บทที่ 143
หลักคำสอนและพันธสัญญา 134
คำนำ
วันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1835 การชุมนุมใหญ่ของศาสนจักรจัดในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอเพื่อพิจารณาเนื้อหาที่เสนอสำหรับพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับพิมพ์ครั้งแรก เพราะศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกำลังเยี่ยมวิสุทธิชนในมิชิแกน ออลิเวอร์ คาวเดอรีจึงเป็นประธานที่การชุมนุม ในการประชุม วิสุทธิชนลงมติเป็นเอกฉันท์ให้รวมคำประกาศที่ออลิเวอร์ คาวเดอรีเสนอเรื่องความเชื่อของศาสนจักรเกี่ยวกับการปกครองและกฎหมายไว้ด้วย
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:1–4
อธิบายถึงความรับผิดชอบของรัฐบาล
เชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขากำลังสร้างประเทศใหม่ ตั้งนักเรียนคนหนึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลชุดใหม่นี้ เชิญนักเรียนคนนั้นนำพระคัมภีร์ของตนเองออกมาหน้าชั้น ถามผู้นำนักเรียนคนนั้นดังนี้
-
ท่านจะออกกฎอะไรให้คนในประเทศใหม่นี้ทำตาม (ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)
ถามนักเรียนในชั้นว่า
-
ท่านนึกถึงกฎอะไรบ้างที่ผู้นำของท่านตั้งไว้ ท่านวางแผนทำตามกฎเหล่านั้นดีเพียงใด
-
ท่านคิดว่าอะไรคือจุดประสงค์ของการปกครอง
อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 134 ประกอบด้วยเอกสารที่ประกาศความเชื่อของศาสนจักรเกี่ยวกับการปกครองและกฎหมาย วันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1835 ขณะเตรียมการขั้นสุดท้ายเพื่อพิมพ์พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับพิมพ์ครั้งแรก ออลิเวอร์ คาวเดอรีเป็นประธานควบคุมการชุมนุมใหญ่ของสมาชิกศาสนจักร เขานำเสนอเอกสาร และสมาชิกในที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รวมไว้ในหนังสือ โจเซฟ สมิธและเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดไม่อยู่ที่การประชุมนี้ พวกท่านกำลังสั่งสอนพระกิตติคุณในรัฐมิชิแกน เมื่อพวกท่านกลับมา โจเซฟ สมิธอนุญาตให้รวมเอกสารไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
เชิญผู้นำนักเรียนอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 134 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสาเหตุที่วิสุทธิชนรู้สึกว่าต้องจัดพิมพ์คำประกาศดังกล่าว ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นมองหาว่าใครจัดตั้งแนวคิดเรื่องการปกครองและจุดประสงค์เบื้องต้นของการปกครอง เชิญนักเรียนอีกครึ่งชั้นมองหาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงถือว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องรับผิดชอบ ขอให้แต่ละกลุ่มรายงานสิ่งที่พบ ขณะนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้ ให้เขียนบนกระดานดังนี้
พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดตั้งการปกครองเพื่อประโยชน์ของมนุษย์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีภาระรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าต้องทำเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของสังคม
-
หัวหน้าฝ่ายปกครองจะทำวิธีใดบ้างเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของสังคม
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิทธิ์สามประการที่ฝ่ายปกครองควรคุ้มครองแต่ละบุคคล ก่อนนักเรียนอ่านท่านอาจต้องการ อธิบายว่า มิให้ถูกล่วงละเมิด หมายถึงปลอดภัย หรือไม่ถูกล่วงละเมิด
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2รัฐบาลควรให้สิทธิ์อะไรแก่ประชาชน (“การใช้มโนธรรมอย่างเสรี สิทธิ์และการควบคุมทรัพย์สิน และการคุ้มครองชีวิต” ท่านอาจต้องการบอกนักเรียนว่าประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันกล่าวว่า “ชีวิต เสรีภาพ [และ] ทรัพย์สิน [เป็น] สิทธิ์สำคัญยิ่งสามประการของมนุษยชาติ” [“Our Divine Constitution,” Ensign, Nov. 1987, 4])
-
ท่านคิดว่าการใช้มโนธรรมของท่านหมายความว่าอย่างไร เหตุใดการใช้มโนธรรมของท่านอย่างเสรีจึงสำคัญ
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิทธิ์อีกอย่างหนึ่งที่รัฐบาลควรคุ้มครอง (ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่า มีความรับผิดชอบ หมายถึงภาระรับผิดชอบและฝ่ายปกครองของรัฐคือเจ้าหน้าที่รัฐผู้บริหารกฎ) ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้คนมีภาระรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ต่อรัฐบาล สำหรับวิธีที่พวกเขานับถือศาสนาของตน
-
ท่านคิดว่าการหยุดยั้งอาชญากรรมและลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่พยายามควบคุมมโนธรรมหรือกดขี่เสรีภาพของจิตวิญญาณหมายความว่าอย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พลเมืองบางประเทศทำได้เพื่อให้ผู้นำรัฐบาลของพวกเขาสนับสนุนกฎหมาย (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อนี้ ท่านอาจต้องอธิบายว่าสาธารณรัฐคือการปกครองซึ่งประชาชาติเลือกผู้นำขึ้นมาเป็นตัวแทนของพวกเขาและผู้ครองราชย์คือผู้ปกครองสูงสุด เช่น กษัตริย์หรือราชินี)
-
“เสียงของผู้คน” จะค้นหาและสนับสนุนผู้นำที่ดีได้อย่างไร (หากจำเป็น ชี้ให้เห็นว่าวลี “เสียงของผู้คน” หมายถึงการออกเสียงเลือกตั้งผู้นำ)
กล่าวถึงนักเรียนที่ท่านแต่งตั้งเป็นผู้นำประเทศใหม่เมื่อเริ่มชั้นเรียน เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนเสนอชื่อนักเรียนเพิ่มเติมเพื่อมาช่วยผู้นำคนนี้ จากนั้นให้ดำเนินการเลือกตั้งเพื่อให้ชั้นเรียนเลือกนักเรียนสองคนที่เสนอชื่อ เชิญผู้นำคนใหม่ถือพระคัมภีร์มาสมทบกับผู้นำคนแรก (คนที่ท่านแต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว) หน้าชั้น ขอให้ผู้นำทั้งสามอธิบายว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจนถึงบัดนี้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของพวกเขาในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐบาล
หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:5–6, 8
สาธยายความรับผิดชอบของพลเมือง
ขอให้ผู้นำนักเรียนสามคนนั้นบอกความรับผิดชอบบางอย่างที่พลเมืองควรมีในประเทศใหม่ของตน เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน จากนั้นให้ถามชั้นเรียนว่า
-
ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับความรับผิดชอบเหล่านี้ ท่านจะเปลี่ยนอะไรบ้างในรายการที่เขียน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:5–6 ขอให้ชั้นเรียนมองหาความรับผิดชอบของพลเมือง (ขณะที่นักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการขอให้เขาหยุดเป็นช่วงๆ เพื่อท่านจะสามารถอธิบายคำต่อไปนี้ได้: ไม่อาจโอนให้กันได้ กล่าวถึงสิ่งที่ไม่สามารถช่วงชิงไปได้; การก่อกวน กล่าวถึงการทรยศต่อผู้นำรัฐบาล ยำเกรง หมายถึงทำตามหรือยอมตาม; ถูกแทนที่ หมายถึงเข้าแทนที่; อนาธิปไตย หมายถึงภาวะที่ไม่มีกฎหมาย—ไม่มีกฎเกณฑ์และการปกครองหรือทรยศต่อกฎเกณฑ์และการปกครอง)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5-6 เรามีความรับผิดชอบอะไรต่อการปกครองของเรา (นักเรียนควรกล่าวบางอย่างคล้ายๆ ความจริงต่อไปนี้: เราพึงสนับสนุนและส่งเสริมการปกครองในที่ซึ่งเราอยู่ ท่านอาจเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน ชี้ให้เห็นว่าหลักธรรมนี้รวมถึงการสันนิษฐานว่ารัฐบาลของเราธำรงกฎที่คุ้มครอง “สิทธิโดยกำเนิดและไม่อาจโอนให้กันได้” ของเรา)
-
หลักธรรมนี้เตือนเราให้นึกถึงหลักแห่งความเชื่อข้อใด (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหรือท่อง หลักแห่งความเชื่อข้อสิบสอง)
-
ในฐานะพลเมืองเราจะสนับสนุนและส่งเสริมการปกครองได้อย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ เราสามารถเชื่อฟังกฎหมาย กระตุ้นให้คนอื่นๆ เชื่อฟัง รับใช้ในชุมชน แสดงความเคารพต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล และลงคะแนนเสียง)
เพื่อช่วยนักเรียนระบุความจริงอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการปกครองและกฎหมาย ให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
ตามที่กล่าวใน ข้อ 6 พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเชื่อฟังกฎสวรรค์และกฎมนุษย์ของเรา (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนบนกระดานดังนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราเคารพและเชื่อฟังกฎสวรรค์และกฎมนุษย์)
เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามก่อนหน้านี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเราควรปฏิบัติอย่างไรต่อกฎหมายบ้านเมืองเมื่อขัดกับความเชื่อของเรา
“ในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างข้อเรียกร้องตามพระคำอันเป็นการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้ากับข้อเรียกร้องที่กฎหมายทางโลกกำหนด สมาชิกของศาสนจักรจะต้องเชื่อฟังผู้มีอำนาจฝ่ายใด …
“ในระหว่าง [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงปกครองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเสรีภาพทางศาสนา หน้าที่ของวิสุทธิชนคือยอมตนตามกฎหมายของประเทศ กระนั้นพวกเขาควรใช้ทุกวิธีที่เหมาะสมในฐานะพลเมืองหรือประชากรของรัฐบาลของพวกเขาเพื่อให้ตนเองและทุกคนมีอิสรภาพในการนับถือศาสนา พวกเขาไม่จำเป็นต้องอดทนโดยไม่คัดค้านการบีบบังคับของผู้ข่มเหงที่ทำผิดกฎหมาย หรือต่อการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่พวกเขาควรเสนอการคัดค้านในขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย วิสุทธิชนแสดงให้เห็นจริงๆ โดยการต่อต้านอำนาจอธรรมอย่างบริสุทธิ์ว่าพวกเขายอมรับหลักคำสอนที่ว่าอดทนต่อความชั่วดีกว่าทำผิดเสียเอง” (The Articles of Faith, 12th ed. [1924], 422, 423])
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนรู้จักที่เชื่อฟังหลักธรรมเหล่านี้ของการสนับสนุนส่งเสริมการปกครองและกฎหมายของพวกเขา ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพลเมืองส่งเสริมการปกครองอย่างไร จากนั้นขอให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำด้วยตนเองเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการปกครองและกฎหมาย
สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:8 โดยอธิบายว่ารัฐบาลมีความรับผิดชอบในการลงโทษผู้กระทำอาชญากรรมและพลเมืองมีความรับผิดชอบในการช่วย “นำผู้กระทำผิดต่อกฎหมายที่ดีงามมาสู่การลงโทษ”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:7, 9–10, 12
อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการปกครอง
สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:7, 9–10, 12 โดยอธิบายว่าออลิเวอร์ คาวเดอรีเขียนว่ารัฐบาลควรกำหนดกฎหมายคุ้มครองการนับถือศาสนาแต่พวกเขาไม่ควรเข้าข้างศาสนาใด เขาเขียนด้วยว่าสังคมศาสนามีสิทธิ์ลงโทษสมาชิกที่ก่อความวุ่นวายโดยปัพพาชนียกรรมหรือถอนสมาชิกภาพคืนจากคนเหล่านั้นแต่สังคมดังกล่าวไม่มีอำนาจตัดสินหรือลงโทษเพื่อยึดทรัพย์หรือทำร้ายร่างกายสมาชิกของพวกเขา
หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:11
อธิบายสิทธิในการอุทธรณ์ขอความช่วยเหลือจากฝ่ายปกครอง
สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:11 โดยอธิบายว่าตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พลเมืองควรได้รับอนุญาตให้ขอฝ่ายปกครอง “ชดใช้” หากทำผิดต่อพวกเขา คำว่า ชดใช้ หมายถึงแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนี้รวมถึงคำประกาศว่าพลเมืองมีสิทธิ์โดยชอบในการปกป้องตนเองและคนอื่นๆ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนและฝ่ายปกครองไม่สามารถช่วยได้
ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาชื่นชมประเทศหรือชุมชนของพวกเขา เป็นพยานถึงความสำคัญของการสนับสนุนส่งเสริมการปกครองและกฎหมาย