เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 144: หลักคำสอนและพันธสัญญา 135 ส่วนที่ 1


บทที่ 144

หลักคำสอนและพันธสัญญา 135 ส่วนที่ 1

คำนำ

วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและไฮรัมพี่ชายท่านซึ่งเป็นผู้ช่วยประธานและผู้ประสาทพรของศาสนจักรสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขีในเมืองคาร์เทจ รัฐอิลลินอยส์ โควรัมอัครสาวกสิบสองอนุมัติให้รวมคำประกาศแจ้งมรณสักขีไว้ท้ายพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับพิมพ์ปี 1844 ด้วย ซึ่งใกล้จะพร้อมจัดพิมพ์ คำประกาศดึงมาจากเรื่องราวที่เอ็ลเดอร์จอห์น เทย์เลอร์และเอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริชาร์ดส์สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองเห็นด้วยตาตนเอง ปัจจุบันบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 135

หมายเหตุ: บทนี้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายเรื่องที่นักเรียนอ่านได้ ท่านอาจจะทำสำเนาเรื่องราวเหล่านี้และแจกให้นักเรียนช่วงต้นบทเรียน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:1–7

ประกาศมรณสักขีของโจเซฟกับไฮรัม สมิธ

เริ่มชั้นเรียนโดยถามนักเรียนว่าพวกเขาจำได้หรือไม่ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนเมื่อทราบข่าวมรณกรรมของประธานศาสนจักรหรือคนที่พวกเขารัก

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของศาสนจักรอยู่ในนอวู อิลลินอยส์ปี 1844 และได้รับข่าวที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:1 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อนี้

  • ท่านน่าจะรู้สึกอย่างไรหลังจากได้ยินข่าวอันน่าสลดใจนี้

อธิบายว่าวิสุทธิชนจำนวนมากโศกเศร้าอย่างยิ่งเมื่อทราบข่าวมรณกรรมของโจเซฟกับไฮรัม สมิธ กระตุ้นให้นักเรียนใคร่ครวญความรู้สึกและประจักษ์พยานที่พวกเขามีต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธขณะเรียนรู้เกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน

บอกนักเรียนว่าโจเซฟ สมิธและวิสุทธิชนมีชีวิตค่อนข้างสงบในอิลลินอยส์ราวสามปี แต่ในปี 1842 พวกเขาเริ่มประสบการต่อต้านอีกครั้ง ผู้แตกแยกในศาสนจักรและผู้คัดค้านนอกศาสนจักรร่วมมือกันต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักร พลเมืองบางส่วนของรัฐอิลลินอยส์เริ่มกลัวและไม่ชอบอิทธิพลทางการเมืองของวิสุทธิชน คนอื่นๆ อิจฉาความเจริญด้านเศรษฐกิจของเมืองนอวู วิพากษ์วิจารณ์อำนาจการปกครองและทหารบ้านของเมืองนอวู บางคนเริ่มไม่ชอบวิสุทธิชนเพราะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักคำสอนและการปฏิบัติแหวกแนวของมอรมอนเช่นการแต่งภรรยาหลายคน ซึ่งบางส่วนบิดเบือนไปเพราะสมาชิกที่ละทิ้งความเชื่อจากศาสนจักร (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือครู, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 279–281, 285–286)

ไอคอนเอกสารแจกเชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน ย่อหน้าต่อไปนี้

นักเรียน 1

ราวเดือนมิถุนายน ปี 1844 ความเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนจักรรุนแรงขึ้นมาก พลเมืองบางส่วนของรัฐอิลลินอยส์สนทนากันเรื่องขับไล่วิสุทธิชนออกจากรัฐ ส่วนอีกหลายคนกำลังวางแผนสังหารท่านศาสดาพยากรณ์ บางคนที่สมคบกันต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักรเป็นอดีตสมาชิกศาสนจักรที่ละทิ้งความเชื่อ วันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1844 วิลเลียม ลอว์ผู้เคยรับใช้เป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุด กับผู้ละทิ้งความเชื่อคนอื่นๆ พิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับแรกเรียกว่า Nauvoo Expositor ในการพยายามปลุกปั่นให้สาธารณชนต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักร ชายเหล่านี้ใช้หนังสือพิมพ์ดังกล่าวใส่ร้ายป้ายสีโจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ โจเซฟ สมิธและเสียงข้างมากของสภาเมืองนอวูยอมรับว่าหนังสือพิมพ์เชิงปลุกปั่นจะชักนำกลุ่มคนร้ายให้ก่อความรุนแรงในเมือง พวกเขาจึงประกาศว่าหนังสือพิมพ์เป็นภัยสาธารณะและสั่งให้ทำลายโรงพิมพ์ Nauvoo Expositor

อธิบายว่าเนื้อหาของ Nauvoo Expositor พร้อมด้วยการทำลายโรงพิมพ์เป็นเหตุให้พวกต่อต้านมอรมอนตั้งตนเป็นศัตรูมากขึ้น เจ้าของโรงพิมพ์ฟ้องร้องโจเซฟ สมิธและผู้นำคนอื่นๆ ของเมืองกล่าวหาว่าพวกท่านก่อความไม่สงบ โจเซฟ สมิธพิสูจน์ว่าไม่มีความผิดตามที่กล่าวหา แต่การปล่อยตัวท่านทำให้ศัตรูโกรธยิ่งกว่าเดิม เมื่อมีข่าวลือไปทั่วว่ากลุ่มคนร้ายกำลังรวมตัวกันจะบุกเมืองนอวู โจเซฟ สมิธในฐานะนายกเทศมนตรีจึงประกาศให้นอวูอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก (กฎชั่วคราวทางทหาร) ด้วยการกำกับดูแลของผู้ว่าการโธมัส ฟอร์ดแห่งอิลลินอยส์ โจเซฟสั่งให้กองทหารนอวูป้องกันเมือง

ไอคอนเอกสารแจกเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน สองย่อหน้าต่อไปนี้

นักเรียน 2

ความระส่ำระสายในแถบนั้นทวีความรุนแรงจนผู้ว่าการฟอร์ดต้องไปคาร์เทจอันเป็นศูนย์การปกครองสำหรับภูมิภาคเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่ส่อแววว่าจะรุนแรง เขาเขียนถึงโจเซฟ สมิธว่าการสอบสวนท่านศาสดาพยากรณ์และผู้นำคนอื่นๆ ต่อหน้าคณะลูกขุนที่ไม่ใช่มอรมอนในคาร์เทจเท่านั้นจึงจะทำให้ผู้คนพอใจ ผู้ว่าการฟอร์ดสัญญาด้วยว่าจะคุ้มครองพวกท่านเป็นอย่างดีและการสอบสวนจะเป็นธรรมหากพวกท่านมาด้วยความสมัครใจ โจเซฟตอบว่าชีวิตท่านจะตกอยู่ในอันตรายระหว่างเดินทางและท่านจะไม่มา

เมื่อโจเซฟ สมิธหารือกับพี่น้องชายว่าจะทำอะไรต่อไป ท่านรู้สึกว่าถ้าท่านกับไฮรัมออกจากนอวูและเดินทางไปตะวันตก วิสุทธิชนในนอวูจะไม่ถูกทำร้าย โจเซฟกับไฮรัมจึงข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีเข้าไปในไอโอวาตามคำแนะนำ แต่สมาชิกศาสนจักรบางคนในนอวูสงสัยแผนของท่านศาสดาพยากรณ์ สมาชิกสองสามคนมาหาท่านและกล่าวหาว่าท่านขี้ขลาดตาขาว โดยพูดว่าท่านกำลังทิ้งวิสุทธิชนและปล่อยให้พวกเขาเผชิญการข่มเหงตามลำพัง ท่านศาสดาพยากรณ์ตอบว่า “หากชีวิตข้าพเจ้าไม่มีค่าต่อมิตรสหายก็คงไม่มีค่าต่อข้าพเจ้าเช่นกัน” (ใน History of the Church, 6:549) หลังจากหารือกันแล้ว โจเซฟกับไฮรัมจึงกลับไปนอวู เช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1844 พวกท่านเดินทางไปคาร์เทจ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำพยากรณ์ที่โจเซฟสมิธให้ไว้ใกล้คาร์เทจ

  • โจเซฟกล่าวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับท่าน

  • ท่านคิดว่าท่านศาสดาพยากรณ์น่าจะเป็นอย่างไรขณะจากครอบครัวทั้งที่รู้ว่าท่านจะไม่ได้กลับมาหาพวกเขาอีก

  • ท่านคิดว่าเหตุใดโจเซฟจึง “สงบดังเวลาเช้าของฤดูร้อน” เมื่อรู้ว่าท่านจะไป “ดังลูกแกะถูกพาไปเชือด”

อธิบายว่าท่านศาสดาพยากรณ์รู้ว่าความตายของท่านจะรักษาชีวิตของวิสุทธิชนไว้

ขณะไฮรัม สมิธเตรียมไปคุกคาร์เทจ เขาอ่าน อีเธอร์ 12:36–38 ในพระคัมภีร์มอรมอนแล้วพับหน้านั้นไว้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและสังเกตสิ่งที่ไฮรัมอ่านและทำเครื่องหมายก่อนไปคุกคาร์เทจ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดข้อเหล่านี้จากหนังสือของอีเธอร์จึงน่าจะมีความหมายต่อไฮรัมจนต้องอ่านเวลานั้น

  • ท่านคิดว่าประโยคนี้ “คนทั้งปวงจะรู้ว่าอาภรณ์ของข้าพเจ้าไม่มีมลทินด้วยเลือดของท่าน” (คพ. 135:5) หมายความว่าอย่างไร

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าโจเซฟกับไฮรัมน่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าพวกท่านทำการเรียกและหน้าที่จากพระผู้เป็นเจ้าจนสุดความสามารถแล้ว

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของโจเซฟกับไฮรัม สมิธซึ่งจะช่วยเราทำการเรียกที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าให้เกิดสัมฤทธิผล

ไอคอนเอกสารแจกเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน ข้อความสรุปต่อไปนี้ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 25–27 มิถุนายน ค.ศ. 1844

นักเรียน 3

วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1844 โจเซฟกับไฮรัม สมิธและผู้นำคนอื่นๆ จ่ายค่าประกันตัวที่คาร์เทจและได้รับการปล่อยตัวจนกว่าจะสามารถรับการสอบสวนอย่างเป็นทางการเพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบ (กรณีทำลาย Nauvoo Expositor) แต่ค่ำวันนั้นโจเซฟกับไฮรัมถูกส่งตัวไปคุกคาร์เทจด้วยข้อหาทรยศต่อบ้านเมือง ซึ่งโจเซฟกับทนายของท่านค้านว่าผิดกฎหมายเพราะไม่ได้เอ่ยถึงข้อหาดังกล่าวขณะพิจารณาคดีก่อนหน้านี้ในวันจ่ายค่าประกันตัว เนื่องจากไม่สามารถประกันตัวในข้อหาทรยศต่อบ้านเมือง พวกท่านจึงต้องอยู่ในคาร์เทจ—และยังอยู่ในอันตราย

วันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1844 โจเซฟพบกับผู้ว่าการฟอร์ดในคุก ผู้ว่าการฟอร์ดกำลังคิดจะไปนอวู และโจเซฟขอไปด้วยโดยรู้สึกว่าท่านไม่ปลอดภัยในคาร์เทจ ผู้ว่าการฟอร์ดสัญญาว่าถ้าเขาออกจากคาร์เทจเขาจะพาโจเซฟกับไฮรัมไปด้วย ค่ำวันนั้น ท่านศาสดาพยากรณ์แสดงประจักษ์พยานต่อผู้คุมถึงความถูกต้องแท้จริงของพระคัมภีร์มอรมอนและการฟื้นฟูพระกิตติคุณ

เช้าวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 โจเซฟเขียนจดหมายถึงเอ็มมาว่า “ผมยอมให้เป็นไปตามลิขิตชีวิตผม โดยรู้ว่าผมบริสุทธิ์และได้ทำดีที่สุดแล้ว โปรดมอบความรักของผมให้ลูกๆ และเพื่อนๆ ของผมทุกคน” (ใน History of the Church, 6:605) ต่อมาในวันนั้น ทั้งที่รู้ว่าพลเมืองในท้องที่วางแผนบุกโจมตีคุกและสังหารนักโทษ แต่ผู้ว่าการฟอร์ดก็ออกจากคาร์เทจไปพูดกับพลเมืองนอวู เขาผิดสัญญาและไม่พาโจเซฟกับไฮรัมไปด้วย ก่อนเดินทางผู้ว่าการฟอร์ดให้คาร์เทจ เกรยส์—ศัตรูตัวฉกาจของทหารบ้านที่มารวมกันในคาร์เทจ—ทำหน้าคุ้มกันคุกและยุบทหารบ้านกลุ่มอื่น

บอกนักเรียนว่าตอนบ่ายที่ร้อนชื้นของวันที่ 27 มิถุนายน อัครสาวกจอห์น เทย์เลอร์และอัครสาวกวิลาร์ด ริชาร์ดส์อยู่กับโจเซฟและไฮรัมในคุกลิเบอร์ตี้ ความรู้สึกหดหู่เกิดขึ้นกับท่านศาสดาพยากรณ์และคนที่อยู่กับท่านขณะพวกท่านนั่งอยู่ในห้องนอนของผู้คุมบนชั้นสองของคุก ไฮรัม สมิธขอให้จอห์น เทย์เลอร์ร้องเพลง “ชายเศร้าโศกยากจนผู้ท่องไป” (ดู เพลงสวด, บทเพลงที่ 16) หากมีเพลงนี้ในหนังสือเพลงสวดของท่าน ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้ นักเรียนร้องเพลง สักสองสามข้อ ขณะร้องเพลงให้พวกเขาคิดว่าเพลงนี้น่าจะมีความหมายต่อโจเซฟและไฮรัม สมิธ ณ เวลานั้นอย่างไร

ไอคอนเอกสารแจกเชิญนักเรียนสามคนผลัดกันอ่าน ข้อความสรุปต่อไปนี้ เกี่ยวกับมรณสักขี ขอให้ชั้นเรียนลองนึกภาพเหตุการณ์เหล่านี้ประหนึ่งพวกเขาอยู่กับท่านศาสดาพยากรณ์ในคุกคาร์เทจ

นักเรียน 4

หลังห้าโมงเย็นของวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 ไม่นานกลุ่มคนร้ายประมาณ 150–200 คนที่ทาหน้าปกปิดรูปพรรณของตนพากันมาล้อมคุก ผู้คุมต่อต้านเล็กน้อยขณะสมาชิกกลุ่มคนร้ายหลายคนรีบขึ้นบันไดไปยังห้องที่ท่านศาสดาพยากรณ์กับเพื่อนๆ อยู่

โจเซฟและคนอื่นๆ ดันประตูเพื่อกันไม่ให้คนร้ายผลักเข้ามา บางคนในกลุ่มคนร้ายยิงกระสุนหนึ่งนัดทะลุแผงด้านบนของประตูถูกจมูกซีกซ้ายของไฮรัม เขาล้มหงายหลังพลางร้องว่า “ผมเป็นคนตาย!” (ใน History of the Church, 6:617) จอห์น เทย์เลอร์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมความรู้สึกสงสารจับใจและความเคารพนับถือที่บราเดอร์โจเซฟแสดงออกทางสีหน้าขณะเข้าไปใกล้ไฮรัม และก้มตัวลงมาที่ไฮรัมพลางร้องว่า ‘โธ่! พี่ไฮรัมที่น่าสงสารของผม!’” (ใน History of the Church, 7:102.)

นักเรียน 5

เช้าวันนั้นผู้มาเยี่ยมคนหนึ่งมอบปืนพกให้โจเซฟ เพื่อปกป้องทุกคนในห้องโจเซฟกระโจนไปที่ประตูและยื่นมืออ้อมวงกบประตูออกไปยิงปืนสั้นใส่ทางเดิน ท่านยิงออกไปเพียงสามในหกนัด ทำให้หลายคนในกลุ่มคนร้ายได้รับบาดเจ็บ จากนั้นกลุ่มคนร้ายเอาปืนจ่อเข้ามาทางประตูที่แง้มอยู่ และจอห์น เทย์เลอร์พยายามใช้ไม้เท้าตีลำกล้องปืนกลับไป

ขณะการปะทะตรงประตูเพิ่มขึ้น จอห์น เทย์เลอร์พยายามหนีออกทางหน้าต่างห้อง ขณะพยายามกระโดดลงจากหน้าต่าง เขาถูกยิงจากประตูมาโดนต้นขาและถูกคนด้านนอกยิงด้วย เขาล้มลงไปบนพื้นห้อง และขณะพยายามเข้าไปอยู่ใต้เตียงติดกับหน้าต่าง เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงอีกสามนัด ระหว่างนั้น ขณะที่ปืนหลายกระบอกลอดประตูเข้ามา วิลลาร์ด ริชาร์ดเริ่มใช้ไม้เท้าตีปืน

นักเรียน 6

จากนั้นโจเซฟ สมิธตัดสินใจลองหนีออกทางหน้าต่างบานเดิมเพื่อรักษาชีวิตตนเองไว้ และบางคนเชื่อว่าเพื่อช่วยชีวิตของวิลลาร์ด ริชาร์ดส์กับจอห์น เทย์เลอร์ ขณะที่วิลลาร์ด ริชาร์ดส์เบนความสนใจของกลุ่มคนร้ายอยู่ที่ประตู ท่านศาสดาพยากรณ์ก็กระโจนไปยังหน้าต่างที่เปิดอยู่ ขณะทำเช่นนั้น ท่านถูกยิงกระหน่ำทั้งจากในคุกและนอกคุก ท่านตกจากหน้าต่างพลางร้องว่า “โอ้พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์!” และลงไปนอนแน่นิ่งบนพื้นด้านล่าง สมาชิกในกลุ่มคนร้ายที่อยู่ในคุกรีบออกมาด้านนอกเพื่อดูให้เแน่ใจว่าโจเซฟตายแล้ว แม้ไม่มีสมาชิกคนใดของศาสนจักรเดินทางไปคาร์เทจ แต่มีคนตะโกนว่า “พวกมอรมอนมาแล้ว!” และคนร้ายทั้งหมดหนีไป (ดู History of the Church, 6:618, 620–21; ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 298)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและสังเกตคำบรรยายชะตากรรมของจอห์น เทย์เลอร์กับวิลลาร์ด ริชาร์ดส์ บอกนักเรียนว่าวิลลาร์ด ริชาร์ดส์ถูกกระสุนเฉียดหูซ้ายเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามคำพยากรณ์ที่โจเซฟให้ไว้นานกว่าหนึ่งปีก่อนว่า “เวลาจะมาถึงเมื่อกระสุนปืนจะเฉียดไปมารอบตัวเขาเหมือนลูกเห็บ และเขาจะเห็นเพื่อนๆ ล้มทางขวาและทางซ้าย แต่ไม่มีรูกระสุนแม้แต่รูเดียวในเสื้อผ้าของเขา” (ใน History of the Church, 6:619)

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่ประโยคแรกของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:1และถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าวลี “ผนึกประจักษ์พยานของหนังสือเล่มนี้และพระคัมภีร์มอรมอน” หมายความว่าอย่างไร (อาจจะช่วยได้ถ้าอธิบายว่าในบริบทนี้ ผนึก คือทำให้ติดแน่น เช่น ประจักษ์พยาน)

ดูคำว่า มรณสักขี ใน ข้อ 1และถามว่า

  • มรณสักขีคืออะไร (คนที่ทนรับความตายเพื่อเป็นพยานถึงความจริงของความเชื่อหรืออุดมการณ์ของตน อธิบายว่า มรณสักขี มาจากคำว่า พยาน ในภาษากรีก [ดู Bible Dictionary, “Martyr”])

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:7โดยดูว่ามรณสักขีของโจเซฟกับไฮรัม สมิธเป็นพยานถึงอะไร

  • โดยผ่านการเสียชีวิตเป็นมรณสักขี โจเซฟกับไฮรัม สมิธผนึกพยานของพวกท่านถึงอะไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดอื่น แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: โจเซฟกับไฮรัม สมิธผนึกพยานของพวกท่านถึงความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูด้วยชีวิตพวกท่าน ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้และเขียนคำตอบลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ความรู้ของท่านเรื่องประจักษ์พยานของโจเซฟและไฮรัม สมิธและการที่พวกท่านยอมตายเพื่อความจริงจะมีอิทธิพลต่อประจักษ์พยานของท่านได้อย่างไร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบหากพวกเขายินดีทำเช่นนั้น สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ออกเดินทางไปคาร์เทจ

เอ็มมา สมิธเล่าความรู้สึกเมื่อโจเซฟสามีข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีกลับไปนอวูดังนี้ “ดิฉันรู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต” เธอกล่าว “และนับจากนั้นดิฉันคาดว่าเขาจะเสียชีวิต” (ใน Edmund C. Briggs, “A Visit to Nauvoo in 1856,” Journal of History, Oct. 1916, 454) เมื่อโจเซฟออกจากบ้านเดินทางไปคาร์เทจตอนเช้าตรู่วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1844 ท่านเหลียวมองเอ็มมาและพูดว่า “เอ็มมา คุณจะฝึกลูกชายผมให้เดินตามรอยเท้าพ่อของเขาได้ไหม” เอ็มมาตอบว่า “โอ้ โจเซฟ คุณต้องกลับมา” โจเซฟย้ำคำถามเดิมอีกสองครั้ง และเอ็มมาให้คำตอบเดิมทุกครั้ง (ใน “Edwin Rushton, Related by his Son,” in Hyrum L. Andrus and Helen Mae Andrus, They Knew the Prophet [1974], 171.) ณ เวลาของมรณสักขี เอ็มมาตั้งครรภ์สี่เดือน เธอกับโจเซฟมีลูกอีกสี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย คือ จูเลีย (13 ปี) ที่รับมาเป็นบุตรบุญธรรม โจเซฟที่สาม (11 ขวบ) เฟรเดอริค (8 ขวบ) และอเล็กซานเดอร์ (6 ขวบ)

ต่อจากนั้นโจเซฟไปปราศรัยกับฝูงชนที่มารวมตัวกันตอนเช้าตรู่นอกคฤหาสน์ ขณะปราศรัยอยู่นั้น บุตรชายของโจเซฟพากันดึงเสื้อผ้าของท่านและร้องว่า “พ่อครับ โอ พ่ออย่าไปคาร์เทจเลย พวกเขาจะฆ่าพ่อ” มารดาท่านถามว่าท่านสัญญาได้ไหมว่าจะกลับมา (แดน โจนส์, “The Martyrdom of Joseph and Hyrum Smith,” manuscript, Jan. 20, 1855, หอสมุดประวัติศาสนจักร ซอลท์เลคซิตี้) โจเซฟไม่ตอบเธอตรงๆ แต่พูดกับวิสุทธิชนที่มาชุมนุมกันว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ไปที่นั่น [ไปคาร์เทจ] ผลคือพวกเขาจะทำลายเมืองนี้และคนในเมืองนี้ และข้าพเจ้าไม่อาจทนเห็นพี่น้องชายหญิงที่รักของข้าพเจ้าและลูกๆ ของพวกเขาในนอวูทนทุกข์กับสภาพที่เคยเกิดขึ้นในมิสซูรีอีก ไม่ ให้โจเซฟพี่ชายของท่านตายเพื่อพี่น้องชายหญิงของเขาดีกว่า เพราะข้าพเจ้ายินดีตายเพื่อคนเหล่านั้น งานของข้าพเจ้าเสร็จแล้ว” (ใน แดน โจนส์, “The Martyrdom of Joseph Smith and His Brother, Hyrum!” trans., Ronald D. Dennis, in Ronald D. Dennis, “The Martyrdom of Joseph Smith and His Brother Hyrum,” BYU Studies, vol. 24, no. 1 [Winter 1984], 85; ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 292)

“หลังจากกอดลูกคนเล็กที่ยึดเสื้อผ้าของท่านไว้แน่น หลังจากกล่าวคำอำลาที่อ่อนโยนกับภรรยาผู้ที่ท่านรักอย่างยิ่งทั้งน้ำตา และหลังจากปลอบมารดาสูงวัยใจสะอาดบริสุทธิ์เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ท่านปราศรัยกับฝูงชนทั้งหมดด้วยความตั้งใจมากโดยชักชวนพวกเขาให้ซื่อสัตย์ในหนทางและต่อศาสนาที่ท่านเคยสอน” (ใน แดน โจนส์, “The Martyrdom of Joseph Smith and His Brother, Hyrum!” 85–86)

เมื่อโจเซฟควบม้าออกจากนอวูพร้อมผู้ร่วมทาง ท่านหยุดครู่หนึ่งตรงสถานที่ก่อสร้างพระวิหาร “มองดูสิ่งปลูกสร้างอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วมองเมือง และกล่าวว่า ‘นี่เป็นสถานที่น่าอยู่ที่สุดและคนดีที่สุดใต้ฟ้าสวรรค์ พวกเขาแทบไม่รู้ถึงการทดลองที่คอยท่าพวกเขา’” (History of the Church, 6:554; ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 292)