เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 115: หลักคำสอนและพันธสัญญา 137


บทที่ 115

หลักคำสอนและพันธสัญญา 137

คำนำ

วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1836 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประชุมในห้องชั้นบนของพระวิหารเคิร์ทแลนด์ที่จวนแล้วเสร็จกับที่ปรึกษาของท่านในฝ่ายประธานสูงสุด ฝ่ายอธิการจากเคิร์ทแลนด์และมิสซูรี บิดาของท่าน และผู้จดของท่าน ชายเหล่านี้มารวมตัวกันเพื่อประกอบศาสนพิธีในการเตรียมอุทิศพระวิหาร ในคราวนี้ท่านศาสดาพยากรณ์เห็นนิมิตของอาณาจักรซีเลสเชียลและได้ยินพระเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์จะทรงพิพากษาคนที่สิ้นชีวิตโดยปราศจากความรู้เรื่องพระกิตติคุณอย่างไร วอร์เรน พาร์ริชผู้จดของโจเซฟ สมิธเวลานั้นบันทึกนิมิตไว้ในบันทึกส่วนตัวของท่านศาสดาพยากรณ์ บันทึกส่วนหนึ่งของนิมิตนี้ต่อมารวมไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเป็น ภาค 137

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:1–6

โจเซฟ สมิธเห็นนิมิตของอาณาจักรซีเลสเชียล

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการให้นักเรียนเขียนคำตอบของพวกเขาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ใครเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตท่าน เหตุใดพวกเขาจึงสำคัญต่อท่านเป็นพิเศษ

หลังจากนักเรียนมีเวลาไตร่ตรองแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องรู้ว่าคนที่ท่านรักจะมีโอกาสอยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียล

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 137 มีคำอธิบายของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับนิมิตซึ่งท่านเห็นอาณาจักรซีเลสเชียล ในคำอธิบายดังกล่าว ท่านบอกชื่อคนที่ท่านเห็นที่นั่น เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 137 เพื่อเรียนรู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของการเปิดเผยนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุคำและวลีที่พูดถึงอาณาจักรซีเลสเชียล ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าโจเซฟ สมิธเห็นใครในอาณาจักรซีเลสเชียล

  • โจเซฟ สมิธเห็นใครในอาณาจักรซีเลสเชียล (พระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ อาดัม อับราฮัม มารดาและบิดาของโจเซฟ และอัลวินพี่ชายของโจเซฟ อาจเป็นประโยชน์ถ้าชี้ให้เห็นว่าเวลานี้บิดาและมารดาของโจเซฟยังมีชีวิตอยู่ จริงๆ แล้วบิดาท่านอยู่ในห้องกับท่านด้วยขณะเห็นนิมิตนี้ ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่านิมิตดังกล่าวไม่เกี่ยวกับคนที่อยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียล แต่เกี่ยวกับคนที่สุดท้ายแล้วจะอยู่ที่นั่น)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6เหตุใดโจเซฟ สมิธจึงพิศวงเมื่อเห็นอัลวินพี่ชายท่านอยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียล

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดประสบการณ์นี้จึงมีความหมายต่อโจเซฟ สมิธเป็นพิเศษ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้

โจเซฟ สมิธรักและชื่นชมอัลวินพี่ชายคนโตของท่าน อัลวินรักโจเซฟเช่นกัน และเขาสนับสนุนโจเซฟในการเตรียมรับแผ่นจารึกทองคำจากเทพโมโรไน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1823 เมื่ออัลวินอายุ 25 ปีและโจเซฟอายุ 17 ปี อัลวินป่วยหนักกะทันหัน เมื่ออาการของเขาทรุดหนักและเห็นชัดว่าเขากำลังจะสิ้นใจ เขาแนะนำโจเซฟว่า “พี่อยากให้เจ้าเป็นคนดีและทำทุกอย่างในอำนาจของเจ้าเพื่อให้ได้บันทึกมา จงซื่อสัตย์เมื่อได้รับคำแนะนำและรักษาพระบัญญัติทุกข้อที่พระองค์ประทาน” (อ้างใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 433; ดู ประธานศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 43)

การสิ้นชีวิตของอัลวิน ทำให้ครอบครัวสมิธเศร้าโศกมาก บาทหลวงนิกายเพรสไบทีเรียนในเมืองพอลไมรา รัฐนิวยอร์กมาประกอบพิธีศพ “เนื่องจากอัลวินไม่ได้เป็นสมาชิกในกลุ่มการประชุมของบาทหลวงผู้นี้ หมอสอนศาสนาจึงยืนยันในคำเทศนาของเขาว่าอัลวินจะไม่ได้รับความรอด วิลเลียม สมิธน้องชายของโจเซฟจำได้ว่า ‘[บาทหลวง] … ประกาศหนักแน่นว่า [อัลวิน] ต้องตกนรก เพราะอัลวินไม่ใช่สมาชิกของนิกายนั้น แต่เขาเป็นคนดีและคุณพ่อของผมไม่ชอบคำพูดแบบนี้’” (อ้างใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ, 433)

แผ่นศิลาบนหลุมฝังศพของอัลวิน สมิธ

แผ่นศิลาบนหลุมฝังศพของอัลวิน สมิธพี่ชายคนโตของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความรู้สึกที่โจเซฟอาจมีเมื่อเห็นอัลวินในอาณาจักรซีเลสเชียล

หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:7–10

พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์จะทรงพิพากษาคนที่ตายโดยปราศจากความรู้เรื่องพระกิตติคุณอย่างไร

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เหตุใดอัลวินจึงสามารถเข้าอาณาจักรซีเลสเชียลได้ทั้งที่เขาไม่ได้รับบัพติศมาในช่วงชีวิตของเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุความจริงที่ช่วยตอบคำถามบนกระดาน

  • พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงอะไรต่อโจเซฟ สมิธที่ตอบคำถามบนกระดาน (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้: ทุกคนที่ตายโดยปราศจากความรู้เรื่องพระกิตติคุณ ผู้จะรับไว้ หากเขาได้รับจะสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก)

  • ความจริงนี้จะปลอบโยนผู้ที่คนรักของพวกเขาตายโดยปราศจากความรู้ในพระกิตติคุณได้อย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:7–8 ก่อนพระองค์ทรงเปิดเผยหลักธรรมเรื่องบัพติศมาแทนคนตาย นักเรียนจะศึกษาการเปิดเผยเรื่องบัพติศมาแทนคนตายในบทเรียนคราวหน้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:9 ขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์จะทรงพิพากษาคนทั้งปวง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9พระเจ้าจะทรงพิพากษาเราอย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าจะทรงพิพากษาเราตามงานของเราและความปรารถนาของใจเรา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความปรารถนาและงานของเราจึงสำคัญทั้งสองอย่าง

อ่านออกเสียงแต่ละตัวอย่างต่อไปนี้ หลังจากอ่านแต่ละตัวอย่าง ให้นักเรียนตอบคำถามนี้

  • ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของความปรารถนาและงานของเราอย่างไร

  1. สมาชิกคนหนึ่งของศาสนจักรมีความปรารถนาจะแต่งงานในพระวิหาร หลังจากรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในศาสนจักรมาชั่วชีวิต สมาชิกท่านนี้สิ้นชีวิตโดยไม่มีโอกาสได้รับการผนึกกับคู่สมรสในพระวิหาร

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งรักษาพันธสัญญาบัพติศมาและปฏิบัติหน้าที่ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนอย่างกล้าหาญ เขามีความปรารถนาจะรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาอย่างยิ่งแต่ไม่สามารถทำได้เพราะร่างกายพิการ

  3. เยาวชนหญิงคนหนึ่งผูกใจเจ็บเยาวชนหญิงอีกคน เธอเสแสร้งเป็นเพื่อนแต่ในใจกลับขอให้เรื่องร้ายๆ เกิดกับเยาวชนหญิงคนนั้น

  4. เยาวชนชายคนหนึ่งคิดแต่เรื่องตัณหา และเขาไม่ทูลขอให้พระเจ้าทรงช่วยเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกที่ไม่เหมาะสมของเขา

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจต้องการอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เราแน่ใจหรือว่าเราไม่มีความผิดภายใต้กฎของพระผู้เป็นเจ้าหากเราเพียงละเว้นการทำชั่ว จะเป็นอย่างไรหากเรามีความคิดและความปรารถนาที่ชั่วร้าย

“ในวันพิพากษาความรู้สึกเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา หรือความโลภจะถูกมองข้ามหรือ …

“คำตอบของเราต่อคำถามเช่นนั้นแสดงให้เห็นสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าข่าวร้ายก็เป็นได้ นั่นคือเราคิดว่าเราทำบาปโดยไม่โจ่งแจ้งได้ ทำโดยความรู้สึกและความปรารถนาของใจเราเท่านั้น

“แต่มีข่าวดีเช่นกัน ภายใต้กฎของพระผู้เป็นเจ้า เราจะได้รางวัลสำหรับความชอบธรรมของเราแม้เมื่อเราไม่สามารถลงมือทำสิ่งที่มักเกี่ยวข้องกับพรเช่นนั้น

“เมื่อมีคนต้องการทำบางอย่างให้พ่อตาข้าพเจ้าแต่สภาวการณ์ไม่เอื้ออำนวย พ่อตาจะพูดว่า ‘ขอบคุณครับ ผมจะรับความปรารถนาดีของคุณแทนการกระทำก็แล้วกันนะครับ’ ทำนองเดียวกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระบิดาในสวรรค์จะทรงรับความปรารถนาแท้จริงของใจเราแทนการกระทำที่ทำไม่ได้จริงๆ” (“The Desires of Our Hearts,” Ensign, June 1986, 66)

  • การรู้ว่าท่านจะได้รับการพิพากษาตามงานของท่านและตามความปรารถนาของใจท่านส่งผลต่อท่านอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:10 ขอให้ชั้นเรียนมองหาความจริงอีกประการหนึ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับคนที่จะสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 ใครจะรอดในอาณาจักรซีเลสเชียล (นักเรียนควรกล่าวถึงหลักคำสอนต่อไปนี้: เด็กทุกคนที่ตายก่อนจะรับผิดชอบได้จะรอดในอาณาจักรซีเลสเชียล)

บอกนักเรียนว่าเมื่อโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยนี้ ท่านกับเอ็มมาทนทุกข์กับ การตายของลูกสี่คนรวมทั้งบุตรบุญธรรมอีกหนึ่งคน ต่อมา ลูกอีกสองคนตายขณะเป็นทารก

แผ่นศิลาบนหลุมศพของเด็กน้อยอัลวิน สมิธ

แผ่นศิลาบนหลุมศพของอัลวิน สมิธลูกชายวัยทารกของโจเซฟกับเอ็มมา สมิธ

เชื้อเชิญให้นักเรียนตรึกตรองว่าความจริงที่เปิดเผยใน ข้อ 10 จะปลอบโยนครอบครัวที่โศกเศร้ากับการตายของลูกได้อย่างไร ท่านอาจจะให้เวลาพวกเขาไตร่ตรองประสบการณ์ที่เคยมีหรือที่สมาชิกครอบครัวเคยมีเมื่อความจริงนี้ปลอบโยนพวกเขา

  • ท่านเรียนรู้อะไรจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 137 เกี่ยวกับความพยายามของพระเจ้าเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้อยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียล

เป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาวันนี้ ท่านอาจต้องการเปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเช่นกัน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:9 พิพากษาเราตามงานและความปรารถนาของเรา

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนให้ระวังความเข้าใจผิดสองประการเกี่ยวกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:9 ดังนี้

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“หนึ่ง เราต้องจำไว้ว่าเราจะใช้ความปรารถนาแทนได้ก็ต่อเมื่อเราทำไม่ได้จริงๆ เท่านั้น หากเราพยายามใช้การทำไม่ได้ปิดบังการขาดความปรารถนาที่แท้จริง และด้วยเหตุนี้จึงไม่ทำสุดความสามารถเพื่อลงมือทำตามที่ได้รับบัญชา เราอาจหลอกตัวเราเอง แต่เราจะหลอกพระผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรมไม่ได้

“เพื่อใช้ความปรารถนาแทนการกระทำ ความปรารถนานั้นจะตื้นเขิน ชั่ววูบ หรือชั่วครู่ชั่วยามไม่ได้ ความปรารถนานั้นต้องมาจากใจล้วนๆ เพื่อให้ได้รับพร ความปรารถนาของใจเราต้องจริงใจจนเรียกได้ว่าเป็นความปรารถนาอย่างที่ชอบพระทัยพระเจ้า

“สอง เราไม่ควรคิดเอาเองว่าความปรารถนาของใจเราสามารถใช้แทนศาสนพิธีของพระกิตติคุณ ลองพิจารณาพระดำรัสของพระเจ้าขณะที่ทรงบัญชาถึงศาสนพิธีพระกิตติคุณสองอย่าง ‘เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ถ้าใครไม่ได้เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ คนนั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้’ (ยอห์น 3:5) และเกี่ยวกับระดับในรัศมีภาพซีเลสเชียลสามระดับ การเปิดเผยยุคปัจจุบันกล่าวว่า ‘เพื่อจะให้บรรลุถึงชั้นสูงสุด, มนุษย์ต้องเข้าสู่ระเบียบนี้ของฐานะปุโรหิต [หมายถึงพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน]’ (คพ. 131:2) ในพระบัญชาเหล่านี้หรือที่อื่นในพระคัมภีร์ไม่ได้บอกข้อยกเว้นใดๆ

“ในความยุติธรรมและพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า พระบัญชาเคร่งครัดเหล่านี้เกี่ยวกับศาสนพิธีที่จำเป็นต้องควบคู่กับการมอบอำนาจจากเบื้องบนให้ตัวแทนประกอบศาสนพิธีเหล่านั้นให้คนที่ไม่ได้รับในชีวิตนี้ ด้วยเหตุนี้บุคคลในโลกวิญญาณผู้ปรารถนาเช่นนั้นจึงได้มีส่วนในศาสนพิธีประหนึ่งเขาทำด้วยตนเอง ในวิธีนี้ โดยผ่านการรับใช้ด้วยความรักของตัวแทนที่มีชีวิต วิญญาณผู้วายชนม์จึงได้รับรางวัลตามความปรารถนาของใจพวกเขาเช่นกัน” (“The Desires of Our Hearts,” Ensign, June 1986, 67)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:10 ความรอดของเด็กเล็กที่ตาย

เอ็ลเดอร์เชนย์ เอ็ม. โบเว็น แห่งสาวกเจ็ดสิบเล่าประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นพลังของความจริงที่สอนใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:10 ดังนี้

เอ็ลเดอร์เชย์น เอ็ม. โบเว็น

“ขณะรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาหนุ่มในชิลี ข้าพเจ้ากับคู่พบครอบครัวเจ็ดคนในสาขา ผู้เป็นแม่มาโบสถ์กับลูกทุกสัปดาห์ เรานึกเอาเองว่าพวกเขาเป็นสมาชิกเก่าแก่ของศาสนจักร หลายสัปดาห์หลังจากนั้นเราทราบว่าพวกเขายังไม่ได้รับบัพติศมา

“เราติดต่อกับครอบครัวดังกล่าวทันทีและขออนุญาตไปสอนพวกเขาที่บ้าน …

“ซิสเตอร์รามิเรซก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มสอนบทเรียน เธอร้อนใจอยากเรียนหลักคำสอนทั้งหมดที่เราสอน ค่ำวันหนึ่งขณะที่เราสนทนาเรื่องบัพติศมาทารก เราสอนว่าเด็กเล็กบริสุทธิ์ไร้เดียงสาและไม่ต้องรับบัพติศมา เราเชื้อเชิญให้เธออ่านในหนังสือโมโรไน …

“‘แต่เด็กเล็ก ๆ มีชีวิตอยู่ในพระคริสต์, แม้ตั้งแต่การวางรากฐานของโลก; หากไม่เป็นดังนั้น, พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ลำเอียง, และเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วย, และเป็นผู้นับถือตัวบุคคล; เพราะมีเด็กเล็ก ๆ กี่คนแล้วที่ตายโดยปราศจากการบัพติศมา!’ [โมโรไน 8:12]

“หลังจากอ่านพระคัมภีร์ข้อนี้ ซิสเตอร์รามิเรซเริ่มร้องไห้สะอึกสะอื้น ข้าพเจ้ากับคู่รู้สึกสับสน ข้าพเจ้าถามว่า ‘ซิสเตอร์รามิเรซ เราพูดหรือทำอะไรให้คุณไม่พอใจหรือเปล่าครับ’

“เธอตอบว่า ‘โอ้ เปล่าค่ะเอ็ลเดอร์ พวกคุณไม่ได้ทำอะไรผิด หกปีก่อนดิฉันมีลูกชายวัยทารก เขาตายก่อนเราจะให้เขาได้รับบัพติศมา บาทหลวงของเราบอกว่าเพราะเขายังไม่ได้รับบัพติศมา เขาจึงไม่มีที่ให้อยู่ชั่วนิรันดร์ ดิฉันแบกความเจ็บปวดและความรู้สึกผิดมาหกปี หลังจากอ่านพระคัมภีร์ข้อนี้ ดิฉันรู้โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่านี่เป็นความจริง ดิฉันรู้สึกว่าภาระหนักอึ้งถูกยกออกไป และนี่เป็นน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มยินดีค่ะ’ …

“หลังจากเธอทนทุกข์กับความเศร้าโศกและความเจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหวนานหกปี หลักคำสอนแท้จริงที่พระบิดาในสวรรค์ทรงเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตได้นำสันติสุขอันหอมหวานมาให้สตรีที่ทุกข์ทรมานคนนี้ คงไม่ต้องบอกว่าซิสเตอร์รามิเรซกับลูกๆ ของเธอที่อายุแปดขวบขึ้นไปรับบัพติศมา” (“เพราะเรามีชีวิตอยู่ พวกท่านก็จะมีชีวิตอยู่ด้วย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 15–16)