บทที่ 136
หลักคำสอนและพันธสัญญา 129; 130:1–11, 22–23
คำนำ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1843 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้คำแนะนำที่จะช่วยวิสุทธิชนรู้วิธีแยกแยะลักษณะที่ถูกต้องของเหล่าเทพและวิญญาณผู้ปฏิบัติ คำแนะนำเหล่านี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 129 หลักคำสอนและพันธสัญญา 130 ประกอบด้วยคำสอนของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับหลักคำสอนต่างๆ ขณะท่านประชุมกับวิสุทธิชนในเมืองเรมัส รัฐอิลลินอยส์เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1843
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 129
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้คำแนะนำเกี่ยวกับลักษณะของเหล่าเทพและวิญญาณผู้ปฏิบัติ
ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะบอกคนที่ต้องการรู้ว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อเรื่องเทพหรือไม่ว่าอย่างไร หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“นับจากกาลเริ่มต้นจวบจนสมัยการประทานต่างๆ พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งเหล่าเทพเป็นตัวแทนของพระองค์ในการถ่ายทอดความรักและความห่วงใยให้บุตรธิดาของพระองค์ …
“โดยปกติเรา ไม่ เห็นสัตภาวะเหล่านั้น บางครั้งเราเห็น แต่ไม่ว่าจะมองเห็นหรือไม่เห็น สัตภาวะเหล่านั้นอยู่ใกล้ เสมอ บางครั้งงานมอบหมายของพวกท่านยิ่งใหญ่มากและมีความสำคัญต่อคนทั้งโลก บางครั้งข่าวสารเป็นส่วนตัวมากกว่า บางโอกาสจุดมุ่งหมายของเทพคือเตือน” (“การปฏิบัติของเหล่าเทพ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 36)
อธิบายว่าต้นปี 1839 และต่อเนื่องจนถึงปี 1843 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้คำแนะนำหลายคนเพื่อช่วยให้พวกเขารู้วิธีแยกแยะลักษณะที่ถูกต้องของเหล่าเทพและวิญญาณผู้ปฏิบัติ คำแนะนำบางอย่างเหล่านี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 129
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 129:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเทพกับวิญญาณ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า เที่ยงธรรม หมายถึงชอบธรรม)
-
เทพต่างจากวิญญาณอย่างไร (เทพมีร่างกายเป็นเนื้อหนังและกระดูกที่ฟื้นคืนชีวิตแล้ว วิญญาณไม่มี)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 129:4–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาวิธีแยกแยกระหว่างเทพกับวิญญาณที่ชอบธรรม ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
-
เราเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 7 เกี่ยวกับลักษณะของผู้ส่งสารตัวจริงที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งมา (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขา: ผู้ส่งสารตัวจริงที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งมาจะไม่หลอกเรา)
อธิบายว่าบางครั้งมารพยายามปรากฏตัวเหมือน “เทพแห่งความสว่าง” เพื่อหลอกผู้คน (ดู คพ. 129:8) นอกจากนี้ “พระคัมภีร์กล่าวถึงเหล่าเทพของมารด้วย เทพดังกล่าวคือวิญญาณเหล่านั้นซึ่งติดตามลูซิเฟอร์และถูกผลักออกไปจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตก่อนเกิดและถูกโยนลงไปแผ่นดินโลก (วิวรณ์ 12:1–9; 2 นีไฟ 9:9, 16; คพ. 29:36–37)” (คู่มือพระคัมภีร์, “ทูตสวรรค์, เทพ,” scriptures.lds.org) อย่าเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับซาตานหรือวิญญาณชั่ว หรือปล่อยให้การสนทนากลายเป็นการเล่า เรื่องตื้นเต้นเร้าใจและเนื้อหาน่าสงสัย
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 129:8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาวิธีรับรู้วิญญาณชั่วที่พยายามหลอกโดยปรากฏตัวเหมือนเทพแห่งความสว่าง (อธิบายว่า การปฏิบัติ ใน ข้อ 9 หมายถึงการแสดงให้ประจักษ์หรือการเยือนจากเทพหรือวิญญาณ) เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้
-
นอกจากคำแนะนำในข้อเหล่านี้แล้ว พระบิดาบนสวรรค์ประทานอะไรไว้ช่วยท่านแยกแยะการหลอกลวงของซาตาน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:1–11, 22–23
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธชี้แจงหลักคำสอนต่างๆ
อธิบายว่าวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1843 โจเซฟ สมิธจัดการประชุมใหญ่สเตคกับวิสุทธิชนในเมืองเรมัส รัฐอิลลินอยส์ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนอวูราว 20 ไมล์ ระหว่างการประชุมตอนเช้าเอ็ลเดอร์ออร์สัน ไฮด์ให้โอวาทและสอนการตีความพระคัมภีร์ที่เขาเรียนรู้เมื่อครั้งนับถืออีกศาสนาหนึ่ง
-
ท่านศาสดาพยากรณ์มีความรับผิดชอบอะไรในสถานการณ์นี้ (แก้ไขหลักคำสอนผิดที่สอนในการประชุม)
อธิบายว่าผู้นำที่เป็นประธานในศาสนจักร เช่น ศาสดาพยากรณ์ ประธานสเตค และอธิการมีความรับผิดชอบต่อการทำให้แน่ใจว่ามีการสอนหลักคำสอนที่ถูกต้องในศาสนจักร หลังจบการประชุมตอนเช้า โจเซฟ สมิธ, ออร์สัน ไฮด์ และคนอื่นๆ อีกไม่กี่คนรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านของโซโฟรเนียพี่สาวของโจเซฟ ช่วงอาหารกลางวัน ท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวว่า ท่าน “จะแก้ไขโอวาทบางส่วน [ของบราเดอร์ไฮด์]” บราเดอร์ไฮด์ตอบว่า “น้อมรับด้วยความขอบคุณครับ” (ใน History of the Church, 5:323)
-
เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากวิธีที่โจเซฟ สมิธจัดการกับสถานการณ์นี้
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการที่ออร์สัน ไฮด์ตอบท่านศาสดาพยากรณ์
อธิบายว่าในคำพูดตอนเช้าของออร์สัน ไฮด์ เขาตีความ ยอห์น 14:23 ผิด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อนี้
บอกชั้นเรียนว่าหลังจากออร์สัน ไฮด์อ้างอิงข้อนี้ เขาบอกผู้คนว่า “เอกสิทธิ์ของเราคือมีพระบิดาและพระบุตรสถิตในใจเรา” (ใน History of the Church, 5:323) หลักคำสอนและพันธสัญญา 130 ประกอบด้วยการแก้ไขแนวคิดนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ อีกทั้งมีคำสอนเพิ่มเติมบางอย่างด้วย
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:1–3 ขอให้นักเรียนดูตามโดยมองหาว่าเหตุใดคำกล่าวของออร์สัน ไฮด์เกี่ยวกับความหมายของ ยอห์น 14:23 จึงไม่ถูกต้อง ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ
อธิบายว่าคนมากมายทุกวันนี้ไม่รู้จักแนวคิดเรื่องพระผู้เป็นเจ้าหรืออาจจะเหมือนออร์สัน ไฮด์ผู้เคยเป็นนักเทศก์นิกายแคมพ์เบลล์คือมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าเนื่องด้วยประเพณีผิดๆ เราสามารถช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจพระลักษณะที่แท้จริงของพระบิดาบนสวรรค์และความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระองค์
-
เราจะตอบด้วยความอ่อนโยนและความเข้าใจได้อย่างไรเมื่อสนทนาพระกิตติคุณกับคนที่มีแนวคิดผิดเพี้ยนเนื่องด้วยประเพณีผิดๆ
เชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:22–23 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาหลักคำสอนที่พวกเขาอธิบายได้เมื่อสอนผู้อื่นเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์
-
ข้อเหล่านี้สอนหลักคำสอนอะไรบ้าง (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นคนละองค์แยกจากกันโดยมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นรูปกายที่เป็นวิญญาณ)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นคนละองค์แยกจากกันโดยมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนเรื่องพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์มากขึ้น ให้พวกเขาทำงานเป็นคู่ แจกสำเนา ข้อความต่อไปนี้ให้แต่ละคู่ เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาข้อความนั้นกับคู่และขีดเส้นใต้ความจริงเกี่ยวกับพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พวกเขาประทับใจ
หลังจากนักเรียนทำงานมอบหมายเสร็จแล้ว ขอให้หลายๆ คนรายงานสิ่งที่ทำเครื่องหมายไว้และอธิบายว่าเหตุใดความจริงเหล่านั้นจึงประทับใจพวกเขา ท่านอาจจะสรุปกิจกรรมนี้โดยเชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์
เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักคำสอนอีกประการหนึ่งที่โจเซฟ สมิธสอนวิสุทธิชนในเมืองเรมัส ให้พวกเขาทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:2 โดยมองหาสิ่งที่ท่านกล่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา
-
ความเป็นสังคม หมายถึงอะไร (ความเป็นสังคมเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติของปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ส่วนตัวของเรา)
-
โจเซฟ สมิธสอนอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติความสัมพันธ์ของเราในสวรรค์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: ความสัมพันธ์ที่เราจะมีได้ในสวรรค์เป็นความสัมพันธ์เดียวกันกับที่เรามีบนแผ่นดินโลก แต่จะรวมถึงรัศมีภาพนิรันดร์ด้วย)
-
ความจริงนี้อาจจะมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ของท่านกับผู้อื่นอย่างไร
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงประจักษ์พยานต่อไปนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์นิรันดร์โดยประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด
“เนื่องจากการฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับครอบครัวนิรันดร์ เราจึงมีความหวังมากขึ้นและโอบอ้อมอารีมากขึ้นในความสัมพันธ์ฉันครอบครัวทั้งหมดของเรา ปีติใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตนี้มีศูนย์รวมอยู่ในครอบครัว ดังที่จะเป็นเช่นนี้ในโลกที่จะมาถึง ข้าพเจ้าสำนึกคุณอย่างยิ่งต่อความมั่นใจที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหากเราซื่อสัตย์ ความเป็นสังคมอย่างเดียวกันกับที่เรามีที่นี่ในชีวิตนี้จะอยู่กับเราตลอดกาลในโลกที่จะมาถึง ในรัศมีภาพนิรันดร์” [ดู คพ. 130:2] (“ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 26)
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองความสัมพันธ์ของพวกเขากับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมาชิกครอบครัวของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์เหล่านั้น
เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักคำสอนอื่นที่ท่านศาสดาพยากรณ์สอนที่การประชุมนี้ในเมืองเรมัส ให้เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:4–11
ท่านอาจต้องการอธิบายว่าตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10–11ทุกคนที่สืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดกจะได้รับอูริมและทูมมิมไว้ช่วยพวกเขาเรียนรู้และเข้าใจเรื่องของสวรรค์ ท่านศาสดาพยากรณ์ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำสอนนี้