากท่าน จดหมายของเจมส์ สแตรงก์ซึ่งเขานำมาให้สมาชิกศาสนจักรดูมีลายเซ็นของโจเซฟ สมิธด้วย เจมส์ สแตรงก์อ้างตัวเป็นศาสดาพยากรณ์คนต่อไปและประกาศตำแหน่งของเขาที่การประชุมใหญ่ของศาสนจักรในมิชิแกนวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1844
-
หากท่านอยู่กับวิสุทธิชนในมิชิแกน ท่านคิดว่าท่านจะหาอะไรยืนยันคำอ้างของเจมส์ สแตรงก์ ท่านอาจจะมีข้อกังวลอะไรกับคำอ้างเหล่านี้
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงห้าย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่บริคัม ยังก์บอกผู้นำฐานะปุโรหิตคนอื่นๆ รวมทั้งสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองซึ่งอยู่ในนอวูว่าใครควรนำศาสนจักร
เอ็ลเดอร์จอห์น เทย์เลอร์ เอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริชาร์ดส์ เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์อยู่ในนอวูแล้วเมื่อซิดนีย์ ริกดันมาถึง อัครสาวกที่เหลือส่วนใหญ่ รวมทั้งบริคัม ยังก์ กลับถึงนอวูเย็นวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1844 วันรุ่งขึ้น 7 สิงหาคม อัครสาวกประชุมสภาที่บ้านของจอห์น เทย์เลอร์ บ่ายวันนั้น อัครสาวกสิบสอง สภาสูง และมหาปุโรหิตประชุมกัน ประธานยังก์ขอให้ซิดนีย์ ริกดันแจ้งข่าวสารของเขาต่อวิสุทธิชน ซิดนีย์ ริกดันประกาศอย่างอาจหาญว่าเขาเห็นนิมิต และไม่มีใครจะสืบทอดตำแหน่งประธานศาสนจักรต่อจากโจเซฟ สมิธได้ จากนั้นเขาเสนอให้แต่งตั้งตนเป็นผู้ปกครองผู้คน
หลังจากซิดนีย์ ริกดันพูดจบ บริคัม ยังก์กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าไม่สนใจว่าใครนำศาสนจักร … แต่สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าต้องรู้ และนั่นคือพระผู้เป็นเจ้าตรัสอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีกุญแจและวิธีได้รับพระดำริของพระผู้เป็นเจ้าในเรื่องดังกล่าว …
“โจเซฟประสาทกุญแจและพลังอำนาจทั้งหมดที่เป็นของอัครสาวกบนศีรษะเรา [หมายถึงโควรัมอัครสาวกสิบสอง] ซึ่งตัวท่านถือไว้ก่อนท่านถูกสังหาร …
“โจเซฟกล่าวกับอัครสาวกสิบสองบ่อยมากว่า ‘ข้าพเจ้าวางรากฐานไว้แล้วและท่านต้องสร้างบนนั้นเพราะอาณาจักรวางอยู่บนบ่าพวกท่าน’” (ใน History of the Church, 7:230)
-
เหตุใดประจักษ์พยานของบริคัม ยังก์เกี่ยวกับกุญแจของฐานะปุโรหิตจึงสำคัญ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน อัครสาวกถือกุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิตที่จำเป็นต่อการควบคุมศาสนจักร)
อธิบายว่าเมื่อวางมือแต่งตั้งอัครสาวก เขาได้รับกุญแจที่จำเป็นทั้งหมดของฐานะปุโรหิตบนแผ่นดินโลก (ดู คพ. 112:30–32) แต่สิทธิอำนาจในการใช้กุญแจเหล่านี้จำกัดเฉพาะอัครสาวกอาวุโสซึ่งคือประธานศาสนจักร
อ่านออกเสียงคำแนะนำต่อไปนี้ที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้แก่โควรัมอัครสาวกสิบสองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1836 นานกว่าแปดปีก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต
“อัครสาวกสิบสองไม่อยู่ใต้สิทธิอำนาจของใครนอกจากฝ่ายประธานสูงสุด … ‘และเมื่อข้าพเจ้าไม่อยู่ ย่อมไม่มีฝ่ายประธานสูงสุดเหนืออัครสาวกสิบสอง’” (ใน History of the Church, 2:374)
-
จากข้อความนี้ เกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายประธานสูงสุดเมื่อประธานศาสนจักรสิ้นชีวิต ใครนำศาสนจักร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อประธานศาสนจักรสิ้นชีวิต ฝ่ายประธานสูงสุดจะหมดวาระและโควรัมอัครสาวกสิบสองกลายเป็นโควรัมควบคุม)
อธิบายว่าเมื่อประธานศาสนจักรสิ้นชีวิต ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดกลับสู่ตำแหน่งเดิมในฐานะสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองตามลำดับอาวุโสในโควรัม เมื่อตั้งโควรัมอัครสาวกสิบสองครั้งแรกในปี 1835 ลำดับอาวุโสตัดสินตามอายุ ปัจจุบันลำดับอาวุโสกำหนดตามวันที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:127–128 และขอให้ชั้นเรียนมองหาคนที่เป็นอัครสาวกอาวุโสและประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง ณ เวลาที่โจเซฟ สมิธสิ้นชีวิต ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่เรียนรู้
-
ตามที่ท่านได้เรียนรู้ เหตุใดท่านจึงยินดีติดตามบริคัม ยังก์หลังจากโจเซฟ สมิธสิ้นชีวิต
เติมหลักคำสอนบนกระดานให้ครบถ้วนโดยเพิ่มส่วนที่ขีดเส้นใต้ เมื่อประธานศาสนจักรสิ้นชีวิต ฝ่ายประธานสูงสุดจะหมดวาระและโควรัมอัครสาวกสิบสองกลายเป็นโควรัมควบคุม ภายใต้การกำกับดูแลของอัครสาวกอาวุโส
วิสุทธิชนมากมายได้รับพยานว่าบริคัม ยังก์ควรนำศาสนจักร
อธิบายว่าวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1844 วิสุทธิชนในนอวูมารวมกันเวลา 10:00 น. เพื่อฟังซิดนีย์ ริกดันอ้างตนเป็นผู้ปกครองศาสนจักร เพราะลมพัดมาทางยกพื้น ซิดนีย์ ริกดันจึงยืนอยู่ในเกวียนด้านหลังผู้ร่วมประชุมเพื่อให้ผู้คนได้ยินเสียงของท่านชัดขึ้น ผู้ร่วมประชุมหันกลับไปเพื่อจะได้เห็นซิดนีย์ ริกดันขณะเขาสั่งสอน เขาพูดกับวิสุทธิชนหลายพันคนที่มาชุมนุมกันนานหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โดยอธิบายสาเหตุที่เขาควรเป็นผู้ปกครองศาสนจักร หลายคนบอกว่าสุนทรพจน์ของเขาไม่สร้างแรงบันดาลใจ
ประธานบริคัม ยังก์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นมานั่งบนยกพื้นตรงข้ามกับที่ซิดนีย์ ริกดันกำลังพูด เวลานั้นลมอ่อนลงแล้ว หลังจากซิดนีย์ ริกดันพูดจบ ประธานบริคัม ยังก์จึงพูด ผู้คนหันกลับมาฟังบริคัม ยังก์พูดและหันหลังให้เกวียนที่ซิดนีย์ ริกดันยืนอยู่ (ดู จอร์จ คิว. แคนนอน, “Discourse,” Deseret News, Feb. 21, 1883, 67) ประธานบริคัม ยังก์พูดสั้นๆ และบอกว่าท่านกลับมานอวูเพราะอยากไว้อาลัยท่านศาสดาพยากรณ์มากกว่าจะมาแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ ท่านประกาศว่าการชุมนุมของผู้นำและสมาชิกจะจัดตอนบ่ายของวันนั้นเวลา 14:00 น. สมาชิกหลายคนของศาสนจักรเป็นพยานในเวลาต่อมาว่าขณะที่บริคัม ยังก์พูด พวกเขาเห็นรูปลักษณ์ของท่านเปลี่ยนและได้ยินเสียงของท่านเปลี่ยน ท่านมีรูปลักษณ์และเสียงคล้ายศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เหตุการณ์อัศจรรย์ครั้งนี้ช่วยให้วิสุทธิชนจำนวนมากรู้ว่าพระเจ้าทรงต้องการให้บริคัม ยังก์นำศาสนจักร
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงตัวอย่างต่อไปนี้ที่แสดงว่าวิสุทธิชนจำนวนมากเห็นและได้ยินอะไร
เบ็นจามิน เอฟ. จอห์นสันจำได้ว่า “ทันทีที่ท่าน [บริคัม ยังก์] พูดข้าพเจ้าผุดลุกขึ้นยืนเพราะนั่นคือเสียงของโจเซฟ สีหน้าท่าทาง เครื่องแต่งกาย และรูปลักษณ์ของท่านเหมือนโจเซฟทุกกระเบียดนิ้ว ข้าพเจ้ารู้ในขณะนั้นว่าวิญญาณและเสื้อคลุมของโจเซฟอยู่บนตัวท่าน” (My Life’s Review, 104, ดังที่อ้างอิงใน ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 308)
วิลเลียม ซี. สเตเนสอธิบายว่าบริคัม ยังก์พูด “เสียงเหมือนเสียงของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ ข้าพเจ้าคิดว่านั่นคือท่าน คนหลายพันคนที่ได้ยินก็คิดเช่นนั้น” (ใน History of the Church, 7:236)
วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เขียนว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่านด้วยตาตนเอง คงไม่มีใครทำให้ข้าพเจ้าเชื่อได้ว่านั่นไม่ใช่โจเซฟ สมิธ และคนที่คุ้นเคยกับชายสองคนนี้สามารถเป็นพยานในเรื่องนี้ได้” (ใน History of the Church, 7:236)
อธิบายว่าระหว่างการประชุมที่จัดตอนบ่ายวันนั้นเวลา 14:00 น. บริคัม ยังก์และสมาชิกท่านอื่นในโควรัมอัครสาวกสิบสองพูด อีกหลายคนแสดงความเห็นว่าบริคัม ยังก์ดูคล้ายและเสียงคล้ายโจเซฟ สมิธขณะที่ท่านพูดเมื่อบ่ายวันนั้น จอร์จ คิว. แคนนอนอายุ 17 ปีในเวลานั้น เขาจำได้ว่า “นั่นเป็นเสียงของโจเซฟ … ดูเหมือนในสายตาผู้คนประหนึ่งคนที่ยืนอยู่ต่อหน้าพวกเขาคือโจเซฟ” (ใน History of the Church, 7:236; see also Edward William Tullidge, Life of Brigham Young [1877], 115) นอกจากปาฏิหาริย์ครั้งนี้แล้ว วิสุทธิชนหลายคนรู้สึกเช่นกันว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อพวกเขาว่าบริคัม ยังก์และโควรัมอัครสาวกสิบสองได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าให้นำศาสนจักร ตอนท้ายการประชุมนี้ วิสุทธิชนในนอวูออกเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์สนับสนุนโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นำศาสนจักร โดยมีบริคัม ยังก์เป็นหัวหน้าพวกเขา อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสมาชิกทุกคนของศาสนจักรจะเลือกทำตามอัครสาวก บางคนเลือกทำตามคนอื่นๆ อาทิ ซิดนีย์ ริกดัน และเจมส์ สแตรงก์ผู้ก่อตั้งศาสนจักรของตน
-
พระเจ้าประทานพรให้วิสุทธิชนรู้อย่างไรว่าพระองค์ทรงกำหนดให้ใครนำศาสนจักร
-
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้นำศาสนจักรในปัจจุบันได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะได้รับพยานว่าคนที่นำศาสนจักรได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการได้รับประจักษ์พยานว่าผู้นำศาสนาจักรของเราได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าจึงสำคัญ
-
ท่านได้รับพยานเมื่อใดว่าผู้นำของศาสนจักรได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านทำอะไรเพื่อรับพยานนั้น
อธิบายว่าเมื่อโจเซฟ สมิธสิ้นชีวิต อัครสาวกอาวุโส (บริคัม ยังก์) สามารถใช้กุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิตได้ทันที ท่านมีสิทธิ์ได้รับการเปิดเผยว่าจะจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุดเมื่อใด ปี 1847—สองปีเศษหลังมรณสักขี—บริคัม ยังก์ได้รับการดลใจให้จัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุดชุดใหม่แทนที่จะนำศาสนจักรต่อไปในฐานะประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ให้ดูภาพฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองชุดปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ขอให้พวกเขาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองเมื่อประธานศาสนจักรสิ้นชีวิต ขอให้พวกเขาระบุด้วยว่าใครจะเป็นประธานศาสนจักรหรืออัครสาวกอาวุโสหากประธานศาสนจักรคนปัจจุบันสิ้นชีวิตวันนี้
ท่านอาจต้องการสรุปบทเรียนนี้โดยเป็นพยานว่ากุญแจและอำนาจฐานะปุโรหิตเดียวกันกับที่โจเซฟ สมิธประสาทให้บริคัม ยังก์และสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ปัจจุบันผู้ถือกุญแจเหล่านี้คือประธานศาสนจักร ที่ปรึกษาของท่านในฝ่ายประธานสูงสุด และสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านอาจจะแบ่งปันเช่นกันว่าท่านได้รับประจักษ์พยานอย่างไรว่าผู้นำของศาสนจักรได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้นักเรียนพยายามร่วมกับการสวดอ้อนวอนให้ได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนเองเกี่ยวกับความจริงที่พวกเขาสนทนาวันนี้
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
ลำดับวันเดือนปีของการสืบทอดตำแหน่งในฝ่ายประธานหลังมรณสักขีของโจเซฟ สมิธ
วันเดือนปี | |
---|---|
27 มิถุนายน 1844 |
โจเซฟกับไฮรัม สมิธสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขี |
29 มิถุนายน 1844 |
สาธารณชนดูศพของโจเซฟกับไฮรัม สมิธ |
27 มิถุนายน–7 กรกฎาคม 1844 |
วิลลาร์ด ริชาร์ดส์กับจอห์น เทย์เลอร์ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นอัครสาวกเพียงสองคนในนอวู |
8 กรกฎาคม 1844 |
พาร์ลีย์ พี. แพรทท์กลับไปนอวูและช่วยวิลลาร์ด ริชาร์ดส์กับจอห์น เทย์เลอร์รักษาความสงบเรียบร้อยในศาสนสจักร |
3 สิงหาคม 1844 |
ซิดนีย์ ริกดันมาจากเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนียถึงเมืองนอวู |
4 สิงหาคม 1844 |
ซิดนีย์ ริกดันบอกวิสุทธิชนกลุ่มหนึ่งว่าเขาควรเป็นผู้ปกครองศาสนจักรและต้องการเรียกประชุมพิเศษวันที่ 6 สิงหาคมเพื่อยืนยันการแต่งตั้งเขา การประชุมจัดจริงในวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม |
6 สิงหาคม 1844 |
อัครสาวกที่เหลือส่วนใหญ่ รวมทั้งบริคัม ยังก์ กลับจากงานเผยแผ่มาถึงนอวู |
7 สิงหาคม 1844 |
ตอนเช้า อัครสาวกประชุมกันในบ้านของจอห์น เทย์เลอร์ที่ได้รับบาดเจ็บ ที่การประชุมตอนบ่ายของอัครสาวก สภาสูง และมหาปุโรหิต ซิดนีย์ ริกดันอ้างอีกครั้งว่าเขาควรเป็นผู้ปกครองศาสนจักร บริคัม ยังก์กล่าวว่าท่าน [บริคัม ยังก์] ถือกุญแจและต้องการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องนี้ |
8 สิงหาคม 1844 |
ระหว่างการประชุมเวลา 10:00 น. ซิดนีย์ ริกดันพูดนานหนึ่งชั่วโมงครึ่งกับวิสุทธิชนหลายพันคนที่มาชุมนุมกันโดยอธิบายสาเหตุที่เขาควรเป็นผู้ปกครอง บริคัม ยังก์พูดเช่นกันและขอให้วิสุทธิชนมารวมกันอีกครั้งเวลา 14:00 น. ระหว่างการประชุมทั้งสองครั้ง วิสุทธิชนจำนวนมากร่วมเป็นพยานว่าบริคัม ยังก์มีลักษณะท่าทางและเสียงเหมือนโจเซฟ สมิธ ระหว่างการประชุมเวลา 14:00 น. วิสุทธิชนสนับสนุนบริคัม ยังก์และอัครสาวกสิบสองให้เป็นผู้นำของศาสนจักร สมาชิกจำนวนมากของศาสนจักรร่วมเป็นพยานว่าเสื้อคลุมของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธตกอยู่บนบริคัม ยังก์ผู้มีลักษณะท่าทางและเสียงเหมือนโจเซฟ สมิธชั่วระยะเวลาหนึ่ง |
พระเจ้าทรงกำหนดการสืบทอดตำแหน่งในฝ่ายประธานศาสนจักร
พระเจ้าทรงกำหนดการสืบทอดตำแหน่งในฝ่ายประธานศาสนจักร ศาสนจักรไม่มีวันปราศจากผู้นำที่ได้รับการดลใจ และไม่มีเหตุให้คาดเดาหรือโต้เถียงกันว่าใครจะเป็นประธานศาสนจักรคนต่อไป
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบทุกเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และไม่มีชายใดเป็นประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์โดยบังเอิญ หรือยังอยู่ที่นั่นโดยบังเอิญ หรือถูกเรียกให้กลับบ้านโดยบังเอิญ” (“Jesus Christ—Gifts and Expectations,” New Era, May 1975, 16–17)
โจเซฟ สมิธประสาทกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรให้โควรัมอัครสาวกสิบสอง
วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ผู้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1844 ก่อนโจเซฟ สมิธถูกสังหารว่า
“ท่านยืนอยู่ในห้องราวสามชั่วโมงเพื่อกล่าวปราศรัยกับเราเป็นครั้งสุดท้าย ห้องนั้นเสมือนหนึ่งเต็มไปด้วยเพลิงเผาผลาญ ใบหน้าท่านกระจ่างใสราวอำพัน คำพูดของท่านดุจสายฟ้าฟาดเปรี้ยงมาที่เรา ทะลุทะลวงทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ท่านกล่าวว่า ‘พี่น้องทั้งหลาย พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทรงผนึกฐานะปุโรหิตทั้งหมด กุญแจทั้งหมด พลังทั้งหมด หลักธรรมทั้งหมดที่เป็นส่วนหนึ่งของสมัยการประทานสุดท้ายของความสมบูรณ์แห่งเวลาและการเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าไว้บนศีรษะข้าพเจ้า ข้าพเจ้าผนึกหลักธรรม ฐานะปุโรหิต การเป็นอัครสาวก และกุญแจทั้งหมดนั้นของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าไว้บนศีรษะท่าน และบัดนี้ท่านต้องร่วมแรงร่วมใจกันขยายอาณาจักรนี้ต่อไปหาไม่แล้วท่านจะถูกกล่าวโทษ’” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ [2004], xxxi)