บทที่ 33
หลักคำสอนและพันธสัญญา 27
คำนำ
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1830 นูเวล ไนท์กับแซลลีภรรยาเดินทางไปฮาร์โมนีย์ รัฐเพนน์ซิลเวเนียเพื่อเยี่ยมศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ แซลลี ไนท์กับเอ็มมา สมิธรับบัพติศมาเมื่อต้นฤดูร้อนที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันเพราะการข่มเหงจากกลุ่มคนร้าย ระหว่างครอบครัวไนท์มาเยือนฮาร์โมนีย์ พวกเขาตั้งใจจะให้แซลลีกับเอ็มมาได้รับการยืนยันและให้กลุ่มคนที่มากับจอห์น วิตเมอร์ได้รับส่วนศีลระลึกด้วยกัน เมื่อโจเซฟออกไปเอาเหล้าองุ่นมาทำศีลระลึก ผู้ส่งสารจากสวรรค์มาพบท่านและสื่อสารการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:1–4
พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องหมายของศีลระลึก
ให้ดูเปลือกมันฝรั่งถ้ามีและขอให้นักเรียนทายว่าจะใช้เปลือกมันฝรั่งเพื่อจุดประสงค์ทางวิญญาณได้อย่างไร หลังจากนักเรียนสองสามคนตอบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้จากความทรงจำของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันเกี่ยวกับการไปเยือนยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
“ข้าพเจ้าจะไม่ลืมวิสุทธิชนชาวฝรั่งเศสที่ใช้เปลือกมันฝรั่งเป็นเครื่องหมายของศีลระลึกเพราะไม่สามารถหาขนมปังได้” (“Prepare for the Days of Tribulation,” Ensign, Nov. 1980, 33–34)
-
ท่านจะคิดอย่างไรถ้าท่านเห็นการใช้เปลือกมันฝรั่งเป็นเครื่องหมายของศีลระลึก
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการใช้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ขนมปังเป็นเครื่องหมายของศีลระลึกจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้สำหรับวิสุทธิชนชาวฝรั่งเศส
เพื่อให้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สำหรับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27ให้สรุปข้อมูลที่ให้ไว้ในคำนำของบทเรียน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เทพบอกโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับเครื่องหมายของศีลระลึก
-
ผู้ส่งสารสอนอะไรโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับสิ่งที่เราควรกินหรือดื่มขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก (สิ่งที่เราใช้เป็นเครื่องหมายของศีลระลึกไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เครื่องหมายเหล่านั้นช่วยให้เราระลึกถึง)
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราควรมุ่งเน้นอะไรขณะรับส่วนศีลระลึก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: ขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก เราพึงระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์) ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงนี้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:2 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา ท่านอาจต้องอธิบายว่าเรามี “ดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพ [ของพระเจ้า] อย่างเดียว” เมื่อเรามุ่งเน้นที่พระองค์และทำให้ความประสงค์ของเราสอดคล้องกับพระองค์)
เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำคัญของความจริงนี้และพิจารณาว่าจะสามารถ ประยุกต์ใช้ ในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ท่านเคยประสบอะไรบ้างเมื่อท่านใคร่ครวญการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างการปฏิบัติศีลระลึก
-
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เราสามารถระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์และรับส่วนศีลระลึก “ด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพ [ของพระองค์] ” ได้ดีขึ้น
เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อเตรียมรับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์ กระตุ้นให้พวกเขาคิดหาวิธีระลึกถึงพระเยซูคริสต์และความหมายเบื้องหลังเครื่องหมายของศีลระลึก ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน
สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:3–4 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเตือนโจเซฟ สมิธว่าอย่าซื้อเหล้าองุ่นหรือเครื่องดื่มแรง (เครื่องดื่มที่ทำให้เมา) จากศัตรูของศาสนจักรมาใช้ในศีลระลึก พวกเขาต้องใช้เฉพาะเหล้าองุ่นที่วิสุทธิชน “ทำมันใหม่” อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนถ้ารู้ว่าตอนนั้นยังไม่มีการเปิดเผยพระคำแห่งปัญญาจนผ่านไปแล้วสองปีครึ่ง (ดู คพ. 89) และในศาสนจักรทุกวันนี้เราใช้น้ำประกอบพิธีศีลระลึก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:5–14
พระเจ้าจะทรงรับส่วนศีลระลึกอีกครั้งบนแผ่นดินโลก
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าประสบการณ์ในการรับส่วนศีลระลึกของพวกเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไรถ้าพวกเขารับส่วนศีลระลึกเบื้องพระพักตร์พระผู้ช่วยให้รอด เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขา
เตือนนักเรียนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำศาสนพิธีศีลระลึกกับเหล่าอัครสาวกที่พระกระยาหารมื้อสุดท้าย ครั้งนี้พระเยซูคริสต์ทรงพยากรณ์ถึงเวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับมายังแผ่นดินโลกและรับส่วนศีลระลึกอีกครั้งกับเหล่าสาวกของพระองค์ (ดู มัทธิว 26:26–29)
อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:5–12 พระเจ้าทรงเอ่ยชื่อแต่ละคนที่จะเข้าร่วมการประชุมนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้และระบุ (1) ชื่อบุคคลเหล่านี้ (2) ถ้ากล่าวถึง พวกเขามีกุญแจหรือความรับผิดชอบอะไรบ้าง เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนข้อมูลนี้บนกระดานขณะนักเรียนที่เหลือรายงานสิ่งที่พบ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าตลอดประวัติศาสตร์ของแผ่นดินโลก พระเจ้าประทานสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้ชายที่ชอบธรรมช่วยปฏิบัติพระกิตติคุณของพระองค์ พระองค์ประทานกุญแจฐานะปุโรหิตให้ผู้นำฐานะปุโรหิตด้วยเพื่อพวกเขาจะสามารถกำกับดูแล ควบคุม และปกครองการใช้ฐานะปุโรหิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก)
เมื่อรายการครบถ้วนแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:12–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุกุญแจที่พระเจ้าประทานแก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
-
พระเจ้าทรงมอบหรือประทานกุญแจอะไรแก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (เชิญนักเรียนคนหนึ่งเพิ่มคำว่า โจเซฟ สมิธ และ กุญแจแห่งอาณาจักรของพระเจ้า เข้าไปในรายการบนกระดาน)
ชี้ให้เห็นว่าศาสดาพยากรณ์หลายท่านผู้มีชื่ออยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27 มาเยือนโจเซฟ สมิธเพื่อมอบกุญแจต่างๆ ให้ท่าน
ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “สมัยการประทานแห่งพระกิตติคุณเพื่อเวลาสุดท้าย; และเพื่อความสมบูรณ์แห่งเวลา” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:13
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงทำอะไรระหว่างสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา (“รวบรวมสรรพสิ่งทั้งปวงไว้เป็นหนึ่งเดียว”)
เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้ใต้รายการบนกระดาน: สมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลารวบรวมกุญแจ ศาสนพิธี และความจริงพระกิตติคุณทั้งหมดของสมัยการประทานที่ผ่านมา
อธิบายว่าสมัยการประทานคือ “ช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงมีผู้รับใช้ที่ได้รับสิทธิอำนาจอย่างน้อยหนึ่งคนบนแผ่นดินโลกผู้ถือ [กุญแจทั้งหลายของ] ฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ … และมีภาระหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในการเผยแพร่พระกิตติคุณ” (Bible Dictionary, “Dispensations”) และปฏิบัติศาสนพิธีของพระกิตติคุณ เมื่อพระเจ้าทรงจัดตั้งสมัยการประทาน “พระองค์จะทรงเปิดเผยพระกิตติคุณอีกครั้งเพื่อผู้คนของสมัยการประทานนั้นจะไม่ต้องพึ่งสมัยการประทานที่ผ่าน ๆ มาสำหรับความรู้เรื่องแผนแห่งความรอด” (Bible Dictionary, “Dispensations”) อาดัม เอโนค โนอาห์ โมเสส และคนอื่นๆ เป็นหัวหน้าของสมัยการประทานพระกิตติคุณ โจเซฟ สมิธเป็นหัวหน้าของสมัยการประทานที่เรามีชีวิตอยู่—สมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา สมัยการประทานสุดท้ายนี้เริ่มด้วยการฟื้นฟูพระกิตติคุณผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เรียกว่าสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลาเพราะกุญแจทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเปิดเผยเพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระองค์ได้รับการฟื้นฟู แผนและจุดประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้านับแต่โลกเริ่มต้นจะเกิดสัมฤทธิผล
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:14 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและระบุว่าตามที่กล่าวไว้ในภาคนี้ใครจะอยู่ที่การประชุมศีลระลึกอีกบ้าง
-
ท่านคิดว่าวลี “คนทั้งปวงเหล่านั้นด้วยผู้ที่พระบิดาของเราประทานจากโลกให้เรา” หมายถึงใคร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“คนซื่อสัตย์ทุกคนในประวัติศาสตร์ทั้งหมดของโลก ทุกคนที่ดำเนินชีวิตจนคู่ควรแก่การได้รับชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระบิดาจะเข้าร่วมและจะรับส่วนศีลระลึกกับพระเจ้า” (The Promised Messiah: The First Coming of Christ [1978], 595)
เพิ่ม ท่านและข้าพเจ้า เข้าไปในรายการบนกระดาน
-
ตามที่เอ็ลเดอร์แมคคองกีกล่าว เราต้องดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะได้อยู่ที่การประชุมศีลระลึกครั้งพิเศษนี้
หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15–18
พระเจ้าทรงบัญชาให้ผู้คนของพระองค์สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า
อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15–18 ประกอบด้วยคำแนะนำที่จะช่วยให้เรามีค่าควรรับพรจากพระเจ้า รวมถึงพรของการเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกดังที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4–14
ถามนักเรียนว่าพวกเขาต้องการจะสวมอะไรถ้ารู้ว่าพวกเขาจะออกรบ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและหาดูว่า (1) พระเจ้าทรงบัญชาให้เราทำอะไรเพื่อเตรียมการสู้รบทางวิญญาณ และ (2) พระองค์ทรงสัญญาพรอะไรบ้างถ้าเราทำตามการนำทางของพระองค์
-
พระเจ้าทรงแนะนำให้เราทำอะไรเพื่อเตรียมการสู้รบทางวิญญาณ (สรุปคำตอบของนักเรียนโดยเขียนบนกระดานดังนี้: หากเราสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า …)
-
พระเจ้าทรงสัญญาพรใดกับคนที่สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เติมหลักธรรมบนกระดานให้ครบถ้วน: หากเราสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า เราจะสามารถต้านทานความชั่วร้ายได้)
ลอก ภาพประกอบ บนกระดานโดยลากเส้นไปหายุทธภัณฑ์แต่ละชิ้นที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15–18 แบ่งชั้นเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ และมอบหมายยุทธภัณฑ์ให้กลุ่มละชิ้น แจกสำเนาข้อความต่อไปนี้ของประธานฮาโรลด์ บี. ลี ข้อมูลและคำถามในหมวดต่อไปนี้ เกี่ยวกับยุทธภัณฑ์แต่ละชิ้นให้แต่ละกลุ่ม เชื้อเชิญให้นักเรียนทำงานภายในกลุ่มเพื่อตอบคำถามสำหรับยุทธภัณฑ์ที่มอบหมายให้พวกเขาและเตรียมแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน
หลังจากนักเรียนรายงานคำตอบของตนแล้ว ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังวิธีที่เราสวมและเสริมความแข็งแรงให้ยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า
“ข้าพเจ้าชอบนึกถึงยุทธภัณฑ์ทางวิญญาณนี้ในแบบที่ไม่ใช่ชิ้นเหล็กแข็งที่ถูกหลอมให้พอดีตัวแต่เป็นเสื้อเกราะที่ทำด้วยโซ่เหล็กร้อยกัน เสื้อเกราะดังกล่าวประกอบด้วยเหล็กชิ้นเล็กจิ๋วหลายร้อยชิ้นผูกเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้ใช้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยไม่สูญเสียการป้องกัน ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้ามีประสบการณ์ว่าเราไม่สามารถติดอาวุธทางวิญญาณให้ตัวเราด้วยสิ่งสำคัญและใหญ่โตสิ่งเดียวได้ พลังทางวิญญาณที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการกระทำเล็กน้อยหลายสิ่งหลายอย่างที่ถักทอเข้าด้วยกันเป็นผืนผ้าแห่งปราการทางวิญญาณที่จะปกป้องและคุ้มกันเราจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง” (“Be Strong in the Lord,” Ensign, July 2004, 8)
-
การกระทำเล็กๆ น้อยๆ อะไรบ้างที่จะรวมพลังกันช่วยคุ้มครองเราให้รอดพ้นการล่อลวงและความชั่ว
เชื้อเชิญให้นักเรียนย้อนกลับไปที่บรรทัดต้นๆ ของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 27 :15 จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
เราควรมีเจตคติเช่นไรขณะสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า (เราควร “รื่นเริงใจและชื่นชมยินดี”) เหตุใดเราจึงควรมีเจตคติเช่นนี้
ขอให้นักเรียนพิจารณาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในบทเรียนวันนี้ และเชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกสิ่งหนึ่งที่ทำได้เพื่อสวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้ดีขึ้น กระตุ้นให้พวกเขาเขียนสิ่งที่จะทำลงในแผ่นกระดาษเพื่อพวกเขาจะสามารถดูได้บ่อยๆ เป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงคำมั่นสัญญาของตน
เพื่อสรุปบทเรียนนี้ ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับความจริงที่สอนในบทเรียน