เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 112: หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21–38


บทที่ 112

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21–38

คำนำ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1835 สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ กำลังเตรียมเดินทางไปทำงานเผยแผ่ครั้งแรกทั้งโควรัม ก่อนไป พวกท่านขอให้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธทูลขอการเปิดเผยเพื่อช่วยพวกท่านขณะพวกท่านแยกจากกัน (ดูคำนำของภาค 111) การเปิดเผยที่ท่านได้รับบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107 บทนี้เป็นบทที่สองในสามบทที่พูดถึงภาคนี้ ในการเปิดเผยส่วนนี้ พระเจ้าทรงสรุปหน้าที่ของโควรัมควบคุมของศาสนจักร ได้แก่ ฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และสาวกเจ็ดสิบ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21–26

พระเจ้าทรงสรุปหน้าที่และสิทธิอำนาจของโควรัมควบคุมของศาสนจักร

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ช่วยเหลือ และ ค้ำจุน เมื่อชั้นเรียนเริ่มขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่มีคนค้ำจุนและช่วยเหลือพวกเขา จากนั้นให้นักเรียนหันไปหาคู่และอธิบายประสบการณ์ของพวกเขา

  • เกิดความแตกต่างอะไรเมื่อท่านรู้ว่ามีคนค้ำจุนหรือช่วยเหลือท่าน

เขียนคำว่า สนับสนุน บนกระดานและอธิบายว่าการสนับสนุนบางคนหมายความว่าเราช่วยเหลือและค้ำจุนบุคคลนั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21–22 ในใจโดยหาดูว่าพระเจ้าตรัสให้สมาชิกศาสนจักรสนับสนุนใคร

  • พระเจ้าตรัสว่าเราควรสนับสนุนใคร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียน ฝ่ายประธานสูงสุด เป็นหัวข้อบนกระดาน)

ขอให้นักเรียนทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:8–9 ในใจ ก่อนพวกเขาอ่านข้อเหล่านี้ ให้อธิบายว่าใน ข้อ 9วลี “ฝ่ายประธานฐานะปุโรหิตระดับสูง, ตามระเบียบของเมลคีเซเดค” หมายถึงฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้นักเรียนหาดูว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับฝ่ายประธานสูงสุด

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับฝ่ายประธานสูงสุด (เขียนความจริงต่อไปนี้ใต้หัวข้อ: ฝ่ายประธานสูงสุดมีความรับผิดชอบและสิทธิอำนาจในการเป็นประธานดูแลทุกตำแหน่งในศาสนจักร)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 22เราสนับสนุนฝ่ายประธานสูงสุดอย่างไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้: ศาสนจักรสนับสนุนฝ่ายประธานสูงสุดโดยความไว้วางใจ ศรัทธา และการสวดอ้อนวอน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำหรือวลีใน ข้อ 22 ที่สอนหลักธรรมนี้)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องสนับสนุนฝ่ายประธานสูงสุด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่ท่านกล่าวว่าเราควรทำเพื่อค้ำจุนหรือสนับสนุนผู้นำศาสนจักรของเรา

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“เพื่อเราจะสนับสนุนผู้ได้รับเรียก … เราต้องสำรวจชีวิตเรา กลับใจหากจำเป็น สัญญาว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า และทำตามผู้รับใช้ของพระองค์ …

“… คงจะดีถ้าเราตัดสินใจสนับสนุนทุกคนที่รับใช้เราในอาณาจักรด้วยศรัทธาและคำสวดอ้อนวอนของเรา ข้าพเจ้ารับรู้เป็นส่วนตัวถึงพลังศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรในการสนับสนุนคนที่ได้รับเรียก … ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างแรงกล้าถึงคำสวดอ้อนวอนและศรัทธาของคนที่ข้าพเจ้าไม่รู้จักและคนที่รู้จักข้าพเจ้าว่าเป็นเพียงผู้ได้รับเรียกให้รับใช้ผ่านกุญแจทั้งหลายของฐานะปุโรหิต” (“ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 25)

  • ประธานอายริงก์กล่าวว่าเราต้องทำอะไรเพื่อค้ำจุนผู้นำศาสนจักรของเรา

  • เราจะค้ำจุนผู้นำศาสนจักรเช่นฝ่ายประธานสูงสุดที่เราไม่รู้จักเป็นส่วนตัวได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เวลานี้เพื่อสนับสนุนฝ่ายประธานสูงสุดและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนเป้าหมายเฉพาะเจาะจงลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรในอนาคตเพื่อค้ำจุนและช่วยเหลือท่านเหล่านั้นให้ดีขึ้น

เขียน โควรัมอัครสาวกสิบสอง เป็นหัวข้อบนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับหน้าที่ของอัครสาวกสิบสอง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 23อัครสาวกสิบสองได้รับเรียกอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดานใต้หัวข้อ “โควรัมอัครสาวกสิบสอง”: อัครสาวกเป็นพยานพิเศษถึงพระนามของพระเยซูคริสต์ในทั่วโลก (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักคำสอนนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านคิดว่าอัครสาวกเป็นพยานพิเศษถึงพระนามของพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านสิ่งที่ Bible Dictionary กล่าวเกี่ยวกับคำและชื่อ อัครสาวก ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าประธานศาสนจักรเป็นอัครสาวกอาวุโสบนแผ่นดินโลกและที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดเป็นอัครสาวกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดจึงเป็นพยานพิเศษถึงพระนามของพระเยซูคริสต์เช่นกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาฟังหรืออ่านพยานหรือประจักษ์พยานของอัครสาวก ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:24 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของโควรัมอัครสาวกสิบสอง

  • ใน ข้อ 24เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของโควรัมอัครสาวกสิบสอง (โควรัมมีสิทธิอำนาจและพลังอำนาจเทียบเท่าฝ่ายประธานสูงสุด ท่านอาจต้องการเขียนข้อมูลนี้ไว้บนกระดานใต้ “โควรัมอัครสาวกสิบสอง”)

อธิบายว่าเมื่อชายได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวก พวกท่านได้รับกุญแจฐานะปุโรหิตเดียวกันกับประธานศาสนจักร แต่ประธานศาสนจักรในฐานะมหาปุโรหิตควบคุมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เป็นคนเดียวบนแผ่นดินโลกที่ได้รับมอบอำนาจให้ใช้กุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิต อัครสาวกท่านอื่นใช้กุญแจฐานะปุโรหิตเหล่านั้นเมื่อประธานศาสนจักรมอบอำนาจ เมื่อประธานศาสนจักรถึงแก่กรรม ฝ่ายประธานสูงสุดจะสิ้นสุดหน้าที่และโควรัมอัครสาวกสิบสองซึ่งมีสิทธิอำนาจและพลังอำนาจเท่าเทียมฝ่ายประธานสูงสุดจะกลายเป็นกลุ่มควบคุมดูแลศาสนจักร จากนั้นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองหรืออัครสาวกอาวุโสที่สุดที่มีชีวิตอยู่จะได้รับมอบอำนาจให้ใช้กุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิต

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:25 ในใจโดยมองหาโควรัมฐานะปุโรหิตอีกโควรัมหนึ่งที่กล่าวไว้ในการเปิดเผยนี้และหน้าที่ของสมาชิกโควรัมนั้น

  • โควรัมที่สามที่พระเจ้าตรัสไว้ในการเปิดเผยนี้คืออะไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียน สาวกเจ็ดสิบ เป็นหัวข้อบนกระดาน)

  • หน้าที่ของสาวกเจ็ดสิบมีอะไรบ้าง (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดานใต้ “สาวกเจ็ดสิบ”: สาวกเจ็ดสิบได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณและเป็นพยานพิเศษของพระเยซูคริสต์ทั่วโลก)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:26 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับสิทธิอำนาจของสาวกเจ็ดสิบ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับสิทธิอำนาจของสาวกเจ็ดสิบ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้

“พระเยซูคริสต์ทรงถือกุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิตเกี่ยวข้องกับศาสนจักรพระองค์ พระองค์ทรงประสาทสุญแจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกให้อัครสาวกแต่ละคนของพระองค์ อัครสาวกผู้มีอาวุโสสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งได้แก่ประธานศาสนจักรเป็นเพียงคนเดียวบนแผ่นดินโลกที่มีสิทธิอำนาจใช้กุญแจฐานะปุโรหิตทั้งปวง …

“สาวกเจ็ดสิบปฏิบัติหน้าที่ตามงานมอบหมายและสิทธิอำนาจที่ได้รับจากฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง … ฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบได้รับการวางมือมอบหน้าที่และได้รับกุญแจในการควบคุมดูแลโควรัมสาวกเจ็ดสิบ” (คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 2.1.1)

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีขณะอ่านหรือฟังคำพูดของสมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และสาวกเจ็ดสิบ หากนักเรียนเคยพบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้บางท่าน ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:27–32

พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายว่าโควรัมควบคุมของศาสนจักรต้องตัดสินใจอย่างไร

บอกนักเรียนว่าท่านอยากให้พวกเขาตัดสินใจง่ายๆ เป็นกลุ่ม (ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะตัดสินใจเลือกเพลงสวดไว้ร้องในการให้ข้อคิดทางวิญญาณคราวหน้า) กระตุ้นให้นักเรียนสนทนาทางเลือกและตัดสินใจด้วยกัน เมื่อนักเรียนตัดสินใจแล้ว ให้สนทนาดังนี้

  • ปกติคนกลุ่มต่างๆ ตัดสินใจอย่างไร

  • ท่านคิดว่าวิธีนี้เปรียบได้อย่างไรกับวิธีที่ฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และสาวกเจ็ดสิบตัดสินใจ

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้นักเรียน อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:27–32 ด้วยกันโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนว่าโควรัมควบคุมของศาสนจักรพึงตัดสินใจอย่างไร หลังจากให้เวลานักเรียนค้นคว้าข้อเหล่านี้พอสมควรแล้ว ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ โควรัมควบคุมตัดสินใจอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการสรุปคำตอบของพวกเขาโดยเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: โควรัมควบคุมของศาสนจักรตัดสินใจในความเป็นหนึ่งและความชอบธรรม)

  • ใน ข้อ 30 กล่าวถึงคุณสมบัติสำคัญอะไรบ้างที่พี่น้องชายเหล่านี้ต้องมีจึงจะได้คำตัดสินที่เป็นเอกฉันท์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 31พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับโควรัมควบคุมของศาสนจักรเมื่อพวกท่านตัดสินใจโดยใช้คุณสมบัติเหล่านี้

  • การรู้ว่าพระเจ้าทรงสัญญาจะประทานพรฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และสาวกเจ็ดสิบด้วยความรู้ของพระองค์จะช่วยให้ท่านสนับสนุนผู้นำเหล่านี้ด้วยความไว้วางใจ ศรัทธา การสวดอ้อนวอน และทำตามคำแนะนำของพวกท่านได้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:33–38

พระเจ้าประทานคำแนะนำเพิ่มเติมแก่โควรัมควบคุมของศาสนจักร

มอบหมายข้อต่อไปนี้ให้นักเรียนคนละข้อ: หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:33, 34หรือ35 เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาข้อที่ได้รับและระบุความจริงเกี่ยวกับอัครสาวกสิบสองหรือสาวกเจ็ดสิบ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนมาที่กระดานและเขียนความจริงที่พวกเขาค้นพบใต้ “โควรัมอัครสาวกสิบสอง” หรือ “สาวกเจ็ดสิบ”

ในบรรดาความจริงที่นักเรียนระบุอาจได้แก่: อัครสาวกสิบสองปฏิบัติหน้าที่ในพระนามของพระเจ้าและภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุดในการเสริมสร้างศาสนจักร สาวกเจ็ดสิบปฏิบัติหน้าที่ในพระนามของพระเจ้า ภายใต้การกำกับดูแลของอัครสาวกสิบสอง อัครสาวกสิบสองถือกุญแจของการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

สรุปบทเรียนนี้โดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ของคนเหล่านั้นที่พระเจ้าทรงเรียกให้นำศาสนจักรของพระองค์ กระตุ้นให้นักเรียนสนับสนุนและค้ำจุนพวกท่านโดยเอาใจใส่คำแนะนำที่ได้รับการดลใจของพวกท่าน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21–24 พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนความหมายของการเป็นพยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ดังนี้

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“บทบาทของอัครสาวกในปัจจุบันเหมือนกับสมัยโบราณ (ดู กิจการของอัครทูต 1:22; 4:33) งานมอบหมายของเราคือไปทั่วโลกและประกาศ ‘เรื่องพระเยซูคริสต์และการที่พระองค์ทรงถูกตรึงที่กางเขน’ (ดู มาระโก 16:15; 1 โครินธ์ 2:2) อัครสาวกเป็นผู้สอนศาสนาและพยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ ‘พระนามของพระคริสต์’ หมายถึงทั้งหมดของพระพันธกิจ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด—สิทธิอำนาจของพระองค์ หลักคำสอนของพระองค์ และคุณสมบัติที่โดดเด่นของพระองค์ในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ไถ่และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ในฐานะพยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ เราแสดงประจักษ์พยานถึงการดำรงอยู่จริง การเป็นพระเจ้า และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ การชดใช้อันไม่มีขอบเขตและนิรันดร์ของพระองค์ และพระกิตติคุณของพระองค์” (“Special Witnesses of the Name of Christ,” The Religious Educator: Perspectives on the Restored Gospel, vol. 12, no. 2 [2011], 1)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:27–30 คำตัดสินของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนเกี่ยวกับคำตัดสินของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองดังนี้

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ไม่มีการตัดสินใจออกมาจากการปรึกษาหารือของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองหากปราศจากความเป็นเอกฉันท์ในบรรดาทุกคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเริ่มพิจารณาเรื่องต่างๆ อาจมีความเห็นต่างกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน บุรุษเหล่านี้มาจากภูมิหลังต่างกัน พวกท่านเป็นคนที่คิดด้วยตนเอง แต่ก่อนการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ต้องมีความคิดและเสียงเป็นเอกฉันท์

“นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าจะทำตามพระวจนะที่พระเจ้าทรงเปิดเผย ข้าพเจ้าอ้างจากการเปิดเผยดังนี้

“‘คำตัดสินของโควรัมเหล่านี้, หรือโควรัมใดก็ตามในโควรัมเหล่านี้, ต้องกระทำในความชอบธรรมทั้งมวล, ในความบริสุทธิ์, และความนอบน้อมแห่งใจ, ความอ่อนโยนและความอดกลั้น, และในศรัทธา, และคุณธรรม, และความรู้, ความยับยั้งตน, ความอดทน, ความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า, ความกรุณาฉันพี่น้องและจิตกุศล;

“‘เพราะสัญญาคือ, หากสิ่งเหล่านี้มีมากมายในพวกเขา พวกเขาจะไม่ไร้ผลในความรู้เรื่องพระเจ้า’ (คพ. 107:30–31)

“ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมโดยใช้ประจักษ์พยานส่วนตัวว่าระหว่างระยะเวลายี่สิบปีที่ข้าพเจ้ารับใช้เป็นสมาชิกสภาอัครสาวกสิบสอง และอีกเกือบสิบสามปีที่ข้าพเจ้ารับใช้ในฝ่ายประธานสูงสุด เรื่องสำคัญทุกเรื่องไม่เคยดำเนินการโดยไม่มีการออกความเห็น ข้าพเจ้าเคยเห็นความคิดเห็นที่ต่างกันในการปรึกษาหารือ จะมีการกลั่นกรองและประเมินความเห็นตลอดจนแนวคิดที่ได้จากกระบวนการนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงหรือความเป็นปฏิปักษ์ในบรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยเห็นแต่เรื่องสวยงามและน่าทึ่ง—เห็นทัศนะหลากหลายที่ออกมาภายใต้อิทธิพลนำทางของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และภายใต้พลังของการเปิดเผยจนเกิดความปรองดองและความเห็นพ้องต้องกันอย่างสมบูรณ์ ในตอนนั้นเท่านั้นที่การนำไปปฏิบัติได้เกิดขึ้น ข้าพเจ้าเป็นพยานว่า นั่นแสดงให้เห็นถึงวิญญาณแห่งการเปิดเผยที่แสดงให้ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่าในการกำกับดูแลงานนี้ งานของพระเจ้า” (“God Is at the Helm,” Ensign, May 1994, 59)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:35 กุญแจของอัครสาวกสิบสอง

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าอัครสาวกสิบสอง “ควบคุมบรรดาศาสนจักรของวิสุทธิชน … พวกท่านถือกุญแจของการปฏิบัติศาสนกิจนี้ ไขกุญแจประตูอาณาจักรสวรรค์ให้ทุกประชาชาติ และสั่งสอนพระกิตติคุณแก่มนุษย์ทุกคน นี่คือพลัง สิทธิอำนาจ และคุณธรรมของการเป็นอัครสาวก” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 151)