เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 64: หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:34–65


บทที่ 64

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:34–65

คำนำ

เพื่อตอบคำถามของเหล่าเอ็ลเดอร์เกี่ยวกับวิธีสร้างนครแห่งไซอัน พระเจ้าจึงประทานการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 58 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1831 ข้อ 34–65 ประกอบด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายสำหรับคนที่ย้ายมาไซอัน ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงสอนหลักธรรมแห่งการกลับใจ ทรงบัญชาเหล่าเอ็ลเดอร์ให้สั่งสอนพระกิตติคุณ และทรงแนะนำพวกเขาเกี่ยวกับวิธีสร้างไซอันด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ในบทก่อน ท่านเชื้อเชิญให้นักเรียนใช้สิทธิ์เสรีทำสิ่งดีก่อนชั้นเรียนวันนี้ ติดตามผลการเชื้อเชิญดังกล่าวโดยขอให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ของการเลือก “ทำงานอย่างทุ่มเท” (คพ. 58:27) ในการทำดี

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:34–43

พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับไซอันและทรงสอนหลักธรรมแห่งการกลับใจ

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามไว้บนกระดานดังนี้ กลับใจหมายถึงอะไร

ขอให้นักเรียนสองสามคนตอบคำถามนี้ จากนั้นให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันกลับใจโดยสมบูรณ์หรือไม่ ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงให้อภัยบาปของฉันแล้ว

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำถามเหล่านี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ขอให้พวกเขาใช้เวลาสองสามนาทีเขียนคำตอบของคำถามแต่ละข้อ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว บอกพวกเขาว่าพวกเขาจะมีโอกาสกลับมาที่คำตอบของพวกเขาอีกครั้งในบทเรียนช่วงหลัง

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:34–37 โดยอธิบายว่าเอ็ลเดอร์หลายคนที่เดินทางไปมิสซูรีและจะอยู่ที่นั่นต้องการรู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรเพื่อวางแผน จัดระเบียบ และสร้างนครแห่งไซอัน พระเจ้าทรงแนะนำคนที่ย้ายไปมิสซูรีให้สละเงินและทรัพย์สินเพื่ออุดมการณ์แห่งการเสริมสร้างไซอัน มาร์ติน แฮร์ริสได้รับคำแนะนำให้เป็นแบบอย่างในการมอบเงินให้อธิการ เขาบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อช่วยอธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจซื้อที่ดินให้ศาสนจักร

เขียนชื่อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: มาร์ติน แฮร์ริส, วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส และ ซีบา พีเตอร์สัน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:38–41, 60 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่มาร์ติน แฮร์ริส, วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส และซีบา พีเตอร์สันขณะพวกเขาเตรียมสร้างไซอัน

ขณะนักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้ใต้ชื่อที่เหมาะสมบนกระดาน

  • พระเจ้าตรัสว่ามาร์ติน แฮร์ริสทำบาปอะไร พระเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำอะไร

  • พระเจ้าตรัสว่าวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สทำบาปอะไร พระเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำอะไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “หมายมั่นจะลำพอง” [ข้อ 41] ไม่ได้หมายถึงทำดีที่สุดหรือพยายามปรับปรุง แต่วลีนี้กล่าวถึงความปรารถนาที่เต็มไปด้วยความจองหองและไม่ชอบธรรมเพื่อให้ดูดีกว่าหรือสำคัญกว่าคนอื่นๆ)

  • ซีบา พีเตอร์สันกำลังพยายามทำอะไรกับบาปของเขา

ชี้ให้เห็นว่าบาปของคนเหล่านี้ส่อเค้าว่าจะขัดขวางไม่ให้พวกเขาช่วยสร้างไซอัน

  • มีวิธีใดบ้างที่บาปของเราอาจจำกัดความสามารถของเราในการรับใช้พระเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:42 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าทรงสอนอะไรเกี่ยวกับการกลับใจ

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พระเจ้าทรงสัญญาอะไรหากเรากลับใจจากบาปของเรา (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรากลับใจจากบาปของเรา พระเจ้าจะทรงให้อภัยและไม่จำบาปของเราอีก เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำที่สอนหลักธรรมนี้ใน ข้อ 42)

  • สัญญานี้ประยุกต์ใช้กับบาปใดของเรา (บาปทั้งหมด)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังคำหรือวลีที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดาน

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ไม่ว่าการล่วงละเมิดนั้นจะเป็นอะไร และไม่ว่าการกระทำของเราจะทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดเพียงใด ความผิดนั้นจะถูกขจัดออกไป สำหรับข้าพเจ้าแล้วข้อความไพเราะที่สุดในพระคัมภีร์ทั้งหมดคือเมื่อพระเจ้าตรัสว่า ‘ดูเถิด, คนที่กลับใจจากบาปของเขา, คนคนนั้นได้รับการให้อภัย, และเรา, พระเจ้า, ไม่จำมันอีก’ [คพ. 58:42]

“นั่นคือคำสัญญาของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และการชดใช้” (“การชดใช้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 77)

ให้นักเรียนดูคำถามที่เขียนไว้บนกระดาน

  • คำสัญญาของพระเจ้าใน ข้อ 42 ช่วยตอบคำถามข้อสามอย่างไร: ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงให้อภัยบาปของฉันแล้ว (คำสัญญาของพระเจ้าช่วยให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงให้อภัยเสมอเมื่อเรากลับใจโดยสมบูรณ์)

  • นอกจากจะรู้ว่าพระเจ้าทรงสัญญาจะให้อภัยเมื่อเรากลับใจโดยสมบูรณ์แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรอีกว่าเราได้รับการให้อภัย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้นักเรียนฟังว่าพวกเขาจะรู้ได้อย่างไรเมื่อพระเจ้าทรงให้อภัยบาปของพวกเขาแล้ว

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“เมื่อเรากลับใจอย่างแท้จริง พระคริสต์จะทรงนำเอาภาระความผิดบาปของเราออกไป เราจะรู้ด้วยตนเองว่าพระองค์ทรงให้อภัยและทำให้เราสะอาด พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงยืนยันสิ่งนี้กับเราเพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงชำระให้บริสุทธิ์ ไม่มีประจักษ์พยานแห่งการให้อภัยใดจะยิ่งใหญ่เกินกว่านี้” (“จุดกลับที่ปลอดภัย” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 125)

  • การรู้ว่าท่านสามารถได้รับการให้อภัยบาปทั้งหมดเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าบางคนเข้าใจผิดคิดว่าหากพวกเขายังจำบาปของตนเองได้แสดงว่าพวกเขายังไม่ได้กลับใจโดยสมบูรณ์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคดอร์ฟ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเหตุใดเราจึงอาจจะจำบาปของเราได้แม้หลังจากเรากลับใจแล้ว

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ซาตานจะพยายามทำให้เราเชื่อว่าพระเจ้าไม่ทรงให้อภัยบาปของเราเพราะ เรา จำบาปได้ ซาตานเป็นผู้กล่าวเท็จ เขาพยายามบดบังวิสัยทัศน์ของเราและนำเราออกจากหนทางแห่งการกลับใจและการให้อภัย พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงสัญญาว่า เรา จะจำบาปของเราไม่ได้ การจำจะช่วยเราหลีกเลี่ยงการทำความผิดพลาดเหมือนเดิมอีก แต่ถ้าเราแน่วแน่และซื่อสัตย์ ความจำเรื่องบาปของเราจะเลือนไปตามกาลเวลา นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาและการชำระให้บริสุทธิ์ที่ต้องเกิดขึ้น” (“จุดกลับที่ปลอดภัย,” 126)

ชี้ให้เห็นว่าสัญญาที่เขียนไว้บนกระดานมีเงื่อนไข เราจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าต่อเมื่อเราทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อกลับใจจากบาปของเราโดยสมบูรณ์

  • กลับใจหมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนกลับไปดูคำตอบของคำถามที่เขียนไว้บนกระดาน)

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากจุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งเพิ่มเติมที่พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหมายของการกลับใจ

“การกลับใจเป็นมากกว่าการเพียงแต่ยอมรับว่าท่านทำผิด การกลับใจคือการเปลี่ยนแปลงความคิดและใจ รวมถึงการหันหลังให้บาปและการหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขออภัย ความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์อย่างจริงใจผลักดันให้เกิดการกลับใจ” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 28)

อธิบายว่าการกลับใจจริงมีข้อกำหนดหลายข้อ สองข้อในนั้นกล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อนั้น ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาข้อกำหนดสองข้อที่เราต้องทำเพื่อกลับใจจากบาปของเราโดยสมบูรณ์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 43 ข้อกำหนดสองข้อที่เราต้องทำเพื่อกลับใจจากบาปของเราโดยสมบูรณ์คืออะไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เพื่อกลับใจ เราต้องสารภาพและละทิ้งบาปของเรา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ความจริงนี้ช่วยเราตอบคำถามข้อนี้อย่างไร: ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันกลับใจโดยสมบูรณ์ (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการสารภาพและการละทิ้งบาปจำเป็นต่อการกลับใจโดยสมบูรณ์)

  • การสารภาพบาปหมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าการสารภาพบาปหมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“การสารภาพและการละทิ้งเป็นกฎเกณฑ์ที่มีพลัง เป็นยิ่งกว่าการพูดแบบขอไปทีว่า ‘ฉันยอมรับผิด ฉันเสียใจ’ การสารภาพบาปเป็นการยอมรับจากส่วนลึกและบางครั้งด้วยความเจ็บปวดว่าเราผิดพลาดและทำผิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์” (“ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 50)

  • การสารภาพบาปของเราช่วยเราหันหลังให้บาปและหันมาหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขออภัยอย่างไร

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องนี้ นักเรียนอาจสงสัยว่าต้องสารภาพบาปอะไรบ้างและกับใคร อธิบายว่าเราต้องสารภาพบาปทั้งหมดต่อพระบิดาบนสวรรค์ การล่วงละเมิดร้ายแรง เช่นการล่วงละเมิดทางเพศหรือการใช้สื่อลามก ควรสารภาพต่ออธิการหรือประธานสาขาเช่นกัน

ให้นักเรียนดูความจริงข้อสุดท้ายที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน

  • การละทิ้งบาปของเราหมายความว่าอย่างไร (หันหลังให้บาปและหยุดทำบาปโดยสิ้นเชิง)

เป็นพยานถึงการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดตลอดจนหลักธรรมเรื่องการกลับใจและการให้อภัยที่ท่านสนทนาไปแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่ามีบาปที่พวกเขาต้องกลับใจหรือไม่ และกระตุ้นให้พวกเขากลับใจโดยปฏิบัติตามความจริงที่พวกเขาได้เรียนรู้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:44–65

พระเจ้าทรงบัญชาให้เหล่าเอ็ลเดอร์สั่งสอนพระกิตติคุณและทรงแนะนำพวกเขาเกี่ยวกับวิธีสร้างไซอัน

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:49–62 โดยอธิบายว่าพระเจ้ารับสั่งกับเอ็ลเดอร์ที่ต้องอยู่ในมิสซูรีว่าพวกเขาควรซื้อที่ดินและเตรียมรับการรวมวิสุทธิชนในมิสซูรี

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:46–47, 63–65 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เหล่าเอ็ลเดอร์ที่ต้องกลับไปโอไฮโอ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 46–47เหล่าเอ็ลเดอร์ควรจะทำอะไรขณะพวกเขากลับไปโอไฮโอ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 64ต้องสั่งสอนพระกิตติคุณให้ใคร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้: ต้องสั่งสอนพระกิตติคุณให้ทุกคน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายถ้อยคำที่สอนความจริงนี้ใน ข้อ 64)

กระตุ้นให้นักเรียนทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณให้แบ่งปันความจริงของพระกิตติคุณกับคนรอบข้าง

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:39 “กลับใจ”

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าการกลับใจเป็นมากกว่ารายการตรวจสอบสิ่งที่ต้องทำ

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“การพยายามสร้างขั้นตอนการกลับใจที่เฉพาะเจาะจงอาจเป็นประโยชน์กับบางคน แต่อาจนำไปสู่วิธีกลับใจตามขั้นตอนแบบเครื่องจักรโดยปราศจากความรู้สึกหรือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การกลับใจจริงไม่ใช่เรื่องผิวเผิน พระเจ้าประทานข้อเรียกร้องอันสำคัญยิ่งสองประการ คือ “โดยสิ่งนี้เจ้าจะรู้ว่าถ้าคนกลับใจจากบาปของเขา—ดูเถิด, เขาจะสารภาพและละทิ้งมัน’ (คพ. 58:43)” (“ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 50)

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายของการกลับใจดังนี้

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“หลักคำสอนเรื่องการกลับใจกว้างกว่านิยามในพจนานุกรมมาก เมื่อพระเยซูตรัสว่า ‘กลับใจ’ สานุศิษย์ของพระองค์บันทึกพระบัญชานั้นเป็นภาษากรีกโดยใช้คำกริยาว่า metanoeo คำอันทรงพลังนี้มีความสำคัญยิ่ง ในคำนี้ meta ที่อยู่ข้างหน้าหมายถึง ‘เปลี่ยน’ คำตามหลังเกี่ยวข้องกับคำสำคัญสี่คำในภาษากรีก ได้แก่ nous หมายถึง ‘ความนึกคิด’; gnosis, หมายถึง ‘ความรู้’; pneuma, หมายถึง ‘วิญญาณ’; และ pnoe, หมายถึง ‘ลมหายใจ’

“ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเยซูตรัสว่า ‘กลับใจ’ พระองค์ทรงขอให้เราเปลี่ยน—เปลี่ยนความนึกคิด ความรู้ และวิญญาณ—แม้แต่ลมหายใจของเรา ศาสดาพยากรณ์ท่านหนึ่งอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงในลมหายใจคือหายใจด้วยความสำนึกคุณต่อพระองค์ผู้ประทานลมหายใจแต่ละเฮือก กษัตริย์เบ็นจามินกล่าวว่า ‘หากท่านจะรับใช้พระองค์ผู้ทรงสร้างท่านมาตั้งแต่ต้น, และทรงปกปักรักษาท่านวันแล้ววันเล่า, โดยทรงให้ท่านยืมลมหายใจ … ครั้งแล้วครั้งเล่า—ข้าพเจ้ากล่าวว่า, หากท่านจะรับใช้พระองค์ด้วยจิตวิญญาณทั้งดวงของท่านแล้วท่านก็จะยังเป็นผู้รับใช้ที่ไม่สมค่า.’ [โมไซยาห์ 2:21]

“ใช่เล้ว พระเจ้าทรงบัญชาให้เรากลับใจ เปลี่ยนวิถีของเรา มาหาพระองค์ และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น [ดู 3 นีไฟ 27:21, 27] ทั้งหมดนี้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง” (“การกลับใจและการเปลี่ยนใจเลื่อมใส,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 129)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:42 “ไม่จำมันอีก”

เอ็ลเดอร์เอฟ. เบอร์ตัน ฮาเวิร์ดแห่งสาวกเจ็ดสิบแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งท่านได้เรียนรู้ว่าหลังจากการกลับใจ พระเจ้าไม่ทรงจำบาปของเราอีก

เอ็ลเดอร์เอฟ. เบอร์ตัน ฮาเวิร์ด

“เรื่องสุดท้าย—อีกครั้งจากสมัยข้าพเจ้าเป็นอธิการ คืนหนึ่งขณะข้าพเจ้าหลับสนิท เสียงกระดิ่งประตูดัง ข้าพเจ้าเดินสะลึมสะลือไปเปิดประตูและพบสมาชิกวัยหนุ่มคนหนึ่งในโควรัมปุโรหิตของข้าพเจ้าอยู่ที่ประตู ข้าพเจ้ารู้จักเขาดี ดีพอที่จะออกไปเที่ยวกับเขา สวดอ้อนวอนกับเขาและเกี่ยวกับเขา และสอนเขา ข้าพเจ้ารู้จักเขาดีเท่าๆ กับอธิการที่ดีคนหนึ่งรู้จักปุโรหิตวัยสิบแปดปีที่แข็งขันคนอื่น ดีพอที่ข้าพเจ้าจะถามว่าเขามาทำอะไรอยู่หน้าบ้านข้าพเจ้ากลางดึกอย่างนี้

“เขาตอบว่า ‘ผมต้องคุยกับคุณครับ อธิการ ผมเพิ่งทำผิดร้ายแรงบางอย่าง และผมกลับบ้านไม่ได้’

“เขาพูดถูก ผิดร้ายแรง ข้าพเจ้าเชิญเขาเข้าบ้าน และเราคุยกัน เขาพูดและข้าพเจ้าฟัง จากนั้นข้าพเจ้าพูดและเขาฟัง จนรุ่งเช้า เขามีคำถามมากมาย เขาทำบาปร้ายแรง เขาต้องการรู้ว่ามีความหวังหรือไม่ เขาต้องการรู้วิธีกลับใจ เขาต้องการรู้ว่าการกลับใจรวมถึงการบอกพ่อแม่ของเขาหรือไม่ เขาต้องการรู้ว่าเขามีโอกาสจะเป็นผู้สอนศาสนาหรือไม่ เขาต้องการรู้อีกหลายเรื่อง

“ข้าพเจ้าไม่มีคำตอบทั้งหมด แต่ข้าพเจ้าบอกเขาว่ามีความหวัง ข้าพเจ้าบอกเขาว่าทางกลับจะยาก แต่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ข้าพเจ้าอธิบายสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้เกี่ยวกับขั้นตอนการกลับใจและช่วยให้เขาเห็นสิ่งที่ต้องทำ ข้าพเจ้าบอกเขาว่าถ้าเขาต้องการเป็นผู้สอนศาสนาจริงๆ เขาตัดสินใจเรื่องนั้นได้ในอนาคตหลังจากเขากลับใจแล้วเท่านั้น ข้าพเจ้าบอกให้เขากลับบ้าน และเขากลับ

“เขาอธิบายสถานการณ์ให้พ่อแม่ฟัง เขาขออภัยคนที่เขาทำผิด เขาทิ้งบาปและเพื่อนไม่ดีไว้เบื้องหลัง เขาทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อกลับใจ

“หนึ่งปีต่อมาหรือราวๆ นั้น เยาวชนชายห้าคนจากโควรัมนั้นไปเป็นผู้สอนศาสนา เขาเป็นหนึ่งในนั้น ข้าพเจ้าสนิทกับพวกเขาทุกคน ข้าพเจ้าเข้าร่วมงานเลี้ยงอำลาของทุกคน พวกเขาทุกคนรับใช้งานเผยแผ่อย่างสมเกียรติ ภายในช่วงเวลาอันสั้นหลังจากกลับบ้าน พวกเขาทุกคนแต่งงานในพระวิหาร ข้าพเจ้ากับภรรยาเข้าร่วมพิธีของทุกคน ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังสามารถหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งมาเขียนชื่อพวกเขา ชื่อภรรยา และลูกบางคนของพวกเขาได้ ข้าพเจ้ารู้จักพวกเขาดีขนาดนั้น

“แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าจะบอกท่านบางอย่าง—บางอย่างที่เป็นส่วนตัวมากและสำคัญมาก ข้าพเจ้าจำชื่อเยาวชนชายที่มาบ้านข้าพเจ้ากลางดึกคืนนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้ารู้ว่าเขาเป็นหนึ่งในห้าคนนั้น แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าคนไหน

“มีครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยวิตกกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าความจำของข้าพเจ้าอาจเลอะเลือนก็เป็นได้ ข้าพเจ้าพยายามนึกว่าคนที่มีปัญหาเป็นใคร แต่นึกไม่ออก

“ในที่สุดข้าพเจ้าได้รับการปลด และข้าพเจ้านำเหตุการณ์ทั้งหมดออกจากความนึกคิด หลายปีต่อมาขณะเดินเล่นตอนค่ำ ข้าพเจ้าพบว่าตนเองอยู่ในวอร์ดที่ข้าพเจ้าเคยเป็นอธิการ ความเงียบสงัดและมืดสลัวทำให้ข้าพเจ้าจำหลายเรื่องได้ ข้าพเจ้าคิดเพลินจนเดินมาถึงหน้าบ้านที่ปุโรหิตคนหนึ่งเคยอยู่เมื่อหลายปีก่อน ทันใดนั้น เรื่องราวของเยาวชนชายที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงก็เข้ามาในความนึกคิด และข้าพเจ้าพยายามนึกอีกครั้งว่าเขาเป็นคนไหนในห้าคนนั้น เขาเคยอยู่ในบ้านหลังนั้นไม่ใช่หรือ ข้าพเจ้าสงสัย ทำไมข้าพเจ้าจำไม่ได้

“ขณะข้าพเจ้าเดินอยู่นั้น มีบางอย่างเกิดขึ้น—บางอย่างที่อธิบายได้ยาก แต่เกิดขึ้นจริง ดูเหมือนข้าพเจ้าจะได้ยินเสียงหนึ่งบอกว่า ‘เจ้าไม่เข้าใจหรือลูกพ่อ พ่อลืมไปแล้ว เจ้าจะจำทำไม’

“ข้าพเจ้ารำคาญใจ ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจให้แก่คำถามนั้น ข้าพเจ้าไม่สงสัยเรื่องนั้นอีกเลย และเวลานั้นข้าพเจ้ารู้แน่นอนกว่าที่เคยรู้มาก่อนว่าพระเจ้าพอพระทัยเมื่อลูกของพระองค์กลับมาหาพระองค์

“ทุกคนที่เป็นคนเลี้ยงแกะและแกะหายทุกตัวควรสังเกตสิ่งสุดท้ายนี้ พระเจ้าทรงหมายความอย่างนั้นจริงๆ เมื่อพระองค์ตรัสว่า ‘คนที่กลับใจจากบาปของเขา, คนคนนั้นได้รับการให้อภัย, และเรา, พระเจ้า, ไม่จำมันอีก (คพ. 58:42)’” (“Come Back to the Lord,” Ensign, Nov. 1986, 77–78)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43 “สารภาพ”

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายข้อกำหนดของการสารภาพดังนี้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ท่านต้องสารภาพบาปของท่านต่อพระเจ้าเสมอ หากเป็นการล่วงละเมิดร้ายแรง เช่น การผิดศีลธรรม [ทางเพศ] ต้องสารภาพต่ออธิการหรือประธานสเตค ขอให้เข้าใจว่าการสารภาพไม่ใช่การกลับใจ การสารภาพเป็นขั้นตอนที่ต้องทำแต่ยังไม่พอ การสารภาพบางส่วนโดยกล่าวถึงความผิดน้อยกว่าจะไม่ช่วยท่านแก้ไขการล่วงละเมิดที่ร้ายแรงกว่าและไม่เปิดเผย สิ่งที่จำเป็นต่อการให้อภัยคือเต็มใจเปิดเผยต่อพระเจ้าอย่างหมดเปลือกและหากจำเป็นให้เปิดเผย ทั้งหมด ที่่ท่านทำต่อผู้พิพากษาฐานะปุโรหิตของพระองค์” (“Finding Forgiveness,” Ensign, May 1995, 76)

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนเรื่องความสำคัญของความจริงใจและความซื่อสัตย์โดยสมบูรณ์เมื่อสารภาพบาปของเราดังนี้

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“ไม่มีใครจะได้รับการให้อภัยจากการล่วงละเมิดใดๆ จนกว่าจะมีการกลับใจ และคนนั้นไม่กลับใจจนกว่าเขาจะเผยจิตวิญญาณของตนเองและยอมรับเจตนาตลอดจนความอ่อนแอของตนโดยไม่มีข้อแก้ตัวหรือข้ออ้าง” (Love versus Lust, Brigham Young University Speeches of the Year [Jan. 5, 1965], 10)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43 เหตุใดจึงต้องสารภาพบาปบางอย่างต่อผู้นำฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจ

ในฐานะประธานของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในวอร์ด อธิการหรือประธานสาขาถือกุญแจแห่งการกลับใจสำหรับคนในวอร์ดของเขา อธิการและประธานสาขาใช้กุญแจดังกล่าวตัดสินสถานะของบุคคลในศาสนจักรและช่วยบุคคลนั้นในขั้นตอนการกลับใจ เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการสารภาพบาปร้ายแรงต่อผู้นำฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจดังนี้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“การล่วงละเมิดร้ายแรงเช่น การผิดศีลธรรม ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ถือกุญแจแห่งสิทธิอำนาจเช่นอธิการหรือประธานสเตค เพื่อดำเนินขั้นตอนการกลับใจอย่างเงียบๆ จนแน่ใจว่าสมบูรณ์และทำอย่างเหมาะสม” (“พลังแห่งความชอบธรรม,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 81)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43 “สารภาพและละทิ้งมัน”

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนความหมายของการกลับใจจากบาปของเราดังนี้

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“การละทิ้งบาปมีความหมายว่าจะไม่กลับไปทำอีก การละทิ้งต้องใช้เวลา เพื่อช่วยเราบางครั้งพระเจ้าทรงยอมให้ความผิดพลาดตกค้างอยู่ในความทรงจำของเรา นี่คือส่วนสำคัญของการเรียนรู้ในความเป็นมรรตัย

“เมื่อเราสารภาพบาปอย่างซื่อสัตย์ แก้ไขเท่าที่เราทำได้กับคนที่เราทำให้เขาขุ่นเคือง และละทิ้งบาปของเราโดยรักษาพระบัญญัติ เราอยู่ในขั้นตอนที่จะได้รับการให้อภัย วันเวลาจะทำให้ความเจ็บปวดรวดร้าวของเราบรรเทาลง เอา ‘ความผิดไปจากใจเรา’ [แอลมา 24:10] และทำให้เกิด ‘ความสงบในมโนธรรม’ [โมไซยาห์ 4:3]

“สำหรับผู้ที่กลับใจอย่างแท้จริงแต่ดูเหมือนจะรู้สึกไม่สบายใจ ขอให้รักษาพระบัญญัติต่อไป ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าท่านจะสบายใจขึ้นตามตารางเวลาของพระเจ้า การเยียวยาต้องใช้เวลาเช่นกัน” (“จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 52)