เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 116: หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:1–46


บทที่ 116

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:1–46

คำนำ

วิสุทธิชนทำงานสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์เกือบสามปี เมื่อพวกเขาสร้างเสร็จ พระเจ้าทรงเปิดเผยคำสวดอ้อนวอนที่ต้องใช้เมื่ออุทิศพระวิหารต่อศาสดาพยากรณ์ โจเซฟ สมิธ ท่านศาสดาพยากรณ์อ่านคำสวดอ้อนวอนอันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีอุทิศเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1836 คำสวดอ้อนวอนบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109 บทนี้สำรวจส่วนแรกของคำสวดอ้อนวอนซึ่งมีคำทูลวิงวอนให้พระเจ้าทรงยอมรับพระวิหารและทำตามสัญญาที่ทรงให้ไว้เกี่ยวกับพระวิหาร รวมถึงความคุ้มครองและพรสำหรับคนที่จะนมัสการในนั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:1–23

โจเซฟ สมิธทูลขอให้พระเจ้าทรงยอมรับพระวิหารเคิร์ทแลนด์และอวยพรคนที่นมัสการในนั้น

ให้ดูภาพพระวิหารสองสามแห่ง ท่านอาจจะถามนักเรียนว่าพากเขารู้หรือไหมว่าพระวิหารแต่ละแห่งนั้นอยู่ที่ไหน

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เหตุใดเราจึงสร้างพระวิหาร ให้นักเรียนแบ่งเป็นคู่ๆ และสนทนาคำตอบของคำถามนี้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว อธิบายว่าเราจะพบคำตอบของคำถามนี้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109

พระวิหารเคิร์ทแลนด์

ให้นักเรียนดู ภาพ พระวิหารเคิร์ทแลนด์ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 117; ดู LDS.org และ josephsmith.netด้วย) อธิบายว่าวิสุทธิชนทำงานหนักและเสียสละเกือบสามปีเพื่อสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ พวกเขาเห็นสัมฤทธิผลแห่งคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าหากพวกเขารักษาพระบัญญัติ พวกเขาจะ “มีพลังสร้างมัน” (คพ. 95:11) วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1836 วิสุทธิชนเข้าร่วมพิธีอุทิศพระวิหารและโจเซฟ สมิธกล่าวคำสวดอ้อนวอนอุทิศ ท่านได้รับคำสวดอ้อนวอนโดยการเปิดเผยก่อนพิธีอุทิศ คำสวดอ้อนวอนบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109

ชั้นแรกของพระวิหารเคิร์ทแลนด์

แปลนชั้นล่างของพระวิหารเคิร์ทแลนด์

อธิบายว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกือบ 1,000 คนเข้าร่วมพิธีอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ อีกหลายคนต้องการเข้าร่วมแต่ไม่อาจเข้าไปใน อาคารได้ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเตรียมการให้พวกเขาเข้าร่วมการประชุมในตึกอีกหลังหนึ่ง และทำพิธีอุทิศซ้ำให้พวกเขาในอีกสองสามวันต่อมา

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกภาพขณะเข้าร่วมพิธีอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ พวกเขารู้สึกคาดหวังมากระหว่างคณะนักร้องประสานเสียงร้องเพลงเปิด ซิดนีย์ ริกดันให้โอวาทต่อจากนั้น หลังจากพักช่วงสั้นๆ พวกเขามีโอกาสออกเสียงสนับสนุนผู้นำศาสนจักร จากนั้นศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธยืนอ่านคำสวดอ้อนวอนอุทิศ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาเหตุผลแรกที่วิสุทธิชนสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์

  • อะไรคือเหตุผลแรกที่วิสุทธิชนสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ (นักเรียนควรเห็นว่าวิสุทธิชนสร้างพระวิหารเพราะพระเจ้าทรงบัญชา เขียนบนกระดานดังนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้เราสร้างพระวิหาร)

เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งยืนอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาวลีที่พูดถึงการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหาร

  • ท่านสังเกตเห็นวลีอะไรบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ “ความยากลำบากแสนสาหัส” “จากความยากจนของพวกข้าพระองค์” และ “ถวายทรัพย์สินของพวกข้าพระองค์”)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านบทสรุปต่อไปนี้

ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1833 กับเดือนมีนาคม ค.ศ. 1836 สมาชิกศาสนจักรสละเวลา เงินทอง และทรัพย์สมบัติเพื่อช่วยสร้างพระนิเวศน์ให้พระเจ้า ผู้ชายอาสาทำงานก่อสร้าง ผู้หญิงเย็บเสื้อผ้าและจัดเตรียมที่พัก เมื่อชายหลายคนไปกับค่ายไซอัน หญิงบางคนจึงทำงานพระวิหารต่อ วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนเช่นจอห์น แทนเนอร์และเวียนนา เจคสละทรัพย์สินจำนวนมากของพวกเขาให้การสร้างพระวิหาร คนอื่นอุทิศถวายแรงงานที่พวกเขาถนัด ตัวอย่างเช่น บริคัม ยังก์ให้บัพติศมาชายคนหนึ่งชื่ออาร์เทมัส มิลเล็ตในแคนาดา บราเดอร์มิลเล็ตเลิกทำงานเป็นช่างก่ออิฐให้รัฐบาลแคนาดาเพื่อเขากับครอบครัวจะได้ย้ายมาอยู่เคิร์ทแลนด์และรับใช้เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างพระวิหารที่นั่น สรุปแล้วพระวิหารใช้เงินไปประมาณ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ—เงินก้อนใหญ่มากสำหรับเวลานั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงความยากไร้ของวิสุทธิชน เมื่อเทียบกันแล้ว จำนวนเงินดังกล่าวจะมีค่ามากกว่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

  • ท่านประทับใจอะไรกับการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหาร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านทวน ข้อ 5 ในใจโดยมองหาความจริงที่อธิบายว่าเหตุใดวิสุทธิชนจึงเสียสละมากเช่นนั้นเพื่อสร้างพระวิหาร

  • ท่านพบความจริงอะไรเกี่ยวกับสาเหตุที่วิสุทธิชนต้องการสร้างพระวิหาร (นักเรียนควรกล่าวว่า ในพระวิหาร พระเจ้าทรงสามารถแสดงองค์ให้ประจักษ์ต่อเราได้ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เชิญนักเรียนครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:10–11 ในใจโดยมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธทูลขอให้พระเจ้าทรงทำเพื่อผู้คนจะได้รับพรของพระวิหาร เชิญอีกครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:12–13 ในใจโดยมองหาวลีที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระเจ้าทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์ต่อเราในพระวิหารอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามกลุ่มแรกดังนี้

  • โจเซฟ สมิธทูลขอให้พระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อผู้คนจะได้รับพรของพระวิหาร (ช่วยพวกเขาด้วยพระคุณของพระองค์เพื่อพวกเขาจะมีค่าควรในสายพระเนตรของพระองค์)

  • ขณะที่เราพยายามมีค่าควรเข้าพระวิหาร เหตุใดเราจึงต้องการพระคุณของพระเจ้า

ถามคำถามต่อไปนี้กับกลุ่มที่สอง

  • ท่านพบวลีใดที่ช่วยให้ท่านเข้าใจว่าพระเจ้าทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์ต่อเราในพระวิหารอย่างไร (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีที่เพื่อนร่วมชั้นแบ่งปัน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับคู่หรือกับนักเรียนทั้งชั้นเมื่อพวกเขารู้สึกใกล้ชิดพระเจ้าในพระวิหาร เตือนความจำนักเรียนว่าประสบการณ์บางอย่างศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นส่วนตัวเกินกว่าจะแบ่งปัน แบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองหากเห็นว่าเหมาะสม

  • ความรู้สึกใกล้ชิดพระเจ้าในพระวิหารส่งผลต่อชีวิตท่านอย่างไรเมื่อท่านอยู่นอกพระวิหาร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:14–23 ด้วยตนเองโดยมองหาพรเพิ่มเติมที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนที่นมัสการในพระวิหาร

  • พระเจ้าทรงสัญญาพรเพิ่มเติมอะไรบ้างกับคนที่นมัสการในพระวิหาร (นักเรียนควรพบพรมากมายในข้อเหล่านี้ ท่านอาจต้องการเขียนพรเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

จาก ข้อ 22–23การนมัสการในพระวิหารเกิดผลอะไรบ้าง (เกี่ยวกับคำตอบที่นักเรียนให้ จงช่วยพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้: การได้รับพรพระวิหารทำให้เรามีเดชานุภาพและความช่วยเหลือของพระเจ้าเป็นอาวุธขณะที่เรารับใช้พระองค์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจจะเสนอแนะให้นักเรียนเขียนไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย)

  • ท่านคิดว่าการมี “เดชานุภาพ [ของพระเจ้า] เป็นอาวุธ” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าการมีเดชานุภาพของพระเจ้าเป็นอาวุธหมายความว่าอย่างไร ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“ในพระนิเวศน์ของพระเจ้า สมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรจะได้รับการประสาทพร ‘ด้วยอำนาจจากเบื้องบน’ [คพ. 95:8] อำนาจที่จะทำให้เราสามารถต่อต้านการล่อลวง ให้เกียรติพันธสัญญา เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า แสดงประจักษ์พยานด้วยศรัทธาแรงกล้าและไม่หวาดหวั่นเกี่ยวกับพระกิตติคุณต่อครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนบ้าน” (“ปลูกฝังคุณลักษณะแห่งสวรรค์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 31)

  • อำนาจแบบนี้จะเป็นพรต่อท่านและครอบครัวอย่างไร อำนาจแบบนี้จะเป็นพรสำหรับผู้สอนศาสนาเต็มเวลาอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:24-46

โจเซฟ สมิธทูลขอให้พระเจ้าทรงคุ้มครองและทรงอวยพรคนที่นมัสการในพระวิหารและคนที่สั่งสอนพระกิตติคุณ

วาดรูป เกรียงและดาบ บนกระดาน ท่านอาจต้องการอธิบายว่าเราใช้เกรียงฉาบปูนระหว่างก้อนอิฐหรือก้อนหิน ถามนักเรียนว่าเครื่องมือแต่ละอย่างนี้ใช้สร้างพระวิหารอย่างไร

เกรียงและดาบ

อธิบายว่าระหว่างก่อสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ กลุ่มคนร้ายขู่จะทำลายพระวิหาร ประธานบริคัม ยังก์เล่าเรื่อง “คนงานบนกำแพงว่า มือหนึ่งถือดาบป้องกันตนเองจากกลุ่มคนร้าย ขณะพวกเขาเรียงอิฐและฉาบปูน” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 415) บางครั้งชายที่สร้างพระวิหารช่วงกลางวันต้องรักษาความปลอดภัยช่วงกลางคืน

อธิบายว่านอกจากทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อคุ้มครองพระวิหารและตนเองแล้ว วิสุทธิชนยังขอความคุ้มครองจากพระเจ้าด้วย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:24–28 ขอให้ชั้นเรียนมองหาความคุ้มครองแบบที่โจเซฟ สมิธทูลขอจากพระเจ้าหลังจากสร้างพระวิหาร

  • โจเซฟทูลขอความคุ้มครองแบบใด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 24เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับความคุ้มครองแบบนี้

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการได้รับความคุ้มครองจากความชั่วร้าย (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากผู้คนของพระเจ้ามีค่าควรและนมัสการพระองค์ในพระวิหาร เมื่อนั้นความชั่วร้ายจะไม่ชนะพวกเขา)

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:29–46 โดยอธิบายว่าท่านศาสดาพยากรณ์สวดอ้อนวอนขอให้คนที่แพร่ความเท็จเกี่ยวกับวิสุทธิชนฉงนและให้ศาสนจักรสามารถลุกขึ้นมาทำงานของพระเจ้า ท่านทูลขอให้พระเจ้าทรงทำให้พระวิหารเต็มเปี่ยมด้วยรัศมีภาพของพระองค์ ประทานประจักษ์พยานให้ผู้รับใช้ของพระองค์และพลังที่พวกเขาต้องใช้ประกาศพระกิตติคุณ

เพื่อสรุป กระตุ้นให้นักเรียนมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันเสมอ แม้พวกเขาไม่ได้อยู่ใกล้พระวิหารก็ตาม ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“โดยแท้แล้วพระเจ้าทรงปรารถนาให้ผู้คนของพระองค์มุ่งหมายจะไปพระวิหาร ความปรารถนาจากส่วนลึกที่สุดในใจข้าพเจ้าคืออยากให้สมาชิกทุกคนของศาสนจักรมีค่าควรเข้าพระวิหาร … ขอให้เราเป็นคนที่รักพระวิหารและเข้าพระวิหาร ขอให้เราเร่งไปพระวิหารให้บ่อยที่สุดเท่าที่เวลา เงินทอง และสภาวการณ์ส่วนตัวจะเอื้ออำนวย” (“The Great Symbol of Our Membership,” Ensign, Oct. 1994, 5)

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109 แปลนพระวิหารเคิร์ทแลนด์

ภาพประกอบ ต่อไปนี้แสดงให้เห็นการจัดเตรียมชั้นแรกในพระวิหารเคิร์ทแลนด์เพื่อการอุทิศ

ชั้นแรกของพระวิหารเคิร์ทแลนด์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:2–3 เข้มแข็งผ่านการเปิดเผยและพระบัญญัติ

ภายใต้การกำกับดูแลของพระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากยิ่งกว่าท่านจะทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง เมื่อกล่าวถึงการออกแบบและการก่อสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ประธานบริคัม ยังก์ประกาศว่า

ประธานบริคัม ยังก์

“หากปราศจากการเปิดเผย โจเซฟคงไม่สามารถรู้ได้ว่าพระเจ้าทรงต้องการอะไร คงไม่รู้มากกว่าใคร และหากปราศจากพระบัญญัติ ศาสนจักรคงจะมีสมาชิกน้อย ศรัทธาอ่อนแอ และยากจนเกินกว่าจะทำโครงการใหญ่ขนาดนั้นได้” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 415)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:5 “จากความยากจนของพวกข้าพระองค์ พวกข้าพระองค์ถวายทรัพย์สินของพวกข้าพระองค์”

ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวถึงการเสียสละที่คู่ควรแก่การได้รับพรพระวิหารดังนี้

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“การเสียสละบางระดับเกี่ยวข้องกับการสร้างพระวิหารและการเข้าพระวิหาร การเสียสละอีกนับไม่ถ้วนเป็นการเสียสละของคนที่ตรากตรำงานหนักเพื่อให้ตนเองและครอบครัวได้รับพรซึ่งพบในพระวิหารของพระผู้เป็นเจ้า

“เหตุใดคนจำนวนมากจึงยอมเสียสละมากขนาดนั้นเพื่อให้ได้รับพรของพระวิหาร คนที่เข้าใจพรนิรันดร์ซึ่งมาจากพระวิหารทราบว่าเพื่อให้ได้รับพรดังกล่าวไม่มีการเสียสละใดมากเกินไป ไม่มีราคาใดสูงเกินไป และไม่มีการต่อสู้ใดยากเกินไป ไม่มีเส้นทางใดไกลเกินกว่าจะไปถึง ไม่มีอุปสรรคใดยากเกินกว่าจะเอาชนะ หรือไม่มีความลำบากใดมากเกินกว่าจะอดทน พวกเขาเข้าใจว่าศาสนพิธีแห่งความรอดที่ได้รับในพระวิหารซึ่งวันหนึ่งจะเอื้ออำนวยให้เราได้กลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ในสัมพันธภาพของครอบครัวนิรันดร์และได้รับการประสาทพรและสิทธิอำนาจจากเบื้องบนนั้นควรค่าแก่การเสียสละทุกอย่างและความเพียรพยายามทุกวิถีทาง” (ดู “พระวิหารศักดิ์สิทธิ์—ประภาคารส่องโลก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 116)