เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 34: หลักคำสอนและพันธสัญญา 28


บทที่ 34

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28

คำนำ

คริสต์ศักราช 1830 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประสบปัญหาท้าทายอย่างหนึ่งเพราะสมาชิกศาสนจักรไม่เข้าใจระเบียบของการเปิดเผยในศาสนจักร ไฮรัม เพจอ้างว่าได้รับการเปิดเผยเพื่อศาสนจักรผ่านสื่อกลางคือศิลาพิเศษและสมาชิกศาสนจักรบางคนเชื่อเขา รวมทั้งออลิเวอร์ คาวเดอรีด้วย ไม่นานก่อนการประชุมใหญ่ศาสนจักรที่จัดในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1830 พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงที่ช่วยให้ออลิเวอร์ คาวเดอรีและคนอื่นๆ เข้าใจระเบียบของการเปิดเผยในศาสนจักร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:1–7

พระเจ้าทรงประกาศว่าประธานศาสนจักรเป็นบุคคลเดียวที่สามารถรับการเปิดเผยเพื่อปกครองศาสนจักร

เขียน การเลียนแบบ บนกระดาน

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างของสิ่งที่เป็นแค่การเลียนแบบ (เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจต้องการแสดงตัวอย่างของสิ่งที่เป็นการเลียนแบบ อาทิ งานศิลปะที่ลอกเลียนแบบ เงินของเล่น หรือผลไม้พลาสติก)

  • เหตุใดการเข้าใจผิดคิดว่าของเลียนแบบเป็นของจริงจึงเป็นอันตราย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำเตือนต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“มารเป็นบิดาของความเท็จและเขาคอยขัดขวางงานของพระผู้เป็นเจ้าเสมอโดยการเลียนแบบอย่างฉลาด” (“เส้นทางการสื่อสารสองเส้นทาง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 106)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงบทนำของ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 28 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุการเลียนแบบที่ซาตานใช้หลอกสมาชิกบางคนของศาสนจักรยุคแรก

  • ซาตานใช้การเลียนแบบอะไรหลอกสมาชิกศาสนจักร (หากนักเรียนไม่ได้พูดถึงความคล้ายคลึงระหว่างศิลาของไฮรัมกับอูริมและทูมมิมที่โจเซฟใช้บางครั้ง จงชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงนี้)

อธิบายว่าสมาชิกบางคนของศาสนจักรเชื่อการเปิดเผยเท็จที่ซาตานถ่ายทอดให้ไฮรัม เพจ ขณะที่นักเรียนศึกษาและสนทนาการเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 28 จงกระตุ้นให้พวกเขามองหาความจริงที่จะช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงการหลงเชื่อตามการเลียนแบบของซาตาน บอกนักเรียนว่าท่านจะเขียนความจริงเหล่านี้ไว้บนกระดานตามที่พวกเขาค้นพบตลอดบทเรียน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนความจริงเหล่านี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:1–4 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าความรับผิดชอบของออลิเวอร์ คาวเดอรีในศาสนจักรต่างจากความรับผิดชอบของโจเซฟ สมิธอย่างไร

  • ความรับผิดชอบของออลิเวอร์ คาวเดอรีต่างจากความรับผิดชอบของโจเซฟ สมิธอย่างไร (โจเซฟรับผิดชอบเรื่องรับพระบัญญัติและการเปิดเผยสำหรับศาสนจักร ออลิเวอร์รับผิดชอบเรื่องสอนโดยพระผู้ปลอบโยนเกี่ยวกับพระบัญญัติและการเปิดเผยที่โจเซฟได้รับ)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงที่สำคัญอะไรเกี่ยวกับประธานศาสนจักรจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:2 (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: ประธานศาสนจักรเป็นบุคคลเดียวที่สามารถรับการเปิดเผยสำหรับทั้งศาสนจักร เขียนข้อความนี้ไว้บนกระดาน)

  • ความรู้ของเราในเรื่องนี้จะช่วยให้เราไม่ถูกหลอกได้อย่างไร

ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามเหล่านี้ ท่านอาจต้องการรับรองกับพวกเขาว่าเราสามารถวางใจคำสอนและคำแนะนำของประธานศาสนจักรได้เสมอเพราะพระเจ้าจะไม่ทรงยอมให้ประธานนำเราไปผิดทาง (สังเกตว่าคำสัญญานี้มีอยู่ในคำกล่าวของประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ ข้อความนี้อยู่ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ในเนื้อหาเสริมต่อจาก ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 1)

อธิบายว่าไม่นานก่อนพระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 28 ออลิเวอร์ คาวเดอรีทำบางสิ่งที่แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจถ่องแท้ในความแตกต่างระหว่างความรับผิดชอบของเขาในศาสนจักรกับความรับผิดชอบของโจเซฟ สมิธในฐานะประธานศาสนจักร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านเรื่องราวต่อไปนี้

โจเซฟ สมิธอาศัยอยู่ในฮาร์โมนีย์ รัฐเพนน์ซิลเวเนียเมื่อท่านได้รับจดหมายจากออลิเวอร์ คาวเดอรีผู้อยู่ในเฟเยทท์ รัฐนิวยอร์ก ห่างออกไปราว 100 ไมล์ (160 กิโลเมตร) ออลิเวอร์กล่าวว่าเขาค้นพบข้อผิดพลาดในการเปิดเผยที่เวลานี้เรียกว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 20 ออลิเวอร์เขียนว่า “ผมสั่งคุณในพระนามของพระผู้เป็นเจ้าให้ลบคำพวกนั้น” โจเซฟเดินทางไปเฟเยทท์และทราบว่าครอบครัววิตเมอร์เห็นด้วยกับออลิเวอร์เกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการเปิดเผยที่พวกเขาคิดเอาเอง โจเซฟเขียนว่า “ข้าพเจ้าไม่ท้อถอยและพยายามโน้มน้าวให้พวกเขาใช้เหตุผลอย่างสุขุมเกี่ยวกับเรื่องนี้” ในที่สุด ท่านศาสดาพยากรณ์ “ประสบผลสำเร็จไม่เพียงทำให้ครอบครัววิตเมอร์ยอมรับเท่านั้น แต่ … ทำให้ออลิเวอร์ คาวเดอรียอมรับด้วยว่าพวกเขาเป็นคนผิด” (Histories, Volume 1: 1832–1844, vol. 1 of the Histories series of The Joseph Smith Papers [2012], 426; see also pages 424–25)

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:6–7 ในใจโดยมองหาคำแนะนำของพระเจ้าต่อออลิเวอร์ คาวเดอรี

  • พระเจ้าทรงสอนอะไรออลิเวอร์ คาวเดอรี (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ แต่ละบุคคลไม่ได้รับการเปิดเผยเพื่อนำทางคนที่เป็นประธานเหนือพวกเขา)

  • ความจริงนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เราเพิ่งอ่านอย่างไร

  • ความจริงนี้จะช่วยเราในทุกวันนี้ได้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:8–10

พระเจ้าทรงเรียกออลิเวอร์ คาวเดอรีให้สั่งสอนพระกิตติคุณแก่ชาวเลมัน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:8–10 และขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้ออลิเวอร์ คาวเดอรีทำ

  • พระเจ้าทรงเรียกออลิเวอร์ให้ทำอะไร (สั่งสอนพระกิตติคุณในบรรดาชาวเลมัน)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเปิดเผยส่วนตัวจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:8 (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราอาจได้รับการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ของเราเองและช่วยเราในการเรียกและงานมอบหมายที่เราได้รับ)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“เรามีสิทธิ์รับการเปิดเผยส่วนตัว อย่างไรก็ดี เว้นแต่เราได้รับการวางมือมอบหน้าที่สู่ตำแหน่งที่เป็นคนควบคุม เราจะไม่ได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้อื่นควรทำ …

“เราไม่ควรถือว่าประสบการณ์ทางวิญญาณที่ผิดจากธรรมดาเป็นการเรียกส่วนตัวให้ชี้นำผู้อื่น ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ที่พิเศษศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องส่วนตัวและควรเก็บไว้กับตัว” (“Revelation in a Changing World,” Ensign, Nov. 1989, 14–15)

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนบทบาทและการเรียกต่อไปนี้ลงในกระดาษแต่ละชิ้นแยกกัน: พ่อแม่ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ อธิการ ผู้สอนศาสนา ครูโรงเรียนวันอาทิตย์ ประธานยุวนารี ผู้สอนประจำบ้าน ผู้เยี่ยมสอน ใส่กระดาษเหล่านี้ไว้ในภาชนะ

เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกกระดาษจากภาชนะและอ่านให้ชั้นเรียนฟังทีละชิ้น ขณะอ่านแต่ละชิ้น ขอให้นักเรียนบอกประเภทการเปิดเผยที่แต่ละบุคคลจะได้รับเพื่อช่วยให้พวกเขาทำบทบาทหรือการเรียกของตนให้เกิดสัมฤทธิผล

ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขาเคยได้รับการเปิดเผยในงานมอบหมายหรือความรับผิดชอบ ท่านอาจต้องการ แบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งท่านได้รับการเปิดเผยเพื่อช่วยท่านในการเรียกหรืองานมอบหมาย เตือนนักเรียนว่าประสบการณ์บางอย่างศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นส่วนตัวเกินกว่าจะแบ่งปัน

กระตุ้นให้นักเรียนสวดอ้อนวอนขอการเปิดเผยเพื่อช่วยพวกเขาในชีวิตส่วนตัวและในการเรียกและงานมอบหมายของศาสนจักร กระตุ้นให้พวกเขาสวดอ้อนวอนขอให้ผู้นำศาสนจักรมีสุขภาพดีและปลอดภัยและได้รับการดลใจที่จำเป็นต่อการทำความรับผิดชอบของพวกท่านให้เกิดสัมฤทธิผล

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:11–16

พระเจ้าทรงบัญชาออลิเวอร์ คาวเดอรีให้ตักเตือนไฮรัม เพจและช่วยจัดศาสนจักรให้อยู่ในระเบียบ

เตือนนักเรียนให้นึกถึงการเปิดเผยเท็จที่ไฮรัม เพจนำเสนอต่อสมาชิกบางคนของศาสนจักร เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:11–14 ในใจเพื่อค้นหาสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำออลิเวอร์ คาวเดอรีให้ทำเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้

  • พระเจ้าทรงบัญชาให้ออลิเวอร์ทำอะไรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องไฮรัม เพจ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้นำศาสนจักร (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงเน้นดังนี้: ผู้นำศาสนจักรมีความรับผิดชอบในการตักเตือนคนที่กำลังนำผู้อื่นให้หลงผิด เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:13 เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงนำศาสนจักรของพระองค์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ สิ่งทั้งปวงต้องเป็นไปตามระเบียบ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าวิธีหนึ่งที่เราทำสิ่งต่างๆ “ในระเบียบ, และโดยความเห็นชอบร่วมกัน” คือเราสนับสนุนแต่ละบุคคลอย่างเปิดเผยในการเรียกของศาสนจักร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องสนับสนุนแต่ละบุคคลอย่างเปิดเผยในการเรียกของพวกเขา

เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจว่าความเห็นชอบร่วมกันทำให้เกิดระเบียบและคุ้มครองศาสนจักรอย่างไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานแพคเกอร์

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“การเปิดเผยในศาสนจักรมาถึงคนที่ได้รับการเรียก การสนับสนุน การแต่งตั้ง หรือการวางมือมอบหน้าที่อย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น อธิการจะไม่ได้รับการเปิดเผยใดเกี่ยวกับวอร์ดข้างเคียงเพราะนั่นอยู่นอกขอบเขตอำนาจของเขา

“บางครั้งบางคนจะอ้างว่าได้รับสิทธิอำนาจให้สอนและให้พรโดยไม่ได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ …

“ด้วยเหตุนี้ศาสนจักรจึงระมัดระวังมากเรื่องขั้นตอนการสนับสนุนผู้ได้รับเรียกสู่ตำแหน่ง—เพื่อทุกคนจะรู้ว่าใครมีสิทธิอำนาจในการสอนและให้พร” (Revelation in a Changing World,” 15)

  • ตามคำกล่าวของประธานแพคเกอร์ เหตุใดเราจึงสนับสนุนผู้ได้รับการเรียกของศาสนจักรอย่างเปิดเผย

  • หลังจากเรายกมือเพื่อบอกว่าเราจะสนับสนุนผู้อยู่ในการเรียกนั้น เราควรทำอะไรเพื่อสนับสนุนพวกเขาจริงๆ

เพื่อช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้ในบทเรียนวันนี้ ให้อ่านออกเสียงสถานการณ์ต่อไปนี้และถามว่าพวกเขาจะตอบสนองแต่ละสถานการณ์อย่างไร

  1. ท่านได้รับการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์อ้างว่าเป็นการเปิดเผยใหม่ ในนั้นมีคำสอนที่ไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์หรือถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต

  2. ท่านสังเกตเห็นว่าสมาชิกคนหนึ่งในวอร์ดกล่าวคำพูดที่ผิดหลักคำสอนขณะเธอแสดงประจักษ์พยานระหว่างการประชุมศีลระลึก ท่านเป็นห่วงว่าถ้าเข้าใจข่าวสารผิดไปจากความจริง นั่นอาจส่งผลเสียต่อสมาชิก ใครควรแก้ไขสมาชิกที่พูดผิด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:15–16 ขอให้ชั้นเรียนระบุคำแนะนำสุดท้ายที่พระเจ้าตรัสกับออลิเวอร์ คาวเดอรีในการเปิดเผยนี้

อธิบายว่าหลังจากโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยนี้ ท่านเรียกประชุมใหญ่และจัดศาสนจักรให้อยู่ในระเบียบ ที่การประชุมใหญ่ “บราเดอร์เพจ และทุกคนในศาสนจักรที่อยู่ที่นั่น ยกเลิกความเชื่อในศิลาที่กล่าวถึงและทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศิลานั้น” (Histories, Volume 1: 1832–1844, 452) เพื่อสรุปบทเรียนนี้ ให้เป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาไปแล้วและคุณค่าของความจริงเหล่านั้นในการช่วยให้เราไม่ถูกชักนำไปในทางที่ผิด

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:1–4 ความรับผิดชอบของออลิเวอร์ คาวเดอรี

พระเจ้าประทานความรับผิดชอบให้ออลิเวอร์ คาวเดอรีนอกเหนือจากที่ระบุไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:1–4 ออลิเวอร์ คาวเดอรีและโจเซฟ สมิธถือกุญแจแห่งของประทานในการแปลพระคัมภีร์มอรมอน (ดู คพ. 6:25–28) ออลิเวอร์รับใช้เป็น “อัครสาวกของพระเยซูคริสต์” และ “เอ็ลเดอร์คนที่สองของศาสนจักร” (คพ. 20:3)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:1–2, 8 การเปิดเผยส่วนตัวและการเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า

ในการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระเจ้ารับสั่งกับออลิเวอร์ คาวเดอรีว่าเฉพาะประธานศาสนจักรเท่านั้นที่จะ “รับบัญญัติและการเปิดเผย” สำหรับทั้งศาสนจักร (ดู คพ. 28:1–2) พระเจ้าตรัสเช่นกันว่าออลิเวอร์ คาวเดอรีจะ “ได้รับการเปิดเผยต่างๆ” ในความรับผิดชอบจำเพาะของเขา (ดู คพ. 28:8) เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับดุลยภาพระหว่างการเปิดเผยส่วนตัวกับการเปิดเผยผ่านผู้นำฐานะปุโรหิตดังนี้

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“พระบิดาบนสวรรค์ของเราได้ประทานเส้นทางการสื่อสารให้บุตรธิดาของพระองค์สองเส้นทาง—เราจะเรียกว่าเส้นทางส่วนตัวและเส้นทางฐานะปุโรหิต ทุกคนควรเข้าใจและให้เส้นทางการสื่อสารที่จำเป็นทั้งสองนี้นำทางเรา …

“… เส้นทางส่วนตัวมิได้ทำงานเป็นอิสระจากเส้นทางฐานะปุโรหิต ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์—วิธีสื่อสารจากพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์—ประสาทโดยผู้มีอำนาจฐานะปุโรหิตเมื่อได้รับมอบอำนาจจากผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต …

“… น่าเสียดายที่ผู้ละเมิดพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของผู้นำฐานะปุโรหิตมักจะประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยต่อพวกเขาว่าพวกเขาได้รับยกเว้นไม่ต้องเชื่อฟังพระบัญญัติบางข้อ หรือไม่ต้องทำตามคำแนะนำบางข้อ บุคคลเช่นนั้นอาจได้รับการเปิดเผยหรือการดลใจ แต่ไม่ใช่จากแหล่งที่พวกเขาควรได้ มารเป็นบิดาของความเท็จและเขาคอยขัดขวางงานของพระผู้เป็นเจ้าเสมอโดยการเลียนแบบอย่างฉลาด” (“เส้นทางการสื่อสารสองเส้นทาง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 105–10684)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:2 บทบาทของประธานศาสนจักร

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเป็นพยานว่าประธานศาสนจักรเป็นบุคคลเดียวที่สามารถรับการเปิดเผยสำหรับทั้งศาสนจักร ท่านอธิบายว่าสิ่งนี้ให้ระเบียบและความคุ้มครองสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายอย่างไร

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“บางคนอ้างว่ามีของประทานฝ่ายวิญญาณที่สูงกว่าหรือสิทธิอำนาจนอกเหนือสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่สถาปนาไว้ของศาสนจักร พวกเขากล่าวว่าพวกเขาเชื่อในหลักธรรมและศาสนพิธีของพระกิตติคุณ และยอมรับประธานศาสนจักรเป็นผู้บริหารที่ถูกต้อง แต่อ้างว่าพวกเขามีระเบียบสูงกว่าซึ่งประธานศาสนจักรไม่มี พวกเขามักจะทำเช่นนี้เพื่อแก้ต่างให้กิจกรรมซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนจักร อย่างไรก็ดี จะมีระเบียบที่สูงกว่าไม่ได้เพราะประธานศาสนจักรทั้งถือและใช้กุญแจทั้งหมดของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก พระเจ้าตรัสถึงประธานศาสนจักรว่า ‘ไม่มีใครอีกกำหนดไว้ [ให้รับบัญญัติและการเปิดเผย] เว้นแต่โดยผ่านเขา’ [คพ. 43:4]. …

“… การเปิดเผยต่อเนื่องและการนำศาสนจักรผ่านมาทางประธานศาสนจักร และเขาจะไม่มีวันนำวิสุทธิชนไปผิดทาง” (“เสียงของศาสดา,” เลียโฮนา, ก.ค.1996, 7)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:6 “เจ้าไม่พึงสั่งคนที่เป็นหัวหน้าเจ้า”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าแต่ละบุคคลไม่ได้รับการเปิดเผยให้สั่งคนที่เป็นประธานเหนือพวกเขาในศาสนจักร

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“เป็นการตรงกันข้ามกับระบบของพระผู้เป็นเจ้าที่สมาชิกคนหนึ่งคนใดของศาสนจักรหรือใครก็ตามจะได้รับคำแนะนำแทนผู้ที่มีสิทธิอำนาจสูงกว่าเขา” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 212)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:8–10 ชาวเลมัน

คำว่า ชาวเลมัน หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอน หลายคนในกลุ่มนั้นเป็นผู้สืบตระกูลของเลมัน บุตรชายคนโตของลีไฮ การที่พระเจ้าทรงใช้คำ ชาวเลมัน ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:9 บ่งบอกว่าผู้สืบตระกูลบางคนของลีไฮอยู่ในหมู่ชาวอเมริกันอินเดียนซึ่งเวลานั้นอาศัยอยูในบริเวณที่ถือเป็นชายแดนตะวันตกของสหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1830 สภาคองเกรสสหรัฐอนุมัติร่างกฎหมายว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานชาวอินเดียนซึ่งเรียกร้องให้ชาวอเมริกันอินเดียนย้ายไปอยู่เขตสงวนอินเดียนทางตะวันตกของรัฐมิสซูรี ด้วยเหตุนี้ ออลิเวอร์ คาวเดอรีกับคู่ของท่านจึงเดินทางไปตะวันตกของมิสซูรี “อยู่ชายแดนใกล้ชาวเลมัน” (คพ. 28:9) เพื่อสอนพระกิตติคุณแก่ชาวอเมริกันอินเดียน

พระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้อ้างว่าชาวอเมริกันอินเดียนสืบตระกูลมาจากครอบครัวของลีไฮแต่อย่างเดียว ประธานแอนโธนี ดับเบิลยู. ไอวินส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวดังนี้

ประธานแอนโธนี ดับเบิลยู. ไอวินส์

“เราต้องระวังอย่าสรุปตามข้อมูลที่เราได้ พระคัมภีร์มอรมอนสอนประวัติศาสตร์ของคนสามกลุ่ม … ผู้จากโลกเก่ามาทวีปนี้ นั่นไม่ได้บอกเราว่าไม่มีใครอยู่ที่นี่ก่อนพวกเขา ทั้งไม่ได้บอกเราว่าไม่มีคนมาหลังจากนั้น และด้วยเหตุนี้หากมีการค้นพบซึ่งบอกความแตกต่างของต้นกำเนิดเชื้อชาติ สิ่งนี้สามารถยอมรับและอธิบายได้ง่ายมากเพราะเราเชื่อตามหลักเหตุผลว่าคนอื่นมาทวีปนี้” (ใน Conference Report, Apr. 1929, 15)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:11 “เรื่องเหล่านั้นซึ่งเขาเขียนจากศิลาก้อนนั้นมิใช่จากเรา”

ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของนิวยอร์กในช่วงต้นทศวรรษ 1800 หลายคนเชื่อว่าแต่ละคนสามารถรับความรู้เหนือธรรมชาติผ่านเครื่องมือเช่นศิลาหรือไม้กายสิทธิ์ ไฮรัม เพจอ้างว่าคำจะปรากฏบนศิลาที่เขาครอบครอง เขากล่าวว่าหลังจากเขาบอกให้ลอกคำเหล่านั้นลงกระดาษ คำเหล่านั้นจะหายไปจากศิลาและคำอื่นจะปรากฏ (ดู Documents: Volume 1: July 1828-June 1831, vol. 1 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], 184) พระเจ้าทรงประณามการเปิดเผยเท็จของไฮรัม เพจ นอกจากใช้อูริมและทูมมิมแล้ว โจเซฟอาจจะใช้ศิลาผู้หยั่งรู้ที่ท่านพบในวัยเยาว์แปลพระคัมภีร์มอรมอนส่วนหนึ่งด้วย หลายทฤษฎีบอกวิธีที่ท่านศาสดาพยากรณ์ใช้อูริมและทูมมิมแปลพระคัมภีร์มอรมอน และบอกรายละเอียดอื่นๆ ของขั้นตอนการแปล แต่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เราไม่รู้รายละเอียด” (“By the Gift and Power of God,”Ensign, Jan. 1997, 39) ความแตกต่างที่สำคัญมากอย่างหนึ่งระหว่างโจเซฟ สมิธกับไฮรัม เพจคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธให้ทำงานแปลและรับการเปิดเผยสำหรับศาสนจักร (ดู คพ. 21:1–6) ในทางกลับกัน พระเจ้าตรัสชัดเจนว่าซาตานกำลังหลอกไฮรัม เพจและคนที่เชื่อตามคำบอกของเขา (ดู คพ. 28:11)

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเตือนให้เราหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเชื้อเชิญอิทธิพลของซาตานเข้ามาในชีวิตเรา ดังนี้

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ซาตานไม่ใช่เรื่องจรรโลงใจ ข้าพเจ้าถือว่าเขาเป็นนักลอกเลียนแบบตัวยง …

“การยอมให้ซาตานและเรื่องลี้ลับของเขาครอบงำไม่ถือเป็นการปฏิบัติดี ความดีจะมาจากการเข้าใกล้ความชั่วไม่ได้ เหมือนเล่นกับไฟ ย่อมง่ายมากที่จะถูกไฟไหม้ … ทางเดียวที่ปลอดภัยคืออยู่ให้ห่างเขาและกิจกรรมที่เลวร้ายหรือการปฏิบัติชั่วทุกอย่าง เราพึงหลีกเลี่ยงผลร้ายของการกราบไหว้มาร เวทมนตร์ คาถา วิทยาคม การทำเสน่ห์ มนตร์ดำ และรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมดของความเลื่อมใสในภูตผีปีศาจ” (“อิทธิพลที่จะช่วยให้เรารอด,” เลียโฮนา, ม.ค. 2007, 3)