บทที่ 67
หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:1–21
คำนำ
ในฤดูร้อน ค.ศ. 1831 โจเซฟ สมิธกำลังควบคุมดูแลการอุทิศแผ่นดินที่วิสุทธิชนต้องสร้างไซอันในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี ระหว่างท่านศาสดาพยากรณ์ไม่อยู่ สมาชิกศาสนจักรบางคนในโอไฮโอหันหลังให้พระบัญญัติของพระเจ้าและทำบาปร้ายแรง ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกลับไปเคิร์ทแลนด์วันที่ 27 สิงหาคม และวันที่ 30 สิงหาคมท่านได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63 บทนี้ครอบคลุมส่วนหนึ่งของการเปิดเผยนั้นซึ่งพระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนเกี่ยวกับผลของความชั่วร้ายและการกบฏ
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:1–6
พระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนเกี่ยวกับผลของความชั่วร้ายและการกบฏ
เชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งถามคำถามต่อไปนี้ ขอให้นักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาจะตอบอย่างไร
-
ทำไมคุณทำตามคำสอนของศาสนจักรแทนที่จะสนุกสนาน
หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้ถามดังนี้
-
ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องดำเนินชีวิตตามความเชื่อของเรา
อธิบายว่าในฤดูร้อนปี 1831 ขณะโจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นอยู่ในมิสซูรีเพื่ออุทิศแผ่นดินและที่ตั้งพระวิหารในไซอัน สมาชิกศาสนจักรบางคนในโอไฮโอแอบทำบาปร้ายแรง หลังจากท่านศาสดาพยากรณ์กลับไปโอไฮโอ ท่านได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:1 และขอให้ชั้นเรียนระบุว่าพระเจ้าทรงเรียกสมาชิกศาสนจักรในข้อนี้ว่าอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
-
การเรียก ตัวเราเป็นผู้คนของพระเจ้าจะต่างจาก การเป็น ผู้คนของพระเจ้าได้อย่างไร
ขอให้นักเรียนอ่าน ข้อ 1 อีกครั้งและมองหาพระบัญชาของพระเจ้าต่อคนที่เรียกตนเองเป็นผู้คนของพระองค์
-
พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำอะไรในฐานะผู้คนของพระองค์ (สรุปคำตอบของนักเรียนโดยเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ในฐานะผู้คนของพระเจ้า เราต้องเปิดใจฟังพระคำและพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรา)
-
ท่านคิดว่าเปิดใจเราหมายความว่าอย่างไร
-
การเปิดใจเราเตรียมเราให้ได้ยินสุรเสียงของพระเจ้าอย่างไร
-
ท่านทำอะไรที่ช่วยให้ท่านเปิดใจ
เชื้อเชิญให้นักเรียน เปิดใจของพวกเขา รับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ระหว่างบทเรียนนี้ ท่านอาจจะเสนอแนะให้พวกเขาจดความประทับใจหรือการกระตุ้นเตือนที่ได้รับจากพระวิญญาณ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:2, 6 ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่าใน ข้อ 6 วลี “วันแห่งพระพิโรธ” หมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ เวลาที่ผู้ไม่กลับใจจากบาปของพวกเขาจะได้รับผลจากการเลือกของตน ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับคนชั่วร้ายและคนกบฏ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาค้นพบ
หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:7–21
พระเจ้าทรงเตือนให้ระวังการแสวงหาเครื่องหมายและความชั่วร้าย
ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:6 ชี้ให้เห็นพระบัญชา “ให้คนที่ไม่เชื่อเม้มริมฝีปากของพวกเขาไว้” อธิบายว่า ณ เวลานี้ สมาชิกศาสนจักรบางคนเลิกเชื่อความจริงของศาสนจักรและพูดต่อต้านโจเซฟ สมิธตลอดจนผู้นำศาสนจักรท่านอื่นอย่างเปิดเผย (ดู History of the Church, 1:216–217) คนหนึ่งที่พูดวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรมากที่สุดชื่อเอซรา บูธ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสองย่อหน้าต่อไปนี้เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ชักนำให้เอซรา บูธเข้าร่วมศาสนจักร
เอซรา บูธเป็นบาทหลวงนิกายเมโธดิสต์ในโอไฮโอ เขาสนใจการฟื้นฟูเมื่อต้นปี ค.ศ. 1831 หลังจากอ่านพระคัมภีร์มอรมอน เขาเดินทางไปเคิร์ทแลนด์กับจอห์นและอลิซ จอห์นสันเพื่อพบท่านศาสดาพยากรณ์ นางจอห์นสันเป็นโรคไขข้ออักเสบซึ่งทำให้แขนเธอปวด บวม และข้อติด ขณะที่เธอพบโจเซฟ สมิธครั้งแรก เธอไม่สามารถยกมือขึ้นมาจับศีรษะตนเองได้ราวสองปีแล้ว
“ระหว่างการพูดคุย การสนทนาเปลี่ยนเป็นเรื่องของประทานเหนือธรรมชาติ เช่นที่ประสาทให้ในสมัยของอัครสาวก มึคนหนึ่งพูดว่า ‘นางจอห์นสันคนนี้มีแขนข้างหนึ่งใช้การไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้าประทานอำนาจให้มนุษย์บนแผ่นดินโลกเวลานี้รักษาเธอไหมครับ’ ครู่ต่อมา เมื่อการสนทนาเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง [โจเซฟ] สมิธลุกขึ้น เดินลัดห้องมาจับมือนางจอห์นสัน ท่านพูดด้วยท่าทีน่าเกรงขามและน่าประทับใจที่สุดว่า ‘หญิงเอ๋ย ในพระนามของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าสั่งท่านให้หายเป็นปกติ’ จากนั้นท่านออกจากห้องอย่างรวดเร็ว … นางจอห์นสันยก [แขน] ได้อย่างคล่องแคล่วทันที และเมื่อกลับบ้านวันรุ่งขึ้นเธอสามารถทำงานซักล้างได้โดยไม่มีปัญหาหรือความเจ็บปวด” (ใน History of the Church, 1:215–216)
-
ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรหากท่านเห็นปาฏิหาริย์เช่นนี้
อธิบายว่าไม่นานหลังจากเอซรา บูธเห็นปาฏิหาริย์ครั้งนี้ เขารับบัพติศมา
เขียนวลีต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เครื่องหมายและศรัทธา
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:7–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเครื่องหมายและศรัทธา
-
เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับเครื่องหมายและศรัทธา (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงเน้นความจริงต่อไปนี้: ศรัทธามิได้มาโดยเครื่องหมาย เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานใต้ เครื่องหมายและศรัทธา)
-
ในพระคัมภีร์มีตัวอย่างอะไรบ้างของคนที่เห็นเครื่องหมายหรือปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่แต่ไม่แสดงศรัทธาอันยั่งยืนและความชอบธรรม (ตัวอย่างอาจได้แก่ ลูกหลานของอิสราเอล [ดู กันดารวิถี 14:22–23] และเลมันกับเลมิวเอล [ดู 1 นีไฟ 17:43–45])
อธิบายว่าเอซรา บูธเป็นตัวอย่างของคนที่เชื่อถือเครื่องหมายมากกว่าศรัทธา หลังจากเขารับบัพติศมา เขาได้รับฐานะปุโรหิตและถูกส่งไปเป็นผู้สอนศาสนาที่มิสซูรี เห็นชัดว่าบูธเริ่มงานเผยแผ่ครั้งนี้ด้วยความคาดหวังอย่างมาก โดยคิดเอาเองว่าเขาจะทำให้หลายคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสได้โดยแสดงเครื่องหมายและปาฏิหาริย์ แต่หลังจากสั่งสอนได้ไม่นานและไม่เห็นผลที่เขาคาดหวัง บูธ “หันหลัง” และละทิ้งความเชื่อ (ดู History of the Church, 1:216) ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเอซรา บูธดังนี้
“เขาผิดหวังเมื่อเขาเรียนรู้จริงๆ ว่าศรัทธา ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอดทน และความยากลำบากมาก่อนพร พระผู้เป็นเจ้าทรงอ่อนน้อมก่อนจะทรงสูงส่ง แทนที่ ‘พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงมีอำนาจลงทัณฑ์มนุษย์และทำให้พวกเขาเชื่อ’ ” (in History of the Church, 1:216)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:10–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาความจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องหมายและศรัทธา
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10เครื่องหมายมาได้อย่างไร (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: เครื่องหมายมาโดยศรัทธา ตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เพิ่มความจริงนี้ไว้บนกระดานใต้ เครื่องหมายและศรัทธา)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงได้รับเครื่องหมายหลังจากเราใช้ศรัทธา
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 อะไรเป็นเหตุผลสมควรให้แสวงหาเครื่องหมาย (“เพื่อความดีของมนุษย์อันนำไปสู่รัศมีภาพ [ของพระผู้เป็นเจ้า] ”—หมายถึงช่วยคนอื่นๆ และทำให้งานของพระเจ้าก้าวหน้า)
ชี้ให้เห็นว่าเครื่องหมายและการอันน่าพิศวงไม่น่าตื่นตาตื่นใจเสมอไป บ่อยครั้งเราอาจได้รับเครื่องหมายหรือพยานยืนยันความจริงของพระกิตติคุณอย่างเงียบๆ เป็นส่วนตัวขณะที่เราใช้ศรัทธาของเรา
-
เราจะใช้ศรัทธาเพื่อให้ได้รับพยานของพระกิตติคุณได้อย่างไร (ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน คำตอบอาจรวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ การอดอาหาร การรับใช้ และการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณ)
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่มีกับการได้รับพยานยืนยันความจริงของพระกิตติคุณโดยใช้ศรัทธาในด้านหนึ่งด้านใดเหล่านี้
เตือนความจำของนักเรียนว่านอกจากแสวงหาเครื่องหมายแล้ว สมาชิกศาสนจักรบางคนในโอไฮโอ “หันหลังให้บัญญัติ” (คพ. 63:13) และกำลังทำบาปร้ายแรงด้วย ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:14–19 ในใจและระบุบาปบางอย่างที่สมาชิกศาสนจักรทำ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าผู้ผิดประเวณีคือคนที่มีส่วนในบาปทางเพศ นักวิทยาคมคือคนที่มีส่วนในกิจกรรมที่เชื้อเชิญอิทธิพลของวิญญาณชั่ว)
-
สังเกตพระดำรัสเตือนของพระเจ้าเกี่ยวกับตัณหาราคะใน ข้อ 16 มองดูหญิงด้วยตัณหาราคะในนางหมายความว่าอย่างไร (ตัณหาราคะหมายถึง “การมีความปรารถนาแรงกล้าในบางสิ่งบางอย่าง [หรือบางคน] โดยไม่เหมาะสม” [คู่มือพระคัมภีร์, “ตัณหาราคะ” scriptures.lds.org] การมองผู้อื่นด้วยตัณหาราคะหมายถึงมองดูร่างกายของคนนั้นอย่างไม่สมควรหรือในลักษณะที่ปลุกเร้าความรู้สึกทางเพศ ซึ่งรวมถึงการดูสื่อลามกด้วย)
-
ท่านเห็นหลักธรรมอะไรในพระดำรัสเตือนจากพระเจ้าใน ข้อ 16 (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามองดูผู้อื่นด้วยตัณหาราคะ เราจะไม่มีพระวิญญาณและเราปฏิเสธศรัทธา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำที่สอนหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการเกิดตัณหาราคะในอีกคนหนึ่งทำให้คนนั้นสูญเสียพระวิญญาณ
-
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเอาชนะการล่อลวงให้เกิดตัณหาราคะในผู้อื่น
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องการหลีกเลี่ยงตัณหาราคะ ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“อันดับแรก เริ่มโดยแยกตัวเราจากผู้คน เนื้อหาข้อมูล และสภาวการณ์ที่จะเป็นภัยต่อท่าน …
“… ถ้ารายการโทรทัศน์หยาบโลนไม่เหมาะสม จงปิดโทรทัศน์ ถ้าภาพยนตร์หยาบคาย จงเดินออกไป ถ้ากำลังพัฒนาความสัมพันธ์ไม่เหมาะสม จงตัดขาดความสัมพันธ์นั้น อิทธิพลมากมายเหล่านี้อย่างน้อยในตอนแรกอาจดูไม่ชั่วร้าย แต่สามารถทำให้วิจารณญาณของเราไม่เฉียบคม ทำให้จิตวิญญาณของเรามัวหมอง และนำไปสู่สิ่งที่อาจเป็นความชั่วร้าย …
“นำภาพแห่งความหวังและความทรงจำอันเปี่ยมปีติเข้ามาแทนความคิดหมกมุ่นในเรื่องเพศ นึกถึงหน้าคนที่ท่านรัก และใจพวกเขาจะแหลกสลายเพียงใดถ้าท่านทำให้พวกเขาผิดหวัง … ไม่ว่าท่านจะคิดอะไร พึงแน่ใจว่าความคิดเหล่านั้นเข้ามาในใจท่านโดยการเชื้อเชิญเท่านั้น
ปลูกฝังและอยู่ในที่ซึ่งพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ จงแน่ใจว่าสถานที่เหล่านั้นรวมถึงบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ของท่าน โดยควบคุมประเภทของงานศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมที่ท่านเก็บไว้ที่นั่น” (“ไม่มีที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 56, 57)
ชี้ให้ดูหลักธรรมข้อแรกที่ท่านเขียนไว้บนกระดานเมื่อเริ่มชั้นเรียน: ในฐานะผู้คนของพระเจ้า เราต้องเปิดใจฟังพระคำและพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรา เชื้อเชิญให้นักเรียนตรึกตรองว่าใจพวกเขาเปิดรับการกระตุ้นเตือนหรือความประทับใจระหว่างศึกษาพระคัมภีร์วันนี้หรือไม่ กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนและความประทับใจที่ได้รับจากพระเจ้า เป็นพยานว่าเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้นพวกเขาจะเป็นผู้คนของพระเจ้า