บทที่ 74
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68
คำนำ
วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธมีการประชุมใหญ่พิเศษกับเอ็ลเดอร์กลุ่มหนึ่งในเมืองไฮรัม รัฐโอไฮโอ พวกท่านสนทนาเรื่องการตีพิมพ์หนังสือพระบัญญัติซึ่งเป็นการรวบรวมการเปิดเผยที่ศาสดาพยากรณ์ได้รับ เอ็ลเดอร์สี่คนที่การประชุมใหญ่ขอให้โจเซฟ สมิธทูลถามพระเจ้าเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระองค์สำหรับพวกเขา เพื่อตอบคำขอครั้งนี้ ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68 การเปิดเผยมีคำแนะนำถึงคนที่ได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียกอธิการ และพระบัญญัติให้บิดามารดาสอนหลักธรรมและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาของตน
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:1–12
พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำคนที่ได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ
หากท่านหรือคนใกล้ชิดเคยรับใช้งานเผยแผ่ให้ศาสนจักร ให้เริ่มชั้นเรียนโดยแบ่งปันความรู้สึกบางอย่างที่ผู้คนประสบเมื่อพวกเขาเตรียมออกจากบ้านไปเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
บางคนอาจมีความวิตกหรือข้อกังวลอะไรเกี่ยวกับการรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา
-
มีเหตุผลอะไรบ้างที่บางครั้งบางคนรู้สึกกังวลใจเมื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนๆ ของพวกเขา
อธิบายว่าระหว่างการประชุมใหญ่วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 เอ็ลเดอร์สี่คนที่จะรับใช้เป็นผู้สอนศาสนามาหาโจเซฟ สมิธและขอรู้พระประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับพวกเขา เพื่อตอบพวกเขา พระเจ้าทรงเปิดเผยรูปแบบสำหรับการสั่งสอนพระกิตติคุณ เชิญนักเรียนห้าคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาองค์ประกอบของรูปแบบดังกล่าว ก่อนพวกเขาอ่าน จงชี้ให้เห็นว่า ข้อ 2 และ 3 มีคำว่า แบบอย่าง แบบอย่างคือรูปแบบหรือต้นแบบ
-
ท่านเห็นอะไรในข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราควรสั่งสอนพระกิตติคุณ
-
ใน ข้อ 3–5พระเจ้าประทานสัญญาอะไรกับผู้รับใช้ของพระองค์
-
ถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของผู้สอนศาสนาจะทำสิ่งใดต่อผู้ที่รับถ้อยคำเหล่านั้น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้อยคำของพวกเขาจะนำผู้คนไปสู่ความรอด เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
-
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะที่เราแบ่งปันพระกิตติคุณ
อธิบายว่าถึงแม้คนที่ได้รับแต่งตั้งให้สั่งสอนพระกิตติคุณสามารถช่วยให้ผู้คนมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริง แต่เฉพาะประธานศาสนจักรเท่านั้นมีสิทธิ์ได้รับและประกาศพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับทั้งศาสนจักร ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน สมาชิกท่านอื่นในฝ่ายประธานสูงสุดและสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองมีสิทธิอำนาจในการประกาศพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเราเช่นกัน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหากำลังใจเพิ่มเติมที่พระเจ้าประทานแก่ผู้รับใช้ของพระองค์
-
ท่านเห็นความจริงอะไรบ้างในข้อนี้ที่อาจทำให้ผู้สอนศาสนาอบอุ่นใจ
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยืนเคียงข้างผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์
ชี้ให้เห็นว่า ข้อ 6 สรุปความรับผิดชอบเบื้องต้นของผู้รับใช้พระเจ้า นั่นคือ เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จากนั้นให้สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:7–12 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเรียกเอ็ลเดอร์ที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรให้สั่งสอนพระกิตติคุณและให้บัพติศมาคนเหล่านั้นที่เชื่อ
ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งท่านได้รับการนำทางจากพระวิญญาณให้รู้วิธีแบ่งปันพระกิตติคุณกับบางคน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:13–24
พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าฝ่ายประธานสูงสุดต้องควบคุมดูแลการเรียกอธิการ
ขอให้นักเรียนสมมติว่าเพื่อนอีกศาสนาหนึ่งถามว่า “คุณเลือกอธิการของคุณอย่างไร”
-
ท่านจะตอบว่าอย่างไร
อธิบายว่าเอดเวิร์ด พาร์ทริจเป็นอธิการคนแรกที่ได้รับเรียกในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ (เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831; ดู คพ. 41:9) ก่อนโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68 (ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1831) อธิการพาร์ทริจเป็นอธิการคนเดียวในศาสนจักร อธิการคนอื่นๆ ได้รับเรียกหลังจากท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยนี้ไม่นาน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:14–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าศาสนจักรคัดเลือกอธิการอย่างไร
หมายเหตุ: ข้อ 15–20 ประกอบด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับสายเลือดแท้ของอาโรนผู้จะได้รับเรียกเป็นอธิการควบคุม วลี “สายเลือดแท้ของอาโรน” หมายถึงผู้สืบตระกูลของอาโรนพี่ชายของโมเสสในพันธสัญญาเดิม ผู้สืบตระกูลดังกล่าวจะมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งอธิการควบคุมถ้าเขาได้รับเรียกและได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดข้อ 16–20 เกี่ยวข้องเฉพาะกับอธิการควบคุม ไม่ใช่อธิการของวอร์ด (ดู Joseph Fielding Smith, Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 3:92–93) งานเขียนยุคแรกของศาสนจักรมักจะกล่าวถึงอธิการพาร์ทริจในฐานะอธิการควบคุม ความรับผิดชอบของอธิการควบคุมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงหลายปีติดต่อกัน ภายใต้การกำกับดูแลของประธานบริคัม ยังก์ ความรับผิดชอบของอธิการควบคุมกระจ่างชัดมากขึ้นในปี 1847 ที่วินเทอร์ควอร์เตอร์ส โดยมีอธิการนูเวล เค. วิทนีย์ได้รับการเรียกนี้
ท่านอาจต้องการอธิบายว่าในยุคแรกของศาสนจักร สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดวางมือแต่งตั้งและมอบหน้าที่ให้อธิการทุกคน ในศาสนจักรปัจจุบัน ยังคงเป็นเช่นนั้นกับอธิการควบคุม แต่การเรียก การวางมือแต่งตั้งและการวางมือมอบหน้าที่ให้อธิการดำเนินการโดยประธานสเตคภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุด ประธานสเตคแสวงหาการเปิดเผยด้วยการสนับสนุนจากที่ปรึกษาของเขาในฝ่ายประธานสเตคเพื่อให้รู้ว่าเรียกอธิการคนใหม่เมื่อใดและเรียกใคร เขาส่งใบเสนอชื่อให้ฝ่ายประธานสูงสุดอนุมัติ เมื่อฝ่ายประธานสูงสุดอนุมัติการเรียก พวกท่านมอบอำนาจให้ประธานสเตควางมือแต่งตั้งและมอบหน้าที่ให้อธิการคนใหม่ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 19.6)
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องรู้ว่าฝ่ายประธานสูงสุดอนุมัติการเรียกอธิการของท่าน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–35
พระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาของตน
ขอให้นักเรียนนึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาจะได้เป็นบิดามารดาในอีกไม่กี่ปี ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบใหญ่หลวงให้มารดาและบิดา—พวกเขาต้องสอนพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาด้วยวาจาและแบบอย่าง (ดู คพ. 29:46–50 และ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ซึ่งอยู่ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้) เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักธรรมสามข้อที่พวกเขาต้องการจะสอนลูกๆ ของตนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้พวกเขาอ่านสิ่งที่เขียนให้กันฟัง จากนั้นให้เชิญพวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–27 ด้วยกันโดยมองหาสิ่งที่พวกเขาสามารถเพิ่มเข้าไปในรายการที่เขียนไว้
-
พระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนอะไรบุตรธิดาของตน (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนบุตรธิดาของตนให้เข้าใจหลักคำสอนเรื่องการการกลับใจ ศรัทธาในพระคริสต์ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีใน ข้อ 25 ที่สอนหลักคำสอนนี้)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เด็กเล็กต้องเข้าใจเรื่องการกลับใจ ศรัทธาในพระคริสต์ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเคยเห็นบิดามารดาสอนหลักธรรมและหลักคำสอนตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25 หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน
ขอให้นักเรียนยังคงทำกิจกรรมถัดไปเป็นคู่ๆ อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:28–31 พระเจ้าประทานคำแนะนำเพิ่มเติมแก่บิดามารดา แจกสำเนา ข้อมูลต่อไปนี้ ให้แต่ละคู่ กระตุ้นให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์แต่ละข้อและสนทนาคำถามกับคู่ อธิบายว่าเมื่อสนทนาจบแล้ว พวกเขาจะรายงานสิ่งที่พบต่อชั้นเรียน
หลังจากนักเรียนทำกิจกรรมนี้แล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่ได้เรียนรู้ (ท่านอาจจะขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของนักเรียนคนอื่นๆ ไว้บนกระดาน) หลักธรรมหนึ่งที่ท่านอาจต้องการเน้นจาก ข้อ 31 และ ข้อ 32 คือ เราต้องขจัดความเกียจคร้านและความละโมบออกจากชีวิตเรา (ขณะที่นักเรียนสนทนาหลักธรรมนี้ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างที่เพื่อนเรามีจึงจะมีความสุข)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่บิดามารดาจะสอนและดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระกิตติคุณ
-
เยาวชนชายและเยาวชนหญิงจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ครอบครัวของพวกเขา “ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระเจ้า”
หากท่านเป็นพ่อแม่ ท่านอาจแสดงความซาบซึ้งใจในวิธีที่ลูกๆ ช่วยท่านทำตามพระบัญญัติของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68 จากนั้นให้นักเรียนเขียนเป้าหมายที่จะช่วยพวกเขาเตรียมเป็นบิดามารดาที่ดี หรือเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนเป้าหมายเพื่อช่วยบิดามารดาทำความรับผิดชอบเหล่านั้น หากเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนสองสามคนบอกเป้าหมายของพวกเขากับชั้นเรียน