เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 105: หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:17–42


บทที่ 105

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:17–42

คำนำ

วันที่ 16 และ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1833 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับวิสุทธิชนในมิสซูรีผู้ออกจากบ้านของพวกเขาเพื่อหนีการข่มเหงที่รุนแรง วิสุทธิชนจำนวนมากเหล่านั้นถูกบังคับให้ทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมดไว้เบื้องหลัง คู่มือเล่มนี้จะพูดถึงการเปิดเผยที่่ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101 ในสามบท บทที่สองนี้มีคำบรรยายของพระเจ้าเกี่ยวกับสภาพบางอย่างของมิลเลเนียม มีคำปลอบโยนและคำแนะนำถึงวิสุทธิชนเช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:17–34

พระเจ้าทรงบรรยายสภาพบางอย่างของมิลเลเนียม

ขอให้นักเรียนบอกเหตุการณ์บางอย่างในอนาคตที่พวกเขากำลังเตรียมรับ เขียนเหตุการณ์เหล่านี้ไว้บนกระดาน ถามนักเรียนว่าพวกเขากำลังทำอะไรเพื่อเตรียมรับเหตุการณ์เหล่านี้

  • เหตุใดท่านจึงพยายามเตรียม

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 101 มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์และมิลเลเนียม สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:17–21 โดยอธิบายว่าสัญญาของพระเจ้าว่าจะรวมวิสุทธิชนในนครแห่งไซอันในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี “ระงับไว้ชั่วคราว ขณะผู้คนกำลังได้รับการชำระให้บริสุทธิ์สำหรับของประทานอันสำคัญยิ่งและความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนั้นคนใจซื่อสัตย์รวมกันมายังหุบเขาแห่งเทือกเขาร็อคกี [และสเตคทั่วโลก] … พระวิหารสร้างไว้แล้ว … แต่ไซอันจะยังได้รับการสถาปนาบนสถานที่ซึ่งเลือกไว้” (James E. Talmage, The Articles of Faith, 12th ed. [1924], 353; ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร 2001], 318)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:22–23 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาบางสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนทำเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 22 และ 23เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง (นักเรียนควรกล่าวว่า เราสามารถเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดได้โดยเรียกหาพระนามของพระองค์ ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ รวบรวมกัน และยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • “ยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” มีความหมายต่อท่านอย่างไร ท่านรู้สึกว่าท่านอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อใด

  • การรวมกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคนอื่นๆ ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ช่วยท่านเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าอย่างไร

เพื่อเตรียมนักเรียนให้เข้าใจพระดำรัสของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:24–34 ให้อธิบายว่าข้อเหล่านี้กล่าวถึงการทำลายคนชั่วร้าย ณ เวลาแห่งการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์และสภาพที่จะดำรงอยู่บนแผ่นดินโลกระหว่างมิลเลเนียม แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้แต่ละคู่ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:24–34โดยมองหาสภาพที่จะดำรงอยู่ระหว่างมิลเลเนียม หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบไว้บนกระดาน

  • ท่านตื่นเต้นเป็นพิเศษอยากจะประสบสภาพใดบนกระดาน เพราะเหตุใด

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:35–38

พระเจ้าทรงรับรองกับวิสุทธิชนในมิสซูรีว่าหากพวกเขาอดทนด้วยศรัทธา พวกเขาจะได้รับส่วนรัศมีภาพของพระองค์ในที่สุด

เตือนความจำนักเรียนว่าเมื่อพระเจ้าประทานการเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101 วิสุทธิชนในมิสซูรีประสบความยากลำบากมากมาย ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปความยากลำบากบางอย่างที่พวกเขาเรียนรู้ในบทก่อน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:35–38 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาความจริงที่พระเจ้าทรงสอนและคำแนะนำที่พระองค์ประทานเพื่อปลอบโยนและให้กำลังใจวิสุทธิชนในการทดลองของพวกเขา

  • ความจริงและคำแนะนำอะไรบ้างใน ข้อ 35–38 น่าจะปลอบโยนวิสุทธิชนที่กำลังทนทุกข์ในมิสซูรีได้ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้ถามว่าความจริงหรือคำแนะนำอันเจาะจงแต่ละข้อที่พวกเขากล่าวถึงน่าจะปลอบโยนวิสุทธิชนได้อย่างไร)

  • ท่านจะกล่าวถึงสัญญาของพระเจ้าใน ข้อ 35 ด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร (นักเรียนควรตอบโดยกล่าวหลักธรรมทำนองนี้: คนที่ทนรับการข่มเหงเพื่อพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดและอดทนด้วยศรัทธาจะได้รับส่วนรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ติดตามพระองค์เสมอแม้เมื่อพวกเขาถูกข่มเหงเพราะศรัทธาของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เรื่องราวต่อไปนี้ที่ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเล่า ก่อนนักเรียนอ่าน ให้อธิบายว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับราฟาเอล มอนรอยและวิเซนเต โมราเลส วิสุทธิชนยุคสุดท้ายสองคนที่อยู่ในเม็กซิโกเมื่อต้นทศวรรษ 1990 ในปี 1915 พวกเขาถูกทหารโหดกลุ่มหนึ่งจับกุม ขอให้นักเรียนฟังว่าบราเดอร์มอนรอยกับบราเดอร์โมราเลสซื่อสัตย์อย่างไรขณะพวกเขาอดทนต่อการข่มเหง

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ราฟาเอล มอนรอยเป็นประธานสาขาซานมาร์คอส เม็กซิโกสาขาเล็กๆ และวิเซนเต โมราเลสเป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งของเขา … พวกทหารบอกว่าจะไว้ชีวิตพวกเขาถ้าพวกเขาจะยอมมอบอาวุธและละทิ้งศาสนาแปลกๆ ของพวกเขา บราเดอร์มอนรอยบอกทหารที่จับกุมเขาว่าเขาไม่มีอาวุธและดึงพระคัมภีร์ไบเบิลกับพระคัมภีร์มอรมอนของเขาออกจากกระเป๋า เขาพูดว่า ‘ท่านสุภาพบุรุษ อาวุธที่ผมพกก็มีเท่านี้แหละ นี่เป็นอาวุธของความจริงไว้ต่อต้านความเท็จ’

“เมื่อไม่พบอาวุธ ทั้งสองจึงถูกทรมานอย่างโหดร้ายเพื่อให้พวกเขาสารภาพว่าซ่อนอาวุธไว้ที่ใด แต่ไม่มีอาวุธ ต่อจากนั้นพวกเขาถูกคุมตัวไปนอกเมือง ผู้จับกุมให้พวกเขายืนอยู่ใกล้ต้นแอ็ชต้นใหญ่ต่อหน้าหน่วยประหาร นายทหารรักษาการณ์เสนอจะปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระหากพวกเขาละทิ้งศาสนาของตน และสมทบกับ [พวกทหาร] แต่บราเดอร์มอนรอยตอบว่า ‘ผมรักศาสนาของผมยิ่งกว่าชีวิตผมเสียอีก และผมไม่สามารถทิ้งศาสนาของผมได้’

“นายหารบอกต่อจากนั้นว่าจะยิงพวกเขาและถามว่าพวกเขาจะขออะไรหรือไม่ บราเดอร์ราฟาเอลขออนุญาตสวดอ้อนวอนก่อนถูกประหาร ที่นั่น ต่อหน้าเพชฌฆาต เขาคุกเข่าสวดอ้อนวอนเปล่งเสียงให้ทุกคนได้ยินว่าขอพระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรและคุ้มครองคนที่เขารัก ขอพระองค์ทรงดูแลสาขาเล็กๆ ที่กำลังจะขาดผู้นำ เมื่อเขาสวดอ้อนวอนจบ เขาใช้พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์ถูกตรึงกางเขนและสวดอ้อนวอนให้เพชฌฆาตของพระองค์ว่า ‘พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขาเพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร’ [ลูกา 23:34] หลังจากสวดอ้อนวอนจบหน่วยประหารยิงบราเดอร์มอนรอยกับบราเดอร์โมราเลสทันที” (“การเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 25–26; อ้างอิงจาก Rey L. Pratt, “A Latter-day Martyr,” Improvement Era, June 1918, 720–26)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาถูกข่มเหง (ถูกล้อเลียนหรือถูกรังแก) เพราะศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์และศาสนจักรของพระองค์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

  • เมื่อท่านถูกข่มเหงเพราะความเชื่อในพระเยซูคริสต์และศาสนจักรของพระองค์ ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อตอบโต้ด้วยศรัทธา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:39–42

พระเจ้าทรงประกาศว่าผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์เป็นเกลือของแผ่นดินโลก

เพื่อเตรียมนักเรียนให้เข้าใจคำสอนของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:39–42 ให้ดูเกลือสองแบบ: แบบหนึ่งคือเกลือบริสุทธิ์และอีกแบบคือเกลือผสมสารอื่น เช่น ดิน

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่เกลือแบบแรก

  • เกลือมีประโยชน์อะไรบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ เกลือใช้เพิ่มรสชาติ ถนอมอาหาร และใช้ฆ่าเชื้อเพื่อรักษาบาดแผล)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:39 และขอให้ชั้นเรียนบอกชื่อกลุ่มคนที่พระเจ้าทรงเปรียบเทียบกับเกลือ

  • พระเจ้าตรัสว่าใครเป็น “เกลือของแผ่นดินโลก”

อธิบายว่าคำว่า รสชาติ หมายถึงกลิ่นหรือคุณสมบัติเฉพาะตัว

  • ท่านคิดว่าการเป็นรสชาติแห่งมนุษย์หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของการเป็นรสชาติแห่งมนุษย์ดีขึ้น ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์คาร์ลอส อี. อเซย์แห่งสาวกเจ็ดสิบ

เอ็ลเดอร์คาร์ลอส เอ. เอเซย์

“เมื่อพระเจ้าทรงใช้คำว่า ‘รสชาติแห่งมนุษย์’ พระองค์กำลังตรัสถึงคนที่เป็นตัวแทนของพระองค์ พระองค์กำลังตรัสถึงคนที่กลับใจแล้ว คนที่สะอาดแล้วในน้ำแห่งบัพติศมา และคนที่ทำพันธสัญญาว่าจะรับพระนามและอุดมการณ์ของพระองค์ไว้กับพวกเขา นอกจากนี้ พระองค์กำลังตรัสถึงคนที่จะมีส่วนในอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์ผ่านพันธสัญญาด้วย พระองค์กำลังตรัสถึงท่านและข้าพเจ้า” (“Salt of the Earth: Savor of Men and Saviors of Men,” Ensign, May 1980, 42)

  • วลี “เกลือของแผ่นดินโลก” และ “รสชาติแห่งมนุษย์” สอนอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราต่อผู้อื่น

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าในฐานะผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า เรามีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยให้ทุกคนบนแผ่นดินโลกได้รับพรของพระองค์ (ดู อับราฮัม 2:8–11) เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เพื่อช่วยให้ผู้คนบนแผ่นดินโลกได้รับพรของพระผู้เป็นเจ้า เราต้อง …

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:40–42 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำเตือนและสัญญาของพระเจ้า

ชี้ให้เห็นว่า ข้อ 40 มีวลี “หากเกลือนั้นของแผ่นดินโลกหมดรส” รวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของวลีนี้ ให้ดึงความสนใจของพวกเขามายังเกลือแบบที่สอง อธิบายว่าเกลือไม่หมดรสตามอายุ มันหมดรสเมื่อปนกับสารอื่นหรือปนเปื้อนสารอื่น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 41อะไรเป็นเหตุให้เราหมดรสในฐานะเกลือของแผ่นดินโลก (บาป) ท่านคิดว่าเหตุใดบาปของเราจึงทำให้เราไม่อยากช่วยให้ผู้อื่นได้รับพรของพระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านจะกล่าวย้ำ ข้อ 42 ด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร (หากนักเรียนต้องการให้ช่วยตอบคำถามนี้ ให้อธิบายว่าคนที่ยกตนคือคนจองหอง ส่วนคนที่ทำให้ตนต่ำต้อยคือคนถ่อมตนต่อพระพักตร์พระเจ้า)

  • จากคำเตือนและสัญญาของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:40–42ท่านจะเติมหลักธรรมบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (เติมหลักธรรมบนกระดานโดยใช้คำตอบของนักเรียน ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกันแต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เพื่อช่วยให้ผู้คนของแผ่นดินโลกได้รับพรของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องกลับใจจากบาปของเราและอ่อนน้อมถ่อมตน)

  • เราจะทำอะไรทุกวันได้บ้างที่จะช่วยไม่ให้เราปนเปื้อนบาป

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาในใจว่าบาปกำลังปนเปื้อนชีวิตพวกเขาหรือไม่ กระตุ้นให้พวกเขากลับใจจากบาปเหล่านี้เพื่อพวกเขาจะบริสุทธิ์ต่อพระพักตร์พระเจ้าและเพื่อพวกเขาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการช่วยให้ผู้อื่นได้รับพรของพระองค์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:17–21 การสร้างนครแห่งไซอัน

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงเวลาที่พระเจ้าจะทรงบัญชาให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายสร้างนครแห่งไซอันว่า

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ไม่มีเหตุให้คลางแคลงใจหรือวิตกกังวลกับการเสริมสร้างไซอัน—หมายถึงเยรูซาเล็มใหม่—ในวันเวลาสุดท้าย พระเจ้าทรงเคยให้โอกาสผู้คนของพระองค์สร้างไซอันซึ่งกฎจะออกจากที่นั่นไปถึงคนทั้งโลก แต่พวกเขาล้มเหลว เพราะเหตุใด เพราะพวกเขาไม่พร้อมและไม่มีค่าควร คนของเราผู้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเวลานี้ก็เช่นกัน เมื่อเราพร้อมและมีค่าควร พระเจ้าจะทรงบัญชาเราอีกครั้งและงานจะดำเนินต่อไป—ตามกำหนดเวลา ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง และตามการกำกับดูแลของประธานศาสนจักร แต่กว่าจะถึงเวลานั้น เราไม่จำเป็นต้องไปรวมกันที่มิสซูรีหรือเตรียมรับมรดกที่ดินที่นั่น แต่ขอให้เราเรียนรู้แนวคิดอันสำคัญยิ่งที่เกี่ยวข้องและทำให้ตัวเราเองมีค่าสมกับงานที่พระเจ้าจะทรงมอบให้เราในวันและเวลาของเรา บางอย่างต้องมาก่อนการสร้างเทศมณฑลแจ็คสัน” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 586)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:23–25 เครื่องหมายและเหตุการณ์ทั่วโลกเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:23–25เราอ่านเรื่องเครื่องหมายและเหตุการณ์ทั่วโลกสามอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด ในคำอ้างอิงต่อไปนี้ อัครสาวกยุคสุดท้ายให้ข้อคิดอันเป็นการพยากรณ์เกี่ยวกับเครื่องหมายและเหตุการณ์เหล่านั้น

1. “เนื้อหนังทั้งปวงจะเห็น [พระองค์] พร้อมกัน” (คพ. 101:23) เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “การเสด็จมาครั้งที่สองของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเหตุการณ์ทั้งหลายที่เคยอุับัติขึ้นบนพื้นพิภพ มาควบคู่กับพลังอำนาจและรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในภูมิภาคเล็กๆ ของแผ่นดินโลก … และเห็นเพียงไม่กี่คน แต่จะเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนเห็น เนื้อหนังทั้งปวงจะเห็นรัศมีภาพของพระเจ้า เมื่อพระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์เป็นครั้งที่สองต่อนัยน์ตาทุกดวง ไม่เฉพาะคนที่มีชีวิตอยู่ในเนื้อหนังเวลานั้น ในชีวิตมรรตัยบนแผ่นดินโลกเท่านั้น แต่คนตาย … จะเห็นพระองค์ในเวลานั้นด้วย” (ใน Deseret News: Semi-Weekly, Apr. 25, 1876, 1)

2. “ทุกสิ่งที่มีมลทิน … จะมอดไหม้” (คพ. 101:24) เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “ก่อนเริ่มต้นยุคมิลเลเนียม แผ่นดินโลก (สวนองุ่นของพระเจ้า) จะถูกเผา ทุกสิ่งที่มีมลทินจะมอดไหม้ (คพ. 101:24); คนจองหองและคนทั้งหลายที่ทำชั่วจะถูกเผาหมดสิ้นเหมือนตอข้าว (มาลาคี 4:1; คพ. 29:9; 64:23–25; 133:63–64); คนบาปจะถูกทำลาย (อิสยาห์ 13:9–14); และจะมีการแยกโดยสิ้นเชิงระหว่างคนชอบธรรมกับคนชั่วร้าย (คพ. 63:54) เฉพาะผู้มีค่าควรจะอยู่ในเมืองบรมสุขเกษมหรืออาณาจักรเทอร์เรสเตรียลเท่านั้นจึงจะสามารถทนอยู่วันนั้นได้” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 494)

3. “เนื้อหนังทั้งปวงจะเห็น [พระองค์] พร้อมกัน” (คพ. 101:25) เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนเกี่ยวกับความใหม่นี้ว่า “ผู้เขียนบันทึกศักดิ์สิทธิ์สัญญาเรื่อง ฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ หรืออีกนัยหนึ่ง ระบบดาวเคราะห์จะถูกเปลี่ยน ถูกทำให้บริสุทธิ์ งดงาม สูงส่งและมีรัศมีภาพ คล้ายคลึงกับการฟื้นคืนชีวิต ซึ่งโดยวิธีนั้นความชั่วร้ายหรือความบกพร่องทางกายทั้งหลายจะหมดไป” (Key to the Science of Theology, 10th ed. [1965], 61)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:29–31 ความตายในมิลเลเนียม

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่าระหว่างมิลเลเนียม “จะไม่มีความตายจนกว่ามนุษย์แก่เฒ่า เด็กจะไม่ตายแต่จะมีชีวิตจนอายุเท่าต้นไม้ อิสยาห์กล่าวว่านี่คือ 100 ปี [ดู อิสยาห์ 65:20–22]” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie [1954–66], 1:86–87)

ประธานสมิธอธิบายด้วยว่าความตายระหว่างมิลเลเนียมจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“เมื่อพระคริสต์เสด็จมาพระองค์จะทรงชุบชีวิตวิสุทธิชนที่อยู่บนแผ่นดินโลกและพาขึ้นมาเฝ้าพระองค์ นี่มิได้หมายความว่าคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานั้นจะถูกเปลี่ยนและผ่านการฟื้นคืนชีวิต เพราะมนุษย์ต้องอยู่บนแผ่นดินโลกจนหลังจากหนึ่งพันปีสิ้นสุด แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์จะทรงชุบชีวิตพวกเขาทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะไม่ตายจนกว่าจะแก่เฒ่า มนุษย์จะตายเมื่อพวกเขาอายุหนึ่งร้อยปี และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สภาพอมตะทันที จะไม่มีการทำหลุมฝังศพในช่วงหนึ่งพันปีนี้” (The Way to Perfection [1931], 298–299)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:35–38 อดทนต่อการข่มเหงเพื่อพระนามของพระคริสต์

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกระตุ้นให้วิสุทธิชนใช้ศรัทธาขณะพวกเขาอดทนต่อการทดลอง

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“เรานึกถึงคนทั้งหลายผู้น้อมรับระบบของศาสนาที่ไม่มีใครนิยมชมชอบ และการยึดมั่นสิ่งซึ่งทำให้พวกเขาประสบการข่มเหงครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้ประสบความหิวโหย ความเปลือยเปล่า ภยันตราย และความยากจนข้นแค้นเกือบทุกอย่างเพราะความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและการยึดอุดมการณ์ของพระองค์ ผู้ต้องเศร้าโศกกับความตายก่อนวัยอันควรของบิดามารดา สามี ภรรยา และบุตรธิดาเพราะเห็นแก่ศาสนาของพวกเขา ผู้ยอมตายมากกว่ายอมเป็นทาสและเป็นคนหน้าซื่อใจคด พวกเขารักษาชื่อเสียงอันดีของตนไว้อย่างน่ายกย่อง และยืนหยัดไม่หวั่นไหวในเวลาที่ทดสอบจิตวิญญาณมนุษย์ จงยืนหยัด วิสุทธิชนทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้า อดทนอีกสักนิด และมรสุมชีวิตจะผ่านไป ท่านจะได้รับรางวัลจากพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้นผู้ซึ่งท่านเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ และจะทรงยกย่องความตรากตรำและความทุกข์ของท่านเพราะเห็นแก่พระคริสต์และพระกิตติคุณ ลูกหลานจะจดจำนามของท่านในฐานะวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้าและคนเที่ยงธรรม” (ใน History of the Church, 4:337)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:40 “เราเรียกพวกเขาให้เป็นรสชาติแห่งมนุษย์”

เอ็ลเดอร์คาร์ลอส อี. อเซย์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า

เอ็ลเดอร์คาร์ลอส เอ. เอเซย์

“นักเคมีที่มีชี่อเสียงระดับโลกคนหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่าเกลือจะไม่หมดรสตามอายุ เกลือหมดรสเมื่อมีสิ่งอื่นผสมและปนเปื้อน …

“คนๆ หนึ่งสูญเสียรสชาติและคุณภาพเมื่อเขาทำให้ความนึกคิดของเขาปนเปื้อนความคิดที่ไม่สะอาด ทำให้ปากเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์โดยพูดน้อยกว่าความจริง และใช้พละกำลังไปกับการทำชั่ว” (“Salt of the Earth: Savor of Men and Saviors of Men,” Ensign, May 1980, 42)