เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 85: หลักคำสอนและพันธสัญญา 82–83


บทที่ 85

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82–83

คำนำ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1832 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ เดินทางไปอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี โดยเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าให้สถาปนาองค์กรหนึ่งเพื่อเสริมสร้างไซอันและดูแลคนจน (ดู คพ. 78และดูคำนำภาคด้วย) วันที่ 26 เมษายน ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82 ระหว่างการประชุมสภาของมหาปุโรหิตและเหล่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรในอินดิเพนเดนซ์ ในการเปิดเผยนี้พระเจ้าทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพี่น้องชายและทรงเตือนพวกเขาว่าอย่าทำบาปอีก พระเจ้าทรงสอนพี่น้องชายเหล่านี้เกี่ยววิธีบริหารกิจจานุกิจทางโลกของไซอันด้วย สี่วันต่อมา โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 83ซึ่งพระเจ้าทรงแนะนำผู้นำศาสนจักรเกี่ยวกับวิธีดูแลหญิงม่ายและเด็กกำพร้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:1–7

พระเจ้าทรงเตือนคนที่ได้รับมากจากพระองค์

ก่อนชั้นเรียนให้เตรียมกระดาษแผ่นใหญ่หลายๆ แผ่นและปากกาเขียนไวท์บอร์ดหลายๆ ด้าม (ช่วงหลังของบทเรียนนักเรียนจะใช้สิ่งเหล่านี้เขียนรายการที่จะสามารถแสดงให้นักเรียนที่เหลือดูได้)

เริ่มบทเรียนโดยขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขามีความเห็นไม่ตรงกับเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวซึ่งสุดท้ายก็หาข้อยุติได้

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านหาข้อยุติได้

บอกนักเรียนว่าเป็นเวลาหลายเดือนที่เกิดความรู้สึกไม่ดีระหว่างซิดนีย์ ริกดันในโอไฮโฮกับอธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจในมิสซูรี ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1832 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นเดินทางไปมิสซูรีตามพระบัญชาของพระเจ้าให้พวกเขา “นั่งประชุมในสภากับวิสุทธิชนซึ่งอยู่ในไซอัน” (คพ. 78:9) เมื่อมาถึงพวกท่านจึงจัดประชุมสภามหาปุโรหิตของศาสนจักร ระหว่างการประชุมใหญ่ภาคเช้าและภาคบ่าย ซิดนีย์ ริกดันและเอดเวิร์ด พาร์ทริจแก้ไขความขัดแย้งของพวกเขา การเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82 ได้รับระหว่างการประชุมภาคบ่าย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับซิดนีย์ ริกดันและเอดเวิร์ด พาร์ทริจเกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งของพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างการให้อภัยผู้อื่นกับการให้อภัยจากพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:2 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำเตือนที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชน

  • พระเจ้าตรัสว่าอะไรจะเกิดกับคนที่ไม่ “ละเว้นจากบาป”

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบาปบางอย่างที่พระเจ้าอาจจะกำลังตรัสถึง ให้อธิบายว่าเมื่อสมาชิกศาสนจักรย้ายไปมิสซูรี หลายคนไม่เชื่อฟังคำแนะนำของผู้นำศาสนจักรและบางคนไม่ยอมดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย ด้วยเหตุนี้ สมาชิกศาสนจักรบางคนจึงมีความผิดฐานอิจฉาริษยา โลภ และละเลยหน้าที่

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:3–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาเหตุผลว่าทำไมการพิพากษาที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 จึงจะเกิดกับคนที่ไม่หยุดทำบาป

  • วิสุทธิชนเหล่านี้มีคุณสมบัติคู่ควรแก่การเป็นผู้ได้รับ “ความสว่างที่เจิดจ้ากว่า” ในด้านใด

  • พระเจ้าทรงสอนอะไรในข้อเหล่านี้เกี่ยวกับภาระรับผิดชอบของเราต่อสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เรา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงเรียกร้องมากจากคนที่พระองค์ประทานให้มาก ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคนที่ได้รับจากพระเจ้ามากกว่าจึงถูกเรียกร้องมากกว่าด้วย

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ แจกกระดาษและปากกาเขียนไวท์บอร์ดให้กลุ่มละหนึ่งชุด ให้พวกเขาเขียนพรที่เคยได้รับจากพระเจ้าให้มากเท่าที่จะมากได้ในสองนาที กระตุ้นให้พวกเขาเขียนพรที่มาถึงพวกเขาในฐานะสมาชิกของศาสนจักรด้วย เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ให้พวกเขาแสดงรายการนั้นหน้าชั้นเรียนและถามคำถามดังนี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงมีคุณสมบัติคู่ควรแก่การเป็นผู้ที่พระเจ้า “ประทานให้มาก”

  • เนื่องจากพระเจ้าประทานให้เรามาก พระองค์จึงทรงเรียกร้องอะไรจากเราบ้าง

เพื่อช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมจาก ข้อ 3ขอให้พวกเขาเขียนพรประการหนึ่งที่ได้รับจากพระเจ้าลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ต่อจากนั้นให้พวกเขาเขียนสิ่งที่รู้สึกว่าพระเจ้าทรงคาดหวังให้พวกเขาทำเพราะพวกเขาได้รับพรนั้น สุดท้าย ให้พวกเขาจดเป้าหมายว่าจะเริ่มทำอะไรเพื่อให้บรรลุความคาดหวังนั้น

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:5–6 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนว่าการครอบครองและอำนาจของซาตานครอบงำบนแผ่นดินโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:7 ให้ชั้นเรียนมองหาคำเตือนเพิ่มเติมของพระเจ้าเกี่ยวกับบาป

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7เหตุใดจึงสำคัญที่คนกลับใจต้องทิ้งบาป (เมื่อเราจงใจเปลี่ยนจากความชอบธรรมไปทำบาป “บาปแต่ก่อนจะกลับคืนมา”)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบาปแต่ก่อนของเราจึงกลับคืนมาหากเราจงใจทำบาปหลังจากแสวงหาการให้อภัยของพระเจ้าแล้ว (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเพื่อกลับใจอย่างสมบูรณ์และได้รับการให้อภัย เราต้องทิ้งบาปของเรา)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:8–24

พระเจ้าทรงบัญชาชายเก้าคนให้ตั้งห้างหุ้นส่วนเพื่อจัดการกิจจานุกิจทางโลกของศาสนจักร

จัดนักเรียนเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่นึกถึงสถานการณ์สองอย่างที่เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงคนหนึ่งต้องการความมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักษาสัญญาของพระองค์ (ตัวอย่างเช่น เยาวชนหญิงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับคุณยายที่กำลังป่วยระยะสุดท้าย เยาวชนหญิงคนนี้อาจต้องการความมั่นใจอีกครั้งเกี่ยวกับสัญญาเรื่องครอบครัวนิรันดร์และการฟื้นคืนชีวิต) ขอให้นักเรียนยกตัวอย่างเหตุการณ์สองสามเรื่องกับชั้นเรียน

อธิบายว่าระหว่างการประชุมสภามหาปุโรหิตในมิสซูรี พระเจ้าประทานสัญญายืนยันกับคนที่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ กระตุ้นให้นักเรียนมองหาความจริงที่อาจให้ความมั่นใจแก่คนที่อยู่ในสถานการณ์ซึ่งพวกเขาสนทนาขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 82ต่อไป

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:8–9 ในใจและมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะประทานแก่วิสุทธิชนระหว่างการประชุมสภาครั้งนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะประทานอะไรแก่ผู้มาร่วมประชุมสภาครั้งนี้

  • จากสิ่งที่ท่านอ่านใน ข้อ 8–9เหตุผลที่พระองค์ประทานบัญญัติใหม่แก่พวกเขาคืออะไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • เหตุผลเหล่านี้ประยุกต์ใช้ได้อย่างไรกับพระบัญญัติทุกข้อที่พระเจ้าประทานแก่เรา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาหลักธรรมที่จะให้ความมั่นใจแก่เราขณะที่เราพยายามเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า

  • ท่านพบหลักธรรมอะไรที่จะให้ความมั่นใจแก่ท่านขณะท่านพยายามเชื่อฟังพระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดอื่น แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราจะเชื่อฟังพระเจ้า พระองค์จะทรงรักษาสัญญาเสมอว่าจะประทานพรเรา)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีซึ่งแสดงให้พวกเขาเห็นว่าหลักธรรมนี้เป็นความจริง ให้เวลาพวกเขาเขียนประสบการณ์หนึ่งในนั้นลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตท่านที่ยืนยันหลักธรรมนี้เช่นกัน

เตือนนักเรียนว่าเมื่อพวกเขาศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 78 พวกเขาเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงบัญชาผู้นำศาสนจักรในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอให้ตั้งห้างหุ้นส่วนดูแลคลังและสิ่งพิมพ์ของศาสนจักร สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:11, 15–17 โดยบอกนักเรียนว่าในการเปิดเผยนี้พระเจ้าทรงกำกับดูแลการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน—ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนเอกภาพ—และทรงแต่งตั้งสมาชิกของห้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:12 ในใจและมองหาจุดประสงค์ของห้างหุ้นส่วนเอกภาพ ขณะที่พวกเขาอ่าน ท่านอาจช่วยเตือนความจำพวกเขาว่าหน้าที่หนึ่งของอธิการคือช่วยเรื่องความจำเป็นทางโลกของสมาชิกศาสนจักร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12จุดประสงค์ของห้างหุ้นส่วนเอกภาพคืออะไร

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:14, 18–19 ในใจโดยมองหาคำและวลีที่อธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาให้ตั้งห้างหุ้นส่วนเอกภาพ

  • เหตุใดจึงสำคัญที่วิสุทธิชนจะมีทัศนะดังที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:20–24 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงจบการเปิดเผยนี้โดยทรงเตือนผู้นำศาสนจักรให้ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่พวกเขาจะทำในฐานะสมาชิกห้างหุ้นส่วนเอกภาพ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 83

พระเจ้าทรงเปิดเผยวิธีดูแลหญิงม่ายและเด็กกำพร้า

บอกนักเรียนว่าสี่วันหลังจากได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหายุ่งยากของการดูแลความจำเป็นทางโลกของวิสุทธิชน ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 83:1 ในใจและหาดูว่าการเปิดเผยนี้พูดถึงความจำเป็นของใคร

  • การเปิดเผยนี้พูดถึงความจำเป็นของใคร

เตือนความจำนักเรียนว่าวิสุทธิชนจำนวนมากกำลังดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายและได้รับ “มรดก” หรือทรัพย์สินจากศาสนจักร ในการเปิดเผยนี้พระเจ้าทรงเปิดเผยสิ่งที่ควรเกิดขึ้นกับมรดกของครอบครัวหากสามีหรือบิดาสิ้นชีวิต

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 83:2–3 ในใจและมองหาคำแนะนำจากพระเจ้าเกี่ยวกับการดูแลสตรีที่สูญเสียสามี

  • หากชายสิ้้นชีวิตและภรรยาเขายังคงซื่อสัตย์ เธอจะได้รับพรอะไร

อธิบายว่า ณ เวลาที่ประทานการเปิดเผยนี้ สตรีส่วนใหญ่อาศัยสามีเลี้ยงดู “มีสมาชิกภาพในศาสนจักร” หมายความว่าเนื่องจากผู้หาเลี้ยงภรรยาสิ้นชีวิต ศาสนจักรจึงจะช่วยเหลือเธอเมื่อเธอรับบทบาทของผู้หาเลี้ยงคนเดียว เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 83:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าศาสนจักรจะช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงม่ายได้อย่างไร

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรท่านในเรื่องที่ว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อหญิงม่าย เด็กกำพร้า และคนตกทุกข์ได้ยากทั้งหลาย

กระตุ้นให้นักเรียนใส่ใจความต้องการของคนรอบข้างมากขึ้นและมองหาวิธีประยุกต์ใช้คำแนะนำจากพระเจ้าให้หมายมั่นประโยชน์สุขของเพื่อนบ้าน (ดู คพ. 82:19) เมื่อพระวิญญาณทรงนำให้สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สอนในการเปิดเผยเหล่านี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:7 “ทว่าจิตวิญญาณนั้นที่ทำบาป บาปแต่ก่อนจะกลับคืนมา”

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“การละทิ้งบาป … คือการตั้งใจเด็ดเดี่ยวตลอดไปว่าจะไม่ทำการล่วงละเมิดซ้ำอีก เราจะไม่ประสบความขมขื่นที่ติดมากับบาปนั้นอีกเมื่อรักษาคำมั่นดังกล่าว จำไว้ว่า ‘ทว่าจิตวิญญาณนั้นที่ทำบาป บาปแต่ก่อนจะกลับคืนมา’ [คพ. 82:7] โจเซฟ สมิธประกาศว่า ‘การกลับใจเป็นสิ่งที่เราจะล้อเล่นทุกวันไม่ได้ การล่วงละเมิดทุกวันและการกลับใจทุกวันไม่เป็น … ที่พอพระทัยในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า’ [Teachings of the Prophet Joseph Smith, sel. Joseph Fielding Smith [1976], 148]” (“Finding Forgiveness,” Ensign, May 1995, 76)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:11–12 ความเป็นผู้พิทักษ์และการใช้นามแฝง

ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับพิมพ์ช่วงแรกใช้นามแฝงหรือชื่อปลอมเพื่อป้องกันศาสนจักรและผู้นำศาสนจักรจากศัตรู การปฏิบัติดังกล่าวใช้กับชื่อสมาชิกของห้างหุ้นส่วนเอกภาพใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:11 ดังนั้น ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับพิมพ์ช่วงแรกบางฉบับ นามแฝงจึงอาจปรากฎในเนื้อความที่เวลานี้ประกอบเป็นข้อนี้ ฉบับพิมพ์ช่วงหลังใช้ชื่อจริง

“ความเป็นผู้พิทักษ์” หรือหน้าที่รับผิดชอบของสมาชิกตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 มีดังนี้: พระเจ้าทรงกำหนดให้หกในเก้าคนเป็น “ผู้พิทักษ์ดูแลการเปิดเผยและบัญญัติทั้งหลาย” (คพ. 70:3—ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ, มาร์ติน แฮร์ริส, ออลิเวอร์ คาวเดอรี, จอห์น วิตเมอร์, ซิดนีย์ ริกดัน และ วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส) สองคนเป็นอธิการของศาสนจักร (เอดเวิร์ด พาร์ทริจและนูเวล เค. วิทนีย์) และหนึ่งคนรับผิดชอบคลังในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี (เอ. ซิดนีย์ กิลเบิร์ต)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:18 “คลังของพระเจ้า”

ข้อความต่อไปนี้อธิบายว่าพระเจ้าทรงใช้คลังของพระองค์ในปัจจุบันอย่างไร

“คลังของพระเจ้า … อาจจะเป็นการรับใช้ที่มีให้ เงินในบัญชี อาหารในตู้เก็บอาหาร หรือของใช้ในอาคารหลังหนึ่ง คลังตั้งไว้เพื่อให้สมาชิกที่ซื่อสัตย์ขณะนั้นสละเวลา พรสวรรค์ ทักษะ ความเห็นอกเห็นใจ วัสดุอุปกรณ์ และทรัพย์สินเงินทองให้อธิการในการดูแลคนจนและเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก

“ด้วยเหตุนี้คลังของพระเจ้าจึงมีอยู่ในแต่ละวอร์ด อธิการเป็นตัวแทนคลังของพระเจ้า เมื่อได้รับการดลใจจากพระเจ้า เขาจะแจกจ่ายสิ่งของที่วิสุทธิชนบริจาคให้แก่คนยากจนและคนขัดสน โดยมีโควรัมฐานะปุโรหิตและสมาคมสงเคราะห์ช่วยเขา” (Providing in the Lord’s Way: A Leader’s Guide to Welfare [1990], 11; ดู LDS.orgด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:22 เหตุใดศาสนจักรจึงได้รับบัญชาให้ทำตัวเป็นมิตรกับ “ทรัพย์สมบัติอธรรม”

คำว่า ทรัพย์สมบัติ หมายถึงความร่ำรวย (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ทรัพย์สมบัติ,” scriptures.lds.org) ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายดังนี้

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“พระบัญชาของพระเจ้าให้วิสุทธิชนทำตัวเป็น ‘มิตรกับทรัพย์สมบัติอธรรม’ ดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวที่ทำใจยอมรับได้ยากเมื่อเข้าใจไม่ถูกต้อง พระบัญชาให้เป็นมิตรกับ ‘ทรัพย์สมบัติอธรรม’ ไม่มีเจตนาให้พี่น้องชายมีส่วนในทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ยอมรับ ยุ่งเกี่ยวหรือลดตัวไปอยู่ระดับเดียวกับทรัพย์สมบัติเหล่านั้น แต่พวกเขาต้องอยู่อย่างสงบกับศัตรูของพวกเขา พวกเขาต้องปฏิบัติต่อศัตรูด้วยความเมตตา เป็นมิตรกับคนเหล่านั้นตามหลักธรรมที่ถูกต้องดีงาม แต่จะไม่สาบานหรือดื่มและสำมะเลเทเมากับคนเหล่านั้น หากพวกเขาจะลดอคติและแสดงให้เห็นว่าเต็มใจค้าขายด้วยหรือแสดงให้เห็นว่ามีจิตใจดี นั่นอาจทำให้ศัตรูเลิกโกรธแค้นพวกเขา จงปล่อยการตัดสินไว้กับพระเจ้า” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:323; ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 238 ด้วย)