เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 152: การออกมาของพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า


บทที่ 152

การออกมาของพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า

คำนำ

คริสต์ศักราช 1851 เอ็ลเดอร์แฟรงคลิน ดี. ริชาร์ดส์สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองและประธานคณะเผยแผ่บริติชจัดพิมพ์การเปิดเผยหลายเรื่อง งานแปล ตลอดจนงานเขียนของโจเซฟ สมิธและเรียกงานชุดนี้ว่าไข่มุกอันล้ำค่า ระหว่างการประชุมใหญ่สามัญของศาสนจักรในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1880 ศาสนจักรยอมรับไข่มุกอันล้ำค่าเป็นพระคัมภีร์—ส่วนหนึ่งของงานมาตรฐาน “ไข่มุกอันล้ำค่าเป็นการเลือกสรรเนื้อหาสาระคุณภาพซึ่งสัมผัสด้านสำคัญ ๆ หลายด้านเกี่ยวกับศรัทธาและหลักคำสอนของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” (คำนำของพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

การออกมาของพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า

ให้ดูหรือวาด ภาพไข่มุก ถามนักเรียนว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าไข่มุกเกิดอย่างไร หากพวกเขาไม่รู้ ให้อธิบายว่าไข่มุกเกิดในหอยนางรมขณะที่หอยนางรมตอบสนองความระคายเคืองจากสิ่งแปลกปลอม เช่น เม็ดทราย หอยนางรมผลิตสารออกมาเคลือบเม็ดทรายซึ่งสุดท้ายกลายเป็นไข่มุก ไข่มุกตามธรรมชาติหายากและมีค่ามาก

ไข่มุกในเปลือกหอยนางรม

อธิบายว่าวันนี้นักเรียนจะเรียนเรื่องที่มาของพระคัมภีร์เล่มหนึ่งชื่อว่าไข่มุกอันล้ำค่า พวกเขาจะค้นพบเหตุผลบางประการที่ทำให้พระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่ามีค่า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าแรกใน คำนำของพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่อยู่ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า ก่อนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่า วารสาร หมายถึงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร—สิ่งพิมพ์ที่จัดจำหน่ายเป็นช่วงๆ เช่น รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน

  • ท่านคิดว่าพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าหายากและมีค่าในด้านใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง คำนำ ย่อหน้าที่สอง ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสาเหตุที่รวบรวมพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

สรุป คำนำ ย่อหน้าที่สามโดยอธิบายว่ามีการเพิ่มหรือย้ายเนื้อหาบางส่วนตั้งแต่พิมพ์พระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าครั้งแรก ศาสนจักรเพิ่มเนื้อหาบางส่วนและต่อมาย้ายไปไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าตั้งแต่วลี “งานที่เลือกสรรจากหนังสือของโมเสส” ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยในหนังสือนี้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหนังสือของโมเสสและหาอย่างน้อยหนึ่งข้อที่มีความจริงซึ่งพวกเขาเห็นว่ามีค่า หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันข้อเหล่านั้นกับคู่หรือกับนักเรียนทั้งชั้น

ขอให้ชั้นเรียนกลับไปดู คำนำของพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าที่เริ่มด้วยวลี “หนังสือของอับราฮัม” ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาว่าโจเซฟ สมิธได้รับงานเขียนในหนังสือของอับราฮัมอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เพื่อช่วยอธิบายว่าโจเซฟ สมิธได้รับงานเขียนโบราณในหนังสือของอับราฮัมอย่างไร ให้อ่านหรือเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้

“วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1835 ชายคนหนึ่งชื่อไมเคิล แชนด์เลอร์นำมัมมี่อียิปต์สี่ศพกับแผ่นหนังปาปิรุสหลายม้วนที่มีงานเขียนอียิปต์โบราณมาที่เมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ อันโตนิโอ เลโบโลค้นพบมัมมี่และปาปิรุสในอียิปต์เมื่อหลายปีก่อน เคิร์ทแลนด์เป็นหนึ่งในหลายๆ จุดทางภาคตะวันออกของสหรัฐที่ใช้จัดนิทรรศการมัมมี่ของแชนด์เลอร์ แชนด์เลอร์เสนอขายมัมมี่และหนังสือม้วนปาปิรุส สมาชิกหลายคนของศาสนจักรบริจาคเงินซื้อตามคำขอของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ในถ้อยแถลงวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1835 โจเซฟ สมิธประกาศความสำคัญของงานเขียนอียิปต์โบราณเหล่านี้โดยบันทึกว่า ‘ข้าพเจ้าเริ่มแปลอักขระหรืออักษรภาพอียิปต์โบราณ และยังความปีติใหญ่หลวงแก่ข้าพเจ้าเมื่อพบว่าม้วนหนึ่งในนั้นมีงานเขียนของอับราฮัม … เราพูดได้เลยว่าพระเจ้าทรงกำลังเริ่มเปิดเผยความสงบสุขและความจริงมากมาย (History of the Church, 2:236)” (ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2000], 30)

บางคนสงสัยว่าท่านศาสดาพยากรณ์แปลงานเขียนโบราณอย่างไร อธิบายว่า “ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธไม่เคยบอกวิธีที่ท่านแปลบันทึกเหล่านี้ ประจักษ์พยานถึงความจริงของงานเขียนเหล่านี้เช่นเดียวกับพระคัมภีร์อื่นทั้งหมดเป็นเรื่องของศรัทธาโดยพื้นฐาน หลักฐานสำคัญที่สุดที่ยืนยันความจริงของหนังสืออับราฮัมไม่ได้อยู่ในการวิเคราะห์หลักฐานทางกายภาพหรือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ แต่อยู่ในการพิจารณาเนื้อหาและพลังของหนังสือนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอน” (ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน, 30) แม้เราไม่รู้วิธีแน่ชัดที่โจเซฟ สมิธใช้แปลงานเขียน แต่เรารู้ว่าท่านแปลหนังสืออับราฮัมด้วยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

  • เหตุใดจึงต้องได้รับพยานทางวิญญาณยืนยันความจริงของหนังสืออับราฮัม

ไอคอนเอกสารแจกสำหรับช่วงต่อไปนี้ของบทเรียน ท่านอาจจะเชิญนักเรียนสองคนมาหน้าชั้นและแสดงบทบาทสมมติเป็นนักข่าวกำลังสัมภาษณ์นักวิชาการผู้ทุ่มเทศึกษาเนื้อหาและที่มาของหนังสือต่างๆ ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า ขอให้พวกเขาอ่าน บทที่ใช้ในการแสดงดังนี้

นักข่าว:ทำไมโจเซฟ สมิธบอกว่าท่านแปลงานเขียนของอับราฮัมทั้งที่ต้นฉบับไม่ได้ระบุวันเวลาจากสมัยของอับราฮัม

นักวิชาการ:ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธไม่เคยอ้างว่าปาปิรุสเป็นงานเขียนของอับราฮัม ท่านบอกว่าหนังสือของอับราฮัมเป็น “การแปลบันทึกโบราณบางฉบับจากสุสานใต้ดินของอียิปต์ซึ่งอ้างว่าเป็นงานเขียนของอับราฮัมและตกมาถึงมือเราขณะที่ท่านอยู่ในอียิปต์” (Times and Seasons, Mar. 1, 1842, 704)

“คริสต์ศักราช 1966 มีผู้ค้นพบปาปิรุสสิบเอ็ดส่วนที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเคยครอบครองในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโมโทรโพลิทันในนิวยอร์กซิตี้ ศาสนจักรได้รับมอบปาปิรุสเหล่านั้นและนักวิชาการวิเคราะห์และระบุระยะเวลาของปาปิรุสว่าอยู่ระหว่าง 100 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 100 สาเหตุทั่วไปของการคัดค้านความน่าเชื่อถือของหนังสือของอับราฮัมคือต้นฉบับไม่เก่าพอให้อับราฮัมเขียนเพราะท่านมีชีวิตอยู่ก่อนพระเยซูคริสต์เกือบ 2,000 ปี โจเซฟ สมิธไม่เคยอ้างว่า (อับราฮัมเอง) เป็นผู้เขียนปาปิรุสหรืออ้างว่าปาปิรุสมาจากสมัยของอับราฮัม โดยทั่วไปเรียกงานของผู้เขียนว่าเป็นงานเขียน ‘ของเขา’ ไม่ว่าเขาเขียนด้วยตนเอง ให้คนอื่นเขียนตามคำบอก หรือคนอื่นลอกงานเขียนของเขาในภายหลัง” (ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน, 30)

นักข่าว:โจเซฟ สมิธทำอะไรกับงานแปลของท่าน

นักวิชาการ:“หนังสือของอับราฮัมเดิมทีจัดพิมพ์ทีละสองสามตอนใน Times and Seasons ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของศาสนจักร เริ่มต้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1842 ที่เมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ (ดู [คำนำ] ตอนต้นพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า) ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธบอกว่าท่านจะจัดพิมพ์หนังสือของอับราฮัมเพิ่มภายหลัง แต่ท่านสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขีก่อนจะสามารถทำเช่นนั้นได้ เกี่ยวกับความยาวของงานที่แปลเสร็จแล้ว ออลิเวอร์ คาวเดอรีเคยพูดว่า จำเป็นต้องมีเป็น ‘ฉบับๆ’ ในนั้น (ดู Messenger and Advocate, Dec. 1835, 236)

“นอกจากงานเขียนที่เป็นอักษรภาพแล้วต้นฉบับยังมีภาพวาดชาวอิยิปต์ด้วย วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1842 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธขอให้รูเบ็น เฮดล็อคช่างแกะสลักไม้มืออาชีพและสมาชิกศาสนจักรเตรียมแม่พิมพ์ไม้สำหรับภาพวาดสามภาพในนั้นด้วยเพื่อท่านจะพิมพ์ภาพออกมาได้ เฮดล็อคแกะสลักเสร็จในหนึ่งสัปดาห์ และโจเซฟ สมิธจัดพิมพ์สำเนาพร้อมหนังสือของอับราฮัม คำอธิบายภาพวาดของโจเซฟ สมิธมาคู่กับสำเนา” (ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน, 30–31)

นักข่าว:เกิดอะไรขึ้นกับมัมมี่และปาปิรุส

นักวิชาการ:“หลังจากมรณกรรมของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ มัมมี่สี่ศพกับปาปิรุสกลายเป็นทรัพย์สินของลูซี แมค สมิธมารดาม่ายของโจเซฟ” (ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน, 31) หลังจากลูซี แมค สมิธสิ้นชีวิต ของชุดนั้นถูกขายให้ชายคนหนึ่งชื่อเอเบล คอมส์ เอ็มมาภรรยาของโจเซฟสมิธอาจเป็นผู้ขายหรือไม่ก็วิลเลียมน้องชายของท่าน นายคอมส์ขายบางส่วนให้พิพิธภัณฑ์ในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี เขาเก็บส่วนที่เหลือไว้และต่อมาจึงขายบางส่วนไป (ดู ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน, 31; H. Donl Peterson, The Story of the Book of Abraham: Mummies, Manuscripts, and Mormonism [1995], 204–209, 257)

“มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่เกิด … กับมัมมี่และปาปิรุส ดูเหมือนว่ามัมมี่อย่างน้อยสองศพถูกไฟไหม้ในอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่ชิคาโกปี 1871 (ดู B. H. Roberts, New Witnesses for God, 3 vols. [1909–11], 2:380–382)

“ต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1966 ดร. อาซิส เอส. อทิยาศาสตาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ [ทำให้ศาสนจักรสนใจปาปิรุสหลายส่วนของโจเซฟ สมิธที่อยู่] ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโมโทรโพลิทันในนิวยอร์กซิตี้ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มอบปาปิรุสเหล่านี้ให้ศาสนจักรเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1967 ปัจจุบันไม่ทราบว่ามัมมี่ศพอื่นและปาปิรุสส่วนอื่นอยู่ที่ใด [ดู H. Donl Peterson, “Some Joseph Smith Papyri Rediscovered (1967),” in Studies in Scripture, Volume Two: The Pearl of Great Price, ed. Robert L. Millett and Kent P. Jackson (1985), 183–85]” (ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน, 31)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหนังสืออับราฮัมและหาอย่างน้อยหนึ่งข้อที่พวกเขาคิดว่ามีค่า หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนแบ่งปันข้อเหล่านั้นกับคู่หรือกับนักเรียนทั้งชั้น

ขอให้นักเรียนกลับไปที่คำนำ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าที่เริ่มด้วยวลี “โจเซฟ สมิธ—มัทธิว” ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาว่าโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยนี้อย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าเหตุผลหนึ่งที่โจเซฟ สมิธ—มัทธิวมีค่าคือในนั้นประกอบด้วยคำอธิบายส่วนหนึ่งของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าที่เริ่มด้วยวลี “โจเซฟ สมิธ—ประวัติ” ขอให้ชั้นเรียนดูตามเพื่อหาว่าโจเซฟ สมิธเตรียมประวัตินี้เมื่อใด

ให้นักเรียนอ่านโจเซฟ สมิธ—ประวัติและหาข้อมูลอย่างน้อยหนึ่งข้อที่พวกเขาถือว่ามีค่า หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนแบ่งปันข้อเหล่านั้นกับคู่หรือกับนักเรียนทั้งชั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าเพื่อนคนหนึ่งขอให้พวกเขาอธิบายความเชื่อของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในสองนาที ขอให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าจะตอบอย่างไร หลังจากผ่านไปสองสามนาทีแล้ว ให้นักเรียนคู่หนึ่งอ่านสิ่งที่เขียนไว้

ชี้ให้เห็นว่า หลักแห่งความเชื่อ ให้บทสรุปที่ดีเกี่ยวกับความเชื่อของเรา เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจที่มาของหลักแห่งความเชื่อ ให้อธิบายว่าวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1842 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธตอบรับคำขอจากจอห์น เวนท์เวิร์ธบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ให้บอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวท่านรวมทั้งประวัติและความเชื่อของศาสนจักร เป็นที่รู้กันทั่วไปในชื่อว่าจดหมายเวนท์เวิร์ธ ในนั้น โจเซฟประกาศหลักธรรมพื้นฐาน 13 ข้อของพระกิตติคุณ ความเชื่อเหล่านี้รวมอยู่ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าเป็น หลักแห่งความเชื่อ ถึงแม้ไม่ใช่ถ้อยแถลงความเชื่อทั้งหมดของเรา แต่เป็นชุดหลักคำสอนและหลักธรรมที่สำคัญ

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ มอบหมายหลักแห่งความเชื่อให้อย่างน้อยคู่ละหนึ่งข้อ (ท่านอาจมอบหมายคู่ละหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นตามความต้องการของนักเรียนและขนาดของชั้นเรียน) ขอให้แต่ละคู่อ่านหลักแห่งความเชื่อที่มอบหมายและทำตามคำแนะนำด้านล่าง ท่านอาจต้องการทำสำเนาคำแนะนำเหล่านี้หรือเขียนไว้บนกระดาน นักเรียนอาจเขียนคำแนะนำเหล่านี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  1. หลังจากอ่านหลักแห่งความเชื่อที่มอบหมาย ให้เขียนหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่ข้อนั้นสอนด้วยคำพูดของท่านเอง

  2. หาข้อพระคัมภีร์ที่สนับสนุนหรืออธิบายหลักคำสอนหรือหลักธรรมในหลักแห่งความเชื่อที่มอบหมาย เขียนข้อคิดที่พระคัมภีร์เพิ่มความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

  3. เขียนด้านต่างๆ ที่การเข้าใจและเชื่อหลักแห่งความเชื่อข้อนี้จะนำพรมาสู่ชีวิตคนบางคน

หลังจากนักเรียนมีเวลาทำงานมอบหมายพอสมควรแล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่เขียนไว้ ท่านอาจต้องการเขียนความจริงที่พวกเขาระบุไว้บนกระดาน

เชื้อเชิญให้นักเรียน แบ่งปันประสบการณ์ ที่เคยมีเมื่อ หลักแห่งความเชื่อ หรือความจริงที่อยู่ในนั้นช่วยให้พวกเขาอธิบายพระกิตติคุณกับคนบางคน ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเช่นกัน

ท้าทายให้นักเรียนศึกษาและท่องจำ หลักแห่งความเชื่อ ท่านอาจจะใช้กิจกรรมท่องจำที่พบในภาคผนวกของคู่มือเล่มนี้เพื่อช่วยนักเรียนทั้งชั้นท่องจำหลักแห่งความเชื่อหนึ่งข้อ กระตุ้นให้นักเรียนใช้ความรู้เรื่อง หลักแห่งความเชื่อ ขณะพวกเขาอธิบายความเชื่อของตนให้ผู้อื่นฟัง

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าเป็นหลักฐานยืนยันว่าโจเซฟ สมิธเป็น …

ช่วยนักเรียนเติมข้อความโดยถามคำถามต่อไปนี้

  • การมีความจริงอันล้ำค่าอยู่ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าสอนอะไรเราเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ (เติมความจริงบนกระดานดังนี้: พระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าเป็นหลักฐานยืนยันว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย)

  • ท่านคิดว่าพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าเป็นหลักฐานยืนยันการเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ของโจเซฟ สมิธในด้านใด

เป็นพยานว่าพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าเป็นหลักฐานยืนยันว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย พระคัมภีร์เล่มนี้สอนความจริงอันทรงคุณค่าแก่เราเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หนังสือของอับราฮัม: หลักฐานยืนยันการเรียกของโจเซฟ สมิธ

“หนังสือของอับราฮัมเป็นหลักฐานยืนยันการเรียกศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธด้วยการดลใจ หนังสือนี้ออกมาเมื่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมอียิปต์โบราณเพิ่งเริ่มขึ้น นักวิชาการของทศวรรษ 1800 เริ่มสำรวจสาขาอียิปต์วิทยา แต่โจเซฟเริ่มแปลต้นฉบับโบราณโดยไม่ได้รับการอบรมอย่างเป็นการในด้านภาษาโบราณและไม่มีความรู้ใดๆ เรื่องอียิปต์โบราณ (ยกเว้นงานของท่านกับพระคัมภีร์มอรมอน) ความรู้และความสามารถของท่านผ่านมาทางเดชานุภาพและของประทานของพระผู้เป็นเจ้า พร้อมด้วยความตั้งใจแน่วแน่และศรัทธาของท่าน” (ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2000], 31)

หลักแห่งความเชื่อและจดหมายเวนท์เวิร์ธ

โจเซฟ สมิธเขียนจดหมายถึงจอห์น เวนท์เวิร์ธบรรณาธิการและเจ้าของ Chicago Democrat ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อิลลินอยส์ ในจดหมายศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้เรื่องราวของหลักคำสอนและประวัติของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย หลักแห่งความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายนั้น ดูเนื้อความของจดหมายทั้งฉบับได้ที่ “The Wentworth Letter,” Ensign, July 2002, 26–32.