เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 16: หลักคำสอนและพันธสัญญา 8


บทที่ 16

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8

คำนำ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1829 ออลิเวอร์ คาวเดอรีเริ่มช่วยเป็นผู้จดให้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในการแปลแผ่นจารึกทองคำ เพราะพระเจ้าทรงมอบของประทานให้ออลิเวอร์แปลถ้าเขาปรารถนาเช่นนั้น (ดู คพ. 6:25) ออลิเวอร์ “จึงร้อนใจอย่างยิ่งอยากมีพลังความสามารถในการแปลที่มอบให้เขา” (โจเซฟ สมิธ , ใน History of the Church, 1:36) พระเจ้าตรัสตอบว่าพระองค์จะประทานความสามารถในการแปลให้ออลิเวอร์ตามศรัทธาของออลิเวอร์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:1–5

พระเจ้าทรงสัญญากับออลิเวอร์ คาวเดอรีเรื่องของประทานแห่งการเปิดเผย

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เหลือที่ใต้คำถามแต่ละข้อเพื่อเขียนหลักธรรมที่นักเรียนจะระบุระหว่างบทเรียน

เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การสวดอ้อนวอนของเรามีความหมายมากขึ้น

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อใดพระเจ้ากำลังตรัสกับเรา

ให้นักเรียนดูคำถามบนกระดาน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจคำตอบของคำถามเหล่านี้

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 8 ประกอบด้วยการเปิดเผยที่พระเจ้าประทานแก่ออลิเวอร์ คาวเดอรีผ่านโจเซฟ สมิธ ในการเปิดเผยนี้เราจะพบคำแนะนำจากพระเจ้าที่ช่วยตอบคำถามบนกระดาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:1 ในใจโดยดูว่าพระเจ้าทรงแนะนำให้ออลิเวอร์สวดอ้อนวอนอย่างไร

  • พระเจ้าประทานคำแนะนำอะไรบ้างแก่ออลิเวอร์เกี่ยวกับวิธีสวดอ้อนวอน

  • ท่านคิดว่า “ขอด้วยศรัทธา, ด้วยใจซื่อสัตย์” หมายความว่าอย่างไร

เขียนใต้คำถามข้อแรกบนกระดานดังนี้ หากเราสวดอ้อนวอน เราจะได้รับ .

ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:1ท่านจะเติมประโยคนี้ให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะเขียนต่างกัน แต่คำตอบนี้ควรสะท้อนหลักธรรมว่า หากเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาและใจซื่อสัตย์ เราจะได้รับความรู้จากพระผู้เป็นเจ้า ใช้คำของพวกเขาเติมประโยคบนกระดานให้ครบถ้วน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดศรัทธาและความจริงใจของเราจึงมีผลต่อความสามารถในการได้รับความรู้จากพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองเวลาที่พวกเขาประสบพรขณะสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาและใจจริง

เพื่อช่วยให้นักเรียนได้ข้อคิดในคำถามข้อสองบนกระดาน ให้นักเรียนคนหนึ่งเล่าย่อๆ เรื่อง โมเสสนำลูกหลานอิสราเอล ออกจากการเป็นทาสโดยมีกองทหารชาวอียิปต์ไล่ตาม (ดู อพยพ 14)

โมเสสแยกทะเลแดง

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3 กระตุ้นให้ชั้นเรียนดูว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยต่อโมเสสอย่างไรว่าท่านควรนำลูกหลานอิสราเอลผ่านทะเลแดง

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจโมเสสให้แยกทะเลแดงอย่างไร (โดยวิญญาณแห่งการเปิดเผย)

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะตรัสกับเรา (นักเรียนควรบอกว่า พระเจ้าตรัสกับความนึกคิดและใจเราโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขียนความจริงนี้ไว้ใต้คำถามข้อสองบนกระดาน)

แผนภาพความนึกคิดและใจ

วาด แผนภาพประกอบ บนกระดาน เพิ่มลูกศรชี้ไปที่ความนึกคิดและใจ

  • พระเจ้าตรัสกับความนึกคิดของเราในวิธีใด พระองค์ตรัสกับใจเราในวิธีใด

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าจะรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ท่านสามารถฝึกได้เดี๋ยวนี้ในวัยเยาว์ของท่านให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำท่าน

“ในฐานะอัครสาวกเวลานี้ข้าพเจ้าฟังการดลใจเดียวกัน จากแหล่งเดียวกัน ในวิธีเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าฟังสมัยเด็ก แต่เวลานี้สัญญาณชัดเจนขึ้นมาก” (“Prayers and Answers,” Ensign, Nov. 1979, 21)

จากนั้นขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ความประทับใจต่อ ความนึกคิด เป็นสิ่งที่พิเศษยิ่ง

“คำที่เป็นรายละเอียดสามารถได้ยินหรือรู้สึกและเขียนไว้ประหนึ่งเป็นคำแนะนำที่บอกให้เขียนตาม

“การสื่อสารกับ ใจ เป็นมากกว่าความประทับใจทั่วไป บ่อยครั้งพระเจ้าทรงเริ่มโดยให้ความประทับใจ เมื่อมีการรับรู้ความสำคัญของความประทับใจเหล่านั้นและเชื่อฟัง คนนั้นจะสามารถรับคำแนะนำที่ละเอียดมากขึ้นต่อ ความนึกคิด คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นต่อความนึกคิดจะเสริมความประทับใจต่อใจถ้าทำตาม” (“Helping Others to Be Spiritually Led” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาของซีอีเอส 11 ส.ค. 1998], 3–4, LDS.org)

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าสำหรับบางคน ความประทับใจต่อใจเฉพาะเจาะจงได้เท่ากับความประทับใจต่อความนึกคิด

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจและรับรู้วิธีที่พระเจ้าทรงสื่อสารกับเราแต่ละคน

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับ (1) เวลาที่พระบิดาบนสวรรค์ตรัสกับความนึกคิดและใจของพวกเขาผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือ (2) เวลาที่พวกเขารู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนไว้ถ้าพวกเขารู้สึกสบายใจจะทำเช่นนั้น ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งท่านรับรู้ว่าพระเจ้ากำลังตรัสกับท่านเช่นกัน

อธิบายว่าความสามารถในการแสวงหาและรับการเปิดเผยส่วนตัวมีให้ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:4 อ่านออกเสียงประโยคนี้ของข้อนั้น “ฉะนั้นนี่คือของประทานของเจ้า; จงนำของประทานนี้มาใช้, และเจ้าย่อมเป็นสุข.” อธิบายว่าในข้อนี้ คำว่า ของประทาน หมายถึงความสามารถของออลิเวอร์ในการรับการเปิดเผย

  • ท่านคิดว่า “นำ” วิญญาณแห่งการเปิดเผย “มาใช้” หมายความว่าอย่างไร (แสวงหาการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะนำวิญญาณแห่งการเปิดเผยมาใช้ในชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นได้อย่างไร เขียนบนกระดานดังนี้ หากเรานำวิญญาณแห่งการเปิดเผยมาใช้ .

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:4–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญากับออลิเวอร์ถ้าเขาจะ “นำ (ของประทานแห่งการเปิดเผย) มาใช้” หลังจากนักเรียนตอบ ให้บอกว่าวิธีหนึ่งที่จะเติมประโยคให้ครบถ้วนคือ หากเรานำวิญญาณแห่งการเปิดเผยมาใช้ เราจะได้รับการปลดปล่อยจากความชั่วร้ายและภยันตราย เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน

  • พระเจ้าทรงใช้อำนาจแห่งการเปิดเผยคุ้มครองท่านหรือคนที่ท่านรู้จักให้รอดพ้นจากความชั่วหรือภยันตรายอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนบนกระดานบางด้านที่เราจะ “นำ” ของประทานแห่งการเปิดเผย “มาใช้” ได้ดีขึ้นเพื่อจะได้รับความคุ้มครองจากความชั่วร้าย ถามพวกเขาว่าคำแนะนำเหล่านั้นจะเพิ่มความสามารถของเราในการรับและรับรู้การเปิดเผยได้อย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาเขียนเป้าหมายที่จะทำตามข้อเสนอแนะเหล่านี้หนึ่งข้อลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความสำคัญของการขวนขวายให้ได้รับวิญญาณแห่งการเปิดเผยและบอกนักเรียนว่าการทำเช่นนั้นเป็นพรแก่ท่านอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:6–9

ออลิเวอร์ คาวเดอรีมี “ของประทานแห่งอาโรน”

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:6–9 โดยบอกนักเรียนว่าพระเจ้าประทานพรออลิเวอร์ คาวเดอรีด้วยของประทานที่จะช่วยให้เขาบรรลุบทบาทของตนในการฟื้นฟูพระกิตติคุณ หนึ่งในของประทานเหล่านี้คือ “ของประทานแห่งอาโรน” ซึ่งพระเจ้ารับสั่งกับออลิเวอร์ว่าเขาจะใช้ทำ “งานอัศจรรย์” เราไม่รู้แน่ชัดว่า “ของประทานแห่งอาโรน” เกี่ยวข้องกับอะไร เตือนนักเรียนว่าอาโรนเป็นพี่ชายของโมเสสในพันธสัญญาเดิมและเขาช่วยโมเสสทำความรับผิดชอบในฐานะศาสดาพยากรณ์ให้เกิดสัมฤทธิผล

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:7–8 ในใจโดยมองหาอำนาจเบื้องหลังของประทานฝ่ายวิญญาณทั้งหมด อธิบายว่าเมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าทรงเรียกหรือบัญชาให้เราทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง พระองค์ย่อมประทานพรเราด้วยของประทานและความสามารถให้ทำงานนั้นสำเร็จ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:10–12

พระเจ้าทรงสัญญาจะมอบของประทานให้ออลิเวอร์แปลถ้าเขาใช้ศรัทธา

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่หลักธรรมบนกระดาน “หากเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาและใจซื่อสัตย์ เราจะได้รับความรู้จากพระผู้เป็นเจ้า” เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:10–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่ค้นพบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้ เสนอแนะให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามสักครู่ก่อนตอบ

  • ถ้าท่านอยู่ในสถานการณ์ของออลิเวอร์ ท่านคิดว่าคำแนะนำนี้จะช่วยท่านอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำถามสองสามข้อลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเพื่อให้พวกเขาตั้งใจหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านั้น พวกเขาอาจต้องการเขียนการเปลี่ยนแปลงเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่ต้องการทำในวิธีที่พวกเขาสวดอ้อนวอนขอคำตอบเหล่านั้น

เป็นพยานถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อนักเรียนและความปรารถนาจะตอบคำสวดอ้อนวอนและประทานการเปิดเผยแก่พวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาทูลคำถามของพวกเขาต่อพระบิดาบนสวรรค์ด้วยศรัทธาและตั้งใจว่าจะทำตามคำตอบที่พวกเขาได้รับ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:1 “ขอด้วยศรัทธา”

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“การสวดอ้อนวอนจะส่งผลดีที่สุดเมื่อเราพยายามทำตนให้สะอาดและเชื่อฟังด้วยแรงจูงใจที่มีค่าควรและเต็มใจทำสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ การสวดอ้อนวอนที่นอบน้อมและวางใจจะได้รับแนวทางและสันติสุข” (“การใช้ของประทานอันสูงส่งแห่งการสวดอ้อนวอน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 9)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2 “เราจะบอกเจ้าในความนึกคิดเจ้าและในใจเจ้า, โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“บุคคลอาจได้ประโยชน์โดยสังเกตการบอกนัยครั้งแรกของวิญญาณแห่งการเปิดเผย ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านรู้สึกถึงสติปัญญาอันบริสุทธิ์ที่หลั่งไหลมาสู่ท่าน นั่นอาจทำให้ท่านฉุกคิดขึ้นได้ในทันที … ด้วยเหตุนี้โดยการเรียนรู้และเข้าใจพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า ท่านจะค่อยๆ เติบโตไปสู่หลักธรรมแห่งการเปิดเผยจนท่านดีพร้อมในพระคริสต์พระเยซู” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 141)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2 การเปิดเผยมาทีละน้อย

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าข่าวสารจากพระผู้เป็นเจ้ามักจะมาทีละน้อย ท่านแนะนำเราว่าอย่าท้อเมื่อเราไม่มีประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจบ่อยๆ ในคำตอบการสวดอ้อนวอน

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“การเปิดไฟในห้องมืดเปรียบเสมือนการรับข่าวสารจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างรวดเร็วครบถ้วนทั้งหมดในคราวเดียว พวกเราจำนวนมากเคยประสบแบบแผนของการเปิดเผยเช่นนี้เมื่อเราได้รับคำตอบจากการสวดอ้อนวอนที่จริงใจหรือได้รับการนำทางหรือการปกป้องที่จำเป็นตามพระประสงค์และกำหนดเวลาของพระผู้เป็นเจ้า คำอธิบายเรื่องการแสดงให้ประจักษ์อย่างหนักแน่นโดยทันทีเช่นนั้นมีอยู่ในพระคัมภีร์ บรรยายไว้ในประวัติศาสนจักร และแสดงให้เห็นในชีวิตเราเอง สิ่งอัศจรรย์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม แบบแผนของการเปิดเผยดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าธรรมดาทั่วไป

แสงที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยซึ่งฉายออกมาจากดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นเปรียบเสมือนการได้รับข่าวสารจากพระผู้เป็นเจ้า ‘บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์’ (2 นีไฟ 28:30) ส่วนใหญ่แล้ว การเปิดเผยเพิ่มเติมมาทีละน้อยตามเวลาและประทานให้ตามความปรารถนา ความมีค่าควร และการเตรียมพร้อมของเรา การสื่อสารจากพระบิดาบนสวรรค์เช่นนั้นค่อยๆ ‘กลั่นลงมาบน [จิตวิญญาณเรา] ดังน้ำค้างจากฟ้าสวรรค์’ (คพ.121:45) อย่างนุ่มนวล แบบแผนของการเปิดเผยเช่นนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้ทั่วไป เห็นได้จากประสบการณ์ของนีไฟเมื่อท่านลองพยายามทำหลายวิธีก่อนจะเอาแผ่นจารึกทองเหลืองมาจากเลบันได้สำเร็จ (ดู 1 นีไฟ 3–4) ในที่สุด พระวิญญาณนำท่านไปยังเยรูซาเล็ม ‘โดยหารู้ล่วงหน้าไม่ถึงสิ่งที่ [ท่าน] ควรทำ’ (1 นีไฟ 4:6) ท่านไม่ได้เรียนรู้วิธีต่อเรือด้วยฝีมือวิจิตรพิสดารในคราวเดียว แต่พระเจ้าทรงแสดงให้นีไฟเห็น ‘เป็นครั้งคราวว่า [ท่าน] ควรทำงานไม้เพื่อต่อเรือด้วยวิธีใด’ (1 นีไฟ 18:1) …

“เราในฐานะสมาชิกศาสนจักรมีแนวโน้มที่จะเน้นเรื่องการแสดงให้ประจักษ์ทางวิญญาณอันอัศจรรย์และน่าตื่นเต้นประทับใจจนเราอาจไม่เห็นคุณค่าและแม้แต่มองข้ามแบบแผนดั้งเดิมที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงใช้ทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ ‘ความเรียบง่ายของทาง’ (1 นีไฟ 17:41) ในการได้รับความรู้สึกทางวิญญาณเพิ่มขึ้นทีละน้อย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปผลทั้งหมดก่อเกิดเป็นคำตอบที่ปรารถนาหรือการนำทางที่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้เรามอง ‘ข้ามเป้าหมาย’ ไปได้ (เจคอบ 4:14)

“ข้าพเจ้าพูดคุยกับผู้คนมากมายที่สงสัยในความเข้มแข็งของประจักษ์พยานส่วนตัวของตนเองและประเมินความสามารถทางวิญญาณของตนเองต่ำเกินไปเพราะเขาไม่ได้รับความรู้สึกอัศจรรย์หรือแรงกล้าบ่อยๆ บางทีเมื่อเราครุ่นคิดถึงประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธในป่าศักดิ์สิทธิ์ เซาโลบนถนนสู่ดามัสกัส และแอลมาผู้บุตร เราเชื่อว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ถูกต้องหรือขาดหายไปหากเราไม่มีประสบการณ์คล้ายกับแบบอย่างของบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นที่รู้จักและมีความน่าประทับใจทางวิญญาณ หากท่านมีความคิดหรือความสงสัยคล้ายๆ กันนี้ ขอให้รู้ว่าท่านปกติดี เพียงแต่มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่อย่างเชื่อฟังต่อไป และด้วยศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อท่านทำเช่นนั้นท่าน “ไม่อาจผิดพลาดได้’ (คพ. 80:3)” (“วิญญาณแห่งการเปิดเผย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 110–111)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:1–4 พระวิญญาณทรงนำ

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“จงอดทนขณะปรับปรุงความสามารถในการให้พระวิญญาณนำท่าน โดยการฝึกฝนผ่านการใช้หลักธรรมที่ถูกต้อง และโดยไวต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้น ท่านจะได้การชี้นำทางวิญญาณ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเจ้าจะตรัสกับความคิดและใจท่านผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ บางครั้งความประทับใจนั้นอาจเป็นเพียงความรู้สึกทั่วไป บางครั้งการนำทางจะชัดเจนและไม่ผิดพลาดจนท่านจดได้คำต่อคำเหมือนเขียนตามคำบอกทางวิญญาณ

“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าเมื่อท่านสวดอ้อนวอนสุดจิตวิญญาณด้วยความอ่อนน้อมและความกตัญญู ท่านจะได้รับการนำทางจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอในชีวิตทุกด้านของท่าน ข้าพเจ้ายืนยันความจริงของหลักธรรมนี้จากการทดสอบในชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าท่านสามารถเรียนรู้และเชี่ยวชาญหลักธรรมของการให้พระวิญญาณชี้นำได้ ในวิธีนั้นพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงชี้นำท่านแก้ไขปัญหาของชีวิต มีความสงบและความสุขเต็มที่” (“เพื่อให้ได้รับการชี้นำทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 10)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:3 วิญญาณแห่งการเปิดเผยนำโมเสส

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเหตุใดพระเจ้าจึงทรงใช้ตัวอย่างของการข้ามทะเลแดงเป็นตัวอย่างของวิญญาณแห่งการเปิดเผย

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“คำถาม: เหตุใดพระเจ้าทรงใช้ตัวอย่างของการข้ามทะเลแดงเป็นตัวอย่างชั้นยอดของ ‘วิญญาณแห่งการเปิดเผย’ เหตุใดพระองค์ไม่ทรงใช้นิมิตแรก … หรือนิมิตของพี่ชายเจเร็ด พระองค์จะทรงใช้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเหล่านี้ก็ได้ แต่พระองค์ไม่ทรงใช้ พระองค์ทรงมีอีกจุดประสงค์หนึ่งในพระดำริ

“ก่อนอื่น การเปิดเผยเกือบทุกครั้งมาเพื่อตอบคำถาม มักจะเป็นคำถามเร่งด่วน—ไม่เสมอไป แต่มักจะเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ท้าทายโมเสสคือการพาตนเองและลูกหลานอิสราเอลออกจากสภาพเลวร้ายมากนี้ที่พวกเขาประสบ มีรถม้าศึกอยู่ด้านหลัง มีเนินทรายอยู่รอบด้าน และแม่น้ำกว้างใหญ่ขวางอยู่ข้างหน้า เขาต้องการข้อมูลเดี๋ยวนั้น—ว่าจะทำอย่างไร—แต่เรื่องที่เขาทูลถามไม่ใช่เรื่องธรรมดา ในกรณีนี้นี่เป็นเรื่องของความเป็นความตายอย่างแท้จริง

“ท่านจะต้องมีข้อมูลด้วย แต่ในเรื่องที่มีผลลัพธ์สำคัญยิ่งข้อมูลอาจไม่มาเว้นแต่ท่านต้องการอย่างเร่งด่วน ด้วยศรัทธา และนอบน้อม โมโรไนเรียกสิ่งนี้ว่าการแสวงหา ‘ด้วยเจตนาแท้จริง’ (โมโรไน 10:4) ถ้าท่านสามารถแสวงหาวิธีนั้น และอยู่ในภาวะนั้น ย่อมมีไม่มากที่ปฏิปักษ์จะทำได้เพื่อนำท่านออกจากเส้นทางที่ชอบธรรม

“ทะเลแดงจะเปิดทางให้ผู้ที่แสวงหาการเปิดเผยอย่างจริงใจ ปฏิปักษ์มีอำนาจขวางทาง ระดมกำลังของฟาโรห์และไล่กวดเราจนถึงริมแม่น้ำ แต่เขาเอาชนะไม่ได้ถ้าเราไม่ยอมให้เขาเอาชนะ นั่นเป็นบทเรียนบทที่หนึ่งเกี่ยวกับการข้ามทะเลแดง ทะเลแดงของท่าน โดยวิญญาณแห่งการเปิดเผย” (“Remember How You Felt,” New Era, Aug. 2004, 7)